People unity news online : เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แนะให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวม “ครูพิเศษ” โดยบูรณาการภารกิจผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการนำร่องในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

“ที่ผ่านมาสถานศึกษาหลายแห่งทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เริ่มสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการแล้วหลายแห่ง เพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการแล้ว แต่ยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ โดยจากนี้จะให้หน่วยงานรัฐบันทึกข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญในรูปแบบของ Big Data ทั้งในด้านวิชาการและทักษะฝีมือในสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางให้สถานศึกษาทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบุคคลเหล่านี้ในฐานะครูพิเศษได้อย่างทั่วถึง โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ 500 คนภายในปีนี้” นายกฯ กล่าว

ดังนั้น รัฐบาลจึงขอเชิญชวนบุคลากรในภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญใน 10 สาขา อุตสาหกรรมเป้าหมาย และสาขาวิชาชีพอื่นที่จำเป็นต่อการพัฒนาพื้นที่ EEC ร่วมกันเข้ามาเป็นครูพิเศษ เพื่อร่วมกันผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพเข้าสู่สถานประกอบการ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายกฯ กล่าวว่า ผู้เรียนยุคใหม่ควรคำนึงถึงการเลือกสาขาวิชาเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสาขาที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ เพื่อให้มีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง และยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ด้าน พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ ดร.สาโรจน์ วสุวนิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี และคณะนักอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนครูพิเศษอาชีวศึกษาอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

พล.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาและขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีความก้าวหน้างานในหลายส่วน อาทิ การตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่แรก ซึ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นโดยลำดับ, การบูรณาการข้อมูลความต้องการกำลังคนกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นต้น เพื่อร่วมพิจารณาใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการ เป็นต้น

การประชุมหารือในครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งต่อเนื่องจากการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC โดย สอศ.ได้จัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและเชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0

เริ่มต้นจากจังหวัดชลบุรี นำโดย ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี และคณะกรรมการ (เจ้าของกิจการและภาคเอกชน) กว่า 20 คน มาร่วมรับทราบแนวทางการดำเนินงาน พร้อมเชิญเป็น “ครูพิเศษ” ช่วยจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนให้ข้อแนะนำสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2561 เป็นต้นมา จากนั้นจะรณรงค์เชิญชวนให้มาเป็นครูพิเศษเพิ่มเติม ตามเป้าหมายที่วางไว้จำนวน 500 คน ภายในช่วงปลายปี 2561 นี้ ที่จะช่วยขยายพื้นที่ที่มีครูพิเศษไปสอนทั่วทุกพื้นที่ EEC และในภูมิภาคอื่นๆต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการทำงาน จึงได้มาหารือร่วมกันเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมเป็นครูพิเศษ ในรูปแบบ Realtime และเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูล Big Data ซึ่งจะมีการระบุชื่อ ความชำนาญและทักษะในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการประสานงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับสถานศึกษา ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้ และประสบการณ์ตรงจากการทำงานด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานของสถานประกอบการ

นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับสถานศึกษาให้มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญในการผลิตกำลังคนเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และเป็นการนำศักยภาพของภาคเอกชนมาช่วยเสริมการทำงานของภาครัฐ ตามกลไกประชารัฐ ที่จะทำให้ผลิตคนได้ตรงกับความต้องการพัฒนาประเทศ เพิ่มปริมาณแรงงานที่มีคุณภาพเข้าสู่สถานประกอบการ และสิ่งสำคัญคือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามเป้าหมายการทำงานของรัฐบาลด้วย

ดร.สาโรจน์ วสุวนิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้รับเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้มาทำหน้าที่เป็นครูพิเศษ เพื่อถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา เพิ่มเติมจากที่ครูสอนในห้องเรียนเท่านั้น พร้อมขอชื่นชมว่าเป็นแนวคิดการทำงานที่ดี เพราะพวกเราคือผู้ประกอบการตัวจริง ถือเป็นภาคการปฏิบัติที่แท้จริงจากการทำงาน ในขณะที่นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่จะเรียนภาคทฤษฎีเป็นหลัก

ดังนั้น การเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ทำให้เด็กมองเห็นภาพการทำงานจริงผสานต่อยอดกับความรู้ภาคทฤษฎีในห้องเรียนได้ดีขึ้น ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่ทางสภาอุตสาหกรรมพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งในพื้นที่จังหวัดชลบุรีเองและในจังหวัดอื่นในพื้นที่ EEC ตลอดจนช่วยขยายผลแนวคิดเพื่อเชิญชวนภาคธุรกิจและภาคเอกชนมาร่วมมือกันให้มากขึ้น

People unity news online : post 3 กันยายน 2561 เวลา 09.50 น.