วันที่ 19 กรกฎาคม 2025

“ชัยวุฒิ” เบรก “กสทช.รักษาการ” ประมูลดาวเทียม 24 ก.ค.นี้ แนะรอชุดใหม่ หวั่นมีผลกระทบระยะยาว

People Unity News : “ชัยวุฒิ” เบรก “กสทช.” ชุดรักษาการ เร่งประมูลวงโคจรดาวเทียม 24 ก.ค.นี้ หวั่นกระทบการบริหารจัดการวงโคจรดาวเทียมหลังหมดสัญญา แนะควรให้ กสทช. ชุดใหม่เข้ามาจัดการ เหตุมีผลกระทบผูกพันในระยะยาว โดยเฉพาะด้านความมั่นคง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เพื่อเปิดประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม ในวันที่ 24 ก.ค.64 ล่าสุด ตนได้ส่งหนังสือไปถึง กสทช.ชุดรักษาการ เพื่อขอให้ชะลอการเปิดประมูลออกไป และรอ กสทช. ชุดใหม่ที่อยู่ในกระบวนการสรรหา เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ ในหนังสือฉบับดังกล่าวได้แจ้งให้ กสทช. ชุดรักษาการในปัจจุบันทราบว่า ขณะนี้กระทรวงดิจิทัลฯอยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) พิจารณาให้ความเห็นชอบมอบหมายให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หลังสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศสิ้นสุดลง

ดังนั้น หาก กสทช. ดำเนินการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญา โดยเฉพาะสิทธิการเข้าใช้วงโคจรของดาวเทียมไทยคม 4 ที่ยังมีภาระผูกพันที่จะหมดอายุสัญญา ในวันที่ 10 ก.ย.64 เพราะหากมีกรณีไทยคม 4 เกิดข้อขัดข้อง เสียหาย ก่อนสิ้นอายุสัญญา บริษัทคู่สัญญาต้องรับผิดชอบจัดหาดาวเทียมทดแทนในระยะเวลาตามสัญญา

“กสทช.ชุดรักษาการ ควรพิจารณาชะลอการประมูล โดยคำนึงถึงการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่ถือเป็นเรื่องใหญ่มีความสำคัญ และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อหลายภาคส่วน รวมทั้งยังควรมีแนวทางดำเนินการในทิศทางเดียวกับแนวนโยบายของบอร์ดดีอีด้วย” รมว.ดีอีเอส กล่าว

นายชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า อีกทั้ง กสทช.ชุดปัจจุบันยังเป็นชุดรักษาการ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ คาดว่าจะได้ผู้เข้ามาทำหน้าที่ กสทช. ชุดใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ดังนั้น กสทช.ชุดรักษาการ จึงควรตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากการนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมออกประมูล ที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักการบริหารงานราชการแผ่นดิน ไม่ให้เกิดข้อติดขัดในการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญา รวมถึงความต่อเนื่องในช่วงเปลี่ยนผ่าน และต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความมั่นคงของรัฐ

“การประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package) ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย มีผลผูกพันระยะยาว โดยเฉพาะในแง่ความมั่นคงแห่งรัฐ กระทรวงดิจิทัลฯจึงเห็นว่าเพื่อให้การประมูลเป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม ควรรอให้การสรรหา กสทช.ชุดใหม่ในขณะนี้เสร็จสิ้น และให้ กสทช.ชุดใหม่ เข้ามารับผิดชอบพิจารณาดำเนินการ จะมีความเหมาะสมมากกว่า เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาใดๆตามมาในภายหลัง” นายชัยวุฒิกล่าว

Advertising

“ประยุทธ์” ยืนยันดูแลประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

People Unity News : “ประยุทธ์” ยืนยันดูแลประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยระยะ 1 เดือน เน้นดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากประกาศฉบับที่ 25 ใน 6 จังหวัดก่อนขยายไปสู่กิจกรรมอื่นต่อไป

วันนี้ เวลา 12.45 น. (28 มิถุนายน 2564) ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมหารือถึงการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19)  และมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งมาตรการการแพร่ระบาด covid -19 ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ใน 6 จังหวัดก่อน เป็นระยะเวลา 1 เดือน  โดยรัฐบาลและกองทุนประกันสังคมได้เตรียมงบประมาณไว้แล้ว ประมาณ 7,500 ล้านบาท สำหรับกิจการใน 6 จังหวัด ได้แก่ ก่อสร้าง ที่พักแรม อำนวยการด้านอาหาร ศิลปะบันเทิง และนันทนาการ โดยรัฐบาลจะได้จ่ายเพิ่มเติมให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวน 2,000 บาทต่อคน ส่วนนายจ้างหรือผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท/คนของลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการหรือบริษัทสูงสุดไม่เกิน 200 คน เป็นเวลา 1 เดือน รวมถึงกระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลในการชดเชย 50% ของค่าจ้าง  รวมทั้งการดูในเรื่องอาหารด้วย โดยเฉพาะจะพิจารณานำอาหารจากร้านผู้ประกอบการรายย่อยเข้าไปช่วยสนับสนุนจัดส่งให้กับแคมป์คนงานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างรายได้ผู้ประกอบการร้านอาหารได้อีกทางหนึ่ง

นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า  รัฐบาลดูแลประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ และจะดำเนินการทุกอย่างอย่างเป็นระบบ รอบคอบรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ทั้งนี้มาตรการดูแลผลกระทบดังกล่าวจะนำเข้าหารือที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า วันนี้ได้มีการหารือกันในส่วนภาครัฐ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง บุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนก่อนออกมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบในคัตเตอร์แรงงานและ 6 จังหวัด ตามที่ได้ประกาศออกไป ซึ่งในระยะต่อไปก็จะมีการดำเนินการให้ทั่วถึง ไปยังกิจกรรมอื่นๆด้วยเหมือนเช่นที่ผ่านมา รวมทั้งจะมีการพิจารณามาตรการใหม่ๆออกมาด้วย  ส่วนโครงการคนละครึ่งก็ยังดำเนินการเป็นไปตามกำหนดที่วางไว้

นายกรัฐมนตรียังแสดงความห่วงใย กรณีที่มีแรงงานหนีกลับบ้านนั้น ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจพลเรือนปฏิบัติหน้าที่ดูแล เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายกลับบ้าน เพื่อป้องกันระมัดระวังไม่ให้ไปแพร่เชื้อที่อื่น พร้อมยืนยันภูเก็ต sandbox จะเปิดในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้  ควบคู่กับการมีมาตรการด้านสาธารณสุขในการดูแลอย่างเหมาะสม เป็นไปตามที่กำหนดและขอให้ทุกคนช่วยกัน

ส่วนเรื่องเตียงสนาม นายกรัฐมนตรีย้ำกำลังเร่งดำเนินการโดยเฉพาะในส่วนสีแดงให้ได้มากขึ้น เพราะนอกจากมีเครื่องมือ สถานที่แล้ว  สิ่งสำคัญต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ โดยจะพิจารณานำบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังจะจบเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างมีการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนรวมถึงภาคประชาชน ก่อนนำมาสู่การออกมาตรการต่างๆ

นายกรัฐมนตรียืนยันไม่หวั่นไหวกับสถานการณ์ม็อบ ที่มีการเคลื่อนไหว เพราะทำทุกอย่างด้วยเจตนารมณ์บริสุทธิ์และรักประชาชน ขณะนี้ทุกภาคส่วนและภาครัฐบาลช่วยกันทั้งหมดในการดำเนินการอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชน

Advertising

“ประยุทธ์” เป็นห่วงทั้งหนี้ครูและหนี้นักเรียน

People Unity News : นายกฯ ติดตามมาตรการแก้หนี้ภาคประชาชน กยศ. เตรียม 3.8 หมื่นล้านบาท รองรับผู้กู้ปีการศึกษา 2564 ไม่ต้องมีคนค้ำ ขณะที่ ธ.ออมสิน จัด “มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครู” ถึง 30 มิ.ย.นี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อการศึกษา โดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เตรียมเงินไว้ 3.8 หมื่นล้านบาทรองรับผู้กู้ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 6.24 แสนคน ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้กู้มีความยากลำบากในการหาผู้ค้ำประกัน กยศ. จึงได้ยกเลิกกำหนดที่ให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน ในสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564  โดยได้ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาทและอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติอีกส่วนหนึ่ง รัฐบาลโดย กยศ. ยืนยันมีวงเงินเหลือพร้อมให้การสนับสนุนสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข

สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ขณะนี้มีลูกหนี้ 3.6 ล้านคนและผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน โดย กยศ. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี คือ 1) ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัด 2) ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ที่ชำระหนี้ปิดบัญชี 3) ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมด 4) ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัดและชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว 5) ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% กรณีไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่งมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะมีผลถึง 31 ธ.ค.ปีนี้  สำหรับกรณีผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ประจำปี 2563 และ 2564 กยศ. จะชะลอการฟ้องคดีไปจนถึง 31 มี.ค.ปีหน้ายกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปีนี้พร้อมงดการขายทอดตลาด กรณีที่ถูกบังคับคดีจนถึงสิ้นปีนี้ กยศ. จะงดการขายทอดตลาด ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับการพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี  ทั้งนี้ ลูกหนี้ กยศ. ยังจะได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการอย่างรอบคอบก่อนประกาศใช้ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินงวด ยืดเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น ขณะเดียวกัน เบื้องต้นธนาคารออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาจัด “มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครู” ยับยั้งสถานะไม่ให้เป็น NPL ส่งผลเสียทางเครดิต และกระทบต่อหน้าที่ราชการได้ในอนาคต โดยเลือกจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ตามแผนการชำระหนี้ที่ธนาคารกำหนด เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือนานที่สุดไม่เกินวันที่ 31 ธ.ค. 66 เปิดให้แจ้งความประสงค์ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยหนี้ครู บุคลากรทางการศึกษา และหนี้นักเรียนที่หยั่งลึกมานาน เน้นให้มีมาตรการแก้หนี้ที่เป็นระบบและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อบรรเทาวิกฤตหนี้สินภาคประชาชนให้มากที่สุด พร้อมเร่งสร้างวินัยและความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน” นางสาวรัชดากล่าว

Advertising

เปิดลงทะเบียนโครงการ ”ยิ่งใช้ยิ่งได้” 21 มิ.ย.นี้ รีบหน่อยจำนวน 4 ล้านสิทธิ์เท่านั้น

People Unity News : รัฐบาลเปิดลงทะเบียนโครงการ ”ยิ่งใช้ยิ่งได้” 21 มิ.ย.นี้ 4 ล้านสิทธิ์ สะสม e-Voucher สูงสุด 7,000 บาท เมื่อใช้จ่ายครบ 60,000 บาท คาดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 268,000 ล้านบาท

20 มิ.ย.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เชิญชวนผู้สนใจร่วมโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2564 เป็นวันแรก ตั้งแต่เวลา 06.00 น. – 22.00 น. ผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com หรือผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ทุกวันเป็นต้นไป จนกว่าจะครบ 4 ล้านสิทธิ์  เริ่มใช้จ่ายจริง 1 กรกฎาคม 2564 นี้  เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อ ซึ่งหากเข้าร่วมเต็มจำนวน 4 ล้านคน ใช้จ่ายเต็มสิทธิ์ จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ 240,000 ล้านบาท และเมื่อมีการนำ e-Voucher กลับมาใช้ก็จะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มอีก 28,000 ล้านบาท รวมเป็น 268,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”  เป็นการใช้จ่ายค่าสินค้าหรือบริการ เช่น ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ค่าบริการนวด สปา ทำผมทำเล็บ (ไม่รวมถึงสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ บัตรกำนัล (gift voucher) บัตรเงินสด (gift card) และสินค้าหรือบริการที่เป็นการชำระค่าสินค้าหรือบริการล่วงหน้า) ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2564  กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการ  โดยจะได้รับวงเงินสนับสนุนในรูปของบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ทั้งนี้ วงเงินใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน ยอดใช้จ่ายที่นำมาคำนวณสิทธิ์ต้องไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน และจะได้รับสิทธิ์ e- Voucher สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคนตลอดระยะเวลาโครงการ โดยยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 1-40,000 บาทแรก ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 10 ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน และยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 40,001-60,000 บาท ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งสิทธิ์ e-Voucher จะคืนเป็นวงเงินใน g-Wallet ทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไปโดยสามารถใช้จ่ายด้วย e -Voucher ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม- 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ e -Voucher “โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้” ไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังย้ำคุณสมบัติผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการว่า เป็นประชาชนสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือได้รับสิทธิ์โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือไม่ใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3

ด้านโครงการ “คนละครึ่ง ระยะที่ 3” ยังสามารถลงทะเบียนได้ทุกวัน จนกว่าจะครบ 31 ล้าน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 22.00 น. ขณะเดียวกัน ก็อยากเชิญชวนผู้ที่ยังมีวงเงินสิทธิ์เหลือในโครงการ “เราชนะ” วางแผนใช้จ่ายก่อนที่วงเงินสิทธิ์จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายนนี้  เพื่อให้ทุกท่านได้รับประโยชน์จากโครงการที่เข้าร่วมสูงสุดและเต็มประสิทธิภาพด้วย

Advertising

“ประยุทธ์” สนับสนุนให้ใช้ “ฟ้าทะลายโจร” รักษาอาการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควบคู่กับยาฟาวิพิราเวีย

People Unity News : “ประยุทธ์” สนับสนุนการใช้ “ฟ้าทะลายโจร” รักษาอาการเจ็บป่วยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควบคู่กับยาฟาวิพิราเวีย

25 พ.ค.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนการใช้ “ฟ้าทะลายโจร” ควบคู่กับยาฟาวิพิราเวียในการรักษาอาการเจ็บป่วยของผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีภาวะอักเสบ ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันว่า “ฟ้าทะลายโจร” ไม่มีฤทธิ์ป้องกันโควิด-19 แต่อาจใช้เพื่อปรับระบบภูมิคุ้มกันได้

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยืนยันว่า “ฟ้าทะลายโจร” มีแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งเป็นสารสำคัญมีฤทธิ์ต้านไวรัส และในการวิจัยพบว่า สามารถฆ่าไวรัสในหลอดทดลอง และยังฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางตัวในหลอดทดลองได้ด้วย  นอกจากนี้ “ฟ้าทะลายโจร” ยังเป็นยาลดไข้ บรรเทาอาการหวัดที่ดี และลดการอักเสบ โดยได้ใช้เป็นยาในบัญชียาหลักในการรักษาโรคหวัดตั้งแต่ปี 2559  และสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีภาวะอักเสบ “ฟ้าทะลายโจร” สามารถช่วยลดการอักเสบและส่งเสริมภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยกำลังศึกษาวิจัยเพิ่มเติมการใช้ “ฟ้าทะลายโจร” เพื่อป้องกันโควิด-19 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันประชาชนยังมีจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 และปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T เพื่อป้องกันการแพร่หรือติดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยสุขภาพสูงสุด เพราะคนไทยทุกคนคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย

นายอนุชา กล่าวว่า “นอกจากเรื่องการรักษาโควิด-19 ด้วยยาจากสมุนไพรไทยแล้ว ปัจจุบันความต้องการสมุนไพรในตลาดโลกมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกระแสความใส่ใจในการดูแลสุขภาพ การป้องกันโรคด้วยวิถีธรรมชาติด้วยผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงเร่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทยในตลาดต่างประเทศ ซึ่งสมุนไพรและเครื่องเทศในตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งมั่นใจว่าสมุนไพรไทยจะช่วยสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เครื่องสำอาง และอาหารเสริม ตามนโยบาย BCG ของท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลด้วย”

Advertising

รัฐบาลพร้อมใช้เวทีประชุมสภา 31 พ.ค.-2 มิ.ย.แจงประเด็นที่เข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องงบประมาณปี 65

People Unity News  : รัฐบาลแจง 3 ประเด็นที่เข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องงบประมาณปี 65 พร้อมจะใช้เวทีสภาระหว่าง 31 พ.ค. – 2 มิ.ย. สร้างความเข้าใจงบประมาณ 65

23 พฤษภาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง 31 พ.ค. – 2 มิ.ย.ว่า ถือเป็นพื้นที่การทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลพร้อมชี้แจงให้ข้อมูลถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณปี 65 และขณะเดียวกัน ส.ส.จะได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง หากการใช้เวลาอภิปรายเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากบางกลุ่มเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จึงขอชี้แจงดังนี้

1)การที่งบประมาณรายจ่ายลงทุนปี 65 วงเงิน 624,399 ล้านบาท (20.14% ของงบประมาณรายจ่าย) น้อยกว่าการขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ 700,000 ล้านบาท ไม่ได้ขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ตามที่เข้าใจผิดกัน แม้กฎหมายได้กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาในวรรคสองของมาตรา20 ด้วย ซึ่งกำหนดข้อยกเว้น กรณีที่การตั้งงบประมาณรายจ่ายไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่งได้ ให้รัฐบาลแสดงเหตุผลความจำเป็นและมาตรการในการแก้ไขต่อรัฐสภาพร้อมกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้วย และเพื่อให้เป็นตามที่กฎหมายกำหนด ครม.เมื่อ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักการมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนขาดดุล และจะรายงานให้สภาฯได้ทราบ โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศ ประกอบด้วย 1. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) 2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) 3. การใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิต และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลงทุนเพื่อการให้บริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ

2)ข้อวิจารณ์ว่า กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในความเป็นจริง งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสาธารณสุขนั้น ยังมีในส่วนของกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเมื่อรวมงบประมาณเข้าด้วยกันแล้ว ด้านการสาธารณสุขได้รับการจัดสรรมากกว่ากลาโหม กว่า 9.2 หมื่นล้านบาท

3)ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเลขการรายงานเงินขาดทุนสะสมของธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่า 1.069 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ใช่หนี้สาธารณะ ตามที่ไปลือกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอธิบายว่า รายงานดังกล่าวเป็นการแสดงรายการงบการเงินของ ธปท. และเป็นธุรกรรมที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารฯในการดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันทั่วโลก ตามนิยามของ IMF ที่กำหนดมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินเพื่อการเปรียบเทียบและติดตามการทำนโยบายของประเทศสมาชิก

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ส่งผลให้ประมาณการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 65 มีจำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปีก่อน ที่กำหนดไว้ 3,285,962.5 ล้านบาท ประเด็นข้อสงสัยจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลพร้อมชี้แจงข้อมูลถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้งบประมาณแผ่นดินในแผนงานและโครงการต่างๆ รวมถึงความสอดคล้องต่อสถานการณ์ของประเทศ ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ประเทศจะได้เดินหน้าบนพื้นฐานความเข้าใจ แม้อาจมีความเห็นต่างกันบ้าง

Advertising

“ประยุทธ์” เชิญชวนประชาชนประเมินความโปร่งใสหน่วยงานภาครัฐผ่านทางแอป ไอทีเอเอส

People Unity News : นายกรัฐมนตรีประกาศให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมชวนประชาชนและข้าราชการ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพ และคุณธรรมของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ

17 พฤษภาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัย เชิญชวนประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาการทุจริตส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาประเทศ รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ทั้งในแง่การรับรู้ของภาคประชาชน และภาคธุรกิจ รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม

ทุกปี องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จะดำเนินการสำรวจสถานการณ์การทุจริตของทุกประเทศทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจัดอันดับปัญหาการทุจริตผ่านดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือ คอรัปชั่น เพอเซพชั่น อินเดกซ์ หรือค่าซีพีไอ (CPI) โดยมีค่าคะแนนอยู่ในอันดับที่ 104 จากประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก

นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า  รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการปรับสมดุล และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งยึดหลักภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสร้างภาครัฐให้โปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และมุ่งสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต รวมทั้งความละอายต่อการทุจริต ประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกและค่านิยมในการปฏิเสธไม่ยอมรับการทุจริตอย่างสิ้นเชิง โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน และภาคีต่างๆ ร่วมมือกันในการลดและป้องกันการทุจริตให้ได้ผลอย่างยั่งยืน

โดยได้มีการนำระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือที่เรียกว่า ไอทีเอ (ITA) มาใช้ในการยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำข้อเสนอแนะที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุง พัฒนาการปฏิบัติงาน ให้มีความโปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาด้านการบริหารจัดการภาครัฐของประเทศ

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียังเชิญชวนคนไทย ทั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับความโปร่งใสของประเทศไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากล และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพ และคุณธรรมในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ โดยร่วมกันประเมินหน่วยงานภาครัฐที่เคยติดต่อหรือรับบริการได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน หรือทางแอปพลิเคชัน ไอทีเอเอส (ITAS) ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 โดยจะมีการประกาศผลการประเมิน ไอทีเอ ของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศให้ต่อไป

Advertising

นายกฯมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและเจ้าหน้าที่

People Unity News : นายกฯ รับมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฯ ย้ำรัฐบาลไม่เคยท้อ พร้อมทำหน้าที่อย่างเต็มที่

วันนี้ (11 พฤษภาคม 2564 ) เวลา  09.00  น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ให้ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย มูลนิธิสิริวัฒนภักดี มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เข้าพบเพื่อมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อส่งมอบแก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 274,000 ราย วงเงินความคุ้มครอง 275,410 ล้านบาท เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรดังกล่าว

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย มูลนิธิสิริวัฒนภักดี มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ได้มอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งทำงานอย่างเต็มที่ด้วยความเสียสละ และเสี่ยงภัยตลอดเวลา ในส่วนของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนก็พยายามทำอย่างเต็มที่และให้ดีที่สุด ขอยืนยันนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไม่ท้อแท้ แม้ที่ผ่านมาจะมีการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนต่างๆ แต่เชื่อมั่นภายในระยะเวลาไม่นานทุกอย่างจะดีขึ้น ขณะนี้ได้สั่งการให้เร่งรัดฉีดวัคซีนให้มากขึ้นตามปริมาณวัคซีนที่กำลังจะเข้ามาเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนระมัดวังดูแลตัวเองให้ดีที่สุดและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย มูลนิธิสิริวัฒนภักดี มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พัฒนาแบบกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด -19 ซึ่งคุ้มครองการเสียชีวิต ภาวะโคม่าเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และผลประโยชน์กรณีตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 โดยสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย มูลนิธิสิริวัฒนภักดี มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จะร่วมกันสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยเต็มจำนวนครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด -19 จำนวน 274,000 ราย เบี้ยประกันภัยรวมกว่า 38,000,000 บาท และวงเงินความคุ้มครองรวมกว่า 275,410 ล้านบาท โดยแต่ละรายจะได้รับ ความคุ้มครองจาก 3 กรมธรรม์ ดังนี้

1.กรมธรรม์คุ้มครองการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะเวลาคุ้มครอง 2 เดือนนับตั้งแต่วันที่แจ้งรายชื่อ จำนวนเงินความคุ้มครอง 1,000,000 บาท ต่อราย

2.กรมธรรม์คุ้มครองภาวะโคม่าอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะเวลาคุ้มครอง 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่แจ้งรายชื่อ จำนวนเงินความคุ้มครอง 1,000,000 บาท ต่อราย

3.กรมธรรม์คุ้มครองผลประโยชน์กรณีพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะเวลาคุ้มครอง 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่แจ้งรายชื่อ จำนวนเงินความคุ้มครอง 10,000 บาท ต่อราย

4.กรณีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จำนวนเงินความคุ้มครอง 10,000 บาท ต่อราย

นอกจากนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยยังจะบริจาคมอบเครื่องช่วยหายใจให้แก่โรงพยาบาลบุษราคัม (โรงพยาบาลสนาม) ณ อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 ให้สามารถดูแลรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที จำนวน 50 เครื่อง รวมมูลค่า10,500,000 บาทด้วย

Advertising

“ประยุทธ์” ระบุคนไทย 50 ล้านคนจะได้รับการฉีดวัคซีนภายในปลายปีนี้

People Unity News : นายกรัฐมนตรียืนยันเป้าหมายคนไทย 50 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนในปลายปีนี้ พร้อมเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่หอการค้าไทยหนุนรัฐบาล ตั้ง 4 ทีม ร่วมกระจายฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ในเดือน มิ.ย.นี้

วันนี้ (28 เม.ย.64) เวลา 10.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการหอการค้าไทยนำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเสนอแนวทางการทำงานของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยจัดทำแผนตั้ง 4 ทีมสนับสนุน โดยมีบริษัทที่ถนัดในธุรกิจนั้นๆมาช่วยกระจายฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยการหารือ นายกรัฐมนตรีดีใจที่รัฐบาลและเอกชนจะร่วมมือโดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อประเทศไทยเปิดประเทศ นายกรัฐมนตรียังเน้นถึงบทบาทสำคัญของรัฐบาลเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ เอกชน ดูแลกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆให้เกิดความยืดหยุ่นและดำเนินการได้ เช่นเดียวกับการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวใน  พ.ร.บ.ทั้ง 31 ฉบับตามประกาศการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีฯ (ฉบับที่ 3) ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นการบูรณาการกฎหมาย เพื่อแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ แผนการจัดหาวัคซีนเดิมจำนวน 63 ล้านโดส จัดหาเพิ่มเติมจำนวน 37 ล้านโดส เป้าหมาย 100 ล้านโดส ดูแลคนไทยทุกคนทั่วประเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เฉพาะหน้าโดยเฉพาะการนำผู้ป่วยเข้าถึงสถานพยาบาล การเตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องมือ เตียงและยา ด้วย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้กำลังใจในการทำงานของหอการค้าฯมาโดยตลอด คณะกรรมการหอการค้าซึ่งประกอบด้วยผู้แทนธุรกิจเอกชนพร้อมจะสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ทั้งการเพิ่มจำนวนวัคซีนโควิด-19 และการกระจายการฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้มากขึ้นและเร็วขึ้น รวมทั้งการสร้างความมั่นใจในการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย และการเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน จึงได้จัดตั้งทีมสนับสนุนการฉีดวัคซีนภาคเอกชน ประกอบด้วย

TEAM A: ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน (Distribution and Logistics) เพื่อสนับสนุนสถานที่เพิ่มเติมจากภาคเอกชน ในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ รวมถึงใช้พื้นที่โรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่ฉีดวัคซีน ด้วย

TEAM B: ทีมการสื่อสาร (Communication) สนับสนุนการสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนทั่วไป สร้างการรับรู้ให้กับสังคม เชิญชวนประชาชนมารับการฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อมและรายงานความคืบหน้าที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงระบบ “หมอพร้อม”

TEAM C: ทีมเทคโนโลยีและระบบ (IT Operation) เพื่อจัดระบบลงทะเบียนให้รวดเร็วและระบบการติดตามตัวอย่างมีประสิทธิภาพ

และ TEAM D: ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม (Extra Vaccine procurement) ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยจะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลพร้อมจะทำงานเคียงคู่ไปกับภาคเอกชน เน้นการทำงานที่มีผลสัมฤทธิ์ โดยจะมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งทีมประสานงาน เพื่อดำเนินกิจกรรมคู่ขนานร่วมกับทีมภาคเอกชนทั้ง 4 ทีม รวมถึงการมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมและ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไปพิจารณาแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่ได้รับการยอมรับจาก WHO นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนไทยทุกคน รวมทั้งแรงงานและชาวต่างประเทศที่ทำงานในประเทศไทยด้วย ไม่เพียงเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เท่านั้น ยังรวมถึงโรคภัยอื่น ๆ รวมทั้งเดินหน้าเศรษฐกิจ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) สำหรับ SMEs มาตรการเยียวยาผู้มีรายได้น้อย โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว และตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปิดประเทศของไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ด้วย

Advertising

“ประยุทธ์” ตั้งเป้าปี 64-65 จะเร่งดำเนินการ 13 เป้าหมายตามแผนของสภาพัฒน์

People Unity News : รัฐบาลเดินหน้า 13 ด้านตามแผนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และมุ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาครัฐ

วานนี้ (30 มีนาคม 2564) เวลา 14.15 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้หารือหลักการสำคัญ ในการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่รัฐบาลได้เดินหน้าขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายสำคัญคือ การหารายได้เพิ่ม โดยให้ประชาชนได้เข้าถึงประโยชน์ให้เกิดเศรษฐกิจต่อเนื่องทั้งภาคการเกษตร การค้าการลงทุน รวมทั้งยังได้พิจารณาถึงความเสี่ยงของสถานการณ์ทางการเงินในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามการค้าด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกด้วยว่า ได้ถือโอกาสแนะนำรัฐมนตรีใหม่ 2 ท่าน คือ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย

นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายปี 2564 และ 2565 จะเร่งดำเนินการ 13 เป้าหมาย ตามแผนของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แบ่งเป็น 4 ด้านประกอบไปด้วย ด้านที่ 1 เศรษฐกิจ อาทิ เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบริการดิจิทัล ประตูการค้า การลงทุนและโลจิสติกส์ การแพทย์และสุขภาพครบวงจร ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์พวงมาลัยขวา การท่องเที่ยวเชิงคุณค่า เกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ด้านที่ 2 วิถีชีวิตที่ยั่งยืน อาทิ การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ลด PM 2.5 ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจะต้องปรับเปลี่ยนให้วิถีชีวิตมีความปลอดภัยและยั่งยืน ด้านที่ 3 ขยายโอกาสสำหรับทุกกลุ่มคนและทุกพื้นที่ อาทิ SMEs วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจสังคม ให้มีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน พัฒนาพื้นที่และเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่ ความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอและเหมาะสม และด้านที่ 4 ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ การสร้างทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศจากภาคการศึกษา ผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เพิ่มความเข้มแข็งให้ภาครัฐด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้การบริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการเร่งแก้ปัญหากำลังคนที่มีทักษะต่ำและภาครัฐที่ล้าสมัย ไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง ควบคู่ไปกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสังคม และปฏิรูปกฎหมาย เพื่อเดินหน้าประเทศต่อไปได้ด้วยดี

Advertising

Verified by ExactMetrics