วันที่ 25 เมษายน 2024

Soft Power “ปลากุเลาจากตากใบ” ในเวทีเอเปค 2022

People Unity News : 13 พฤศจิกายน 2565 Soft Power “ปลากุเลาจากตากใบ” ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารในเวทีเอเปค 2022

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เปิดเผยว่า “ปลากุเลาจากตากใบ” ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสริฟในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์แก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค2022 ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมกองทัพเรือ มีเชฟชุมพล เป็นผู้รับผิดชอบ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการโปรโมทของดีจังหวัดชายแดนใต้ เป็นสินค้าท้องถิ่นขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาสให้โด่งดังเพราะ “ปลากุเลาเค็มตากใบ” เป็นปลาสายพันธุ์ท้องถิ่นของจังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา คนทั่วไปขนานนามว่า “ราชาแห่งปลาเค็ม” เนื่องจากมีรสสัมผัสกลมกล่อม เนื้อฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้ปลากุเลาเค็มตากใบ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,300-1,500 เป็นของฝากยอดนิยมที่ผู้คนมักซื้อไปฝากกัน

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลากุเลาเค็ม นอกจากจะเป็นสินค้าเลื่องชื่อของ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แล้ว ยังเป็นสินค้าโด่งดังของ จ.ปัตตานี ด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐบาล โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ได้เข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการแปรรูปอาหารทะเล เพื่อสร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจประมงพื้นบ้านของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อาทิ วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ที่ขณะนี้มีผู้รู้จักไปทั่วประเทศ ซึ่งจากการที่ ศอ.บต. ได้สนับสนุนและผลักดันที่ดินเพื่อการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจจำนวน 3 ไร่ และให้ทุนในการสร้างโรงเรือน ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และผลิตปลาเค็มที่ได้รับความนิยมจากประชาชนภายนอกเป็นอย่างมาก

“การจัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้นำ เอเปค 2022 ใช้คอนเซปต์ Sustainable Thai Gastronomy เพื่อแสดงถึงศักยภาพของอาหารไทย และประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารสำคัญของโลก โดยวัตถุดิบที่ใช้ในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์  คัดสรรจากวัตถุดิบของไทยทั้งหมด จากทั่วประเทศ เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ใช้แนวคิด BCG โมเดล มีอาหาร 4 คอร์ส เป็นอาหารไทยขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของไทย อาทิ ข้าวซอย ต้มข่าไก่ ต้มยำ ขนมหม้อแกงเผือกภูเขา ผักจากโครงการหลวง ไข่ปลาคาร์เวียจากโครงการหลวง ดอยอินทนนท์ เนื้อจากโพนยางคำ ปลากุเลาจากตากใบ รวมถึงเครื่องดื่มเป็นไวน์ไทยจากเขาใหญ่ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสของการเผยแพร่ Soft power ในวัฒนธรรมอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่คนไทยภาคภูมิใจทั้งนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 นี้” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

“เศรษฐา” หารือทวิภาคีนายกฯจีน กระชับความร่วมมือการค้า การท่องเที่ยว ความมั่นคง และความเข้าใจอันดีระหว่าง ปชช.

People Unity News : 18 ตุลาคม 2566 สาธารณรัฐประชาชนจีน – นายกฯ ไทย-จีน เห็นพ้องกระชับความร่วมมือด้านการค้า การท่องเที่ยว ความมั่นคง และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชน รวมทั้งแสดงความเสียใจต่อกรณีนักท่องเที่ยวจีน

เมื่อเวลา 17.35 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) ณ Peony Hall เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือทวิภาคีกับ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าา รู้สึกยินดีที่ได้มาเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีจีน และกล่าวขอบคุณการต้อนรับที่อบอุ่นในวันนี้ พร้อมชื่นชมต่อความสำเร็จของจีนในการจัดการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 3 และการเป็นเจ้าภาพจัดเอเชียนเกมส์

สำหรับประเด็นสำคัญในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ ด้านความสัมพันธ์ไทย – จีน โดยทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันสานต่อความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทย-จีน ซึ่งเป็นมิตรแท้ร่วมกันมายาวนาน พร้อมเห็นพ้องแลกเปลี่ยนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในระดับการเมือง และพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ

ด้านนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เน้นย้ำเจตนารมณ์ในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย – จีน เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย – จีน และในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีไทยเชิญนายกรัฐมนตรีจีนเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสที่สะดวก

ส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไทยและจีนยืนยันความร่วมมือเพื่อเผชิญกับความท้าทายทุกมิติทั่วโลก ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ความเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทาน เพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อสถานการณ์โลก

โดยนายกรัฐมนตรี ได้เชิญภาคเอกชนจีนมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานโครงการ Landbridge ด้านนายกรัฐมนตรีจีนยินดีส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย-จีน ให้เพิ่มพูนทุกด้าน พร้อมส่งเสริมให้นักลงทุนจีนมาลงทุนในไทย และพร้อมต้อนรับดูแลการลงทุน

นายกรัฐมนตรี ขอรับการสนับสนุน การนำเข้าสินค้าเกษตรไทย โดยขอให้จัดตั้งด่านตรวจสินค้าเกษตรที่ท่าเรือกวนเหล่ย และเพิ่มโควต้านำเข้าข้าว และการนำเข้าโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์โคโดยตรงจากไทย ทั้งนี้ทางไทยพร้อมจะปฏิบัติตามมาตรฐานการกักกันโรคตามหลักวิชาการสัตวแพทย์เท่าที่ทางจีนกำหนด ทั้งสองฝ่ายยังพร้อมส่งเสริมความเชื่อมโยง โดยเฉพาะโครงการรถไฟไทย – ลาว – จีน ตามแนวคิดระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยง 3 ประเทศ รวมทั้งโลจิสติกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกขนส่งสินค้า การเดินทางของประชาชน และการพัฒนาของภูมิภาค

ความร่วมมือด้านท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเสียใจที่มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้า ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงตรวจลงตราที่ยกเว้นให้นักท่องเที่ยวจีน และขอให้ฝ่ายจีนพิจารณายกเว้นให้ชาวไทยเช่นกัน ด้านนายกรัฐมนตรีจีนให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

ความร่วมมือด้านความมั่นคง ไทยและจีนต่างเห็นพ้องในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายประเทศ เพราะอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้านของไทย พร้อมร่วมกันแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์ อาทิ คอลเซ็นต์เตอร์การพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชนไทย จีน และประเทศทั้งในและนอกภูมิภาค

ขณะที่ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและระดับประชาชน นายกรัฐมนตรีจีนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและระดับประชาชน โดยเฉพาะการศึกษาของเยาวชนและสื่อมวลชนทั้งสองประเทศ

ส่วนความร่วมมือในกรอบพหุภาคี จีนสนับสนุนบทบาทสร้างสรรค์ของกันและกันในกรอบอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรอบ ASEAN-จีน และ MLC เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองต่อภูมิภาคและโลก

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสักขีพยานการลงนามในเอกสารสำคัญร่วมกัน 6 ฉบับ ดังนี้

1.บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อการจัดตั้งกลไกประสานงานสำหรับการร่วมกันส่งเสริมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง

2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน

3.การจัดทำพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

4.แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับปี พ.ศ. 2566 – 2570

5.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับทบวงกิจการภาพยนตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

6.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชนและสารสนเทศระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับกลุ่มสื่อแห่งชาติจีน

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้รับทราบการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

Advertisement

ประธานาธิบดีเยอรมนี เยือนไทย เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี 24 – 26 มกราคม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 มกราคม 2567 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ พร้อมให้การต้อนรับ หารือทวิภาคีประธานาธิบดีเยอรมนี เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์สองประเทศ พร้อมผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในทุกมิติ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีกับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในห้วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 24 – 26 มกราคม 2567 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะให้การต้อนรับประธานาธิบดีเยอรมนี ภริยาและคณะอย่างเป็นทางการ วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเยอรมนี พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมหารือร่วมกับภาคเอกชนของเยอรมนี หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเยอรมนี จะร่วมแถลงข่าว และภายหลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีเยอรมนี และภริยา พร้อมด้วยคณะผู้แทนเยอรมนี

นายชัย กล่าวว่า การเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยประธานาธิบดีเยอรมนี พร้อมคณะ จะเดินทางไปศึกษาดูงานในหลายภาคส่วนที่มีศักยภาพของไทย อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด โครงการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบครบวงจร อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาชีวศึกษา

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเยือนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยและเยอรมนี ในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตร ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติให้มีความก้าวหน้า บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของไทยในเวทีระหว่างประเทศ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับการเยือนในครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และเป็นการเยือนประเทศไทยในระดับประธานาธิบดีของเยอรมนีเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่การเยือนของประธานาธิบดีโยฮันเนส เรา เมื่อปี 2545 นอกจากนี้การเยือนในครั้งนี้ ยังถือเป็นการต้อนรับผู้นำรัฐจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

ไทย-รัสเซียทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

People Unity News : 15 มีนาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.วานนี้อนุมัติให้ลงนามร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-รัสเซีย ต้องเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี ถึงจะส่งตัวได้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติลงนามร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการดำเนินการให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการปราบปรามอาชญากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระและหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดนคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศต่าง ๆ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551

“สำหรับข้อกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อาทิ 1.ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ ต้องเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ (Double Criminality) และเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี 2.ผู้ประสานงานกลางของฝ่ายไทยตามสนธิสัญญานี้ คือ อัยการสูงสุด และฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย คือ สำนักงานอัยการสูงสุด 3.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ ไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลซึ่งกระทำความผิดทางการเมืองและความผิดทางทหาร ทั้งนี้ ความผิดต่อประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว และการกระทำหรือการละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดอาญาตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาพหุภาคีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 4.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อมีเหตุต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายของภาคีแต่ละฝ่าย อาทิ ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหาร ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ 5.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ สามารถปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อภาคีที่ได้รับการร้องขอมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทบต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือภาคีที่ได้รับการร้องขอกำลังดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวในความผิดนั้นอยู่ 6.สนธิสัญญานี้ไม่กำหนดให้คู่ภาคีมีพันธกรณีใด ๆ ที่จะต้องส่งคนชาติของคนข้ามแดน อย่างไรก็ดี กรณีที่มีการปฏิเสธการส่งคนชาติข้ามแดน ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องเสนอคดีนั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องคดีต่อไป เว้นแต่ว่าภาคีที่ได้รับการร้องขอไม่มีอำนาจเหนือความผิดนั้น ก็จะไม่ต้องเสนอคดีนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อฟ้องคดี

“7.กรณีเร่งด่วน ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถร้องขอให้มีการจับกุมตัวชั่วคราว (Provisional Arrest) บุคคลที่ต้องการ เพื่อให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปได้ 8.ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการแบบย่อ (Simplified procedure) ในกรณีที่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวยินยอมต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือศาลแห่งภาคีที่ได้รับการร้องขอ 9.กรณีที่ได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้ร้องขอตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป ให้ภาคีที่ได้รับการร้องขอพิจารณาว่าจะส่งบุคคลนั้นข้ามแดนให้แก่ประเทศใด โดยนำเหตุผลดังต่อไปนี้มาพิจารณาทั้งหมด 1)ประเทศผู้ร้องขอมีหรือไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย 2)สัญชาติของบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว 3)เวลาและสถานที่กระทำความผิด 4)ความร้ายแรงของความผิด 5) ลำดับคำร้องขอที่ได้รับจากประเทศผู้ร้องขอ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 10.กำหนดหลักการว่าบุคคลที่ถูกส่งตัวไป จะไม่ถูกลงโทษในความผิดอื่น นอกเหนือจากในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 11.กำหนดขั้นตอนการวินิจฉัยคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการส่งมอบตัวบุคคลในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 12.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนกระทั่งถึงเวลาส่งมอบตัว

“ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและการดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากร่างสนธิสัญญาไม่ได้มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

นายกฯ ไทย-มาเลเซีย แถลงร่วม มุ่งพัฒนาพื้นที่ชายแดนเป็น “แผ่นดินทอง”

People Unity News : 9 กุมภาพันธ์ 2566 แถลงร่วม นายกฯ ไทย – มาเลเซีย มุ่งพัฒนาพื้นที่ชายแดนเป็นเสาหลักแห่งความมั่งคั่ง และ “แผ่นดินทอง” สร้างความสุขสงบและความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชาชนทั้งสองประเทศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียถือเป็นมิตรที่เข้าใจไทย มีส่วนสำคัญในการสานสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียให้แนบแน่น

ในระหว่างการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและมุมมองครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน เห็นพ้องถึงการผสานความร่วมมือ ผลักดันความเชื่อมโยงทุกมิติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย ให้เป็นเสาหลักแห่งความมั่งคั่ง เพื่อให้พื้นที่ชายแดนร่วมเป็น “แผ่นดินทอง” ที่มีความสุขสงบ ซึ่งมีผลลัพธ์สำคัญ ดังนี้

ด้านการส่งเสริมการเชื่อมโยงกันในทุกมิติ ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะสนับสนุนการไปมาหาสู่และการค้าขายระหว่างไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ของไทยกับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย ตลอดจนการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งใหม่ รวมถึงการเชื่อมโยงที่ครอบคลุม ทั้งในกรอบทวิภาคีและไตรภาคีอย่าง IMT-GT ที่ช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน และสามารถยังประโยชน์ถึงประชาชนได้ทุกระดับถึงรากหญ้า

ด้านการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับมาเลเซียยังมีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาได้อีกมาก จึงต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มมูลค่าและพลวัตของการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้า คือ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568

ด้านการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และรัฐชายแดนภาคเหนือของมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนระยะยาว และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

ด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรม ผ่านความร่วมมือ ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งชาวมาเลเซีย ถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มาท่องเที่ยวไทยในปี 2565 และคนไทยจำนวนไม่น้อยต่างชื่นชอบที่จะไปท่องเที่ยวที่มาเลเซีย

ด้านการร่วมมือกันในระดับภูมิภาคและในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองของการพัฒนาในภูมิภาคและในระดับโลก พร้อมย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนและการมีเอกภาพในการทำงานร่วมกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของโลก

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และรัฐบาลมาเลเซียอย่างเต็มที่ในทุกระดับ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ มาเลเซียมาดานี (Malaysia Mandani) ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ความก้าวหน้าอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเช่นกัน รวมทั้งได้สนับสนุนให้เอกชนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ช่วยดูแลนักลงทุนไทยในมาเลเซียเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างกัน

ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เยี่ยมชมนิทรรศการศิลปหัตถกรรม ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี และนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและภริยา ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก

อนึ่ง นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลง 4 ฉบับ ได้แก่

1.บันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ Tenaga Nasional Berhad (TNB) ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อเสนอในการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมต่อโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างคาบสมุทรมาเลเซียและไทย

2.บันทึกความเข้าใจระหว่าง TNB Renewable Sdn. Bhd. (“TRe”) และ Planet Utility Co., Ltd. (“Planet Utility”) เกี่ยวกับข้อเสนอในการร่วมมือสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานในประเทศไทย

3.บันทึกความตกลงระหว่าง TNB Power Generation Sdn. Bhd. (“GenCo”) และ B Grimm Power Public Co. Ltd. (“B Grimm”) ซึ่งเกี่ยวกับข้อเสนอในการแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน การมีส่วนร่วม และการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4.บันทึกความเข้าใจระหว่าง Malaysia Digital Economy Corporation SDN. BHD. (MDEC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

Advertisement

นายกฯ พบหารือ “ปูติน” พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทุกมิติ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

People Unity News : 17 ตุลาคม 2566 สาธารณรัฐประชาชนจีน – นายกฯ หารือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ย้ำ เจตจำนงร่วมกันยกระดับความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย พร้อมส่งเสริม ความร่วมมือทุกมิติ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

เมื่อเวลา 18.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชม.) ณ เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือทวิภาคีกับนายวลาดิมีร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

โดยนายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้พบหารือกับประธานาธิบดีปูตินในวันนี้ (17 ต.ค.) เป็นโอกาสอันดีในการแสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยรัสเซียถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน ทั้งสองฝ่ายเพิ่งฉลองครบรอบ 125 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมื่อปี 2565 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรม

ด้านประธานาธิบดีปูติน ชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนานระหว่างไทยกับรัสเซีย พร้อมทั้งเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้นอย่างมาก โดยปี 2567 (ค.ศ. 2024) จะเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทย-รัสเซีย นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซียมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และนายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมามีมติเพิ่มวันพำนักให้ชาวรัสเซียจาก 30 วันเป็น 90 วัน ด้วย

สำหรับประเด็นการหารือที่ทั้งสองฝ่ายเห็นควรร่วมมือกัน ด้านการเมือง ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างบุคลากรสภาความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญประธานาธิบดีรัสเซีย เดินทางเยือนไทยซึ่งประธานาธิบดีรัสเซีย ตอบรับ โดยจะได้ร่วมกำหนดวันที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกต่อไป

จากนั้นในเวลา 18.30 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำโดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนและภริยาเป็นเจ้าภาพ ณ มหาศาลาประชาชน

Advertisement

“หวัง อี้” รมว.ต่างประเทศจีน เข้าพบหารือ “ประยุทธ์”

People unity news online : วันนี้ (24 กรกฎาคม 2560) เวลา 10.30 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณจีนที่ได้มอบหมายให้ผู้แทนรัฐบาลจีนเดินทางไปสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อถวายความไว้อาลัย และมอบหมายให้ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีจีน เดินทางมาไทยเพื่อถวายสักการะพระบรมศพฯ

ไทยยินดีที่จีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เจริญก้าวหน้าและมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการมีบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในเวทีต่างๆ โดยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือที่เกิดผลเป็นรูปธรรมมากมายทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค พร้อมย้ำว่าจีนเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อีกทั้งจีนยังเข้าใจสถานการณ์ด้านการเมืองของไทย และเชื่อมั่นในประเทศไทย ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์กับไทยอย่างต่อเนื่อง

ไทยชื่นชมจีนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสพบกับผู้นำและผู้บริหารระดับสูงของจีนหลายท่านทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปประเทศและแนวทางการพัฒนาของจีน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับไทย

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยมุ่งมั่นส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับจีน และพร้อมกระชับความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่รอบด้าน รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน หรือยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ของจีนซึ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และสินค้านวัตกรรม มีความสอดคล้องกับแนวนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย เช่น EEC หรือนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งจะทำให้ EEC กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค เป็นศูนย์กลางในการคมนาคม การสร้างนวัตกรรม และสนับสนุนการวิจัยเพื่ออนาคต และจะทำให้ไทยเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนยืนยันว่า จีนพร้อมมีส่วนร่วมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนใน EEC โดยเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับเศรษฐกิจของไทยในอนาคต รวมทั้งพร้อมกระชับความร่วมมืออย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม เช่น e-commerce Internet Finance ซึ่งจีนมีความเชี่ยวชาญและพร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์กับไทย

People unity news online : post 24 กรกฎาคม 2560 เวลา 13.20 น.

จีนส่งผู้นำทางทหารมากระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารกับไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 เวลา 15.30 น. พลเอก ฝาง เฟิงฮุย ประธานกรมเสนาธิการร่วม คณะกรรมาธิการทหารกลาง สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญของการหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบกับประธานกรมเสนาธิการร่วมฯ ในโอกาสเยือนไทยในฐานะแขกของกองทัพไทย เชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศจะมีช่องทางในการเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือทางทหารระหว่างกัน ทั้งในระดับสูงและกองทัพอย่างดีในอนาคตต่อไป

ประธานกรมเสนาธิการร่วมฯ แสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้เข้าพบ และแสดงความชื่นชมการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีที่ทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในทุกด้าน พร้อมกล่าวว่าประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง และ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง ได้ฝากความระลึกถึงมายังนายกรัฐมนตรีด้วย

ทั้งสองฝ่ายยืนยันความสัมพันธ์ใกล้ชิดในทุกมิติมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศจะครบรอบ 42 ปีในปีนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าปัจจุบันไทยและจีนกำลังเดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจในทิศทางเดียวกันที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน

ในด้านความสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหารนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าจีนและไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและพิเศษ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอทั้งในระดับสูง ระดับผู้นำและระดับกองทัพ ความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยและจีนมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความร่วมมือทางการทหารจะพัฒนาต่อไปทุกมิติ ได้แก่ ด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง การฝึก การต่อต้านการก่อการร้ายและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

People unity news online : post 31 พฤษภาคม 2560 เวลา 23.23 น.

สื่อไทย-ต่างชาติแห่จองคิวนวดไทย

People Unity News : 16 พฤศจิกายน ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ กระทรวงแรงงาน ออกบูธนวดไทยที่ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ ชูเป็น Soft Power สื่อทั้งในทั้งนอกแห่จองคิวจำนวนมาก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเยี่ยมชมบูธของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน ที่จัดบริการนวดแผนไทย คอ บ่า ไหล่ ให้กับสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศในการประชุมเอเปคครั้งนี้  ว่า การนวดแผนไทยถือเป็น Soft Power อย่างหนึ่งที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศ ซึ่งตั้งแต่เริ่มการประชุมตั้งแต่วันที่ 14 -15 พฤศจิกายนเป็นต้นมา มีสื่อลงทะเบียนขอรับบริการนวดแผนไทยจำนวนทั้งสิ้น 700 คนต่อวัน เป็นสื่อต่างชาติถึง 200 คน ซึ่งภายในบูธของกระทรวงแรงงาน มีการเปิดให้สื่อมวลชนลงทะเบียนรับบริการนวด ตั้งแต่ นวด คอ บ่า ไหล่ ตอกเส้นนวดประคบ และดื่มน้ำสมุนไพรด้วย

“คาดหวังว่าบริการนวดนี้จะถูกใจสื่อต่างชาติ และทำให้เกิดการบอกต่อ ขยายเป็นวงกว้างในต่างประเทศ เพราะนอกจากบริการนวดแล้ว ยังรวมไปถึงบริการเครื่องดื่มสมุนไพรที่ช่วยผ่อนคลาย ทั้งนี้ นายกรัฐมตรีมีความตั้งใจจัดการประชุมเอเปค ครั้งนี้ โดยหวังให้คนไทยทุกคนร่วมภาคภูมิใจที่เป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ไม่ได้มองเรื่องของมุมมองทางการเมือง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

Advertisement

พรุ่งนี้ “บิ๊กตู่” ไปประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ที่กัมพูชา

People unity news online : นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2

วันนี้ (9 มกราคม 2561) พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภารกิจด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) ในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 (2nd Mekong-Lancang Leaders’ Meeting) จะจัดขึ้นในวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยฝ่ายกัมพูชาจะเป็นประธานร่วมกับจีน ภายใต้หัวข้อ แม่น้ำแห่งสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนของเรา (Our River of Peace and Sustainable Development) ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะทบทวนการดำเนินงานของประเทศสมาชิกจากการประชุมผู้นำฯ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2559 พร้อมทั้งจะกำหนดทิศทางและกิจกรรมของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในอนาคต โดยสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม จะหารือร่วมกันเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงบนพื้นฐานของความเท่าเทียม ภายใต้หลักการการมีส่วนร่วม ความสมัครใจ และหลักฉันทามติ

ในการประชุมครั้งนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะ (1) พัฒนากรอบความร่วมมือดังกล่าวให้ทันสมัยมากขึ้น (2) ส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกรอบแม่โขง – ล้านช้างกับแนวคิดหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt Road Initiative – BRI) เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของอนุภูมิภาค (3) ไทยยังสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้อนุภูมิภาคเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบยั่งยืนผ่านการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและโครงการสำคัญของประเทศไทย อาทิ นโยบายประเทศไทย 4.0 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายประเทศไทย+1 (4) การยกระดับความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศสมาชิก ให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเกษตรของแต่ละประเทศมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป

เอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี แม่โขง – ล้านช้าง พ.ศ. 2561 – 2565  (5 – Year Plan of Action 2018 – 2022) เป็นเอกสารที่จะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในระยะ 5 ปีข้างหน้า และ (2) ปฏิญญาพนมเปญ (Phnom Penh Declaration) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำจะมุ่งสนับสนุนกรอบความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุเป้าประสงค์ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขงขอเพิ่มค่า โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะพบหารือทวิภาคีกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนด้วย

People unity news online : post 9 มกราคม 2561 เวลา 13.50 น.

Verified by ExactMetrics