วันที่ 16 เมษายน 2024

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี แล้ว

People Unity News : 2 กันยายน 2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 22 สิงหาคม พุทธศักราช 2566 แล้ว นั้น

บัดนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบต่อไปแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรองนายกรัฐมนตรี

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายสุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่ง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายจักรพงษ์ แสงมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายไชยา พรหมา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นางมนพร เจริญศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายเกรียง กัลป์ตินันท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

Advertisement

ประชาชนลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช

People Unity News : 25 มิถุนายน 2566 วัดราชบพิธฯ – ประชาชนลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช ที่วัดราชบพิธฯ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ

บรรยากาศที่พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร มีประชาชนมาร่วมลงนามถวายสักการะหน้าพระรูป “สมเด็จพระสังฆราช” เนื่องในโอกาสงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566 โดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า เข้าถวายเครื่องสักการะและลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19-25 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00-16.00 น. โดยจะได้รับพระรูปของสมเด็จพระสังฆราช และหนังสือพุทธศาสนสุภาษิต ที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ เป็นที่ระลึกด้วย โดยประชาชนที่มาร่วมลงนาม และร่วมทำบุญ พร้อมตั้งจิตทำสมาธิและตั้งใจน้อมนำคำสอนมาปรับใช้

ส่วนวันที่ 26 มิ.ย. ตามกำหนดการจัดงาน “การจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2566” นายกรัฐมนตรี พร้อมภริยา จะเป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระกุศล ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระนามเดิม อัมพร ประสัตถพงศ์ ฉายา อมฺพโร เป็นสมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงเริ่มดำรงตำแหน่งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

Advertisement

รัฐบาลเชิญชวนประชาชนลงนามถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช

People Unity News : 22 มิถุนายน 2566 รัฐบาลเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วน ลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และทำสมาธิเจริญจิตภาวนาถวายเป็นพระกุศล เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า เข้าถวายเครื่องสักการะและลงนามถวายสักการะหน้าพระรูปสมเด็จพระสังฆราช เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยกำหนดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 – 16.00 น.

ในโอกาสนี้ สำนักพระราชวัง ได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการทำสมาธิเจริญจิตภาวนาถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. ของวันที่ 17 มิถุนายน 2566 – เวลา 08.00 น. ของวันที่ 26 มิถุนายน 2566 เพื่อเป็นการปฏิบัติสมาธิเจริญจิตภาวนาส่วนตัวของแต่ละบุคคล ในเวลาและสถานที่สุดแต่สะดวก โดยปฎิบัติเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ต่อวัน เพื่อถวายพระกุศล

พร้อมกันนี้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ยังได้เปิดให้เข้าบริจาคโดยเสด็จพระกุศลเพื่อสร้างและตั้งกองทุนสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ และรับปูชนียมงคลวัตถุ พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ “อายุวัฒน์” และจองพระพุทธวรายุวัฒนศาสดา ได้ที่อาคารภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ 1 (อาคารหน้าวัดด้านซ้ายของพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม) ทุกวันตั้งแต่วันที่ 19 – 30 มิถุนายน และทุกวันเสาร์-อาทิตย์ของเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 เวลา 13.00 – 17.00 น. สำหรับพระกริ่งและพระชัยวัฒน์อายุวัฒน์ ผู้โดยเสด็จพระกุศลสามารถรับไปในวันที่บริจาคบูชา ส่วนพระพุทธวรายุวัฒนศาสดา ผู้โดยเสด็จพระกุศลสามารถรับได้ในเดือนธันวาคม โดยเจ้าหน้าที่ที่รับจองจะได้ประสานงานแจ้งรายละเอียดกำหนดการรับ ณ ที่จองต่อไป

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกำหนดขอบเขตการจัดงาน ตลอดปี 2566 และกำหนดชื่อการจัดงานเป็นภาษาไทยว่า “การจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2566” และชื่อการจัดงานเป็นภาษาอังกฤษว่า “Celebrations on the Occasion of His Holiness Somdet Phra Ariyavongsagatayana the Supreme Patriarch of Thailand ’s 96th Birthday Anniversary 26th June 2023”

รวมทั้งการกำหนดการจัดกิจกรรมและโครงการสำคัญต่าง ๆ ที่หน่วยงานต่าง ๆ เสนอมาเพื่อดำเนินการเนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ด้วย

ทั้งนี้ในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 เวลาประมาณ 07.15 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมภริยา จะเป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระกุศล งานฉลองพระชนมายุ 8 รอบสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วันที่ 26 มิถุนายน 2566  ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยพระสงฆ์จากโครงการบรรพชาอุปสมบท จำนวน 97 รูป เดินรับบิณฑบาต สำหรับส่วนภูมิภาค ดำเนินการจัดพิธี ณ ศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสม และในต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแจ้งสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลดำเนินการจัดพิธีตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

Advertisement

เตรียมเสนอพระนามในหลวง ร.9 ให้ยูเนสโกประกาศยกย่อง

People Unity News : 6 มิถุนายน 2566 ครม. เห็นชอบเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การยูเนสโกประกาศยกย่อง ร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบหลักการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ประกาศยกย่อง และร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570 โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่างเอกสารเสนอพระนามต่อองค์การ UNESCO ต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการประชุมหารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น มีมติเห็นชอบการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้องค์การ UNESCO ประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลองในวาระ 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570 เนื่องจากทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อประเทศไทย ทรงอุทิศพระองค์เพื่อปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกร

“พระราชกรณียกิจของพระองค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และการดำเนินงานขององค์การ UNESCO ทั้ง 5 ด้าน คือ การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ตลอดจนมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมสันติภาพ ความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ให้การยอมรับในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ยกร่างข้อมูลเพื่อเสนอพระนามฯ ให้องค์การ UNESCO โดยจะต้องจัดส่งเอกสารการเสนอพระนามฯ ภายในปี 2567 เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารขององค์การ UNESCO เพื่อพิจารณาภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ก่อนที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การ UNESCO พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในเดือน พฤศจิกายน 2568 2.เตรียมการด้านต่างๆ โดยได้จัดทำร่างแผนการดำเนินงานการเสนอพระนามฯ เพื่อให้การดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้อง ตามหลักเกณฑ์และกำหนดการขององค์การ UNESCO” นายอนุชา กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยมีบุคคลสำคัญที่ได้รับการประกาศยกย่องและร่วมเฉลิมฉลอง โดยองค์การ UNESCO เช่น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันประสูติ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566

Advertisement

ชุมชนเขตพระนคร-ทบ.จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ วันฉัตรมงคล

People Unity News : 4 พฤษภาคม 2566 กองทัพบก ร่วมกับชุมชนเขตพระนคร จัดกิจกรรม “ชุมชนเขตพระนคร และกองทัพบก ร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล ประจำปี 2566” ณ วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง (บางขุนพรหม)

วันนี้ (4 พ.ค.66) เวลา 08.00 น. กองทัพบก โดยสำนักงานเลขานุการกองทัพบก ร่วมกับชุมชนเขตพระนคร จัดกิจกรรม “ชุมชนเขตพระนคร และกองทัพบก ร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล ประจำปี 2566” โดยมี พันเอก ฐิต์รัชช์ สมบัติศิริ รองเลขานุการกองทัพบก เป็นผู้แทนกองทัพบก นำกำลังพล พร้อมด้วยภาคเอกชน ส่วนราชการ และประชาชนในเขตพระนคร ร่วมกิจกรรม ณ วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง (บางขุนพรหม)

ภายในงาน ประกอบด้วย พิธีห่มผ้าหลวงพ่อโต และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี สืบเนื่องจากวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามธรรมเนียมเดิม ในเดือน 6 (ตรงกับเดือนพฤษภาคม) กองทัพบก ร่วมด้วยชุมชนเขตพระนคร จึงจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ตลอดจนให้ประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนรอบกองบัญชาการกองทัพบก ได้มีส่วนร่วมกับกองทัพบกในการจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนกับทหาร ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธา และร่วมมือสนับสนุนภารกิจของกองทัพบก ในอันที่จะพิทักษ์ไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน

Advertisement

ตั้ง รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณฯ เพิ่มอีก 6 แห่ง

People Unity News : 2 พฤษภาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบรายงานความก้าวหน้ายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปี 66 ตั้งเพิ่ม 6 แห่ง กระจายการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพทุกภูมิภาค

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 เห็นชอบในหลักการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (จ.ภ.) ประจำเขตตรวจราชการ จำนวน 6 แห่ง และให้ปรับปรุงแก้ไขจังหวัดเขตพื้นที่บริการโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนและบริบทเชิงพื้นที่ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ระบบราชการ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปีงบฯ 2565 – 2569)

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการเสนอรายงานความก้าวหน้าว่าได้ดำเนินการตามมติ ครม. ดังกล่าว โดยจัดทำแนวทางการพัฒนาจัดตั้ง จ.ภ. 6 แห่ง โดยกำหนดพื้นที่จังหวัดสำหรับการจัดตั้ง จ.ภ. ในพื้นที่เขตตรวจราชการ 6 เขตตรวจฯ ที่ยังไม่มี จ.ภ. ตั้งอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่เขตตรวจราชการที่กำหนดไว้ และได้ปรับปรุงเขตพื้นที่บริการของ จ.ภ. จากเดิมที่มีพื้นที่รับนักเรียนจำนวน 7-8 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียนให้เป็นจำนวน 4-5 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียนเพื่อให้การเข้าถึงโอกาสของนักเรียนในจังหวัดต่าง ๆ มีการกระจายอย่างทั่วถึง

“เดิมโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยมีจำนวน 12 แห่ง และได้กำหนดเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ในจังหวัดสุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และลำปาง แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและกระจายการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการเพิ่มจัดสรรใหม่อีก 2 แห่ง คือ ในจังหวัดสระแก้ว และ กำแพงเพชร ทำให้จะมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 18 แห่งทั่วประเทศไทย โดยในงบประมาณปี 2566 กระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศ ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เรื่อง ตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ลำปาง สระแก้ว สุพรรณบุรี และอุบลราชธานี ให้เป็นสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษในสังกัด สพฐ. ตั้งแต่ชั้น ม. 1-6 รับนักเรียนประเภทประจำโดยมีเขตพื้นที่บริการตามที่ สพฐ. กำหนด” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Advertisement

 

รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันฉัตรมงคล 4 พ.ค.

People Unity News : 28 เมษายน 2566 รัฐบาลเตรียมจัดงานสโมสรสันนิบาต เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล 4 พ.ค.นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมจัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันฉัตรมงคล ในวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม 2566 เวลา 19.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาลได้เชิญคณะองคมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี ประธาน รองประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หัวหน้าส่วนราชการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมาธิการสามัญ วุฒิสภา หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานสภากรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร ข้าราชการการเมืองในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บริหารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ระดับผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขึ้นไป) ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ (ระดับพลเอกขึ้นไป) เอกอัครราชทูต กงสุลกิตติมศักดิ์ประเทศต่าง ๆ ประจำประเทศไทย และกงสุลอาชีพ องค์การระหว่างประเทศภายใต้องค์การสหประชาชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย พร้อมคู่สมรส เข้าร่วมในงานสโมสรสันนิบาตฯ ด้วย

“สำหรับการจัดงานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม 2566 จะมีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่เวลา 18.50 น. เป็นต้นไป รัฐบาลจึงขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกันเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลขอให้ทรงพระเจริญ พระชนมายุยิ่งยืนนาน เนื่องในวันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม 2566 โดยพร้อมเพรียงกัน” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

รัฐบาลเตรียมจัดงานสมพระเกียรติ ฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระสังฆราช 

People Unity News : 27 เมษายน 2566 “ธนกร” เผยรัฐบาลเตรียมจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายนนี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ การจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จัดประชุมคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  โดยมีกรรมการจากหน่วยงานภาครัฐ และสื่อมวลชน ร่วมกันพิจารณาและดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การจัดงานพระราชพิธี รัฐพิธี ศาสนพิธี งานพิธี โครงการและกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการตามพระดำริ และเชิญชวนประชาชนร่วมฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

นายธนกร กล่าวว่า จะมีการถ่ายทอดสดการเสด็จพระราชดำเนินไปในงานบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2566 เวลา 17.00 น. ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และเครือข่าย TGN 170 ประเทศทั่วโลก และทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ

“ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทางที่มี เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ซึ่งผมในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ ได้วางแผนและเตรียมความพร้อมแล้ว นอกจากนี้ ยังได้จัดทำช่องทางให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ  ได้ที่เว็บไซต์ :  https://www.prd.go.th/th/page/item/index/id/85 โดยลิงค์เข้าไปที่เว็บไซต์ กรมประชาสัมพันธ์ :  www.prd.go.th และ Facebook 96 พรรษาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่น่าเชื่อถือมาให้ประชาชนรับรู้ และเชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” นายธนกร กล่าว

Advertisement

ชวนเที่ยวงาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” 21-25 เม.ย.นี้

People Unity News : 22 เมษายน 2566 เปิดยิ่งใหญ่ งาน “ ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” 21-25 เม.ย.นี้ เปิด 21 แหล่งเรียนรู้รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ชมวัง พิพิธภัณฑ์ เข้าวัดทำบุญไหว้พระ ขอพร เสริมสิริมงคล ถ่ายภาพย้อนยุค ฟรีตลอดงาน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” จัดขึ้นวันที่ 21 – 25 เมษายน 2566 ณ บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และวันที่ 21 เม.ย. – 7 พ.ค. 2566 ณ สวนสันติชัยปราการ พร้อมชมการแสดงชุด ใต้ร่มพระบารมี จักรวงศ์ และชุดมนต์เสน่ห์แห่งอารยธรรมประจำถิ่นไทย โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นั่งรถรางแวะชมการแสดงมัลติมีเดีย นิทรรศการสวนแสง “แสงแห่งความภักดี ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” และการจัดแสดงอุโมงค์ไฟ ที่สวนสันติชัยปราการ พร้อมเดินชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน หรือ Night Museum

มีการสาธิตอาหารไทยโบราณ และอาหารชาววัง เยี่ยมชมบรรยากาศตลาดย้อนยุค จำหน่ายอาหาร ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย โดยจัดงานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี รวมถึงสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ในพระบรมราชวงศ์จักรี ที่ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความผาสุกและเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน เป็นเวลา 241 ปี โดยในปีนี้มุ่งหวังให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดการจัดงาน คาดเกิดรายได้กว่า 100 ล้านบาท

สำหรับกิจกรรมปีนี้เปิดให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ใช้บริการรถ ขสมก. และรถรางนำชม แวะทำบุญไหว้พระ เข้าชมแหล่งเรียนรู้ วัด และพิพิธภัณฑ์ 21 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย ได้แก่ 1.พระบรมมหาราชวัง 2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ 3.สวนสันติชัยปราการ 4.พิพิธภัณฑ์บางลำพู 5.วัดบวรนิเวศวิหาร 6.พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน  เป็นต้น

การแสดงดนตรีสากล ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีอีสาน หมอลำ จากนักร้องรับเชิญมากมาย และโชว์ศิลปะการแสดงสุดพิเศษ Soft Power ระดับโลกของไทย นอกจากนี้ยังมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมที่หาชมได้ยาก อาทิ การแสดงละครนอก เรื่องสังข์ทอง รำเบิกโรงละครชาตรี อุปรากรจีน การแสดงพื้นบ้านภาคกลาง การแสดงหมอลำอีสาน มหกรรมกลองล้านนา การแสดงนานาชาติ การแสดงลิเก การสาธิตอาหารโบราณและอาหารชาววัง ในรูปแบบตลาดย้อนยุค การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 76 จังหวัด

และคืนนี้ 4 ทุ่ม ช่อง 9 MCOTHD กด 30 จะถ่ายทอดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” นำภาพบรรยากาศสวยๆของงานมาให้ได้ชมกันแบบเต็มอิ่ม

Advertisement

เชิญชวนร่วมกิจกรรม “ชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร”

People Unity News : 21 เมษายน 2566 รัฐบาลเชิญชวนร่วมกิจกรรม “ชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม บนแผ่นดินไทย ถึง 25 เม.ย.นี้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลขอเชิญชวนประชาชน ร่วมกิจกรรม “ชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” ประจำปี 2566 จัดโดยศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน กระทรวงวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 21 – 25 เม.ย. 2566 ณ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ นำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ผ่านประวัติความเป็นมาของชุมชนต่างๆ โดยเผยแพร่องค์ความรู้การตั้งถิ่นฐานของชุมชนอาเซียนดั้งเดิมในกรุงเทพฯ 6 กลุ่ม ได้แก่ เขมร ญวน พม่า มอญ ลาว และมุสลิม พร้อมนำเสนออัตลักษณ์ ขนบประเพณีของชุมชนอาเซียนที่อยู่อาศัยภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร อย่างร่มเย็นเป็นสุขตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ความพิเศษของกิจกรรม “ชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” ประจำปี 2566 คือการลงไปสัมผัสกับชุมชนเก่าแก่ อย่างเช่น กิจกรรมนั่งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไปยังชุมชนมุสลิม ย่านบางลำพู เพื่อเรียนรู้เรื่องราวชุมชนมุสลิมผ่านอาคารสถาปัตยกรรม ทั้งบ้านตึกดิน ถนนสิบสามห้าง มัสยิดจักรพงษ์ และสีสันของอาหารในย่านบางลำพู พร้อมรับฟังการบรรยาย “ชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” จากวิทยากร ผศ.ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท ผู้อำนวยการศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร , ดร.นิพัทธ์ชนก นาจพินิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอาหาร มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กิจกรรม “ชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” จะทำให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อสาย วิถีการดำรงชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ในแผ่นดินไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี และความภาคภูมิใจในความเป็นไทย พร้อมกันนี้ ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วย

Advertisement

Verified by ExactMetrics