วันที่ 29 มีนาคม 2024

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบผันผวน

People Unity News : 3 ตุลาคม 65 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบผันผวนรอมติโอเปกพลัส  5 ต.ค.จะลดกำลังผลิตเพื่อรักษาระดับราคาหรือไม่

บมจ.ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 82-92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบผันผวน เนื่องจากตลาดยังกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากทัศนะของประธานเฟดสาขาต่างๆมีความเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ควรดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ท่อส่งน้ำมัน  โครงการแคสเปียน ไปป์ไลน์ คอนซอร์เทียม (Caspian Pipeline Consortium: CPC) หนึ่งในท่อส่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งส่งน้ำมันจากคาซัคสถานไปยังทะเลดำ จะกลับมาส่งออกน้ำมันในระดับปกติตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัว  ตลาดจับตาการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 ต.ค. 65 โดยรัสเซียส่งสัญญาณว่าทางกลุ่มควรปรับลดกำลังการผลิตราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อพยุงราคาน้ำมัน หลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากปัจจัยความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย

ขณะที่อุปสงค์ความต้องการน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังเข้าสู่ช่วงวันหยุดประจำปี (Golden week) ของจีน และราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้นในยุโรป ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น (gas-to-oil switching)

ตลาดยังคงกังวลอุปทานก๊าซตึงตัว หลังพบการรั่วไหลของก๊าซบริเวณท่อ Nord Stream 1 และ 2 ซึ่งส่งออกก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรป โดยคาดว่าการรั่วไหลที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการก่อวินาศกรรม ส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรปปรับตัวสูงขึ่น โดยราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดท่อส่งน้ำมัน CPC จะกลับมาส่งออกน้ำมันที่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ต.ค.

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 – 30 ก.ย. 65)  ปรับเพิ่มขึ้น 2.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 87.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 89.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังรายงานสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ย. 65 ปรับลดลง 0.215 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.443 ล้านบาร์เรล ขณะที่พายุเฮอริเคนเอียน เฮอริเคนระดับ 4 พัดขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของรัฐฟลอริดา ส่งผลกระทบต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซราว 11% อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดันหลังสกุลเงินดอลล่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีดอลล่าสหรัฐฯ ปรับตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ที่ระดับ 114.527 ส่งผลให้สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบซึ่งซื้อขายในสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีความน่าสนใจน้อยลง

Advertisement

เตือนจับตาตลาดจีนใกล้ชิด สัญญาณชะลอตัวเศรษฐกิจ ส่งออกไทยไปจีนหดตัว

People unity news online : Krungthai Macro Research จับตาตลาดจีนอย่างใกล้ชิด เหตุมีสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ระบุตัวเลขส่งออกไทยไปจีนชะลอลง หลังสินค้ากลุ่มยาง ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์หดตัวแรง

26 ตุลาคม 2561 ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ประเมินจากรายงานตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2561 หดตัวลง 5.2% ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน เหตุส่งออกไปจีนหดตัวแรงถึง 14.1% และประเทศกลุ่ม ASEAN-5 ชะลอลงมาก โตเพียง 0.9%

Krungthai Macro Research ชี้จับตาตลาดส่งออกจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง เห็นได้จากตัวเลขสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกันยายน 2561 หดตัว ทั้งยานยนต์ ยางล้อ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตลาดยานยนต์ของจีนชะลงตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ กล่าวต่อไปว่า จับตาสินค้าสินค้ากลุ่มยาง ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์ เนื่องจากสินค้ากลุ่มยางพารามีสัดส่วนต่อการส่งออกไปจีนถึง 6.1% และยอดส่งออกหดตัวถึง 39.7% สำหรับผลิตภัณฑ์ยางหดตัว 33.9% ขณะที่การส่งออกยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไป ASEAN-5 มีสัดส่วนถึง 13.6% ของยอดส่งออกไป ASEAN-5 ทั้งหมด ล่าสุดหดตัวที่ 12.8% หดตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ผู้ประกอบการที่อยู่ใน supply chain ของอุตสาหกรรมนี้จึงควรติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด

สำหรับสินค้านำเข้าของไทยในเดือนกันยายน 2561 เติบโต 9.9% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่เติบโต 22.8% เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ส่งออกไปจีนจะหดตัวลง แต่สินค้าจีนยังไม่ทะลักเข้าไทยอย่างที่กังวล ไม่ว่าจะเป็นเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัจจัยภายในประเทศของจีนเอง เช่น การลงทุนที่ลดลง สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และการขอสินเชื่อจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าลดลงอย่างมากในปีนี้  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไม่ควรประมาท เพราะในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ อัตรากำแพงภาษีที่สหรัฐฯ ตั้งกับสินค้าจีนจำนวนมากจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 25% ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้สินค้าจีนออกมามากขึ้น

People unity news online : post 28 ตุลาคม 2561 เวลา 08.10 น.

ประยุทธ์ เข้าร่วมประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 พร้อมรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC

People Unity News : ประยุทธ์ พร้อมเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 และรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ต่อจากศรีลังกา

วันนี้ (28 มีนาคม 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นโดยศรีลังกา และนายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา เป็นผู้กล่าวในช่วงพิธีเปิดการประชุม ในวันที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 09.50 น. ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายธนกร กล่าวว่า บิมสเทค (BIMSTEC) เป็นกรอบความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของไทย เพื่อสอดรับนโยบายมองตะวันตก (Look West) ของไทย เข้ากับนโยบายมองตะวันออก (Look East) ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และ Act East ของอินเดีย โดย ไทย เคยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2557

การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 ศรีลังกาในฐานะเจ้าภาพ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “BIMSTEC- Towards a Resilient Region, Prosperous Economies, Healthy Peoples”  หรือ “บิมสเทค มุ่งหน้าสู่อนุภูมิภาคที่ยืดหยุ่น มั่งคั่ง และประชาชนมีสุขภาพดี” ซึ่งการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนประเทศไทย จะร่วมพิธีรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ให้แก่ไทย พร้อมร่วมรับชมวิดีโอเปิดตัวการเป็นประธาน โดยไทยจะเป็นประธาน BIMSTEC วาระ 2 ปี ช่วงปี 2565-2566 ต่อจากศรีลังกา โดยประเด็นที่ไทยต้องการผลักดันในช่วงการดำรงตำแหน่งประธาน อาทิ การสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายและวิกฤตรูปแบบต่างๆ และความสามารถในการฟื้นตัว เป็นต้น และในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงในนามผู้นำรัฐบาลไทยอีกด้วย

Advertising

พิษสงครามยูเครน เศรษฐกิจเยอรมนีดำดิ่ง SME กระทบหนักสุด

People Unity News : 18 ตุลาคม 2565 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเยอรมนีถือเป็นต้นแบบของเสถียรภาพและความแข็งแกร่งมายาวนาน แต่วิกฤตพลังงานที่มีชนวนมาจากสงครามยูเครนพ่วงด้วยภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ได้ผลักให้แดนอินทรีเหล็กดำดิ่งในวิกฤตและสะท้อนถึงความไม่แน่นอนในอนาคตได้

มาร์เซล แฟรตส์เชอร์ ประธานสถาบัน German Institute for Economic Research เปิดเผยกับวีโอเอว่า “สงครามยูเครนและวิกฤตพลังงานกระทบกระเทือนเยอรมนีอย่างหนัก เพราะเยอรมนีพึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศ เมื่อราคาปรับพุ่งสูงขึ้น ได้ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีดิ่งลงสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย”

บรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเยอรมนี โดยเมื่อปี 2020 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจ้างงานชาวเยอรมันมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ แต่ธุรกิจกลุ่มนี้กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตล่าสุด

ยาน ชมีเดอร์-บัลลาเดอร์ เจ้าของธุรกิจเบเกอรีซึ่งมีพนักงาน 20 คน เลอ โบร็ต ในเมืองนอยเคิร์น ชานกรุงเบอร์ลิน บอกกับวีโอเอว่า “ความท้าทายสำคัญที่เราเผชิญในตอนนี้คือความไม่แน่นอนของราคาพลังงาน เงินเฟ้อที่พุ่งสูง และภาวะไฟฟ้าดับที่อาจเกิดขึ้นในฤดูหนาวปีนี้ ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น 30% ไปแล้ว เราคาดว่าราคาพลังงานจะไปต่ออีก 100% แน่นอน แต่นั่นขึ้นกับฤดูหนาวที่จะมาถึงประกอบกับทิศทางการเมืองในช่วงนั้นด้วย”

ผู้บริโภคเองต่างได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการไม่อาจแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจนต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าไป

เจ้าของธุรกิจเบเกอรี เลอ โบร็ต เสริมว่า “เราพยายามลดต้นทุนและเปิดรับลูกค้าทั้งหมดแล้ว แต่แน่นอนว่าเมื่อเราปรับราคา ลูกค้าก็หดหายไป”

ที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีประกาศมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้บริโภคหลายอย่าง แต่ผลพวงการสงครามยูเครนที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน กดดันให้เยอรมนีเผชิญกับความท้าทายใหญ่ที่จะมาถึง

แฟรตส์เชอร์ เพิ่มเติมว่า “ความท้าทายที่ใหญ่กว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงปีหน้าเท่านั้น แต่จะยิงยาวไปราว 5-10 ปี เนื่องจากเยอรมนีกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในหลายมิติ บริษัทต่าง ๆ ในเยอรมนีต้องเตรียมรับกับการเสียเปรียบทางการค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ จีน และเกาหลีใต้ ที่ไม่เผชิญกับการปรับขึ้นของราคาพลังงานมากเท่ากับบริษัทเยอรมนี”

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ ประเมินว่า ครัวเรือนเยอรมันที่มีรายได้ 39,000 ดอลลาร์ หรือราว 1,486,000 บาทต่อปี จะเจอกับต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นราว 4,800 ดอลลาร์ หรือราว 183,000 บาทต่อปีทีเดียว นั่นหมายความว่า ต้นทุนพลังงานจะส่งผลกระทบครัวเรือนรายได้น้อยและปานกลางอย่างมาก

ชมีเดอร์-บัลลาเดอร์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “ทุกธุรกิจเจอกับความท้าทายกันทั้งนั้น แต่หากไม่เดินหน้าต่อก็เท่ากับว่าต้องปิดกิจการหรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นแทน แต่หากทำเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับเหล่าพนักงานที่ถูกลอยแพ เพราะธุรกิจเบเกอรีของเราจ้างงานถึง 20 ชีวิต และนั่นหมายถึงรายได้หาเลี้ยงครอบครัวของพวกเขา สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป”

ระหว่างฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังผ่านพ้นไปและฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามาเยือน เยอรมนียังต้องเตรียมรับมือกับอนาคตที่ไม่มีแน่นอนมากกว่าที่เป็นมาในรอบหลายปีต่อไป (ที่มา: วีโอเอ)

Advertisement

WHO เตือนประชากรโลกเผชิญ ‘มลพิษทางอากาศ’ รุนแรง โดยเฉพาะประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง

People Unity News : 5 เมษายน 65 เมื่อวันจันทร์ (4 เม.ย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าประชากรโลกเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 99 สูดอากาศที่มีมลพิษเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

แม้ปัจจุบันเมืองมากกว่า 6,000 แห่งใน 117 ประเทศจะเฝ้าติดตามคุณภาพอากาศ แต่ประชาชนในเมืองเหล่านั้นยังคงสูดดมอนุภาคขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับอันตราย โดยประชาชนในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางเผชิญผลกระทบดังกล่าวสูงสุด

องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้มาตรการอันเป็นรูปธรรมอื่นๆ เพื่อลดมลพิษในอากาศ โดย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชี้ว่าราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูง ความมั่นคงทางพลังงาน และการเร่งรับมือความท้าทายจากมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการก้าวสู่โลกที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลงเร็วขึ้น

อนึ่ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะพีเอ็ม2.5 (PM2.5) สามารถแทรกซึมเข้าปอดและกระแสเลือด ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีความเกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด

องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมที่ป้องกันได้สูงเกิน 13 ล้านราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจำนวน 7 ล้านราย

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก แนะนำการสร้างระบบและเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและราคาย่อมเยา ซึ่งเหมาะสมกับคนเดินเท้าและคนขี่จักรยาน การลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน การจัดการขยะของเสียที่ดีขึ้น การลดการเผาขยะทางการเกษตรและกิจกรรมวนเกษตรบางส่วนอย่างการผลิตถ่านไม้ เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศและสุขภาพ

Advertisement

“มาครง” ชี้โลกเผชิญความท้าทายใหม่ 3 อย่าง สงคราม-การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย-ภูมิอากาศ

People Unity News : 18 พฤศจิกายน 2565 “ปธน.มาครง” ปาฐกถาเวที APEC CEO Summit 2022  ชี้การสร้างสันติภาพและความมั่นคงคือกุญแจสำคัญ ช่วยโลกก้าวผ่านภาวะปั่นป่วนวุ่นวายจากความท้าทายใหม่ ด้านผู้ว่าฯ ททท. ประกาศแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยว เน้นนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

การประชุม APEC CEO Summit 2022  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.2565  ที่ ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเต็ล เวทีคู่ขนานกับเวทีประชุมเอเปค 2022 การประชุมในวันนี้เป็นวันสุดท้าย โดยนายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ กรรมการบริหาร  การประชุม APEC CEO Summit 2022 กล่าวต้อนรับ โดยระบุว่าการประชุม APEC CEO Summit 2022 เป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำภาคเอกชน และผู้นำทางความคิดมาร่วมกันหาทางออกสำหรับอนาคตของเรา

ในโอกาสนี้ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ  Mr.Krishna Srinivasan  กรรมการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  ในประเด็น Achieving Economic Resilience in APEC”

นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “การนำทางผ่านโลกที่ปั่นป่วนวุ่นวาย”  โดยชี้ว่า หลังจากที่โลกผ่านวิกฤติโควิด-19 มา ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ 3 อย่าง คือ สงคราม ที่ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานและอาหารตามมา สองคือ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในโลก ที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศลดลง และสามคือ ปัญหาสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง

“ความท้าทายเหล่านี้ถือเป็นปัญหาของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข และการมีกฎกติกาโลกที่ทุกฝ่ายปฏิบัติร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งฝรั่งเศสมองว่าการสร้างสันติภาพและความมั่นคง คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้โลกก้าวผ่านภาวะปั่นป่วนวุ่นวายนี้ไปได้ การเจริญเติบโตของแต่ละประเทศก็มีส่วนสำคัญในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และต้องเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเท่าเทียม” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าว

จากนั้นได้มีการเสวนาหัวข้อ “การสร้างความเท่าเที่ยมทางเพศเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต”  ที่มีซีอีโอชั้นนำของไทยเข้าร่วม ได้แก่ น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย Ms. Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และ Mr. Timothy D. Dattels สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) แคนาดา

การประชุมในช่วงเช้าจบลงที่การบรรยายในหัวข้อ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ของนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ว่านับตั้งแต่ไทยเปิดประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ 8.5 ล้านคน และ ททท.ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากรายได้ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ถึง 80% ทั้งนี้ ททท.จะเปลี่ยนแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวจากการเน้นที่ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว เป็นการเน้นให้นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์กลาง

“ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ที่เน้นความรู้และประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง ส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเฉพาะทาง เช่น การท่องเที่ยวที่เน้นกีฬา หรือการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบให้มากขึ้น ซึ่งจะพยายามทำงานโดยเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน โดยตั้งเป้าให้ทุกฝ่ายได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่ยุติธรรม นอกจากนี้ ททท. จะผลักดันการบังคับใช้กฎระเบียบด้านสุขอนามัยและการปกป้องสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งวางแผนประกาศให้เกาะหมาก เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศ” ผู้ว่า ททท. กล่าว

Advertisement

จีนใช้ ‘เศรษฐกิจแบบกิ๊ก’ กระตุ้นจ้างงาน

Female labors work in a cloth factory which export to European Union in Huaibei, Anhui province, East China on 13th October 2015.

People Unity News : 9 กรกฎาคม 2565 จีนวางแผนกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบกิ๊ก (gig economy) หรือระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการจ้างงานแบบชั่วคราว เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน

แนวปฏิบัติจากกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคม รวมถึงหน่วยงานรัฐบาลอีก 4 แห่ง เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.) ระบุการรวมข้อมูลการรับสมัครงานปลีกย่อย (odd job) ไว้ในขอบเขตของบริการข้อมูลการจ้างงานสาธารณะ การส่งเสริมการฝึกอบรมผู้หางานชั่วคราว โดยเฉพาะอาชีพใหม่และอาชีพที่ต้องการแรงงานสูง

นอกจากนั้นแนวปฏิบัติข้างต้นระบุว่าจีนจะพยายามปราบปรามการปฏิบัติอันผิดระเบียบในตลาดเศรษฐกิจแบบกิ๊ก เพื่อคุ้มครองสิทธิของเหล่าแรงงานในระบบเศรษฐกิจนี้ให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จีนออกสารพัดนโยบายในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือบรรดาผู้หางาน ซึ่งรวมถึงนักศึกษาและแรงงานต่างถิ่น ได้มีงานทำ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการจ้างงานในประเทศ

Advertisement

‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดรอบ 28 ปี หวังสกัดเงินเฟ้อ พร้อมส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอีกในการประชุมครั้งหน้า

People Unity News : 16 มิ.ย. 65 ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ที่ระดับ 1.5-1.75% ในวันพุธ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 ปี เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ต้องประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานคณะผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงข่าวหลังการประชุมด้านนโยบายเป็นเวลาสองวันว่า เป้าหมายในการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อดึงระดับเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งต่อไป แต่สิ่งที่ชัดเจนขึ้นตอนนี้ ก็คือ หลายปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้กำลังมีบทบาทสำคัญขึ้นมา

แม้ว่าเฟดจะฉีดยาแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ในวันพุธ เฟด คาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และจะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% และ 2.2% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ

นอกจากนี้ เฟด ยังปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจว่าจะขยายตัวที่ 1.7% ในปีนี้ พร้อมคาดว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นที่ 3.7% ภายในสิ้นปีนี้ และจะปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 4.1% ในอีก 2 ปีข้างหน้า

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50-0.75% ในการประชุมครั้งหน้า แต่ไม่คาดหมายว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้จะกลายเป็นความปกติ

Advertisement

ลาวตั้งเป้าช่วย ‘สองแสนครอบครัว’ หลุดพ้นจากความยากจน

People Unity News : 26 มีนาคม 65 รัฐบาลลาวตั้งเป้านำพาครอบครัวชาวลาวหลุดพ้นจากความยากจนเพิ่มอีก 204,360 ครอบครัว ในช่วงปี 2021-2025

หากทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย  ลาวจะมีครอบครัวที่หลุดพ้นจากความยากจนทั้งหมด 1,168,509 ครอบครัว และมี 71,193 ครอบครัวที่ยังคงถูกจัดว่าเป็นผู้ยากจน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.74 ของทั้งหมด

ลาวรายงานเป้าหมายดังกล่าวระหว่างการประชุมประจำปีว่าด้วยการประเมินการพัฒนาชนบทและการบรรเทาความยากจนในปี 2021 เพื่อร่างแผนการดำเนินงานสำหรับปี 2022

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์เป็นเวลาสองวันตั้งแต่วันพุธถึงพฤหัสบดี (23-24 มี.ค.) ในนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว โดยมี คำม่วน คำพูแก้ว รักษาการอธิบดีสำนักงานพัฒนาชนบทและสหกรณ์ สังกัดกระทรวงเกษตรและป่าไม้ เป็นประธานการประชุม และมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานฯ ระดับแขวงหลายแห่งเข้าร่วม

ผู้เข้าร่วมการประชุมต่างพูดถึงความสำเร็จของตนในปีที่ผ่านมา และหารือถึงความท้าทายที่พวกเขาประสบและวิธีจัดการกับความท้าทายเหล่านั้น

ในอดีต หมู่บ้านที่ยังไม่พัฒนาและหมู่บ้านในพื้นที่ชายแดนถือเป็นเป้าหมายในการพัฒนาของลาว

คำม่วนกล่าวว่า ลาววางแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งฝึกอบรมด้านการเกษตรและปศุสัตว์แก่คนท้องถิ่น เพื่อให้พวกเขาปรับปรุงวิถีชีวิตให้ดีขึ้นได้

การประชุมยังหารือเรื่องแผนช่วยปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวยากจน 204,360 ครอบครัว  ช่วงปี 2022-2025  โดยในช่วงปี 2016-2020 มี 85,655 ครอบครัวในลาวหลุดพ้นจากความยากจนแล้ว ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.64 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 148,592 ครอบครัว

ประชากรลาวมากกว่าหนึ่งในสามอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและมีอัตราความยากจนสูง เนื่องจากอาศัยอยู่ห่างไกลและมีการเข้าถึงที่จำกัด โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและกลุ่มผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภูเขา

รายงานระบุว่า การเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ตลาด โรงพยาบาล โรงเรียน และน้ำสะอาด ทำให้ประชาชนลาวเสี่ยงประสบความยากจนมากยิ่งขึ้น

Advertising

“มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

People unity news online : 14 เมษายน 2560 voathai.com ได้เผยแพร่สารคดีชุด “มหาสมุทรแห่งพลาสติก” นำเสนอปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ว่า ขยะพลาสติกแปดล้านตันถูกทิ้งลงทะเลทั่วโลกทุกปี

ขยะพลาสติกที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจำนวนมหาศาล ลอยเคว้งคว้างในมหาสมุทรต่างๆทั่วโลก

ทีมงานถ่ายทำสารคดี A Plastic Oceans หรือ “มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ​ได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อบันทึกภาพขยะพลาสติกเหล่านี้

Julie Anderson แห่ง Plastic Oceans Foundation กล่าวว่า “ขยะพลาสติกที่พบเป็นเพียงเเค่ส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น ครึ่งหนึ่งของขยะพลาสติกจมลงสู่ก้นทะเล และขยะพลาสติกที่เหลือจะลอยอยู่ใกล้ผิวหน้าทะเล โดยเสื่อมสลายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแต่ยังคงสภาพความเป็นพลาสติกอยู่”

ทีมถ่ายทำสารคดีพบ “แพขยะ” ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ถูกกักรวมในปริมาณที่เข้มข้น อยู่ในวังวนของกระเเสน้ำทะเลในมหาสมุทรต่างๆ ทั้งมหาสมุทรแอตเเลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรเเปซิฟิก

Adam Leizig โปรดิวเซอร์ของสารคดีเรื่องนี้ กล่าวว่า ทีมงานพบว่ากลางมหาสมุทรแปซิฟิก มีขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นขนาดเล็กจิ๋วเเขวนตัวอยู่ใต้น้ำหรือใกล้ๆกับผิวน้ำเต็มไปหมด

ขยะพลาสติกชิ้นขนาดจิ๋วเหล่านี้เป็นมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร บางครั้งอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ยังมีขยะพลาสติกที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และทำปฏิกิริยากับสารมลพิษอื่นๆในน้ำทะเล

Adam Leizig กล่าวว่า สารโลหะหนักชนิดต่างๆ ยารักษาโรค และสารเคมีจากภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยลงสู่ทะเล สารเคมีเหล่านี้จะไปเกาะติดกับชิ้นส่วนพลาสติกขนาดจิ๋วในทะเล เมื่อสัตว์ทะเลกินพลาสติกเป็นอาหาร สารเคมีอันตรายเหล่านี้จะเข้าไปสั่งสมในเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นไขมันของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ซึ่งกลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ และคนเราในที่สุด

จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม เป็นชาติที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด ส่วนสหรัฐอเมริกา เเม้ว่าจะเป็นประเทศผู้นำด้านการรีไซเคิ่ลขยะ เเต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 20 ชาติสร้างขยะมากที่สุดทั่วโลก เพราะเป็นผู้ผลิตและใช้พลาสติกในปริมาณมาก

และเเม้ว่าจะมีความพยายามในประเทศต่างๆทั่วโลกในการเเก้ปัญหา อย่างเช่นในเลบานอน ที่เพิ่งเปิดศูนย์แยกขยะรีไซเคิ่ลแห่งใหม่ แต่ Julie Anderson แห่ง Plastic Oceans Foundation กล่าวว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมาก

เธอกล่าวว่า “คนทั่วไปมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยการลดการใช้ขยะพลาสติกชนิดที่ใช้ครั้งเดียวเเล้วทิ้ง เช่น ถุงพลาสติก หลอดดูด ขวดน้ำพลาสติก เเก้วพลาสติก และหันไปใช้วัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม” (รายงานโดย Michael O’ Sullivan / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)

“มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

People unity news online : post 17 เมษายน 2560 เวลา 23.33 น.

Verified by ExactMetrics