วันที่ 4 พฤษภาคม 2025

เผย ครม.รับทราบรายงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 กรกฎาคม 2567 ครม.รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินงานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบ ในห้วงวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2566

วันนี้ (2 กรกฎาคม 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินงานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญในห้วงวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2556  ดังนี้

1)สถิติเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ได้ดำเนินการสถิติเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ได้ดำเนินการและตรวจพบมากที่สุดได้แก่ 1. การโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์การพนันออนไลน์ การโจมตีเว็บไซต์เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลเผยแพร่หน้าเว็บไซต์ การปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์จริงเพื่อหลอกเอาข้อมูล การฝังมัลแวร์อันตรายบนหน้าเว็บไซต์หน่วยงานที่อาจหลอกให้ผู้เข้าดาวน์โหลดไปติดตั้งได้ จำนวน 1,056 เหตุการณ์ 2. เว็บไซต์ปลอมจำนวน เว็บไซต์ปลอมจำนวน 310 เหตุการณ์  3. หลอกลวงการเงิน จำนวน  101 เหตุการณ์ 4. ข้อมูลรั่วไหลจำนวน  103 เหตุการณ์  5. จุดอ่อนช่องโหว่จำนวน  84 เหตุการณ์ 6. การละเมิดข้อมูล จำนวน 50 เหตุการณ์  7. การโจมตี จำนวน 33 เหตุการณ์ 8.มัลแวร์เรียกค่าไถ่ จำนวน 30 เหตุการณ์ และ 9. อื่นๆ จำนวน 31 เหตุการณ์ รวมทั้งหมด จำนวน 1,808 เหตุการณ์

2)ประเภทหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยแบ่งตามภารกิจหรือบริการของหน่วยงานสรุปได้ดังนี้ 1.หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ จำนวน 202 เหตุการณ์2.หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลจำนวน 50 เหตุการณ์ 3.หน่วยงานของรัฐจำนวน 1,309 เหตุการณ์4.หน่วยงานเอกชน จำนวน 247 เหตุการณ์

3)ผลการปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนหน่วยงานในการช่วย แก้ไขปัญหาและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยเป็นการปฏิบัติตามมาตรการเชิงรุก เชิงรับ และบริหารจัดการคุณภาพ สรุปได้ดังนี้ 1.การแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 71 รายงาน 2.การเผยแพร่ข้อมูลภัยคุกคามทางไซเบอร์และข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จำนวน 557 รายงาน3.การทดสอบความปลอดภัยของระบบเครื่องแม่ข่ายและเว็บไซต์เพื่อหาจุดอ่อนช่องโหว่ จำนวน 115 หน่วยงาน 4.การแจ้งเตือนเหตุการณ์และให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาจำนวน 1,808 หน่วยงาน 5.การตอบสนองและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 45 เหตุการณ์ 6.การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่กระทบต่อหน่วยงานและประชาชน โดยการขอปิดกั้นการเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ที่ปลอมแปลงเป็นหน่วยงานสำคัญจำนวน 426 เว็บไซต์ 7.การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 38 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 5,874 คนและ 8.การทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จำนวน 5 หน่วยงาน

“แนวโน้มสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปี พ.ศ. 2567 มีแนวโน้มว่าการโจมตีแบบ Hacked Website ยังคงเป็นภัยคุกคามที่มีโอกาสพบเป็นจำนวนมาก กลุ่มที่เป็นภัยคุกคามจะทำการฝั่งเนื้อหาเว็บไซต์การพนันออนไลน์เปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์เพื่อทำเว็บไซต์ฟิชชิ่งและฝังมัลแวร์สำหรับกรณีการโจมตีแบบ Fake Website ซึ่งผู้ไม่หวังดีจะทำการปลอมหน้าเว็บไซต์ให้มีความคล้ายกับเว็บไซต์จริงเพื่อหลอกให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่เป็น Android Remote Acces Trojan ซึ่งหากมีผู้หลงเชื่อทำการดาวน์โหลดแอพพลิเคชันและติดตั้งโปรแกรมที่เป็นอันตรายดังกล่าวลงในอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ Android ก็จะถูกขโมยข้อมูลที่มีความ Sensitive ออกไปได้ และรูปแบบการโจมตีประเภท Ransomware มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการโจมตีเป็นรูปแบบบริการในลักษณะ Ransomware โดยนักพัฒนาจะปรับแต่ง  Ransomware ตามความต้องการของผู้โจมตีที่จะนำไป  เพื่อบล็อกผู้ใช้งานไม่ให้เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของตนเพื่อแลกกับค่าไถ่ และจะมีการสร้างคำขู่เพื่อแลกค่าไถ่เกี่ยวกับการชำระเงินทางการเงินเพื่อแลกกับการถอดรหัส ส่วนใหญ่กลุ่มที่เป็นเป้าหมายจะเน้นที่องค์กรภาครัฐมากกว่าบุคคล ดังนั้น ผู้ดูแลระบบควรทำการรหัสส่วนใหญ่กลุ่มที่เป็นเป้าหมายจะเน้นที่องค์กรภาครัฐมากกว่าบุคคลดังนั้นผู้ดูแลระบบควรทำการสำรองข้อมูลเป็นประจำและเพื่อป้องกันข้อมูลที่ Backup ถูกเข้ารหัสไปด้วย ผู้ใช้งานควรสำรองข้อมูลลงอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลภายนอกเครือข่าย อัพเดทซอฟต์แวร์ในเครื่องอย่างสม่ำเสมอซึ่งการอัพเดทระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์จะช่วยป้องกันการโจมตีที่ต้องอาศัยช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ได้และควรติดตามข่าวสารช่องโหว่หรือภัยคุกคามต่าง ๆ รวมถึงศึกษาวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีและเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ใช้งานเอง” นายคารม ย้ำ

Advertisement

ประธานศาล รธน. เผย คดีนายกฯเศรษฐา-คดียุบก้าวไกล จะเสร็จก่อนเดือนกันยายน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 กรกฎาคม 2567 ประธานศาล รธน. รับทำงานบนความกดดัน แต่ยึดหลักเที่ยงธรรม ประธานศาล รธน. เชื่อ “คดียุบก้าวไกล-นายกฯ ตั้งพิชิต” จบก่อนเดือน ก.ย. ยอมรับทำงานบนความกดดัน แต่ทุกอย่างยึดหลักเที่ยงธรรม ไม่หนักใจ ไม่ขอตอบโต้ก้าวไกลเหตุไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ส่วนจะผิดคำสั่งศาลหรือไม่ ขอหารือองค์คณะตุลาการก่อน

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 3 ก.ค. นี้ว่า จะมีการพิจารณาคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมยตรี กรณีตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคดีการยุบพรรคก้าวไกล ในส่วนของการพิจารณาหลักฐานและหลักฐานที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง และพรรคก้าวไกล ยื่นต่อศาล ก่อนจะเปิดให้คู่ความมาตรวจเอกสารในวันที่ 9 ก.ค.

ส่วนมีอะไรหนักใจอะไรหรือไม่ นั้น ยืนยันว่า ไม่มีอะไรหนักใจ และพิจารณาตามปกติ

ทั้งนี้จะมีข้อสรุปว่าจะเปิดการไต่สวนพยานหรือไม่นั้น นายนครินทร์ ขอให้เป็นการหารือกับองค์คณะไต่สวน หากพูดว่าจะเปิดไต่สวนจะกลายเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการแต่ละคน แต่ยืนยันว่าทั้ง 2 คดี จะเสร็จก่อนเดือนกันยายน แต่ตอบไม่ได้ว่าคดีไหนจะเสร็จก่อน

นายนครินทร์ ยอมรับว่า ศาลทำงานบนความกดดัน ทั้งการกดดันตัวเองและสังคมกดดันศาล ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้เพราะเป็นคดีสำคัญ แต่ทุกอย่างก็อยู่บนความเที่ยงธรรม พอเหมาะพอควร ชี้แจงจนหมดข้อสงสัยแล้วค่อยวินิจฉัย การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการตัดสินใจขององค์คณะซึ่งมีความเป็นอิสระ ไม่ใช่การตัดสินใจโดยบุคคลเดียว ซึ่งจากนี้จะไปหารือกับองค์คณะว่านอกจากจะเปิดเผยผลการลงคะแนนแล้ว จะใส่ชื่อตุลาการเสียงข้างมากข้างน้อยด้วย

ส่วนกรณีคดีของพรรคก้าวไกลคู่กรณีออกมาเคลื่อนไหวมา 2 ครั้งแล้ว จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ นายนครินทร์ กล่าวว่า จะต้องให้องค์คณะเป็นผู้พิจารณา ส่วนตัวคิดว่าไม่มี เมื่อถามย้ำว่ากรณีที่พรรคก้าวไกลมีการแถลงข่าว จะถือว่าผิดคำสั่งศาลที่ให้หยุดเคลื่อนไหวหรือไม่ นายนครินทร์ กล่าวว่า เป็นคำแนะนำ และคำเตือนของศาล ต้องดูความพอเหมาะพอดีพอควร ขอย้ำว่าศาลไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ตนหนึ่งในฐานะองค์คณะตุลาการจึงขอไม่ตอบโต้อะไร ส่วนเขาจะออกมาอธิบายอะไรได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับองค์คณะที่จะพิจารณา

“สื่อมวลชนเห็นว่าทำได้หรือไม่ สังคมเสรีก็เป็นเช่นนี้ สังคมไทยมีสิทธิเสรีภาพพอสมควร เขาก็ดำเนินการไปในสิ่งที่เขาเห็นว่าพอเหมาะพอควร ยืนยันว่าศาลไม่ใช่คู่ขัดแย้งเพราะฉะนั้นศาลจะไม่ตอบโต้กับเรื่องเหล่านี้” นายนครินทร์ กล่าว

Advertisment

“เศรษฐา” ลงพื้นที่ อุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์ ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ปัญหายาเสพติด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 มิถุนายน 2567 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ เตรียมลงพื้นที่ 3 จังหวัด อุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์ 28-30 มิ.ย.นี้ ติดตามการบริหารจัดการน้ำ เตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง ติดตามประเด็นยาเสพติด

วันนี้ (26 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2567 เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ติดตามประเด็นยาเสพติด เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ 72 ล้านต้น พลิกฟื้นผืนป่าฯ ประชุมหารือแผนพัฒนาจังหวัด และพบปะประชาชน โดยมีภารกิจตามกำหนดการ ดังนี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 17.20 น. นายกรัฐมนตรีกราบนมัสการพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง และชมกรรมวิธีการจัดทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ณ วัดมหาวนาราม พระอารามหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชานี จังหวัดอุบลราชธานี ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีจะพบปะพ่อค้าแม่ค้าและประชาชน ณ ถนนคนเดินเลียบน้ำมูล เทศบาลนครอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 09.35 น. นายกรัฐมนตรีจะติดตามโครงการก่อสร้าง “แยกต่างระดับคำน้ำแซบ” ณ แยกคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังห้วยน้ำจาง บ้านผึ้งตก หมู่ที่ 4 ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์ สั่งการเตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย และพบปะประชาชน เสร็จแล้วจะเดินทางต่อไปยังที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามประเด็นยาเสพติดและปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ

สำหรับในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานพิธีเปิดโครงการ 72 ล้านต้น พลิกฟื้นฝืนป่า และปลูกต้นไม้ และกราบสรีระสังขาร หลวงปู่สรวง ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ จากนั้น จะไปติดตามปัญหาแหล่งน้ำและพบปะประชาชน ณ วัดสระบานสนวน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ ในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีจะไปเยี่ยมชมการฝึกซ้อมฟุตบอลเยาวชนและพบปะเยาวชน ที่ศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลสโมสรศรีสะเกษยูไนเต็ด อำเภอเมืองศรีสะเกษ ด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 10.00 น. นายกรัฐมนตรีจะติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมหารือแผนพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ ณ ที่ว่าการอำเภอรัตนบุรี อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ โดยนายกรัฐมนตรี จะเดินทางจากท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ตำบลร่อนทอง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ กลับถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 13.45 น. ทั้งนี้ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

“การเดินทางไปตรวจราชการ จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ และ จ.สุรินทร์ ของนายกฯ ครั้งนี้ เป็นการติดตามงานตามนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในทุกด้าน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการวางแผนให้ชัดเจน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีความรอบคอบ รวมถึงการทำงานต้องประสานสอดคล้องกันและมีความเป็นเอกภาพ มุ่งผลประโยชน์ที่เกิดต่อประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง อีกทั้งนายกฯ ยังจะติดตามงานในเรื่องประเด็นยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญเช่นกัน ตลอดจน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ 72 ล้านต้น พลิกฟื้นฝืนป่า ซึ่งเป็น 1 ใน 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในนามรัฐบาล ที่เป็นการรวมพลังจิตอาสาของทุกภาคส่วนในการร่วมกันปลูกป่าและบำรุงรักษาต้นไม้ คืนธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

Advertisment

นายกฯ ไม่กังวลฝ่ายค้านขู่ร้องศาลปกครองโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มั่นใจไม่กระทบ Timeline ยันใช้งบทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 มิถุนายน 2567 นายกฯ ไม่กังวลฝ่ายค้านขู่ร้องศาลปกครองกรณีเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ระบุอะไรที่ผิด กม. ทำไม่ได้อยู่แล้ว มั่นใจไม่กระทบ Timeline ใช้งบทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

วานนี้ (23 มิถุนายน 2567) เวลา 14.30 น. ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ที่พรคฝ่ายค้านขู่ร้องศาลปกครอง รับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่าไม่กังวล เพราะเรายึดมั่นว่าเราทำถูกต้องแล้วจะเป็นนโยบายใดๆ ก็ตามเราต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง บริสุทธิ์ สุจริต และตรวจสอบได้

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านเคยบอกว่าอยากให้รัฐบาลใช้เงินในงบประมาณแต่พอใช้เงินในงบประมาณก็บอกว่ากระทบวินัยการเงินการคลัง มองว่าเป็นการจ้องจับผิดหรือไม่นั้น นายกฯ กล่าวว่าไม่คิดเช่นนั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะต้องดูแลการใช้งบประมาณแผ่นดินให้ใช้ในทิศทางที่ดีที่สุด และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องตอบคำถามให้ทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านอย่างเดียว รวมถึงพี่น้องประชาชนต้องสบายใจได้ว่า การดำเนินการตามนโยบายต่างๆต้องสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งตนเองไม่ได้คิดอะไรมาก และการที่ฝ่ายค้านไปร้องศาลจะกระทบกับไทม์ไลน์ที่วางไว้ในการใช้งบประมาณหรือไม่นั้น ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ตนเองเชื่อมั่นตรงนั้นและก่อนที่จะทำ เราก็มั่นใจแล้ว ก็ไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้นและไม่คิดว่าไปถึงจุดนั้น พร้อมย้ำว่าอะไรที่ผิดกฎหมาย ทำไม่ได้อยู่แล้ว สำหรับข้อแนะนำของฝ่ายค้านในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 จะนำส่วนใดมาใช้บ้างนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเดี๋ยวเรามานั่งคุยกันก่อนในทีมงาน มีหลายๆ ข้อที่ฟังแล้วน่าสนใจ

Advertisment

เตรียมเสนอ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ให้ ครม.พิจารณาเร็วๆนี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 มิถุนายน 2567 “คารม” เผยข่าวดี รัฐบาลเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกร ผลักดันโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาเร็วๆ นี้

วันนี้ 23 มิ.ย. 67 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกร โดยจะสนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ ไม่เกินไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 29,994.3445 ล้านบาท โดยที่ประชุมมอบหมายให้กรมการข้าวนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วที่สุด เพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการทำเกษตรให้กับเกษตรกร

นายคารม กล่าวว่า ปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการ เป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือหนังสือสำคัญรับแจ้งถูกต้องตามพ.ร.บ.ปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกรับการสนับสนุนปุ๋ยสำหรับนาข้าวที่ขึ้นทะเบียน เบื้องต้นจำนวน 13 รายการ ได้แก่ 1.ปุ๋ยสูตร 25-7-14 2.ปุ๋ยสูตร 20-8-20 3.ปุ๋ยสูตร 20-10-12 4.ปุ๋ยสูตร 30-3-3 5.ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 6.ปุ๋ยสูตร 18-12-6 7.ปุ๋ยสูตร 16-8-8 8.ปุ๋ยสูตร 16-12-8 9.ปุ๋ยสูตร 16-16-8 10.ปุ๋ยสูตร 16-20-0 11.ปุ๋ยสูตร 20-20-0 12.ปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม หรือใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ 13.ชีวภัณฑ์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และเกษตรกรขอให้เพิ่มอีก 3 สูตร ได้แก่ 1.ปุ๋ยสูตร 16-16-16 2.ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 3.ปุ๋ยสูตร 13-13-24

“โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง รัฐบาลจะช่วยครึ่งหนึ่งและชาวนาจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ใช้งานได้ง่ายและทั่วถึง แต่จะไม่จ่ายเป็นเงินสด ให้ซื้อผ่านแอปฯ ธ.ก.ส. โดยจะเชิญชวนผู้ประกอบการ ผู้ค้าปุ๋ย ทุกบริษัทมาเข้าร่วมในราคาเดียวกันหมด เพื่อแก้ปัญหาชาวนาซื้อปุ๋ยแพง ซึ่งปุ๋ยที่ดำเนินการตามสูตรที่ระบุ จะช่วยเพิ่มผลผลิต ทั้งนี้ จะมีคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลและตรวจสอบโครงการให้ชัดเจนโปร่งใสให้ประโยชน์สูงสุดเกิดกับชาวนา” นายคารม ระบุ

Advertisment

นายกฯ ย้ำผ่านรายการ “คุยกับเศรษฐา” เป็นนายกฯ ของคนไทยทั้งประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 มิถุนายน 2567 “นายกฯ” ย้ำผ่านรายการ “คุยกับเศรษฐา” เป็นนายกฯ ของคนไทยทั้งประเทศ มีหน้าที่ดูแลคนไทยทุกคน ยึดปัญหาของ ปชช.เป็นสำคัญ เผยจัดรายการฯ ต้องการสื่อสารโดยตรง

วันนี้ (22 มิถุนายน 2567)  นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (22 มิถุนายน 2567) เวลา 08.00 – 08.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายกฯ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการจัดรายการว่า รัฐบาลปัจจุบัน ทุก ๆ กระทรวง ทบวง กรม รัฐมนตรีทุกคนได้ทำงานกันหนักมาก และยังไม่มีช่องทางที่นอกเหนือจากมีผู้สื่อข่าวมาสัมภาษณ์ ไม่มีช่องทางที่จะสื่อสารถึงพี่น้องประชาชนโดยตรง เพื่ออธิบายให้ฟังว่ารัฐบาลทำอะไรกันไปแล้วบ้าง และแผนงานระยะยาวคืออะไรบ้าง อย่างน้อยก็จะได้เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่

นายกฯ กล่าวถึงการทำงานแบบไม่เหน็ดเหนื่อยว่า ถ้าจะบอกว่าไม่เหนื่อยก็คงจะโกหก ตนเองว่านายกรัฐมนตรีทุกท่านก็ทำงานกันหนัก มีทั้งเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ และเชื่อว่าทุกท่านแบกภาระหนักหน่วงนี้อยู่เยอะ ซึ่งตนเองคงพูดแทนท่านอื่น ๆ ไม่ได้ ถ้าถามตนเองว่าเหนื่อยนอนคืนเดียวก็หาย แต่เราเสนอตัวเข้ามาทำงานทางด้านสาธารณชนแล้ว ถือว่าเรื่องที่สำคัญมากกว่าคือเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เราเหนื่อยเท่าไร ตนเชื่อว่าหลาย ๆ คน ที่อยู่ที่ฐานรากของสังคมเขาเหนื่อยเยอะกว่าเยอะ ชีวิตของตนเองที่ทำมาเกือบสี่สิบปีตลอดระยะเวลาทำงานมา ตนเองยึดมั่นในสองวินัยนี้ คือมีวินัยในการทำงานและทำงานให้หนัก แต่แน่นอนว่าเรื่องของการดูแลสุขภาพ การพักผ่อนให้เพียงพอ พักผ่อนคือเรื่องของการหลับนอนก็ต้องให้เพียงพอ

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรีของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหลัก และเป็นพรรคที่สนับสนุนตนเองมาตลอด ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ของพรรคพลังประชารัฐ ของพรรคภูมิใจไทย ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าทุกคนคือประชาชนคนไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ มีหน้าที่ต้องดูแล อันนี้ชัดเจน ตนเองเชื่อว่าการทำงานที่ผ่านมาโดยตลอด ให้ความมั่นใจได้ว่าไม่ได้เลือกจังหวัดลงพื้นที่ ส่วนเรื่องแนวทางในการลงพื้นที่ต่างจังหวัด จริง ๆ ต้องยอมรับว่า ตนเองมีต้นทุนที่เป็นรองนักการเมืองหลาย ๆ ท่าน ที่ท่านเติบโตมาจากการเมืองตั้งแต่อายุสามสิบกว่า ซึ่งตนเองพึ่งเข้าสู่สนามการเมืองจริง ๆ เพราะฉะนั้นการลงพื้นที่จริง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับมือใหม่อย่างตนเอง เพราะว่าไม่ได้ไปคลุกคลีกับประชาชน เท่ากับนักการเมืองที่อยู่ในการเมืองมานาน เพราะฉะนั้นการที่ต้องลงพื้นที่เยอะ เพราะต้องการเข้าใจถึงปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่ฟังแต่รายงานที่มาจากกระดาษ

Advertisement

นายกฯ เปรียบ ประเทศไทยเหมือนรถ Ferrari แต่ยังวิ่งไม่เต็มสูบ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 มิถุนายน 2567 นายกฯ ย้ำ ประเทศไทยมีศักยภาพ เปรียบเหมือน Ferrari 12 สูบ แต่ยังวิ่งแค่ 6 – 7 สูบ ค่อย ๆ เดินหน้า เชื่อประเทศไทยจะดีขึ้น

วันนี้ (22 มิถุนายน 2567)  นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (22 มิถุนายน 2567) เวลา 08.00 – 08.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ถึงการปูพื้นฐานอีก 3 ปีจากนี้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรว่า ประเทศไทยจริง ๆ แล้ว เหมือนกับเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมาก เหมือนรถที่ยังไม่วิ่งเต็มสูบ เหมือน Ferrari 12 สูบ แต่วิ่งอยู่แค่ 6 – 7 สูบเท่านั้น แล้ว 6 – 7 สูบเราก็เดินหน้ากันเต็มที่ แต่เราก็ต้องค่อย ๆ ทำกันไป เพราะอย่างที่บอกมีหลายเรื่อง ไม่ใช่ทำเองได้ ตัดสินใจภายในคนเดียวได้ มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาล มีฝ่ายตรวจสอบ มีทั้งรัฐสภา มีทั้งข้าราชการ มีทั้งเอ็นจีโอ ซึ่งในหลาย ๆ Initiatives ก็เป็น Initiatives ที่อาจจะมีคนแย้งบ้าง ก็ต้องทำเรื่องของประชาพิจารณ์ เป็นอะไรที่มีคนมีข้อกังขาเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนบ่นเรื่องค่าไฟแพง ค่าไฟที่ถูกที่สุดคือพลังงานนิวเคลียร์ พูดมาตรงนี้ทุกคนก็บอกว่าอยากได้หมด แต่ว่าอย่ามาอยู่บ้านฉันนะ ไปอยู่บ้านคนอื่นก็แล้วกัน อย่างนี้เป็นต้น ตนเองก็เริ่มต้นทำการค้นคว้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับประชาชน ว่านี่คือเรื่องที่เรากำลังดูอยู่ และก็มีหลาย ๆ เรื่อง เช่น Entertainment complex ซึ่งเป็นธุรกิจสีเทาดำ อยู่ใต้ดินเป็นล้านล้าน เราจะยอมให้มีธุรกิจแบบนี้อยู่ต่อไปหรือ หรือเราจะยกมาบนดิน ก็ยอมรับไปแล้วก็เก็บภาษีให้ถูกต้อง และควบคุมด้วยความประพฤติ ควบคุมเรื่องอาชญากรรมได้ ตนเองคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศต้องยอมรับเรื่องพวกนี้ ประเทศอื่นเขาก็มีแล้ว

Advertisement

18 มิ.ย. ​นายกฯ เปิดทำเนียบจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เฉลิมฉลองกฎหมายสมรสเท่าเทียม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 มิถุนายน 2567 ​นายกฯ เปิดทำเนียบจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ร่วมเฉลิมฉลองและแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

วันนี้ (17 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (18 มิถุนายน 2567) ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดทำเนียบจัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อเรื่องความเท่าเทียม ถือเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรีให้คำมั่นว่าจะผลักดัน และสนับสนุน เพื่อส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพสำหรับทุกคนในสังคมไทย ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วก็ได้ถูกบรรจุเป็น 1 ในระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา (สมัยวิสามัญ) ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 นี้ด้วย

การผ่านร่างกฎหมายนี้จะทำให้ไทยเป็นแห่งที่ 3 ในเอเชีย (ถัดจากไต้หวันและเนปาล) และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ตลอดจน รัฐบาลไทยซึ่งได้นำเสนอความสำเร็จด้านความเท่าเทียมมาอย่างต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์ถึงภาพลักษณ์ ประเทศไทย Pride Friendly Destination จุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรในทุกด้าน สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดกว้างโอบรับถึงความแตกต่างหลากหลายทางเพศของสังคมไทย

ทั้งนี้ งานเลี้ยงรับรองจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียมโดยในเวลาประมาณ 16.30 น. ภาคประชาชนจะเริ่มเดินขบวน (Pride Caravan) พร้อมแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม จากรัฐสภามายังสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งบริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้าจะจัดเป็นถนนสายรุ้งแห่งความเท่าเทียม และมีกิจกรรมมากมายภายในงาน ทั้ง workshop เพ้นท์สีแห่งความเท่าเทียม ตู้สติ๊กเกอร์ (Sticker Photo Booth) ซุ้มดอกไม้ จุดถ่ายภาพแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมทั่วทั้งงาน พร้อมของที่ระลึก โดยเมื่อเสร็จสิ้นงาน จะมีการส่งขบวนสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Advertisement

“เศรษฐา” ปลื้มข้าวเหนียวมะม่วง ได้อันดับ 2 จาก 26 เมนูมะม่วงที่ดีที่สุดในโลก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 มิถุนายน 2567 ​นายกฯ ปลื้มข้าวเหนียวมะม่วง อันดับ 2 จาก 26 เมนูมะม่วงที่ดีที่สุดในโลก (26 Best Rated Dishes with Mango) ได้รับการยอมรับระดับโลก ย้ำรัฐบาลพร้อมผลักดันวัฒนธรรมด้านอาหารของไทย

วันนี้ (13 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นและผลักดันวัฒนธรรมอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ชื่นชมผลการจัดอันดับ 26 เมนูมะม่วงที่ดีที่สุดในโลก (26 Best Rated Dishes with Mango) จาก TasteAtlas เว็บไซต์ชั้นนำ ที่จัดให้เมนูข้าวเหนียวมะม่วงของไทยอยู่ในอันดับ 2 แสดงถึงความนิยม และความชื่นชอบต่ออาหารไทยที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า TasteAtlas เว็บไซต์ที่รวบรวมสูตรอาหาร การจัดอันดับอาหารในประเภทต่าง ๆ และรีวิวจากนักวิจารณ์อาหารทั่วโลก ได้ทำการจัดอันดับในประเภท 26 เมนูมะม่วงที่ดีที่สุดในโลก (26 Best Rated Dished with Mango) ซึ่งผลของการจัดอันดับ เมนูมะม่วงของไทย ติดอันดับถึง 5 เมนู

โดยใน 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 2. ข้าวเหนียวมะม่วง เมนูข้าวพุดดิ้งแบบดั้งเดิม ที่กินกับมะม่วงสุกฝาน เป็นเมนูของหวานที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการกินปิดท้ายมื้ออาหาร และอันดับที่ 10. มะม่วงน้ำปลาหวานไทย ทำจากมะม่วงมันของไทย ที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน ฉ่ำน้ำ และเนื้อกรอบ กินกับน้ำปลาหวาน น้ำจิ้มที่มีรสชาติหวานเค็มและมีความเหนียว ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะฤดูร้อน

นอกจากนี้ยังมีเมนูมะม่วงของไทย อีก 3 ชนิดที่ติดอันดับอื่นๆ ได้แก่ อันดับที่ 11. ตำมะม่วง เมนูสลัดแบบดั้งเดิมของไทย ที่ผสมผสานระหว่าง มะม่วงเขียว กุ้งแห้ง หอมแดง พริก ถั่วลิสง น้ำปลา น้ำมะขาม น้ำมะนาว น้ำตาล และ ผักชี ผสมเข้าด้วยกันจนกลายเป็นเมนูสุดพิเศษ อันดับที่ 16. น้ำปลาหวาน เมนูน้ำจิ้มที่นิยมกินกับผลไม้หลากหลายชนิด ทำมาจากน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ หอมแดง พริก กะปิ และ กุ้งแห้ง อันดับที่ 23. มะม่วงดอง เมนูผลไม้ดองของไทย ที่ทำมาจาก มะม่วงเปรี้ยวฝาน เกลือ น้ำตาล น้ำส้มสายชู ไวน์ข้าว ไวน์หวาน นำมาทำการหมักดองจนมีรสชาติ

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในอาหารและขนมของไทยซึ่งล้วนมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ จากความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบในประเทศ ความพิถีพิถันในการตระเตรียมอาหารแต่ละเมนู และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำการประชาสัมพันธ์อาหารไทย นำเสนอให้เป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ด้านอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเมนูที่ได้รับความนิยม และเมนูใหม่ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางถึงวัฒนธรรมอาหารของไทย ในระดับโลก” นายชัย กล่าว

Advertisement

รัฐบาลชวนประชาชน ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 และ Gas Plan 2024 เพื่อเดินหน้าแผนพลังงานแห่งชาติ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 มิถุนายน 2567 “รัดเกล้า” เผย รัฐบาลชวนประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 และ Gas Plan 2024 ตั้งแต่ 19 – 23 มิ.ย.67 ผ่านช่องทางออนไลน์ของ สนพ. เดินหน้าแผนพลังงานแห่งชาติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วันนี้ (12 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับมาตรการด้านพลังงานของประเทศ โดยได้มอบหมายกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนในหลายมาตรการด้านพลังงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการผลักดันการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบริษัทเอกชนชั้นนำระดับโลกในช่วงที่ผ่านมา โดยขณะนี้รัฐบาลได้เดินหน้าแผน PDP ฉบับใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผน ให้มีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ที่ได้มีการปรับแผนให้สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญในการวางแผนพลังงานของประเทศไทย ให้มีความยั่งยืนทางพลังงาน อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุด รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 – 2580 (PDP 2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567 – 2580 (Gas Plan 2024)  จากภาคประชาชน ในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นการผลิตไฟฟ้า โดยร่างแผน PDP 2024 ที่กำลังจัดทำอยู่นั้น จะให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น คือ 1. ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) 2. ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) และ 3. ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) ส่วน Gas Plan 2024 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของประเทศ และบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนดังกล่าว สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป

“การเปิดรับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อการนำไปจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยในวันที่ 12 – 13 มิถุนายน 2567 เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นในกลุ่มภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพ และเปิดรับฟังความคิดเห็นรูปแบบออนไลน์ใน 4 ภูมิภาค ในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ช่วงเช้า สำหรับประชาชนภาคกลาง ช่วงบ่าย สำหรับประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ช่วงเช้า สำหรับประชาชนภาคใต้ ช่วงบ่ายสำหรับประชาชนภาคเหนือ อีกทั้ง ตั้งแต่วันที่ 19 – 23 มิถุนายน 2567 จะเปิดรับให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามาแสดงความเห็นผ่านช่องทาง Facebook : EPPO Thailand และเว็บไซต์ www.eppo.go.th ซึ่งข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น สนพ. จะนำไปประกอบการปรับปรุงแผน PDP 2024 และแผน Gas Plan 2024 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” รองโฆษกฯ รัดเกล้า กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics