วันที่ 4 พฤษภาคม 2025

แนะนักท่องเที่ยว ผู้ที่เดินทางกลับบ้านช่วงหยุดยาว เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคลขั้นสูงสุดป้องกันโควิดระลอกใหม่

People Unity News : แนะนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่เดินทางกลับบ้านช่วงหยุดยาวนี้ เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคลขั้นสูงสุดป้องกันการเกิดคลัสเตอร์โรคโควิด-19 ระลอกใหม่

21 ตุลาคม 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เริ่มคลี่คลาย มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงมาจากความร่วมมือของประชาชนและการเร่งฉีดวัคซีนที่รวดเร็วแบบครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย รัฐบาลจึงได้ปรับมาตรการสำหรับกิจการ สถานประกอบการและมาตรการการเดินทาง ประกอบกับในช่วงวันที่ 21-24 ตุลาคม 2564 เป็นช่วงวันหยุดยาว ประชาชนอาจเดินทางกลับบ้าน หรือไปท่องเที่ยว ทำให้เกิดการรวมตัวกันมากขึ้น อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนระลอกใหม่ได้

กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการเดินทางเข้าจังหวัดปลายทาง จัดเตรียมเอกสารส่วนตัว อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารยืนยันการฉีดวัคซีน พร้อมทั้งเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาแบบครอบจักรวาล เน้นการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการตั้งวงสังสรรค์ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรสังเกตอาการตนเองหลังเดินทางกลับจากการท่องเที่ยว หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ควรตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรอง

Advertising

สถาบันบำราศนราดูรเปิดจองคิวออนไลน์ “ฉีดวัคซีนพาสปอร์ต” เพื่อเดินทางไป ตปท. เริ่ม 18 ต.ค.

People Unity News : สถาบันบำราศนราดูร เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการจองคิวและลดระยะเวลารอคอยให้แก่ประชาชนลงทะเบียนขอรับหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 “วัคซีนพาสปอร์ต” เพื่อใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศของผู้ที่รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน ผ่าน แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” สามารถจองล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2564 นี้

17 ตุลาคม 2564 นายแพทย์กิตติ์พงศ์ สัญชาตวิรุฬห์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่มีแผนเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวและเตรียมเปิดกิจการ เมื่อเปิดประเทศแล้ว หากประชาชนต้องการเดินทางไปต่างประเทศ สามารถขอรับวัคซีนพาสปอร์ต ได้ที่หน่วยงานที่กรมควบคุมโรคกำหนด 100 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี 3 แห่ง : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรุงเทพมหานคร, สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี และกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี ระดับเขต : สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสระบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดสงขลา ระดับจังหวัด : 92 แห่ง นอกจากนี้ อาจขยายไปยังโรงพยาบาลภาครัฐในสังกัดมหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มเติมในอนาคต

ปัจจุบันมีประชาชนมาขอรับวัคซีนพาสปอร์ตจำนวนมาก ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน – 16 ตุลาคม 2564 มีผู้มารับบริการเฉพาะที่กรมควบคุมโรค 8,967 คน และภาพรวมในประเทศไทย 31,340 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2564) โดยระบบเดิมประชาชนต้อง Walk In และใช้เวลานานในการทำวัคซีนพาสปอร์ต สถาบันบำราศนราดูรจึงได้เตรียมเปลี่ยนมาใช้ระบบออนไลน์ ทั้งนัดคิว ส่งหลักฐาน และนัดรับเล่ม ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ซึ่งพัฒนาโดยกองโรคติดต่อทั่วไป (กรต.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และกองโรคติดต่อทั่วไปที่ให้บริการตั้งแต่วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 9.00-15.30 น. ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถขอรับวัคซีนพาสปอร์ตได้มากขึ้น

สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ในการขอหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด มีดังนี้ 1. หนังสือเดินทาง (Passport) 2.บัตรประชาชน 3.เอกสารรับรองการได้รับวัคซีน โดยสามารถมารับหนังสือรับรองฯ ตามที่ได้นัดหมายไว้

นายแพทย์กิตติ์พงศ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล สามารถขอวัคซีนพาสปอร์ตได้ที่ 4 หน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ 1.สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี โทร 0 2590 3427, 0 2590 3427 และ 0 2590 3430 (ในวันราชการ 8.30-16.00 น.) 2.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรุงเทพฯ โทร 0 2521 1668  3.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ อีเมล porthealth_bbk@ddc.mail.go.th และ 4.กองโรคติดต่อทั่วไป อาคาร 5 ชั้น 6 กรมควบคุมโรค จังหวัดนนทบุรี โทร 0 2590 3232, 0 2590 3234 ถึง 35 หรืออีเมล  travelhealth@ddc.mail.go.th สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Advertising

ครม.มีมติจ่ายเงินเยียวยาช่วยคนขับแท็กซี่/วินมอเตอร์ไซค์ ในพื้นที่ 29 จว. คนละ 5 พันบาท

People Unity News : ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบช่วยกลุ่มคนขับรถแท็กซี่/วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด อนุมัติกรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท เร่งจ่ายเยียวยาภายในเดือนพฤศิกายนนี้

วันนี้ 12 ต.ค. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบและไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด แบ่งเป็น ผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) 12,918 คน และผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ 3,776 คน รวม 16,694 คน โดยจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ คนละ 5,000 บาทต่อเดือน ภายใต้กรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นระยะเวลา 2 เดือน ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัดเพิ่มเติม สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพระยะเวลา 1 เดือน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีการลงทะเบียนร่วมโครงการฯ ว่า กรมการขนส่งทางบกจะเปิดให้มีการลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ และดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี จากฐานข้อมูลใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ (รถแท็กซี่) และใบอนุญาตขับ รถจักรยานยนต์สาธารณะ สำหรับกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่เช่าที่ไม่สามารถตรวจสอบพื้นที่ให้บริการได้ จะต้องทำการตรวจสอบยืนยันตัวตนก่อน เช่น ให้นิติบุคคลรถเช่า/สหกรณ์แท็กซี่เป็นผู้รับรอง เป็นต้น ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะจ่ายเงินด้วยวิธีการโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (Promptpay) เฉพาะการผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามวิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คาดว่าจะจ่ายเงินรอบแรกระหว่างวันที่ 8 – 12 พฤศจิกายน และจ่ายเงินรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤศจิกายน

“โครงการฯดังกล่าวจะช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เนื่องจากระบบการขนส่งสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ธุรกิจด้านการขนส่งด้วยรถสาธารณะ ที่จะส่งผลให้ประชาชนยังคงได้ใช้บริการรถสาธารณะที่มีคุณภาพ มีความครอบคลุมในพื้นที่อย่างปลอดภัยต่อไป” นายธนกร กล่าว

Advertising

“ประยุทธ์” แถลงเตรียมเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว 1 พ.ย.นี้ ระบุเพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาส

People Unity News : นายกรัฐมนตรีแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ยืนยัน “เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว” สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และเดินทางทางอากาศจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เริ่ม 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

วันนี้ (11 ตุลาคม 2564) เวลา 20.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ยืนยัน “เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว” ว่า หนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่ได้รับผลกระทบ ที่สร้างความหนักใจที่สุด 2 ทางเลือก คือ การตัดสินใจเลือกระหว่างปกป้องชีวิตคน กับปกป้องการทำมาหากิน เมื่อเลือกที่จะปกป้องชีวิตประชาชน ทำให้พบกับความลำบากในการทำมาหาเลี้ยงชีวิต หากเลือกที่จะปกป้องการทำมาหากินตามปกติของประชาชน ต้องเจอกับการสูญเสียชีวิต ที่อาจจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน เพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นเสาหลักที่หาเลี้ยงครอบครัว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุขที่ยอดเยี่ยม ที่มีอยู่มากมาย ลงมือทำอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้มาตรการที่เข้มงวดต่างๆ ด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในสังคม วันนี้ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกในการปกป้องรักษาชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงในเรื่องการสูญเสียชีวิตที่จะเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยก็กำลังค่อยๆลดลง  แต่ยังต้องระวัง รักษาความสามารถของระบบสาธารณสุข โรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมพร้อมยารักษาและวัคซีนป้องกันมากขึ้นเรื่อยๆ  เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่เหมือนกับโรคภัยอื่นๆที่กลายเป็นโรคประจำถิ่น

ในช่วงหนึ่งถึงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย ต่างค่อยๆเริ่มอนุญาตให้ประชาชนของเขาเดินทางได้ โดยไม่มีเงื่อนไขที่ยุ่งยากมากมาย อย่างเช่น อังกฤษ ตอนนี้เพิ่งจะอนุญาตให้ประชาชนเดินทางมาประเทศไทยได้โดยไม่ยุ่งยาก หรืออย่าง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ก็เพิ่งเริ่มผ่อนคลายเงื่อนไขในการเดินทางไปต่างประเทศของประชาชน  ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นแบบนี้ ยังต้องระมัดระวัง แต่ก็ต้องเดินหน้าให้ไว เพื่อไม่ให้เสียโอกาส ดึงนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลเดินทางท่องเที่ยววันหยุดสิ้นปี ใน 3 เดือนข้างหน้านี้ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการทำมาหากินของประชาชนนับล้านๆคนในภาคการท่องเที่ยว การเดินทาง และภาคธุรกิจพักผ่อนหย่อนใจ และบันเทิง รวมถึงภาคธุรกิจอื่น อีกมากมายที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้สั่งการให้ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิจารณา โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยไม่ต้องกักตัว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และเดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศจากประเทศที่กำหนดว่า เป็นประเทศความเสี่ยงต่ำ เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทย ทุกคนต้องแสดงตัวว่าปลอดเชื้อโควิด-19 โดยต้องมีหลักฐานผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งทำการตรวจก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง และจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย หลังจากนั้น จึงสามารถเดินทางไปพื้นที่ต่างๆได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกับที่คนไทยปกติทั่วไปสามารถทำได้

ทั้งนี้ ได้เริ่มต้นกำหนดรายชื่อประเทศความเสี่ยงต่ำ ที่จะสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว ไว้ที่อย่างน้อย 10 ประเทศ ซึ่งจะรวมประเทศอย่างเช่น อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และอเมริกา โดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนประเทศให้มากขึ้นอีกภายในวันที่ 1 ธันวาคม และหลังจากนั้น ภายในวันที่ 1 มกราคม เราจะเพิ่มจำนวนประเทศให้มากขึ้นอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มาจากประเทศที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศความเสี่ยงต่ำ เรายังให้การต้อนรับเข้าประเทศไทย แต่จำเป็นต้องมีการกักตัว ตามเงื่อนไขและข้อกำหนด

ภายในวันที่ 1 ธันวาคม จะพิจารณาอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ และจะพิจารณาอนุญาตให้สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และสถานบันเทิง เปิดให้บริการได้ ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว การพักผ่อนและบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่กำลังจะเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสปีใหม่

เมื่อเริ่มต้นการผ่อนคลายต่างๆ จะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นการชั่วคราว ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินดูว่าจะรับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร โดยต้องไม่ปล่อยให้เสียโอกาสในช่วงเวลาทองของการทำมาหากินไปอีก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตามใน 2-3 เดือน หรือ 4 เดือนข้างหน้า อาจมีสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายมากๆเกิดขึ้นอีก จึงต้องจัดมาตรการที่เหมาะสมและพอเหมาะพอดี คุมสถานการณ์เอาไว้ให้ได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ตั้งเป้าเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว ให้ได้ภายใน 120 วัน พร้อมเร่งเครื่องการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ชื่นชมความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของเจ้าหน้าที่และบุคลากรสาธารณสุขทุกท่าน เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานส่วนงานอื่นๆ รวมถึงพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน สำหรับความร่วมมือที่ตอบสนองต่อคำร้องขอเมื่อเดือนมิถุนายน

หลังจากที่ตั้งเป้า 120 วัน ได้มีความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อจัดหาวัคซีนมาให้ได้เพิ่มมากขึ้น การรับส่งมอบวัคซีนของไทย เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 3 เท่าทันทีจากที่เดือนพฤษภาคมได้รับส่งมอบวัคซีนถึง 12 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคม และได้รับส่งมอบวัคซีนอีกถึงเกือบ 14 ล้านโดสในเดือนสิงหาคม และวันนี้ ได้รับส่งมอบวัคซีนเข้าประเทศไทยถึงมากกว่า 20 ล้านโดสต่อเดือน ไปจนถึงสิ้นปี รวมเป็นวัคซีนจำนวนมากกว่า 170 ล้านโดส เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นอย่างมาก

เจ้าหน้าที่และบุคลากรสาธารณสุข เร่งการฉีดวัคซีน ประชาชนก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดในโลก ปัจจุบันเฉลี่ยฉีดวัคซีนได้มากกว่า 700,000 โดสต่อวัน และบางวันเกินกว่า 1 ล้านโดส

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งโลกต้องเจอกับการแพร่ระบาดที่รุนแรงของสายพันธุ์เดลต้า ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงมาก เช่นเดียวกับในประเทศไทย หลายคนคงทำใจว่า ไม่น่าจะสามารถเปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัวได้ภายในปีนี้  ขณะที่หลายๆประเทศยังคงต่อสู้กับเดลต้าอยู่ แต่เรากำลังจะสามารถเริ่มเปิดให้เข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการที่คนไทยร่วมมือกัน ทำงานด้วยความมุ่งมั่น และเป็นหนึ่งเดียว ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือกันของประชาชนคนไทยทุกคน จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวให้เข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว

Advertising

ประยุทธ์ Kick off ฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนวันแรก รองรับเปิดภาคเรียน 1 พฤศจิกายน

People Unity News : Kick off ฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียน เพื่อความปลอดภัย รองรับเปิดภาคเรียน 1 พฤศจิกายนนี้

4 ต.ค. 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  เปิดงาน Kick off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนในเด็ก พร้อมชูมาตรการ Sandbox ลดความเสี่ยงของโควิด-19 ที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมงานและได้ถ่ายทอดสดผ่านระบบ zoom พร้อมกัน 15 จังหวัด

นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานว่า สถานการณ์วันนี้ มีหลายอย่างที่น่าห่วงใย ทั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 อุทกภัยและปัญหาเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหาทุกอย่าง พร้อมขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันจนทำให้มีวันนี้ วันที่สามารถเริ่มฉีดวัคซีนให้กับเด็ก เพื่อให้มีความปลอดภัยก่อนเปิดภาคเรียนและทำให้ผู้ปกครองมีความมั่นใจที่จะส่งบุตรหลานมาโรงเรียน รวมทั้งวัคซีนที่ฉีดให้ก็คือไฟเซอร์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว และหลายประเทศก็อนุมัติให้ฉีดแก่เด็กอายุ 12-18 ได้แล้วเช่นกัน

รัฐบาลอยากเห็นประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง จึงยืนยันว่าในปีนี้จนถึงปีหน้ามีวัคซีนเพียงพอ ประมาณ 150-170 ล้านโดส มั่นใจว่าจะฉีดให้ประชาชนได้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบไปทั่วโลก มีการติดเชื้อหลายล้านคน การศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ขอฝากให้ครู อาจารย์ ปรับการเรียนการสอนให้มีความเหมาะสมกับเด็กนักเรียน

กระทรวงสาธารณสุข วางแนวทางฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่าประมาณ 4.5 ล้านคนทั่วประเทศ โดยระยะแรกได้จัดสรรวัคซีน 2 ล้านโดสในต้นเดือนตุลาคมนี้

Advertising

น้ำท่วม​คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด​ เฝ้าระวัง 17 จังหวัด​

People Unity News : น้ำท่วม​คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด​ เฝ้าระวัง 17 จังหวัด​ ปภ.เร่งประสานช่วยเหลือผู้ประสบภัย

2 ต.ค. 64 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ในช่วงวันที่ 23 กันยายน – ปัจจุบัน (2 ต.ค.64) ว่า

เกิดอุทกภัยใน 31 จังหวัด ได้แก่

เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม

รวม 195 อำเภอ 1,001 ตำบล 6,909 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 264,210 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 8 ราย สูญหาย 1 ราย

สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร สุรินทร์ เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี กำแพงเพชร)

ยังคงมีสถานการณ์อีก 17 จังหวัดมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ขณะที่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีระดับน้ำเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

แจ้งเหตุ/ขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertising

กรมอุตุฯเปรียบเทียบข้อมูล ยืนยันปริมาณน้ำฝนปีนี้ น้อยกว่าปี 54

People Unity News : อุตุฯ ยืนยันปริมาณน้ำฝนปีนี้ น้อยกว่าปี 2554 รวมถึงอิทธิพลจากมรสุมที่เผชิญ ย้ำการบริหารจัดการและการระบายน้ำเป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ประชาชนติดตามต่อเนื่อง

30 กันยายน 2564 นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยืนยัน สถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 กับปี 2564 มีความแตกต่างกัน

1.หากวิเคราะห์จากสถิติข้อมูลอุตุนิยมวิทยา พบว่าภาพรวมของการเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กับปี 2564 จะมีความแตกต่างกัน เปรียบเทียบปริมาณฝนที่ตกระหว่าง ม.ค.- ก.ย.พบว่า ปี 2554 ปริมาณฝนเกือบทุกภาคสูงกว่าปี 2564 ยกเว้นภาคตะวันออกที่ปี 2564 สูงกว่าปี 2554 เล็กน้อย และในภาพรวมทั้งประเทศพบว่า ปี 2554 มีฝนมากกว่า ปี 2564 ถึง 20%

2.เปรียบเทียบพื้นที่และการกระจายของฝน ตั้งแต่ช่วงก่อนและเข้าสู่ฤดูฝน พบว่า ในปี 2554 พื้นที่ที่มีฝนตกและตกต่อเนื่อง ได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมเป็นจำนวนมากในลุ่มน้ำสายหลัก รวมทั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เต็มความจุตั้งแต่ต้นปี และในช่วงกลางฤดูฝนถึงปลายฤดูฝน การระบายน้ำสามารถทำได้น้อยเนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ขณะที่ในปี 2564 ช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (เม.ย.- ต้น พ.ค.) การกระจายฝนดี แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนพบว่า ปริมาณฝนที่ตกน้อยลง โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน พ.ค. ถึง มิ.ย.มีปริมาณฝนน้อยและบางพื้นที่มีฝนทิ้งช่วงหลายสัปดาห์

3.เปรียบเทียบอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อน พบว่าในปี 2554 มิ.ย.ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบนและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และในช่วงปลาย มิ.ย.2554 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน “ไหหม่า” ในประเทศลาว ทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ต่อมา ก.ค.2554 ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “นกเตน” ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณ จ.น่าน นอกจากนี้ ยังได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากพายุอีก 3 ลูก ได้แก่ พายุ ไห่ถาง เนสาด และนัลแก ขณะที่ในปี 2564 ช่วงปลายฤดูฝน เดือน ก.ย.มีพายุที่เข้าสู่ประเทศไทยเพียงลูกเดียวคือ พายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่” ดังนั้น จึงมีโอกาสน้อยมากที่ กทม.และจังหวัดใกล้เคียงจะเกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการระบายน้ำเป็นสำคัญ

Advertising

คปภ.ส่งเจ้าหน้าที่คุมเข้มเอเชียประกันภัย ห้ามจ่ายเงินเองห้ามย้ายทรัพย์สิน เร่งจ่ายเคลมประกัน

People Unity News : คปภ. ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่คุมเข้ม “เอเชียประกันภัย” ควบคุมการจ่ายเงินและเร่งจ่ายเคลมประกัน เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน

28 กันยายน 2564 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ในการนี้ ตนในฐานะนายทะเบียนจึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 51/2564 เรื่อง ให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนดและหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินอื่นของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2564 โดยมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัท เพื่อควบคุมดูแลให้บริษัทดำเนินการตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดแล้ว

เลขาธิการ คปภ. ได้แจ้งความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสายตรวจสอบ บูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยได้มอบหมายให้นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และ ดร. อายุศรี คำบรรลือ ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบ นำคณะพนักงานเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่จากสายงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัท เพื่อควบคุมและให้ความเห็นชอบการจ่ายเงินเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประกาศนายทะเบียนกำหนด ซึ่งการเข้าควบคุมการจ่ายเงินของบริษัทเป็นไปตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดให้ในกรณีที่บริษัทถูกสั่งหยุดรับประกันภัยวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทสั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้าย หรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เว้นแต่ เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ หรือเป็นการจ่ายเงินตามที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนประกาศกำหนด ทั้งนี้ ประกาศนายทะเบียนดังกล่าวได้กำหนดการจ่ายเงินโดยความเห็นชอบของนายทะเบียนหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายทะเบียน ในกรณีดังนี้

1.การจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ฯลฯ

2.การจ่ายเงินคืนค่าเบี้ยประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัย

3.การจ่ายค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น

4.การจ่ายค่าสื่อสาร เช่น ค่าไปรษณีย์ ค่าโทรศัพท์ ค่าโทรสาร อินเตอร์เน็ต เป็นต้น

5.การจ่ายค่าภาษี ค่าอากร หรือค่าภาษีอากร ตามที่กฎหมายกำหนด

6.การจ่ายเงินตามคำสั่งศาล เช่น ค่าสินไหมทดแทน ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม เป็นต้น

7.การจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าปรับ เงินจ่ายหรือเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด

8.การจ่ายเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามความจำเป็นเพื่อเร่งรัดติดตามหรือเรียกคืนหนี้สินค้างจ่ายของบริษัท

โดยการเบิกจ่ายเงินในกรณีที่จำเป็นนอกเหนือจากนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน โดยมีเหตุผลความจำเป็นพร้อมเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบค่าสินไหมทดแทนที่ค้างจ่าย โดยให้บริษัทแยกประเภทตามแบบกรมธรรม์และพิจารณาจากลำดับการยื่นเรื่องเข้ามา หากพบว่ารายใดมีเอกสารครบถ้วนก็จะเร่งดำเนินการอนุมัติการจ่ายและแจ้งให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว เบื้องต้นเคลมที่ใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารไม่มากจะเป็นประเภท เจอ จ่าย จบ ส่วนเรื่องที่เอกสารไม่ครบถ้วนจะเร่งให้บริษัทประสานผู้เอาประกันภัยเพื่อนำส่งเอกสารเพิ่มเติมโดยเร็ว

“การออกประกาศนายทะเบียนดังกล่าว เป็นการรองรับและมอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัท เพื่อดำเนินการควบคุมการเบิกจ่ายเงินตามที่จำเป็น และเร่งเคลียร์ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยเป็นอันดับแรก ดังนั้น ทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่จะมีการบริหารจัดการเพื่อดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์   ของประชาชนอย่างเต็มที่ จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล สำนักงาน คปภ. จะดำเนินการในทุกมาตรการอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ และขอให้มั่นใจในระบบประกันภัยว่าสามารถเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนได้ในทุกสถานการณ์  และทุกมิติของความเสี่ยงภัย แม้แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ก็ตาม ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th

Advertising

ธอส. ออก 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าประสบภัยน้ำท่วมฉับพลัน

People Unity News :  ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ออก 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในภาคกลางและภาคตะวันออกที่ประสบภัยน้ำท่วมเฉียบพลัน ผ่าน “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2564” ประกอบด้วย 1.ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก 2.ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่ 1 ปีแรก 3.ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน และคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี 4 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด 4.ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี 5.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี 6.ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร และ 7) พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จ่ายตามความเสียหายจริงรวมทุกภัยธรรมชาติ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และกรณีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงแต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

16 ก.ย. 64 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดน้ำท่วมหลากฉับพลันบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อันเนื่องมาจากการเกิดมรสุม ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของประชาชนพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเสียหาย และผู้อยู่อาศัยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” จึงพร้อมบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนด้วย “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2564” (กรอบวงเงินรวมของโครงการ 100 ล้านบาท) โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.150% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2 – 3 อัตราดอกเบี้ย MRR – 3.15% ต่อปี(ปัจจุบันเท่ากับ 3.00% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ“โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ปี 2564” ตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Application : GHB ALL และ www.ghbank.co.th

Advertising

 

ผบ.ทบ.สั่งทุกหน่วยกองทัพบกดูแลช่วยเหลือประชาชนทันทีจากภาวะน้ำท่วม 

People Unity News : ผู้บัญชาการทหารบกกำชับทุกหน่วยกองทัพบกดูแลพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ช่วยเหลือประชาชนทันที

13 กันยายน 64 พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า จากผลกระทบของพายุ “โกนเซิน” พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในฤดูฝนเนื่องจากปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่จนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ กำชับให้ทุกหน่วยของกองทัพบก เตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เน้นเรื่องการเตรียมแผนการและเข้าปฏิบัติโดยทันที ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพบกได้จัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 1,974 ครัวเรือน ใน 12 จังหวัด 21 อำเภอ ของพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอพยพคน สิ่งของ ขึ้นสู่ที่สูง อำนวยความสะดวกด้านการสัญจร ก่อกระสอบทรายเป็นพนังกั้นน้ำ สูบน้ำออกจากสถานที่สำคัญ โดยบูรณาการความช่วยเหลือร่วมกับฝ่ายปกครองท้องถิ่นและทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สำหรับวันนี้พายุจะส่งผลต่อหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองทัพภาคที่ 2 ได้ลงพื้นที่ เตรียมการรับมือและช่วยเหลือประชาชนไว้แล้ว พร้อมปฏิบัติตลอด 24 ชั่วโมง ตามนโยบายของกองทัพบกและความห่วงใยของนายกรัฐมนตรี

Advertising

Verified by ExactMetrics