วันที่ 4 พฤษภาคม 2025

นายกฯ ส่งเสริมยกระดับครูมวยไทยให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมวยไทย หนึ่งใน Soft Power สำคัญ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 กรกฎาคม 2567 นายกฯ ส่งเสริมการต่อยอด ยกระดับครูมวยไทยให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ เชื่อมั่นศักยภาพมวยไทย หนึ่งใน Soft Power สำคัญ พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย เพื่อเพิ่มโอกาส สร้างงาน ยกระดับอาชีพครูมวยไทย

วันนี้ (23 กรกฎาคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความสำคัญกับการเสริมสร้าง Soft Power ของไทย โดยเชื่อมั่นในศักยภาพมวยไทย เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งใน Soft Power หลักของประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ขานรับดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยได้ สร้างมาตรฐานผู้ฝึกสอนมวยไทย ตั้งเป้าผลักดันให้ครูมวยไทยเป็นที่ยอมรับ เชิญชวนครูฝึกมวยไทยและค่ายมวยทั่วโลกเข้ามารับการทดสอบเพื่อรับวุฒิบัตรรับรอง จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ครูฝึกมวยไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมวยไทยในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท และในสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าถึง 1.25 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ การสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานของครูมวยไทยให้เป็นที่ยอมรับจึงเป็นอีกประเด็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีค่ายมวยไทยเปิดสอนมากกว่า 5000 แห่งทั่วประเทศ 4000 แห่งทั่วยุโรป 1700 แห่งในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นอีก 50 ประเทศ

โดยในช่วงต้นปี 2567 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ประกาศมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาอาชีพภาคบริการสาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย และปัจจุบันมีศูนย์ทดสอบผู้ฝึกสอนมวยไทยที่ได้รับอนุญาตแล้ว 18 แห่ง ตลอดจน มีศูนย์ทดสอบของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานอีก 77 แห่งทั่วประเทศ

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า มวยไทยมีเสน่ห์ และเอกลักษณ์ เป็นที่รู้จักทั่วโลก เป็น Soft Power คุณภาพ ที่พร้อมรับการสนับสนุน เกิดจากการผสมผสานของภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตลักษณ์ วัฒนธรรมที่มีมูลค่า สามารถนำมาสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจขยายผลในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เห็นความสำคัญ ร่วมกันนำเสนอจิตวิญญาณของมวยไทย เพิ่มโอกาสสร้างงาน ยกระดับอาชีพคนไทย” นายชัย กล่าว

Advertisement

นายกฯ ให้นโยบายสั่งตัดต้นตอการผลิตยาเสพติด โดยตัดต้นตอแหล่งเงิน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 19 กรกฎาคม 2567 นายกฯ ย้ำการตัดต้นตอการผลิต โดยตัดต้นตอแหล่งเงินเป็นเรื่องสำคัญ สั่งการ ตช. ป.ป.ส. ปปง. บูรณาการความร่วมมือสืบสวน ปราบปราม ขยายผลเพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด ด้วยมาตรการทางทรัพย์สิน เพื่อทำลายโครงสร้างเครือข่ายการค้า การเงินของกลุ่มนักค้ายาเสพติด

วันนี้ (19 ก.ค.67) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 1201 ชั้น 12 สำนักงาน ปปง. เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รับฟังการดำเนินงานด้านยาเสพติดของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยมี นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ ปปง. นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ป.ป.ง. นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ตลอดจนผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ได้รับฟังรายงานสรุปการดำเนินงานด้านยาเสพติดของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จากเลขาธิการ ปปง. โอกาสนี้ นายกฯ  ย้ำว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับปัญหายาเสพติด ไม่ว่าจะเป็น Demand Side และ Supply Side การฟื้นฟู แก้ไขเยียวยา ซึ่งการที่นายกฯ และรองเลขาธิการ ป.ป.ส.  ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาที่สำนักงาน ปปง. วันนี้ เป็นการมาโฟกัสเรื่องของผู้กระทำผิด และการแยกผู้ป่วยออกมาก่อน โดยเรื่องผู้กระทำผิดเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจุบันทางฝ่ายจับกุมได้มีการจับได้จำนวนมาก เพิ่มขึ้น 4-5 เท่า แต่ราคายาบ้าก็ไม่ขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีการเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ต้นทุนการผลิตเขานำเงินมาจากไหน หากมีการจับได้ต้องมีการยึดทรัพย์โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้หน้าที่ของการยึดทรัพย์ไม่ใช่ว่าบางคดียึด บางคดีไม่ยึด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด บางรายการไม่รู้ว่าได้มาอย่างไร เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการฟอกเงินหรือไม่ ซึ่งภาระการพิสูจน์ทรัพย์เป็นหน้าที่ของผู้ถูกยึด ว่าได้ทรัพย์มาได้อย่างไร ไม่ใช่หน้าที่ของสำนักงาน ปปง. ทั้งนี้ ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบ และโปร่งใส เพื่อไม่ให้มีการกล่าวโทษว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้กระทำผิด ปัจจุบันมีเคสเล็ก ๆ เข้ามาจำนวนมาก ตรงนี้ต้องระมัดระวัง ให้ดูเคสเล็ก ๆ ด้วย โดยดูตามระดับความสำคัญ ซึ่งหากเป็นเคสใหญ่ มีเรื่องวงเงินเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก ให้รีบดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งเรื่องการอายัดทรัพย์ ปัจจุบันเรื่องธุรกรรมการเงิน มีการโยกย้ายถ่ายเทได้สะดวกสบายผ่านหลายวิธีการ เพราะฉะนั้นอย่ามัวช้า เรามีกฎหมายและมีอำนาจอยู่แล้ว น่าจะยึดมาก่อนเลย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ภาคประชาชนให้ความสำคัญ

นายกฯ กล่าวถึงการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานว่า เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเรื่องของการเลือกปฏิบัติอย่าให้เกิดขึ้น หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจพิเศษมาก ซึ่งเรื่องของการที่จะมีการยึดทรัพย์ เพราะต้องการตัดต้นตอของยาเสพติดทั้งหมดออกไป โดยเรื่องนี้ต้องให้มีความคืบหน้าให้มากยิ่งขึ้นและอยากให้ทำโดยเร็วอย่าให้เป็นที่ครหานินทาได้ โดยจะมาเข้มงวดเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้นายกฯ ได้กล่าวถึงการได้มีการพูดคุยกับฝ่ายปราบปรามยาเสพติด ในเรื่องของการจัดเตรียมยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความพร้อม ทั้งในฝ่ายของทหาร ตำรวจ และสำนักงาน ป.ป.ส.

นอกจากนี้ นายกฯ ได้เน้นย้ำถึงการทำงานเชิงรุกก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของการ Training การอบรมให้องค์ความรู้กับพนักงาน ซึ่งการทำงานเชิงรุกไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการประชาสัมพันธ์ แต่เป็นเรื่องที่ต้องล้วงลูก และลงไปทำงานจริง ๆ รวมถึงยึดทรัพย์ให้ได้โดยเร็วไม่เช่นนั้นทรัพย์จะถูกแปลงไปได้โดยง่ายดาย ซึ่งนายกฯ ย้ำว่าสำนักงาน ปปง. มีเจ้าหน้าที่และองคาพยพพร้อมอยู่แล้ว การเดินทางมาวันนี้เพื่อมาส่งข้อความ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และสังคมก็จับตาดูอยู่  ทั้งนี้เรื่องปัญหายาเสพติดเกี่ยวข้องหมด ซึ่งนายกฯ ได้ประกาศไปแล้วว่าจังหวัดร้อยเอ็ดจะต้องเป็นจังหวัดสีขาว ซึ่งส่วนหนึ่งคือการปราบปราม การบำบัดดูแล ฟื้นฟู  แต่หากเขายังมีกระแสเงินไปหล่อเลี้ยงได้เรื่องนี้ก็ไม่จบ เพราะฉะนั้นการมาวันนี้เป็นการต่อจิ๊กซอว์ให้ครบทุก ๆ ภาคส่วนอย่างแท้จริง และถือเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลนี้ได้ประกาศไปแล้วจังหวัดร้อยเอ็ดต้องเป็นจังหวัดสีขาวให้ได้ภายในสิ้นไตรมาส 3 นี้ เพราะเรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องกัดกร่อนสังคมไทยมายาวนานมากและเป็นสารตั้งต้นหลายอย่าง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เราทำควบคู่กันไปก็เป็นเรื่องสำคัญ ในเรื่องการตัดต้นต่อการผลิตด้วยการตัดต้นตอแหล่งเงินเป็นเรื่องที่สำคัญ

พร้อมทั้งนายกฯ ได้มอบนโยบายในการปฏิบัติและสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ส. และ สำนักงาน ปปง. บูรณาการความร่วมมือในการสืบสวน ปราบปราม ขยายผลเพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด ด้วยมาตรการทางทรัพย์สิน เพื่อทำลายโครงสร้างเครือข่ายการค้าและการเงินของกลุ่มนักค้ายาเสพติด รวมทั้งให้มีการบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ในการบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายยาเสพติด พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรการทางภาษี เป็นต้น เพื่อดำเนินการยึด อายัดทรัพย์สินของกลุ่มนักค้ายาเสพติด ตัดวงจรทางการเงินของกลุ่มนักค้ายาเสพติดในทุก ๆ รูปแบบ อีกทั้งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและเสริมสร้างแนวร่วมในการตรวจหาทรัพย์สินในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ดำเนินการเชื่อมโยงระบบข้อมูลซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการปราบปราม และทำลายโครงสร้างการค้ายาเสพติด รวมไปถึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. กระทรวงดีอี DSI  และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเว็บพนันออนไลน์ ด้วยการทำงานเชิงรุก เพื่อจับกุมผู้กระทำผิด ปิดเว็บไซต์ และขยายผลสู่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนใช้มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางทรัพย์สินอย่างเข้มงวดเพื่อตัดวงจรการกระทำผิดและวงจรทางการเงินของเจ้าของเว็บพนัน   นอกจากนี้ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงาน ปปง. กสทช. ธปท. สมาคมธนาคารไทย DSI และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาแก๊ง Call Center ข้ามชาติ โดยเฉพาะการตัดตอนการโอนเงิน การแก้ไขปัญหาบัญชีม้า การสืบสาวไปจนถึงผู้ก่อเหตุและยึดทรัพย์สินเพื่อนำมาเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนพิจารณาจัดหาแนวทางการป้องกันการทำธุรกรรมทางการเงินกับแก๊ง Call Center ที่รัดกุม เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนถูกหลอกลวงและสูญเสียเงินได้ง่ายอีกต่อไป

“ขอให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ยืนยันทุกคนเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ประเทศไทยแข็งแรงขึ้น ซึ่งการทำให้ปลอดยาเสพติดโดยการดำเนินการทั้งเรื่องการปราบปราม การเยียวยา ดูแลรักษาบำบัด การตัดตอนแหล่งเงินทุนที่เป็นสารตั้งต้น เพราะถ้าไม่มีเงินก็ทำไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เราเข้มมาก รวมถึงเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ เพราะเรื่องของยาเสพติดไม่ใช่แค่ยาบ้าที่เพิ่มขึ้นแต่เฮโรอีนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยพบว่าตลาดปลายทางจะอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย โดยช่วงบ่ายจะพบกับทูตออสเตรเลีย และสัปดาห์หน้าจะพบกับทูตสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากทางสำนักงาน ปปง. ต้องการประสานงานในเรื่องใดก็ขอให้บอกได้ วันนี้สำนักงาน ป.ป.ส. และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาด้วยก็ขอให้ทำงานร่วมกันให้มากขึ้น อย่าทำงานเป็นไซโล ให้ทำงานเชิงรุกมองปัญหาไปข้างหน้าแล้วแก้ไข เหนือสิ่งอื่นใดขอเป็นกำลังใจและดูแลตัวเองดี ๆ” นายกฯ กล่าว

Advertisement

รัฐบาลตั้งเป้าดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 16 กรกฎาคม 2567 นายกฯ หนุนรัฐบาลผลักดันหน่วยงานภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบริการประชาชน พร้อมตั้งเป้าดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก

วันนี้ (16 กรกฎาคม 2567) นายชัย วัชรงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าผลจากการผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ต่อยอดสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งผลักดันการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างครอบคลุม ซึ่งเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570) เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ นำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน พร้อมกำหนดค่าเป้าหมายดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก ควบคู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (IMD Competitiveness Ranking) ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Effectiveness) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 20 ของโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญที่ระบุให้ ประเทศไทยเป็น รัฐที่ล้ำหน้า (Digital & Innovative Government) และรัฐที่เปิดกว้าง (Open Government) โดยมุ่งพัฒนาภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีความทันสมัย สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการทำงานและการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ซึ่งล่าสุดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำหนดนโยบายให้กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

1) Paper Less ลดการใช้กระดาษให้เหลือน้อยที่สุด และใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ Cloud ซึ่งมีความปลอดภัย บริหารข้อมูลได้รวดเร็ว

2) ประยุกต์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านหน่วยงานรัฐด้วยระบบ Digital ID เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ระหว่างโรงพยาบาล ร้านขายยา และสถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยจะประสานงานร่วมกับสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.)

3) สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมด้านดิจิทัล ผลักดันเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ภายใต้ “โครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต” พร้อมจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน และพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล ให้ความรู้ด้านดิจิทัล สร้างโครงข่ายเชื่อมโยงการสื่อสารทั่วประเทศ โดยบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งพัฒนาทักษะของคนรุ่นใหม่ สร้าง Start up โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนสนับสนุนธุรกิจด้านดิจิทัล ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

4) สร้างความมั่นคงปลอดภัยและความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัล เร่งปราบปรามและจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ให้บริการตลอด 24 ชม. รับเรื่องร้องเรียนภัยออนไลน์ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน GCC 1111 ให้บริการสอบถามข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียนภาครัฐ แจ้งเบาะแสข่าวปลอม อาชญากรรมออนไลน์

ทั้งนี้ ภายใต้ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการฯ กำหนดค่าเป้าหมายให้ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก และมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82 (คะแนนเต็ม 1) ซึ่งจากการประเมินครั้งล่าสุดโดยองค์การสหประชาชาติ ปี 2565 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 (คะแนน 0.766 คะแนน) ของดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 193 ประเทศ (https://publicadministration.un.org/egovkb/en-us/Data/Country-Information/id/169-Thailand) ขณะที่ด้านอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (IMD Competitiveness Ranking) กำหนดค่าเป้าหมายให้ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 20 ซึ่งปัจจุบันสถาบัน IMD จัดประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 คะแนน 55.1 ของปี 2567 (https://www.imd.org/entity-profile/thailand-wcr/#_yearbook_Government%20Efficiency)

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการผลักดันความพร้อมของภาครัฐในการมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศ เท่าทันสังคมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระหว่างหน่วยงาน พร้อมกับการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน อำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงบริการสาธารณะ และประโยชน์ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัย ก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของภูมิภาค” นายชัย กล่าว

Advertisement

“เศรษฐา” ตอบกระทู้ในสภาฯ เผยเตรียมกวาดล้างยาเสพติดครั้งใหญ่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 กรกฎาคม 2567 นายกฯ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหายาเสพติด เตรียมกวาดล้างยาเสพติดครั้งใหญ่ ยืนยันรัฐบาลดูแลทุกมิติ

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2567) เวลา 11.40 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจากรณีเรื่องยาเสพติด ว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่า ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการนำอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามา แต่หากประชาชนยังถูกมัวเมาด้วยยาเสพติดก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการลงพื้นที่หลายครั้งจะต้องเกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย นอกจากปัญหาปากท้อง ปัญหายาเสพติดก็มีมาก ปัจจุบันนี้ก็ยังมีคนบ่นเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดอยู่ทั้งหมด

นายกฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  ได้ไปตรวจเยี่ยมกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ทุกคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้เล็งเห็นปัญหาของการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยตำรวจตระเวนชายแดนเป็นผู้รักษาตระเข็บชายแดน เป็นผู้ที่ดูแลชายแดนควบคู่ไปกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งตนได้สอบถามว่าทำไมเวลามีการต่อสู้กันแล้วเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่มีการเสนอข่าว ซึ่งตนหวังให้มีการเสนอข่าว พร้อมถามถึงเรื่องการบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่จะได้รับขวัญกำลังใจเท่าไร โดยทางกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน แจ้งว่าได้รับจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นจำนวน 10,000 บาท และได้ขอร้องไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ต้องให้จำนวนเงิน 50,000 บาท เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ และจะมีการกวาดล้างครั้งใหญ่ ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลดูแลในทุกๆ มิติ โดยการลงพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้หารือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่หน้างานจริงๆ ซึ่งมีความสำคัญมาก

นายกฯ กล่าวอีกว่าเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สภาผู้แทนราษฎรในที่นี้ไม่ค่อยเห็นด้วย อยากให้มีการยุบ แต่ตนเชื่อว่ายังมีบทบาทในการช่วยเหลือประเทศได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นมิติในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงน้ำท่วม เรื่องการกันพื้นที่ของเขตทหารให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน การดูแลชายแดนซึ่งส่วนนี้มีการทำงานร่วมกันกับ ฝ่ายปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะขจัดปัญหายาเสพติดนี้ออกไป

Advertisement

รัฐบาลดึงเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้ความช่วยเหลือกลับสู่สถานศึกษาภาค 1 ปีการศึกษา 67

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 กรกฎาคม 2567 อนาคตของชาติ อยู่ในมือทุกคน คุณสามารถช่วยป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้!! จนถึง 1 ส.ค. 67 เปิดให้สถานศึกษาบันทึกข้อมูลกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเข้าสู่ระบบ ตามมาตรการ Thailand Zero Dropout

วันนี้ (9 กรกฎาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ และได้สั่งการสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ปีการศึกษา 2566 มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปีกว่า 1,025,514 คน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม 2567 นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จะได้ทยอยจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มต่อเนื่องใน 6 สังกัดทั่วประเทศ จำนวนกว่า 8 แสนคน ซึ่งนับเป็นหนึ่งมาตรการสำคัญของรัฐบาลในการป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนยากจนระดับรุนแรง โดยในปีนี้ เป็นปีแรกของการจัดสรรอัตราใหม่ตามที่ กสศ. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้นจากอัตรา 3,000 บาท เป็น 4,200 บาท/คน/ปี และระดับชั้นอนุบาลคงเดิม อัตราจำนวน 4,000 บาท/คน/ปี  ซึ่งเงินอุดหนุนที่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนค่าอาหารเช้าให้แก่กลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาคเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนยากจน

สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มที่มีความยากจนเสี่ยงหลุดจากระบบและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ระหว่างวันที่  8 ก.ค.- 1 ส.ค.  2567 นี้ กสศ.  ได้เปิดระบบทุนเสมอภาคให้สถานศึกษาบันทึกข้อมูลนักเรียนกลุ่มนี้เข้ามา (นร./กสศ.01) ผ่านระบบ cct.eef.or.th เพื่อคัดกรองความยากจนและให้ได้รับการช่วยเหลือ ในปีการศึกษา 2567 ภาคเรียนที่ 1 นี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษกลุ่มใหม่ได้รับความช่วยเหลืออีกราว 5 แสนคน  ทำให้ในปีการศึกษา 2567 กสศ.จะสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษารวมกลุ่มต่อเนื่อง ราว 1.3 ล้านคน

ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดพบนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบ และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ สามารถแจ้งกับโรงเรียนที่นักเรียนกำลังศึกษาอยู่ หรือ โรงเรียนใกล้เคียงจุดที่พบ ใน 6 สังกัดดังนี้  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ( พศ.)  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และกรุงเทพมหานคร เพื่อบันทึกข้อมูลเข้าในระบบเพื่อให้ได้รับช่วยเหลือจากทุนเสมอภาค ของ กสศ. ทั้งนี้ สามารถติดตามและสอบสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยที่ผ่านมา กสศ. ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 1,200,161 คน และพบว่าทุนเสมอภาค ส่งผลให้นักเรียนทุนร้อยละ 95.95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา

“นายกฯ ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา สั่งการให้ทุกหน่วยงานเดินหน้ามาตรการ Thailand Zero Dropout ต้องไม่มีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา พร้อมย้ำว่าเด็กและเยาวชนคือผู้กำหนดอนาคตของประเทศชาติ ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และประเทศชาติ” นางรัดเกล้า กล่าว

Advertisement

นายกฯเผยแต่งตั้ง “บิ๊กต่อ” เป็น ผบ.ตร. มติเอกฉันท์ ตนมีหน้าที่เสนอชื่อ ไม่ได้ออกเสียงโหวต

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 กรกฎาคม 2567 นายกรัฐมนตรี มั่นใจการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ทำถูกต้องตาม พ.ร.บ.ตำรวจ-รับฟังความเห็นทุกคน เชื่อ “บิ๊กต่อ” มีผลงาน มีความรู้ความสามารถ

วันนี้ (4 กรกฎาคม 2567) เวลา 13.15 น.  ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินหน้าร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  เอาผิดนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 157 กรณีแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า รับทราบ แต่หากจะให้ย้อนความไปในวันแต่งตั้ง ได้รับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางของทุกคน รวมถึงอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้วย พร้อมยืนยันว่า ทำตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติทุกประการ มีทั้งเรื่องอาวุโส ความรู้ความสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รวมถึงเรื่องของการสอบสวน พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็มีความสามารถในเรื่องนี้ ดูจากชีวิตการทำงานที่ผ่านมาได้รับการเลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ หน้าที่ของตนเองคือเสนอและวันนั้นก็เป็นเอกฉันท์ ในส่วนของตนเองไม่ได้ออกเสียงโหวต แต่เมื่อยื่น ป.ป.ช. ไปแล้วก็ต้องชี้แจง

ผู้สื่อข่าวมีความกังวลเรื่องการฟ้องร้องหรือไม่ นายกฯ ระบุว่า มั่นใจทำถูกต้องทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เพราะตนเองไม่ได้รู้จักกับทั้ง 4 ท่านเป็นการส่วนตัว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะมอบหมายให้ใครดูแลเป็นพิเศษ หรือจะให้นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี  ดูเรื่องนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ต้องขอไปดูก่อนเพราะเพิ่งยื่นมาเมื่อวานนี้ และยังมีเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ยื่นเรื่องเพิ่มเติมไปแล้ว ตอนนี้ต้องโฟกัสเรื่องการบริหารจัดการประเทศ และปัญหาของประชาชน

Advertisment

นายกฯมั่นใจความจริงใจ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่โน้มเอียง และปฏิบัติตามหลักกฎหมาย ปมตั้ง “พิชิต ชื่นบาน”

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 กรกฎาคม 2567 นายกฯ เผย ส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ปม 40 สว. ร้องตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” มั่นใจความจริงใจ ความซื่อสัตย์สุจริต การไม่โน้มเอียง และการปฏิบัติตามหลักของกฎหมาย

วันนี้ (4 กรกฎาคม 2567) เวลา 13.15 น.  ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเที่ยงวานนี้ ได้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมไปยังศาลรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้ว กรณี 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ร้องนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน  เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญให้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมภายใน 15 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจใช่หรือไม่ ทั้งเรื่องขั้นตอนความจริงใจ นายกฯ กล่าวว่าตนมั่นใจในความจริงใจ ความซื่อสัตย์สุจริต การไม่โน้มเอียง และการปฏิบัติตามหลักของกฎหมาย

Advertisment

นายกฯขีดเส้นทุกหน่วยงาน วัดผลป้องกัน-ปราบปรามยาเสพติด เป็นรูปธรรมภายใน 1 ก.ย.นี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กรกฎาคม 2567 นายกฯ เป็นประธานประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. (วาระพิเศษ) เผย รัฐบาลเตรียมวัดผลการป้องกันและการปราบปรามยาเสพติด อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ก.ย. 67 สั่งการ กอ.รมน. สนับสนุนการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดอย่างเต็มที่

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2567) เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารรื่นฤดี สำนักงาน กอ.รมน. ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. (วาระพิเศษ) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการอำนวยการ และส่วนราชการที่ร่วมบูรณาการ ร่วมประชุมด้วย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า เดือนนี้เป็นเดือนมหามงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม ขอให้ทุกส่วนราชการร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ในการจัดโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและความสามัคคี สำหรับเรื่องยาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลจะวัดผลเป็นรูปธรรมให้ได้ภายในวันที่ 1 กันยายน 2567 นี้ และจะมีการรายงานผล มีสถิติในแง่การป้องกันและการปราบปรามที่สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อแสดงให้ถึงความพยายามของทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจุบันยาเสพติดยังมีปริมาณมาก นับเป็นเรื่องยากไม่น้อยกว่าการปราบปราม คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ทั้งด้านการบำบัดรักษา เพื่อเปลี่ยนผู้เสพยาเสพติดให้เป็นพลเมืองที่ดี มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ พร้อมกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและสังคม ทั้งนี้ ขอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในด้านความมั่นคงภายใน สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถ

จากนั้น ภายหลังการประชุมฯ นายกฯ กล่าวมอบนโยบายว่า ขอให้เร่งดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการที่ดินในการครอบครองของกองทัพเพื่อให้ประโยชน์แก่ประชาชน โดยที่ดินทำกินเป็นต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน โดยขณะนี้ใกล้จะถึงฤดูฝน ขอให้ กอ.รมน. เตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น สำหรับเรื่อง PM2.5 แม้จะหมดฤดู PM2.5 ขอให้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือ PM2.5 ในฤดูแล้งที่จะเริ่มต้นขึ้นในต้นปีหน้า นอกจากนั้น ขอให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ จัดระเบียบ กำหนดเป้าหมายการดำเนินการที่ชัดเจนทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ หากมีปัญหาในทางปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับพื้นที่ ให้อาศัยโครงสร้าง กอ.รมน. เป็นกลไกในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงาน ขอให้ ผู้อำนวยการ กอ.รมน. จังหวัด ใช้กลไก กอ.รมน. สนับสนุนการทำงานเรื่องการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะให้มีการลงทะเบียนต่อไปเร็ว ๆ นี้ จะเป็นการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมาที่แรงงานครบวาระการจ้างงานแต่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ โดยให้ดำเนินการในมิติที่ไม่ซ้ำซ้อนกับภารกิจที่กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพที่ดำเนินการอยู่

นายกฯ กล่าวอีกว่า ปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ามีอยู่อย่างแพร่หลายทั่วทุกจังหวัด การแก้ปัญหาเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนสำคัญของรัฐบาล ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ติดตามงานหลายภาคทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดน่าน เป็นโมเดลในการแก้ปัญหายาเสพติดให้เป็นจังหวัดสีขาว โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ บูรณาการการทำงานกับผู้บังคับการจังหวัด และร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ เพื่อดำเนินการ ดังนี้

  1. การป้องกันและปราบปราม ให้หน่วยงานปราบปราม X-ray ในพื้นที่ เพื่อแยกผู้เสพ นำออกมารับการบำบัด ขยายผลการจับกุมผู้ขายเพื่อดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด
  2. การบำบัด ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ร่วมกันจัดหาสถานที่บำบัดให้เพียงพอ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงานเข้ามาช่วยการส่งตัวคืนชุมชน ต้องฝึกอาชีพและหางานทำให้มีรายได้เพียงพอเลี้ยงชีวิต
  3. การดูแลเยาวชน ให้กระทรวงศึกษาธิการหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อสอดส่องดูแลสถานศึกษา และร่วมกันในการปลูกฝังค่านิยมใหม่ เด็กและเยาวชนต้องไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น การปฏิญาณตนหน้าเสาธงตอนเช้า เป็นต้น
  4. ให้สำนักงาน ป.ป.ส. กำหนดเป้าหมายและ KPI ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมและความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
  5. ตามข้อเสนอของ กอ.รมน. ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. ไปพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง ว่ารูปแบบการทำงานควรเป็นอย่างไร จึงจะสอดคล้องกับการทำงานที่ดำเนินการอยู่ ในระยะสั้นขอสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติงานกับศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ จากโครงสร้างและอัตราที่มีอยู่เดิม ทั้งงานในมิติการป้องกันปราบปราม บำบัด และสร้างความเชื่อมั่น โดยให้มีการกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของ กอ.รมน. ที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดของ ป.ป.ส. และรายงานผลการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

Advertisment

นายกฯไม่กังวล ปมแก้สัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ ย้ำไม่ห่วงเรื่องกฎหมาย มีกฤษฎีกาตรวจสอบ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กรกฎาคม 2567 นายกฯ เผย กห. ยังไม่ส่งเรื่องแก้สัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำให้รัฐบาล ย้ำไม่ห่วงเรื่องกฎหมาย มีกฤษฎีกาตรวจสอบ ทุกอย่างต้องถูกต้อง

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2567) เวลา 15.30 น. ณ อาคารรื่นฤดี สำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. (วาระพิเศษ) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถึงความคืบหน้าการจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่ายังไม่ได้มีการหารือกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงกลาโหมได้ส่งมาให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ จากนั้นนายกฯ ได้หันไปสอบถามนายสุทินว่า “ส่งมาหรือยังครับ” ก่อนที่นายสุทินจะตอบว่า “ยังไม่ได้ส่ง” จากนั้นนายกรัฐมนตรีจึงฝายมือที่นายสุทิน ก่อนบอกว่า  “นี่ไงยังไม่ได้ส่ง ซึ่งถ้ายังไม่ส่งก็ยังไม่เห็น”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นห่วงเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่  ว่าทางกระทรวงกลาโหมได้ตรวจสอบมาดีหรือยัง เพราะอาจมีข้อผิดพลาดในเรื่องของการเปลี่ยนเครื่องยนต์ และการขยายกรอบเวลาการต่อเรือดำน้ำ นายกฯ ระบุว่า ทุกเรื่องที่นำเข้า ที่ประชุม ครม. ต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบอย่างละเอียดอยู่แล้ว และมีคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งเราให้ความสำคัญเรื่องของความถูกต้อง และความชอบธรรมตามกฎหมาย

ส่วนที่ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือออกมาระบุว่า  อยากให้จบเรื่องเรือดำน้ำก่อนที่ ผบ.ทร. จะเกษียณอายุราชการนั้น นายกฯ กล่าวว่า หากมีขั้นตอนที่สามารถทำได้ก็จะดำเนินการ

Advertisment

รัฐบาลเตรียมเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้มีภาวะพึ่งพิง จาก 6,000 บาท เป็น 10,442 บาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลเตรียมเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้มีภาวะพึ่งพิง จาก 6,000 บาท/คน/ปี เพิ่มเป็นจำนวน 10,442 บาท/คน/ปี พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมาย คาดครอบคลุมผู้มีภาวะพึ่งพิง 6 แสนคน

วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  ในแต่ละปีจะมีผู้มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลจากภาครัฐอยู่ที่จำนวน 320,000 คนต่อปี แต่พบว่ายังมีผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชนเพิ่มเติมอีก เช่น กลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อม กลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นหรือความต้องการที่ต้องได้รับการดูแลเหมือนกับกลุ่มที่มี ADL เท่ากับหรือต่ำกว่า 11 ดังนั้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้มีภาวะพึ่งพิงให้ได้รับบริการที่บ้านหรือในชุมชนเพิ่มขึ้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ครอบคลุมกลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ระยะปานกลางและกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย โดยคาดการณ์ว่า จะทำให้มีผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงที่ได้รับการดูแลในระบบเพิ่มรวมเป็นจำนวนประมาณ 6 แสนคน

นายคารม กล่าวว่า นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณค่าบริการจากเดิมเหมาจ่ายการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ จากจำนวน 6,000 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มเติมเป็นจำนวน 10,442 บาทต่อคนต่อปี (เพิ่มขึ้น 4,442 บาทต่อคนต่อปี) ซึ่งจะทำให้ อปท. มีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ ทำให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการได้ดีขึ้น รวมถึงจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดแรงจูงใจหน่วยบริการที่มีศักยภาพ เช่น สถานชีวาภิบาลที่อยู่กระจายในชุมชนเข้าร่วมให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงในระบบ

“รัฐบาลมุ่งดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ผ่านการจัดสรรงบประมาณ โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานดำเนินการให้ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกลไก “ระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่” (Long Term Care : LTC )” นายคารม กล่าว

Advertisment

Verified by ExactMetrics