วันที่ 20 เมษายน 2024

ครม. มีมติเห็นชอบร่างคำมั่นของประเทศไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 ธันวาคม 2566 ครม. มีมติเห็นชอบร่างคำมั่นของประเทศไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (12 ธ.ค.2566) มีมติเห็นชอบต่อร่างคำมั่นของประเทศไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

ซึ่งการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจในเวทีการประชุมผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 จะช่วยกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้หนีภัยและกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทย

ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงของประเทศและสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในมิติด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำร่างคำมั่นสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 โดยพัฒนามาจากประเด็นที่ไทยเคยให้คำมั่นไว้ในการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 1 หรือในกรอบอื่นที่เกี่ยวข้อง

โดยเสนอคำมั่น 8 ข้อต่อที่ประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 ดังนี้ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคัดกรอง แก้ปัญหา คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ทบทวนและปรับปรุงการใช้มาตรการทางเลือกแทนการกักตัวเด็กและครอบครัวในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะตามช่วงวัยของเด็กผู้หนีภัยกลุ่ม ต่าง ๆ พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนต่างด้าวกลุ่มต่าง ๆ ในไทย

รวมถึงผู้หนีภัย คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้ได้รับความคุ้มครองตามระเบียบคัดกรองฯ ขยายความร่วมมือกับประเทศที่สามในการหาทางออกที่ยั่งยืนให้แก่ผู้หนีภัยกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือ ชาวโรฮีนจาผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮีนจาในบังคลาเทศอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีข้างหน้า รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่เมียนมา และการดำเนินการถอนข้อสงวนต่อข้อ 22 (เรื่องการคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยและเด็นแสวงหาที่พักพิง) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

Advertisement

แม่ทัพภาค 4 พบสื่อฯ 3 ประเทศ สร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจเยือนพื้นที่ จชต.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ธันวาคม 2566 แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมพบปะสื่อฯ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย พร้อมสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ยินดีต้อนรับ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเข้ามาเยือนพื้นที่ จชต.

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และคณะ ร่วมพบปะคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่เดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 การจัดบรรยากาศที่เป็นกันเอง ซึ่งจัดโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว พร้อมหารือเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น การดูแลความปลอดภัย ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและสื่อมวลชนในโครงการนี้

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ได้ทราบจากนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยถึงกิจกรรม สานสัมพันธ์สื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ ในฐานะที่เป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันในภูมิภาคอาเซียน การมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าสื่อมวลชนทุกท่านได้มาเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ห้วงสองสามปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้เกิดภาวะโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไป และปัจจุบันนี้สถานการณ์ดีขึ้นและทุกอย่างได้กลับมาดำเนินการเดินหน้าเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งปัจจุบันนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงจังหวัดสงขลามีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเดินทางเข้ามาทำธุรกิจ มาท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพี่น้องประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย อินโดนีเซีย เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ แม้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 20 กว่าปี แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเรื่องของความมั่นคง และเรื่องการท่องเที่ยวการพัฒนาได้มีการขับเคลื่อนควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง ขอให้ความมั่นใจต่อนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เข้ามาในพื้นที่ ขอให้ท่านมีความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย ส่วนเรื่องหลากหลายไม่ใช่ปัญหา ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะทุกวัฒนธรรมทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ทั้งเรื่องความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่เดินทางมาเข้ามาให้ท่านเชื่อมั่นวางใจได้ เราพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือในทุกด้านโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยเมื่อมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้

โครงการ “สานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2566 นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยที่นำเครือข่ายผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว สื่อมวลชนในกลุ่มมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเข้าพบปะบุคคลสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ หารือความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์แลกเปลี่ยนข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวรู้สึกให้มั่นใจถึงความปลอดภัยเมื่อมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักโดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจ IMTGT เชื่อมสัมพันธ์และกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความสัมพันธ์ที่ดี และร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต

Advertisement

“ปานปรีย์” เข้าพบ ปธน.อิสราเอล ขอบคุณดูแลคนไทยเป็นอย่างดี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 พฤศจิกายน 2566 อิสราเอล – “ปานปรีย์” เข้าพบ “ปธน.อิสราเอล” ขอบคุณดูแลคนไทยเป็นอย่างดี “ปธน.อิสราเอล” ชื่นชมความพยายามของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือตัวประกันจนได้รับการปล่อยตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบประธานาธิบดีอิสราเอล  นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะนาย Isaac Herzog ประธานาธิบดีอิสราเอล

โดยประธานาธิบดีอิสราเอลแสดงความเสียใจต่อการที่มีแรงงานไทยเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกจับเป็นตัวประกัน โดยกล่าวชื่นชมความพยายามของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือตัวประกันจนได้รับการปล่อยตัว

ขณะที่นายปานปรีย์ ขอบคุณฝ่ายอิสราเอลที่ให้การดูแลคนไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการดูแลช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ตัวประกันชาวไทยที่ได้รับการปล่อยตัว และแจ้งว่าแม้ภารกิจในครั้งนี้เดินทางมาเพื่อดูแลคนไทยเป็นการเฉพาะ แต่ก็ขอให้ฝ่ายอิสราเอลพิจารณาดำเนินการเรื่องสวัสดิภาพ สิทธิและสวัสดิการอันพึงได้สำหรับแรงงานไทยด้วย เพื่อให้แรงงานไทยสามารถกลับมาทำงานในอิสราเอลในอนาคต เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย

ประธานาธิบดีอิสราเอล แสดงความชื่นชมประเทศไทยและคนไทย และย้ำถึงความสำคัญของแรงงานไทยต่อภาคการเกษตรอิสราเอล โดยรับปากดูแลสิทธิและสวัสดิการของแรงงานไทยต่อไป

Advertisement

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมลอยกระทง แทนคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 พฤศจิกายน 2566 วานนี้ (27 พ.ย.66) ซึ่งเป็นวันลอยกระทง นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ร่วมสืบสานประเพณีไทย ด้วยการลอยกระทง ณ อุทยานเบญจสิริ ร่วมกับคณะสื่อมวลชนในประเทศไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลได้เตรียมกระทงรักษ์โลกที่ทำจากขนมปัง รวม 180 กระทง มีทั้งกระทงที่เป็นสีฟ้า-ขาว ซึ่งเป็นสีของธงชาติอิสราเอล จำนวน 165 กระทง และอีก 15 กระทงเป็นสีธงชาติไทย

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นอกจากจะเป็นการร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามของไทยแล้ว ยังเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักร่วมถึงความสำคัญของชีวิตคนไทย และประชาชนสัญชาติต่างๆ ที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน ในเหตุการณ์การโจมตีดินแดนอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมาด้วย

เอกอัครราชทูตอิสราเอลเผยว่า ปีนี้ สถานทูตตัดสินใจจัดกิจกรรมลอยกระทงเพื่อรำลึกถึงคนไทยจำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถร่วมเทศกาลกับครอบครัวได้ ดังนั้นกระทงที่นำมาในวันนี้ จึงเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงตัวประกันชาวอิสราเอลและคนไทย โดยกระทงสีฟ้า-ขาว 165 กระทงแทนจำนวนตัวประกันชาวอิสราเอล ส่วนกระทงสีขาวแดงน้ำเงิน 15 กระทง แทนจำนวนคนไทย ในโอกาสนี้เอกอัครราชทูตอิสราเอลและเจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอลทุกคนขอภาวนาให้ผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันได้รับอิสรภาพ กลับสู่อ้อมอกของครอบครัวในเร็ววัน นอกจากนี้ ยังกล่าวว่ากระทงของสถานทูตทำจากขนมปังที่ย่อยสลายได้ ปลากินได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

Advertisement

ไทย-ซาอุดีฯ ยืนยันความตั้งใจมุ่งสานสัมพันธ์ใกล้ชิด

People Unity News : 20 ตุลาคม 2566 ซาอุดีอาระเบีย – นายกฯ เข้าเฝ้าฯ มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ไทย-ซาอุดีฯ ยืนยันความตั้งใจมุ่งสานความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิด และกระชับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคง

วันนี้ (20 ต.ค. 2566) เวลา 12.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ซึ่งช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Ritz Carlton กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสการหารือทวิภาคี ระหว่างการเข้าร่วมการประชุม ASEAN – GCC Summit โดยนายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีและมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ ต่างยืนยันความตั้งใจร่วมกันในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยและซาอุดีฯ ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในวิสัยทัศน์ของพระราชาธิบดี รวมถึงมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ ที่ทรงวางรากฐาน นำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ โดยไทยยืนยันมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือด้าน ต่าง ๆ ให้พัฒนายิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนไทยและซาอุดีฯ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีฯ หารือประเด็นความร่วมมือดังนี้

ด้านความสัมพันธ์ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการดำเนินความสัมพันธ์ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะควรส่งเสริมการค้าและการลงทุนซึ่ง นายกฯ เสนอการจัดทำ Thai-GCC FTA รวมทั้งแสดงการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ Expo 2030 จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2034 ของซาอุดีอาระเบีย รวมถึงแนวทางความร่วมมือและประเด็นที่คั่งค้างในด้าน 1) การเมืองและการกงสุล 2) การลงทุน 3) ความมั่นคงและการทหาร 4) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และ 5) เศรษฐกิจและการค้า โดยไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย (Saudi – Thai Coordination Council: STCC) ครั้งที่ 1 เพื่อทบทวนการดำเนินความสัมพันธ์ และกำหนดแนวทางความร่วมมือทั้ง 5 ด้าน

ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง เพื่อเข้าร่วมงานนิทรรศการด้านการป้องกันประเทศของทั้งสองฝ่ายแล้วในงาน Defense and Security ของไทย และงาน World Defense Show ของซาอุดีฯ ซึ่งทำให้ไทยและซาอุดีฯ มีโอกาสขยายความร่วมมือในด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งไทยจะให้ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เร่งรัดความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่ดูแลคนไทยกว่า 6,000 คน ที่อยู่ในซาอุดีอาระเบีย และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งมีคนไทยเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกลักพาตัว ซึ่งซาอุดีอาระเบียรับที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับกุมตัว

Advertisement

ยกระดับความร่วมมือไทย-จีน นำความรุ่งเรืองสู่ประเทศ

People Unity News : 19 ตุลาคม 2566 สาธารณรัฐประชาชนจีน – นายกฯ กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand-China Investment Forum ย้ำความมุ่งมั่นการพัฒนาประเทศไทยให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับความร่วมมือไทย-จีน นำความรุ่งเรืองสู่ประเทศและภูมิภาค

เมื่อเวลา 09.20 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา Thailand-China Investment Forum

โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่สยามพารากอน เป็นกำลังใจให้ครอบครัว และยืนยันรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเพื่อความสะดวกสบายใจของนักท่องเที่ยวจีนในการเดินทางมาท่องเที่ยวและเดินทางกลับบ้านได้อย่างมีความสุข ให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยเพื่อนักท่องเที่ยวทุกคน โดยยินดีและขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่ราบรื่น ยาวนาน ทุกด้าน โดยในปี ค.ศ. 2023 นี้ จะครบรอบ 48 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และเมื่อปี ค.ศ. 2022 ไทยและจีนเพิ่งครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้าน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 4 (ปี ค.ศ. 2022-2026) และแผนความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมตรี กล่าวว่า สำหรับการเยือนครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือในหลากหลายมิติ รวมถึงมีส่วนสำคัญกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มอาเซียน และเกิดความเกื้อหนุนระหว่างประเทศตามแนวยุทธศาสตร์ดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ถึงกว่า 60 ประเทศ ประชากรประมาณ 4,400 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 63 ของประชากรโลก

โดยไทยในฐานะศูนย์กลางอาเซียนสามารถเชื่อมต่อเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งทางบกและทางทะเล พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทย-จีน ซึ่งปัจจุบันทางบก ไทยมีเส้นทางถนน R3A เชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังคุนหมิง ทางน้ำมีการเดินเรือในแม่น้ำโขงและการเดินเรือสมุทรระหว่างไทยกับจีน ส่วนทางอากาศมีเส้นทางบินตรงจากเมืองใหญ่หลายเมืองของจีนมายังไทย นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยกระดับระบบคมนาคมและขนส่งของไทย จึงเป็นโอกาสในการยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งระบบเศรษฐกิจ บุคลากร และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจสำหรับการค้าและการลงทุน

นอกจากนี้ไทยเห็นความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ของจีน โดยมีการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนา Startup ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก ให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระดับภูมิภาค จีนและไทยได้ร่วมลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ทำให้ไทยได้รับสิทธิยกเว้นอากร หรือลดอัตราอากรศุลกากร และกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็นศูนย์มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ตั้งเป้าเปิดตลาดสินค้าเพิ่มในหมวดสินค้าอ่อนไหว เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในอาเซียน โดยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ของภูมิภาค การเข้ามาทำธุรกิจการค้าและการลงทุนกับไทย จึงครอบคลุมไปถึงประชากรกว่า 620 ล้านคนในอาเซียน

นายกรัฐมนตรี ย้ำบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ของไทย โดยกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ผ่านการค้าและการลงทุน พร้อมใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิด โดยยึดมั่นการเสริมสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานการไว้วางใจ การให้เกียรติ และการเคารพซึ่งกันและกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Free) พร้อมทั้งผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว เช่น การลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งคาดว่าจะทำให้ GDP ของไทยในปี 2024 ขยายตัวได้สูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา

“จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่และผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของไทย นายกรัฐมนตรีจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การค้าไทย-จีน จะขยายตัวมากยิ่งขึ้น และอยากให้จีนซื้อสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้นรวมถึงการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผู้ลงทุนจากจีน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลนักลงทุนจีน” นายเศรษฐา กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวอันดับต้นของไทย รัฐบาลมีมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวจากจีนเป็นพิเศษ ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยหวังว่า นักท่องเที่ยวจากจีนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีความปลอดภัย พร้อมที่จะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีนอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลไทยยังมีนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศไทยสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม ยกระดับและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย สร้าง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power : OFOS) ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยต่อเวทีโลก

ส่วนความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกประเด็นสำคัญ ไทยมีประชากรส่วนมากอยู่ในภาคการเกษตร และเป็นผู้ส่งออกหลักในกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร จึงต้องการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เปลี่ยนจากเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ จำเป็นที่ต้องมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมให้เกิดการเงินและการลงทุนสีเขียว เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนเสริมสร้างสังคมดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการทำงาน ควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายเปิดรับแรงงานและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคล และแรงงานทั้งในภาคการผลิต การบริการ และการพัฒนาเทคโนโลยี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จีนเป็นประเทศเป้าหมายของนักศึกษาไทยจำนวนมาก หวังว่าทั้งสองประเทศจะผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของไทยและจีนให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาการค้า การลงทุนร่วมกัน พร้อมทั้งเชิญชวนนักลงทุนและบุคลากรทักษะสูงจากจีน เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย

ช่วงตอนท้าย นายกรัฐมนตรี หวังว่างานสัมมนาในวันนี้จะช่วยเชื่อมโยง กระตุ้นโอกาสด้านการค้าการลงทุน และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างไทยและจีนมากขึ้น

“เชื่อมั่นว่าไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้มั่นคงทางเศรษฐกิจ มีความพร้อม ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีน พร้อมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ และช่วยส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียก้าวสู่ความก้าวหน้า เต็มศักยภาพ และรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน” นายเศรษฐา กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์และเชิญชวนนักลงทุนจีนร่วมลงทุนในโครงการนี้ ยืนยันการสนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนจีน ให้ รายงานผลการศึกษาเพื่อจัดอันดับ ความยาก-ง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเกิดขึ้นจริง ขอร่วมเดินทางกับจีนในเส้นที่ท้าทาย และทำให้โลกของเราเจริญรุ่งเรืองต่อไป

Advertisement

“เศรษฐา” หารือทวิภาคีนายกฯจีน กระชับความร่วมมือการค้า การท่องเที่ยว ความมั่นคง และความเข้าใจอันดีระหว่าง ปชช.

People Unity News : 18 ตุลาคม 2566 สาธารณรัฐประชาชนจีน – นายกฯ ไทย-จีน เห็นพ้องกระชับความร่วมมือด้านการค้า การท่องเที่ยว ความมั่นคง และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชน รวมทั้งแสดงความเสียใจต่อกรณีนักท่องเที่ยวจีน

เมื่อเวลา 17.35 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง) ณ Peony Hall เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือทวิภาคีกับ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าา รู้สึกยินดีที่ได้มาเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีจีน และกล่าวขอบคุณการต้อนรับที่อบอุ่นในวันนี้ พร้อมชื่นชมต่อความสำเร็จของจีนในการจัดการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ครั้งที่ 3 และการเป็นเจ้าภาพจัดเอเชียนเกมส์

สำหรับประเด็นสำคัญในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ ด้านความสัมพันธ์ไทย – จีน โดยทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันสานต่อความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทย-จีน ซึ่งเป็นมิตรแท้ร่วมกันมายาวนาน พร้อมเห็นพ้องแลกเปลี่ยนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในระดับการเมือง และพัฒนาความสัมพันธ์ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ

ด้านนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เน้นย้ำเจตนารมณ์ในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย – จีน เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย – จีน และในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีไทยเชิญนายกรัฐมนตรีจีนเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสที่สะดวก

ส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไทยและจีนยืนยันความร่วมมือเพื่อเผชิญกับความท้าทายทุกมิติทั่วโลก ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ความเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทาน เพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อสถานการณ์โลก

โดยนายกรัฐมนตรี ได้เชิญภาคเอกชนจีนมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานโครงการ Landbridge ด้านนายกรัฐมนตรีจีนยินดีส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย-จีน ให้เพิ่มพูนทุกด้าน พร้อมส่งเสริมให้นักลงทุนจีนมาลงทุนในไทย และพร้อมต้อนรับดูแลการลงทุน

นายกรัฐมนตรี ขอรับการสนับสนุน การนำเข้าสินค้าเกษตรไทย โดยขอให้จัดตั้งด่านตรวจสินค้าเกษตรที่ท่าเรือกวนเหล่ย และเพิ่มโควต้านำเข้าข้าว และการนำเข้าโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์โคโดยตรงจากไทย ทั้งนี้ทางไทยพร้อมจะปฏิบัติตามมาตรฐานการกักกันโรคตามหลักวิชาการสัตวแพทย์เท่าที่ทางจีนกำหนด ทั้งสองฝ่ายยังพร้อมส่งเสริมความเชื่อมโยง โดยเฉพาะโครงการรถไฟไทย – ลาว – จีน ตามแนวคิดระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยง 3 ประเทศ รวมทั้งโลจิสติกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกขนส่งสินค้า การเดินทางของประชาชน และการพัฒนาของภูมิภาค

ความร่วมมือด้านท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความเสียใจที่มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างสรรพสินค้า ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงตรวจลงตราที่ยกเว้นให้นักท่องเที่ยวจีน และขอให้ฝ่ายจีนพิจารณายกเว้นให้ชาวไทยเช่นกัน ด้านนายกรัฐมนตรีจีนให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

ความร่วมมือด้านความมั่นคง ไทยและจีนต่างเห็นพ้องในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายประเทศ เพราะอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจที่ผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้านของไทย พร้อมร่วมกันแก้ไขปัญหาคอลเซ็นเตอร์ อาทิ คอลเซ็นต์เตอร์การพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชนไทย จีน และประเทศทั้งในและนอกภูมิภาค

ขณะที่ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและระดับประชาชน นายกรัฐมนตรีจีนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและระดับประชาชน โดยเฉพาะการศึกษาของเยาวชนและสื่อมวลชนทั้งสองประเทศ

ส่วนความร่วมมือในกรอบพหุภาคี จีนสนับสนุนบทบาทสร้างสรรค์ของกันและกันในกรอบอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรอบ ASEAN-จีน และ MLC เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองต่อภูมิภาคและโลก

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสักขีพยานการลงนามในเอกสารสำคัญร่วมกัน 6 ฉบับ ดังนี้

1.บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อการจัดตั้งกลไกประสานงานสำหรับการร่วมกันส่งเสริมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง

2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน

3.การจัดทำพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกผลเสาวรสสดจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

4.แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับปี พ.ศ. 2566 – 2570

5.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับทบวงกิจการภาพยนตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

6.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสื่อสารมวลชนและสารสนเทศระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับกลุ่มสื่อแห่งชาติจีน

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้รับทราบการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

Advertisement

ด่วน!! กระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์วอนทุกฝ่ายยุติรุนแรง ปกป้องพลเรือน แพทย์

People Unity News : 18 ตุลาคม 2566 กระทรวงการต่างประเทศ – กต. ออกแถลงการณ์เสียใจเหตุโจมตี รพ.ในฉนวนกาซา วอนทุกฝ่ายยุติความรุนแรง โหดร้าย ปกป้องพลเรือน แพทย์ ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศของไทย ออกแถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศ ต่อเหตุโจมตีโรงพยาบาลอัล-อาห์ลี อัล-อาราบี (Al Ahli Arab) ในเขตฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทย รู้สึกสะเทือนใจ และเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อเหตุการณ์การโจมตีโรงพยาบาลอัล-อาห์ลี อัล-อาราบี ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ซึ่งส่งผลให้มีพลเรือนผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก และขอไว้อาลัย แก่ผู้เคราะห์ร้าย และแสดงความเสียใจ กับครอบครัวผู้สูญเสีย

ประเทศไทย ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินความพยายาม เพื่อยุติวัฏจักรความรุนแรง และความโหดร้ายทั้งปวงโดยทันที ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทย เรียกร้องให้มีการเคารพ และปกป้องพลเรือน โรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

Thailand is profoundly shocked and deeply saddened by the attack on Al Ahli Arab Hospital in the North of the Gaza Strip, resulting in heavy loss of life of innocent civilians and casualties. In expressing our condolences to all the victims and their bereaved families, Thailand strongly and urgently appeals to all sides concerned to work towards an immediate cessation to the vicious cycle of violence and hostilities. Moreover, Thailand calls for full respect for the protection of civilians, hospital and medical staff under international humanitarian law.

Advertisement

นายกฯ พบหารือ “ปูติน” พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทุกมิติ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

People Unity News : 17 ตุลาคม 2566 สาธารณรัฐประชาชนจีน – นายกฯ หารือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ย้ำ เจตจำนงร่วมกันยกระดับความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย พร้อมส่งเสริม ความร่วมมือทุกมิติ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

เมื่อเวลา 18.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชม.) ณ เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือทวิภาคีกับนายวลาดิมีร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

โดยนายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้พบหารือกับประธานาธิบดีปูตินในวันนี้ (17 ต.ค.) เป็นโอกาสอันดีในการแสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยรัสเซียถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน ทั้งสองฝ่ายเพิ่งฉลองครบรอบ 125 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมื่อปี 2565 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรม

ด้านประธานาธิบดีปูติน ชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนานระหว่างไทยกับรัสเซีย พร้อมทั้งเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้นอย่างมาก โดยปี 2567 (ค.ศ. 2024) จะเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทย-รัสเซีย นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซียมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และนายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่า ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมามีมติเพิ่มวันพำนักให้ชาวรัสเซียจาก 30 วันเป็น 90 วัน ด้วย

สำหรับประเด็นการหารือที่ทั้งสองฝ่ายเห็นควรร่วมมือกัน ด้านการเมือง ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างบุคลากรสภาความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญประธานาธิบดีรัสเซีย เดินทางเยือนไทยซึ่งประธานาธิบดีรัสเซีย ตอบรับ โดยจะได้ร่วมกำหนดวันที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกต่อไป

จากนั้นในเวลา 18.30 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำโดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนและภริยาเป็นเจ้าภาพ ณ มหาศาลาประชาชน

Advertisement

“ปานปรีย์” เผย นายกฯ เยือนกัมพูชา 28 ก.ย.นี้ ก่อนเยือนซาอุฯ

People Unity News : 26 กันยายน 2566 ทำเนียบ – “ปานปรีย์” เผย นายกฯ เยือนกัมพูชา 28 ก.ย.นี้ ชี้เป็นอาเซียนประเทศแรก ก่อนเยือนซาอุฯ สานต่อความสัมพันธ์

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเดินทางเยือนประเทศกัมพูชา เป็นประเทศแรกในอาเซียน ในวันที่ 28 กันยายนนี้ หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับประเทศไทย และจะพยายามเดินทางไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนให้ได้มากที่สุด ตามธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อแนะนำตัวและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สำหรับการเดินทางเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียของนายกรัฐมนตรีนั้น  นายปานปรีย์ กล่าวว่า ด้วยความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน แม้จะหยุดชะงักชั่วระยะหนึ่ง แต่ขณะนี้กลับมาดำรงความสัมพันธ์แล้ว  ซึ่งระหว่างเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ที่สหรัฐอเมริกา ได้มีโอกาสหารือทวิภาคี กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดิอาระเบีย  ได้รับการตอบรับอย่างดี แต่การเยือนของนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน  แต่นักลงทุนของซาอุดิอาระเบีย สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งไทยต้องเตรียมการอย่างดี

ส่วนเรื่องการลงสมัครสมาชิก Human Rights Council (HRC) ของไทย นายปานปรีย์ กล่าวว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหประชาชาติ โดยไทยเคยดำรงตำแหน่งประธาน HRC มาแล้ว เมื่อปี ค.ศ. 2012 ส่วนในวาระปี ค.ศ.2025-2027 ไทยยืนยันความประสงค์ ที่จะกลับเข้าเป็นสมาชิกอีกรอบ

Advertisement

Verified by ExactMetrics