วันที่ 15 พฤษภาคม 2025

นายกฯ เผยยังไม่คิดวางทายาทการเมือง

People Unity News : 4 ตุลาคม 2565 นายกฯ เผยยังไม่คิดวางทายาททางการเมือง ปัดตอบกระแสข่าว “พล.ต.อ.จักรทิพย์” เป็นทายาท 3 ป. บอกเป็นเรื่องของ พปชร.หาแคนดิเดตนายกฯใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงแนวทางการวางทายาททางการเมืองในอนาคตว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คิด

เมื่อถามย้ำว่า จะวางแนวทางการเมืองหลังจากนี้อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า ตนยังไม่ได้คิด ตอนนี้ทำเรื่องน้ำท่วมก่อน

ส่วนกระแสข่าวที่มีชื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะมาเป็นทายาท 3 ป. หลังครบกำหนดเว้นวรรคการเมือง 2 ปี หลังพ้นตำแหน่ง ส.ว.นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว

ส่วนกระแสข่าวที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ เป็นเรื่องของพรรคพลังประชารัฐ

Advertisement

คัมแบ็คนายกฯวันแรก “ประยุทธ์” ประชุมผู้ว่าฯทั่วประเทศ พรุ่งนี้ไปตรวจน้ำท่วมขอนแก่น-อุบลฯ

People Unity News : 3 ตุลาคม 2565 นายกฯ เริ่มงานวันแรกที่มหาดไทย ประชุมผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ บริหารจัดหารน้ำ เยียวยาประชาชนที่กำลังเดอืดร้อนจากน้ำท่วม ขณะที่พรุ่งนี้ จะลงพื้นที่ขอนแก่น-อุบลฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับมาปฎิบัติงานวันแรก หลังหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยช่วงเช้าเป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เร้นท์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศที่กระทรวงมหาดไทย

เมื่อเดินทางถึง นายกรัฐมนตรีได้สักการะอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ และเมื่อผู้สื่อข่าวสวัสดีทักทาย นายกรัฐมนตรีได้รับไหว้ผู้สื่อข่าวและโบกมือ

สำหรับภารกิจในช่วงบ่าย นายอาร์มัน อิสเซตอฟ (H.E. Mr. Arman Issetov) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่  ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น น.ส.แอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ (H.E. Ms. Angela Jane Macdonald) เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

ส่วนในวันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำ และพบปะประชาชนเพื่อให้กำลังใจขณะที่ต้องประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัย ที่ จ.ขอนแก่น และ จ.อุบลราชธานี  โดยจะเลื่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นวันพุธที่ 5 ต.ค.65

Advertisement

กกต. แจงระเบียบ 180 วันก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่ลิดรอนช่วยประชาชน

People Unity News : 1 ตุลาคม 2565 เลขา กกต. แจง กกต. ออกระเบียบเพื่อให้ ส.ส. พรรคการเมือง และว่าที่ผู้สมัครเข้าใจและใช้เป็นแนวทางในช่วง 180 วันก่อนการเลือกตั้ง หวั่นทำผิดกฎหมาย ไม่ใช่กฎเหล็กลิดรอนสิทธิในการช่วยประชาชน

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในสัมภาษณ์กรณีที่มีการแสดงความเห็นว่าระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงไม่ให้ความเท่าเทียมกันในการหาเสียง หรือรอนสิทธิในการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน ว่า ความคิดเห็นดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนจากข้อกฎหมายอยู่มาก การที่ กกต.ออกระเบียบนี้เพื่อความเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่มีการหาเสียงเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด เพราะโทษตามกฎหมายกำหนด นอกจากกฎหมายเลือกตั้งที่มีโทษใบเหลือง ใบแดง ใบดำ ใบส้ม หรือยุบพรรคการเมือง ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่แล้ว ยังมีโทษทางอาญาด้วย ซึ่งระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงที่ออกมาไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย เป็นเพียงการอธิบายกฎหมาย ว่าสิ่งใหนทำได้ สิ่งใหนทำไม่ได้ ตามกฎหมายที่กำหนด กกต.จะไปกำหนดความผิดหรือโทษเองไม่ได้ เป็นอำนาจหน้าที่ของศาล และตัวอย่างที่ยกขึ้นมาก็เป็นตัวอย่างที่ได้จากคำพิพากษาของศาล และหนังสือตอบข้อหารือของพรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น ความผิดเกี่ยวกับให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ หรือการติดป้ายประกาศ หรือการหาเสียงทางอิเลคทรอนิคส์

“เรื่องเหล่านี้เป็นข้อห้ามอยู่ในกฎหมาย ซึ่ง กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง กกต.เป็นเพียงผู้นำนำมารวมและอธิบาย ใว้ในระเบียบให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครได้ศึกษาอย่างสะดวกรวดเร็ว” นายแสวง กล่าว

นายแสวง ยังกล่าวว่า การหาเสียงและการทำหน้าที่ต้องแยกออกจากกัน การหาเสียงไม่ว่าผู้ใดจะเป็นรัฐมนตรี ส.ส หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ก็ต้องหาเสียงภายใต้กฎหมายเลือกตั้งอย่างเสภอภาคกัน เช่น ส.ส. หรือรัฐมนตรี ใช้เงินหรือทรัพย์สินส่วนตัวให้เงินไม่ได้เช่นเดียวกัน เป็นต้น ส่วนการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรี หรือ ส.ส. ก็ทำหน้าตามกฎหมายที่ให้อำนาจใว้ตามปกติ กกต.ไม่อาจไปก้าวล่วงการทำหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าทำตามกฎหมายย่อมได้รับความคุ้มครอง เว้นแต่การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และระเบียบนี้ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2562 ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการเดิม คำอธิบายเดิม เพียงแต่ระยะเวลาใช้บังคับยาวนานขึ้น คือ 180 วัน ซึ่งระยะเวลา 180 วัน กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่เป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา กกต.เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น หากจะให้เวลาใช้บังคับในการหาเสียงน้อยลง ต้องแก้กฎหมาย และต้องแก้โดยรัฐสภา ไม่ใช่ กกต. แต่ที่ กกต.แจ้งและดำเนินการก็เพื่อความเรียบร้อย และความหวังดีกับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะหากมีการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย หากมีผู้นำมาร้องเรียน ร้องคัดค้านภายหลัง ผลเสียก็จะเกิดแก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเอง เช่น ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัคร 1 ปี (ใบส้ม) หรือ ตลอดชีวิต (ใบดำ) เลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ หรือยุบพรรคการเมืองแล้วแต่กรณี

Advertisement

คำวินิจฉัยโดยละเอียด ศาล รธน.ชี้ 8 ปีนายกฯ นับจากปี 60

People Unity News : วันนี้  (30 ก.ย.65) มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้  “พล.อ.ประยุทธ์” ยังเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ถึง 8 ปี  จึงไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 170 วรรคสอง

ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย  ในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ  ส.ส.ฝ่ายค้านขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่  โดยศาลมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3  เห็นว่า  ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์  ยังไม่สิ้นสุดลง   โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 170 บัญญัติว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ  (1) ตาย (2) ลาออก (3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ  (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160  (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 (6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 171

วรรค 2 บัญญัติว่า  นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว  ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย  รัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่  แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง  นอกจากนี้มาตรา 158 วรรคหนึ่ง วรรคสอง บัญญัติว่านายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคสาม บัญญัติว่าให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

มาตรา 159 วรรค 1 บัญญัติว่าให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล  ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88  เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

วรรคสอง  บัญญัติว่าการเสนอชื่อตามวรรค 1  ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร   วรรคสาม  บัญญัติว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย   และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  และมาตรา 272 บัญญัติว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้การให้ความเห็นชอบบุคคล  ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคสามต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา  วรรคสองบัญญัติว่า  ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง   หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88  ไม่ว่าด้วยเหตุใด   และสมาชิกของทั้ง 2 สภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา  เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี  จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น  ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน  และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาให้ยกเว้นได้   ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  2560 กำหนดวิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี   ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คือการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา  159 และการได้มาซึ่งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272   โดยการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 มีหลักการสำคัญ  ว่าให้พิจารณาบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  จากที่พรรคการเมืองได้แจ้งชื่อไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง  โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้   ซึ่งเป็นหลักการสำคัญตามที่ได้มา  ซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ   ดังนั้นเมื่อผู้ถูกร้องได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 159  ประกอบมาตรา 272 แต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี   ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์และวิธีการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยบริบูรณ์และเป็นไปตามการบังคับใช้กฎหมายและความแน่นอนชัดเจนของกฎหมายกล่าวคือการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่   ต้องพิจารณากระบวนการในการแต่งตั้งนายกตามมาตรา 158 ประกอบมาตรา 159   โดยเฉพาะเงื่อนไขในมาตรา 159 วรรคหนึ่งบอกว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88   เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีความหมายเฉพาะเจาะจงตามเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูญ 2560  บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นบุคคลอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคการเมืองได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าร้อยละ 5  ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

ผู้ถูกร้องได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม  2557 ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ถวายคำแนะนำ  เห็นได้ว่า ผู้ถูกร้องไม่ใช่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560  ซึ่งต้องมีที่มาตามมาตรา 158 วรรคสอง  กล่าวคือได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร  แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง  บัญญัติว่าให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้   เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความตามมาตรา 263 วรรคสาม  มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยอนุโลม วรรคสองบัญญัติว่ารัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง  จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557  ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้นอนุมาตรา 6  ในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 อนุมาตรา 12 ,13 ,14 ,15 และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170  ยกเว้นอนุมาตรา 3 , 4  แต่ในกรณีตามอนุมาตรา 4 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98  อนุมาตรา 12 , 13 , 14 ,15 และยกเว้นมาตรา 170 อนุมาตรา 5 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 184  อนุมาตรา 1 วรรคสามที่บัญญัติว่า การดำเนินการแต่งตั้งรัฐมนตรีในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ปี 2558  และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557  แก้ไขฉบับที่ 2 ปี 2559 ที่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคสอง  วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่าให้นำความตามมาตรา 163 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐมนตรีตามวรรคสอง และวรรคสามโดยอนุโลม  ดังนั้นจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า  จะถือว่าคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยหรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง  เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมาย 2 ประการ ประการแรก เพื่อให้บทบัญญัติที่ยืนยันถึงหลักความต่อเนื่องของคณะรัฐมนตรี กล่าวคือแม้คณะรัฐมนตรีซึ่งมีผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี   จะเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นอยู่ก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน  2560 แล้ว  ต้องถือว่าคณะรัฐมนตรีซึ่งแม้จะเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีโดยรัฐธรรมนูญฉบับอื่นก็ตาม  ย่อมเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560  ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560  ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นต้นไป ตามบทเฉพาะการมาตรา 264

ประการที่สอง   เพื่อนำกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญที่ประกาศบังคับใช้ใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาบังคับใช้แก่คณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนวันรัฐธรรมนูญปี 2560  ประกาศใช้ ซึ่งเป็นไปตามหลักที่คณะรัฐมนตรี   ที่บริหารราชการแผ่นดิน   ก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ประกาศขึ้นมาใหม่ทุกประการทันที  เว้นแต่ในบทเฉพาะการจะมีข้อยกเว้น ว่ามิให้นำเรื่องใดมาใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้   ดังปรากฏในมาตรา 264 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยกเว้นไว้ในบางเรื่องเท่านั้น  ดังนั้นหากมิได้ประกาศยกเว้นบทบัญญัติเรื่องใดไว้ก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่   ซึ่งความมุ่งหมายของมาตรา 264 จึงเป็นไปตามหลักทั่วไปของการใช้บังคับกฎหมาย  คือ กฎหมายย่อมมีผลบังคับใช้นับจากวันประกาศใช้  เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ย่อมมีความหมายว่าทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับตามบทเฉพาะการทั่วไป เว้นแต่ในบทเฉพาะการมีการบัญญัติให้เรื่องใดยังไม่มีผลบังคับใช้   ดังนั้นไม่ว่ากรณีใดเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ใช้บังคับ ทุกอย่างจึงต้องเริ่มนับทันที

กรณีตามมาตรา 158 วรรคสี่   ในเรื่องระยะเวลา 8 ปี   จึงต้องเริ่มนับทันที  นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้   จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  จึงวินิจฉัยได้ว่าผู้ถูกร้องซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่  ของรัฐธรรมนูญปี 2560

ข้อกล่าวอ้างที่ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3-5/2550 และ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 24/2564  เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคการเมืองและการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิใช่โทษทางอาญาสามารถกระทำได้  เช่นเดียวกับกรณีตามคำร้องในคดีนี้นั้น  เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง  เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคและเป็นผลให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและเป็นกรณีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  อันเป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง  และทั้งสองกรณีดังกล่าวมีบทบัญญัติของกฎหมายที่เขียนไว้โดยชัดเจน  ว่าให้มีผลย้อนหลังได้  เพราะเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหรือขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่แรก แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้บังคับ  มิได้บัญญัติกรณีการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้มีผลย้อนหลังได้  คำวินิจฉัยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นคนละกรณีกับข้อเท็จจริงในคดีนี้   ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด  อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง   ซึ่งมีหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ต่างกัน จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  (กรธ.) ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่  7 กันยายน 2561  ระบุเจตนารมณ์การจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 158 วรรคสี่  ไว้อย่างชัดเจน  ประกอบกับการประชุมดังกล่าวประธาน กรธ. และรองประธาน กรธ.คนที่ 1 ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับว่า บุคคลใดก็ตามที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีการใดก็ตาม  ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้   ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปีนั้น  เห็นว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560  ซึ่งเป็นเพียงการอธิบายแนวความคิดของ กรธ.   และการจัดทำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร  เป็นการพิจารณาภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือน   ประกอบกับความเห็นของประธาน กรธ.และรองประธาน กรธ.คนที่ 1 ที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง   มิได้นำไประบุไว้เป็นความมุ่งหมายหรือคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 นอกจากนี้ตามบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมของ กรธ.ที่พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 158 วรรคสี่  ไม่ปรากฎประเด็นในการพิจารณาหรืออภิปรายเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ว่าสามารถนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับด้วย   การกำหนดเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่   จึงมีความหมายเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ  2560 ประกาศใช้บังคับในวันที่ 6 เมษายน  2560 และผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ตามบทเฉพาะกาล  มาตรา 264 การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง  จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญนี้   จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 158 วรรคสี่  ทั้งนี้ การให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้  จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกร้องจึงดำรงนายกรัฐมนตรีตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน  2560 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม  2565  ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่   ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้อง จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง  ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่  อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น  ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก  6 ต่อ  3  จึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา  170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

Advertisement

“ชวน” เชื่อธรรมาภิบาลแก้ฉ้อฉลธุรกิจการเมืองยั่งยืน

People Unity News : 29 กันยายน 2565 ประธานรัฐสภาขอให้คนในสังคมยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลักดำเนินชีวิต เชื่อธรรมาภิบาลแก้ปัญหาทุจริตฉ้อฉลของธุรกิจการเมืองได้ยั่งยืน

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานพิธีมอบรางวัลการคัดสรรตัวอย่างสุจริต : สุจริตโมเดล ปี 2565 พร้อมกล่าวแสดงความยินดีกับผู้เข้ารับรางวัลตัวอย่าง : สุจริตโมเดล ว่า การคัดสรรตัวอย่างสุจริต : สุจริตโมเดล เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดกิจกรรมการขับเคลื่อนแนวคิดบ้านเมืองสุจริตจากกิจกรรมประกวดคลิปวีดีโอ “บ้านเมืองสุจริต” ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมของเรายังตระหนักในความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้คนในบ้านเมืองยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต

“ไม่ว่าการตระหนักรู้ จะเกิดขึ้นในกลุ่มใดก็ตาม นับเป็นพลังการขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้คนในสังคมยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลักในการดำเนินชีวิตทุกด้าน อันจะเป็นรากฐานที่สร้างความก้าวหน้าของบ้านเมืองได้อย่างแท้จริง ผมมีความตั้งใจว่าจะส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการเมืองที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต โดยยึดหลักธรรมาภิบาล จะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตฉ้อฉลในรูปแบบธุรกิจการเมืองได้อย่างยั่งยืน” ประธานรัฐสภา กล่าว

นายชวน กล่าวว่า จากการสอบถามผู้ได้รับรางวัลได้ความว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จึงขอให้นำไปขยายผลสู่สังคมรอบข้างด้วย ซึ่งจะเป็นต้นทางแห่งการเป็นพลเมืองสุจริต อันจะเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนบ้านเมืองให้สุจริตได้อย่างทรงพลัง เพราะความไม่สุจริตคือวิกฤติของบ้านเมือง เราไม่สามารถนิ่งเฉยได้ จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำให้ประเทศชาติรุ่งเรือง บ้านเมืองสุจริต

Advertisement

เลขาฯพระปกเกล้า ชี้เลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสร้างประชาธิปไตยระดับชาติ

People Unity News : 28 กันยายน 2565 “วุฒิสาร”  ชี้การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง สร้างประชาธิปไตย โจทย์สำคัญแก้ปัญหาของคนในชุมนุม ยกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สร้างปรากฎการณ์สะท้อนสิทธิประชาชน

นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า  กล่าวในเวทีสัมมนาสาธารณะ “การประเมินผลการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น”  ที่จัดโดย สถาบันพระปกเกล้า  ว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญสุดของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะประชาธิปไตยแบบตัวแทน   กลไกการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ให้อำนาจกับประชาชน ในการกำหนดคนที่จะมาเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่น ดังนั้นหากสามารถทำให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นแบบ Free and Fair  ทุกคนกาบนเสรีภาพทางความคิด  ปราศจากเงื่อนไข  อามิสสินจ้าง มีกลไกควบคุมการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม กลไกการตรวจสอบต้องมีประสิทธิภาพที่จะชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งบริสุทธ์ยุติธรรมทั้งนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเครื่องมือการสร้างประชาธิปไตยท้องถิ่นเพื่อไปสู่การสร้างประชาธิปไตยระดับชาติ

การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเป็นการเลือกตั้งโดยตรง เมื่อพื้นที่เล็ก ความใกล้ชิดพื้นที่ ทำให้การตัดสินใจง่าย ขณะที่อำนาจในการถอดถอนตามกฎหมายยังมีข้อจำกัดทั้งเงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่งและจำนวนประชาชนเข้าชื่อ พร้อมมองว่าการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง เป็นโจทย์สำคัญในการแก้ปัญหา พร้อมยกตัวอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีปรากฎการณ์ใหม่ เช่น แคนติเดตที่น่าสนใจจำนวนมากที่มีข้อเสนอทางนโยบายที่เป็นรูปธรรม และทำให้ประชาชนจับต้องได้ และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายทั้งในพื้นที่และภาพรวม โดยมีนโยบายที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเลือกตั้งท้องถิ่นในอนาคตต้องมีนโยบายและทิศทาง

นายวุฒิสาร มองว่าการเลือกตั้งทางตรงแม้จะมีข้อดี แต่ยังมีข้ออ่อน เช่น ทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น ทำให้การต่อสู้กันรุนแรงขึ้น  โดยเฉพาะในพื้นที่เล็ก จะทำให้การจัดเลือกตั้งยาก ทั้งนี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง อบจ.  เทศบาล  อบต. ที่ผ่านมาหลังถูกแช่แข็งมา 6-7 ปี  พบว่าประชาชนตื่นตัว ออกมาใช้สิทธิ์มาก ผู้สมัครหน้าใหม่และคนรุ่นใหม่ลงสมัคร โดย 60-70% ที่คนหน้าใหม่ได้รับเลือกตั้ง  สะท้อนว่าการเลือกตั้งไม่ใช่การส่งต่อมรดก  และบทบาทนักการเมืองท้องถิ่นเด่นชัด  ทำให้การเลือกตั้งเปลี่ยน และโจทย์ใหม่คือต้องทำให้หลังการเลือกตั้งจบลงยังเกิดความสามัคคี  ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชุมชน

Advertisement

ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพ “APEC 2022”

People Unity News : 26 กันยายน 2565 ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพ “APEC 2022” ทุกหน่วยงานเตรียมต้อนรับผู้นำและผู้แทนทุกเขตเศรษฐกิจ พร้อมฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ จัดเมนูอาหารจากวัตถุดิบที่โดดเด่นจากทุกภูมิภาคของไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยความคืบหน้าการเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ปี พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 นี้ โดยใช้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นสถานที่สำหรับการประชุมหลัก และหอประชุมกองทัพเรือสำหรับงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) อย่างเป็นทางการ สำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและคู่สมรสโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยร่วมกันเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ของไทยอย่างแข็งขัน โดยด้านการรักษาดูแลความปลอดภัย ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และชุดปฏิบัติการพิเศษ ฝึกซ้อมแผนแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤต และการเผชิญเหตุ รองรับการประชุมเอเปค 2565 ในช่วงวันที่วันที่ 16 – 20 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีการซักซ้อมยุทธวิธีการปฏิบัติต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น

ในส่วนของงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ สำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและคู่สมรส ซึ่งจะมีขึ้นที่หอประชุมกองทัพเรือ ได้มีการเตรียมการอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG) ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ พร้อมคัดเลือกวัตถุดิบ และเมนูอาหาร เครื่องดื่มที่มีความเป็นเลิศในรสชาติตามตำรับไทยแท้ มีความสร้างสรรค์ และใช้วัตถุดิบที่โดดเด่นมีคุณภาพจากทุกภูมิภาคของไทย อาทิ ผักออแกนิคจากวิสาหกิจชุมชนทั่วทุกภาคของเมืองไทย ไก่ฟ้าโครงการหลวง กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ไข่เป็ดไล่ทุ่งเมืองสุพรรณบุรี เกลือเมืองเพชร กุ้งแม่น้ำอยุธยา ไก่บ้านออแกนิคจากนครปฐม ไข่ปลากุเลาแดดเดียวจากปัตตานี เนื้อโคขุนจากสหกรณ์โพนยางคำสกลนคร ข้าวหอมมะลิไทยจากทุ่งกุลาร้องไห้ และยอดกาแฟเมืองน่าน ทั้งนี้ เมนูอาหารจะได้รับการรังสรรค์โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 APEC Presenters นอกจากนี้ ยังมีการนำผลิตภัณฑ์ งานศิลปหัตถกรรมไทย จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาใช้ในการตกแต่งโต๊ะอาหาร ซึ่งจะสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี

“รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งมั่นร่วมกันเตรียมความพร้อมประเทศไทยในทุกด้าน สู่การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยพิจารณาดำเนินการอย่างเหมาะสม สมเกียรติเต็มภาคภูมิ และสอดคล้องกับแนวคิดหลักที่ไทยผลักดันในการเป็นเจ้าภาพ พร้อมทั้งผสมผสาน นำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการประชาสัมพันธ์ของดีประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีระดับนานาชาติ นอกจากนี้ รัฐบาลคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลักสำคัญ โดยได้มีการเตรียมแผนรองรับหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และขอให้ประชาชนทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพด้วยมิตรภาพที่ดี เพื่อให้การเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ของไทยจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

หัวหน้าภูมิใจไทยสั่งลูกพรรคลุยเลือกตั้ง

People Unity News : 24 กันยายน 2565 “อนุทิน” ลั่น ถูกแล้วภูมิใจไทยเป็นพรรคดูด แต่ดูดด้วยผลงาน สั่งลูกพรรคลุยเลือกตั้ง หน้าต้องดำ ผิวต้องกร้าน เอาตัวเองเข้าสภาให้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการสัมมนาพรรคภูมิใจไทยสัญจร ที่จังหวัดขอนแก่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ร่วมงานเลี้ยงพบปะ ส.ส.พรรค โดยนายอนุทิน กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยมีแต่คนไหลเข้า ไหลออกยังไม่เห็น อย่าให้มีคนแรกจะถูกพวกเราโห่จนกลับบ้านไม่ถูก เพราะเราสำเร็จมาด้วยกัน ทำงานมาด้วยกัน เวลามันมีพลวัตขับเคลื่อนเราเปรียบเสมือนสิ่งที่หมุนรอบ ซึ่งหากหมุนไปเรื่อยๆ ในทางฟิสิกส์จะเกิดเป็นแรงดูด จึงขอให้หมุนไปแบบนี้ หมุนด้วยความเร่ง ความตั้งใจ ความจริงใจต่อประชาชน แรงดูดจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงถูกแล้ว ที่เขาพูดว่าพรรคภูมิใจไทยเป็น “พรรคดูด” แต่ดูดด้วยผลงาน ดูดด้วยความนิยม ก่อนที่นายอนุทิน จะย้ำว่า ขอให้คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายที่ ส.ส.และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคจะสนุกสนานกัน แต่นับจากวันนี้ หน้าต้องดำ ผิวต้องกร้าน และต้องได้รับคะแนนนิยม ความเชื่อมั่นจากประชาชน แล้ววันรุ่งขึ้น หลังการเลือกตั้งเราจะฉลองอย่างยิ่งใหญ่

นายอนุทิน ยังย้ำว่า พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่ติดดิน และย้ำว่าต่อให้ฝนตกหนักแค่ไหน หัวหน้าพรรคจะยืนเคียงข้างลูกพรรค เราตากแดด ตากลม ตากฝน ได้หมด ขออย่างเดียวให้ได้เดินเข้าสภา

นายอนุทิน ยังกล่าวต่อว่า จากนี้ไป 6 เดือน เราจะอยู่ในโหมดของการต่อสู้และขอให้ทุกคนสู้แบบ อสม. คือ สู้จนกว่าจะชนะและเอา ส.ส.ตัวเป็นๆ เข้าสภาเท่านั้น และเราจะชนะอย่างแน่นอน

Advertisement

รัฐบาลแจงแม้ พ.ร.บ.กัญชาฯ ยังไม่มีผลบังคับ แต่มีกฎหมายอื่นควบคุมการใช้

People Unity News : 18 กันยายน 2565 รองโฆษกรัฐบาลแจง แม้ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ยังไม่มีผลบังคับ แต่มีกฎหมายควบคุมการใช้ให้เหมาะสมเพียงพอ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้ถอน ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ออกจากวาระประชุมโดยให้มีการทบทวนร่างกฎหมายใหม่อีกครั้ง ทำให้เกิดกระแสความกังวลว่า จะไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาและกัญชงนั้น

รัฐบาลขอยืนยันว่าปัจจุบันมีกฎหมายที่ควบคุมการใช้กัญชา กัญชงให้เหมาะสมอย่างรอบด้าน โดยนับแต่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ โดยปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ยกเว้นแต่เพียงสารสกัดจากกัญชาและกัญชงที่มีสาร THC เกินกว่า 0.2% ที่ยังถือเป็นยาเสพติด มีผลมาตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 65 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อควบคุมให้เกิดการใช้ให้เป็นไปตามนโยบาย ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อเศรษฐกิจ ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ

กฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาแล้ว ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 มีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 65 ควบคุมไม่ให้มีการ สูบ เสพในที่สาธารณะทุกประเภท หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.65 มุ่งกำกับให้มีการใช้กัญชาในฐานะพืชสมุนไพรควบคุมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม จำกัดการครอบครองช่อดอกกัญชาทั้งระดับบุคคลและวิสาหกิจชุมชน มีการห้ามจำหน่ายกัญชาให้แก่ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่ให้นมบุตร หากฝ่าฝืนก็ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ทางด้านการควบคุมการนำกัญชาไปประกอบอาหาร มีประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบกิจการต้องควบคุม กำกับ และจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและการต้องตระหนักถึงความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ

ทางด้านผู้ประกอบการที่จะนำกัญชา กัญชงไปใช้ในกระบวนการผลิตเป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เวชภัณฑ์ หรือเครื่องสำอาง ก็ต้องมีการขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ

“แม้ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ยังคงต้องอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา กฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ก็จะควบคุมการใช้กัญชา กัญชง ไปจนกว่าพระราชบัญญัติฉบับสมบูรณ์จะออกมาบังคับใช้ หรือหากมีกรณีใดที่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายมารองรับก็มี คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง ที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน สามารถพิจารณาออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ มาดูแลเพื่อให้เกิดความเหมาะสมเพิ่มเติมได้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

Advertisement

“อนุทิน” ย้ำนโยบาย กยศ.ถือเป็นการสร้างอนาคตชาติ

People Unity News : 16 กันยายน 65 “อนุทิน” ย้ำนโยบาย กยศ. ไม่ได้สอนให้คนเบี้ยวหนี้ แต่มองเยาวชนควรได้รับการศึกษาฟรี เป็นการสร้างอนาคตชาติ เรื่องวินัยการเงินการคลังต้องไม่ทุจริต

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีมีข่าวพรรคภูมิใจไทยใช้นโยบาย กยศ.หาเสียง โดยไม่สนวินัยการเงินของประชาชน ว่า พรรคภูมิใจไทยไม่ได้บอกให้คนเบี้ยวหนี้ แต่ให้การศึกษาเยาวชนของชาติควรให้เรียนฟรี แต่พรรคไม่อยากฝืนกระแสของคณะรัฐมนตรี เพราะอาจยังไม่พร้อมเรื่องของงบประมาณ

“เรื่องดอกเบี้ย กยศ. พรรคภูมิใจไทยเขียนเป็นนโยบายตั้งแต่ปี 2557 และเป็นโมฆะไป ยืนยันว่า นโยบายเยาวชนของชาติต้องได้รับการศึกษาสูงสุดโดยรัฐเป็นผู้สนับสนุน ไม่มีประเด็นทางการเมือง เพราะคิดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์และเป็นความมั่นคงของบ้านเมืองในอนาคต เพื่อให้คนในชาติมีการศึกษาสูง ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ยืนยันไม่ใช่เรื่องหาเสียง แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำเมื่อเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน” หัวหน้าพรรคภุมิใจไทย กล่าว

ส่วนที่ถูกมองว่าอาจไม่เหมาะสมกับสถานะการคลังของประเทศในขณะนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า การศึกษาคือการลงทุนอนาคตของชาติ ซึ่งจะมีประโยชน์ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง เพราะวินัยการเงินการคลังควรไปดูเรื่องการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด อะไรที่เป็นสิ่งจำเป็นควรซื้อหรือไม่ควรซื้อ และต้องดูเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันมากกว่า อย่าให้มีเงินรั่วไหล

Advertisement

Verified by ExactMetrics