วันที่ 29 มีนาคม 2024

เห็นชอบร่างธรรมนูญผังเมือง พัฒนาพื้นที่ประเทศ

People Unity News : 21 ธันวาคม 2565 “พล.อ.ประวิตร” ประชุม คกก.นโยบายผังเมือง เห็นชอบร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง พัฒนาพื้นที่ประเทศ กำชับกระทรวงมหาดไทย เร่งขับเคลื่อนกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าร่วม

โดยที่ประชุมได้รับทราบ การประกาศใช้บังคับอนุบัญญัติที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 จำนวน 5 ฉบับ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม พ.ศ.2564 , ผังนโยบายระดับประเทศ , ระดับภาค , ระดับจังหวัดและผังเมืองเฉพาะ พ.ศ.2565

จากนั้นที่ประชุม ได้พิจารณาเห็นชอบ ร่างรายงานประจำปีเกี่ยวกับ การปฎิบัติตาม พ.ร.บ.การผังเมืองปี 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย สถานการณ์ด้านการผังเมืองของประเทศไทยในปี 64 , ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ , ผลดำเนินการและผลสัมฤทธิ์ของการวางและจัดทำผังเมือง , การพัฒนาเมือง รวมถึงการดำเนินการ เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านการผังเมือง และการพัฒนาเมือง เป็นต้น รวมทั้งได้เห็นชอบ ร่างธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง ที่ปรับปรุงแก้ไขตามมติ ครม.เมื่อ 30 ก.ย.65 โดยให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบูรณาการทำงาน ซึ่ง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามมติ ครม.แล้ว

พล.อ.ประวิตร กำชับกระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เร่งรัดดำเนินการและรายงานให้คณะกรรมการฯ ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกฎหมาย และแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจน เหมาะสมในการดำเนินงานตามแผนการผังเมืองของประเทศในทุกระดับต่อไป โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และประชาชนที่จะต้องได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งผังพื้นที่ ผังน้ำ และเส้นทางเดินรถต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า

Advertisement

 

ครม.มอบ “อนุชา” โชว์ผลงานการปฏิรูปประเทศต่อสมาชิกวุฒิสภา ชูผลงานเด่น 12 ด้าน

People Unity News : ​รมต.อนุชา นำทีมรายงานผลปฏิรูปประเทศ ต่อ สว. ชูผลงานเด่นรัฐบาล 12 ด้าน เตรียมเดินหน้า 62 กิจกรรม Big Rock เพื่อการปฏิรูปอย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2564) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็นผู้ชี้แจงรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ราย 3 เดือน (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563)  ซึ่งเป็นการสรุปผลการดำเนินงานตามเรื่องและประเด็นของการปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้าน  มีการกำหนดเรื่องและประเด็นการปฏิรูป จำนวนทั้งสิ้น 173 เรื่อง โดยมีการจัดระดับความสำเร็จเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย 1) ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนฯ จำนวน 17 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 10  2) ดำเนินการสำเร็จมากกว่าร้อยละ 75 ของแผนฯ จำนวน 70 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 40 3) ดำเนินการได้ร้อยละ 50-75 ของแผนฯ จำนวน 62 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 36 4) ดำเนินการได้น้อยกว่าร้อยละ 50 ของแผนฯ  จำนวน 24 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14

สำหรับตัวอย่างความคืบหน้าของประเด็นปฏิรูปประเทศที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ประกอบด้วย

1.ด้านการเมือง เช่น การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ

2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การบริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน จากระบบ Biz Portal

3.ด้านกฎหมาย เช่น มีกลไกให้การออกกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี รวมทั้งมีกลไกการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้แล้ว

4.ด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

5.ด้านเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร บริหารจัดการผลิตภัณฑ์เกษตรตามแผนที่ (Zoning by Agri-Map)

6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การบบริหารจัดการขยะในทะเลและชายฝั่ง โดยนโยบายประชารัฐขจัดขยะทะเล

7.ด้านสาธารณสุข เช่น ระบบสุขภาพปฐมภูมิ (คลินิกหมอครอบครัว)

8.ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม

9.ด้านสังคม เช่น การปฏิรูปการออม สวัสดิการ และการลงทุนเพื่อสังคม

10.ด้านพลังงาน เช่น การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในกลุ่มอุตสาหกรรม

11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น จัดทำและบูรณาการโครงข่ายฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของทุกหน่วยงานผ่านระบบสารสนเทศ

12.ด้านการศึกษา เช่น การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานะกฎหมายภายใต้แผนฯ ทั้ง 12 แผน จำนวน 216 ฉบับ มีกฎหมายที่แล้วเสร็จ จำนวน 50 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 23 ของกฎหมายที่เสนอทั้งหมด ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไปของห้วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 มุ่งเน้นให้ความสำคัญที่กิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) จำนวน 62 กิจกรรม ซึ่งเป็นไปตามการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 โดยกำหนดให้มีจำนวน 13 ด้าน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

Advertising

“เอนก” ยกระดับทุ่งกุลาร้องไห้ ดันจุดแข็ง สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

People Unity News : “เอนก” ยกระดับทุ่งกุลาร้องไห้ ดันจุดแข็ง สร้างมูลค่าเพิ่ม ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี

23 มี.ค. 2565 เมื่อเร็วๆนี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะ ร่วมลงพื้นที่พบปะและแลกเปลี่ยนความรู้กับประชาชนในพื้นที่ ภายใต้กิจกรรม สวทช. เสริมแกร่งภูมิภาค ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่ จ.ศรีสะเกษ

ดร.เอนก กล่าวว่า การลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ครั้งนี้ อยู่ภายใต้แผนงาน “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งนำโดย สวทช. และยังมีอีกหลายหน่วยงานของ อว. ทั้งสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยเข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งคลอบคลุมถึง 5 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และสุรินทร์ โดยพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และต่างมีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าที่เข้มแข็ง มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นออกมามากมาย แต่สิ่งที่ อว.จะมาช่วยขับเคลื่อน คือ การนําองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปต่อยอดพัฒนาฐานทุนเดิมอันเป็นจุดแข็งของทุ่งกุลาให้สามารถสร้างมูลค่า สร้างโอกาสทางการตลาด และสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ที่มุ่งให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีรายได้ พ้นความยากจน

ดร.เอนก กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ของ อว. จะทำงานร่วมกับทางจังหวัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โดยมุ่งขับเน้นให้ผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการของทุ่งกุลาฯ มีอัตลักษณ์โดดเด่นยิ่งขึ้น เช่น การยกระดับผ้าทอโดยใช้เอนไซม์เอนอีซ “ENZease” สารจากธรรมชาติที่ช่วยทำความสะอาดและลอกแป้งออกจากเส้นใยในขั้นตอนเดียว ทำให้ย้อมสีธรรมชาติได้ดีขึ้น สีสวย สม่ำเสมอ ช่วยลดต้นทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี มาเพิ่มสมบัติพิเศษต่างๆ ทั้งความนุ่มลื่น การป้องกันรังสียูวี การยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงการเติมกลิ่นหอม โดยนำ ‘กลิ่นดอกลำดวน’ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษมาเติมลงในผ้าทอเบญจศรี เพื่อสร้างเสน่ห์และอัตลักษณ์ให้กับผ้าทอของจังหวัดศรีสะเกษ ขณะเดียวกันในส่วนของการอนุรักษ์ภูมิปัญญา

นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาสายพันธุ์ถั่วเขียวที่ให้ผลผลิตสูง มีความต้านทานต่อโรคราแป้งและใบจุด และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรทั้งกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ และเกษตรกรผู้ผลิตถั่วเขียวเข้าโรงงานอุตสาหกรรม มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 คน พื้นที่ปลูก 500 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 120 -150 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรเฉลี่ย 2,600 – 3,300 บาทต่อไร่ และยังเชื่อมโยงกับภาคเอกชนให้เข้ามารับซื้อ ได้แก่ บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) มีปริมาณการรับซื้อ 1,000 ตันต่อปี และบริษัท กิตติทัต จำกัด มีปริมาณการรับซื้อ 3,500 ตันต่อปี เพื่อให้มีผลผลิตถั่วเขียวที่เพียงพอ ต่อความต้องการของตลาดต้องการพื้นที่ปลูก จำนวน 30,000 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 150 กิโลกรัมต่อไร่

“พื้นที่ทุ่งกุลาฯ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่นวัตกรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการรักษาเอกลักษณ์เดิมไม่ให้เลือนหาย โดยเฉพาะ จ.ศรีสะเกษ ที่มีศักยภาพโดดเด่นในด้านนี้มาก และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน เอาความรู้ออกมาสู่ชุมชน และควรจะมีการจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ที่เน้นการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคนให้เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ เพราะต่อไปนี้ผลผลิตจาก อว. จะต้องสามารถรับใช้ประเทศชาติ สังคม และประชาชนได้” ดร.เอนก กล่าว

Advertising

เตรียมเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ หลักสูตรวิชาการทหาร

People Unity News : 1 กุมภาพันธ์ 2566 “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมสภาการศึกษาวิชาการทหาร ย้ำต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ด้าน กองทัพ เตรียม ปรับหลักสูตร รับการปฏิรูป เตรียมเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ และปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาประชุม สภาการศึกษาวิชาการทหาร ครั้งที่ 1/66 ณ ห้องประชุมภาณุรังษี ในศาลาว่าการกลาโหม

โดยที่ประชุม ได้พิจารณาและมีมติอนุมัติปริญญาระดับปริญาตรี และปริญญาระดับบัณฑิตศึกษา แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาทางทหาร และแต่งตั้งข้าราชการทหารให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ พร้อมทั้งรับทราบการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้าง กห. ด้านระบบงานการศึกษา ระยะที่ 2 ปี 66-70 ซึ่งให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม ในแผน 4 ด้าน ทั้งด้านหลักสูตร ด้านการพัฒนาจัดการเรียนการสอน ด้านบริหารจัดการ และด้านการพัฒนาบุคลากรการศึกษา

โดย พล.อ.คงชีพ ยังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร โดยให้มีการพิจารณาทบทวนหลักสูตร การเรียนการสอน การศึกษาทุกระดับในทุกหลักสูตร ให้สอดรับกับแผนปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้างกลาโหม รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงและบริบททางสังคมปัจจุบัน อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะดิจิทัลเสริมขีดความสามารถให้แก่กำลังพล พร้อมทั้งให้มีการประเมินตัวชี้วัดเป็นระยะ ทั้งนี้ให้ปรับปรุงข้อบังคับ ระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในคราวเดียวกัน เพื่อรองรับกับการปฏิรูปกองทัพ ตามยุทธศาสตร์ชาติ

Advertisement

กรมที่ดินปั้นภาพลักษณ์ใหม่ อบรมเจ้าพนักงาน “บริการดี ไม่มีทุจริต”

People unity news online : เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 ที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร อาคารสวนเจ้าเชตุ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการอบรม “บริการดี ไม่มีทุจริต” ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขา ประจำปี พ.ศ.2560 ซึ่งกรมที่ดินจัดขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขา จำนวน 17 สาขา ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในแนวทางการให้บริการประชาชนนำไปสู่การปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 600 คน

โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายในการบริการประชาชนให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม ว่า ปัจจุบันกระแสสังคมได้ให้ความสนใจการทำงานของกรมที่ดินโดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใส เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในที่ดินของบุคคล มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งที่ผ่านมาภายใต้การบริหารราชการของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม การจัดอบรมในครั้งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นการเตรียมบุคลากรของกรมที่ดินเพื่อก้าวสู่กรมที่ดินยุคใหม่ที่มีการบริหารงานอย่างโปร่งใส ภายใต้หลัก “ธรรมาภิบาล” ดังนั้น บุคลากรของกรมที่ดินจึงต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจทั้งด้านกฎหมาย เทคโนโลยี ความรอบคอบ รวดเร็ว สร้างทัศนคติ และสร้างค่านิยมที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม มีความโปร่งใส ป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน สามารถนำความรู้ไปใช้ปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขาถือเป็นด่านหน้าที่จะสร้างความประทับใจให้กับประชาชนที่มาติดต่อขอรับการบริการ อีกทั้งในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครยังเป็นพื้นที่ที่ดินมีราคาสูง ผู้ถือครองที่ดินมีความคาดหวังที่จะได้รับการตอบสนองการให้บริการที่ดี

การที่กรมที่ดิน โดยสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและสาขาได้จัดให้มีการอบรมในวันนี้จึงถือได้ว่าการเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยใช้หลักธรรมาภิบาลและแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติสอดรับกับคำขวัญ 116 ปี ของกรมที่ดินที่ว่า “บริการดี ไม่มีทุจริต”

สุดท้าย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้ชาวที่ดินกรุงเทพฯ ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมติดตามประมวลผล ประสานงาน ประสานใจ และประสานการปฏิบัติยกระดับการให้บริการประชาชนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมีความโปร่งใส ช่วยขจัดและลดปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนอันจะส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่อองค์กร เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป

People unity news online : post 21 มีนาคม 2560 เวลา 22.44 น.

รองโฆษกรัฐบาล แนะคัดทะเบียนราษฎรออนไลน์ ผ่านแอปฯ ThaiD

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 รองโฆษกรัฐบาล แนะประชาชนคัดทะเบียนราษฎรออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ประหยัดเวลา ไม่เสียค่าธรรมเนียม แถมคัดทะเบียนราษฎรเวลาไหนก็ทำได้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล ยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัล สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง แจ้งความคืบหน้าว่าสามารถทำการ คัดทะเบียนราษฎร แบบระบบออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้แล้ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นางสาวรัชดา กล่าวต่อไปว่า ประชาชนสามารถคัดทะเบียนราษฎร เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูล ชื่อ-นามสกุล, เลขบัตรประจำตัวประชาชน, อายุ, สถานภาพ, ที่อยู่ และรายละเอียดอื่น ๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD สำหรับการคัดรับรองเอกสารทะเบียนราษฎร สามารถเช็กการ คัดรับรองรายการบุคคล (ท.ร.14/1) และการคัดรับรองรายการประวัติบุคคล (ท.ร.12/2) ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังทำการค้นหาตัวเลขอ้างอิง (ค้นจากตัวเลข Reference) เพื่อทำการตรวจสอบเอกสารจากทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักทะเบียนกลาง โดยเอกสารมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่ออกหนังสือรับรอง

“รัฐบาลขับเคลื่อนเดินหน้ามุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล นำเทคโนโลยีระบบดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงานในส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ ลดพื้นที่และประหยัดงบประมาณในการจัดเก็บเอกสาร ที่สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน การให้บริการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัลถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการภาครัฐได้ง่ายขึ้น ผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD ช่วยให้ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายในการขอรับบริการทะเบียนราษฎร ทั้งค่าใช้จ่ายการเดินทาง และค่าธรรมเนียม ไม่ต้องเสียเวลาไปต่อคิว ประชาชนสามารถจะคัดทะเบียนราษฎรเวลาไหนก็ทำได้” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66 หน่วยงานรัฐ ต้องรับ-จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

People Unity News : 8 มกราคม 2566 รัฐบาลย้ำเตือน หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการและท้องถิ่น ต้องรับเอกสารหรือหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบในการรับ-จ่ายเงิน ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66 หากไม่ดำเนินการ อาจต้องรับผิดว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

วันที่ 8 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ยกเว้นบางมาตราที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั้น กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีข้ออธิบายถึงการใช้เอกสารหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในการเบิกจ่ายเงิน ว่า เนื่องจากมาตรา 15 ของกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ รับรองการใช้เอกสารหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานเบิกจ่ายของส่วนราชการและท้องถิ่น ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 เป็นต้นไป หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการและท้องถิ่น ต้องรับเอกสารหรือหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นไฟล์ PDF หรือภาพทางดิจิทัลในการรับจ่ายเงิน ถ้าไม่รับอาจต้องรับผิดว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมายได้

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีบทบัญญัติว่า ในการติดต่อหรือส่งเรื่องถึงกันในระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับหน่วยงานของรัฐ หรือระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ถ้าได้กระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและใช้เป็นหลักฐานได้ตามกฎหมาย หากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดไม่สามารถรองรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ จะตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นให้เป็นกรณี ๆ ไปก็ได้ โดยต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น และระยะเวลาที่จะยกเว้นให้

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้จัดการประชุมชี้แจงส่วนราชการ จังหวัด องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ เตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยในการดำเนินการ ทั้งในส่วนของการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่กำหนด เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 65 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมรับฟังกว่า 8,500 คน ทั้งนี้ สคก. ได้ชี้แจงตอนหนึ่งว่า พระราชบัญญัติฯ เกิดขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนของภาครัฐเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติราชการและการให้บริการ เช่น การติดต่อระหว่างหน่วยงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้เป็นหลักฐานตามกฎหมายได้ การสั่งการและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้เป็นหนังสือ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เอกสารหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เป็นหลักฐานเบิกจ่ายได้ โดยการตรากฎหมายฉบับนี้จะเป็นการขจัดอุปสรรคทางข้อกฎหมายของการดำเนินงานภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว ความประหยัด และความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการปฏิบัติราชการ โดยหัวใจของการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ จะมุ่งเน้นให้ประชาชนเกิดความสะดวกเป็นหลัก

“รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และเตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ให้พร้อมเข้าสู่การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 พร้อมทั้งพัฒนาระบบให้บริการออนไลน์หรือ e-service เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้ทันทีทุกที่ทุกเวลา ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน โดยหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยจะร่วมขับเคลื่อนให้การปฏิบัติราชการจากระบบเดิมไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เต็มรูปแบบตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ อันจะเพิ่มความสะดวกในการให้บริการประชาชน และยกระดับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่อไป” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร“ ลงใต้ กำชับบริหารน้ำทั้งระบบกันน้ำท่วม-แล้งไปพร้อมกัน

People Unity News : 13 มีนาคม 2566 “พล.อ.ประวิตร“ ลงใต้ เร่งติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำ ย้ำต้องดูทั้งระบบ ป้องกันทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง ทักทายประชาชนอย่างอารมณ์ดี พร้อมรับฟังปัญหา

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.ชุมพร จ.ระนอง และ จ.สุราษฎร์ธานี ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาพื้นที่และรับฟังความเดือดร้อนประชาชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ให้การต้อนรับ ณ ศาลาอเนกประสงค์พรุเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

พล.อ.ประวิตร รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวม พัฒนาการแผนงานและโครงการน้ำในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2561-2565 คืบหน้า 870 โครงการ ใช้งบประมาณ 4,469.40 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 45,687 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 92,101 ไร่ ป้องกันความเสียหายได้ 15,975 ไร่ และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการสำคัญ 6 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก คลองลิปะใหญ่ ระบบป้องกันน้ำท่วม ตลาดไชยา ชุมชนเชิงมนต์ ชุมชนเฉวง และชุมชนวัดประดู่ ติดตามโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางรัก และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมพรุเฉวง จ.สุราษฎร์ธานี

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้ สทนช. และส่วนราชการจังหวัด ให้ความสำคัญกับพื้นที่เกิดน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายของชุมชนที่ผ่านมา โดยให้เร่งขับเคลื่อนแผนงานโครงการในพื้นที่เสี่ยงที่ประสบปัญหาน้ำท่วม บริเวณ ต.ท่าอุแท ต.ปากแพรก ต.ไชยคราม ต.สมอทอง ต.เขานิพนธ์ ต.พรุพี และ อ.บ้านนาสาร อ.พุนพิน อ.คีรีรัฐนิคม อ.บ้านขุนตาล และ อ.ดอนสัก พร้อมขอให้เร่งรัดกำกับโครงการชุมชนบางรัก ระยะที่ 1 การพัฒนาแหล่งน้ำทุ่งจอ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำสหกรณ์นิคมนครพนม และการขยายระบบประปา ต.เกาะพะงัน ให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดผลกระทบความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยของจังหวัดในภาพรวม ทั้งนี้ ให้เตรียมการ 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำบริโภคกับประชาชนในฤดูแล้งไปพร้อมกัน

พล.อ.ประวิตร กล่าวทักทายพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างอารมณ์ดีและเป็นกันเอง พร้อมรับฟังปัญหาจากประชาชนโดยตรง

Advertisement

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. PPP ฉบับใหม่ กำหนดให้มีมาตรการ PPP Promotion แก่ภาคเอกชน

People unity news online : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ) และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยมุ่งเน้นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน และมีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมของเอกชนโดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการร่วมลงทุน รวมทั้งมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่กระชับ ชัดเจน เปิดเผย และตรวจสอบได้ และสามารถสร้างแรงจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้นี้

1.“Facilitation” การส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยทำให้ขั้นตอนง่าย กำหนดให้มีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน (PPP Promotion) และให้คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาแก้ไขปัญหา อุปสรรค หรือความล่าช้าเกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นจากกฎหมายหรือระเบียบ ยกระดับกองทุน PPP ให้สามารถสนับสนุนโครงการ PPP ได้มากขึ้น

2.“Alignment” ทำให้โครงการร่วมลงทุนสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการของประเทศ และเป็นไปตามหลัก PPP สากล ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure Plan) ที่ชัดเจน มุ่งเน้นการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ กำหนดเป้าประสงค์ของการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Partnership) ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน

3.“Streamline” มีขั้นตอนกระชับ ชัดเจน รวมถึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนให้กระชับ มีการนำเอาหลักการของมาตรการ PPP Fast Track มาบัญญัติไว้ในขั้นตอนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน คณะกรรมการ PPP สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาเร่งรัดการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนได้

4.“Transparency” มีการเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน กำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในทุกขั้นตอน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดเผยสรุปข้อมูลโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชน และหน่วยงานตรวจสอบให้ทราบ

นายเอกนิติ กล่าวสรุปว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีผลใช้บังคับ จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของภาครัฐให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทั่วถึง โดยการใช้ความรู้ ความสามารถ และนวัตกรรมของเอกชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง สะดวกสบาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

People unity news online : post 7 เมษายน 2561 เวลา 14.00 น.

เชิญชวน ปชช.ลงทะเบียนพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

People Unity News : 19 มีนาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง ใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคง ปลอดภัย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางส่งเสริมให้การบริการของภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ และรัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66 ที่ผ่านมานั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการต่าง ๆ ที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นการใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคงปลอดภัย

นายอนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน แทนระบบเดิมที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตน เพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ เป็นการสร้างมิติใหม่ของการทำธุรกรรมภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ผ่านช่องทางดิจิทัล และมีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการใช้เอกสารราชการปลอมในกระบวนการยืนยันตัวตนของระบบเดิม และเพื่อสนับสนุนการบริการประชาชนของภาครัฐ และภาคเอกชน ที่จะต้องปรับตัวและวิธีการเพื่อตอบสนองงานบริการแนวใหม่ที่ไม่ต้องเผชิญหน้า หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกด้วย โดยขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ได้อนุญาตให้สามารถใช้บัตรประชาชนดิจิทัล เพื่อติดต่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น กรมสรรพากรที่ได้มีการเชื่อมโยงแอปพลิเคชัน D.DOPA กับเว็บไซต์กรมสรรพากร เพื่อเป็นช่องทางยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90/91/94 ได้ และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ได้อนุญาตให้ประชาชนที่โดยสารเครื่องบิน สามารถแสดงเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบัตรประชาชนดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA เพื่อยืนยันผ่านจุดตรวจค้น และเป็นเอกสารประกอบกับบัตรผ่านขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ก่อนขึ้นเครื่องได้ด้วย ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

“ในปัจจุบันบริการจากภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล รัฐบาลจึงขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อใช้ในการติดต่อทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ใช้พิสูจน์และยืนยันสถานะของตัวบุคคลเมื่อต้องทำธุรกรรมหรือนิติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งใช้ยืนยันสถานภาพการเป็นคนไทยของตัวบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคงปลอดภัย” นายอนุชา กล่าว

สำหรับแอปพลิเคชัน D.DOPA ได้พัฒนาเวอร์ชันล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนด้วยตัวเองเพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง จากเดิมต้องลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ในการขอรับบริการการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน ที่สำนักทะเบียน ได้แก่ สำนักงานเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร และที่ว่าการอำเภอทุกจังหวัด โดยลงทะเบียนด้วยตัวเอง จะใช้วิธีถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จากนั้นสแกนใบหน้าเพื่อประมวลผลผ่านเทคโนโลยีชีวมิติ แล้วตั้งรหัสผ่าน 8 หลักเพื่อเข้าใช้งาน เป็นอันเสร็จสิ้น โดยผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” ของกรมการปกครอง ได้ทั้งระบบ ios และ Android โดยสามารถลงทะเบียนด้วยตนเอง หรือลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ ซึ่งภายหลังลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ หรือมีเจ้าพนักงานเรียกตรวจบัตรประชาชนในกรณีต่าง ๆ ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้วข้างต้นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่เรียกตรวจแทนการใช้บัตรประชาชนได้

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคาดว่าในปี 2566 จะมีประชาชนใช้ Digital ID แทนบัตรประจำตัวประชาชนประมาณ 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังกรมการปกครองได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนทั้งหมดไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ และกระทรวงดิจิทัลฯ ยังคาดว่า Digital ID จะเข้ามาแทนที่การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน ด้วยความปลอดภัยที่สูงกว่า เนื่องจาก Digital ID จะมีลักษณะเป็นคิวอาร์โค้ด ขณะที่บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงจะเกิดโอกาสที่มิจฉาชีพเห็นข้อมูลหน้าบัตรจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแลกบัตร การติดต่อหน่วยงาน การใช้ประกอบการทำธุรกรรมการเงิน หรือ ธุรกิจต่างๆ โดย Digital ID จะช่วยลดการปลอมแปลงบัตรประชาชน หรือสวมรอยเจ้าของที่แท้จริงได้

Advertisement

Verified by ExactMetrics