วันที่ 20 เมษายน 2024

นายกฯ เผย เลขาฯ ยูเอ็น ยันไม่ปิดสำนักงานยูเอ็นในไทย

People Unity News : 22 กันยายน 2566 นายกฯ ปลื้มหารือกับเลขาฯ ยูเอ็น ที่ให้ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ย้ำไม่ปิดสำนักงานยูเอ็นในไทย พร้อมแสดงฝีมือการทำงาน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องการพบกับเลขาธิการสหประชาชาติ ว่า ได้มีการพูดคุยอยู่ประมาณ 15 นาที ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเลขาธิการสหประชาชาตินั้นมีภารกิจมาก แต่ก็เปิดช่วงเวลาให้เข้าพบได้ ทำให้เข้าใจว่าสหประชาชาติให้ความสำคัญ จึงพูดคุยกันนาน เพราะเป็นชาวโปรตุกีสที่เคยมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงมีความผูกพัน และมีความสนใจส่วนตัวในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ที่เป็นเรื่องที่สำคัญ พร้อมกันนี้ ได้ขอร้องท่านเลขาธิการสหประชาชาติว่าประเทศไทยอยากให้ตั้งสำนักงานฯ อยู่ในประเทศไทยต่อไป ซึ่งทางด้านเลขาธิการสหประชาชาติ ยืนยันว่ายังไม่มีความคิดที่จะปิดสำนักงานฯ โดยตนถือว่าเป็นหน่วยงานที่สำคัญ และเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศไทย และมีชาวไทยเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์การของสหประชาชาติเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ไทยได้มีโอกาสแสดงฝีมือตรงนี้บ้าง และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้รับการตอบรับที่ดี

Advertisement

ไทยสนับสนุนการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการ SDG Stimulus

People Unity News : 20 กันยายน 2566 สหรัฐฯ – ไทยประกาศความมุ่งมั่นการขับเคลื่อน SDGs พร้อมเสริมสร้างกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้เข้มแข็ง

เมื่อเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ของวันที่ 19 กันยายน ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023)

นายกรัฐมนตรี รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023 ซึ่งถือเป็นการกล่าวถ้อยแถลงครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีที่องค์การสหประชาชาติ รัฐบาลยังคงเน้นย้ำเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ทั้งนี้ ความร่วมมือของทุกประเทศในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ได้เผชิญกับความท้าทายร่วมกันมาถึงในช่วงครึ่งทางของวาระดังกล่าว และในทศวรรษนี้ ซึ่งสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน การลดช่องว่างทางการเงิน รวมถึงสรรหานวัตกรรมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับความท้าทาย และการร่วมกันขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 ซึ่งสำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030

นายกรัฐมนตรี มองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้

1.ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน รวมทั้งลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี ค.ศ. 2027

2.ไทยประกาศความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ เช่น การตั้งเป้าหมายที่จะให้ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนที่ยากจนหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ต้องมีจำนวนลดลงไม่เกินร้อยละ 0.25 ภายในปี ค.ศ 2027

3.ไทยประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือภายในปี ค.ศ 2030

นายกรัฐมนตรีหวังว่า การประกาศความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องดังกล่าวจะสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อประชาชนและโลกที่ดีขึ้นต่อไป

Advertisement

นายกฯ โพสต์ พร้อมแสดงบทบาทใหม่ของไทยในเวทียูเอ็น

People Unity News : 18 กันยายน 2566 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – นายกฯ โพสต์ข้อความ ก่อนเดินทางร่วมประชุมยูเอ็น ที่สหรัฐ 18-24 ก.ย.นี้ ระบุ เป็นภารกิจต่างประเทศอย่างเป็นทางการแรกของรัฐบาลใหม่ พร้อมแสดงบทบาทใหม่ของไทยที่จะเปลี่ยนไปบนเวทีโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อออกเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18  – 24 กันยายน 2566  ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้โพสต์ข้อความและภาพถ่ายผ่านเอ็กซ์โดยระบุว่า  #UNGA78 จะเป็นภารกิจต่างประเทศอย่างเป็นทางการแรกของรัฐบาลใหม่ เพื่อแสดงบทบาทใหม่ของไทยที่จะเปลี่ยนไปให้กับเวทีโลกเห็น ผมตั้งใจจะขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อบรรลุ #SDGs ความสำคัญในการยึดมั่นระบบพหุภาคี และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายและความต้องการของประชาคมโลกในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระดมทุนเพื่อการพัฒนา และสิ่งแวดล้อมสีเขียว และด้านอื่น ๆ อย่างครอบคลุม

เดินหน้าเต็มที่เพื่อประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน และกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำจากนานาประเทศ เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่งคั่ง รวมทั้งความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคนครับ “ขณะเดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ระหว่างวันที่ 18  – 24 กันยายน 2566  ว่า

“#UNGA78 will be my Government’s first official mission abroad, presenting a new face for Thailand’s role on the world stage. I intend to drive action to achieve the #SDGs, commit to upholding multilateralism and promoting international cooperation to respond to today’s challenges and needs of the global community > this includes climate change, financing for development, green growth and more. Eager to explore collaboration with all stakeholders, both public and private, and to strengthen ties with other leaders, in fostering peace, prosperity & sustainability for all.

Advertisement

“ปานปรีย์” ระบุไทยยึดกลไกอาเซียนแก้ปัญหาการเมืองเมียนมา ย้ำไทยให้ความสำคัญการทูตเชิงมนุษยธรรม

People Unity News : 14 กันยายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีสถานการณ์ทางการเมืองของเมียนมาว่า ประเทศไทย และเมียนมา ถือเป็นมิตรประเทศกัน ซึ่งสถานการณ์เมียนมานั้น ถือเป็นปัญหาภายใน ที่ควรได้รับการแก้ไขตามกระบวนการกฎหมายของเมียนมา และตามกลไกของอาเซียน โดยไม่ควรละเลยอาเซียน เพราะอาเซียนก็ยังคงมีเอกภาพอยู่ และยังคงมี 5 ฉันทามติร่วมของอาเซียน ที่มอบหมายให้เมียนมาดำเนินการตามฉันทามตินั้น ซึ่งรัฐบาล ก็ยังคงยึดถือตามฉันทามติดังกล่าวด้วย

แต่ปัญหาที่ประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากเมียนมา เช่น ปัญหายาเสพติด การลักลอบข้ามแดนนั้น นายปานปรีย์ ยืนยันว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะต้องมีการพูดคุยกัน แต่ปัญหาภายในเมียนมา ทั้งความขัดแย้ง กระบวนการทางประชาธิปไตย รวมไปถึงกรณีที่เกี่ยวข้องกับนางอองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า เป็นเรื่องที่เมียนมาจะต้องบริหารจัดการ โดยที่ไทยจะต้องไปหารือร่วมกับอาเซียน เพื่อช่วยให้เกิดสันติภาพในเมียนมา

ส่วนจะมีการพูดคุยกับเมียนมานอกรอบที่ไม่ได้อยู่ในกรอบอาเซียนเหมือนรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่นั้น นายปานปรีย์ ระบุว่า จะต้องพิจารณาตามความจำเป็น และปรึกษาประธานอาเซียนก่อน ซึ่งตอนนี้ก็สามารถประชุมผ่านทางออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นจะต้องบินไปพบปะหารือกันโดยตรง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากหากไทยจะหารือกับอาเซียนก่อนที่จะมีการพูดคุยกับเมียนมา แต่หากเป็นเรื่องระหว่างประเทศ เช่น ปัญหายาเสพติด ลักลอบข้ามแดน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งไทย และเมียนมา ก็สามารถพูดคุยกันได้อยู่แล้ว

นายปานปรีย์ ยังกล่าวถึงการทูตเชิงมนุษยธรรมว่า ไทยทำเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นแนวทางอาเซียนที่ไทยสนับสนุน ดังนั้นเรื่องประชาธิปไตย และการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ประเทศไทยสนับสนุนอยู่แล้วไม่มีปัญหา

Advertisement

ประธานสภาที่ปรึกษาซาอุฯ พบนายกรัฐมนตรี

People Unity News : 20 กรกฎาคม 2566 ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ “พล.อ.ประยุทธ์” พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในเขตอีอีซี

ดร.อับดุลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด อิบราฮิม อัล-ชีค ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองฝ่ายยินดีจะสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย มีแนวทางที่จะยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางพิเศษ และสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ

Advertisement

“วราวุธ” เผย “พลายศักดิ์สุรินทร์” อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ทำคนไทยคลายใจหายกังวลเรื่องจะถูกส่งกลับ

People Unity News : 5 กรกฎาคม 2566 “วราวุธ” เผย “กัญจนา” พร้อมทีมแพทย์จะไปศรีลังกาอีกครั้งต้นเดือน ก.ย.นี้ ถ่ายทอดการดูแลรักษาพยาบาลช้าง ระบุ “พลายศักดิ์สุรินทร์” อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ทำคนไทยคลายใจหายห่วง หวั่นต้องส่งกลับ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ขณะนี้กลุ่มแฟนคลับพลายศักดิ์สุรินทร์ และบรรดาคนรักช้าง มีความห่วงใย ช้างอีก 2 เชือกของไทยที่ยังอยู่ที่ประเทศศรีลังกาและสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมากต่อความเป็นไปได้ที่จะนำกลับมาประเทศไทยด้วยหรือไม่ ว่า ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจะส่งทีมสัตวแพทย์ไปพร้อมกับ น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อดูแนวทางความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานของไทยและหน่วยงานของศรีลังกา ในการถ่ายทอดความรู้ เทคนิคเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลช้าง เพราะศรีลังกาเป็นประเทศที่มีช้างเลี้ยงและช้างป่าจำนวนมาก

“สอดคล้องกับการที่มีคณะสัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองที่พลายประตูผาอยู่  ได้ติดต่อมายังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแสดงเจตจำนงว่ามีความพร้อมที่จะช่วยดูแลและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง ดังนั้น จากนี้ไปการทำงานด้านสุขภาพช้างระหว่างไทยกับศรีลังกาจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น” นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับประเด็นของพลายประตูผาเป็นเรื่องที่แตกต่างจากพลายศักดิ์สุรินทร์ เพราะพลายศักดิ์สุรินทร์อายุเพียง 30 ปี ยังหนุ่ม ขณะที่พลายประตูผาอายุเกือบ 50 ปีแล้ว ซึ่งสัตวแพทย์มีความเห็นว่าการเคลื่อนย้ายพลายประตูผาข้ามประเทศมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายกับตัวช้างเอง วิธีที่ดีที่สุดคือให้ประตูผาได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ด้วยการทำโครงการความร่วมมือกันระหว่างไทยกับศรีลังกาในการแลกเปลี่ยนความรู้ บุคลากร เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง

“การทำเช่นนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการดูแลช้างระยะยาวในประเทศศรีลังกาได้ และเชื่อว่า จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยคลายความห่วงกังวลต่อช้างไทยที่ยังอยู่ในศรีลังกาได้ ซึ่งโครงการแลกเปลี่ยนดังกล่าวอาจทำ MOU ขึ้น ซึ่งต้องให้กรมอุทยานฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เป็นผู้ลงนามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศศรีลังกา เพื่อทำความตกลงแลกเปลี่ยน เทคโนโลยี และความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลช้าง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้การดูแลช้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องยาวนาน” นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับพลายศรีณรงค์ จากการที่ น.ส.กัญจนาได้ไปเยี่ยมมาด้วยตัวเอง ได้เห็นว่ามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพปกติดีอยู่ และการเดินทางไปศรีลังกาในต้นเดือนกันยายนนี้ น.ส.กัญจนาจะไปเยี่ยมพลายศรีณรงค์อีกครั้ง นายวราวุธ กล่าวว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบรายละเอียดเรื่องการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทย รวมทั้งกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นที่ปลื้มปิติของชาวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ทีมงานทุกคนและปวงชนชาวไทย ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติและช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวง ทส.จนทุกอย่างราบรื่น ซึ่งการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้พระบรมราชานุเคราะห์ ทำให้ความกังวลเรื่องที่จะต้องส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับศรีลังกาหรือไม่นั้นหายไป ส่วนทีมแพทย์จะรักษาอาการบาดเจ็บของพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างเต็มที่

Advertisement

ไทย–กัมพูชา บรรลุข้อตกลงจ้างแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

People Unity News : 5 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดี ไทย – กัมพูชา บรรลุข้อตกลงการจ้างแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ พร้อมแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความคืบหน้าประเด็นการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ณ โรงแรมอังกอร์พาราไดซ์ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 19 – 21 เมษายน 2566 เชื่อมั่นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เข้าร่วมการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา – ไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีผลประชุมที่สำคัญ ดังนี้

การออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชาในประเทศไทย แรงงานกัมพูชาสามารถเดินทางไปทำเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ พระตะบอง และบันเตียเมียนเจย

กรณีแรงงานกัมพูชาไม่มีเอกสารเดินทาง สามารถขอเอกสารข้ามแดนได้ที่สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำราชอาณาจักรไทยเพื่อเดินทางไปกัมพูชาและขอบัตรแรงงานกัมพูชาในต่างแดน (Overseas Cambodia Worker Card : OCWC) และเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services โดยฝ่ายไทยจะแจ้งข้อมูลของแรงงานกัมพูชาที่จำเป็นต้องจัดทำเอกสาร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบและยืนยันข้อมูล เพื่อพิจารณาออกเอกสารเดินทาง (TD) ฉบับใหม่

การปรับปรุงแก้ไขบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันเรื่องการตรวจสุขภาพในประเทศต้นทาง ต้องกำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศผู้รับ โดยแรงงานจะต้องตรวจสุขภาพจากประเทศต้นทางก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

“นายกรัฐมนตรีรับทราบ และขอบคุณการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพได้สำเร็จ เชื่อมั่นว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนแก่แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ได้รับการดูแลคุ้มครองตามมาตรฐานสากล จะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง และผู้ประกอบการ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมถึงจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

 

ความร่วมมือการค้าไทย-อินเดียก้าวหน้า จัดประชุม JTC ครั้งแรกในรอบ 20 ปี

People Unity News : 4 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ยินดีความร่วมมือด้านการค้าไทย-อินเดีย ก้าวหน้า รื้อฟื้นการจัดประชุม JTC ร่วมกันในรอบ 20 ปี ผลักดันการแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า เปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย จนมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 13 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 20 ปี นับจากการประชุมเมื่อปี 2546

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุม JTC ถือเป็นกลไกสำคัญในการหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งในปี 2563 ไทยและอินเดียตกลงรื้อฟื้นการประชุม JTC ขึ้นใหม่ ภายหลังว่างเว้นมานานเกือบ 2 ทศวรรษ เนื่องจากทั้งสองประเทศเข้าสู่การเจรจา FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย โดยการประชุม JTC ในครั้งนี้ มีวาระการหารือที่สำคัญเกี่ยวกับการลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดีย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะใช้การลงนามและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้งผลักดันการใช้ QR Code ผ่านการเชื่อมโยงระบบ Unified Payments Interface (UPI) ของอินเดีย กับระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย เพื่อรองรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทำภาพยนตร์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นอกจากนี้ไทยได้ขอให้อินเดียพิจารณาคำขอเปิดตลาดสินค้ามะพร้าวอ่อนของไทย พร้อมทั้งพิจารณายกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้ายางล้อและโทรทัศน์สี มาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่มีสารทำความเย็น และการจำกัดด่านนำเข้ายางพาราและไม้ตัดดอก ซึ่งอินเดียพร้อมพิจารณา

ทั้งนี้ ไทยและอินเดียถือเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญของกันและกัน มีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2565 รวมกว่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินเดียถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ และถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผลักดันให้มีการประชุม JTC จนเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อีกครั้ง มุ่งหวังว่าการประชุมนี้จะสามารถหารือเพื่อทางออกสู่แนวทางแก้ไขอุปสรรคทางการค้า และเปิดตลาดในส่วนที่มีศักยภาพร่วมกันได้ และมั่นใจว่าการประชุมนี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญเพื่อผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดียให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น จะช่วยต่อยอดเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งสองประเทศ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ไทย-รัสเซียทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

People Unity News : 15 มีนาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.วานนี้อนุมัติให้ลงนามร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-รัสเซีย ต้องเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี ถึงจะส่งตัวได้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติลงนามร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการดำเนินการให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการปราบปรามอาชญากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระและหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดนคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศต่าง ๆ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551

“สำหรับข้อกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อาทิ 1.ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ ต้องเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ (Double Criminality) และเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี 2.ผู้ประสานงานกลางของฝ่ายไทยตามสนธิสัญญานี้ คือ อัยการสูงสุด และฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย คือ สำนักงานอัยการสูงสุด 3.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ ไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลซึ่งกระทำความผิดทางการเมืองและความผิดทางทหาร ทั้งนี้ ความผิดต่อประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว และการกระทำหรือการละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดอาญาตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาพหุภาคีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 4.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อมีเหตุต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายของภาคีแต่ละฝ่าย อาทิ ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหาร ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ 5.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ สามารถปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อภาคีที่ได้รับการร้องขอมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทบต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือภาคีที่ได้รับการร้องขอกำลังดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวในความผิดนั้นอยู่ 6.สนธิสัญญานี้ไม่กำหนดให้คู่ภาคีมีพันธกรณีใด ๆ ที่จะต้องส่งคนชาติของคนข้ามแดน อย่างไรก็ดี กรณีที่มีการปฏิเสธการส่งคนชาติข้ามแดน ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องเสนอคดีนั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องคดีต่อไป เว้นแต่ว่าภาคีที่ได้รับการร้องขอไม่มีอำนาจเหนือความผิดนั้น ก็จะไม่ต้องเสนอคดีนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อฟ้องคดี

“7.กรณีเร่งด่วน ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถร้องขอให้มีการจับกุมตัวชั่วคราว (Provisional Arrest) บุคคลที่ต้องการ เพื่อให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปได้ 8.ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการแบบย่อ (Simplified procedure) ในกรณีที่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวยินยอมต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือศาลแห่งภาคีที่ได้รับการร้องขอ 9.กรณีที่ได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้ร้องขอตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป ให้ภาคีที่ได้รับการร้องขอพิจารณาว่าจะส่งบุคคลนั้นข้ามแดนให้แก่ประเทศใด โดยนำเหตุผลดังต่อไปนี้มาพิจารณาทั้งหมด 1)ประเทศผู้ร้องขอมีหรือไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย 2)สัญชาติของบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว 3)เวลาและสถานที่กระทำความผิด 4)ความร้ายแรงของความผิด 5) ลำดับคำร้องขอที่ได้รับจากประเทศผู้ร้องขอ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 10.กำหนดหลักการว่าบุคคลที่ถูกส่งตัวไป จะไม่ถูกลงโทษในความผิดอื่น นอกเหนือจากในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 11.กำหนดขั้นตอนการวินิจฉัยคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการส่งมอบตัวบุคคลในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 12.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนกระทั่งถึงเวลาส่งมอบตัว

“ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและการดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากร่างสนธิสัญญาไม่ได้มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

ผบ.ทร.เยือนญี่ปุ่นกระชับสัมพันธ์ยาวนาน

People Unity News : 15 กุมภาพันธ์ 2566 ผบ.ทร.เยือนญี่ปุ่น ในฐานะแขกของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ย้ำสัมพันธ์ทหารเรือสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน

พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์  ผู้บัญชาการทหารเรือ เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 12 – 16 กุมภาพันธ์ 2566 โดยผู้บัญชาการทหารเรือและคณะได้เยี่ยมชมฐานทัพเรือโยโกสุกะและฐานทัพเรือฟูนาโกชิ พร้อมทั้งเยี่ยมชมเรือเตรุสึกิ (JS Teruzuki  DD-116) ซึ่งเป็นเรือรบชั้น Destroyer ของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ กองทัพเรือไทยและกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บังคับบัญชาเพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้าใจอันดีอยู่เสมอ ล่าสุด ระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2565 กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Western Pacific Naval Symposium (WPNS) ครั้งที่ 18 โดยจัดให้มีพิธีสวนสนามทางเรือ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ณ อ่าวซากามิ จังหวัดคานางาว่า ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือได้ไปร่วมประชุมและชมการสวนสนามทางเรือ รวมทั้งกองทัพเรือได้จัดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เข้าร่วมการสวนสนามทางเรือด้วย

Advertisement

Verified by ExactMetrics