วันที่ 1 พฤษภาคม 2025

นายกฯ กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 ตุลาคม 2567 นายกฯ กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันสหประชาชาติ เน้นย้ำเจตนารมณ์ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์รอบด้าน ใน 3 เสาหลัก เพื่อโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน เยาวชน และคนรุ่นต่อไปในอนาคต

วันนี้ (24 ตุลาคม 2567) เวลาประมาณ 20.03 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัย เนื่องในวันสหประชาชาติ ประจำปี 2567 ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยนาย จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งโอกาส ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และ “คน” ที่มีศักยภาพ รัฐบาลมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ ด้วยพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาและทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทางโอกาส และการสร้างความปลอดภัย ซึ่งเป็นเหตุผลที่สหประชาชาติ หรือ UN มีบทบาทสำคัญสำหรับความร่วมมือในการแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ นี้

วันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันครบรอบการก่อตั้งของสหประชาชาติ ที่เป็นรากฐานของความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) การสร้างสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญด้วยการส่งบุคลากรเข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์สันติภาพกว่า 20 แห่งทั่วโลก เพื่อช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ความขัดแย้ง (2) การผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล โดยไทยได้เผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มุ่งมั่นสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และ (3) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โลกที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ ไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สำหรับปี 2568-2570 พร้อมให้คำมั่นว่าประเทศไทยจะส่งเสริมและเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของไทย และเป็นสะพานเชื่อมเพื่อเสริมสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินงานของ UN เพื่อการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของประเทศสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของนโยบายการเป็น “ผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน” ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางของ UN ในภูมิภาค ที่เป็นที่ตั้งของหน่วยงาน UN กว่า 40 แห่ง รวมถึง UN ESCAP โดยประเทศไทยยินดีกับความสำเร็จของการประชุมสุดยอดเพื่ออนาคตเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และมุ่งหน้าผลักดันคำมั่นเพื่ออนาคต (Pact for the Future) ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า การจะทำให้โลกดีขึ้น ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นทางการเมือง การลงมือทำ และการสนับสนุนของทุกประเทศ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ต่อการดำเนินงานของ UN และประชาคมโลก เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนในวันนี้ และเยาวชนและคนรุ่นต่อไปในอนาคต

Advertisement

 

“แพทองธาร” ขอบคุณออสเตรเลียดูแลคนไทยกว่า 100,000 คน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 ตุลาคม 2567 แพทองธาร ขอบคุณออสเตรเลียดูแลคนไทยกว่า 100,000 คน โดยนายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ปลื้ม “หมูเด้ง” ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับการท่องเที่ยว ชื่นชม พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมของไทย

วานนี้ (11 ตุลาคม 2567) เวลา 12.15 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี อัลบาเนซี  (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ปลื้ม “หมูเด้ง”  ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับการท่องเที่ยว ชื่นชมไทยมี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ขณะที่นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่ดูแลคนไทยกว่า 100,000 คน รวมถึงนักเรียนกว่า 25,000 คน ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการศึกษาในทุกระดับ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยประเด็นการหารือ ดังนี้  ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไทยจะสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ตามแนวทางการทูตทางเศรษฐกิจเชิงรุกของไทยและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย 2583 เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนสองทาง รวมทั้งยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการปราบปรามยาเสพติด และความปลอดภัยของมนุษย์

ไทย-ออสเตรเลีย สนใจแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตรระหว่างกัน รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหาร อาหารทางเลือกและฮาลาล เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณการสนับสนุนของออสเตรเลียในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย พร้อมอวยพรนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้าด้วย

Advertisement

“แพทองธาร” เผย 12 ประเทศ หนุนการท่องเที่ยวโครงการ 6 countries 1 destination 

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรีพอใจภาพรวมการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนตลอด 3 วันที่ผ่านมา ได้ประชุมและหารือกว่า 20 วาระ

วันนี้ 11 ตุลาคม 2567 เวลา 14.30 น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยถึงภาพรวมและผลสำเร็จในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้นำอาเซียน ซึ่งไทยและสิงคโปร์ถือเป็นผู้นำใหม่ที่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้  ที่ประชุมได้คุยหารือถึงภาพรวมของความร่วมมือ มุ่งเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ แสวงหายุทธศาสตร์ความร่วมมือเพื่อการลงทุน  โดยในการประชุม 3 วันที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมกว่า 20 การประชุม

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง ประเด็นสำคัญที่ได้มีการพูดถึงในเวทีอาเซียนอาทิ ความเชื่อมโยง การท่องเที่ยว โดยได้มีการหารือเพื่อให้เพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างกันมากขึ้น  ฟรีวีซ่า การบริหารจัดการน้ำ ซอฟต์พาวเวอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน-ประชาชน  รวมถึงความมั่นคงของมนุษย์  เช่น  ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานสีเขียว

นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ทุกประเทศยังเห็นพ้องถึงการรักษาอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่สงบสุข  สำหรับสถานการณ์ในเมียนมานั้น ไทยพร้อมเป็นพื้นที่ให้ทุกฝ่ายพูดคุยกัน เพื่อความสุขสงบและสันติภาพ ในภูมิภาคอาเซียนรวมกัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี

ในการหารือทวิภาคี 12 ประเทศ ทุกประเทศให้การสนับสนุนการท่องเที่ยว ในโครงการ 6 countries 1 destination  รวมไปถึงการแก้ปัญหา ข้ามพรมแดน  การบริหารจัดการน้ำ  การเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศ โดยได้มีโอกาสหารือกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้พูดคุยการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ไทยอยากเรียนรู้ประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยให้จัดตั้งคณะทำงานต่อไป สำหรับ ในปี 2568 นั้น ไทย-จีนจะครบรอบ 50 ปี โดยประกาศให้เป็น “ปีทอง” และจัดกิจกรรมตลอเทั้งปีเพื่อเฉลิมฉลองร่วมกันต่อไป

Advertisement

นายกฯ แคนาดาชมไทยผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมชาติแรกอาเซียน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 ตุลาคม 2567 นายกฯ แคนาดาชมไทยผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมชาติแรกอาเซียน ส่วนความร่วมมืออื่นๆ พร้อมสานต่อตลอดเวลา

วันนี้ (10 ตุลาคม 2567) เวลา 15.40 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือกับนายจัสติน ทรูโด (The Right Honourable Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 โดยนายกรัฐมนตรี แคนนาดาชื่มชมความก้าวหน้าด้านกฎหมายของไทย โดยเฉพาะการผ่าน กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นชาติแรกในอาเซียน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย  ว่า นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร  ชินวัตร  กล่าวถึงศักยภาพในความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศแคนาดา โดยเฉพาะด้านการศึกษาและอาชีวะ รวมทั้งไทยยังมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับแคนาดา รวมทั้งการส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินตรงระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการเดินทางให้มากขึ้น และยังมุ่งหวังว่าการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียนและแคนาดาที่ดำเนินอยู่จะเป็นไปด้วยดี

ขณะที่ นายกรัฐมนตรีแคนาดา ชื่นชมไทยที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งยังมีความก้าวหน้าด้านกฎหมายอย่างยิ่ง โดยประสบความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นชาติแรกในอาเซียน และพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมด้านการศึกษา และด้านอื่น ๆ อีกต่อไป

Advertisement

รมว.ต่างประเทศ ขอบคุณ ไทยได้รับเลือกนั่ง HRC วาระ 2568-70

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ 10 ตุลาคม 2567 รมว.กต.ขอบคุณ ไทยได้รับเลือกนั่ง HRC วาระ 2568-70 ยืนยันจะเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างของชาติสมาชิก-หาทางออกผ่านจุดแข็งของไทยที่ก้าวหน้า-เข้าใจบริบทที่หลากหลาย แสดงความมุ่งมั่นส่งเสริมสถานะประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนไทยให้เป็นที่ยอมรับ

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทย ได้รับเลือกตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ HRC วาระปี ค.ศ.2025 ถึง 2027 หรือ พ.ศ.2568 ถึง 2570 ซึ่งมีการออกเสียงลงคะแนน เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา (9 ต.ค.) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อคืนที่ผ่านมา (9 ต.ค. ตามเวลาในไทย) ว่า ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ.2025 ถึง 2027 หรือ พ.ศ.2568 ถึง 2570  และขอขอบคุณประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกอาเซียน ที่ได้ให้การสนับสนุนและให้ความไว้วางใจประเทศไทยในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในตำแหน่งนี้ ได้สะท้อนถึงความเชื่อมั่น และการยอมรับในบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า ประเทศไทย จะเป็นสะพานเชื่อม และประสานความแตกต่างของท่าทีของประเทศสมาชิก เพื่อช่วยแสวงหาทางออก และฉันทามติ โดยอาศัยจุดแข็งของไทย ที่มีมุมมองในหลายเรื่องที่ก้าวหน้า ขณะเดียวกัน ก็มีความเข้าใจในบริบททางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมของประเทศกำลังพัฒนา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังย้ำอีกว่า ประเทศไทย จะนำแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศไทย อาทิ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage), นโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล ไปเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ และหุ้นส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสถานะของไทยให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมในประชาคมระหว่างประเทศ และยกระดับมาตรฐานด้านกระบวนการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของไทย รวมถึงการนำกระบวนการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของระหว่างประเทศ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยต่อไปด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั้น ให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประชาชนคนไทยในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงความพยายามดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เป็นประชาธิปไตย, การยกเลิกคำสั่ง คสช., การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งเพื่อให้เกิดการสมรสเท่าเทียม, การต่อยอดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล, การปลดล็อกอุปสรรค และปรับปรุงกฎหมาย เพื่ออำนวยสะดวกในการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการขออนุญาต และขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่มิตรประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

นอกจากนั้น ประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญและประสงค์จะผลักดันในฐานะสมาชิก HRC ครั้งนี้จะรวมถึง การมีส่วนร่วมในการกำหนดบทบาทและทบทวนทิศทางการดำเนินงานของ HRC เพื่อให้ HRC ตอบสนองต่อความท้าทายของโลกและความท้าทายใหม่ ๆ ในด้านสิทธิมนุษยชน ในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสนับสนุนให้ HRC มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าและพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ทั้งนี้  HRC มีสมาชิกจำนวน 47 ประเทศ จากกลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มแอฟริกา 13 ประเทศ, กลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ, กลุ่มยุโรปตะวันออก 6 ประเทศ, กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 8 ประเทศ และกลุ่มยุโรปตะวันตก 7 ประเทศ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศสมาชิก HRC จากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบไปด้วย บังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คาซัคสถาน คูเวต สาธารณรัฐคีร์กีซ มาเลเซีย มัลดีฟส์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม

โดยที่ประเทศไทย สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก HRC วาระปี ค.ศ.2025-2027 หรือ พ.ศ.2568 ถึง 2570 ซึ่งต้องแข่งขันกับ 6 ประเทศ ได้แก่ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไซปรัส กาตาร์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และไทย สำหรับตำแหน่งว่าง 5 ตำแหน่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสมาชิกทั้งหมด หรือ 97 คะแนน และจะต้องได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 5 ลำดับแรกของกลุ่มภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ในอดีตประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิก HRC ระหว่างปี ค.ศ. 2010 ถึง 2013 หรือ พ.ศ.2553 ถึง 2556 โดยประเทศไทย ได้ดำรงตำแหน่งประธาน HRC ระหว่างเดือนมิถุนายน 2553 (ค.ศ.2010) ถึงเดือนมิถุนายน 2554 (ค.ศ.2011) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทบทวนสถานะ และการทำงานของ HRC ซึ่งประเทศไทย ในฐานะประธานฯ ได้นำการหารือ และเจรจาจนสามารถบรรลุฉันทามติในเรื่องดังกล่าวได้

นอกจากนั้น ประเทศไทยในฐานะสมาชิก HRC เมื่อปี 2554 ยังได้ริเริ่มการเสนอข้อมติรายปีหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชน (Enhancement of Technical Cooperation and Capacity Building in the Field of Human Rights) ในกรอบ HRC ซึ่งไทยยังคงเป็นผู้ยกร่าง (penholder) ของข้อมติดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

นายกฯ หารือนายกฯ กัมพูชา เสนอโครงการ “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 ตุลาคม 2567 นายกฯ หารือนายกฯ กัมพูชา เร่งแก้ปัญหาข้ามแดน-แก๊งคอลเซ็นเตอร์-ค้ามนุษย์-ยาเสพติด พร้อมร่วมฉลองวาระครบรอบ 75 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-กัมพูชา ในปีหน้า

สปป ลาว วานนี้ (9 ต.ค.) – นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต (H.E. Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง (44th and 45th ASEAN Summits)

โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักของนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันถึงมิตรภาพที่ใกล้ชิดและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-กัมพูชา และขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ พร้อมกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเยือนไทยอย่างเป็นทางการด้วย

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญ คือ 1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ควรดำเนินงานต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 2) ไทยเสนอโครงการ “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” (Six Countries, One Destination) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 3) ไทยส่งเสริมบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน โดยพร้อมที่ปรับปรุงการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างไทย กัมพูชา และเวียดนามตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการร่วมสำหรับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-กัมพูชา

ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนนั้น ไทยพร้อม จัดการการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนในประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ได้แก่ การหลอกลวงทางออนไลน์ ไทยยินดีกับคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมระหว่างหน่วยงานตำรวจไทยและกัมพูชา ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การค้ามนุษย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งการช่วยเหลือเหยื่อ และทำลายเครือข่ายอาชญากรรมทั้งหมดด้วย การลักลอบค้ายาเสพติด ไทยและกัมพูชาจะแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองเพิ่มขึ้น และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนหารือเพิ่มความร่วมมือต่อต้านยาเสพติดตามแนวชายแดน

ในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรีทั้งสอง แสดงความยินดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน พร้อมร่วมฉลองวาระครบรอบ 75 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยและกัมพูชาในปีหน้า โดยกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายจะประสานงานจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชน

Advertisement

 

นายกฯ หารือทวิภาคีเวียดนาม มั่นใจบรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกันกว่า 850,000 ล้านบาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 ตุลาคม 2567 ไทยแลนด์ เนื้อหอม นายกฯ อิ้งค์ หารือทวิภาคีเวียดนามมั่นใจบรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกัน กว่า 850,000 ล้านบาทพร้อมขอเปิดเที่ยวบินตรง ระหว่างจังหวัดอุดรธานี กับเมืองต่าง ๆ ที่น่าสนใจในเวียดนาม

วันนี้ (9 ตุลาคม 2567) เวลา 19.00 น. ณ หอประชุมแห่งชาติลาว นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยย้ำว่า เวียดนามเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทย พร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น “ยางิ ” โดยไทยได้มอบเงินจำนวน 2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนรัฐบาลเวียดนามในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะเร่งอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือประมาณ 850,000 ล้านบาท โดยขอให้เวียดนามสนับสนุนการลงทุนของไทยในเวียดนาม โดยเฉพาะด้านปิโตรเคมี พลังงานและธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งไทยและเวียดนามจะส่งเสริมความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ Three Connects เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างจังหวัดของไทยกับเมืองต่าง ๆ ในเวียดนาม โดยการท่องเที่ยว  ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวเวียดนามเป็นอันดับ 6 ทั้งนี้ เวียดนามสนับสนุนแนวคิด 6 สถานที่ท่องเที่ยวร่วมกันหรือ Six Countries, One Destination ของไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค

ในโอกาสนี้ ไทยและเวียดนามเร่งผลักดันให้มีการพบหารือและแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างไทยกับเวียดนามอย่างสม่ำเสมอ ไทยรับคำเชิญการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการพร้อมเป็นประธานการประชุม Joint Cabinet Retreat ครั้งที่ 4 ร่วมกับเวียดนาม เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามเป็น Comprehensive Strategic Partnership โดยฝ่ายไทยได้เชิญเวียดนามมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป

Advertisement

ไทย-สิงคโปร์พร้อมจับมือส่งเสริมธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยวระหว่างกัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ครั้งแรกยืนยันพร้อมสานต่อความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน

วันนี้  (9 ตุลาคม 2567)  เวลา 11.20 น. ณ ศูนย์การประชุม NCC ณ นครหลวงเวียงจันทน์  สปป.ลาว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคี (pull-aside) กับ นายลอว์เรนซ์ หว่อง (H.E. Mr. Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 เพื่อสานต่อความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนสำคัญในทุกมิติของทั้งสองประเทศ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผู้นำทั้งสองได้เห็นพ้องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ช่วงครึ่งปีหลังนี้ (2567) โดยประเทศสิงคโปร์เป็นอันดับหนึ่งที่ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทย ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล AI รวมถึง Digital transportation และต้องการให้สิงคโปร์ช่วยสนับสนุน นอกจากนี้ ไทยกับสิงคโปร์ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยไทยอยากให้สิงคโปร์สนับสนุนสำหรับการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและอาหารของไทย เช่น ไข่ออร์แกนิค เนื้อหมู ส่วนในด้านการท่องเที่ยว จำเป็นต้องสนับสนุนและเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากขึ้น ส่วนความร่วมมือทางการทหาร ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความตกลงในการฝึกซ้อมของเหล่าทัพร่วมกัน พร้อมทั้งสานต่อความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และปัญหาภัยธรรมชาติ

นายจิรายุ ยังกล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรียืนยันกับทางสิงคโปร์ว่า พร้อมให้การต้อนรับประธานาธิบดีสิงคโปร์ ในห้วงการเยือนประเทศไทย อย่างเป็นทางการ ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ในปีหน้าด้วย

Advertisement

“สายพัวพัน อันยืนยง” นายกฯแพทองธาร กล่าวคำสำคัญผูกพันไทยลาว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 ตุลาคม 2567 “สายพัวพัน อันยืนยง” นายกฯแพทองธาร กล่าวคำสำคัญผูกพันไทยลาว ที่พิเศษมุ่งมั่นสานต่อการทำงาน กระชับความร่วมมือไทย-ลาวในทุกด้าน เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ

วันนี้ (8 ตุลาคม 2567) เวลา 19.00 น. ณ โรงแรมลาวพลาซ่า เวียงจันทน์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ร่วมงานเลี้ยงต้อนรับเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว เป็นเจ้าภาพเลี้ยง โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย เนื้อหาจากการกล่าวขอบคุณของนายกรัฐมนตรี ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีสอนไซฯ และรัฐบาล สปป. ลาว ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นในการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ถือเป็นประเทศแรกที่เยือนอย่างเป็นทางการภายหลังเข้ารับตำแหน่ง สะท้อนความสำคัญของความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและผูกพัน

นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นที่จะสานต่อการทำงาน และกระชับความร่วมมือไทย-ลาวในทุกด้าน เพื่อประโยชน์ และเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชนระหว่างทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีรู้สึกประทับใจในความใกล้ชิดสนิทสนม จากที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานบุญปีใหม่ลาว ที่สถานเอกอัครราชทูต สปป. ลาว ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรียินดีความสัมพันธ์พิเศษ ที่ผูกพันใกล้ชิดทางภาษาและวัฒนธรรม สามารถพูดคุยกันโดยไม่ต้องใช้ล่าม นอกจากนี้ ไทยและ สปป.ลาวยังมีความร่วมมือที่ครอบคลุม เป็นประเทศที่ไทยมีกลไกความร่วมมือด้วยมากที่สุด และมีความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยงและการคมนาคมขนส่งที่มากที่สุดด้วย โดยปัจจุบันมีเส้นการทางเดินรถไฟกรุงเทพฯ – เวียงจันทน์ ถือเป็นเส้นทางรถไฟแรกในอาเซียนที่เชื่อมโยงเมืองหลวงของสองประเทศ โดยได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชนของสองประเทศ ซึ่งไม่ได้แค่เชื่อมโยงการค้า การลงทุน การขนส่ง และการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เชื่อมประชาชนให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ตลอดปี 2568 ทั้งไทยและ สปป.ลาว จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เพื่อส่งเสริมมิตรภาพระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ก่อนที่ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีจะเชิญร่วมดื่มอวยพร

Advertisement

นายกฯเข้าประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ สปป.ลาว 8-11 ต.ค. และประชุมกับคู่เจรจา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย สหรัฐฯ แคนาดา ด้วย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 ตุลาคม 2567 เวทีอาเซียนที่ สปป.ลาวคึกคัก เตรียมต้อนรับนายกฯ แพทองธาร เยือนอย่างเป็นทางการพร้อมจับมือผู้นำร่วมประชุมอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 พร้อมร่วมวงเวทีทวิภาคี 8 – 11 ตุลาคม 67 นี้ มุ่งขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างไทย – ลาว พร้อมสานต่อความร่วมมือในกรอบอาเซียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ มีกำหนดเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 8 ตุลาคม 2567 รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 – 45 พร้อมทั้งการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9 – 11 ตุลาคม 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ตามคำเชิญของนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ซึ่งการเยือน สปป. ลาว ครั้งนี้ จะเป็นการเยือนต่างประเทศ ในฐานะผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี

โดยในวันที่ 8 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือกับนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว และนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ สปป. ลาว รวมทั้งเข้าเยี่ยมคารวะนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป. ลาว เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างไทย – ลาว โดยเฉพาะความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติด การหลอกลวงออนไลน์ การค้ามนุษย์ หมอกควันข้ามแดน การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง การเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศ

จากนั้นระหว่างวันที่ 9 – 11 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 – 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2567 เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “อาเซียน: เพิ่มทวีความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งในอาเซียน” (ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience)นายจิรายุฯ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการเข้าร่วมประชุมในกรอบอาเซียนครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี โดยนอกจากการเข้าร่วมประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนด้วยกันแล้ว ยังมีการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา และแคนาดา รวมทั้งสหประชาชาติ เพื่อร่วมหารือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การเสริมสร้างประชาคมอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอก และสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดเข้าร่วมการหารือกับผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และเยาวชนอาเซียน รวมทั้งการประชุม Asia Zero Emission Community Leaders’ Meeting ครั้งที่ 2 และมีกำหนดหารือทวิภาคีกับผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย

Advertisement

Verified by ExactMetrics