วันที่ 2 พฤษภาคม 2025

ประยุทธ์ ลงนามกฎบัตร BIMSTEC เสนอความเชื่องโยง 5 ด้าน บก-ทะเล-พลังงาน-ดิจิทัล-คน

People Unity News : ประยุทธ์ ลงนามกฎบัตรบิมสเทค พร้อมเสนอความเชื่องโยง 5 ด้าน “บก – ทะเล – พลังงาน – ดิจิทัล – คน” เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างเครือข่ายความใกล้ชิดระหว่างประชาชนและภาคธุรกิจ พร้อมเดินหน้าสู่ความมั่งคั่ง (Prosperous) ความยั่งยืน (Resilient and Robust) และการเปิดกว้าง (Open)

วันนี้ (30 มีนาคม 2565) เวลาประมาณ 10.35 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นโดยศรีลังกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิก BIMSTEC โดยในการประชุมครั้งนี้ทุกประเทศจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม

นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ประธานจัดการประชุม กล่าวเปิดการประชุมระบุว่า เชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของบิมสเทค จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรค และความท้าทายในโลกร่วมกัน บิมสเทคซึ่งมี ขนาดประชากร 1 ใน 5 ของประชากรโลก ได้ขยายความร่วมมืออย่างสำคัญ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีเศรษฐกิจ และสาธารณสุข ที่เข้มแข็งมากขึ้น สะท้อนได้จากหัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้ “BIMSTEC- Towards a Resilient Region, Prosperous Economies, Healthy Peoples” หรือ “บิมสเทค มุ่งหน้าสู่อนุภูมิภาคที่ยืดหยุ่น มั่งคั่ง และประชาชนมีสุขภาพดี” โดยในวันนี้ จะมีการลงนามกฎบัตร ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ ในการเสริมสร้างบทบาทขับเคลื่อนภูมิภาค

การเดินเรือชายฝั่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคจึงต้องร่วมมือกัน ต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งศรีลังกายินดีส่งเสริม และเชื่อมั่นว่าบิมสเทคสามารถขับเคลื่อนการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ ยินดีร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้ง เห็นควรส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมมาตรการทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน อีกทั้งต้องร่วมมือกันจัดการภัยพิบัติเพื่อเตรียมรับมือในอนาคต โดยศรีลังกามีกรอบแนวทางที่เน้นย้ำความยั่งยืน การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า บิมสเทคจะบรรลุเป้าหมายสะท้อนเสียงของสมาชิกในเวทีโลก จึงขอให้ร่วมมือกันเพื่อประชาชนและประเทศของพวกเรา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่า บิมสเทค ถือเป็นกรอบอนุภูมิภาคเดียวที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเอเชียใต้ ซึ่งช่วงเวลาจากการประชุมครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา สถานการณ์โลกมีความผันผวนทำให้การดำเนินงานยังไม่คืบหน้ามากนัก นายกรัฐมนตรีจึงได้ย้ำถึงความสำคัญในการประชุมครั้งที่ 5 ในวันนี้ เพื่อทบทวนการทำงานร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยในช่วงที่ไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานบิมสเทค ตรงกับช่วงเวลาที่ไทยเป็นประธานเอเปค วาระปี ค.ศ. 2022 ไทยพร้อมส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีคุณภาพ โดยนำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของทุกประเทศมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งสองภูมิภาค ตามความต้องการ และบริบทของแต่ละกรอบความร่วมมือด้วย

การประชุมวันนี้เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของบิมสเทค ทุกประเทศสมาชิกเห็นชอบและลงนามในกฎบัตรบิมสเทค และเอกสารสำคัญอื่นๆ เพื่อเดินหน้าความร่วมมือต่อไปอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ไทยเห็นว่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกยังมีศักยภาพอีกมาก ความเชื่อมโยงระหว่างกันจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้นำสาขาความเชื่อมโยงมุ่งมั่นจะผลักดันปความเชื่อมโยงในสาขาต่อไปนี้

  1. ความเชื่อมโยงทางบก ขอบคุณประเทศสมาชิกที่สนับสนุนข้อเสนอของไทย ในการจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม (BIMSTEC Master Plan on Transport Connectivity) จนบรรลุผลสำเร็จ พร้อมหวังว่าจะร่วมกันผลักดันให้โครงการสำคัญต่างๆ (Flagship projects) ภายใต้แผนแม่บทฯนี้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป
  2. ความเชื่อมโยงทางทะเล นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดกระบวนการเพื่อให้สามารถลงนามร่างความตกลงการเดินเรือตามชายฝั่ง (BIMSTEC Coastal Shipping Agreement) ให้แล้วเสร็จ เพื่อความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือของประเทศรอบอ่าวเบงกอลอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ความเชื่อมโยงด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าภายใต้บิมสเทค (Memorandum of Understanding for Establishment of the BIMSTEC Grid Interconnection)
  4. ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล นายกรัฐมนตรีเห็นควรส่งเสริมความเชื่อมโยงผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยี และ
  5. ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน “คน” เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างๆ ให้ยั่งยืนและสมดุล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสาขาความร่วมมือ และทำให้บิมสเทคเป็นประชาคมของทุกคนอย่างแท้จริง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความพร้อมของไทยที่จะสานต่อความสำเร็จของศรีลังกา โดยได้เสนอวิสัยทัศน์ในช่วงที่ไทยเป็นประธาน ภายใต้หัวข้อหลัก (theme) “Prosperous, Resilient and Robust, and Open BIMSTEC” หรือ โปรบิมสเทค (PRO BIMSTEC) ดังนี้

ประการแรก “ความมั่งคั่ง (Prosperous)” มิติด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งเสริมธุรกิจแบบใหม่ที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม

ประการที่สอง “ความยั่งยืน (Resilient and Robust)” มิติด้านความมั่นคง สนับสนุนความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความท้าทายและวิกฤตในทุกรูปแบบ และสนับสนุนนโยบายในด้านการฟื้นตัว ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

ประการที่สาม “การเปิดกว้าง (Open)” มิติการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ เน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไทยมีแผนที่จะจัดทำเวทีพัฒนาความรู้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Knowledge Platform) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้ประชาชนเข้าถึง และตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความร่วมมือบิมสเทค โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความพร้อมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในบิมสเทคที่ยั่งยืน มีคุณภาพ และเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะขับเคลื่อนบิมสเทคไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งในทุกด้าน วาระการเป็นประธานบิมสเทคของไทยจะสอดคล้องกับแนวคิด “โปรบิมสเทค” เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้ร่วมลงนามในกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter) ที่ถือเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการภายใต้กรอบบิมสเทค โดยกำหนดวัตถุประสงค์ หลักการ กลไกการดำเนินงาน สิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิก การบริหารจัดการ งบประมาณ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเมื่อประเทศสมาชิกลงนามและให้สัตยาบันแล้วจะส่งผลให้กรอบบิมสเทคกลายเป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล (inter-governmental organization)

Advertisement

ข่าวดี ซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อห้ามคนซาอุดีฯเดินทางเข้าไทย และอนุญาตคนไทยเข้าซาอุดีฯได้

People Unity News : ประยุทธ์ ปลื้มข่าวดี ซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อห้ามคนซาอุดีฯเดินทางเข้าไทย และอนุญาตคนไทยเข้าซาอุดีฯได้

วันนี้ (16 มีนาคม 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบข่าวที่น่ายินดีว่า รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศยกเลิกการห้ามบุคคลสัญชาติซาอุดีฯ เดินทางเข้าไทย ซึ่งเป็นข้อห้ามที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี รวมทั้งอนุญาตให้บุคคลสัญชาติไทยเดินทางเข้าซาอุดีฯได้

โฆษกรัฐบาล เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีฯได้แน่นอน โดย ททท. ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ ให้มาเที่ยวไทย 200,000 คน โดยเน้นกลุ่มครอบครัว คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน กลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มคู่รักฮันนีมูน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เป็นกลุ่มที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าหลายๆชาติ และเป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยเดินทางมาไทย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งข่าวที่น่ายินดี ทางการซาอุดีฯ พิจารณายกเลิกห้ามนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากประเทศไทย ซึ่งไทยถูกระงับและห้ามการนำเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยมีสถานประกอบการส่งออกของไทยที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนกว่า 11 แห่ง ถือเป็นข่าวดีด้านการส่งออกปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะในการเสริมสร้างบทบาทของไทยในฐานะครัวโลก เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากซาอุดีฯ ถือเป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์แปรรูปรายใหญ่ของโลก ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบีย มีการนำเข้าไก่ปีละ 5.9 แสนตัน ถือเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ

ข่าวที่น่ายินดีทั้งสองข่าวดังกล่าว เป็นผลมาจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ที่เป็นไปตามลำดับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ภายหลังนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

นายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าผลจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศทั้งสองมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะต่างเป็นสองประเทศที่มีศักยภาพ สามารถผูกสัมพันธ์ เชื่อมโยงเป็นผลทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกัน โดยนายกฯยังได้เน้นย้ำ และสั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน และนำเอาความสำเร็จจากการสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ แปลงไปสู่นโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้โดยเร็ว

Advertising

ผู้แทนซาอุเผยต้องการแรงงานช่างเชื่อม เชื่อมใต้น้ำ เคาะพ่นสี Medical Staff พ่อครัว พนักงานโรงแรม

People Unity News : ผู้แทนซาอุฯ เผยต้องการแรงงานสาขาช่างเชื่อม ช่างเชื่อมใต้น้ำ ช่างเคาะพ่นสี Medical Staff พ่อครัว พนักงานโรงแรม

15 มี.ค. 2565 กระทรวงแรงงาน เผย ผู้แทนซาอุฯ พอใจ ผลการอบรม – ทดสอบฝีมือแรงงานไทย ขอให้ประชาชนที่สนใจไปทำงาน ลงทะเบียนที่ http://toea.doe.go.th

เป็นอีกหนึ่งข่าวดี คณะผู้แทนทางวิชาการของประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 12 – 16 มี.ค. 65 เพื่อเข้าร่วมการประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานไทย กับกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมซาอุดีอาระเบีย

ล่าสุด คณะผู้แทนฯ ได้ไปเยี่ยมชมการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นการนำเสนอการฝึกอบรมในภาคบริการ ณ โรงแรม The Bazzar Hotel Bangkok

เบื้องต้นพบว่าคณะผู้แทนฯ มีความพอใจในความพร้อมของการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน พร้อมเสนอว่าทางประเทศซาอุดีฯ ยังต้องการแรงงานในสาขาช่างเชื่อม โดยเฉพาะช่างเชื่อมใต้น้ำ ช่างเคาะพ่นสี Medical Staff รวมทั้งพ่อครัว พนักงานโรงแรมอีกด้วย

ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เตรียมการรองรับการส่งแรงงานไทย พร้อมอำนวยความสะดวกของการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการ

ประชาชนผู้สนใจไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ http://toea.doe.go.th เลือก “ลงทะเบียน” > “คนหางาน” หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือโทร. สายด่วน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

Advertising

ศักดิ์สยาม เผยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ คาดเปิดใช้ในปี 67

People Unity News : กระทรวงคมนาคมเร่งก่อสร้างโครงการ สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ – บอลิคำไซ คาดเปิดให้บริการในปี 2567

13 มีนาคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ – บอลิคำไซ ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งกระทรวงคมนาคม เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จึงได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน และกรมเจ้าท่า ร่วมกันพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชนในภูมิภาคให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งการคมนาคมขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ

ภาพรวมของโครงการ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีความคืบหน้าร้อยละ 36.704 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.643 คาดว่าจะเชื่อมต่อพื้นที่สะพานได้ประมาณกลางปี 2566 เปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2567เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและ สปป.ลาว  โดยทางหลวงหมายเลข 212 สายอำเภอโพนพิสัย – บึงกาฬ จะเป็นทางผ่านไปสู่สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ทำให้เส้นทางดังกล่าวเป็นการคมนาคมขนส่งที่เชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และภูมิภาคอาเซียนได้ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมถึงสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community: AEC) นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในภูมิภาคด้วย

สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ – บอลิคำไซ รวมระยะทาง 16.18 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนฝั่งไทย ระยะทาง 13 กิโลเมตร และถนนฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 3.18 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท รูปแบบการก่อสร้างเป็นสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร มีไหล่ทางพร้อมทางเท้า ช่วงข้ามแม่น้ำโขง ระยะทาง 810 เมตร และงานทางลาดลงจากตัวสะพาน ความยาวถนนฝั่งไทย 410 เมตร ฝั่ง สปป.ลาว ความยาว 130 เมตร รวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุมทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และมีจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว

Advertising

ภาพประวัติศาสตร์ เที่ยวบินปฐมฤกษ์ Saudia Airlines จากซาอุดีอาระเบีย – กรุงเทพ ในรอบ 32 ปี

People Unity News : ภาพประวัติศาสตร์ เที่ยวบินปฐมฤกษ์ สายการบิน Saudia Airlines จากกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย – กรุงเทพฯ ในรอบ 32 ปี

1 มี.ค. 2565 เมื่อวาน 28 ก.พ. เที่ยวบินปฐมฤกษ์ SV846 ของสายการบิน Saudia Airlines ได้บินตรงจากเมืองเจดดาห์ – กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 18.05 น. โดยเป็นคณะนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ จำนวน 71 คน นับเป็นการเปิดเส้นทางบินครั้งแรกในรอบ 32 ปี และเป็นสัญญาณที่ดีในการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น

รวมถึงเป็นโอกาสต่อยอดในการขยายตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เช่น ยุโรปและตะวันออกกลาง โดยไทยจะขยายกลุ่มเป้าหมายเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่ กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางครั้งแรก กลุ่มรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ กลุ่มครอบครัว ฯลฯ ซึ่งจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา พังงา กระบี่ เกาะสมุย และเชียงใหม่

Advertising

ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมนายกฯมาเลเซีย การหารือประเด็นสำคัญร่วมกัน 4 ด้าน

People Unity News : ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมนายกฯมาเลเซีย พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือรอบด้าน ยึดประโยชน์ประชาชนของทั้งสองประเทศ

25 ก.พ. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยนายกฯ มาเลเซีย ถือเป็นผู้นำรัฐบาลต่างประเทศคนแรกที่เยือนประเทศไทย หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 สะท้อนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

นายกฯ ไทย ชื่นชมความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของนายกฯ มาเลเซีย ในการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางความท้าทายต่างๆ พร้อมยืนยันความตั้งใจเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งแก่ประชาชนทั้งสองประเทศ บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจ เสมือน “ครอบครัวเดียวกัน”

ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นสำคัญร่วมกันใน 4 ประเด็น ดังนี้

1.การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ การเดินทางระหว่างประชาชนของสองประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วโดยไม่ต้องกักกันโรค ทั้ง Vaccinated Travel Lane (VTL) ของมาเลเซีย และระบบ Test and Go ของไทย รวมถึงการเดินทางผ่านพรมแดนทางบกเพิ่มเติม

2.การกระตุ้นเศรษฐกิจและแสวงหาความร่วมมือสาขาใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีปริมาณการค้าชายแดนและผ่านแดนเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก โดยตั้งเป้ามูลค่าการค้าระหว่างกันที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 รวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG

3.การพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงชายแดน โดยนายกฯ เชิญชวนให้มาเลเซียร่วมลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงอุตสาหกรรมยางพาราและฮาลาล พร้อมชี้แจงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายมาเลเซียสนับสนุนท่าทีของไทยในการแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธี

4.การรื้อฟื้นกลไกหารือทวิภาคี ที่ครั้งนี้จะเป็นการปูทางสู่การแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมหารือฯระหว่างกันต่อไป โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 14 ในเดือน มี.ค. นี้

Advertising

รัฐบาลไทย-ไมโครซอฟท์ ลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการนำร่องในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

People Unity News : รัฐบาลไทย – ไมโครซอฟท์ฯ พร้อมร่วมมือพัฒนาทักษะดิจิทัลให้ “คนไทย” ทุกระดับอย่างต่อเนื่อง

24 ก.พ. 65 วันนี้ นาย Ahmed Mazhari ประธานบริษัท ไมโครซอฟท์ เอเชีย และคณะผู้บริหารบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ณ ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ในวันนี้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไมโครซอฟท์ โอเปอเรชั่น จำกัด สิงคโปร์

มีเป้าหมายดำเนินโครงการนำร่องในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะเสริมสร้างความเชื่อมั่น และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและภาคเอกชนในการประสานกับหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ เช่น ขอให้พิจารณาสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของไทย โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกระดับอย่างต่อเนื่องต่อไป การเดินหน้าสู่เศรษฐกิจ/อุตสาหกรรมสีเขียว และความยั่งยืน เป็นต้น

Advertising

สธ. เผย EU รับรอง Thailand Digital Health Pass ใช้เดินทางเข้าได้ 60 ประเทศ

People Unity News : สธ. เผย EU รับรอง Thailand Digital Health Pass ใช้เดินทางเข้าได้ 60 ประเทศ

12 ก.พ. 65 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยถึงการใช้ Digital Health Pass บนระบบหมอพร้อม ที่สามารถใช้เดินทางในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) ได้กว่า 60 ประเทศ/ดินแดน หลังประเทศไทยได้พัฒนาเอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-19 ให้เท่าเทียมกับเอกสารของ EU (EU Digital COVID Certificate) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเอกสารรับรองฯ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา

ส่งผลให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถใช้ Thailand Digital Health Pass แสดงสถานะสุขภาพเกี่ยวกับโควิด-19 ก่อนเดินทางสู่กลุ่มประเทศ EU รวมถึงใช้แสดงข้อมูลก่อนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในประเทศเหล่านั้น เป็นการอำนวยความสะดวกประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ต้องขอเอกสารรับรองอื่นๆอีก ขณะที่ สธ. สามารถติดตามและตรวจสอบสถานะสุขภาพของนักเดินทางจากประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปที่เดินทางเข้ามาในไทยได้เช่นกัน

Thailand Digital Health Pass จะแสดงข้อมูลสำคัญ 2 ส่วน คือ

1.ข้อมูลจำเป็นในการยืนยันตัวตน ได้แก่ ชื่อ – นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน อายุ สัญชาติ หมายเลขหนังสือเดินทาง (ถ้ามี)

2.ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ได้แก่ ข้อมูลการฉีดวัคซีน ข้อมูลการตรวจหาเชื้อโควิด ข้อมูลการหายป่วยจากโควิด ในรูปแบบ QR Code ที่มีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์กำกับ

Advertising

ศอ.บต.เตรียมจัดเวทีระดมสมองทุกภาคส่วน ต่อยอดไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์

People Unity News : ศอ.บต.เตรียมจัดเวทีระดมสมองจากทุกภาคส่วน “โอกาสและศักยภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์” ก.พ.นี้ ข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลเพื่อจัดทำนโยบายและแนวทางการพัฒนาร่วมกับซาอุดีอาระเบีย

31 ม.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา นำไปสู่การเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียอย่างสมบูรณ์ และการส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ได้กำหนดแนวทางต่อยอดโอกาสจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ดังกล่าว เพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างเป็นรูปธรรม และผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยจะมีการจัดประชุมสัมมนา หัวข้อ “โอกาสและศักยภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์” ประมาณกลางเดือน ก.พ.นี้ เพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ ข้าราชการ แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ซาอุฯ และประชาชนทุกสาขาอาชีพ กว่า 500 คนที่มีประสบการณ์ทั้งการเรียน การทำงานและการใช้ชีวิตในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่ง ศอ.บต. จะรวบรวมข้อมูลที่ได้เสนอต่อรัฐบาล เพื่อใช้ประกอบการจัดทำนโยบายและแนวทางการพัฒนาร่วมกับซาอุดีอาระเบียต่อไป อีกทั้ง จะได้นำเสนอต่อการประชุมเอกอัครราชทูตและทูตานุทูตโลกอิสลามประจำประเทศไทยและเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านโลกอิสลาม ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.ด้วย

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า การจัดประชุมเอกอัครราชทูตโลกอิสลามและเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านโลกอิสลามดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามแผนการทำงานของ ศอ.บต ปี 2565 ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟาตอนี และสมาคม ชมรมและกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเก่าจากโลกมุสลิม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยจะมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ ครอบคุลมด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การมีส่วนร่วมของประชาชนและอื่นๆ รวมทั้ง การเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ทั้งที่สำเร็จการศึกษาจากโลกมุสลิมแล้ว ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยและสานสัมพันธ์กับผู้นำประเทศที่ตนเองสำเร็จการศึกษา การนำชมพื้นที่การทำงานที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างทรัพยากรบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“จากการเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ครั้งนี้ นำไปสู่ความร่วมมือและประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน การศึกษาและวิจัย ความมั่นคง การท่องเที่ยวและกีฬา และยังส่งผลบวกต่อความรู้สึกของชุมชนมุสลิมในประเทศที่มองซาอุดีอาระเบียเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันจะทำให้การประสานงานและการขับเคลื่อนงานพัฒนาระหว่างจังหวัดชายแดนใต้กับซาอุดีอาระเบียที่มีมาอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายขอบเขตและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความร่วมมือในทุกๆด้าน” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertising

จีนเปิดด่านรถไฟผิงเสียง นำเข้าทุเรียน ลำไย ผลไม้ไทย 4 มกราคมนี้

People Unity News : จีนเปิดด่านรถไฟผิงเสียง นำเข้าทุเรียน ลำไย ผลไม้ไทย 4 มกราคมนี้

2 ม.ค. 65 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เข้มงวดของด่านนำเข้าจีน ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ตนได้สั่งการทูตเกษตรเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและตนได้หารือเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทย

ล่าสุดได้รับรายงานจากกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ของไทยประจำนครกว่างโจว ว่า ด่านรถไฟผิงเสียง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) ประเทศจีนได้เปิดด่านแล้ว โดยกำหนดเปิดนำเข้าผลไม้ไทยตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2565 เพื่อคลี่คลายปัญหากรณีด่านตงซิง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน) ปิดด่าน ทําให้ทุเรียนและลําไยสดของประเทศไทยที่มีปริมาณมากต้องติดค้างอยู่ที่ด่านตงซิงซึ่งไม่สามารถยื่นคําร้องขอผ่านพิธีการศุลกากรเข้าประเทศจีนได้ ทางการจีนจึงประสานเป็นหนังสือขอความอนุเคราะห์ฝ่ายเกษตรฯกว่างโจวแจ้งมายังหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อํานวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการผลไม้ทําการเปลี่ยนแปลงใบรับรองสุขอนามัยพืชในช่วงวันที่ 1 – 3 มกราคม 2565 สินค้าผลไม้ไทยจะได้ยื่นคําร้องขอผ่านพิธีการศุลกากรผ่านด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อขนส่งเข้าประเทศจีนได้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ กล่าวว่า ผู้ส่งออกต้องรีบยื่นขอเปลี่ยนแปลงใบรับรองสุขอนามัยพืชจากด่านตงชิงเป็นด่านรถไฟผิงเสียงและต้องระมัดระวังอย่าให้มีการปนเปื้อนโควิด-19 ทั้งคนขับ รถและสินค้า เพราะถ้าพบทางการจีนจะปิดด่านทันที จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ช่วยกันเข้มงวดกวดขันอย่างเต็มที่

Advertising

Verified by ExactMetrics