วันที่ 29 มีนาคม 2024

สรรพากรชี้แจงช็อปช่วยชาติมิได้เอื้อนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้า

People unity news online : กรมสรรพากรชี้แจงการออกมาตรการช็อปช่วยชาติ ตามที่ปรากฏคำวิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการช็อปช่วยชาติว่า เป็นการช่วยนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้ามากกว่าช่วยประชาชนและควรนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและชาวบ้านระดับรากหญ้ามากกว่านั้น

กรมสรรพากรขอเรียน ดังนี้

1.มาตรการช็อปช่วยชาติหรือมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม

2.นอกจากนั้น การกำหนดประเภทสินค้า 3 ประเภทยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยตรง จึงคุ้มค่าที่จะดำเนินการ ดังเห็นได้จากแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อสินค้าแต่ละประเภทซึ่งกำหนดไว้ดังนี้

2.1 สินค้าประเภทยางล้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานได้กำหนดว่า วัตถุดิบต้องมาจากยางที่การยางแห่งประเทศไทยรวบรวมหรือรับซื้อจากเกษตรกรชาวสวนยาง จึงจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น

2.2 สินค้าประเภทหนังสือและ e-Book เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์และเป็นไปตามที่กรมสรรพากรได้เคยหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยจะช่วยยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศผ่านการอ่าน

2.3 สินค้า OTOP ได้กำหนดให้ซื้อจากผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน แต่จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ จึงมิได้จำกัดอยู่แค่ห้างสรรพสินค้า แต่จะช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่างๆอย่างทั่วถึง

People unity news online : post 2 ธันวาคม 2561 เวลา 20.44 น.

พาณิชย์รุกหนักวางกิจกรรมเจาะตลาดอินเดีย 7 รัฐสำคัญ

People unity : กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เตรียมแผนจัดกิจกรรมบุกตลาดอินเดียอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2562 เร่งผลักดันการส่งออกไทยให้ขยายตัวร้อยละ 8 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมุ่งเป้าใน 7 รัฐสำคัญของอินเดีย อาทิ รัฐมหาราษฎระ รัฐคุชราต รัฐทมิฬนาฑู รัฐเตลังกานา รัฐเวสต์เบงกอล รัฐเจ็ดสาวน้อย และนิวเดลี เน้นสร้างความสัมพันธ์ในระดับ Strategic Partnership การส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าเกษตรและผลไม้ไทย รวมทั้งเร่งผลักดันความร่วมมือกับกลุ่ม On-line Platform อินเดีย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องทางดำเนินธุรกิจในตลาดอินเดียเพิ่มมากขึ้น

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ด้วยอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ ประชากรจำนวนมากและมีความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน และขนาดพื้นที่กว่า 3.2 ล้านตารางกิโลเมตร จัดเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยมีการแบ่งการปกครองออกเป็น 29 รัฐ และ 7 Union Territories กระทรวงพาณิชย์จึงกำหนดยุทธศาสตร์เจาะตลาดอินเดียรายรัฐ โดยเน้นรัฐเป้าหมายสำคัญ 7 รัฐ ประกอบด้วย

-รัฐมหาราษฎระ มีมหานครมุมไบเป็นเมืองหลวงของรัฐ และเป็นเมืองท่าธุรกิจที่สำคัญของอินเดีย  ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงและมีกำลังซื้อ อีกทั้งยังมีนักธุรกิจต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก ประชากรอินเดียที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ และวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกค่อนข้างมาก สนใจสินค้านำเข้าที่มีสไตล์และทันสมัย สินค้าและบริการไทยที่มีศักยภาพเหมาะกับการเจาะตลาดนี้ คือ อาหารและเกษตรแปรรูป ร้านอาหาร ของตกแต่งบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เฟอร์นิเจอร์บิลด์อินที่มีแบบทันสมัย บริการออกแบบตกแต่งภายใน แฟชั่น เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอางสำหรับสุภาพสตรีวัยทำงาน และสถานบริการด้านเสริมความงามและลดน้ำหนัก

-รัฐคุชราตซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของรัฐมหาราษฎระ เป็นรัฐ Dry State ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ และชำนาญในเรื่องการเจียรไนเพชร สินค้าเป้าหมายของรัฐจึงเน้นเป็นกลุ่มอัญมณี พลอยสี ยา/สมุนไพร และอาหารมังสวิรัติ

-รัฐทมิฬนาฑู เป็นเมืองท่าสำคัญทางอินเดียตอนใต้ และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ สิ่งทอ และอากาศยานของอินเดีย สินค้าเป้าหมายและบริการเป้าหมาย คือ แป้งมัน ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด/แปรรูป เครื่องประดับยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และบริการคาร์แคร์

-รัฐเตลังกานา เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยาและไอทีของอินเดีย เหมาะสำหรับเจาะกลุ่มผู้บริโภค Super Rich และมุสลิม สินค้าและบริการเป้าหมาย คือ อาหารฮาลาล วีแกน ไลฟ์สไตล์ แฟชั่นที่มีนวัตกรรมและดีไซน์ กล้วยไม้ การถ่ายทำ/ตัดต่อภาพยนตร์ และบริการรับจัดงานแต่งงาน

-รัฐเวสต์เบงกอล เป็นเมืองท่าธุรกิจทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อไปยัง     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย หรือรัฐเจ็ดสาวน้อย สินค้าเป้าหมาย คือ อาหาร วัสดุก่อสร้าง ออกแบบตกแต่งภายใน เครื่องใช้ในครัวเรือน และของตกแต่งบ้าน

-รัฐเจ็ดสาวน้อย เป็นพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ประกอบด้วย 7 รัฐ คือ     อัสสัม เมฆาลัย มณีปุระ มิโซรัม ตรีปุระ อรุณาจัลประเทศ และนากาแลนด์ ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางบกจากอาเซียน-อินเดีย โดยมีสินค้าและบริการเป้าหมาย ได้แก่ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้าแฟชั่นที่มีราคาไม่สูงมาก บริการโลจิสติกส์

-นิวเดลี เป็นดินแดนสหภาพอาณาเขตของรัฐบาลกลางอินเดีย และเป็นเมืองหลวงของอินเดีย โดยมีสินค้าเป้าหมาย คือ อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส ของตกแต่งบ้าน แฟชั่นเครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ด้าน นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเสริมว่า กรมได้ให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในอินเดียทั้ง 3 แห่ง สำรวจและศึกษาโอกาสของสินค้าไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละรัฐเพื่อเลือกรัฐเป้าหมาย 7 รัฐดังกล่าว และวางกลยุทธ์เข้าสู่ตลาดโดยใช้การจับคู่สินค้าและธุรกิจบริการไทยที่มีศักยภาพที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละรัฐ เพื่อให้การเจาะตลาดอินเดียเกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะมีกิจกรรมที่เป็น Flagship สำคัญในตลาดอินเดีย อาทิ การจัดคณะผู้แทนการค้าธุรกิจบริการ Event Business เดินทางไปเจรจาการค้าในรัฐมหาราษฎระ เมืองมุมไบ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งจะเป็นช่วงเดียวกันกับที่สภาธุรกิจไทย-อินเดีย กำหนดนำคณะนักธุรกิจกลุ่ม Hospitality และวัสดุก่อสร้าง เดินทางไปเจรจาการค้าในเมืองมุมไบ และเตรียมการประชุม ITJBF (Indian-Thai Joint Business Forum) ที่จะจัดในไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562

จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2562 จะมีกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ไทย โดยเฉพาะ ลำไย มังคุด ร่วมกับห้าง Modern Trade รายใหญ่ของอินเดีย อาทิ Reliance และ Future Group ในรัฐมหาราษฎระ รัฐคุชราต รัฐเตลังกานา รัฐทมิฬนาฑู รัฐเวสต์เบงกอล และนิวเดลี รวมกว่า 40 สาขา

นอกจากนี้ กรมยังได้เดินหน้าผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือกับ PayTM ซึ่งเป็นหนึ่งใน On-line Platform รายสำคัญของอินเดีย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัท Trading รายใหญ่ของไทยเพื่อทำหน้าที่รวบรวมสินค้าไทยส่งให้ PayTM ไปกระจายในตลาดอินเดียต่อไป โดยหากความร่วมมือดังกล่าวเป็นบรรลุผลสำเร็จจะส่งผลให้สินค้าไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคตลาดออนไลน์ในอินเดียได้ดีขึ้น

ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยและอินเดียมีมูลค่ารวม 12,463.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 20.16 แบ่งเป็นไทยส่งออกไปอินเดียมูลค่า 7,600.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 17.34 และไทยนำเข้าจากอินเดีย 4,863.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 24.86 และในเดือนมกราคม 2562 การค้าระหว่างไทยและอินเดียมีมูลค่ารวม 1,074.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.8 แบ่งเป็นไทยส่งออกไปอินเดีย 639.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.11 และไทยนำเข้าจากอินเดีย 434.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.4

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจดำเนินธุรกิจในตลาดอินเดีย และเอเชียใต้ สามารถดูรายละเอียดกิจกรรมส่งเสริมตลาดได้ที่ http://drive.ditp.go.th หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับตลาดเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กลุ่มงานเอเชียใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง หมายเลขโทรศัพท์ 02-507-8209 หรือ 02-507-8239 ถึง 8240

เศรษฐกิจ : พาณิชย์รุกหนักวางกิจกรรมเจาะตลาดอินเดีย 7 รัฐสำคัญ

People unity : post 18 มีนาคม 2562 เวลา 23.00 น.

“บิ๊กตู่” หนุนใช้ “ครูพิเศษ” ยกระดับแรงงานรองรับ EEC

People unity news online : เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แนะให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวม “ครูพิเศษ” โดยบูรณาการภารกิจผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการนำร่องในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

“ที่ผ่านมาสถานศึกษาหลายแห่งทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เริ่มสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการแล้วหลายแห่ง เพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการแล้ว แต่ยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ โดยจากนี้จะให้หน่วยงานรัฐบันทึกข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญในรูปแบบของ Big Data ทั้งในด้านวิชาการและทักษะฝีมือในสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางให้สถานศึกษาทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบุคคลเหล่านี้ในฐานะครูพิเศษได้อย่างทั่วถึง โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ 500 คนภายในปีนี้” นายกฯ กล่าว

ดังนั้น รัฐบาลจึงขอเชิญชวนบุคลากรในภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญใน 10 สาขา อุตสาหกรรมเป้าหมาย และสาขาวิชาชีพอื่นที่จำเป็นต่อการพัฒนาพื้นที่ EEC ร่วมกันเข้ามาเป็นครูพิเศษ เพื่อร่วมกันผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพเข้าสู่สถานประกอบการ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายกฯ กล่าวว่า ผู้เรียนยุคใหม่ควรคำนึงถึงการเลือกสาขาวิชาเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสาขาที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ เพื่อให้มีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง และยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ด้าน พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ ดร.สาโรจน์ วสุวนิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี และคณะนักอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนครูพิเศษอาชีวศึกษาอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

พล.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาและขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีความก้าวหน้างานในหลายส่วน อาทิ การตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่แรก ซึ่งมีความก้าวหน้ามากขึ้นโดยลำดับ, การบูรณาการข้อมูลความต้องการกำลังคนกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นต้น เพื่อร่วมพิจารณาใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการ เป็นต้น

การประชุมหารือในครั้งนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งต่อเนื่องจากการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC โดย สอศ.ได้จัดประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและเชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0

เริ่มต้นจากจังหวัดชลบุรี นำโดย ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี และคณะกรรมการ (เจ้าของกิจการและภาคเอกชน) กว่า 20 คน มาร่วมรับทราบแนวทางการดำเนินงาน พร้อมเชิญเป็น “ครูพิเศษ” ช่วยจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนให้ข้อแนะนำสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2561 เป็นต้นมา จากนั้นจะรณรงค์เชิญชวนให้มาเป็นครูพิเศษเพิ่มเติม ตามเป้าหมายที่วางไว้จำนวน 500 คน ภายในช่วงปลายปี 2561 นี้ ที่จะช่วยขยายพื้นที่ที่มีครูพิเศษไปสอนทั่วทุกพื้นที่ EEC และในภูมิภาคอื่นๆต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการทำงาน จึงได้มาหารือร่วมกันเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมเป็นครูพิเศษ ในรูปแบบ Realtime และเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูล Big Data ซึ่งจะมีการระบุชื่อ ความชำนาญและทักษะในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการประสานงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับสถานศึกษา ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้ และประสบการณ์ตรงจากการทำงานด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานของสถานประกอบการ

นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับสถานศึกษาให้มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญในการผลิตกำลังคนเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และเป็นการนำศักยภาพของภาคเอกชนมาช่วยเสริมการทำงานของภาครัฐ ตามกลไกประชารัฐ ที่จะทำให้ผลิตคนได้ตรงกับความต้องการพัฒนาประเทศ เพิ่มปริมาณแรงงานที่มีคุณภาพเข้าสู่สถานประกอบการ และสิ่งสำคัญคือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามเป้าหมายการทำงานของรัฐบาลด้วย

ดร.สาโรจน์ วสุวนิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้รับเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้มาทำหน้าที่เป็นครูพิเศษ เพื่อถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา เพิ่มเติมจากที่ครูสอนในห้องเรียนเท่านั้น พร้อมขอชื่นชมว่าเป็นแนวคิดการทำงานที่ดี เพราะพวกเราคือผู้ประกอบการตัวจริง ถือเป็นภาคการปฏิบัติที่แท้จริงจากการทำงาน ในขณะที่นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่จะเรียนภาคทฤษฎีเป็นหลัก

ดังนั้น การเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ทำให้เด็กมองเห็นภาพการทำงานจริงผสานต่อยอดกับความรู้ภาคทฤษฎีในห้องเรียนได้ดีขึ้น ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่ทางสภาอุตสาหกรรมพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งในพื้นที่จังหวัดชลบุรีเองและในจังหวัดอื่นในพื้นที่ EEC ตลอดจนช่วยขยายผลแนวคิดเพื่อเชิญชวนภาคธุรกิจและภาคเอกชนมาร่วมมือกันให้มากขึ้น

People unity news online : post 3 กันยายน 2561 เวลา 09.50 น.

ประธาน JETRO และ Mitsui เข้าพบ “ประยุทธ์” โปรยยาหอมยืนยันลงทุนในไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ (Mr. Hiroyuki Ishige) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ โรงแรมนิว โอตานิ (Hotel New Otani) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณ JETRO ที่ช่วยผลักดันเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใน EEC อย่างต่อเนื่อง และขอให้ช่วยสนับสนุนให้เอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนสถาบันวิจัยและพัฒนาของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้น รวมทั้งเชิญชวนเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมประมูลในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆที่จะเปิดประมูลในปีนี้ โดยเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด โดยขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะเดินหน้าโครงการ EEC อย่างต่อเนื่อง และพร้อมดูแลเอกชนญี่ปุ่นเป้นอย่างดี

ด้านประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวชื่นชมนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และ Start-ups ไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นนโยบายที่ช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย พร้อมกันนี้ JETRO ยังยินดีที่ญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยตามนโยบายดังกล่าว และ JETRO ยังพร้อมสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคนิคเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมใหม่ๆของไทยต่อไป

หลังจากนั้น เวลา 17.40 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายทัตสึโอะ ยาสุนากะ ประธานและ CEO บริษัท Mitsui & Co. เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยใน EEC ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาใน EEC และการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันดิบในไทยของบริษัท Mitsui Oil Exploration (MOECO) บริษัทในเครือ ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทเชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า กระบวนการประมูลเพื่อขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบใหม่จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยคาดว่าจะประกาศชื่อผู้ชนะประมูลดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้ และลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตประมาณต้นปี 2562

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการลงทุนในธุรกิจผลิตน้ำตาลในไทยของบริษัท Mitsui & Co. ซึ่งมีมากว่า 40 ปี และความสนใจของบริษัท Mitsui & Co. ในการพัฒนาระบบรางของไทย โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายกำลังตกลงเรื่องรูปแบบในด้านการเงินในโครงการฯ

People unity news online : post 10 ตุลาคม 2561 เวลา 10.30 น.

“สนธิรัตน์” เตรียมนำสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ไปจำหน่ายในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ

People unity news online : “สนธิรัตน์” ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ยืนยันรัฐบาลยังคงเดินหน้าใช้กลไกของร้านค้าช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เผยจะมีการติดตั้งเครื่องรูดบัตรครบ 40,000 แห่งภายในเดือน มิ.ย.นี้ ทำให้ร้านค้าครอบคลุมมากขึ้น ส่วนยอดใช้จ่ายล่าสุด 29,488 ล้านบาท มีสินค้าซื้อขายกว่า 100 ล้านรายการ

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ณ ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านบ่อพลับ หมู่ที่ 3 ตำบลเนินกว้าว อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้ยืนยันว่ารัฐบาลยังคงเดินหน้าใช้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เป็นกลไกในการช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อย และกำลังจะพัฒนาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐให้เป็นร้านโชห่วยมืออาชีพ รวมถึงการเชื่อมโยงผู้ผลิต ให้จัดส่งสินค้าราคาถูกเข้าร้านค้า และเชื่อมโยงสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน เพื่อให้ร้านค้ามีสินค้าที่หลากหลายและมีราคาถูกจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการ และทำให้ร้านค้ามีรายได้มากขึ้น

สำหรับความคืบหน้าการติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ขณะนี้ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตั้งครบตามเป้าหมาย 30,000 ร้านแล้ว และในส่วนของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ) ที่รับผิดชอบติดตั้ง 10,000 แห่ง ขณะนี้ได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 1,800 ร้าน และคาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2561 นี้ จะติดตั้งได้ครบ และทำให้มีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตรครบตามเป้าหมาย 40,000 แห่ง ทำให้มีร้านค้าครอบคลุมผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากขึ้น ส่วนการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวโครงการวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2561 มียอดซื้อขายแล้ว 29,488 ล้านบาท และมีจำนวนสินค้าที่ซื้อขายกว่า 100 ล้านรายการ

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนที่จะหารือกับผู้ผลิตรายใหญ่ ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก ป้อนให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยตั้งเป้าที่จะเปิดให้มีมุมสินค้าธงฟ้า ซึ่งจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาเลือกซื้อสินค้า ซึ่งจะช่วยลดค่าครองชีพได้อีกทางหนึ่ง และยังจะใช้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเป็นที่ขายสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่จำหน่ายให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ และช่วยให้เกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน  มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ผลิต ผู้ค้าส่ง และผู้ขนส่งสินค้า ในการจัดส่งสินค้าราคาถูกให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยให้มีศูนย์กระจายสินค้าทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐมีสินค้าจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนให้กับร้านค้า แต่ยังช่วยดึงดูดให้คนเข้าร้านเพิ่มมากขึ้นด้วย

สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 208,954 ราย จากจำหน่ายประชากรทั้งหมด 1,065,868 คน ขณะนี้มีการติดตั้งเครื่องรูดบัตรแล้ว 397 เครื่อง แบ่งเป็นร้านค้า 395 ร้าน รถโมบายจำนวน 2 คัน

People unity news online : post 11 มิถุนายน 2561 เวลา 13.20 น.

แอร์เอเชียยืนยันกับ ”สมคิด” เตรียมลงทุนในไทยสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน

People unity news online : เมื่อวานนี้ (16 พฤษภาคม 2561) เวลา 14.30 น. นายโทนี่ เฟอร์นานเดส (Mr. Tony Fernandes) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย เข้าเยี่ยมคารวะ รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างแอร์เอเชียกรุ๊ปกับรัฐบาลไทย ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีได้หารือกับนายโทนี่ เฟอร์นานเดส ยืนยันความร่วมมือระหว่างกันใน 3 ประเด็น หลัก ดังนี้

  1. แอร์เอเชียยืนยันแผนลงทุน 5 ปี ในการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul: MRO) ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา) โดยจะใช้เงินลงทุนเริ่มต้นทั้งสิ้น 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะนี้แผนลงทุนนี้ได้รับการอนุมัติในหลักการแล้ว โดยจะเป็นการร่วมทุนระหว่างแอร์เอเชียกับหุ้นส่วน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุง จะทำให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาค
  2. การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ปัจจุบันแอร์เอเชียมีเครื่องสองลำที่ใช้บริการที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาจำนวน 9 แสนคนต่อปี และแอร์เอเชียจะขยายการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเสร็จสิ้น แอร์เอเชียจะเพิ่มเที่ยวบินจากอู่ตะเภาไปยังยุโรป และออสเตรเลีย ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศบายอู่ตะเภาเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทฯเชื่อว่าหากมีการเปิดอาคารผู้โดยสารของสายการบิน Low cost ซึ่งคิดราคาภาษีสนามบินถูกกว่าอาคารผู้โดยสารปกติ จะเป็นการขยายตลาด เพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่สนามบินอู่ตะเภา
  3. การร่วมมือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะลงทุนที่สนามบินแห่งใหม่ที่อยู่ในแผนการสร้างของรัฐบาลไทย อาทิ เขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่/ลำพูน ชุมพร ระนอง เป็นต้น ทั้งนี้จะส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาลไทยด้วย

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณกลุ่มสายการบินแอร์เอเชียที่ให้ความเชื่อมั่นตามแผนการพัฒนาของรัฐบาล และร่วมลงทุนในประเทศไทย

People unity news online : post 17 พฤษภาคม 2561 เวลา 19.10

ธอส.ออกสินเชื่อบ้าน 5 แพ็คเกจ ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย

People unity news online : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เตรียมวงเงินรวม 28,500 ล้านบาท จัดทำแพ็คเกจสินเชื่อบ้านเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าทุกระดับรายได้ ครอบคลุมทุกวัตถุประสงค์การกู้ ตอบโจทย์ลูกค้าทุกระดับ

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า เพื่อให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 2561 ได้ตามเป้าหมายจำนวน 189,000 ล้านบาท ธนาคารจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมทุกวัตถุประสงค์การกู้ และตรงกับความต้องการของลูกค้าทุกระดับ เพื่อให้ ธอส. ก้าวสู่การเป็นที่ 1 ในใจของลูกค้า และเป็นธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน ธนาคารจึงได้จัดทำแพ็คเกจสินเชื่อบ้านเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าทุกระดับรายได้ภายใต้กรอบวงเงินกว่า 28,500 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.สินเชื่อบ้านสวัสดิการ / รายย่อย (Housing Solution) ปี 2561 (กรอบวงเงิน 11,500 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 เท่ากับ MRR-3.95% ต่อปี หรือเท่ากับ 2.80% ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR-3.25% ต่อปี หรือเท่ากับ 3.50% ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.25% ต่อปี หรือเท่ากับ 4.50% ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ กรณีสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี กรณีกู้ซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR  (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส.เท่ากับ 6.75% ต่อปี) สำหรับพนักงานเอกชนที่มีสิทธิขอกู้เงินตามคำนิยามในข้อตกลงโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยประเภทไม่มีเงินฝากที่หน่วยงานได้ลงนามกับธนาคาร ลูกค้ารายย่อยทั่วไป ให้กู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม ซื้อที่ดินเปล่าที่เป็นทรัพย์ NPA ของ ธอส. ไถ่ถอนจำนอง ชำระหนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม

2.สินเชื่อบ้านโครงการจัดสรร (Developer) ปี 2561 (กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 เท่ากับ MRR-4.00% ต่อปี หรือเท่ากับ 2.75% ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR-3.50% ต่อปี หรือเท่ากับ 3.25% ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.25% ต่อปี หรือเท่ากับ 4.50% ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ กรณีสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี และกรณีกู้ซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR สำหรับลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรที่ธนาคารรับเป็นโครงการ Fast Track / Smart Fast Track / Regional Fast Track / LTF ที่ดำเนินโครงการ โดยผู้ประกอบการจัดสรร (Developer) ที่มีข้อตกลงร่วมกับธนาคาร ให้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม

3.สินเชื่อบ้านสุขสันต์ (Refinance In) ปี 2561 (กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เท่ากับ MRR-3.85% ต่อปี หรือเท่ากับ 2.90% ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ กรณีสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี และกรณีกู้ซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR สำหรับลูกค้าที่มีประวัติหนี้ที่ดีกับสถาบันการเงินเดิมย้อนหลัง 12 เดือน ให้กู้เพื่อไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น และเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมกับไถ่ถอนจำนอง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม

4.โครงการสินเชื่อบ้านเพิ่มสุข ปี 2561 (กรอบวงเงิน 2,000 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 เท่ากับ MRR-2.85% ต่อปี หรือเท่ากับ 3.90% ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR ต่อปี สำหรับลูกค้าปัจจุบันของธนาคารที่มีประวัติการผ่อนชำระหนี้ย้อนหลัง 24 เดือน สม่ำเสมอและปกติ และมียอดเงินต้นที่ชำระคืนให้ธนาคารแล้วทุกบัญชีรวมกันไม่น้อยกว่า 50,000 บาท สามารถกู้เพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม

5.โครงการสินเชื่อบ้านมั่งมี ศรีสุข (กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ MRR-3.85% ต่อปี หรือเท่ากับ 2.90% ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ กรณีสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี และกรณีกู้ซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR สำหรับลูกค้าที่มีสวัสดิการและลูกค้ารายย่อยทั่วไป ให้กู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมกับเพื่อซื้อ ยกเว้นค่าธรรมเนียม 4 ฟรี ได้แก่ (1)ฟรีค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม (2)ฟรีค่าประเมินราคาหลักประกัน (3)ฟรีค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และ (4)ฟรีค่าจดทะเบียนจำนอง

ลูกค้าที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2561 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

People unity news online : post 10 มีนาคม 2561 เวลา 11.00 น.

“สมคิด” สั่งรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่อง รักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 62

People unity : “สมคิด” ให้รัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2562

วันนี้ (13 มีนาคม 2562) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดสัมมนาผู้บริหารสูงสุดรัฐวิสาหกิจ หรือ “SOE CEO Forum” ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้บริหารสูงสุด (CEO) ของรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง เข้าร่วมการสัมมนา SOE CEO Forum ในครั้งนี้ ซึ่ง SOE CEO Forum เป็นการสัมมนาที่ได้จัดให้มีอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารนโยบายต่างๆ รวมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง CEO ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ระหว่างกัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความสำคัญของรัฐวิสาหกิจในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2558 – 2561 อัตราการเติบโตของ GDP ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมากจนทำให้ปี 2561 ประเทศไทยมี GDP เท่ากับ 4.1% จากที่ในปี 2557 ที่ GDP เติบโตต่ำกว่า 1% จากการลงทุนและการดำเนินโครงการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลของรัฐวิสากิจ

ทั้งนี้ นายสมคิด ได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้

1.สานต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนใน EEC และการพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนตามภารกิจ

2.เร่งรัดสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้สามารถสนับสนุนการดำเนินการตามภารกิจ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการสาธารณะแก่ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งลงทุนและพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

3.เร่งการพัฒนาการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มากขึ้น และให้มีการใช้ข้อมูลที่มีร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆแก่ประชาชน

4.ร่วมมือกันให้มากขึ้นในการพัฒนาการทำงาน ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน มีการแบ่งปันความรู้และทรัพยากรและสร้างนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ

5.ขอให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพพิจารณาสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถต่อยอดในการพัฒนางานต่างๆของรัฐวิสาหกิจ

ด้าน นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. เปิดเผยว่า ในการสัมมนา SOE CEO Forum ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารให้ CEO ของรัฐวิสาหกิจรับทราบสถานการณ์ต่างๆในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมต่อความท้าทายปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจเสนอแนะและให้ความเห็นต่อการพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ โดยที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจถือเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการลงทุน การดำเนินนโยบายรัฐบาล และการนำส่งรายได้แผ่นดิน รวมทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 รัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์รวมจำนวน 15 ล้านล้านบาท เติบโต 25% จากปี 2556 และมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 4 แสนล้านบาท เติบโต 21% ทำให้รัฐวิสาหกิจสามารถนำส่งรายได้แผ่นดินสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23% จากปี 2556 นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจยังเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนภาครัฐ โดยในปี 2561 รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบลงทุน 3.8 แสนล้านบาท เติบโต 70% จากปี 2556 อีกทั้งรัฐวิสาหกิจได้ดำเนินโครงการที่สำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นให้แก่เศรษฐกิจของประเทศด้วย เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) การสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศ และการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 มีความท้าทายต่อการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ อาทิ เรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง สงครามทางการค้า รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของประชาชน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝากให้รัฐวิสาหกิจร่วมมือกันและเตรียมความพร้อมต่อความท้าทายต่างๆ โดยให้ใช้ Technology และ Big Data ให้มากขึ้น เพื่อให้ยังคงเป็นกำลังสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อไปได้ และให้ สคร. สนับสนุนการทำงานของรัฐวิสาหกิจในเชิงรุกอย่างเต็มที่ในฐานะ Active Partner

เศรษฐกิจ : “สมคิด” สั่งรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่อง รักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 62

People unity : post 13 มีนาคม 2562 เวลา 21.40 น.

กระทรวงท่องเที่ยว-สาธารณสุขพร้อมแล้วเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ

People Unity News : กระทรวงท่องเที่ยว-สาธารณสุข พร้อมแล้ว เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ ย้ำ มาตรการรัดกุม ไม่เสี่ยงโควิด-19 ระบาดระลอก 2

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.63 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV)  ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว คาดว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็จะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ โดยมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรัดกุม มีข้อปฏิบัติก่อนการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง, ทำประกันสุขภาพประกันโควิด-19 ตามข้อกำหนดของรัฐบาล , แจ้งข้อมูลกับบริษัทผู้ประสานงานก่อนการเดินทาง ทั้งโปรแกรมการเดินทางและกำหนดการที่อยู่ในประเทศไทย ผลการตรวจว่าไม่พบเชื้อ ตั๋วเครื่องบินทั้งมาและกลับ ลงนามในหนังสือยินยอมยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐบาลไทยกำหนด ฯลฯ โดยเมื่อเดินทางถึงไทยแล้ว จะต้องมีการกักตัว 14 วัน

“ส่วนที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา มีแนวคิดจะให้นักท่องเที่ยวกักตัว 7 วันนั้น ขณะนี้ยังไม่เริ่ม โดยจะเริ่มจากการกักตัว 14 วันก่อน แล้วค่อยพิจารณาคลายมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ คาดว่าแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเข้าการหารือในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 อีกครั้งในวันที่ 28 ก.ย.นี้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการเดินทางนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) จะเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดเล็ก หรือ เครื่องบินส่วนตัว ทุกเที่ยวบินจะต้องผ่านความเห็นชอบจาก ศปก.กต. หรือ ศปก.ศบค. ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประมาณการรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1,200 คนต่อเดือน รายได้อยู่ที่ 1,030,732,800 บาท และคาดว่า 1 ปีจะมีนักท่องเที่ยว 14,400 คน โดยประมาณการรายได้ 12,368,793,600 บาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย ว่าไม่เสี่ยงต่อการระบาดระลอก 2 ที่ผ่านมารัฐบาลสามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันมากกว่า 100 วัน ทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆของโลก นอกจากนี้ ชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความประสงค์ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว และใช้ชีวิตพร้อมครอบครัว แบบพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในประเทศต่างๆทั่วโลก ดังนั้น ไทยจึงจะใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากได้ผลกระทบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

Advertising  

“สนธิรัตน์” พอใจ 1 ปีร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเกิดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นกว่า 1 แสนล้านบาท

People unity news online : “พาณิชย์” เป็นปลื้มขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐสำเร็จเกินคาด เกิดกระแสเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นกว่า 1 แสนล้านบาท และตั้งเป้าเพื่อการหมุนเวียนเงิน 2 แสนล้านบาทในปี 62 เตรียมลุยเชื่อมโยงนำสินค้าชุมชนเข้าไปขายเพิ่ม ระบุสินค้าชุมชนที่ฮอตฮิตขายดี “ข้าวสาร ผักและผลไม้ตามฤดูกาล เช่น แตงโม ทุเรียน มะนาว สับปะรด กระเทียม หอมแดง ขนมเปี๊ยะเต้าส้อ เค้ก กล้วยตาก กล้วยฉาบ ข้าวแต๋น น้ำพริกต่างๆ”

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการสวัสดิการแห่งรัฐที่ผู้ถือบัตร 11.4 ล้านคน ใช้จ่ายกับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐจำนวนกว่า 5 หมื่นราย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2560 ถึง 20 ก.ย.2561 มียอดซื้อสินค้ารวม 4.1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการใช้เพื่อซื้อสินค้าชุมชนและสินค้าจากเกษตรกรกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในจำนวน 2 หมื่นล้านบาทนี้  คาดว่ามีการหมุนเวียนในภูมิภาค 5 รอบ ประมาณ 1 แสนล้านบาทในปี 61

“เงินจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ได้ใช้จ่ายซื้อสินค้าในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ได้มีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้า ทำให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงฯกำลังเร่งผลักดันให้ร้านค้ารายย่อยเข้าร่วมโครงการให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากลงสู่ร้านค้ารายเล็กรายน้อย โดยได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ 1 แสนราย โดยเงินที่ผู้ถือบัตรนำไปใช้ซื้อสินค้าจากร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตร แต่ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้า และมีผลต่อเนื่องในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าชุมชน เกษตรกร เพราะวงเงินที่ผู้ถือบัตรได้รับ ได้กระจายไปซื้อสินค้าชุมชน สินค้าเกษตรกรด้วย ซึ่งจากที่สำรวจมีประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท และในวงเงินนี้ ได้ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ทำให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชน เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินจับจ่ายใช้สอย และทำให้เศรษฐกิจฐานรากขยายตัวดีขึ้น”

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงได้ดำเนินการเชื่อมโยงเครือข่ายและส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้าชุมชน ให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐและผู้ผลิตสินค้าชุมชน ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ณ จังหวัดอุดรธานี ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีร้านค้า และผู้ผลิตเข้าร่วมประมาณ 500 ราย ให้การตอบรับที่ดีมาก มีการจับคู่ซื้อขายกว่า 90 ราย จำนวนเงินที่ตกลงซื้อขายกันภายในงานประมาณ 5 ล้านบาท และจะมีการซื้อขายกันต่อเนื่องต่อไป ซึ่งกระทรวงได้จัดการเชื่อมโยงเครือข่ายร้านค้าธงฟ้ากับผู้ผลิตสินค้าชุมชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือและภาคใต้อีกเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับอยู่ในระดับเดียวกัน และกระทรวงมีแผนที่จะจัดให้มีการพบปะเชื่อมโยงระหว่างร้านค้าธงฟ้ากับผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง ขอเชิญชวนให้ไปพบปะกันที่จังหวัดเชียงใหม่ และรัฐบาลจะเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ถือบัตร เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่นเพิ่มเติมในปี 62 โดยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนให้มีเงินหมุนไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม และเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด

People unity news online : post 2 ตุลาคม 2561 เวลา 10.40 น.

Verified by ExactMetrics