วันที่ 1 พฤษภาคม 2025

รบ.เดินหน้า “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ลุยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบทั่วประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 พฤศจิกายน 2567 “รัฐบาล” เดินหน้าขับเคลื่อน “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ลุยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบทั่วประเทศ

วานนี้ (วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวสรุปโครงการในการขับเคลื่อนกิจกรรม “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน”  ปี 67 ซึ่งสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ภายใต้โครงการส่งเสริมการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ครัวเรือนให้เข้มแข็งทั่วประเทศ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ สร้างความมั่นคงเศรษฐกิจฐานราก วางเป้า ใช้กองทุนฯ เป็นกลไก ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พึ่งพาตนเอง สร้างสังคมไทยยั่งยืน โดยมี นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายกฤช เอื้อวงศ์  ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และแขกผู้มีเกียรติ ข้าราชการ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีอยู่กว่า 79,610 แห่งทั่วประเทศ และสมาชิกกว่า 13 ล้านคน ถือเป็นกำลังหลักในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นให้กองทุนเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสร้างอาชีพ สร้างงาน และรายได้ในชุมชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการออม และจัดระบบสวัสดิการเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม พร้อมสนับสนุนงบประมาณหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทในระยะแรก และเพิ่มทุนในระยะต่อไปโครงการนี้มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้วยทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา” เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อเนื่องกว่า 23 ปี ทั้งนี้ โครงการ ‘กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน’ จะเป็นต้นแบบในการ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับหมู่บ้านและชุมชนต่อไป

นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ดำเนินการมา 23 ปี สร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาการพึ่งพาตนเองได้ดี เป็นแหล่งเงินทุนและออมเงินที่มั่นคง ช่วยส่งเสริม สวัสดิการและประโยชน์แก่ชุมชน การดำเนินงานสะท้อนความสำเร็จตามที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในระดับหมู่บ้าน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวมจากปัญหาหนี้นอกระบบที่กระทบต่อการดำรงชีวิต กองทุนหมู่บ้านจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนในรูปแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อหลีกเลี่ยงการไปเกี่ยวข้องกับหนี้นอกระบบ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ  11,392,200,000 บาท ผ่านโครงการสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กองทุนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีอิสระและตอบสนองความต้องการของชุมชน โดยหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกและประชาชน ตามเจตนารมย์ของรัฐบาล

ด้านนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการ สทบ. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสร้างงานและอาชีพในชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมการออมและพัฒนาระบบสวัสดิการในชุมชน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นวาระแห่งชาติ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีผลเป็นรูปธรรม สทบ. จึงจัดโครงการ “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ภายใต้ โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน โดยนำกองทุนหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการบริหารกับกองทุนหมู่บ้านอื่น ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ยั่งยืน

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้จัดขึ้นใน 4 ภูมิภาคหลักของประเทศไทย ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) วันที่ 10 ส.ค. 67, ภาคเหนือ (เชียงใหม่) วันที่ 15 ส.ค. 67, ภาคใต้ (สงขลา) วันที่ 17 ส.ค. 67, และภาคกลาง (อยุธยา) วันที่ 19 ส.ค. 67 ซึ่งในแต่ละภูมิภาค มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน” และ หัวข้อ “ไขกลยุทธ์ สู่อิสระทางการเงิน โดยกองทุนหมู่บ้านฯ ต้นแบบ” โดยผู้แทนสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น คุณอาจิน จุ้งลก ที่ปรึกษาโครงการและประธานมูลนิธิเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ คุณอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนาศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามหนี้นอกระบบ และอำนวยความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และผู้เชี่ยวชาญด้านการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีการออกบูธจากกองทุนต่าง ๆ บูธให้บริการคำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ บูธคลินิกแก้หนี้ และบูธจากสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร และธนาคารออมสิน รวมถึงการจัด นิทรรศการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จของการดำเนินการของ สทบ. ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง รวมทั้ง 4 ภูมิภาคไม่ น้อยกว่า 4,000 คน ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผู้แทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้บริหาร บุคลากร สทบ. ผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน เป็นต้น

โดยการจัดงานแถลงข่าวสรุปโครงการฯ ครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นจำนวน 350 คน ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผู้แทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้บริหาร บุคลากร สทบ. ผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน โดยภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การมอบนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุน หมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงการเสวนาสถานการณ์ และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ อย่างยั่งยืนและไขกลยุทธ์ สู่อิสระทางการเงิน โดยตัวแทนกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองต้นแบบ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการของกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมือง การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จ การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กิจกรรมบริการของกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมือง และหน่วยงานภาคี

Advertisement

รองโฆษก รบ. เผย ก.พลังงาน เตรียมขายโซลาร์เซลล์ราคาถูก ฝีมือคนไทย ปีหน้า เพิ่มทางเลือกช่วย ปชช.ประหยัดค่าไฟ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 25 พฤศจิกายน 2567 รองโฆษกรัฐบาล แจ้งข่าวดี ‘พีระพันธุ์’ แม่ทัพ ก.พลังงาน เตรียมเปิดขายโซลาร์เซลล์ราคาถูก ฝีมือคนไทย ภายในปีหน้า เพิ่มทางเลือกช่วยประชาชนประหยัดค่าไฟ

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ขับเคลื่อนนโยบายเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์รูฟให้สะดวกรวดเร็วขึ้น และจัดหาอุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ประชาชนในราคาถูก   ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานพยายามตรึงค่าไฟไว้ที่ระดับ 4.18 บาท แต่ปัญหาค่าไฟยังเป็นภาระของพี่น้องประชาชนอยู่ จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือการปรับปรุงกฎหมาย และการจัดหาอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูก ซึ่งเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่สามารถประหยัดค่าไฟของประชาชนได้

ขณะนี้ คณะทำงานของกระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ผลิตต้นแบบของเครื่องอินเวอร์เตอร์ (Inverter)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้สำเร็จแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ ความเสถียร และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถ ผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างครบชุด เพื่อจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชนได้ในปี 2568

“อุปกรณ์ต้นแบบเครื่อง Inverter  นี้สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เป็นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์สร้างขึ้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และมีแผนที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับประชาชนในราคาถูก เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากปัญหาค่าไฟแพง” นางสาวศศิกานต์ ย้ำ

Advertisement

ยูเนสโก ยกย่อง “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” 1 ใน 6 สนามบินสวยสุดในโลก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 พฤศจิกายน 2567 “สุริยะ” รมว.คมนาคม ปลื้ม ยูเนสโก ยกย่อง “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินสวยที่สุดในโลก ประจำปี 2567 ด้าน “อาคาร SAT-1” สุดปัง! หลังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสนามบินที่มีสถาปัตยกรรมสวยที่สุดของโลก โชว์ความโดดเด่นด้านความงาม-ความคิดสร้างสรรค์ ชูอัตลักษณ์ความเป็นไทย จ่อประกาศผล 2 ธ.ค.นี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024)

ทั้งนี้ ล่าสุดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังได้ถูกเสนอชื่อเข้ารับรางวัล Prix Versailles หมวดหมู่สนามบิน จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ซึ่งร่วมกับ UNESCO โดยจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเกณฑ์การให้คะแนนการออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในด้านความงาม ทั้งภายนอก และภายในอาคาร ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ที่ผสมผสานกับบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับอาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น เป็นอาคารสูง 4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) จำนวน 28 หลุมจอด ถือว่ามีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม อัตลักษณ์ การออกแบบ การสร้างประสบการณ์ให้ผู้โดยสาร รวมทั้งให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการถ่ายทอดความวิจิตรของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทย สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ

นอกจากนี้ ทอท. ยังได้มีการออกแบบที่สวยงาม โดยนำจุดแข็งทางวัฒนธรรมมานำเสนอ ประกอบกับการตกแต่งภายในอาคารเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย ครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และวิถีชีวิต โดยมีผลงานการตกแต่งประติมากรรมชิ้นเอกเป็นช้างคชสาร ตั้งอยู่บริเวณโถงกลางของชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า ขณะเดียวกัน ภายในชั้น 3 ของอาคารฯ ได้รับการออกแบบให้เป็นสวนตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อไทยแต่โบราณ อาทิ กินนร กินรี เหมราช และหงส์สา ส่วนชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ได้ออกแบบเป็นสวนสัญจรที่จัดแสดงงานภูมิทัศน์ผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมของไทย เช่น หุ่นละครเล็ก หนังใหญ่ หัวโขน และว่าวไทย เป็นต้น

ในส่วนปลายอาคารทั้ง 2 ด้าน คือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ติดตั้งสุวรรณบุษบก และรัตนบุษบก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัย และปางเปิดโลก โดยถอดแบบมาจากวัดผาซ่อนแก้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อสถานที่ ขณะที่ ห้องน้ำได้เสนออัตลักษณ์อันงดงามของแต่ละภาค มีภาพจิตรกรรม 4 ภาคของไทย ไปจนถึงประเพณีวัฒนธรรมของไทยมาใช้ออกแบบรูปลักษณ์ภายใน อีกทั้ง สุขภัณฑ์ทั้งหมด ยังใช้ระบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยในการประหยัดน้ำอีกด้วย

สำหรับ 6 สนามบินที่เว็บไซต์ www.prix-versailles.com ได้ประกาศ 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 ได้แก่ 1.อาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย 2.อาคารผู้โดยสาร E ท่าอากาศยานนานาชาติโลแกน (Logan International Airport) ประเทศสหรัฐอเมริกา 3.อาคารผู้โดยสารที่ 2 ท่าอากาศยานชางงี (Changi Airport) ประเทศสิงคโปร์ 4.ท่าอากาศยานนานาชาติซายิด (Zayed International Airport) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5.ท่าอากาศยานนานาชาติเฟลิเป้ แองเจเลส (Felipe Ángeles International Airport) ประเทศเม็กซิโก และ 6.ท่าอากาศยานนานาชาติแคนซัสซิตี้ (Kansas City International Airport) ประเทศสหรัฐอเมริกา

Advertisement

นายกฯ ประกาศแคชรีเบต 30% หลังหารือ 7 บิ๊กผู้ผลิตภาพยนตร์ คาดกองถ่ายแห่ใช้เงินสร้างหนังในไทยแตะหมื่นล้าน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 พฤศจิกายน 2567 กองถ่ายหนังอเมริกันชื่นชอบนโยบายไทย นายกฯ แพทองธาร ประกาศแคมเปญแคชรีเบต 30% หลังหารือ 7 บิ๊กผู้ผลิตภาพยนตร์ คาดกองถ่ายแห่ใช้เงินสร้างหนังในไทยปีหน้าแตะหมื่นล้านแน่

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าวันนี้ (วันอังคารที่ 12 พ.ย. 2567 เวลา 11.00 น. เวลาท้องถิ่นนครลอสแอนเจลิสซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง) ที่โรงแรม Beverly Wilshire นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองเพื่อสร้างเครือข่าย ภาคธุรกิจในต่างประเทศ (networking reception) กับ นาย Charles H. Rivkin ประธานและประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ (Motion Picture Association: MPA) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทภาพยนตร์ชั้นนำของสหรัฐฯ เข้าร่วมงานโดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยว่า เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่จะส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งไทยได้เรียนรู้จากสหรัฐฯ ที่มีการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ในทางธุรกิจอันเป็นเศรษฐกิจที่แข็งแรงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

“ปีที่ผ่านมา มีการถ่ายทำภาพยนตร์กว่า 450 เรื่องจาก 40 ประเทศในประเทศไทยซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ผลิตภาพยนตร์สหรัฐฯ เป็นกลุ่มนักลงทุนอันดับหนึ่งมีถึง 34 เรื่องไปถ่ายทำในสถานที่ต่างๆทั่วประเทศไทย ทั้งนี้รัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการถ่ายทำภาพยนตร์โดยทบทวนมาตรการส่งเสริมต่างๆ เช่นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบของการคืนเงินสูงสุด (cash rebate) ที่อัตราร้อยละ 30 และไม่กำหนดเพดานคืนเงินสูงสุดต่อโครงการอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยในการสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในกลุ่มดังกล่าวเป็นอย่างมากโดยเชื่อมั่นว่าปีต่อไปจะมีเม็ดเงินด้านนี้กว่าหมื่นล้านบาท” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้านนายจิรายุกล่าวต่อไปว่า จากนั้นนาย Charles H. Rivkin ประธานและประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ (Motion Picture Association: MPA) ซึ่งมีธุรกิจสตรีมมิงและบันเทิงในเครือ อาทิ Netflix Disney HBO เป็นต้น ได้กล่าวชี่นชมนโยบายของรัฐบาลไทยในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ รัฐบาลยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในระดับสากลทำให้ไทยเป็นตัวเลือกของสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่มีความโดดเด่นในภูมิภาคได้มากขึ้น และจะช่วยรับประกันการลงทุนในอนาคตที่มากขึ้น ทั้งนี้ ยังรู้สึกตื่นเต้นมากหากจะได้ร่วมงานกับประเทศไทยมากขึ้น โดยบริษัทได้เข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และช่วยเสริมสร้างความรู้ในการถ่ายทำภาพยนตร์และสร้างงานในท้องถิ่น ซึ่งมั่นใจว่าพบปะหารือเพิ่มเติมในวันนี้ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับทั้ง 7 บริษัทที่มาในวันนี้จะสามารถให้การสนับสนุน Soft Power ของไทย  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้เป็นอย่างดี นายจิรายุกล่าว

“สำหรับ ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทภาพยนตร์ทั้ง 7 บริษัท ที่ได้ร่วมพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี ดังนี้

  1. นายชาร์ลส์ เอช. ริฟกิน (Charles H. Rivkin) ประธานและ CEO สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ
  2. นางสาว แคธลีน ทาฟฟ์ (Cathleen Taff) ประธาน ฝ่ายจัดจําหน่าย, แฟรนไชส์ และการวิเคราะห์ผู้ชม, บริษัท Walt Disney
  3. นายเจย์ โรว์ (Jay Roewe) รองประธานอาวุโส ฝ่ายการวางแผนการผลิตและสิ่งจูงใจ บริษัท HBO/HBO MAX และ Warner Bros. Pictures
  4. นายเวอร์นอน แซนเดอร์ส (Vernon Sanders) หัวหน้าฝ่ายโทรทัศน์บริษัท Amazon/MGM Studios
  5. นายคริส มิลเลอร์ (Chris Miller) ที่ปรึกษาทั่วไป บริษัท NBCUniversal Studio Group 6. นายเดวิด ไฮแมน (David Hyman) หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย บริษัท Netflix Studios
  6. นางสาวจิล แรตเนอร์ (Jill Ratner) ที่ปรึกษาทั่วไป บริษัท Sony Pictures Entertainment
  7. นางสาวแชรอน คีย์เซอร์(Sharon Keyser) รองประธานอาวุโส ฝ่ายความสัมพันธ์กับรัฐบาลและการวางแผนบริษัท Paramount Pictures Corporation”

Advertisement

รมว.เกษตรฯ มุ่งผลักดันสหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 พฤศจิกายน 2567 “นฤมล” รมว.เกษตรฯ มุ่งผลักดันสหกรณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ครั้งที่ 4/2567 โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชน เข้าร่วม โดยที่ประชุมได้พิจารณาการขยายขอบเขตการลงทุน ภายใต้มาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 โดยปรับปรุงประกาศ คพช. เรื่อง ข้อกำหนดการฝากหรือการลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์ ให้คำนึงถึงการลงทุนอย่างรอบคอบและปลอดภัย เพื่อให้สหกรณ์มีรายได้เพิ่มเติมอย่างมั่นคง

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือในส่วนการนำวิทยาการข้อมูล (Data Science) เพื่อจัดวางระบบจัดเก็บ วิเคราะห์และประยุกต์ใช้ข้อมูลสหกรณ์ในระดับมหภาค โดยต้องสร้างแอปพลิเคชั่นให้สหกรณ์ใช้งานอย่างมีประโยชน์ในเชิงธุรกิจ สามารถสร้างกำไร คาดการณ์ความเสี่ยง และช่วยพัฒนาสถาบันให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง อันเป็นผลดีต่อสมาชิกและเกษตรกร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการจัดทำงบประมาณปี 2569 ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บูรณาการร่วมกันวางแผนการทำงานให้ผลลัพธ์การทำงานเป็นที่ตั้ง เพื่อผลักดันสหกรณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอยู่ดี กินดีอย่างยั่งยืนต่อไป

Advertisement

 

ธ.ออมสิน เดินหน้าสร้าง Social Impact ต่อเนื่อง เปิดให้บริการ “GOOD MONEY เงินดีดีเพื่อคนไทย” ให้คนไทยเข้าถึงดอกเบี้ยเป็นธรรม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 พฤศจิกายน 2567 ออมสิน เปิดตัว Non-Bank บริษัทใหม่ในเครือ พร้อมให้บริการ GOOD MONEY แอปสินเชื่อของรัฐ อนุมัติเร็ว ให้คนไทยเข้าถึงดอกเบี้ยเป็นธรรม ตั้งเป้า 4 ปี ปล่อยกู้ได้ 500,000 ราย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อสังคม ได้เดินหน้าขยายผล Social Impact ผ่านภารกิจ Financial Inclusion เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งหลักเกณฑ์ของระบบธนาคารไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ ทำให้ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ หรือสินเชื่อในระบบที่ดอกเบี้ยสูงเกินจริง จึงจัดตั้งบริษัทให้บริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน ชื่อว่า “GOOD MONEY – เงินดีดีเพื่อคนไทย แพลตฟอร์มสินเชื่อเพื่อความเท่าเทียมในสังคม” ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท เงินดีดี จำกัด กิจการ Non-Bank กลุ่มบริษัทในเครือธนาคารออมสิน เพื่อเป็นกลไกในการลดดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ประกอบกับการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มความคล่องตัวในการปล่อยสินเชื่อ จะดึงคนเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวสิรินันท์ จิรดิลก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เงินดีดี จำกัด เปิดเผยว่า แพลตฟอร์ม GOOD MONEY – เงินดีดีเพื่อคนไทย จะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน และส่งมอบประสบการณ์ใช้บริการสินเชื่อดิจิทัลที่เข้าถึงง่ายและครบวงจร ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถสมัครสินเชื่อจนถึงการรับผลอนุมัติด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชันได้ทุกที่ทุกเวลา ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการอนุมัติสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระคืน โดยมีการนำระบบ AI และเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความรวดเร็วและปลอดภัย มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลและประเมินความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้ หลังได้รับอนุญาตฯ จากธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ได้ทดลองเปิดใช้ระบบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจใช้บริการยื่นขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันแล้วกว่า 100,000 ราย บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า แพลตฟอร์ม GOOD MONEY – เงินดีดีเพื่อคนไทย จะช่วยให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายในการสร้างอนาคตทางการเงินที่ดีและยั่งยืน เพื่อคนไทยทุกอาชีพไปด้วยกัน

แพลตฟอร์ม GOOD MONEY – เงินดีดีเพื่อคนไทย นำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย 2 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) และ Nano Finance สำหรับผู้ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการสร้างหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Productive Loan) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เริ่มต้นที่ 19% ต่อปี นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยใช้ระบบการประเมินคุณสมบัติผู้ขอกู้ที่พิจารณาจากอัตราส่วนภาระการชำระหนี้ต่อรายได้ (DSR) และอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้ได้โดยไม่เกิดปัญหาหนี้เกินตัว ที่สำคัญลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดีอย่างต่อเนื่องจะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ซึ่งเป็นการส่งเสริมวินัยทางการเงินที่ดี และเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถพัฒนาไปสู่การใช้บริการสินเชื่อของธนาคารออมสินในอนาคต ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Good Money by GSB ได้แล้ว ทั้งในระบบ iOS และ Android โดยลูกค้าธนาคารออมสินสามารถยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน MyMo ส่วนลูกค้าทั่วไปสามารถยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนที่สาขาธนาคารออมสิน ทั่วประเทศ ติดตามรายละเอียดที่ https://goodmoneybygsb.com/ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ https://goodmoneybygsb.go.link/64pm7

ทั้งนี้ บริษัท เงินดีดี จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารออมสิน (49%) และบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด (51%) กลุ่มบริษัทในเครือธนาคารออมสิน ทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม SMEs บริษัท เงินดีดี มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 400 ล้านบาท ให้บริการแพลตฟอร์มสินเชื่อดิจิทัลเพื่อสังคม GOOD MONEY – เงินดีดีเพื่อสังคม สร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมเพื่อการประกอบอาชีพและสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารการใช้จ่ายอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเมื่อเดือนมิถุนายน 2567

Advertisement

รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก หนุนตลาดที่อยู่อาศัยทำเล “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม” โต 5 หมื่น ลบ.ต่อปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 พฤศจิกายน 2567 Krungthai COMPASS ชี้รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก กระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยทำเล “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม” คาดมูลค่าเพิ่มขึ้นแตะ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ” หนุนการขยายตัวของเมือง และช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยโดยรอบรถไฟฟ้า คาดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 39,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 50,000 ล้านบาทต่อปีในอนาคต แนะผู้ประกอบการอสังหาฯ พัฒนาโครงการใน Segment ยอดนิยมแต่ละพื้นที่

ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดที่อยู่อาศัยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านกำลังซื้อ เห็นได้จากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภททั่วประเทศในช่วง 7 เดือนของปี 2567  ที่ติดลบ 7.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวแทบทุกกลุ่ม ทั้งในมิติของทำเล และมิติของประเภทที่อยู่อาศัย   ดังนั้น ตลาดที่อยู่อาศัยจำเป็นจะต้องมีปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ตลาดสามารถเติบโตได้ในอนาคต โดยโครงการพัฒนารถไฟฟ้า เป็น 1 ในตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยประคับประคองตลาดที่อยู่อาศัยในระยะถัดไป

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ที่มีมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท  เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน  หนุนการขยายตัวของเมือง อีกทั้ง ยังมีช่วยส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาก่อสร้างราว 5-6 ปีข้างหน้า  ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยตรง ทั้งธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า รวมถึงก่อให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมา (Crowding-in effect) โดยเฉพาะในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  ตามความต้องการอยู่อาศัยในบริเวณบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่มากขึ้น

น.ส. สุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) มี 3 จุดเด่นที่น่าสนใจได้แก่ 1) การเป็นจิ๊กซอว์สำคัญเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และตะวันตก เข้าด้วยกัน ทำให้การเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง และกรุงเทพฯ ชั้นใน สะดวกขึ้น อีกทั้ง ยังมีสถานีที่เป็นจุดตัดกับโครงข่ายรถไฟฟ้าอื่นๆ อีกหลายเส้นทาง ทำให้เหมาะสำหรับการต่อยอดสู่ Hub ในการเดินทางและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้หลายรูปแบบ 2) จุดเช็กอินหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทุกเพศทุกวัย โดยมีเส้นทางผ่านทั้งสถานที่ทำงานของหน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน ย่านธุรกิจ ย่านชุมชนเก่า ย่านที่อยู่อาศัย และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อไปยังย่านธุรกิจหลักใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเดินทางของคนในพื้นที่สูงขึ้นและทำให้พื้นที่โดยรอบมีศักยภาพมากขึ้น 3) การเดินทางเข้าเมืองสะดวกขึ้น ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065

นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเสริมว่า หากอ้างอิงกับตลาดที่อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญทำให้ยอดขายที่อยู่อาศัยในทำเลบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ปรับตัวสูงขึ้นจากปีละ 5,450 ยูนิต มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 6,800 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรเลือกพัฒนาที่อยู่อาศัยใน Segment ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค (Product Champion) ในแต่ละทำเลย่อยของแนวรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เช่น หากเป็นทำเลตลิ่งชัน-ศิริราช ควรเลือกพัฒนาคอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท หรือบ้านจัดสรรราคามากกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่ทำเลดินแดง-ศูนย์วัฒนธรรมฯควรพิจารณาพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับกลางราคา 3-5 ล้านบาท  และ 5-10 ล้านบาท แต่หากเป็นทำเลราชเทวี-ราชปรารภ ควรพิจารณาพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับบนที่มีราคามากกว่า 10 ล้านบาท ขึ้นไป

Advertisement

รถรับแลกเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) กรมธนารักษ์ ออกให้บริการเดือน พ.ย. ที่ไหนบ้าง?

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 31 ตุลาคม 2567 กรมธนารักษ์ออกให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) แก่ประชาชน ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อกระตุ้นให้เหรียญกษาปณ์เกิดการหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

กรมธนารักษ์จะออกให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีเหรียญกษาปณ์ และมีความต้องการแลกคืนแต่ยังไม่สามารถเข้าถึงในการรับแลกคืนเหรียญได้ ประกอบด้วย เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ทุกชนิดราคา เหรียญกษาปณ์สภาพดี หรือเหรียญกษาปณ์ชำรุด เช่น เหรียญกษาปณ์ดำ ถูกตัด ถูกตอก ถูกตี เจาะรู บิดงอ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2567 รถรับแลกเหรียญคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) จะออกให้บริการตามสถานที่ ดังนี้

วันที่ 4 พฤศจิกายน – สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สิงห์บุรี เวลา 09.30 น. – 14.30 น.

วันที่ 6 พฤศจิกายน – สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครนายก เวลา 09.30 น. – 14.30 น.

วันที่ 7 พฤศจิกายน – ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เวลา 09.30 น. – 15.00 น.

วันที่ 12-13 พฤศจิกายน – สถานีบริการน้ำมัน ปตท. หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี  เวลา 09.30 น. -14.30 น.

วันที่ 27 พฤศจิกายน – ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง เวลา 09.30 น. – 15.00 น.

วันที่ 29 พฤศจิกายน – สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นนทบุรี เวลา 09.30 น. – 15.30 น.

สำหรับการให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กระตุ้นให้ประชาชนที่เก็บเหรียญกษาปณ์ไว้นำออกมาแลกคืน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีเหรียญกษาปณ์อยู่ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงในการรับแลกคืนเหรียญได้ ทั้งนี้ ประชาชน สามารถนำเหรียญกษาปณ์มาแลกคืนได้รายละไม่เกิน 10,000 บาท รวมทุกชนิดราคา ต่อราย/ต่อวัน

Advertisement

1 พ.ย.นี้เตรียมเปิดเช็กอินระบบ Biometric เพื่อการเดินทางสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นำร่องผู้โดยสารในประเทศก่อน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 ตุลาคม 2567 เผยยอดผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยาน ทอท. 6 แห่ง เข้าไทยเพิ่มกว่า 120 ล้านคน ในปีงบประมาณ 67 พร้อมเปิดใช้งานเช็กอินระบบ Biometric เพื่อการเดินทางที่สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น นำร่องผู้โดยสารในประเทศก่อนเริ่ม 1 พ.ย. นี้

วันนี้ (วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยินดีกับตัวเลขผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) มียอดผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในขณะที่ตารางบินฤดูหนาว 2024/2025 ของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีเที่ยวบินได้รับการจัดสรรเวลารวม 370,239 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากฤดูหนาวในปีที่ผ่านมา (W2023/2024) 22.1% และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้น 23% โดยเส้นทางระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และฮ่องกง

พร้อมกันนี้ ทอท. ยังขานรับนโยบายรัฐบาลเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เปิดระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ระบุตัวตนของผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวก สบาย รวดเร็ว และลดระยะเวลาในการรอคิว นำร่องให้ผู้โดยสารภายในประเทศได้ใช้ก่อนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นี้ และเปิดใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศวันที่ 1 ธันวาคม 2567 แต่ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลด้วย

“รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย ในการยกระดับการให้บริการในท่าอากาศยานไทยให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และมีความพร้อมทั้งในด้านระบบ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เน้นความสะดวก สบาย รวดเร็ว และลดระยะเวลาให้กับผู้ใช้บริการ โดยเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะยกระดับศักยภาพเป็นท่าอากาศยานที่ดีในระดับโลกได้” นายจิรายุ กล่าว

Advertisement

“วิทัย” ผอ.ออมสิน ลั่น ตั้งเป้าสร้าง Social Impact ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท ใน 10 ด้าน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 ตุลาคม 2567 ออมสิน ตั้งเป้าสร้าง Social Impact ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท เริ่มปี 67 เผยทำได้เพราะรัฐบาลปรับเป้าหมายไม่เน้นกำไรสูงสุด พร้อมเชิญชวนเป็นลูกค้าออมสินเพื่อร่วมกันช่วยสังคม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภายในปี 2567 นี้ ธนาคารกำหนดเป้าหมายขยายผลการสร้าง Social Impact หรือผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมให้กว้างขวางขึ้น ผ่านมาตรการและการทำภารกิจ 10 ด้าน ได้แก่ 1) การแก้ไขหนี้/ยกหนี้ให้ครัวเรือน 2) การลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย 3) การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ/ผ่อนเกณฑ์อนุมัติ เพื่อดึงประชาชนกลุ่มฐานราก และกลุ่ม SMEs เข้าสู่ระบบการเงิน 4) การสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 5) การช่วยเหลือภัยพิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 6) การสร้างอาชีพให้ประชาชนกลุ่มฐานราก 7) การพัฒนาชุมชน 8) การส่งเสริมการออม 9) การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และ 10) การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยต้องสามารถเข้าช่วยเหลือสังคม ประเมินเป็นตัวเลขเม็ดเงินผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ได้ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การที่ธนาคารสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามแผนงาน เกิดจากการที่รัฐบาลเห็นชอบการปรับตัวชี้วัดให้ธนาคารออมสินไม่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด และให้ขยายผลการช่วยเหลือสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแทน โดยมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit) ทั้งนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายกำไรในปี 2567 ประมาณ 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 และกำไรส่วนนี้ยังถูกนำส่งเป็นรายได้ของรัฐต่อไปอีกด้วย ขณะที่ธนาคารยังมีความแข็งแกร่งด้วยปริมาณเงินสำรองส่วนเกินที่เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 80,000 ล้านบาท (General Provision) ในปี 2567 (จากเดิมในปี 2562 มีเพียง 4,000 ล้านบาท เท่านั้น)

นอกจากนี้ ธนาคารได้เร่งขับเคลื่อนแผนขยายผลการช่วยเหลือสังคม และขยายขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ด้วยการบริหารงานแบบกลุ่มบริษัทผ่าน 4 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม SMEs ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด 2) บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือนด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ซึ่งได้มีการทำสัญญาโอนหนี้ล็อตแรกแล้วกว่า 140,000 บัญชี 3) บริษัท เงินดีดี จำกัด เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนกลุ่มฐานราก ด้วยการให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน “Good Money by GSB” และ 4) บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อช่วยพัฒนายกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล/AI ของธนาคาร

อนึ่ง ธนาคารออมสินย้ำจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผ่านกระบวนการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าร่วม (Creating Shared Value : CSV) ที่เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจด้วยการทำกำไรในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit) และยังสามารถขยายการสร้างประโยชน์ต่อสังคม (Social Impact) ตามวัตถุประสงค์ของ Social Bank จึงขอเชิญชวนเป็นลูกค้าธนาคารออมสิน เพราะไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝาก สลากออมสิน สินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ธนาคารจะนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้คนและสร้างประโยชน์แก่สังคมได้มากขึ้น ตามแนวคิด “เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม”

Advertisement

Verified by ExactMetrics