วันที่ 11 ธันวาคม 2024

รัฐบาลเปิดแอปฯ ทางรัฐ ให้ประชาชนเช็คเบี้ยผู้สูงอายุ-ผู้พิการ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 พฤศจิกายน 2566 มหาดไทย – ก.มหาดไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดบริการแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” อำนวยความสะดวกให้ประชาชนตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ-ผู้พิการ “พวงเพ็ชร” ขอบคุณ มท.เห็นความสำคัญ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมทำพิธีเปิดบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”  ที่กระทรวงมหาดไทย โดยนายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันที่น่ายินดีที่ได้เปิดบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือ แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ระบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจตามนโยบายรัฐบาล ที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศให้เข้าสู่ยุค Digital Government ซึ่งเมื่อข้อมูลทั้งหลายถูกนำเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว ประเทศก็จะได้ทั้งการ บริหารงานที่โปร่งใส และการให้บริการที่สะดวกสบายสำหรับประชาชน ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์ บริการ ทั้งการพัฒนาบริการเดิมและเสริมบริการใหม่ จะช่วยลดขั้นตอนการติดต่อราชการที่ซ้ำซ้อนลง และตอบสนองความต้องการของคนยุคนี้ ในการเข้าถึงบริการของรัฐได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ของความหงุดหงิดเวลาอยากจะทำอะไรนอกเวลาราชการแล้วทำไม่ได้ ต้องมาเสียเวลาทำการทำงานเพื่อไปติดต่อราชการตามเวลาราชการ ความรู้สึกแบบนั้นจะหายไป เมื่อเราเข้าสู่ความเป็น Digital Government โดยสมบูรณ์ ซึ่งการรวมศูนย์บริการภาครัฐให้เป็น “พอร์ทัลกลาง” ก็ถือว่าเป็น Game Changer เป็นปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้นได้จริง” นายอนุทิน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาใช้ในการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพเพื่อสูงอายุ และเบี้ยความพิการ รองรับผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านคนในครั้งนี้ถือว่าสอดคล้องอย่างยิ่งกับอัตลักษณ์การทำงานของกระทรวงมหาดไทย  นั้นคือ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม เพื่อสนองความต้องการของประชาชน

ด้านนางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ที่เล็งเห็นความสำคัญของแอปพลิเคชันทางรัฐ  ซึ่งเป็นแอปฯ ที่รวบรวมการบริการทั้งหลายและการตรวจสอบทั้งหลายไว้ที่แอปฯนี้ เป็นการร่วมกับหลายกระทรวง ซึ่งวันนี้กระทรวงมหาดไทยเล็งเห็นความสำคัญของการบริการประชาชนให้สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยการตรวจสอบเบี้ยผู้สูงอายุและผู้พิการทางแอปพลิเคชันตามความมุ่งหวังของกระทรวงมหาดไทยที่จะ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน

Advertisement

เชิญชวนประชาชนนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินข้ามเจ้าพระยา แวะชม 4 สถานีสุดฮิต

People Unity News : 21 สิงหาคม 2566 ทำเนียบ – “พล.อ.ประยุทธ์” ผลักดันอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินลอดแม่น้ำเจ้าพระยาสำเร็จในรัฐบาลนี้ ชวนประชาชนนั่งข้ามเจ้าพระยาใช้เวลาเพียง 2 นาที พร้อมแวะชม 4 สถานีสุดฮิตวิจิตรด้วยสถาปัตยกรรม

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยได้ติดตามทุกโครงการของรถไฟฟ้ามหานคร ให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนและมีความสำเร็จให้ตรงตามเวลาตามเป้าหมาย

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้หนึ่งในสายรถไฟฟ้าที่เป็นเส้นทางการเดินทางและใกล้แหล่งท่องเที่ยวชุมชนเก่าคือ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วง หัวลำโพง-บางแค เป็นโครงการเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ไปฝั่งธนบุรี ความพิเศษของเส้นทางระหว่างสถานีสนามไชยกับสถานีอิสรภาพ เป็นเส้นทางผ่านอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย เป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นประธานในพิธีเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา (Eastbound TBM Launching Ceremony) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฯ สัญญา 2 ช่วงสถานีสนามไชย – สถานีท่าพระ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 กระทั่งแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ตรงนี้เป็นเส้นทางที่สะดวกในการเชื่อมระหว่างพระนคร (เกาะรัตนโกสินทร์) ไปยังฝั่งธนบุรี และเป็นจุดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกของไทย แหล่งสถานศึกษา 3 มหาวิทยาลัย (ม.ศิลปากร วังท่าพระ-ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์-คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล วังหลัง) และโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง จึงทำให้เส้นทางนี้สามารถลดปัญหาการจราจร ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยเป็นอย่างมาก

“โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงสถานีสนามไชย-สถานีอิสรภาพ รถไฟฟ้าจะต้องผ่านอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งใช้เวลาเพียง 2 นาที แต่ต้องก่อสร้างด้วยเทคนิคพิเศษ เนื่องจากเป็นการขุดอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีความลึกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 เมตร และตัวอุโมงค์รถไฟฟ้าขุดลึกลงไปจากก้นแม่น้ำอีก 10 เมตร หรือลึก 30 เมตรจากผิวดิน โดยในบางช่วงที่ลึกที่สุดจะลึกไปถึง 38 เมตรเทียบเท่าตึก 10 ชั้น โดยที่บริเวณจุดกลางแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีความลึก 30.86 เมตรใต้ท้องน้ำและลึก 9.71 เมตรจากใต้ท้องน้ำถึงหลังอุโมงค์ พิกัดจุดกลางแม่น้ำเจ้าพระยาห่างจากสถานีสนามไชย 323.92 เมตร” น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฯนี้ ผ่านย่านเมืองเก่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จึงมีความตั้งใจที่จะให้มีแผนพัฒนาให้มีการออกแบบสถาปัตยกรรมที่วิจิตรทั้งภายนอกและภายในให้สอดรับกับบริบทในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งมีความสวยงามมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมผสมเข้าไปด้วย เช่น สถานีวัดมังกร สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ สถานีสามยอด จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าแวะชมไปด้วย

“การเชื่อมความเจริญใต้น้ำเจ้าพระยา ขยายความเจริญสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งธนบุรีและเกาะรัตนโกสินทร์ ฝั่งพระนคร เป็นการเชื่อมสู่มหานครแห่งความสุข เชื่อมคนสองฝั่งเมืองเข้าด้วยกันอย่างลงตัวเป็นความทันสมัยที่ไม่หลงลืมวัฒนธรรมความเป็นไทยที่จะสอดแทรกไว้ตามสถานีต่างๆ ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่อนุมัติงบประมาณและเป็นผลงานการพัฒนาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีความมุ่งมั่นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าได้มากขึ้น และยกระดับเชื่อมการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น พร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยวและการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Advertisement

รัฐบาล เผยผลความสำเร็จโครงการวิจัยและพัฒนารถไฟต้นแบบ “รถไฟไทยทำ”

People Unity News : 30 กรกฎาคม 2566 รัฐบาล เผยผลความสำเร็จโครงการวิจัยและพัฒนารถไฟต้นแบบ “รถไฟไทยทำ” พลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบราง ผลักดันเศรษฐกิจเติบโตก้าวกระโดด

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผลักดันนโยบาย Thai First ของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศ ที่ต้องการให้มีตัวรถไฟที่จะมีการซื้อ-ขาย ในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้ต้องมีส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนผลิตในประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 จากเดิมที่มีการนำเข้าสินค้าประเภทตัวรถไฟและส่วนประกอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึง 2561 มีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสินค้าทุกประเภทในระบบราง คาดการณ์ว่าอีก 20 ปี จะมีความต้องการตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ จากการเพิ่มขึ้นของทางรถไฟที่รัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ารถไฟต่อตู้ เฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารประมาณ 100,000 ล้านบาท ความสำเร็จครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่มีภารกิจสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ยกระดับการเดินทางที่มีความสะดวกสบาย ทันสมัยและปลอดภัยในระดับสากล รองรับการแข่งขันและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

Advertisement

“ประยุทธ์” ยินดี 4 มหาวิทยาลัยไทย ติด Top 100

People Unity News : 4 มิถุนายน 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดี 4 มหาวิทยาลัยไทย จุฬาฯ-มหิดล-มช.-มข. สุดโดดเด่นในเวทีโลก ติดอันดับ Top 100 ในการจัดอันดับโลกด้านความยั่งยืนปี 2566

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ Times Higher Education (THE) ซึ่งเป็นผู้จัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาที่ดีที่สุดโลกที่เป็นที่ยอมรับแห่งหนึ่ง ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ THE Impact Rankings ประจำปี 2566 โดยมีสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งสิ้น 1,591 แห่ง จาก 112 ประเทศ และสถาบันอุดมศึกษาไทยเข้ารับการจัดอันดับทั้งสิ้น 65 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2022 ซึ่งมีจำนวน 52 แห่ง โดยสถาบันอุดมศึกษาไทยในปีนี้ที่ติดอันดับ Top 100 แบบคะแนนรวม มีจำนวน 4 สถาบัน เพิ่มจากปีที่แล้วที่ติดอันดับ Top 100 มีจำนวน 2 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับที่ 17 มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับที่ 38 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดอันดับที่ 74 และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ติดอันดับที่ 97

นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาของไทย ที่ได้รับการจัดอันดับ Top 10 ของโลกในด้านต่าง ๆ อีก 6 ประเด็น ดังนี้

-มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 3 ใน SDG3 เรื่องสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย รวมทั้งอันดับ 5 ใน SDG7 เรื่องสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยาว์ และยังได้อันดับ 5 ใน SDG17 เรื่องเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้อันดับที่ 4 ใน SDG1 เรื่องขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่

-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับที่ 7 ใน SDG5 เรื่องบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมอำนาจให้แก่สตรีและเด็กหญิง และ

-มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อันดับที่ 9 ใน SDG2 เรื่องยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

“นายกฯ ยินดีและชื่นชมสถาบันอุดมศึกษาของไทย ที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ชาติใด ทุกสถาบันต่างมีความแตกต่างและความเป็นเลิศที่เฉพาะตัว โดยเฉพาะการมุ่งสู่ความยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีพื้นฐานที่ดี ในการทำงานที่ตอบโจทย์ของประเทศรวมทั้งความยั่งยืนที่กำหนดโดยสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาล และ กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาไทยก้าวสู่ความสำเร็จและเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนต่อไป” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

รองโฆษกรัฐบาล แนะคัดทะเบียนราษฎรออนไลน์ ผ่านแอปฯ ThaiD

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 รองโฆษกรัฐบาล แนะประชาชนคัดทะเบียนราษฎรออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ประหยัดเวลา ไม่เสียค่าธรรมเนียม แถมคัดทะเบียนราษฎรเวลาไหนก็ทำได้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล ยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง แจ้งความคืบหน้าว่าสามารถทำการ คัดทะเบียนราษฎร แบบระบบออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้แล้ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นางสาวรัชดา กล่าวต่อไปว่า ประชาชนสามารถคัดทะเบียนราษฎร เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูล ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประจำตัวประชาชน, อายุ, สถานภาพ, ที่อยู่ และรายละเอียดอื่น ๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD สำหรับการคัดรับรองเอกสารทะเบียนราษฎร สามารถเช็กการ คัดรับรองรายการบุคคล (ท.ร.14/1) และการคัดรับรองรายการประวัติบุคคล (ท.ร.12/2) ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังทำการค้นหาตัวเลขอ้างอิง (ค้นจากตัวเลข Reference) เพื่อทำการตรวจสอบเอกสารจากทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักทะเบียนกลาง โดยเอกสารมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่ออกหนังสือรับรอง

“รัฐบาลขับเคลื่อนเดินหน้ามุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล นำเทคโนโลยีระบบดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงานในส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ลดพื้นที่และประหยัดงบประมาณในการจัดเก็บเอกสาร ที่สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน การให้บริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัลถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการภาครัฐได้ง่ายขึ้น ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ช่วยให้ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายในการขอรับบริการทะเบียนราษฎร ทั้งค่าใช้จ่ายการเดินทาง และค่าธรรมเนียม ไม่ต้องเสียเวลาไปต่อคิว ประชาชนสามารถจะคัดทะเบียนราษฎรเวลาไหนก็ทำได้” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

วันนี้ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปิดให้ประชาชนร่วมทดสอบใช้บริการแล้ว

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ยินดี วันนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) จากสถานีหัวหมากถึงสถานีสำโรง กำชับดูแลความพร้อม ความปลอดภัยช่วงทดสอบฯ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง พร้อมเริ่มให้ประชาชนร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เริ่มตั้งแต่วันนี้ (3 มิถุนายน 2566) จากสถานีหัวหมาก ถึงสถานีสำโรง ก่อนขยายระยะทางต่อไป โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน กำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการ และดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด

นายอนุชา กล่าวว่า ตามที่ รฟม. ร่วมกับ ที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างโครงการฯ (PCYL) วิศวกรอิสระ (ICE) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ได้ลงพื้นที่สำรวจความเรียบร้อยประกอบการพิจารณาช่วงสถานีที่จะให้ประชาชนได้เข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไปนั้น รฟม. ชี้แจงว่า ปัจจุบันทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกัน โดยตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT สายสีเหลือง) จะพร้อมให้ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเข้าร่วม Trial Run ได้ระหว่างเวลา 09.00-20.00 น. จำนวน 13 สถานี ได้แก่ สถานีหัวหมาก สถานีกลันตัน สถานีศรีนุช สถานีศรีนครินทร์ 38 สถานีสวนหลวง ร.9 สถานีศรีอุดม สถานีศรีเอี่ยม สถานีศรีลาซาล สถานีศรีแบริ่ง สถานีศรีด่าน สถานีศรีเทพา สถานีทิพวัล และสถานีสำโรง ทั้งนี้ ในส่วนของสถานีหัวหมาก จะจำกัดให้ประชาชนใช้เฉพาะทางเข้า-ออกที่ 2 (สี่แยกพัฒนาการ) และทางเข้า-ออกที่ 3 (ซอยศรีนครินทร์ 16) ที่มีความพร้อมก่อน โดยหลังจากนี้ รฟม. และผู้รับสัมปทาน จะหารือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาการขยายช่วงสถานี และขยายช่วงเวลาที่รถไฟฟ้า MRT สายสีเหลืองจะสามารถให้ประชาชนเข้าร่วม Trial Run เพิ่มเติมจนกระทั่งครบตลอดสาย 23 สถานีได้ในระยะต่อ ๆ ไป เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่จะเป็นผู้โดยสารของรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง เมื่อเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้

“นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยนายกรัฐมนตรีติดตามทุกโครงการของรถไฟฟ้ามหานคร ให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผน พร้อมแสดงความยินดีที่ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงาน จะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ดูแลเรื่องความพร้อมการให้บริการทุกด้าน และเน้นดูแลความปลอดภัยในช่วงการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้โดยสารให้มากที่สุด” นายอนุชา กล่าว

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ถือเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) ที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักอื่น ๆ มีระยะทางรวมประมาณ 30.4 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีรถไฟฟ้าจำนวน 23 สถานี โดยมีอาคารจอดแล้วจรสำหรับผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวสามารถเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้บริเวณสถานีศรีเอี่ยม และสถานีลาดพร้าว

Advertisement

จูงใจพลเรือนและเอกชนเป็นกำลังพลสำรอง รับปฎิรูปกองทัพ

People Unity News : 26 พฤษภาคม 2566 กลาโหม เล็งจูงใจให้พลเรือนและเอกชน มีความชำนาญเฉพาะทาง เป็นกำลังพลสำรอง ไม่กำหนดอายุ เลื่อนยศกำลังสำรองได้ถึงพันเอก มุ่งเสริมแกร่งกองทัพ รองรับปฏิรูปกองทัพ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำลังพลสำรอง ผ่านระบบ VTC ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ เพื่อขับเคลื่อนกิจการกำลังพลสำรอง ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนากิจการกำลังพลสำรองของ กลาโหม ปี 66 -70 รองรับการปฏิรูปกองทัพสมัยใหม่

โดยที่ประชุมรับทราบ การเปิดให้ผู้มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะทาง สามารถเป็นกำลังพลสำรองครั้งแรกได้โดยไม่กำหนดอายุ รวมทั้งการกำหนดแต่งตั้ง เลื่อนยศกำลังสำรองได้ถึงยศ พันเอกหรือเทียบเท่า และการกำหนดสิทธิประโยชน์ของกำลังพลสำรอง จากอันตรายหรือเจ็บป่วย พร้อมทั้งรับทราบยุทธศาสตร์พัฒนาระบบกำลังสำรอง ที่เน้นการควบคุม บริหารจัดการด้านนโยบาย การพัฒนากิจการ การเสริมสร้างเครือข่าย การปรับปรุงกฎหมาย การพัฒนาสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ รวมทั้งการพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลทรัพยากรด้านกำลังสำรองและกำลังพลสำรอง

ต่อจากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาและเห็นชอบหลักการ รวม 3 ประเด็น คือ การปรับปรุงตำแหน่งและอัตราของหน่วยทหารรองรับการบรรจุกำลังพลสำรอง การบรรจุบุคคลพลเรือนและภาคเอกชน ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง และบรรจุกำลังพลสำรองให้มีชั้นยศที่เหมาะสม และการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลกำลังพลสำรองกับส่วนราชการต่างๆ เพื่อการบริหารจัดการกำลังพลสำรองอย่างมีประสิทธิภาพ

พล.อ.ประวิตร ย้ำว่า ระบบกำลังสำรอง จะช่วยเสริมและพัฒนาศักยภาพกองทัพ จากบุคคลพลเรือนภายนอกกองทัพเป็นการชั่วคราวและเท่าที่จำเป็น จึงขอให้กระทรวงกลาโหม ได้ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หารือและขอความเห็นชอบในประเด็นที่อาจไม่สอดคล้องและขัดกันในข้อกฎหมาย ทั้งนี้ ขอให้กำหนดภารกิจและตำแหน่งเฉพาะที่จำเป็น พร้อมทั้งให้ติดตามประเมินผลการใช้ตำแหน่งและอัตราที่กำหนด เพื่อช่วยเสริมศักยภาพกองทัพและใช้ประโยชน์จากระบบกำลังสำรองอย่างเต็มประสิทธิภาพ

Advertisement

รัฐบาลยกระดับรักษาสิ่งแวดล้อม เน้นรีไซเคิล ลดนำเข้าพลาสติก

People Unity News : 23 เมษายน 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยกระดับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม เน้นรีไซเคิล ลดการนำเข้าพลาสติก สอดคล้องโมเดลเศรษฐกิจ BCG เดินหน้าแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 เรื่องสำคัญภายใต้นโยบายหลักของรัฐบาล บริหารจัดการ “ขยะพลาสติก” ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าการดำเนินงานของ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573) ซึ่งได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้เป็นแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างการดำเนินงาน เช่น การงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว “Everyday Say No To Plastic Bags” มาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การกำหนดมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก การจัดทำฐานข้อมูลพลาสติก โครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) โครงการ “จังหวัดสะอาด” และ การสื่อสารความรู้ด้านการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ และนักออกแบบ เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังได้ทบทวนและปรับมาตรการการนำเข้าพลาสติกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อส่งเสริมการใช้เศษพลาสติกภายในประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะมีการเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

“รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินนโยบายบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อความสมดุลในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน พร้อมทั้งขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สำหรับความร่วมมือที่ผ่านมา ทั้งนี้ การดำเนินของรัฐบาลเพื่อยกระดับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบโมเดลเศรษฐกิจ BCG นำเศษพลาสติกภายในประเทศกลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ยกระดับคุณภาพเศษพลาสติกในประเทศ และเพียงพอต่อการเป็นวัตถุดิบในภาคธุรกิจรีไซเคิล” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

เร่งรัดพัฒนา 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

People Unity News : 11 เมษายน 2566 พลเอกประวิตร เร่งรัดโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำใน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ให้ประชาชนมีน้ำกิน น้ำใช้ ไม่แล้ง กินดีอยู่ดี

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้กำชับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เร่งรัดดำเนินการโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำจำนวน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และพระราชกฤษฎีกา กำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดลุ่มน้ำ จำนวน 22 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่บ้านมีน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอ ไม่มีน้ำท่วม ไม่มีแล้ง และสำคัญที่สุดคือ “คนไทยต้องไม่จน”

โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีได้กำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศภายใต้แผนแม่บทการบริการจัดการน้ำ 20 ปี โดยบูรณาการส่วนราชการต่างๆ มากกว่า 48 ส่วนราชการและสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยปัญหาหลักที่มักจะพบในลุ่มน้ำต่าง ๆ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนโครงการสำคัญๆ ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ซึ่งมีขนาดเล็ก ได้แก่ การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน 5,005 แห่ง รวมทั้งโครงการสำคัญขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวม 255 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 1.42 ล้านไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1.25 ล้านไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์กว่า 500,000 ครัวเรือน

สำหรับตัวอย่างโครงการสำคัญๆ ใน 22 ลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำยม ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน การพัฒนาและปรับปรุงคลองผันน้ำยม-น่านในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนกลาง และการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ โครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำและพื้นที่เก็บกักน้ำต้นทุน โครงการเพื่อลดความเสียหายน้ำท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่หน่วงน้ำและการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำพื้นที่บึงบอระเพ็ด ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ การพัฒนาระบบระบายเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนควนขนุน จังหวัดพัทลุง และพื้นที่ชุมชนควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการสำคัญๆ ที่ได้รับจัดสรรงงบประมาณแล้ว 15 โครงการ อาทิ อ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง จ.ตราด อ่างเก็บน้ำ ธารประเวศ จ.สุราษฎร์ธานี ระบบระบายน้ำหลักพื้นที่ชุมชนเมืองสตูล ระยะที่ 1

จ.สตูล พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่ ส.ป.ก. จ.กระบี่ เป็นต้น ซึ่งจะได้ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งการพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบให้ประชาชนได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

Advertisement

ป.ป.ช.จับมือ กทม.ส่งเสริมประชาชน-ภาครัฐ ร่วมป้องกันทุจริต

People Unity News : 10 เมษายน 2566 ป.ป.ช. ร่วมกับ กทม. ขับเคลื่อนการส่งเสริมให้ประชาชนและภาครัฐ มีส่วนร่วมป้องกันการทุจริต

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (คณะกรรมการ สปท.) ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566

สำหรับการประชุมคณะอนุกรรมการ สปท. เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี เนื่องจากในปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงไม่ได้จัดให้มีการประชุม ซึ่งนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริต ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีการกำหนดสาระสำคัญในเรื่องกรอบระยะเวลาในการไต่สวนคดีทุจริต กำหนดความรับผิดชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. อำนวยการและบริหารคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยการดำเนินการเองในเรื่องร้ายแรง และมอบหมายให้หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการในเรื่องไม่ร้ายแรง ตลอดจนติดตามการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดมาตรฐานและความเป็นเอกภาพในการทำงาน ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการทางคดีจะส่งผลสู่ประสิทธิภาพความสำเร็จไปสู่การป้องปราม

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เผยว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษ แม้จะไม่มีกลไกในรูปแบบคณะกรรมการระดับจังหวัด แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ความสำคัญและดูแลพื้นที่นี้เป็นพิเศษ ในฐานะศูนย์กลางทางการบริหาร ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของเกือบทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ดังนั้น คณะอนุกรรมการ สปท. กทม. ชุดนี้ จึงเป็นกลไกความร่วมมือที่แสดงถึงความตั้งใจที่จะดูแลพื้นที่ กทม.ร่วมกัน ขอขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานครทุกคน ที่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเชื่อว่าความตั้งใจนี้จะทำให้ กทม. เป็นเมืองหลวงที่ทันสมัย โปร่งใส ปลอดจากสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบได้อย่างแท้จริง

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การส่งเสริมให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น กทม.พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. ในการดำเนินการดังกล่าว และจะใช้แนวทางการป้องกันการทุจริต เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของ กทม. ต่อไป

ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาแนวทางการประสานความร่วมมือดำเนินการในเรื่องสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐ และการประสานการดำเนินการต่อเรื่องกล่าวหาร้องเรียน

Advertisement

Verified by ExactMetrics