วันที่ 21 มกราคม 2025

นายกฯ ดันไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมยานยนต์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 ธันวาคม 2567 ทำเนียบ – นายกฯ มอบ 2 นโยบายคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้า นัดแรก มุ่งเน้นลงทุนไฟฟ้าสีเขียว ผลักดันไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมยานยนต์

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพลังงาน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติครั้งแรก มีนโยบาย 2 เรื่องแจ้งให้ทราบ เรื่องแรกรัฐบาลมุ่งเน้นในเรื่องของการลงทุนไฟฟ้าสีเขียวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดให้สอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งทั่วโลกกำลังโฟกัสเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เวลาไปที่ไหนเราได้พูดคุยถึงเรื่องนี้ และต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมากอยากให้ทำเรื่องนี้ต่ออย่างจริงจัง ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลมองว่าเรื่องการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิต ที่ใช้ยานยนต์เป็นมิตรต่อสิ่งสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อยากให้โฟกัสเรื่องนี้ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านให้ราบรื่นมากขึ้น นอกจากนี้อยากจะผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติและให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและการยกระดับขีดความสามารถในการผลิต

“ที่เราเคยบอกไว้ว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นฮับในเรื่องนี้ก็ขอให้ผลักดันเรื่องนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการพัฒนาคน การส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาระบบนิเวศให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลมุ่งเน้นที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย ก็ขอให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณามาตรการต่างๆอะไรที่สำคัญ ขอให้บอกกันจะได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ” น.ส.แพทองธารกล่าว

Advertisement

“นฤมล” ประกาศยกระดับหม่อนไหม ผลักดันเป็น Soft Power

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ธันวาคม 2567 เชียงใหม่ – “นฤมล” ประกาศยกระดับหม่อนไหม ผลักดันเป็น Soft Power แปรรูป เพิ่มมูลค่า ขยายพื้นที่ปลูก สร้างรายได้ให้เกษตรกร

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และการยกระดับสินค้าและบริการมูลค่าสูง ของกรมหม่อนไหม ณ เจ.ที.ฟาร์มซิลค์สันกำแพง ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กรมหม่อนไหม เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดำเนินงานสนองพระราชดำริบริหารจัดการด้านหม่อนไหมแบบครบวงจร มีศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ 25 ศูนย์ โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ มีภารกิจในการอนุรักษ์ วิจัยและพัฒนา ผลิตพันธุ์หม่อนและไข่ไหมพันธุ์ดี เพื่อให้บริการ รวมทั้งส่งเสริมและดูแลเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมทั้งสิ้น 97 ราย พื้นที่ปลูกหม่อน 205 ไร่

นางนฤมล กล่าวว่า เราพบว่า เกษตรกรยังเข้าสู่อาชีพหม่อนไหมค่อนข้างน้อย และต้นทุนการผลิตในปีแรกค่อนข้างสูง อีกทั้งปัจจุบันผู้ประกอบการมีความต้องการรับซื้อผลผลิตรังไหมจากเกษตรกร 5,000 ตันต่อปี แต่เกษตรกรผลิตรังไหมได้เพียง 2,000 ตันต่อปี ยังเป็นการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด กรมหม่อนไหมจึงได้ดำเนินการตามแนวนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อแก้ปัญหาและสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร ได้เข้าสู่อาชีพหม่อนไหมเพิ่มมากขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกัน ระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ ความร่วมมืองานวิจัยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ไหม เพื่อให้ได้ไหมพันธุ์ใหม่ที่มีความเหมาะสม การนำนวัตกรรม เทคโนโลยี มาใช้ในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า การถ่ายทอดองค์ความรู้และวางแผนการผลิตร่วมกัน ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและผู้รับซื้อเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตและคุณภาพตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรสามารถผลิตรังไหมได้จำนวน 1.2 ตันต่อปี สร้างรายได้ 225,264 บาทต่อปี ปริมาณการผลิตใบหม่อนจำหน่ายจำนวน 10 ตันต่อปี รายได้ 102,576 บาทต่อปี และยังคงเดินหน้าขยายผลไปสู่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเพิ่มขึ้น

“การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นภารกิจที่สำคัญของกระทรวงเกษตรฯ จึงได้มอบหมายให้กรมหม่อนไหม ขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ที่เน้นแนวคิดในการบริหารจัดการผลผลิตที่มีเป้าหมายให้เกษตรกร มีรายได้แน่นอน มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อให้ทราบถึงความต้องการของตลาด วางแผนการผลิตร่วมกัน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านนับว่าประสบความสำเร็จ ในการแปรรูปสินค้าผลิตภัณฑ์จากไหมที่ได้มาจากกลุ่มเกษตรกร และผลิตภัณฑ์โปรตีนจากรังไหมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีชื่อเสียง รวมถึงการนำโมเดล BCG มาใช้ในการผลิตทำให้เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง ผลิตและแปรรูปสินค้าทางการเกษตรที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้” นางนฤมล กล่าว

สำหรับบริษัท เจ.ที. ซิลค์ จำกัด ก่อตั้งในปี 2546 ดำเนินธุรกิจปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โปรตีนไหมเสริมความงาม โดยกรมหม่อนไหม ให้การสนับสนุนพันธุ์หม่อนและผลิตไข่ไหมพันธุ์ดี ให้ความรู้ด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงการรับรองมาตรฐานแปลงหม่อนและรังไหมอินทรีย์ ซึ่งแผนการดำเนินงานในอนาคต กรมฯ จะขยายพื้นที่ส่งเสริมการปลูกหม่อนในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน และพัฒนาสินค้าให้เป็นสินค้าอินทรีย์ เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรต่อไป

Advertisement

รมว.เกษตร หนุนตั้ง “ศูนย์ข้าวชุมชน” กลไกหลักเพิ่มผลผลิต-ลดต้นทุน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 พฤศจิกายน 2567 “นฤมล” หนุนตั้ง “ศูนย์ข้าวชุมชน” ยกเป็นกลไกหลัก เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน กระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเปิดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ปี 2568 ณ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ วานนี้ (29 พ.ย.) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าว โดยนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ มาปรับใช้กับวิถีเกษตรในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก นำไปสู่การนำระบบไปปฏิบัติใช้ และสร้างการมีส่วนร่วมในระดับชุมชมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพสูง เพิ่มผลผลิต และคุณภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นางนฤมล กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าวมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรวมตัวกันจัดตั้ง “ศูนย์ข้าวชุมชน” เพื่อเป็นรากฐานในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าว (1 ตำบล 1 ศูนย์ข้าวชุมชน) โดยมุ่งเน้นการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ดี เปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการพัฒนาข้าวด้วยตนเอง ช่วยให้ชุมชนและองค์กรชาวนาเกิดความเข้มแข็ง เพื่อให้สมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน ชาวนาอาสา และเกษตรกร เข้าถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสม และจำเป็นต่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นการรักษาเสถียรภาพผลผลิตของเกษตรกร

“ปัจจุบันการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยปีการผลิต 2566/67 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ประมาณ 100,000 ตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของทั้งประเทศ ที่อยู่ประมาณ 1.33 ล้านตัน ดังนั้น ศูนย์ข้าวชุมชน จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ยังขาดแคลน กระทรวงเกษตรฯ จึงมุ่งผลักดันศูนย์ข้าวชุมชนให้เป็นกลไกสำคัญในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาการผลิตข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืน กระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้แก่ชาวนา โดยได้ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดบูรณาการการทำงานร่วมกัน สนับสนุนพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถลดต้นทุนการผลิต สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค” นางนฤมลก กล่าว

นางนฤมล กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า เพื่อต้องการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกของศูนย์ข้าวชุมชน และเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้รับรู้และเข้าใจในข้อมูลองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยเน้นการผลิตที่นำเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง การฟื้นฟูนาข้าวหลังน้ำลด การใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรค แมลงและจุลินทรีย์ย่อยสลายฟางข้าว เพื่อจัดการระบบการผลิตภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากข้าวโดยเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย

Advertisement

เตรียมจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” 29 พ.ย. – 2 ธ.ค. 67 ที่เมืองทองธานี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 พฤศจิกายน 2567 “ธีรรัตน์ – ซาบีดา” แถลงจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมชวนคนไทยร่วมเที่ยวชมงาน 29 พ.ย. – 2 ธ.ค. 67 เมืองทองธานี ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เป็นผู้แทนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย แถลงข่าวการจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ห้อง The Pavilion ชั้น 5 โรงแรม โรสวูด กรุงเทพฯ โดย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก (ประเทศไทย) และนายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมในการแถลงข่าว

การแถลงข่าวในครั้งนี้ มีคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยร่วมในงาน อาทิ นายสันติธร ยิ้มละมัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายชยชัย แสงอินทร์ นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า การจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสร้างโอกาส สร้างรายได้” ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ โดยน้อมนำแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” พุ่งเป้าส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านงานภูมิปัญญาไทยอันทรงคุณค่าในทุกกระบวนการผลิตผ้า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ทั้งได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาผ้าไทยที่ทันสมัย ผ่านหนังสือ Thai Texttile Trendbook ซึ่งจะต่อยอดผ้าไทยไปสู่สายตาชาวโลกได้ โดยมีตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ บ้านดอนกอย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

น.ส.ซาบีดา กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยภายใต้การนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย มุ่งมั่นในการน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยการผลักดันงานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่เป็น Soft Power ตามนโยบายรัฐบาล ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีเสน่ห์และมีคุณค่าของประเทศไทย ได้แก่ 1.อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival) ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสร่วมเป็นกรรมการตัดสินการประกวดลายผ้าพระราชทานผ้าลายสิริวชิราภรณ์ รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ที่ได้รับพระเมตตาจากพระองค์ท่านทรงเป็นประธานกรรมการตัดสิน ด้วยพระหฤทัยใส่อันมุ่งมั่น และพระอัจฉริยภาพ โดยทรงดำรงพระองค์ในฐานะผู้นำการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาของไทยสู่สากล

นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของตนที่ได้ร่วมสนองงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้พระราชทานแนวทางขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้กระทรวงมหาดไทยน้อมนำไปขับเคลื่อน โดยนับตั้งแต่ตนดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมการปกครอง กระทั่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นช่วงเวลา 3 ปีที่ตนได้มีโอกาสจัดงาน “Silk Festival” โดยในครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอผลงานที่มีความทันสมัย เป็นผลงานที่ได้รับการต่อยอดและพัฒนาด้วยความตั้งใจของผู้ประกอบการและช่างทอผ้าจากทั่วประเทศ และยังมีการจัดจำหน่ายบูธอาหาร OTOP ชวนชิม โดยมุ่งหวังจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท

นายสยาม กล่าวว่า งาน Silk Festival ในปีนี้ จะมีแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทยจาก 16 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชั้นนำที่นำผืนผ้าไทยมารังสรรค์เป็นเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย โดยไฮไลท์สำคัญของงาน คือวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ทุกท่านจะได้ร่วมเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน และพระราชทานเหรียญรางวัล และโล่รางวัลให้แก่ คณะทำงานกระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชนและดีไซเนอร์ ที่สนองพระเดชพระคุณ ผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี พ.ศ. 2567, ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ, รางวัลต้นกล้านารีรัตน ตามโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล,  ผู้ชนะการประกวดนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ (New Gen Young Designer 2024)

นายธนันท์รัฐ กล่าวว่า Silk festival เป็นการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ในการขับเคลื่อนผ้าไทยต่อยอดสู่ความทันสมัยตามหลักสากล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทุ่มเทตรากตรำพระวรกายในการทรงงานสานต่อพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการผ้าที่มุ่งมั่นตั้งใจการยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ซึ่งภายหลังจากคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกได้ลงพื้นที่ไป Coaching ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการทั่วประเทศ พบว่าในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล โดยตลอดทั้งปีมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไทยกว่า 74,000 ล้านบาท

นายกุลวิทย์ กล่าวว่า ในการจัดงานครั้งนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมการเปิดตัว “สมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย” ซึ่งเป็นนักออกแบบที่มีบทบาทภารกิจในการสนับสนุนส่งเสริมในการ Coaching ผู้เข้าร่วมโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของกรมการพัฒนาชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 – 2567 พร้อมการเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้การออกแบบแฟชั่นผ้าไทยสู่สากล โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะทรงเป็นองค์ประธานการเสวนา ร่วมกับตัวแทนสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567

“ขอเชิญชวนร่วมงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6 – 7 เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งภายในงานจะมีการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จากทั่วประเทศ จำนวน 200 ราย และอาหารชวนชิม กว่า 50 ร้านค้า ร่วมชม ช้อปสินค้า ชิมอาหารเลิศรส เช็คอินงานรวมสีสันต์สดใส กับแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทยจาก 16 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชั้นนำอีกด้วย

Advertisement

Agoda ชี้ กม.สมรสเท่าเทียมไทยบังคับใช้ ม.ค.นี้ คาดดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก 4 ล้านคนต่อปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 พฤศจิกายน 2567 “ศศิกานต์” รองโฆษกรัฐบาลเผย งานวิจัย Agoda ชี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมไทยบังคับใช้ ม.ค. นี้! คาดดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก 4 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้กว่า 6 หมื่นล้านบาท – เพิ่มงานกว่า 76,000 ตำแหน่ง

วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2567) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดของแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยว Agoda (อโกด้า) ได้ประเมินถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในวันที่ 22 มกราคม 2568 ที่จะถึงนี้ ซึ่งทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่รับรองกฎหมายฯ และเป็นประเทศที่สามในเอเชีย รองจากไต้หวัน และเนปาล โดยคาดการณ์ว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปี หรือราว 10% และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 69,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 2 ปี หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ กระจายรายได้ไปยังหลายภาคส่วน อาทิ การจองที่พัก การบริการอาหารและเครื่องดื่ม การจับจ่ายซื้อสินค้า และการเดินทางภายในประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลเชิงบวกที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ การสนับสนุนการสร้างงานประจำเพิ่มอีก 152,000 ตำแหน่ง โดย 76,000 ตำแหน่ง จะเกิดขึ้นโดยตรงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอีก 76,000 ตำแหน่งจะกระจายไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกัน ยังจะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยเพิ่มขึ้น 0.3%

“รัฐบาลสานต่อนโยบายสมรสเท่าเทียม เดินหน้าผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน “WORLD PRIDE 2030”  ซึ่งเป็นงานเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศระดับโลก โดยช่วงที่นครซิดนีย์ของออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพในปี 2023 สามารถทำรายได้ 185.6 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียหรือราว 4,000 ล้านบาท ตามรายงานของ Agoda รัฐบาลพร้อมสนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ  เพื่อเสริมยุทธศาสตร์ให้กับการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งประเมินว่าผลการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ เป็นจำนวนมาก” นางสาวศศิกานต์ ระบุ

Advertisement

รบ.เดินหน้า “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ลุยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบทั่วประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 พฤศจิกายน 2567 “รัฐบาล” เดินหน้าขับเคลื่อน “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ลุยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบทั่วประเทศ

วานนี้ (วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวสรุปโครงการในการขับเคลื่อนกิจกรรม “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน”  ปี 67 ซึ่งสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ภายใต้โครงการส่งเสริมการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ครัวเรือนให้เข้มแข็งทั่วประเทศ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ สร้างความมั่นคงเศรษฐกิจฐานราก วางเป้า ใช้กองทุนฯ เป็นกลไก ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พึ่งพาตนเอง สร้างสังคมไทยยั่งยืน โดยมี นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ นายกฤช เอื้อวงศ์  ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และแขกผู้มีเกียรติ ข้าราชการ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งมีอยู่กว่า 79,610 แห่งทั่วประเทศ และสมาชิกกว่า 13 ล้านคน ถือเป็นกำลังหลักในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นให้กองทุนเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสร้างอาชีพ สร้างงาน และรายได้ในชุมชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการออม และจัดระบบสวัสดิการเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม พร้อมสนับสนุนงบประมาณหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทในระยะแรก และเพิ่มทุนในระยะต่อไปโครงการนี้มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้วยทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา” เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อเนื่องกว่า 23 ปี ทั้งนี้ โครงการ ‘กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน’ จะเป็นต้นแบบในการ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับหมู่บ้านและชุมชนต่อไป

นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ดำเนินการมา 23 ปี สร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาการพึ่งพาตนเองได้ดี เป็นแหล่งเงินทุนและออมเงินที่มั่นคง ช่วยส่งเสริม สวัสดิการและประโยชน์แก่ชุมชน การดำเนินงานสะท้อนความสำเร็จตามที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในระดับหมู่บ้าน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวมจากปัญหาหนี้นอกระบบที่กระทบต่อการดำรงชีวิต กองทุนหมู่บ้านจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนในรูปแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อหลีกเลี่ยงการไปเกี่ยวข้องกับหนี้นอกระบบ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ  11,392,200,000 บาท ผ่านโครงการสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กองทุนสามารถดำเนินงานได้อย่างมีอิสระและตอบสนองความต้องการของชุมชน โดยหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกและประชาชน ตามเจตนารมย์ของรัฐบาล

ด้านนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการ สทบ. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสร้างงานและอาชีพในชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมการออมและพัฒนาระบบสวัสดิการในชุมชน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นวาระแห่งชาติ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีผลเป็นรูปธรรม สทบ. จึงจัดโครงการ “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ภายใต้ โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน โดยนำกองทุนหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการบริหารกับกองทุนหมู่บ้านอื่น ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ยั่งยืน

สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้จัดขึ้นใน 4 ภูมิภาคหลักของประเทศไทย ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) วันที่ 10 ส.ค. 67, ภาคเหนือ (เชียงใหม่) วันที่ 15 ส.ค. 67, ภาคใต้ (สงขลา) วันที่ 17 ส.ค. 67, และภาคกลาง (อยุธยา) วันที่ 19 ส.ค. 67 ซึ่งในแต่ละภูมิภาค มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน” และ หัวข้อ “ไขกลยุทธ์ สู่อิสระทางการเงิน โดยกองทุนหมู่บ้านฯ ต้นแบบ” โดยผู้แทนสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น คุณอาจิน จุ้งลก ที่ปรึกษาโครงการและประธานมูลนิธิเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ คุณอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนาศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามหนี้นอกระบบ และอำนวยความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และผู้เชี่ยวชาญด้านการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีการออกบูธจากกองทุนต่าง ๆ บูธให้บริการคำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ บูธคลินิกแก้หนี้ และบูธจากสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร และธนาคารออมสิน รวมถึงการจัด นิทรรศการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จของการดำเนินการของ สทบ. ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกันอย่างคับคั่ง รวมทั้ง 4 ภูมิภาคไม่ น้อยกว่า 4,000 คน ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผู้แทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้บริหาร บุคลากร สทบ. ผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน เป็นต้น

โดยการจัดงานแถลงข่าวสรุปโครงการฯ ครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นจำนวน 350 คน ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผู้แทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้บริหาร บุคลากร สทบ. ผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน โดยภายในงานมีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การมอบนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุน หมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงการเสวนาสถานการณ์ และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ อย่างยั่งยืนและไขกลยุทธ์ สู่อิสระทางการเงิน โดยตัวแทนกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองต้นแบบ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการของกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมือง การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จ การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กิจกรรมบริการของกองทุนหมู่บ้านและ ชุมชนเมือง และหน่วยงานภาคี

Advertisement

รองโฆษก รบ. เผย ก.พลังงาน เตรียมขายโซลาร์เซลล์ราคาถูก ฝีมือคนไทย ปีหน้า เพิ่มทางเลือกช่วย ปชช.ประหยัดค่าไฟ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 25 พฤศจิกายน 2567 รองโฆษกรัฐบาล แจ้งข่าวดี ‘พีระพันธุ์’ แม่ทัพ ก.พลังงาน เตรียมเปิดขายโซลาร์เซลล์ราคาถูก ฝีมือคนไทย ภายในปีหน้า เพิ่มทางเลือกช่วยประชาชนประหยัดค่าไฟ

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ขับเคลื่อนนโยบายเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์รูฟให้สะดวกรวดเร็วขึ้น และจัดหาอุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ประชาชนในราคาถูก   ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานพยายามตรึงค่าไฟไว้ที่ระดับ 4.18 บาท แต่ปัญหาค่าไฟยังเป็นภาระของพี่น้องประชาชนอยู่ จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือการปรับปรุงกฎหมาย และการจัดหาอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูก ซึ่งเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่สามารถประหยัดค่าไฟของประชาชนได้

ขณะนี้ คณะทำงานของกระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ผลิตต้นแบบของเครื่องอินเวอร์เตอร์ (Inverter)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้สำเร็จแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ ความเสถียร และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถ ผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างครบชุด เพื่อจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชนได้ในปี 2568

“อุปกรณ์ต้นแบบเครื่อง Inverter  นี้สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เป็นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์สร้างขึ้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และมีแผนที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับประชาชนในราคาถูก เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากปัญหาค่าไฟแพง” นางสาวศศิกานต์ ย้ำ

Advertisement

ยูเนสโก ยกย่อง “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” 1 ใน 6 สนามบินสวยสุดในโลก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 พฤศจิกายน 2567 “สุริยะ” รมว.คมนาคม ปลื้ม ยูเนสโก ยกย่อง “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินสวยที่สุดในโลก ประจำปี 2567 ด้าน “อาคาร SAT-1” สุดปัง! หลังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสนามบินที่มีสถาปัตยกรรมสวยที่สุดของโลก โชว์ความโดดเด่นด้านความงาม-ความคิดสร้างสรรค์ ชูอัตลักษณ์ความเป็นไทย จ่อประกาศผล 2 ธ.ค.นี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 (The World’s most beautiful List 2024)

ทั้งนี้ ล่าสุดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังได้ถูกเสนอชื่อเข้ารับรางวัล Prix Versailles หมวดหมู่สนามบิน จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ซึ่งร่วมกับ UNESCO โดยจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่ UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเกณฑ์การให้คะแนนการออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในด้านความงาม ทั้งภายนอก และภายในอาคาร ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ที่ผสมผสานกับบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับอาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น เป็นอาคารสูง 4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) จำนวน 28 หลุมจอด ถือว่ามีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม อัตลักษณ์ การออกแบบ การสร้างประสบการณ์ให้ผู้โดยสาร รวมทั้งให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการถ่ายทอดความวิจิตรของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทย สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ

นอกจากนี้ ทอท. ยังได้มีการออกแบบที่สวยงาม โดยนำจุดแข็งทางวัฒนธรรมมานำเสนอ ประกอบกับการตกแต่งภายในอาคารเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างอาคารที่ทันสมัย ครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และวิถีชีวิต โดยมีผลงานการตกแต่งประติมากรรมชิ้นเอกเป็นช้างคชสาร ตั้งอยู่บริเวณโถงกลางของชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาออก

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า ขณะเดียวกัน ภายในชั้น 3 ของอาคารฯ ได้รับการออกแบบให้เป็นสวนตกแต่งด้วยสัตว์หิมพานต์ ตามคติความเชื่อไทยแต่โบราณ อาทิ กินนร กินรี เหมราช และหงส์สา ส่วนชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ได้ออกแบบเป็นสวนสัญจรที่จัดแสดงงานภูมิทัศน์ผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมของไทย เช่น หุ่นละครเล็ก หนังใหญ่ หัวโขน และว่าวไทย เป็นต้น

ในส่วนปลายอาคารทั้ง 2 ด้าน คือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ติดตั้งสุวรรณบุษบก และรัตนบุษบก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธปฏิมา ปางมารวิชัย และปางเปิดโลก โดยถอดแบบมาจากวัดผาซ่อนแก้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อสถานที่ ขณะที่ ห้องน้ำได้เสนออัตลักษณ์อันงดงามของแต่ละภาค มีภาพจิตรกรรม 4 ภาคของไทย ไปจนถึงประเพณีวัฒนธรรมของไทยมาใช้ออกแบบรูปลักษณ์ภายใน อีกทั้ง สุขภัณฑ์ทั้งหมด ยังใช้ระบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยในการประหยัดน้ำอีกด้วย

สำหรับ 6 สนามบินที่เว็บไซต์ www.prix-versailles.com ได้ประกาศ 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 ได้แก่ 1.อาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย 2.อาคารผู้โดยสาร E ท่าอากาศยานนานาชาติโลแกน (Logan International Airport) ประเทศสหรัฐอเมริกา 3.อาคารผู้โดยสารที่ 2 ท่าอากาศยานชางงี (Changi Airport) ประเทศสิงคโปร์ 4.ท่าอากาศยานนานาชาติซายิด (Zayed International Airport) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5.ท่าอากาศยานนานาชาติเฟลิเป้ แองเจเลส (Felipe Ángeles International Airport) ประเทศเม็กซิโก และ 6.ท่าอากาศยานนานาชาติแคนซัสซิตี้ (Kansas City International Airport) ประเทศสหรัฐอเมริกา

Advertisement

นายกฯ ประกาศแคชรีเบต 30% หลังหารือ 7 บิ๊กผู้ผลิตภาพยนตร์ คาดกองถ่ายแห่ใช้เงินสร้างหนังในไทยแตะหมื่นล้าน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 พฤศจิกายน 2567 กองถ่ายหนังอเมริกันชื่นชอบนโยบายไทย นายกฯ แพทองธาร ประกาศแคมเปญแคชรีเบต 30% หลังหารือ 7 บิ๊กผู้ผลิตภาพยนตร์ คาดกองถ่ายแห่ใช้เงินสร้างหนังในไทยปีหน้าแตะหมื่นล้านแน่

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าวันนี้ (วันอังคารที่ 12 พ.ย. 2567 เวลา 11.00 น. เวลาท้องถิ่นนครลอสแอนเจลิสซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง) ที่โรงแรม Beverly Wilshire นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองเพื่อสร้างเครือข่าย ภาคธุรกิจในต่างประเทศ (networking reception) กับ นาย Charles H. Rivkin ประธานและประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ (Motion Picture Association: MPA) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทภาพยนตร์ชั้นนำของสหรัฐฯ เข้าร่วมงานโดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยว่า เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่จะส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งไทยได้เรียนรู้จากสหรัฐฯ ที่มีการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ในทางธุรกิจอันเป็นเศรษฐกิจที่แข็งแรงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

“ปีที่ผ่านมา มีการถ่ายทำภาพยนตร์กว่า 450 เรื่องจาก 40 ประเทศในประเทศไทยซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ผลิตภาพยนตร์สหรัฐฯ เป็นกลุ่มนักลงทุนอันดับหนึ่งมีถึง 34 เรื่องไปถ่ายทำในสถานที่ต่างๆทั่วประเทศไทย ทั้งนี้รัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการถ่ายทำภาพยนตร์โดยทบทวนมาตรการส่งเสริมต่างๆ เช่นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบของการคืนเงินสูงสุด (cash rebate) ที่อัตราร้อยละ 30 และไม่กำหนดเพดานคืนเงินสูงสุดต่อโครงการอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยในการสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในกลุ่มดังกล่าวเป็นอย่างมากโดยเชื่อมั่นว่าปีต่อไปจะมีเม็ดเงินด้านนี้กว่าหมื่นล้านบาท” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้านนายจิรายุกล่าวต่อไปว่า จากนั้นนาย Charles H. Rivkin ประธานและประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ (Motion Picture Association: MPA) ซึ่งมีธุรกิจสตรีมมิงและบันเทิงในเครือ อาทิ Netflix Disney HBO เป็นต้น ได้กล่าวชี่นชมนโยบายของรัฐบาลไทยในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ รัฐบาลยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในระดับสากลทำให้ไทยเป็นตัวเลือกของสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่มีความโดดเด่นในภูมิภาคได้มากขึ้น และจะช่วยรับประกันการลงทุนในอนาคตที่มากขึ้น ทั้งนี้ ยังรู้สึกตื่นเต้นมากหากจะได้ร่วมงานกับประเทศไทยมากขึ้น โดยบริษัทได้เข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และช่วยเสริมสร้างความรู้ในการถ่ายทำภาพยนตร์และสร้างงานในท้องถิ่น ซึ่งมั่นใจว่าพบปะหารือเพิ่มเติมในวันนี้ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับทั้ง 7 บริษัทที่มาในวันนี้จะสามารถให้การสนับสนุน Soft Power ของไทย  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้เป็นอย่างดี นายจิรายุกล่าว

“สำหรับ ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทภาพยนตร์ทั้ง 7 บริษัท ที่ได้ร่วมพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี ดังนี้

  1. นายชาร์ลส์ เอช. ริฟกิน (Charles H. Rivkin) ประธานและ CEO สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ
  2. นางสาว แคธลีน ทาฟฟ์ (Cathleen Taff) ประธาน ฝ่ายจัดจําหน่าย, แฟรนไชส์ และการวิเคราะห์ผู้ชม, บริษัท Walt Disney
  3. นายเจย์ โรว์ (Jay Roewe) รองประธานอาวุโส ฝ่ายการวางแผนการผลิตและสิ่งจูงใจ บริษัท HBO/HBO MAX และ Warner Bros. Pictures
  4. นายเวอร์นอน แซนเดอร์ส (Vernon Sanders) หัวหน้าฝ่ายโทรทัศน์บริษัท Amazon/MGM Studios
  5. นายคริส มิลเลอร์ (Chris Miller) ที่ปรึกษาทั่วไป บริษัท NBCUniversal Studio Group 6. นายเดวิด ไฮแมน (David Hyman) หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย บริษัท Netflix Studios
  6. นางสาวจิล แรตเนอร์ (Jill Ratner) ที่ปรึกษาทั่วไป บริษัท Sony Pictures Entertainment
  7. นางสาวแชรอน คีย์เซอร์(Sharon Keyser) รองประธานอาวุโส ฝ่ายความสัมพันธ์กับรัฐบาลและการวางแผนบริษัท Paramount Pictures Corporation”

Advertisement

รมว.เกษตรฯ มุ่งผลักดันสหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 พฤศจิกายน 2567 “นฤมล” รมว.เกษตรฯ มุ่งผลักดันสหกรณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ครั้งที่ 4/2567 โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชน เข้าร่วม โดยที่ประชุมได้พิจารณาการขยายขอบเขตการลงทุน ภายใต้มาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 โดยปรับปรุงประกาศ คพช. เรื่อง ข้อกำหนดการฝากหรือการลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์ ให้คำนึงถึงการลงทุนอย่างรอบคอบและปลอดภัย เพื่อให้สหกรณ์มีรายได้เพิ่มเติมอย่างมั่นคง

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือในส่วนการนำวิทยาการข้อมูล (Data Science) เพื่อจัดวางระบบจัดเก็บ วิเคราะห์และประยุกต์ใช้ข้อมูลสหกรณ์ในระดับมหภาค โดยต้องสร้างแอปพลิเคชั่นให้สหกรณ์ใช้งานอย่างมีประโยชน์ในเชิงธุรกิจ สามารถสร้างกำไร คาดการณ์ความเสี่ยง และช่วยพัฒนาสถาบันให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง อันเป็นผลดีต่อสมาชิกและเกษตรกร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการจัดทำงบประมาณปี 2569 ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บูรณาการร่วมกันวางแผนการทำงานให้ผลลัพธ์การทำงานเป็นที่ตั้ง เพื่อผลักดันสหกรณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอยู่ดี กินดีอย่างยั่งยืนต่อไป

Advertisement

 

Verified by ExactMetrics