วันที่ 9 กันยายน 2024

จีนใช้ ‘เศรษฐกิจแบบกิ๊ก’ กระตุ้นจ้างงาน

Female labors work in a cloth factory which export to European Union in Huaibei, Anhui province, East China on 13th October 2015.

People Unity News : 9 กรกฎาคม 2565 จีนวางแผนกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบกิ๊ก (gig economy) หรือระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการจ้างงานแบบชั่วคราว เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน

แนวปฏิบัติจากกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และความมั่นคงทางสังคม รวมถึงหน่วยงานรัฐบาลอีก 4 แห่ง เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.) ระบุการรวมข้อมูลการรับสมัครงานปลีกย่อย (odd job) ไว้ในขอบเขตของบริการข้อมูลการจ้างงานสาธารณะ การส่งเสริมการฝึกอบรมผู้หางานชั่วคราว โดยเฉพาะอาชีพใหม่และอาชีพที่ต้องการแรงงานสูง

นอกจากนั้นแนวปฏิบัติข้างต้นระบุว่าจีนจะพยายามปราบปรามการปฏิบัติอันผิดระเบียบในตลาดเศรษฐกิจแบบกิ๊ก เพื่อคุ้มครองสิทธิของเหล่าแรงงานในระบบเศรษฐกิจนี้ให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จีนออกสารพัดนโยบายในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือบรรดาผู้หางาน ซึ่งรวมถึงนักศึกษาและแรงงานต่างถิ่น ได้มีงานทำ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการจ้างงานในประเทศ

Advertisement

‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดรอบ 28 ปี หวังสกัดเงินเฟ้อ พร้อมส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอีกในการประชุมครั้งหน้า

People Unity News : 16 มิ.ย. 65 ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ที่ระดับ 1.5-1.75% ในวันพุธ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 ปี เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ต้องประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานคณะผู้ว่าการระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงข่าวหลังการประชุมด้านนโยบายเป็นเวลาสองวันว่า เป้าหมายในการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อดึงระดับเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งต่อไป แต่สิ่งที่ชัดเจนขึ้นตอนนี้ ก็คือ หลายปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้กำลังมีบทบาทสำคัญขึ้นมา

แม้ว่าเฟดจะฉีดยาแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ในวันพุธ เฟด คาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และจะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% และ 2.2% ในปี 2023 และ 2024 ตามลำดับ

นอกจากนี้ เฟด ยังปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจว่าจะขยายตัวที่ 1.7% ในปีนี้ พร้อมคาดว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นที่ 3.7% ภายในสิ้นปีนี้ และจะปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 4.1% ในอีก 2 ปีข้างหน้า

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50-0.75% ในการประชุมครั้งหน้า แต่ไม่คาดหมายว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้จะกลายเป็นความปกติ

Advertisement

Gazprom บริษัทพลังงานรัสเซียหยุดส่ง ‘ก๊าซ’ ให้เดนมาร์ก-เยอรมนี ไล่หลังหยุดส่งให้เนเธอร์แลนด์

People Unity News : 1 มิถุนายน 2565 ก๊าซพรอม (Gazprom) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย ประกาศระงับการจัดส่งก๊าซให้เออร์สเตด (Orsted) บริษัทพลังงานรายใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก และระงับการจัดส่งก๊าซให้เยอรมนีภายใต้สัญญาเชลล์ เอเนอร์จี ยุโรป (Shell Energy Europe) โดยมีผลตั้งแต่วันพุธที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (30 พ.ค.) Gazprom ได้หยุดส่ง ‘ก๊าซ’ ให้เนเธอร์แลนด์ หลังปัดซื้อด้วย ‘รูเบิล’

ทั้งนี้ ก๊าซเทอร์รา (GasTerra) บริษัทก๊าซของเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยว่าก๊าซพรอม (Gazprom) บริษัทพลังงานของรัสเซีย จะยุติการจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้เนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่วันอังคาร (31 พ.ค.) เป็นต้นไป หลังก๊าซเทอร์ราปฏิเสธชำระเงินด้วยสกุลรูเบิล

คำแถลงจากก๊าซเทอร์ราระบุว่าการตัดก๊าซของรัสเซีย หมายความว่าจะไม่มีการจัดส่งก๊าซตามสัญญากับก๊าซพรอม จำนวน 2 พันล้านลูกบาศก์เมตร แก่เนเธอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. ถึง 30 ก.ย. ขณะสื่อท้องถิ่นรายงานว่าปริมาณก๊าซที่ถูกตัดคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 5 ของการใช้ก๊าซรายปีในเนเธอร์แลนด์

ก๊าซเทอร์รา ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นเจ้าของส่วนหนึ่ง เผยว่ามีการซื้อก๊าซจากแหล่งอื่นๆ เพื่อรับมือกรณีนี้ ขณะตลาดก๊าซยุโรปมีความเป็นหนึ่งเดียวและความครอบคลุมสูง และมิอาจคาดการณ์ได้ว่าการตัดก๊าซจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์อุปทานและอุปสงค์อย่างไร หรือตลาดยุโรปจะรับมือกับการสูญเสียก๊าซครั้งนี้โดยไม่เกิดผลร้ายแรงตามมาได้หรือไม่

ด้าน ร็อบ เจ็ตเทน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเนเธอร์แลนด์ โพสต์ทวิตเตอร์ว่ารัฐบาลเข้าใจมติของก๊าซเทอร์ราที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินของก๊าซพรอม โดยมติดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการจัดส่งก๊าซแก่ครัวเรือนในประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศแผนยุติการซื้อก๊าซธรรมชาติของรัสเซียอย่างสิ้นเชิงภายในสิ้นปี 2022 และจะพยายามบรรลุเป้าหมายดังกล่าวด้วยการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน และการนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่นๆเพิ่มขึ้น โดยเนเธอร์แลนด์นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียราวร้อยละ 15

Advertisement

 

จีนพบคุณภาพ “อากาศ-น้ำ” ดีขึ้นในปี 2021 ประกาศเดินหน้ากำจัดสภาพอากาศที่เป็นมลพิษหนัก

People Unity News : รายงานฉบับทางการด้านสิ่งแวดล้อมและความสำเร็จของการปกป้องสิ่งแวดล้อมในปี 2021 ของจีน ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการถาวรประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) เพื่อการพิจารณา เมื่อวันจันทร์ (18 เม.ย.) ระบุว่าสภาพแวดล้อมของจีนมีพัฒนาการดีขึ้นในปีที่ผ่านมา

สัดส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศดีของเมืองระดับแคว้นขึ้นไปของจีนในปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 87.5 เพิ่มขึ้น 0.5 จุด เมื่อเทียบปีต่อปี ส่วนความหนาแน่นเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม2.5 (PM2.5) อยู่ที่ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบปีต่อปี

ขณะเดียวกันสัดส่วนน้ำผิวดินของจีนตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป จากระบบวัดคุณภาพน้ำ 5 ระดับของประเทศ เพิ่มขึ้น 1.5 จุด เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ร้อยละ 84.9 ในปี 2021 ขณะสัดส่วนน้ำผิวดินต่ำกว่าระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด อยู่ที่ร้อยละ 1.2

จีนจะเพิ่มความพยายามกำจัดสภาพอากาศที่เป็นมลพิษหนัก ควบคุมมลพิษจากก๊าซโอโซนและรถบรรทุกดีเซล ปกป้องแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำเหลือง ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ทางทะเลที่สำคัญอย่างครอบคลุม ตลอดจนทำแผนที่ทางระบายน้ำเสียและควบคุมการปล่อยสารมลพิษในปี 2022

Advertisement

WHO เตือนประชากรโลกเผชิญ ‘มลพิษทางอากาศ’ รุนแรง โดยเฉพาะประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง

People Unity News : 5 เมษายน 65 เมื่อวันจันทร์ (4 เม.ย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าประชากรโลกเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 99 สูดอากาศที่มีมลพิษเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

แม้ปัจจุบันเมืองมากกว่า 6,000 แห่งใน 117 ประเทศจะเฝ้าติดตามคุณภาพอากาศ แต่ประชาชนในเมืองเหล่านั้นยังคงสูดดมอนุภาคขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับอันตราย โดยประชาชนในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางเผชิญผลกระทบดังกล่าวสูงสุด

องค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และใช้มาตรการอันเป็นรูปธรรมอื่นๆ เพื่อลดมลพิษในอากาศ โดย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชี้ว่าราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูง ความมั่นคงทางพลังงาน และการเร่งรับมือความท้าทายจากมลพิษทางอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการก้าวสู่โลกที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลงเร็วขึ้น

อนึ่ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะพีเอ็ม2.5 (PM2.5) สามารถแทรกซึมเข้าปอดและกระแสเลือด ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคระบบทางเดินหายใจ ส่วนก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีความเกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหอบหืด

องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุด้านสิ่งแวดล้อมที่ป้องกันได้สูงเกิน 13 ล้านราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศจำนวน 7 ล้านราย

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก แนะนำการสร้างระบบและเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและราคาย่อมเยา ซึ่งเหมาะสมกับคนเดินเท้าและคนขี่จักรยาน การลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน การจัดการขยะของเสียที่ดีขึ้น การลดการเผาขยะทางการเกษตรและกิจกรรมวนเกษตรบางส่วนอย่างการผลิตถ่านไม้ เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศและสุขภาพ

Advertisement

ประยุทธ์ เข้าร่วมประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 พร้อมรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC

People Unity News : ประยุทธ์ พร้อมเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 และรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ต่อจากศรีลังกา

วันนี้ (28 มีนาคม 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นโดยศรีลังกา และนายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา เป็นผู้กล่าวในช่วงพิธีเปิดการประชุม ในวันที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 09.50 น. ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายธนกร กล่าวว่า บิมสเทค (BIMSTEC) เป็นกรอบความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของไทย เพื่อสอดรับนโยบายมองตะวันตก (Look West) ของไทย เข้ากับนโยบายมองตะวันออก (Look East) ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และ Act East ของอินเดีย โดย ไทย เคยเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2557

การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 5 ศรีลังกาในฐานะเจ้าภาพ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “BIMSTEC- Towards a Resilient Region, Prosperous Economies, Healthy Peoples”  หรือ “บิมสเทค มุ่งหน้าสู่อนุภูมิภาคที่ยืดหยุ่น มั่งคั่ง และประชาชนมีสุขภาพดี” ซึ่งการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนประเทศไทย จะร่วมพิธีรับมอบตำแหน่งประธาน BIMSTEC ให้แก่ไทย พร้อมร่วมรับชมวิดีโอเปิดตัวการเป็นประธาน โดยไทยจะเป็นประธาน BIMSTEC วาระ 2 ปี ช่วงปี 2565-2566 ต่อจากศรีลังกา โดยประเด็นที่ไทยต้องการผลักดันในช่วงการดำรงตำแหน่งประธาน อาทิ การสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายและวิกฤตรูปแบบต่างๆ และความสามารถในการฟื้นตัว เป็นต้น และในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงในนามผู้นำรัฐบาลไทยอีกด้วย

Advertising

ลาวตั้งเป้าช่วย ‘สองแสนครอบครัว’ หลุดพ้นจากความยากจน

People Unity News : 26 มีนาคม 65 รัฐบาลลาวตั้งเป้านำพาครอบครัวชาวลาวหลุดพ้นจากความยากจนเพิ่มอีก 204,360 ครอบครัว ในช่วงปี 2021-2025

หากทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย  ลาวจะมีครอบครัวที่หลุดพ้นจากความยากจนทั้งหมด 1,168,509 ครอบครัว และมี 71,193 ครอบครัวที่ยังคงถูกจัดว่าเป็นผู้ยากจน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.74 ของทั้งหมด

ลาวรายงานเป้าหมายดังกล่าวระหว่างการประชุมประจำปีว่าด้วยการประเมินการพัฒนาชนบทและการบรรเทาความยากจนในปี 2021 เพื่อร่างแผนการดำเนินงานสำหรับปี 2022

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์เป็นเวลาสองวันตั้งแต่วันพุธถึงพฤหัสบดี (23-24 มี.ค.) ในนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว โดยมี คำม่วน คำพูแก้ว รักษาการอธิบดีสำนักงานพัฒนาชนบทและสหกรณ์ สังกัดกระทรวงเกษตรและป่าไม้ เป็นประธานการประชุม และมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานฯ ระดับแขวงหลายแห่งเข้าร่วม

ผู้เข้าร่วมการประชุมต่างพูดถึงความสำเร็จของตนในปีที่ผ่านมา และหารือถึงความท้าทายที่พวกเขาประสบและวิธีจัดการกับความท้าทายเหล่านั้น

ในอดีต หมู่บ้านที่ยังไม่พัฒนาและหมู่บ้านในพื้นที่ชายแดนถือเป็นเป้าหมายในการพัฒนาของลาว

คำม่วนกล่าวว่า ลาววางแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งฝึกอบรมด้านการเกษตรและปศุสัตว์แก่คนท้องถิ่น เพื่อให้พวกเขาปรับปรุงวิถีชีวิตให้ดีขึ้นได้

การประชุมยังหารือเรื่องแผนช่วยปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวยากจน 204,360 ครอบครัว  ช่วงปี 2022-2025  โดยในช่วงปี 2016-2020 มี 85,655 ครอบครัวในลาวหลุดพ้นจากความยากจนแล้ว ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.64 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 148,592 ครอบครัว

ประชากรลาวมากกว่าหนึ่งในสามอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและมีอัตราความยากจนสูง เนื่องจากอาศัยอยู่ห่างไกลและมีการเข้าถึงที่จำกัด โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและกลุ่มผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภูเขา

รายงานระบุว่า การเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ตลาด โรงพยาบาล โรงเรียน และน้ำสะอาด ทำให้ประชาชนลาวเสี่ยงประสบความยากจนมากยิ่งขึ้น

Advertising

ธนาคารโลกเตือนหนี้ประเทศยากจนพุ่ง 12% เฉียด $9 แสนล้าน แนะประเทศร่ำรวยยื่นมือช่วย

People Unity News : ธนาคารโลกเตือน หนี้ประเทศยากจนพุ่ง 12% เฉียด $9 แสนล้าน เมื่อปีที่แล้ว

14 ตุลาคม 2564 ประธานธนาคารโลก เดวิด มอลพาสส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รายงานของธนาคารโลกว่าด้วยตัวเลขหนี้ระหว่างประเทศประจำปี 2022 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางกำลังมีความเสี่ยงในเรื่องหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยยื่นมือเข้าช่วยซึ่งรวมถึงการลดหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้และการเพิ่มความโปร่งใส

นายมอลพาสส์ กล่าวว่า เวลานี้ครึ่งหนึ่งของประเทศยากจนทั่วโลกต่างมีปัญหาหนี้ต่างประเทศ และจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านั้นสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและลดปัญหาความยากจนได้

รายงานของธนาคารโลกเปิดเผยด้วยว่า หนี้ต่างประเทศของประเทศรายได้ต่ำและปานกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5.3% ในปี ค.ศ. 2020 เป็น 8.7 ล้านล้านดอลาร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาค

นายมอลพาสส์ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประเทศยากจนเหล่านั้นถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากโครงการผัดผ่อนหนี้ Debt Service Suspension Initiative (DSSI) ของประเทศกลุ่มจี-20 กำลังจะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้

ที่มา VOA

Advertising

เตือนจับตาตลาดจีนใกล้ชิด สัญญาณชะลอตัวเศรษฐกิจ ส่งออกไทยไปจีนหดตัว

People unity news online : Krungthai Macro Research จับตาตลาดจีนอย่างใกล้ชิด เหตุมีสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ระบุตัวเลขส่งออกไทยไปจีนชะลอลง หลังสินค้ากลุ่มยาง ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์หดตัวแรง

26 ตุลาคม 2561 ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย ประเมินจากรายงานตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2561 หดตัวลง 5.2% ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน เหตุส่งออกไปจีนหดตัวแรงถึง 14.1% และประเทศกลุ่ม ASEAN-5 ชะลอลงมาก โตเพียง 0.9%

Krungthai Macro Research ชี้จับตาตลาดส่งออกจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีสัญญาณชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง เห็นได้จากตัวเลขสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกันยายน 2561 หดตัว ทั้งยานยนต์ ยางล้อ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตลาดยานยนต์ของจีนชะลงตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ กล่าวต่อไปว่า จับตาสินค้าสินค้ากลุ่มยาง ผลิตภัณฑ์ยาง และยานยนต์ เนื่องจากสินค้ากลุ่มยางพารามีสัดส่วนต่อการส่งออกไปจีนถึง 6.1% และยอดส่งออกหดตัวถึง 39.7% สำหรับผลิตภัณฑ์ยางหดตัว 33.9% ขณะที่การส่งออกยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไป ASEAN-5 มีสัดส่วนถึง 13.6% ของยอดส่งออกไป ASEAN-5 ทั้งหมด ล่าสุดหดตัวที่ 12.8% หดตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ผู้ประกอบการที่อยู่ใน supply chain ของอุตสาหกรรมนี้จึงควรติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด

สำหรับสินค้านำเข้าของไทยในเดือนกันยายน 2561 เติบโต 9.9% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่เติบโต 22.8% เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ส่งออกไปจีนจะหดตัวลง แต่สินค้าจีนยังไม่ทะลักเข้าไทยอย่างที่กังวล ไม่ว่าจะเป็นเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัจจัยภายในประเทศของจีนเอง เช่น การลงทุนที่ลดลง สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และการขอสินเชื่อจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าลดลงอย่างมากในปีนี้  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไม่ควรประมาท เพราะในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ อัตรากำแพงภาษีที่สหรัฐฯ ตั้งกับสินค้าจีนจำนวนมากจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 25% ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้สินค้าจีนออกมามากขึ้น

People unity news online : post 28 ตุลาคม 2561 เวลา 08.10 น.

“มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

People unity news online : 14 เมษายน 2560 voathai.com ได้เผยแพร่สารคดีชุด “มหาสมุทรแห่งพลาสติก” นำเสนอปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ว่า ขยะพลาสติกแปดล้านตันถูกทิ้งลงทะเลทั่วโลกทุกปี

ขยะพลาสติกที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจำนวนมหาศาล ลอยเคว้งคว้างในมหาสมุทรต่างๆทั่วโลก

ทีมงานถ่ายทำสารคดี A Plastic Oceans หรือ “มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ​ได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อบันทึกภาพขยะพลาสติกเหล่านี้

Julie Anderson แห่ง Plastic Oceans Foundation กล่าวว่า “ขยะพลาสติกที่พบเป็นเพียงเเค่ส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น ครึ่งหนึ่งของขยะพลาสติกจมลงสู่ก้นทะเล และขยะพลาสติกที่เหลือจะลอยอยู่ใกล้ผิวหน้าทะเล โดยเสื่อมสลายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแต่ยังคงสภาพความเป็นพลาสติกอยู่”

ทีมถ่ายทำสารคดีพบ “แพขยะ” ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ถูกกักรวมในปริมาณที่เข้มข้น อยู่ในวังวนของกระเเสน้ำทะเลในมหาสมุทรต่างๆ ทั้งมหาสมุทรแอตเเลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรเเปซิฟิก

Adam Leizig โปรดิวเซอร์ของสารคดีเรื่องนี้ กล่าวว่า ทีมงานพบว่ากลางมหาสมุทรแปซิฟิก มีขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นขนาดเล็กจิ๋วเเขวนตัวอยู่ใต้น้ำหรือใกล้ๆกับผิวน้ำเต็มไปหมด

ขยะพลาสติกชิ้นขนาดจิ๋วเหล่านี้เป็นมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร บางครั้งอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ยังมีขยะพลาสติกที่เสื่อมสลายเป็นชิ้นเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และทำปฏิกิริยากับสารมลพิษอื่นๆในน้ำทะเล

Adam Leizig กล่าวว่า สารโลหะหนักชนิดต่างๆ ยารักษาโรค และสารเคมีจากภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยลงสู่ทะเล สารเคมีเหล่านี้จะไปเกาะติดกับชิ้นส่วนพลาสติกขนาดจิ๋วในทะเล เมื่อสัตว์ทะเลกินพลาสติกเป็นอาหาร สารเคมีอันตรายเหล่านี้จะเข้าไปสั่งสมในเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นไขมันของสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ซึ่งกลายเป็นอาหารของสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ และคนเราในที่สุด

จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม เป็นชาติที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด ส่วนสหรัฐอเมริกา เเม้ว่าจะเป็นประเทศผู้นำด้านการรีไซเคิ่ลขยะ เเต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 20 ชาติสร้างขยะมากที่สุดทั่วโลก เพราะเป็นผู้ผลิตและใช้พลาสติกในปริมาณมาก

และเเม้ว่าจะมีความพยายามในประเทศต่างๆทั่วโลกในการเเก้ปัญหา อย่างเช่นในเลบานอน ที่เพิ่งเปิดศูนย์แยกขยะรีไซเคิ่ลแห่งใหม่ แต่ Julie Anderson แห่ง Plastic Oceans Foundation กล่าวว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมาก

เธอกล่าวว่า “คนทั่วไปมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยการลดการใช้ขยะพลาสติกชนิดที่ใช้ครั้งเดียวเเล้วทิ้ง เช่น ถุงพลาสติก หลอดดูด ขวดน้ำพลาสติก เเก้วพลาสติก และหันไปใช้วัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม” (รายงานโดย Michael O’ Sullivan / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว)

“มหาสมุทรแห่งพลาสติก” ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

People unity news online : post 17 เมษายน 2560 เวลา 23.33 น.

Verified by ExactMetrics