วันที่ 4 กรกฎาคม 2025

“จิราพร” สั่ง สคบ. ยกระดับคุ้มครองผู้บริโภคขนานใหญ่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 มิถุนายน 2568 “จิราพร” สั่ง สคบ. เดินหน้าแก้ กม. ยกระดับคุ้มครองผู้บริโภคขนานใหญ่ เน้นทันสมัย-ป้องกันผู้ประกอบการเอาเปรียบ

นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่ากฎหมายที่ใช้บังคับในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค 2522 พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มีข้อจำกัดในการรองรับบริบทเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จึงได้สั่งการให้ สคบ. เร่งการทบทวน และแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้มีความทันสมัย สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี พร้อมยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมและเข้มแข็งยิ่งขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568 คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่..) พ.ศ. … โดยมีหน้าที่วิเคราะห์ปัญหา ศึกษาข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน และยกร่างบทบัญญัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2568 สคบ. ได้จัดโครงการประเมินผลสัมฤทธิ์ชองพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 โดยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และในวันที่ 18 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา สคบ. ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย สอดรับกับสภาพการค้าขายและกลไกทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

“การปรับปรุงตัวกฎหมายครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของ สคบ. ครั้งใหญ่ เป็นการปฏิรูปทั้งกฎหมาย ทั้งกลไกการดำเนินงาน ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และมีบทลงโทษผู้กระทำผิดที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป” นางสาวจิราพรกล่าว

Advertisement

รัฐบาลเปิดตัว “บริการแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพ”

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 มิถุนายน 2568 รัฐบาลเดินหน้ายกระดับความปลอดภัยอีกขั้นให้ประชาชน ผ่าน “บริการแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพ” ฟีเจอร์ใหม่บน LINE Official “BAAC Family” เช็ก แจ้ง เตือนภัย สะดวกปลอดภัยทุกที่ทุกเวลา

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ทิศทางของการทำธุรกิจ และการทำธุรกรรมทางการเงินล้วนแต่จำเป็นต้องใช้งานผ่านบนแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันต่างๆ ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพเล็งเห็นช่องว่าง ในการคิดค้นกลยุทธ์วิธีใหม่กลโกงใหม่ ๆ ในการคุกคาม หลอกลวงเหยื่อให้ทำบัญชีธุรกรรม ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ รัฐบาล โดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงการคลัง บูรณาการความร่วมมือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พัฒนาซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน เปิดตัว “บริการแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพ” ฟีเจอร์ใหม่บน LINE Official “BAAC Family” เพื่อเป็นช่องทางในการช่วยเหลือผู้ใช้บริการของธนาคาร โดยในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการและติดต่อสื่อสารผ่านระบบดิจิทัลของธนาคารเป็นจำนวนถึงมากกว่า 14 ล้านราย

นายอนุกูล กล่าวว่า สำหรับความเสียหายจากการปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญความเสียหายมากถึงปีละ 30,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงในการถูกหลอกผ่านวิธีการส่ง เอสเอ็มเอส หรือ LINE ที่แอบอ้างว่าเป็นหน่วยงานรัฐ เช่น เงินช่วยเหลือ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และไม่เพียงแค่กลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ในปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพยังได้หาวิธีการในการหลอกลวงเพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่

“ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่รัฐบาลจะมุ่งเน้น และเดินดำเนินการปราบปรามอย่างเข้มงวด รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจ ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้เท่าทัน กลโกงและวิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ซึ่งผลของการจับกุมและอายัดเส้นทางทางการเงินในคดีอาชญากรรมออนไลน์ ถือเป็นหนึ่งในผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของการทำงานอย่างจริงจังของรัฐบาล ซึ่งสำหรับ LINE Official “BAAC Family” ที่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐร่วมบูรณาการสร้างความร่วมมือพัฒนาซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน ถือเป็นหนึ่งในการยกระดับความปลอดภัยในการป้องกันการเข้าถึงเครื่องมือในการเช็ก – แจ้ง – เตือนภัยมิจฉาชีพได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ บัญชีม้าหรือบัญชีปลอม ต้องสงสัย เว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัยและอันตราย รวมไปถึงการแจ้งเบาะแสอาชญากรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียลไทม์ แบบ “All in one place” ครบจบในแชตเดียว” นายอนุกูล ระบุ

Advertisement

อว. ใช้ AI รับรองมาตรฐานหลักสูตร

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 มิถุนายน 2568 อว. ใช้ AI รับรองมาตรฐานหลักสูตร เพื่อให้มีคุณภาพ ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็วขึ้น เปิดช่อง Fast Track

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ออกประกาศเรื่อง การรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาของหลักสูตรการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2568 ซึ่งผ่านประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) ต้องการให้มีการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบและรับรองหลักสูตรการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทันต่อความเปลี่ยนแปลง และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้เรียน สังคม และผู้เกี่ยวข้อง

นายคารม กล่าวว่า คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาพิจารณาความถูกต้องเพื่อรับรองผลใน 3 มิติ ได้แก่ 1.ความสอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร 8 ข้อ 2.ผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา และ 3 การดำเนินการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงกับผลลัพธ์การเรียนรู้และระบบบริหารหลักสูตรอย่างมีคุณภาพ สำหรับหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจะได้รับการรับรองนาน 5 ปี และหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่มีระยะเวลาการศึกษาเกิน 5 ปี จะได้รับการขยายเวลารับรองเพิ่มอีก 1 ปี นอกจากนี้ ต้องมีระบบติดตามผลการดำเนินงานของหลักสูตร ภายในภาคเรียนที่ 1 หลังผู้เรียนรุ่นแรกจบการศึกษา โดยให้สถาบันอุดมศึกษารายงานข้อมูลผลการเรียนรู้ของนักศึกษาและการบริหารหลักสูตรผ่านระบบ CISA โดยกำหนดช่องทาง “Fast Track” เป็น 2 กรณีคือ หลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานนานาชาติก่อนส่งเอกสาร ให้ยื่นตรวจเฉพาะความสอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐาน 8 ข้อ และหลักสูตรที่ได้รับการรับรองภายหลังจากที่ได้รับการรับรองโดย กมอ.แล้ว ให้ยื่นขอยกเว้นการติดตามผลการจัดการศึกษา

“รัฐบาลผลักดันการศึกษาไทยให้มีความทันสมัย ปรับหลักสูตรฉบับใหม่ ให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบ AI ช่วยตรวจสอบ พร้อมเปิดช่องทาง Fast Track หรือช่องทางด่วนพิเศษสำหรับหลักสูตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่างประเทศที่มีชื่อเสียง เพื่อลดความซ้ำซ้อน และลดภาระของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักศึกษาในอนาคต” นายคารม ระบุ

Advertisement

ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน เร่งกำจัด “ปลาหมอคางดำ”

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 มิถุนายน 2568 รัฐบาลติดตามผลการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ต่อเนื่อง ด้านประมงสมุทรสาครรับซื้อยอดทะลุ 513 ตัน ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ได้เห็นชอบ “แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567-2570” กรมประมงจึงดำเนินโครงการควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทยและกรมพัฒนาที่ดิน รับซื้อปลาหมอคางดำจากทั้งบ่อเพาะเลี้ยงและแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อนำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพ สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับการจัดสรรโควตารับซื้อปลาหมอคางดำ จำนวน 750,000 กิโลกรัม วงเงินรวม 15 ล้านบาท โดยเกษตรกรจะได้รับค่าตอบแทนในอัตรากิโลกรัมละ 15 บาท และแพรวบรวมจะได้รับเพิ่มอีก 5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2568

นายอนุกูล กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้โครงการควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่องในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งได้เปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ จำนวน 10 แพ อำนวยความสะดวกแก่เกษตรกร ประชาชน และชาวประมงในพื้นที่ ขณะนี้มีแพรับซื้อที่โควตาเต็มแล้ว 5 แพ เหลืออีก 5 แพที่ยังเปิดรับซื้อ โดยจะให้บริการต่อไปจนกว่าจะครบจำนวนตามใบสั่งจ้างจากสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งนี้ สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้มอบหมายให้บุคลากรในสังกัดสำนักงานประมงจังหวัดและสำนักงานประมงอำเภอ ให้บริการชั่งปลาให้เกษตรกรและชาวประมงทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ส่งผลให้มียอดจับปลาหมอคางดำในวันที่ 2 มิถุนายน 2568 จำนวน 21,767 กิโลกรัม รวมจังหวัดสมุทรสาครรับซื้อปลาหมอคางดำส่งไปยังอินโนฟาร์ม จังหวัดกาญจนบุรีแล้ว 513,973 กิโลกรัม คงเหลือจำนวนปลาที่ต้องรับซื้อในโครงการฯ อีก 236,027 กิโลกรัม

“รัฐบาลเชิญชวนทุกภาคส่วน ร่วมมือกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถนำปลามาจำหน่ายได้ที่จุดรับซื้อ ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จนกว่าจะครบเป้าหมาย 750,000 กิโลกรัม หรือภายในวันที่ 11 กันยายน 2568 โดยสามารถติดต่อแพรวบรวมโดยตรง หรือติดต่อสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อประสานนัดหมายจับปลาต่อไป” นายอนุกูล กล่าว

Advertisement

“มหาดไทย” ขับเคลื่อน สร้างพื้นที่ปลอดภัย หยุดยั้งยาเสพติด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 พฤษภาคม 2568 ปลัด มท. “อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์” สั่งการผู้ว่าฯ สนองนโยบาย “อนุทิน” ดำเนินการเชิงรุก ขับเคลื่อนมหาดไทยสีขาว สร้างพื้นที่ปลอดภัย หยุดยั้งยาเสพติด เดินหน้าตรวจหาสารเสพติดบุคลากร มท.-อปท. ทั่วประเทศภายในเดือน มิ.ย. 68 นี้

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและนโยบายหลักของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้เน้นย้ำทุกกลไกของกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้กรมการปกครองจัดทำโครงการมหาดไทยสีขาว สร้างพื้นที่ปลอดภัย หยุดยั้งยาเสพติด (Safe Zone No Drugs) เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และบุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในทุกรูปแบบ

“สำหรับแนวทางการดำเนินการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และบุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทุกประเภท ได้พิจารณาให้ความยินยอมและสมัครใจเข้ารับการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะโดยปราศจากการบังคับ พร้อมทั้งประสานผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับข้าราชการในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) จัดหาชุดทดสอบสารเสพติดเพื่อสนับสนุนการตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศป.ปส.อ.) และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศป.ปส.อปท.) ในพื้นที่ให้เพียงพอ” นายอรรษิษฐ์ กล่าว

นายอรรษิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีหากพบว่าบุคลากรมีสารเสพติดในร่างกาย ให้หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นสังกัดของบุคลากรรายนั้น ๆ พิจารณาสอบถามความสมัครใจและยินยอมเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในระบบของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้โอกาสตามหลักนโยบาย “ผู้เสพคือผู้ป่วย” และปกปิดข้อมูลของบุคลากรดังกล่าวเป็นความลับ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของบุคลากรและครอบครัวเป็นสำคัญ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดในระหว่างการเข้ารับการบำบัดรักษาฯ เช่น การรายงานตัวต่อต้นสังกัดเป็นระยะ เพื่อให้คำแนะนำ สอบถามอาการ หรือความต้องการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากต้นสังกัด หรือหน่วยงานอื่นเพื่อเลิกพฤติกรรมเกี่ยวกับยาเสพติด และเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาของการบำบัดรักษาหรือระยะเวลาที่หน่วยงานต้นสังกัดและบุคลากรผู้นั้นตกลงร่วมกันแล้ว แต่ก็ยังไม่เลิกพฤติกรรมเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาฯ หลบหนีการบำบัดรักษา หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการแสดงออกว่าไม่ยินยอมเข้ารับการบำบัดรักษาฯ ตามข้อตกลงของหน่วยงานต้นสังกัด ให้ดำเนินการลงโทษทางวินัยตามกฎหมายเกี่ยวกับวินัยของข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่เป็นเยี่ยงอย่างแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท

Advertisement

“ประเสริฐ” เผย ‘ดีอี’ ระงับเบอร์โจรออนไลน์แล้วกว่า 7,000 เลขหมาย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 พฤษภาคม 2568 “ประเสริฐ” เผย ‘ดีอี’ ระงับเบอร์โจรออนไลน์แล้วกว่า 7,000 เลขหมาย เดินหน้าเคาะมาตรการสกัดช่องทางหลอกลวงประชาชนซ้ำอีก

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผลการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 4/2568 ที่มีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ ,นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ พร้อมตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) , กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) , กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ , สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) ร่วมหารือเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมาเพื่อดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาลว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ได้ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติมฯ พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดให้คดีความผิดทางอาญาซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 21 (1) เป็นคดีพิเศษเพิ่มเติมจำนวน 3 คดีความผิด 1.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล , 2.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และ 3.คดีความผิดกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า 2 ใน 3 ของคดีพิเศษที่กำหนดเพิ่มเติมนั้น เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ และมีความสอดคล้องกับ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

นายประเสริฐ กล่าวว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 7 เรื่องสำคัญ ที่มีผลการดำเนินงาน ถึง 30 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา โดย 1.การปราบปรามจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์ เดือน เมษายน 2568 (ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) , การจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทุกประเภท ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 2566 – เมษายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 59,279 ราย โดยในเดือน เมษายน 2568 มีการจับกุมจำนวน 1,965 ราย , การจับกุมคดีพนันออนไลน์ คดีพนันออนไลน์ ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 2566 – เมษายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 25,519 ราย โดยในเดือนเมษายน 2568 มีการจับกุมจำนวน 823 ราย โดยผลการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้า และความผิดตาม พรก.ฯ ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 2566 – เมษายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,386 ราย โดยในเดือนเมษายน 2568 มีการจับกุมจำนวน 277 ราย

2.การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ (ปีงบประมาณ 2568 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 เมษายน 2568) , การปิดกั้นเว็บไซต์พนันออนไลน์ จำนวน 52,106 (URLs) หลอกลวงออนไลน์ จำนวน 1,167 (URLs) และอื่นๆ 39,657 (URLs) รวมทั้งสิ้น 92,930 (URLs) , การประสานแพลตฟอร์มเพื่อขอปิดกั้นเกี่ยวกับหลอกลวงออนไลน์ ที่มีคำสั่งศาล จำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 10,148 (URLs) ที่ไม่มีคำสั่งศาล มีจำนวนแจ้งขอการปิดกั้น 29,526 (URLs) (เฉพาะในส่วนของกระทรวงดีอี)

3.การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 30 เมษายน 2568 มีดังนี้ AOC ระงับบัญชีชั่วคราว จำนวน 383,552 บัญชี , ปปง. ทำการอายัดบัญชีไปแล้วจำนวน 767,755 บัญชี (ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2568)

4.มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า และ SMS แนบลิงก์

-มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า (ซิมของบุคคลต่างด้าว) กสทช.จะมีการควบคุมการลงทะเบียน ซิมของของบุคคลต่างด้าว โดยจะจำกัดไว้ที่ จำนวน 3 ซิม ต่อ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะมีระยะเวลาในการปรับปรุงระบบให้แล้วเสร็จภายในเดือน สิงหาคม 2568 โดยการบริหารจัดการ SMS แนบลิงก์ กสทช. ได้กำหนดให้ ผู้ใช้บริการที่มีความประสงค์จะส่ง SMS แนบลิงก์ ลิงก์ดังกล่าวต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจาก สกมช. ก่อนส่งข้อความสั้น โดยลิงก์ที่ส่งจะต้องนำไปสู่เนื้อหาที่ต้องการสื่อสารเท่านั้น เช่น สำนักงาน กสทช. จะต้องไปยังเว็บไซต์ www.nbtc.go.th ห้ามนำไปสู่แพลตฟอร์มอื่น และห้ามไม่ให้มีข้อความที่ระบุช่องทางในการติดต่อถึงบุคคลอื่น เช่น การ Add Line

สำหรับมาตรการลงโทษ กรณีพบว่าผู้ใช้งาน Sender Name ใด มีการส่งลิงก์ที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ หรือผู้ส่งปลอมแปลงลิงก์ระหว่างการส่ง SMS หรือข้อความอื่นที่สามารถใช้เป็นช่องทางในการติดต่อถึงบุคคลอื่น ผู้ให้บริการจะต้องยกเลิกสัญญาการให้บริการ ขณะเดียวกัน พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 ตามมาตรา 4/1 วรรคสอง ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคัดกรองเนื้อหาข้อความสั้น (SMS) ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามมาตรการที่สำนักงาน กสทช.กำหนดด้วย ดังนั้น หากตรวจสอบพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมสำนักงาน กสทช. และพระราชกำหนดดังกล่าว สำนักงาน กสทช. อาจใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายกับผู้ให้บริการที่กระทำความผิด และ/หรือนำส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

5.มาตรการระงับหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการลงทะเบียนด้วยชื่อของบุคคลต้องสงสัย ตามที่ศูนย์ AOC 1441 หรือ ศปอท. ได้รับแจ้ง/ร้องเรียนทางโทรศัพท์จากผู้เสียหายว่ามีการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เดือนมกราคม – เมษายน 2568 ได้มีการบันทึกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพ (ตัดหมายเลขซ้ำออก) ที่มี Bank Case ID จำนวน 7,173 เลขหมาย และยังไม่มี Bank Case ID จำนวน 425 เลขหมาย

ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิจฉาชีพใช้เบอร์หรือเลขหมายโทรศัพท์ดังกล่าวในการติดต่อผู้เสียหายรายอื่น ๆ โดยการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์การระงับเลขหมายโทรศัพท์ที่มีการลงทะเบียนด้วยชื่อของบุคคลต้องสงสัย ซึ่ง AOC 1441 หรือ ศปอท. จะแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ ข้อมูลการใช้บริการโทรคมนาคม ให้สำนักงาน กสทช. (ตามมาตรา 8/5 (7)) แล้วให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามมาตรา 5 วรรคสอง โดยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ระงับการให้บริการโทรคมนาคมของบุคคลหรือนิติบุคคลนั้น รวมถึงเบอร์โทรศัพท์หมายเลขอื่นของบุคคลหรือนิติบุคคลนั้นทั้งหมดในทุกผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์

6.การเร่งรัดบูรณาการข้อมูลหน่วยงานร่วมกันเพื่อดำเนินการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568 โดยมอบหมายให้ ศปอท. ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปปง. กสทช. ก.ล.ต. ธ.ป.ท. สมาคมธนาคารไทย ฯลฯ ในเรื่องขั้นตอนการจัดการบัญชีม้าและการใช้อำนาจตามมาตรา 4/1 การดำเนินการตามเหตุอันควรสงสัย ขั้นตอนการทำงานรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบติดตามของ ศปอท. รวมทั้งเรื่องการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามพระราชกำหนดฯ ในขั้นตอนปฏิบัติ (SOP) และระยะเวลาการดำเนินการ (SLA)

7.มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้าคริปโทในเดือน มิถุนายน 2568 ก.ล.ต. และ สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) จะหารือร่วมกับ ปปง.ในการออกแนวทางปฏิบัติการใช้ข้อมูลบัญชีม้า HR-03 และแนวทางการพัฒนาระบบเพื่อเชื่อมฐานข้อมูล HR-03 กับผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล (DA) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบการฯ ระงับการเปิดบัญชี/ให้บริการกับบัญชีม้า รวมทั้งการหารือร่วมกันกับกระทรวงดีอี ในขั้นตอนการส่งรายชื่อแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับอนุญาต

“ในวันที่ 28 – 29 พฤษภาคม 2568 พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อพิจารณาเห็นชอบ โดยขณะนี้ คณะกรรมการฯ ได้เร่งรัดการดำเนินการกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับ ในการดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมออนไลน์ อย่างมีประสิทธิภาพ และการบังคับใช้ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ บัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดีย หลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งการเยียวยาผู้เสียหาย” รองนายกรัฐมนต่และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว

Advertisement

ยันหน้ากากอนามัยไม่ขาดแคลน เตือนอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 พฤษภาคม 2568 รองโฆษกรัฐบาลยืนยัน หน้ากากอนามัยไม่ขาดแคลน เตือนคนขายอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคา สั่งหน่วย ฉก.ลงจับกุมข้อหาขายเกินราคาควบคุม ชี้ โควิดยังคงอยู่ ขอหมั่นดูแลสุขภาพ

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ยังมีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อยู่บ้างทำให้ประชาชนมีความกังวลเรื่องหน้าการอนามัยขาดแคลน ซึ่งรัฐบาล โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามสถานการณ์การจำหน่ายชุดตรวจโควิด-19 (ATK) หน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ล้างมือ จากโดยมีผู้ผลิต ผู้นำเข้า ห้างค้าส่งค้าปลีก ผู้ประกอบการกว่า 20 รายอย่างใกล้ชิด ขอยืนยันว่ามีสินค้าพอเพียงและราคาปกติ ไม่มีการปรับขึ้น มีแต่การลดราคาและโปรโมชันต่อเนื่อง ขอประชาชนอย่าเป็นกังวล

นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยอยู่ที่ 50-60% ของความสามารถทั้งหมด และสามารถเพิ่มได้ และวัตถุดิบหลักในการผลิตยังคงเพียงพอ ส่วน ATK ยังต้องนำเข้าทั้งหมด แต่สินค้ามีเพียงพอสำหรับจำหน่ายและมีการนำเข้าเพิ่มเติมต่อเนื่อง รองรับความต้องการของประชาชน ซึ่งประชาชนยังคงหาซื้อสินค้าได้จากหลายช่องทาง เช่น ห้างค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาเก็ต ร้านขายยา และแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า เนื่องจากราคาจะขึ้นอยู่กับชนิด ยี่ห้อ และคุณภาพของสินค้า

“ยืนยันข่าวลือเกี่ยวกับการขาดแคลนหน้ากากอนามัยไม่เป็นความจริง ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ามี ATK หน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ล้างมือเพียงพอ ย้ำเตือนร้านค้าที่กักตุนสินค้า หรือขายเกินราคามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ข้อหาขายเกินราคาควบคุม มาตรา 25 (1) และมาตรา 25 (5) ไม่แจ้งต้นทุนซื้อขายสต๊อก มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย มาตรา 28 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ข้อหาขายแพงเกินสมควร (มาตรา 29) มีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพบการฉวยโอกาสหรือกักตุนสินค้า ราคาสูงเกินจริง สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569 หรือไลน์ @MR.DIT” นายอนุกูล กล่าว

Advertisement

รัฐบาลเร่งช่วยลูกหนี้ กยศ. ขยายเวลาตัดยอด ปรับโครงสร้างหนี้ถึง 24 พ.ค.นี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 พฤษภาคม  2568 เปิดเทอมแล้ว…รัฐบาลเร่งช่วยลูกหนี้ กยศ. ขยายเวลาตัดยอด ปรับโครงสร้างหนี้ถึง 24 พ.ค.นี้ แนะผู้กู้เข้าระบบลงทะเบียน เพื่อไม่พลาดสิทธิตามกฎหมายใหม่

วันนี้ (18 พฤษภาคม 2568) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ตาม พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566  ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดภาระของผู้กู้ และเปิดโอกาสให้สามารถชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสม

โดยมาตรการใหม่นี้ถูกออกแบบให้เป็นผลดีต่อผู้กู้ยืมทุกคน ทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ และเงื่อนไขการผ่อนชำระ  ซึ่งพบว่ายังมีผู้กู้จำนวนมากที่ยังไม่เข้ามาลงทะเบียนหรือดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามสิทธิที่ได้รับ ส่งผลให้บางรายอาจต้องรับภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น หากไม่ได้เข้าระบบตามเวลาที่กำหนด

กยศ. ได้ประกาศขยายระยะเวลาในการตัดยอดประจำเดือนพฤษภาคม 2568 จากเดิมวันที่ 17 เป็น 24 พฤษภาคม 2568 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กู้ที่ยังไม่ลงทะเบียน ได้เข้าระบบลงทะเบียนเพื่อขอคืนเงิน และปรับยอดหนี้ก่อนต้องจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มหรือเกิดค่าปรับในอนาคต

“รัฐบาลขอความร่วมมือจากผู้กู้ กยศ. ทุกคน ให้เร่งดำเนินการภายในระยะเวลาที่ขยายออกไป จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 นี้ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และลดภาระทางการเงินของตนเองในระยะยาว หากผู้กู้ยืมไม่ชำระเงินคืนตามกำหนดจะทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและเกิดเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงอาจถูกฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายอีกด้วย” นายอนุกูล กล่าว

Advertisement

นายจ้าง-สถานประกอบการ จ้างงานคนพิการ นำมาลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 พฤษภาคม 2568 รัฐบาลมุ่งส่งเสริมผลักดันให้คนพิการมีงานทำ หนุนนายจ้าง สถานประกอบการ จ้างงานคนพิการ นำมาลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เดินหน้าผลักดันการมีงานทำของคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคงในการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ตามกฎหมายมาตรา 33 , 34 และ 35 โดยกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงาน ในอัตรา 100 : 1 (คนปกติ 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน) เศษเกิน 50 คน ต้องจ้างเพิ่มอีก 1 คน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคนพิการ และการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ

นายอนุกูล กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่รับคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการเข้าทํางาน มีสิทธินําค่าใช้จ่ายที่จ้างคนพิการเข้าทํางาน มาเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจํานวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป กรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจํานวน 3 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป เมื่อจ้างคนพิการเข้าทํางานเกินกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่าหนึ่ง 180 วัน ในปีภาษี หรือรอบระยะเวลาบัญชีที่มีเงินได้

“หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ไม่มีการรับคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการเข้าทํางาน และไม่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แต่มีการให้สัมปทาน จัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน หรือจ้างเหมาบริการ ให้ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์ หรือสิ่งอํานวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ โดยค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปจริงซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการของตนเอง นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น มีสิทธินําค่าใช้จ่ายนั้นมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แต่รายจ่ายดังกล่าวจะต้องไม่เกินจํานวนเงินที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” นายอนุกูล กล่าว

Advertisement

รัฐบาลย้ำนโยบายพัฒนาคน-พัฒนาชาติ ให้โอกาส นร.-นศ.ที่กู้เงิน กยศ.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 พฤษภาคม 2568 รัฐบาลย้ำนโยบายพัฒนาคน พัฒนาชาติ ต้องให้โอกาสนักเรียน นักศึกษา ที่กู้เงิน กยศ. ย้ำหนี้ลด-ผ่อนยาว-ไม่บีบคั้น ทยอยคืนเงินผู้จ่ายเกิน ขอเชิญรุ่นพี่กลับเข้าระบบ เพื่อประวัติและโอกาสที่ดีในอนาคต

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของ กยศ. เพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา สามารถเรียนจนจบการศึกษาเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติ ขณะนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เดินหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ตาม พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 สาระสำคัญคือ การตัดลำดับการชำระหนี้ใหม่เป็น “เงินต้น-ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ” แทนแบบเดิม พร้อมลดอัตราเบี้ยปรับจากสูงสุด 18% เหลือเพียง 0.5% ยืนยันผู้กู้ทุกคนจะเห็นยอดหนี้ลดลงทันที

การคำนวณหนี้แบบใหม่นี้ครอบคลุมผู้กู้ประมาณ 3.5 ล้านราย ขณะนี้ กยศ. ดำเนินการได้แล้วกว่า 2.3 ล้านราย หรือราว 70% ซึ่งผู้กู้สามารถตรวจสอบยอดหนี้ใหม่ได้ผ่านเว็บไซต์ www.studentloan.or.th สำหรับผู้กู้ที่เคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ก่อนการคำนวณหนี้แบบใหม่ แม้อาจเห็นยอดหนี้สูงขึ้นในช่วงแรก แต่ระบบจะปรับยอดหนี้ให้อัตโนมัติ หลังจากระบบใหม่แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ กยศ. ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ เนื่องจากแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” ยังไม่สามารถรองรับระบบใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ และเมื่อระบบใหม่แล้วเสร็จแล้ว ผู้กู้จะสามารถตรวจสอบยอดหนี้ที่แท้จริงได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th

สำหรับระบบการหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง ที่ผ่านมา กยศ. ได้ดำเนินการหักเฉพาะยอดหนี้ปีปัจจุบัน ไม่รวมยอดหนี้ค้างในปีก่อนหน้า ซึ่งบางรายจะมียอดหนี้ค้างเก่า ทำให้ในเดือนเมษายน 2568 มีผู้กู้ที่ถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระยอดหนี้ค้างเก่า จำนวน 490,225 ราย (510,716 บัญชี) และในเดือนพฤษภาคม อีกจำนวน 251,083 ราย (258,151 บัญชี)

ในส่วนของการรองรับผู้กู้ที่ได้รับผลกระทบจากการหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาทต่อบัญชี กยศ. มีแนวทางดูแลเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้กู้ยืมเงินที่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับ กยศ. ในเดือนพฤษภาคม 2568 จะต้องชำระตามยอดหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ในงวดแรกด้วยตนเอง และต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเพื่อจะได้ไม่ถูกหักเงินเดือนเพิ่มอีก 3,000 บาท ในเดือนนั้น ซึ่งนายจ้างจะเริ่มหักเงินเดือนตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นไป

ผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และยังคงมียอดหนี้ค้างชำระ หากผู้กู้ยืมเงินไม่สามารถให้หักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2568 จะต้องยื่นขอปรับลดจำนวนการหักเงินเดือนทางเว็บไซต์ กยศ. ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2568 ซึ่งจะมีผลปรับลดจำนวนหักเงินเดือนเฉพาะเดือนพฤษภาคมนี้เท่านั้น หากดำเนินการไม่ทันสามารถยื่นขอปรับลดการหักเงินเดือนได้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2568 โดยจะต้องยื่นขอปรับลดจำนวนการหักเงินเดือน ภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2568 และ กยศ. จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้กู้ยืมเงินทราบทาง SMS พร้อมแจ้งให้นายจ้างทราบในระบบ e-PaySLF ต่อไป

ด้านความคืบหน้าในการคืนเงินให้ผู้กู้ที่จ่ายเกิน หลังคำนวณหนี้ตามกฎหมายใหม่นั้น ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 มีบัญชีที่มียอดชำระเกิน 286,362 บัญชี เป็นเงิน 3,399.13 ล้านบาท กยศ. คืนแล้ว 2,528 บัญชี เป็นเงิน 73.81 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคม 2568 จะคืนเงินเพิ่มเติมอีก 1,215 บัญชี เป็นเงิน 2.95 ล้านบาท และจะทยอยคืนทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2569

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือน เมษายน 2568 ระบุว่า จังหวัดที่มีผู้ค้างชำระสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (129,146 บัญชี), นครราชสีมา (78,816 บัญชี), นครศรีธรรมราช (77,687 บัญชี), ขอนแก่น (73,409 บัญชี) และเชียงใหม่ (63,346 บัญชี)

กลุ่มอายุที่ค้างชำระมากที่สุด คือ ช่วงวัยทำงาน 30-39 ปี (1,132,339 บัญชี) รองลงมาคือ อายุ 40-49 ปี (675,184 บัญชี), อายุ 20-29 ปี (356,209 บัญชี), อายุ 50-59 ( 25,906 บัญชี), มากกว่า 59 ปี (3,396 บัญชี)

อย่างไรก็ตาม หากผู้กู้ยืมเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทั้งแบบสัญญากระดาษและแบบออนไลน์ จะได้รับสิทธิพิเศษโดยการปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที พร้อมทั้งให้ผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนได้นานถึง 15 ปี หรือไม่เกินอายุ 65 ปี นอกจากนี้ผู้กู้ยืมจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อผู้กู้ชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้น แต่หากผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้สะสมเกิน 6 งวด จะถือว่าสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สิ้นสุดลงและผู้กู้ยืมจะไม่ได้รับส่วนลดเบี้ยปรับดังกล่าว

สำหรับผู้กู้บางรายประสบปัญหาในการเข้าระบบปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ เช่น อินเทอร์เน็ตช้า มือถือสเปกต่ำ หรือขั้นตอนยืนยันตัวตนในระบบ ThaiD ใช้เวลานาน ขอให้ผู้กู้ติดตั้งและยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชัน ThaiD ให้เรียบร้อยล่วงหน้า เพื่อป้องกันความล่าช้าในการปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์

นอกจากนี้ กยศ. ยังมีมาตรการลดหย่อนหนี้เพื่อจูงใจให้ผู้กู้ยืมชำระเงินคืน เพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างระยะเวลาปลอดหนี้ และผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ที่ กยศ. ยังไม่ฟ้องคดี โดยจะได้รับส่วนลดต้นเงิน 5-10% และส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว โดยผู้กู้ยืมสามารถตรวจรายละเอียดและลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ที่ www.studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2568

“กยศ. เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทย โดยเฉพาะผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ผู้กู้สามารถเริ่มชำระหนี้หลังจบการศึกษา 2 ปี และผ่อนชำระได้นานถึง 15 ปี

สำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ อีเมล์ : self-debt@studentloan.or.th, LINE กยศ.หักเงินเดือน https://lin.ee/oecrHbM, LINE กยศ.องค์กรนายจ้าง https://lin.ee/HwgODCW

รัฐบาลขอเชิญชวนผู้กู้ กยศ.ทุกท่านที่เคยได้รับโอกาสทางการศึกษาให้หันกลับมาชำระหนี้ตามกำลัง เพื่อร่วมกันส่งต่อโอกาสให้รุ่นน้องได้เรียนต่ออย่างทั่วถึง และขอย้ำว่า กยศ. ไม่มีนโยบายกดดันหรือฟ้องร้องหากไม่จำเป็น แต่ขอเพียงให้ทุกคนกลับเข้าระบบ มาช่วยกันรักษาระบบที่เปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับสังคมไทยให้คงอยู่ต่อไป” นางสาวศศิกานต์ ระบุ

Advertisement

Verified by ExactMetrics