วันที่ 1 พฤษภาคม 2025

SCB มอง ศก.โลก-ศก.ไทย ปี 68 ข้างนอกท้าทาย ข้างในยากขึ้น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 ธันวาคม 2567 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดเศรษฐกิจโลกปี 2568 เติบโต 2.5% ส่วนเศรษฐกิจไทย คาดปี 2567 เติบโต 2.7% ขณะที่ปี 2568 จะเจอแรงกดดันจากนโยบาย ทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง คาด จีดีพี จะเติบโตแค่ 2.4%

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2568 เหลือ 2.5% (เดิม 2.8%) จากนโยบาย Trump 2.0 ซึ่งจะเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันการค้าให้รุนแรงขึ้น กระทบเศรษฐกิจโลกผ่านการค้า การลงทุน และแรงงานเป็นหลัก หลายประเทศหลักได้เตรียมชุดมาตรการลดผลกระทบเชิงลบจาก Trump 2.0 ไว้บ้างแล้วแต่ปัญหาการเมืองในบางประเทศอาจเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้แนวทางการรับมือของภาครัฐขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเยอรมนี ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบสุทธิของชุดนโยบาย Trump 2.0 ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นลบแต่จะไม่แรงมาก เพราะหลายนโยบายจะช่วยเร่งการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การลดภาษีเงินได้ การลดกฎเกณฑ์ภาครัฐให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ (Deregulation)

ทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินโลกจะเริ่มแตกต่างกันและมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ เพื่อรองรับความเสี่ยงเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจาก Trump 2.0 โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าและการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อโลกอาจไม่เร่งตัวขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกแย่ลง อีกทั้ง ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มต่ำลงตามอุปสงค์โลกและการเพิ่มกำลังการผลิตในสหรัฐฯ จากนโยบายสนับสนุนของ Trump ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยมากกว่าคาดการณ์เดิม เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่จะชะลอลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัย Trump 2.0 กดดันเพิ่มเติม แต่สำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดการณ์เดิม ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันเงินเยนอ่อนค่ามากจาก Trump 2.0

เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวดี แต่ปีหน้าจะเจอแรงกดดันจาก Trump 2.0 โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 อาจขยายตัวได้ถึง 4% ตามแรงส่งการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐที่โตต่อเนื่องจากไตรมาส 3 รวมถึงการท่องเที่ยวจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวได้ 2.7% สำหรับปี 2568เศรษฐกิจไทยจะเริ่มได้รับผลกระทบมาตรการกีดกันการค้าของ Trump 2.0 ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง เพราะไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งกว่า 70% ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ จะตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้าและต้องการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศแทน อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ปัญหา China’s overcapacity จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว ท่ามกลางแรงกระตุ้นการคลังที่จะออกมาเพิ่มเติมในปีหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.4%

การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า แต่ฟื้นไม่แรงมากนักจากความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดและอุปสงค์ในประเทศซบเซา สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2024 ผู้บริโภคกว่า 60% มองว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าแย่ลง โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้ต่ำสะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ และมีแนวโน้มปรับลดการใช้จ่ายลงเพราะไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต โดยเฉพาะความต้องการซื้อบ้านและรถในปีหน้า โดยมองว่าอุปสรรคสำคัญคือการขออนุมัติสินเชื่อ ปัจจัยราคา รายได้และภาระชำระหนี้

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า คุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มจะปรับแย่ลง ท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินที่จะยังเข้มงวดต่อเนื่อง จากข้อมูล NCB สะท้อนว่าคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงน่าจะคลี่คลายได้ช้า ส่งผลกดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า สำหรับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนล่าสุด เน้นช่วยลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้นและยังมีโอกาสคืนหนี้ได้ สำหรับผลสำเร็จของมาตรการฯ ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้ลูกหนี้เป็นหลัก

SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง 0.25% ในเดือน ก.พ. 2568 ไปอยู่ที่ 2%และคงไปตลอดช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่ได้มีปัจจัยกดดันชัดเจนที่ทำให้ กนง. ต้องเร่งปรับลดดอกเบี้ย แต่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากความเปราะบางภายในและความท้าทายภายนอก นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และลดผลกระทบภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง

สำหรับเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีกไม่มาก อยู่ในกรอบราว 34.00-35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ยังต้องจับตาความผันผวนของเงินสกุลอื่นที่อาจกระทบเงินบาทได้ สำหรับปี 2568 คาดว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังไหลออกต่อเนื่องกดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อในช่วงครึ่งแรกของปี แต่เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ช่วงครึ่งปีหลัง ตามทิศทางการลดดอกเบี้ยของ Fed ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลง ราคาทองคำที่อาจสูงขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับ มองกรอบปลายปีที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

แนวโน้มธุรกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นโยบาย Trump 2.0 การแข่งขันรุนแรงจากต่างประเทศ แรงกดดันจาก Mega trends รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตของไทยเอง แต่ขนาดผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละธุรกิจเช่น ธุรกิจยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความเปราะบางของครัวเรือน ซ้ำเติมด้วยแรงกดดันเปลี่ยนผ่านสู่รถ EV ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการปรับตัว ขณะที่ธุรกิจอสังหาฯ ที่อยู่อาศัย แม้ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อชะลอตัว แต่ผู้ประกอบการบางส่วนสามารถปรับตัวเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพทดแทนได้

ความท้าทายภายนอกและความอ่อนแอภายในของประเทศไทยที่เห็นนี้ กำลังสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงในระยะสั้นและมีปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว ขณะที่แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงในโครงสร้างทางสังคมได้อย่างเสรี ข้อจำกัดเหล่านี้นำพาให้เศรษฐกิจไทยอยู่บนโลก ‘สองใบ’ ที่แตกต่างกันใน 3 มิติ คือ

1.มิติ : อ่อน-แข็ง โลกสองใบของครัวเรือนฐานะการเงินอ่อนแอกับครัวเรือนฐานะการเงินเข้มแข็งสะท้อนครัวเรือนไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่งคั่งรุนแรงมาก โดยครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอมีรายได้ไม่พอรายจ่าย และมีรายได้เข้ามาไม่สม่ำเสมอ เมื่อครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้ขาดรายได้ โลกของครัวเรือนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากกว่าและฟื้นตัวช้ากว่าครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง

2.มิติ : เก่า-ใหม่ โลกสองใบของภาคการผลิตโลกเก่ากับโลกใหม่ ภาคการผลิตโลกเก่าไม่ได้เติบโตไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี หรือจะเผชิญความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ขณะที่ภาคการผลิตโลกใหม่มีโอกาสเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงน้อยกว่า

3.มิติ : ใหญ่-เล็ก โลกสองใบของธุรกิจใหญ่กับธุรกิจเล็ก กำไรของธุรกิจขนาดเล็กมีความผันผวนมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ผ่านมารายได้ธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงCOVID-19 ไม่ได้ลดลงเลย และสามารถเติบโตได้เกือบ 10% หลังจากวิกฤตสิ้นสุดลง ในทางตรงข้ามรายได้ของธุรกิจขนาดเล็กหดตัวราว 2-3% ในช่วงCOVID-19 และยังไม่ฟื้นตัว

แนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจึงควรมุ่งลดระยะห่างระหว่างโลกสองใบ ผ่านเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

1.คนไทยควรมีภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์เลวร้าย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงให้คนในโลกที่รายได้น้อยกว่าออกไปคว้าโอกาสในการเติบโต ผ่านการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนรายได้น้อย โดยผู้ดำเนินนโยบายมีบทบาทเป็นกลไกเสริมผ่านการช่วยเหลือทางสังคมและประกันทางสังคม ควบคู่ไปกับการออกแบบกติกาในภาคการเงินเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาตลาดประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก

2.คนไทยควรเติบโตจากการพัฒนาและปรับตัวทันกับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนไป โดยในการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวและพัฒนาให้ทันภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินนโยบายจะเป็นกลไกเสริมผ่านการหาโอกาสทางธุรกิจผ่านการเจรจาทางการค้าและการลงทุนกลับมาให้ธุรกิจภายในประเทศ

3.คนไทยควรมีโอกาสสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเติบโตไปพร้อมกัน ผู้ดำเนินนโยบายจะมีบทบาทในฐานะผู้ออกแบบกติกาของการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และการแข่งขัน เพื่อสร้างโอกาสให้คนจากโลกที่รายได้ต่ำกว่าเข้าถึงทรัพยากร สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างทั่วถึง

Advertisement

S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย BBB+ มองจีดีพีไทยโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ช่วงปี 67-70

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 ธันวาคม 2567 S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย BBB+ มองจีดีพีไทยโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ในช่วงปี 2567-2570 รัฐบาลผลักมาตรการเศรษฐกิจต่อเนื่อง อาจมีลุ้น “A-“

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P Global Ratings (S&P) คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) S&P คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและเติบโตจากร้อยละ 1.9 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 2.8 และ 3.1 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจีดีพีแท้จริง (Real GDP Growth) เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.0 ในช่วงปี 2567-2570 ขณะที่สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เฉลี่ยร้อยละ 3.3 ในช่วงปี 2568 – 2569

S&P มองว่ารัฐบาลไทย ยังคงเน้นการลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาเขตอีอีซี และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยคาดว่าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) จะช่วยขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยหนี้ภาครัฐบาลสุทธิต่อ GDP คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ในปี 2568 ส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโอนเงิน 10,000 บาท คาดว่าตั้งแต่ปี 2567-2570 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงเกินดุลเฉลี่ยร้อยละ 2.3 จากการฟื้นตัวของภาคส่งออก

สำหรับภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ช่วยหนุนเศรษฐกิจในระยะ 2 ปีข้างหน้า ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 มียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 28.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 29.3 เทียบกับปีก่อน ปัจจัยสำคัญ S&P จะติดตาม Credit Rating ของไทย คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน และเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ หากการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง จะมีผลให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ “A-” โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมือง ควรกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ

Advertisement

บอร์ดไตรภาคี ยังไม่เคาะข้อสรุปขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นัดประชุมใหม่อีกครั้ง 23 ธ.ค.นี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 ธันวาคม 2567 ก.แรงงาน วานนี้ (12 ธ.ค.) – บอร์ดไตรภาคี ยังไม่เคาะข้อสรุปขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปลัดแรงงาน เผยเหตุจากรายงานตัวเลข 77 จังหวัด มีรายละเอียดมากและสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันก็เปลี่ยนไป ทำให้ต้องศึกษาตัวเลขรอบคอบ นัดประชุมอีกครั้ง 23 ธ.ค.นี้

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 22 หรือ บอร์ดไตรภาคี เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ว่าวันนี้ มี 3 เรื่องที่แจ้งที่ประชุม คือ1.เรื่องผู้แทนฝ่ายภาครัฐที่มาใหม่จำนวนสองคน 2.รับทราบขั้นตอนเงื่อนไขรายละเอียดข้อกฎหมายในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และ 3.พิจารณาว่าวันนี้คณะกรรมการค่าจ้างมีความเห็นตกผลึกข้อสรุปเรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างอย่างไร

โดยการแถลงวันนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้โอบเอว นายอรรถยุทธ ลียะวนิช และ นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการฝ่ายลูกจ้าง โชว์สื่อและแสดงให้เห็นว่า การพูดคุยวันนี้เป็นไปอย่างราบรื่น

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุมมีข้อมูลเสนอมาก ที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขการเสนอปรับค่าจ้างขึ้นจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ที่มีการเสนอมาเดิมจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัด ศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 มีข้อเสนอแนะว่า จนถึงปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นอาจจะต้องมีการพิจารณาตัวเลขแต่ละจังหวัดอย่างรอบคอบมากขึ้นและบางส่วนการทำเอกสารยังไม่สมบูรณ์ วันนี้จึงที่ประชุมเห็นตรงกันกันว่า จะขอนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2567

ปลัดกระทรวงแรงงาน เผย ส่วนตัวเลขแนวโน้มจะปรับขึ้นเป็นกี่บาทหรือเป็น 400 หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ และไม่ได้มีธงว่าจะต้องเป็น ตัวเลขเท่าไหร่ อยู่ที่ความเห็นของคณะกรรมการค่าจ้าง และต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในแต่ละจังหวัด สภาพเศรษฐกิจ และค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ สูตรที่ใช้คำนวณก็จะคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นนั้นเป็นข้อพิจารณาด้วย โดยข้อสรุปจะต้องยึดตามมติของไตรภาคี

ย้ำว่า จะดูตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ จะขึ้นไม่เท่ากัน ส่วนจะทันเป็นของขวัญปีใหม่ของแรงงานหรือไม่นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่จะพยายามปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ทันขึ้นวันที่ 1 มกราคม 2568

นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการฝั่งนายจ้าง กล่าวว่า ทุกๆ ปี ฝั่งนายจ้างมีความยินดีที่จะให้ปรับอัตราค่าจ้าง เพียงแต่ให้เป็นไปตามรอบของแต่ละปีที่ควรจะเป็น ฝั่งนายจ้างไม่เคยคัดค้านแต่ตัวเลขจะปรับเท่าไหร่ ก็อยู่ที่ตามหลักเกณฑ์เป็นไปตามกลไกและตามกฎหมาย

ขณะที่ นายวีรสุข แก้วบุญปัน กล่าวว่า ทราบดีว่าสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร ฝ่ายลูกจ้าง ยังคงหวังให้ปรับขึ้น 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ และข้อมูลที่พิจารณาวันนี้ ทั่วประเทศมีรายละเอียดมาจริง ซึ่งจะพยายามผลักดันตัวเลขเพื่อลูกจ้างเต็มที่ แต่ก็ไม่ว่าอย่างไรทุกฝ่ายต้องยอมรับความเห็นของไตรภาคี

Advertisement

รัฐบาลเชิญชวนคนไทยท่องเที่ยว จองผ่านเว็บไซต์ www.สุขทันทีปลายปีเที่ยวไทย.com

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 ธันวาคม 2567 “ศศิกานต์” เชิญชวนคนไทยท่องเที่ยว ผ่านโครงการ “สุขทันที ปลายปีเที่ยวไทย” ส่งความสุขพร้อมดีลพิเศษ เพียงจองผ่านเว็บไซต์ www.สุขทันทีปลายปีเที่ยวไทย.com จองได้ถึง 31 มี.ค. 68

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเชิญชวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยว ช่วงเทศกาลท่องเที่ยว นี้ ผ่านโครงการ “สุขทันที ปลายปีเที่ยวไทย” มุ่งสร้างกระแสการเดินทางภายในประเทศช่วงปลายปี โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เปิด www.สุขทันทีปลายปีเที่ยวไทย.com  ซึ่งรวบรวมที่พักชั้นนำจากทั่วประเทศในสไตล์ที่หลากหลายกว่า 200 แห่ง ให้สามารถเลือกโปรโมชั่นส่วนลดสุดพิเศษ  โดยจองผ่านเว็บไซต์ www.สุขทันทีปลายปีเที่ยวไทย.com  ซึ่งมีส่วนลดตั้งแต่ 15-35% และสามารถรับส่วนลดเพิ่มอีก 5-10% เมื่อจองผ่านเว็บไซต์นี้ ทำให้ได้รับส่วนลดสูงสุดถึง 45% สำหรับโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ มีหลากหลายระดับทั้งโรงแรมชั้นนำที่ได้รับรางวัล และโรงแรมเครือดังที่ไม่เคยลดราคามาก่อน

ผู้ที่สนใจจองห้องพักสามารถเลือกใช้ 2 วิธีง่ายๆ บนเว็บไซต์ www.สุขทันทีปลายปีเที่ยวไทย.com ดังนี้

1.เลือกโรงแรมที่ชอบ จากนั้นระบบจะนำไปที่เว็บจองของโรงแรมนั้นโดยตรง กรอกรหัส “happynow” เพื่อรับส่วนลดพิเศษทันที

2.กรอกรหัส “happynow” บนเว็บของโรงแรมที่เลือก ระบบจะยืนยันผ่านอีเมลพร้อมเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทาง

“ผู้สนใจสามารถจองได้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 – 31 มีนาคม 2568 และสามารถเข้าพักในโรงแรมหรือที่พักที่ได้ทำการจองไว้ได้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 – 31 มีนาคม 2568 ติดตามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมที่ Facebook: Amazing ไทยแลนด์ หรือโทร 1672 Travel Buddy” นางสาวศศิกานต์ กล่าว

Advertisement

ข่าวดีไทยติดท็อป 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก 2024

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 ธันวาคม 2567 “ศศิกานต์” เผยข่าวดีไทยติดท็อป 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก 2024 เปิด 6 แหล่งท่องเที่ยว ชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าถือเป็นข่าวดีที่ประเทศไทยติดท็อป 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก 2024 ตามที่ Green Destinations Top 100 Stories รายการประจำปีที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิ Green Destinations เพื่อส่งเสริมโครงการริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมจากทั่วโลกที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยในแต่ละปีจะมีการคัดเลือก 100 จุดหมายปลายทางที่ดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

โดยในปีนี้มีการลงทะเบียนมากกว่า 170 เรื่อง จาก 45 ประเทศ โดยมีเรื่องส่งเข้าประกวด 129 เรื่องได้รับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศและพันธมิตร ซึ่งประสานงานโดย Green Destinations ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกจะพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น คุณภาพของเรื่อง ความสามารถในการถ่ายทอด ระดับของนวัตกรรม และการมีอยู่ของเสาหลักด้านความยั่งยืนทั้งหมด

นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า Green Destinations ได้ประกาศรายชื่อ Green Destinations Top 100 Stories ประจำปี 2024 โดยมี 6 แหล่งท่องเที่ยวที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ของประเทศไทย ซึ่งพัฒนาตามแนวทางเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ได้แก่ เวียงภูเพียงแช่แห้ง จังหวัดน่าน ,เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ,เมืองเก่าสงขลา จังหวัดสงขลา ,เชียงคาน จังหวัดเลย ,หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ,เมืองเก่าอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี

“ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดฮิตในสายตาของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ด้วยเสน่ห์ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณีอันงดงาม และธรรมชาติที่สวยงามทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก รวมถึงวัดและโบราณสถานอันทรงคุณค่า อาหารไทยที่อร่อยเลื่องชื่อและการต้อนรับที่อบอุ่นจากรอยยิ้มของคนไทย ล้วนสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับผู้มาเยือน ดิฉันขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกอย่างอบอุ่น ตามแบบฉบับของชาวไทยกันค่ะ” นางสาวศศิกานต์ กล่าว

Advertisement

นายกฯ ดันไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมยานยนต์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 ธันวาคม 2567 ทำเนียบ – นายกฯ มอบ 2 นโยบายคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้า นัดแรก มุ่งเน้นลงทุนไฟฟ้าสีเขียว ผลักดันไทยเป็นฮับอุตสาหกรรมยานยนต์

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพลังงาน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติครั้งแรก มีนโยบาย 2 เรื่องแจ้งให้ทราบ เรื่องแรกรัฐบาลมุ่งเน้นในเรื่องของการลงทุนไฟฟ้าสีเขียวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดให้สอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งทั่วโลกกำลังโฟกัสเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เวลาไปที่ไหนเราได้พูดคุยถึงเรื่องนี้ และต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมากอยากให้ทำเรื่องนี้ต่ออย่างจริงจัง ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลมองว่าเรื่องการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิต ที่ใช้ยานยนต์เป็นมิตรต่อสิ่งสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อยากให้โฟกัสเรื่องนี้ในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านให้ราบรื่นมากขึ้น นอกจากนี้อยากจะผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติและให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและการยกระดับขีดความสามารถในการผลิต

“ที่เราเคยบอกไว้ว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นฮับในเรื่องนี้ก็ขอให้ผลักดันเรื่องนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการพัฒนาคน การส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาระบบนิเวศให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลมุ่งเน้นที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทย ก็ขอให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณามาตรการต่างๆอะไรที่สำคัญ ขอให้บอกกันจะได้ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ” น.ส.แพทองธารกล่าว

Advertisement

“นฤมล” ประกาศยกระดับหม่อนไหม ผลักดันเป็น Soft Power

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ธันวาคม 2567 เชียงใหม่ – “นฤมล” ประกาศยกระดับหม่อนไหม ผลักดันเป็น Soft Power แปรรูป เพิ่มมูลค่า ขยายพื้นที่ปลูก สร้างรายได้ให้เกษตรกร

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และการยกระดับสินค้าและบริการมูลค่าสูง ของกรมหม่อนไหม ณ เจ.ที.ฟาร์มซิลค์สันกำแพง ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กรมหม่อนไหม เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดำเนินงานสนองพระราชดำริบริหารจัดการด้านหม่อนไหมแบบครบวงจร มีศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ 25 ศูนย์ โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ มีภารกิจในการอนุรักษ์ วิจัยและพัฒนา ผลิตพันธุ์หม่อนและไข่ไหมพันธุ์ดี เพื่อให้บริการ รวมทั้งส่งเสริมและดูแลเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมทั้งสิ้น 97 ราย พื้นที่ปลูกหม่อน 205 ไร่

นางนฤมล กล่าวว่า เราพบว่า เกษตรกรยังเข้าสู่อาชีพหม่อนไหมค่อนข้างน้อย และต้นทุนการผลิตในปีแรกค่อนข้างสูง อีกทั้งปัจจุบันผู้ประกอบการมีความต้องการรับซื้อผลผลิตรังไหมจากเกษตรกร 5,000 ตันต่อปี แต่เกษตรกรผลิตรังไหมได้เพียง 2,000 ตันต่อปี ยังเป็นการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด กรมหม่อนไหมจึงได้ดำเนินการตามแนวนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อแก้ปัญหาและสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร ได้เข้าสู่อาชีพหม่อนไหมเพิ่มมากขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกัน ระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ ความร่วมมืองานวิจัยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ไหม เพื่อให้ได้ไหมพันธุ์ใหม่ที่มีความเหมาะสม การนำนวัตกรรม เทคโนโลยี มาใช้ในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า การถ่ายทอดองค์ความรู้และวางแผนการผลิตร่วมกัน ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตและผู้รับซื้อเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตและคุณภาพตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรสามารถผลิตรังไหมได้จำนวน 1.2 ตันต่อปี สร้างรายได้ 225,264 บาทต่อปี ปริมาณการผลิตใบหม่อนจำหน่ายจำนวน 10 ตันต่อปี รายได้ 102,576 บาทต่อปี และยังคงเดินหน้าขยายผลไปสู่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเพิ่มขึ้น

“การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นภารกิจที่สำคัญของกระทรวงเกษตรฯ จึงได้มอบหมายให้กรมหม่อนไหม ขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ที่เน้นแนวคิดในการบริหารจัดการผลผลิตที่มีเป้าหมายให้เกษตรกร มีรายได้แน่นอน มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อให้ทราบถึงความต้องการของตลาด วางแผนการผลิตร่วมกัน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านนับว่าประสบความสำเร็จ ในการแปรรูปสินค้าผลิตภัณฑ์จากไหมที่ได้มาจากกลุ่มเกษตรกร และผลิตภัณฑ์โปรตีนจากรังไหมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีชื่อเสียง รวมถึงการนำโมเดล BCG มาใช้ในการผลิตทำให้เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง ผลิตและแปรรูปสินค้าทางการเกษตรที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้” นางนฤมล กล่าว

สำหรับบริษัท เจ.ที. ซิลค์ จำกัด ก่อตั้งในปี 2546 ดำเนินธุรกิจปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โปรตีนไหมเสริมความงาม โดยกรมหม่อนไหม ให้การสนับสนุนพันธุ์หม่อนและผลิตไข่ไหมพันธุ์ดี ให้ความรู้ด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงการรับรองมาตรฐานแปลงหม่อนและรังไหมอินทรีย์ ซึ่งแผนการดำเนินงานในอนาคต กรมฯ จะขยายพื้นที่ส่งเสริมการปลูกหม่อนในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน และพัฒนาสินค้าให้เป็นสินค้าอินทรีย์ เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรต่อไป

Advertisement

รมว.เกษตร หนุนตั้ง “ศูนย์ข้าวชุมชน” กลไกหลักเพิ่มผลผลิต-ลดต้นทุน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 พฤศจิกายน 2567 “นฤมล” หนุนตั้ง “ศูนย์ข้าวชุมชน” ยกเป็นกลไกหลัก เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน กระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเปิดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ปี 2568 ณ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ วานนี้ (29 พ.ย.) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าว โดยนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ มาปรับใช้กับวิถีเกษตรในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก นำไปสู่การนำระบบไปปฏิบัติใช้ และสร้างการมีส่วนร่วมในระดับชุมชมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพสูง เพิ่มผลผลิต และคุณภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นางนฤมล กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าวมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรวมตัวกันจัดตั้ง “ศูนย์ข้าวชุมชน” เพื่อเป็นรากฐานในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าว (1 ตำบล 1 ศูนย์ข้าวชุมชน) โดยมุ่งเน้นการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ดี เปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการพัฒนาข้าวด้วยตนเอง ช่วยให้ชุมชนและองค์กรชาวนาเกิดความเข้มแข็ง เพื่อให้สมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน ชาวนาอาสา และเกษตรกร เข้าถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสม และจำเป็นต่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นการรักษาเสถียรภาพผลผลิตของเกษตรกร

“ปัจจุบันการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยปีการผลิต 2566/67 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ประมาณ 100,000 ตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของทั้งประเทศ ที่อยู่ประมาณ 1.33 ล้านตัน ดังนั้น ศูนย์ข้าวชุมชน จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ยังขาดแคลน กระทรวงเกษตรฯ จึงมุ่งผลักดันศูนย์ข้าวชุมชนให้เป็นกลไกสำคัญในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาการผลิตข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืน กระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้แก่ชาวนา โดยได้ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดบูรณาการการทำงานร่วมกัน สนับสนุนพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถลดต้นทุนการผลิต สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค” นางนฤมลก กล่าว

นางนฤมล กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า เพื่อต้องการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกของศูนย์ข้าวชุมชน และเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้รับรู้และเข้าใจในข้อมูลองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยเน้นการผลิตที่นำเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง การฟื้นฟูนาข้าวหลังน้ำลด การใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรค แมลงและจุลินทรีย์ย่อยสลายฟางข้าว เพื่อจัดการระบบการผลิตภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากข้าวโดยเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย

Advertisement

เตรียมจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” 29 พ.ย. – 2 ธ.ค. 67 ที่เมืองทองธานี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 พฤศจิกายน 2567 “ธีรรัตน์ – ซาบีดา” แถลงจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมชวนคนไทยร่วมเที่ยวชมงาน 29 พ.ย. – 2 ธ.ค. 67 เมืองทองธานี ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เป็นผู้แทนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย แถลงข่าวการจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ห้อง The Pavilion ชั้น 5 โรงแรม โรสวูด กรุงเทพฯ โดย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก (ประเทศไทย) และนายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมในการแถลงข่าว

การแถลงข่าวในครั้งนี้ มีคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยร่วมในงาน อาทิ นายสันติธร ยิ้มละมัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายชยชัย แสงอินทร์ นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า การจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสร้างโอกาส สร้างรายได้” ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ โดยน้อมนำแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” พุ่งเป้าส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านงานภูมิปัญญาไทยอันทรงคุณค่าในทุกกระบวนการผลิตผ้า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ทั้งได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาผ้าไทยที่ทันสมัย ผ่านหนังสือ Thai Texttile Trendbook ซึ่งจะต่อยอดผ้าไทยไปสู่สายตาชาวโลกได้ โดยมีตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ บ้านดอนกอย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

น.ส.ซาบีดา กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยภายใต้การนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย มุ่งมั่นในการน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยการผลักดันงานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่เป็น Soft Power ตามนโยบายรัฐบาล ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีเสน่ห์และมีคุณค่าของประเทศไทย ได้แก่ 1.อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival) ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสร่วมเป็นกรรมการตัดสินการประกวดลายผ้าพระราชทานผ้าลายสิริวชิราภรณ์ รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ที่ได้รับพระเมตตาจากพระองค์ท่านทรงเป็นประธานกรรมการตัดสิน ด้วยพระหฤทัยใส่อันมุ่งมั่น และพระอัจฉริยภาพ โดยทรงดำรงพระองค์ในฐานะผู้นำการส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาของไทยสู่สากล

นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของตนที่ได้ร่วมสนองงานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้พระราชทานแนวทางขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้กระทรวงมหาดไทยน้อมนำไปขับเคลื่อน โดยนับตั้งแต่ตนดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมการปกครอง กระทั่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นช่วงเวลา 3 ปีที่ตนได้มีโอกาสจัดงาน “Silk Festival” โดยในครั้งนี้จะเป็นการนำเสนอผลงานที่มีความทันสมัย เป็นผลงานที่ได้รับการต่อยอดและพัฒนาด้วยความตั้งใจของผู้ประกอบการและช่างทอผ้าจากทั่วประเทศ และยังมีการจัดจำหน่ายบูธอาหาร OTOP ชวนชิม โดยมุ่งหวังจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท

นายสยาม กล่าวว่า งาน Silk Festival ในปีนี้ จะมีแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทยจาก 16 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชั้นนำที่นำผืนผ้าไทยมารังสรรค์เป็นเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย โดยไฮไลท์สำคัญของงาน คือวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ทุกท่านจะได้ร่วมเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน และพระราชทานเหรียญรางวัล และโล่รางวัลให้แก่ คณะทำงานกระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชนและดีไซเนอร์ ที่สนองพระเดชพระคุณ ผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี พ.ศ. 2567, ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ, รางวัลต้นกล้านารีรัตน ตามโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล,  ผู้ชนะการประกวดนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ (New Gen Young Designer 2024)

นายธนันท์รัฐ กล่าวว่า Silk festival เป็นการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ในการขับเคลื่อนผ้าไทยต่อยอดสู่ความทันสมัยตามหลักสากล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทุ่มเทตรากตรำพระวรกายในการทรงงานสานต่อพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการผ้าที่มุ่งมั่นตั้งใจการยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ซึ่งภายหลังจากคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกได้ลงพื้นที่ไป Coaching ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการทั่วประเทศ พบว่าในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล โดยตลอดทั้งปีมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าไทยกว่า 74,000 ล้านบาท

นายกุลวิทย์ กล่าวว่า ในการจัดงานครั้งนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมการเปิดตัว “สมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย” ซึ่งเป็นนักออกแบบที่มีบทบาทภารกิจในการสนับสนุนส่งเสริมในการ Coaching ผู้เข้าร่วมโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของกรมการพัฒนาชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 – 2567 พร้อมการเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้การออกแบบแฟชั่นผ้าไทยสู่สากล โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะทรงเป็นองค์ประธานการเสวนา ร่วมกับตัวแทนสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567

“ขอเชิญชวนร่วมงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6 – 7 เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งภายในงานจะมีการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จากทั่วประเทศ จำนวน 200 ราย และอาหารชวนชิม กว่า 50 ร้านค้า ร่วมชม ช้อปสินค้า ชิมอาหารเลิศรส เช็คอินงานรวมสีสันต์สดใส กับแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทยจาก 16 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชั้นนำอีกด้วย

Advertisement

Agoda ชี้ กม.สมรสเท่าเทียมไทยบังคับใช้ ม.ค.นี้ คาดดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก 4 ล้านคนต่อปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 พฤศจิกายน 2567 “ศศิกานต์” รองโฆษกรัฐบาลเผย งานวิจัย Agoda ชี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมไทยบังคับใช้ ม.ค. นี้! คาดดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก 4 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้กว่า 6 หมื่นล้านบาท – เพิ่มงานกว่า 76,000 ตำแหน่ง

วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2567) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดของแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยว Agoda (อโกด้า) ได้ประเมินถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในวันที่ 22 มกราคม 2568 ที่จะถึงนี้ ซึ่งทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่รับรองกฎหมายฯ และเป็นประเทศที่สามในเอเชีย รองจากไต้หวัน และเนปาล โดยคาดการณ์ว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปี หรือราว 10% และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 69,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 2 ปี หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ กระจายรายได้ไปยังหลายภาคส่วน อาทิ การจองที่พัก การบริการอาหารและเครื่องดื่ม การจับจ่ายซื้อสินค้า และการเดินทางภายในประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลเชิงบวกที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ การสนับสนุนการสร้างงานประจำเพิ่มอีก 152,000 ตำแหน่ง โดย 76,000 ตำแหน่ง จะเกิดขึ้นโดยตรงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอีก 76,000 ตำแหน่งจะกระจายไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกัน ยังจะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยเพิ่มขึ้น 0.3%

“รัฐบาลสานต่อนโยบายสมรสเท่าเทียม เดินหน้าผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน “WORLD PRIDE 2030”  ซึ่งเป็นงานเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศระดับโลก โดยช่วงที่นครซิดนีย์ของออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพในปี 2023 สามารถทำรายได้ 185.6 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียหรือราว 4,000 ล้านบาท ตามรายงานของ Agoda รัฐบาลพร้อมสนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ  เพื่อเสริมยุทธศาสตร์ให้กับการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งประเมินว่าผลการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ เป็นจำนวนมาก” นางสาวศศิกานต์ ระบุ

Advertisement

Verified by ExactMetrics