วันที่ 29 มีนาคม 2024

กรมการค้าภายในลุยปราบปรามโกงเครื่องชั่งไม่ได้มาตรฐานดำเนินคดีเพียบ

People Unity News : 30 มิถุนายน 2566 รองอธิบดีกรมการค้าภายในเผยช่วงครึ่งปีแรก 66 ลุยปราบปรามโกงเครื่องชั่งสินค้าเกษตรและตลาดสด ล้ง ลานเท มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ LPG ก๊าซ NGV และการตรวจสอบสินค้าหีบห่อไม่ได้มาตรฐานสูงถึง 2,532 เครื่อง/หีบห่อ และได้ดำเนินการตามกฎหมาย 173 รายแล้วเพื่อปกป้องสิทธิเกษตรกรและผู้บริโภค

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา กองชั่งตวงวัด กรมการค้าภายในได้ตรวจสอบเครื่องชั่งตวงวัดประเภทต่างๆ เช่น เครื่องชั่งสปริง เครื่องชั่งดิจิทัล เครื่องชั่งรถยนต์ โดยเฉพาะที่ใช้ในการรับซื้อสินค้าเกษตรตามล้ง ลานเท มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ LPG ก๊าซ NGV และ การตรวจสอบสินค้าหีบห่อ รวมทั้ง ถังก๊าซหุงต้ม โดยพบการกระทำความผิดทั้งหมด 173 ราย จำนวน 2,532 เครื่อง/หีบห่อ ซึ่งได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ดังนี้

– เปรียบเทียบปรับ จำนวน 161 ราย

– ยึดเครื่องชั่งและผูกบัตรห้ามใช้ รวม 8 ราย แบ่งเป็นกรณีเครื่องชั่งสปริง ยึดเพื่อทำลาย เนื่องจากเสื่อมสภาพไม่สามารถแก้ไขให้ตรงได้ และกรณีผูกบัตรห้ามใช้ สำหรับเครื่องชั่งตวงวัดที่มีอายุคำรับรองแต่ขาดการต่ออายุและอยู่ระหว่างรอให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ

– อยู่ระหว่างดำเนินคดี 4 ราย ซึ่งได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการด้วย

นอกจากนี้ กรมฯ ได้สั่งการให้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบเครื่องชั่ง ตั้งแต่ช่วงก่อนที่ผลไม้จะออกมาก เช่น ทุเรียน มังคุด ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบซ้ำด้วย ซึ่งการโกงเครื่องชั่ง โดยดัดแปลงหรือใช้เครื่องชั่งที่ดัดแปลง มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาทและการกระทำการใดๆ ทำให้เครื่องชั่งแสดงค่าผิดไป เช่น ใช้มือกด ใช้แม่เหล็กถ่วงน้ำหนัก มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 120,000 บาท

ทั้งนี้ หากประชาชนถูกเอาเปรียบหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับเครื่องชั่งตวงวัด สามารถร้องเรียนได้ทางสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือทางแอพลิเคชั่นไลน์ @MR.DIT หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดหรือสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดทั่วประเทศได้

Advertisement

เตือน ปชช. 1.15 ล้านคน รีบยืนยันตัวตนใช้สิทธิบัตรสวัสดิการรัฐ

People Unity News : 27 มิถุนายน 2566 รัฐบาลแจงความคืบหน้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อุทธรณ์สำเร็จ 4.16 แสนคน เตือน 1.15 ล้านคน รีบยืนยันตัวตน เริ่มใช้สิทธิ 1 ส.ค.นี้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานความก้าวหน้าโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และการใช้สิทธิภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

ความก้าวหน้าโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการะทั้งสิ้น 19,647,241 ราย เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของลงทะเบียนแล้วพบว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์ จำนวน 14,596,820 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 5,050,421 ราย โดยผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ได้ยื่นอุทธรณ์ จำนวน 1,266,682 ราย (คิดเป็นร้อยละ 25.08 ของผู้ไม่ผ่านเกณฑ์) และมีผู้ผ่านการตรวจสอบเพิ่มเติม (เกษตรกร) จำนวน 416,153 ราย

“ทำให้มีผู้ผ่านเกณฑ์โครงการ ปี 65 รวมทั้งสิ้น 15,012,973 ราย โดยมีผู้ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ จำนวน 13,444,534 ราย คิดเป็นร้อยละ 92.11 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด และยังไม่ได้ยืนยันตัวตนหรือยืนยันตัวตนไม่สำเร็จอีก จำนวน  1,152,286 ราย คิดเป็นร้อยละ 7.89 ของจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด สำหรับผู้ที่ไม่ได้ยืนยันตัวตนหรือยืนยันตัวตนไม่สำเร็จ ยังคงยืนยันตัวตนได้ และจะเริ่มใช้สิทธิในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 โดยจะได้รับสิทธิเฉพาะเดือนที่กระทรวงการคลังดำเนินการตั้งวงเงินให้ แต่ไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2566 มีดังนี้ เดือนเมษายน 2566 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 12.31 ล้านราย มูลค่าการใช้สิทธิรวม 4,005.65 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 3,682.35 ล้านบาท ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 259.41 ล้านบาท ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 63.88 ล้านบาท สำหรับมาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา ผู้ขอใช้สิทธิต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ ส่วนการจ่ายเงินเพิ่มเติมเบี้ยคนพิการ เดือนละ 200 บาท เฉพาะผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการปี 65 มีจำนวน 794,189 ราย รวมเป็นเงิน 158.84 ล้านบาท

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เดือนพฤษภาคม 2566 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 12.79 ล้านราย มูลค่าการใช้สิทธิรวม 4,252.15 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 4,028.97 ล้านบาท ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45.45 ล้านบาท ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ 62.62 ล้านบาท สำหรับมาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า มูลค่าการใช้สิทธิ 105.09 ล้านบาท ค่าน้ำประปา มูลค่าการใช้สิทธิ 9.93 ล้านบาท ส่วนการจ่ายเงินเพิ่มเติมเบี้ยคนพิการ เดือนละ 200 บาท เฉพาะผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการปี 65 มีจำนวน 1,016,008 ราย รวมเป็นเงิน 203.20 ล้านบาท

“สถานะปัจจุบันของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กองทุนมีงบประมาณรวม 51,644.51 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดสรรสวัสดิการแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (1 ต.ค. 65-24 พ.ค. 66) จำนวน 35,923.45 ล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณคงเหลือ ณ วันที่ 24 พ.ค. 66 รวมทั้งสิ้น 15,721.06 ล้านบาท” น.ส.รัชดา กล่าว

Advertisement

Expo 2028 Phuket Thailand นำเสนอครั้งสุดท้าย 21 มิ.ย.นี้ ที่กรุงปารีส

People Unity News : 17 มิถุนายน 2566 นายกฯ ติดตามการเตรียมความพร้อมการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ของไทย เชิญชวนคนไทยร่วมส่งกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ในการนำเสนอครั้งสุดท้าย 21 มิ.ย. นี้ ที่กรุงปารีส

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ถึงความพร้อมของทีมไทยแลนด์ ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต ในชื่องาน “Expo 2028 Phuket Thailand ชีวิตแห่งอนาคต: แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว (Future of Life: Living in Harmony, Sharing Prosperity)” ซึ่งจะมีการนำเสนอในขั้นตอนสุดท้ายในวันพุธที่ 21 มิถุนายน นี้ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในขณะนี้ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศผู้ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเสนอชื่อในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 จากผู้เข้าร่วมการเสนอเป็นเจ้าภาพทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เซอร์เบียร์ สเปน อาร์เจนตินา และไทย ซึ่งจะมีการคัดเลือกโดยประเทศสมาชิกองค์การนิทรรศการนานาชาติ (Bureau International des Expositions: BIE) 171 ประเทศ และจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 นี้ โดยประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไทยได้รับเลือกจะมีกำหนดการจัดงานในวันที่ 20 มีนาคม – 17 มิถุนายน พ.ศ. 2571 อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศไทยที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญ พร้อมทั้งยังมีความเป็นเอกลักษณ์ โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย มีเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ มีศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับนานาชาติ ระบบนิเวศสวนสาธารณะที่ยั่งยืน และมีสถานที่อำนวยความสะดวกในการจัดงานต่างๆ โดยสิ่งเหล่านี้คือจุดแข็งของจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทยในการแข่งขันครั้งนี้

โดยการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้คาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมงาน 4.9 ล้านคนตลอด 3 เดือนของการจัดงาน เงินสะพัดกว่า 49,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มกว่า 1.1 แสนตำแหน่ง ,เกิดการพัฒนาเมืองของจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดในกลุ่มอันดามันคลัสเตอร์ ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี ,ยกระดับสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ของภูมิภาคอาเซียน และก้าวสู่การเป็นศูนย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ,หลังจากการจัดงานจะสามารถพัฒนาเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์ประชุมนานาชาติ และ Ecological Park

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญติดตามความพร้อม สั่งการ และสนับสนุนการประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ตให้ได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งนี้ โดยรัฐบาลสนับสนุนการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะแรกในปี 2564 และในช่วงนี้ถือเป็นช่วงสุดท้ายก่อนการประกาศผลอย่างเป็นทางการ โดยนายกรัฐมนตรีขอส่งกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ในการนำเสนอประเทศไทยในเวทีการประชุมสมัชชาใหญ่ BIE ณ กรุงปารีส วันที่ 21 มิถุนายนนี้ และขอให้ความตั้งใจอันดี และความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่ได้ทำงานอย่างหนักร่วมกันมากว่า 3 ปี ส่งผลให้ประเทศของเราประสบความสำเร็จในการชิงชัยครั้งนี้ และขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกคน ร่วมส่งกำลังใจ แสดงความพร้อมในการสนับสนุนให้ประเทศไทยได้รับเลือกในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานครั้งนี้ด้วยกัน” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

อพท. กางโรดแมป ยกศักยภาพพื้นที่ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว

People Unity News : 12 มิถุนายน 2566 อพท.เปิดโรดแมปฯ พัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 5 ปี (2566-2570) เพิ่มมาตรฐานตามหลักเกณฑ์สากล GSTC STMS ยูเนสโก และ CBT Thailand ผ่าน 249 โครงการ ใน 6 พื้นที่พิเศษ ทุ่มงบร่วม 2 หมื่นล้านบาท กระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นกว่า 262,393 ล้านบาท

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) ครอบคลุมการดำเนินงานใน 6 พื้นที่พิเศษของ อพท. โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 ภายใต้ 249 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 1.96 หมื่นล้านบาท กระจายลงไปยังหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันบูรณาการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวให้มีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพและเกิดความยั่งยืน พร้อมนำความรู้ด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้ให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ตามกลไกลการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่การปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง โดยขับเคลื่อนร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เป้าหมาย คือ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และผู้มาเยือน รวมถึงรายได้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่พิเศษ โดยคาดว่าในปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมเยือน 23.91 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 182,130 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายในปี 2570 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดแผน จะมีนักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมเยือนในพื้นที่พิเศษฯ สะสมเพิ่มขึ้นเป็น 31.27 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.78 จากปี 2566 ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 262,393 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.07 จากปี 2566

อพท. จะนำหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลมาใช้เพื่อยกระดับ ได้แก่ 1) การใช้เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ขึ้นสู่แหล่งท่องเที่ยวเป้าหมาย TOP100 ของโลก 2) การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษไปสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UCCN) 3) การใช้มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) ที่อพท. พัฒนาขึ้น ได้รับการรับรองในระดับสากล และ 4) เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) รวมถึงเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism by DASTA) ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน สร้างสมดุลทางสังคมระหว่างประชาชนในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว

Advertisement

แนวโน้มตลาดเครื่องมือแพทย์ไทยปี 70 มูลค่ากว่าแสนล้าน

People Unity News : 12 มิถุนายน 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีแนวโน้มตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยเติบโตต่อเนื่อง คาดการณ์ในปี 2570 มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท อัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.1% ระหว่างปี 2562-2570

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ตลาดเครื่องมือแพทย์ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2570 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทยจะมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.1% (2562-2570) สืบเนื่องมาจากความต้องการนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าไทยพร้อมตอบรับกระแสความต้องการ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักถึงประเด็นทางด้านสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดเครื่องมือแพทย์เติบโต จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย พบว่าตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% คาดการณ์ว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทย คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 3.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่าแสนล้านบาทในปี 2570 มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 8.1% ต่อปี (ปี 2562-2570)

นายอนุชา กล่าวว่า งานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่าในปี 2565-2566 มูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 5.0-7.0 % ต่อปี ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เป็นผลมาจาก 1. อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 2. จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่มีแนวโน้มกลับมาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้นในปี 2565-2566 3. ผู้ประกอบการโรงพยาบาลมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง 4. กระแสการใส่ใจสุขภาพและการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก 5. ประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่อเนื่อง 6. นโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลในการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และ 7. การพัฒนาผลิตภัณฑ์/นวัตกรรมการแพทย์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น

“นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ติดตามแนวโน้มการเติบโตของตลาดเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย วางแผนทางการตลาด ตั้งรับความต้องการ ทั้งการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ และการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งคาดการณ์มูลค่าตลาด การเติบโตของอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ รวมทั้งแนวทางการสนับสนุนไทยในภาคธุรกิจการแพทย์” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.66 ดีขึ้นเป็นเดือนที่ 12 สูงสุดในรอบ 39 เดือน

People Unity News : 8 มิถุนายน 2566 ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุผู้บริโภครู้สึกเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้น มีเม็ดเงินการหาเสียงเลือกตั้งหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน พ.ค.66 ดีขึ้นเป็นเดือนที่ 12 และสูงสุดรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.63

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 50.2 52.8 และ 64.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนเมษายน ที่อยู่ในระดับ 49.4 52.0 และ 63.6 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจโลกและสถาบันการเงินของโลกที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ตลอดจนยังคงกังวลสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ที่ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.0 เป็น 55.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤติ COVID-19 อัตราเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐที่ไม่มั่นคงเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 39.5 เป็น 40.5 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมาเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 62.5 มาอยู่ที่ระดับ 63.1 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น

Advertisement

รัฐบาลส่งเสริมนักออกแบบคนรุ่นใหม่ก้าวสู่ตลาดโลก

People Unity News : 3 มิถุนายน 2566 นายกฯ สนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ให้ก้าวสู่การเป็นนักออกแบบมืออาชีพสู่ตลาดโลก จัดโครงการ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ ให้ได้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ รวมไปถึงช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการการจัดโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก 2566 หรือ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดทำโครงการ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023 ส่งเสริมนักออกแบบคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ให้ได้พัฒนาองค์ความรู้ และปรับตัวให้ตอบสนองความต้องการของตลาดในระดับสากล เตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นแบรนด์นักออกแบบและผู้ให้บริการการออกแบบมืออาชีพ โดยโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ระหว่างปี 2566 – 2567 แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 สำหรับนักออกแบบที่เคยเข้าร่วมโครงการในอดีต จะได้รับโอกาสในการเข้าร่วมการเจรจาการค้า การส่งเสริมภาพลักษณ์ ประชาสัมพันธ์แบรนด์ ในงานแสดงสินค้าและเวทีการออกแบบในต่างประเทศ ได้แก่

งานแสดงสินค้า “Bangkok Gems and Jewelry Fair” วันที่ 6 – 10 กันยายน 2566

งานแสดงสินค้า “MAISON & OBJET” ณ กรุงปารีส วันที่ 7 – 11 กันยายน 2566 และเจรจาการค้าผ่านแพลตฟอร์ม m.o.m.

งานแสดงสินค้า “COTERIE New York” วันที่ 19 – 21 กันยายน 2566

งานแสดงสินค้า “STYLE Bangkok 2024” วันที่ 20 – 24 มีนาคม 2567

งาน “Milan Design Week” วันที่ 13 – 18 เมษายน 2567

งาน “Creative Expo Taiwan” ช่วงเดือน ตุลาคม 2567

ส่วนที่ 2 สำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ โครงการได้เปิดรับสมัครในปี 2566 ตั้งแต่วันนี้ – 16 มิถุนายน 2566 ภายใต้แนวคิด “KEEP AN EYE ON : THE CREATIVE POWER OF THE NEW ERA” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจผ่าน 2 หลักสูตร ได้แก่

หลักสูตรที่ 1 คือ การให้ความรู้พื้นฐานการเป็นนักออกแบบระดับสากล เริ่มจากการสร้างแบรนด์ การตลาดดิจิทัล และการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การพัฒนาทักษะด้านการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) รวมไปถึงการพัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืน (SDGs)

หลักสูตรที่ 2 คือ เปิดค่ายให้นักออกแบบไทยเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเครือข่ายพันธมิตรของโครงการ ได้แก่ เครือบ้านและสวน ตามด้วย SC Grand และองค์กร Limited Education รวมถึงแบรนด์รุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ เช่น แบรนด์ Qualy, Mobella, SARRAN และ Q Design and Play เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ นำไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน

“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนแนวความคิดของโครงการดังกล่าว ซึ่งได้หยิบยกแนวทางนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาดำเนินการจนเห็นผลเป็นรูปธรรม เชื่อมั่นว่าการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ ให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพองค์ความรู้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ในระดับสากล รวมทั้ง เพิ่มความเชื่อมั่น และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชีย” นายอนุชา กล่าว

ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก 2566 หรือ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023 สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ทาง https://forms.gle/X9jPSTF8JAG2dj499 ตั้งแต่วันนี้ถึง 16 มิถุนายน 2566 ติดตามและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

Advertisement

นายกฯ ชื่นชมการทำงานสนับสนุนภาคเกษตรของไทย

People Unity News : 17 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ชื่นชมการทำงานสนับสนุนภาคเกษตรของไทย ส่งผลการส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีนสร้างมูลค่ากว่าแสนล้านบาท พร้อมขอบคุณการสนับสนุนทุเรียนทะเลหอย สินค้า GI ย้ำมาตรฐานสินค้าไทย เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้เกษตรกร

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลยอดการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ในช่วงฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก 2566 รวมมูลค่ากว่าแสนล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การส่งออกทุเรียนในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนทั้งสิ้น 25,000 ตู้คอนเทนเนอร์ มีน้ำหนัก 4.5 แสนตัน สร้างมูลค่าการส่งออกกว่าแสนล้านบาท โดยใช้เส้นทางการส่งออก ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศรวมทั้งเส้นทางขนส่งทางรถไฟ โดยผลการดำเนินการส่งออกเกินเป้าหมายทำยอดสูงสุด เกินกว่าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งเป้าไว้ รวมถึงทุเรียนไทยยังสามารถครองสัดส่วนตลาดในจีนได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่า 90% และกระทรวงเกษตรฯ มั่นใจว่าปี 2566 จะสามารถส่งออกผลไม้เศรษฐกิจ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง มะพร้าว ฯลฯ ได้ตามเป้าหมาย คือ 4.44 ล้านตัน สร้างเงินให้ประเทศและเกษตรกรกว่า 2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication : GI) ให้กับสินค้าไทย เพื่อเพิ่มโอกาส เพิ่มมูลค่า คงคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ซึ่งมีสินค้าเกษตรทุเรียนจากภาคใต้ชนิดใหม่ ได้รับการจดทะเบียนเพื่อให้เป็นที่รู้จัก สร้างรายได้ให้ชุมชน ได้แก่ ทุเรียนทะเลหอย ปลูกในอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพดีและมีลักษณะโดดเด่น คล้ายทุเรียนผสมครีมหรือนมสด เนื้อสัมผัสแห้ง เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

“นายกรัฐมนตรีติดตาม ชื่นชมการทำงานที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล และขอบคุณทุกหน่วยงาน ที่ช่วยรักษาคุณภาพของทุเรียนในการส่งออกเพื่อให้ตรงตามมาตรฐาน พร้อมร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะสนับสนุนผลักดันการขึ้นทะเบียน GI เน้นระบบควบคุมคุณภาพสินค้า ส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของสินค้า รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขาย และขยายช่องทางการตลาดทุกรูปแบบ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจภายในประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยเพื่อความยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

“ขนุนหนองเหียงชลบุรี” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว

People Unity News : 13 พฤษภาคม 2566 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศ “ขนุนหนองเหียงชลบุรี” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว คาดสร้างเงินเข้าจังหวัดได้ไม่ต่ำกว่า 850 ล้านบาท/ปี และส่งออกไปต่างประเทศปีละ 106 ล้านบาท ย้ำหลังขึ้นทะเบียน GI จะยิ่งช่วยผลักดันสินค้าเป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่าและสร้างเงินให้ท้องถิ่นได้มากขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ผ่านแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ ขนุนหนองเหียงชลบุรี ซึ่งเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงมายาวนาน เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและท้องถิ่นที่ปลูกขนุน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้เพิ่มขึ้น

ขนุนหนองเหียงชลบุรี มีลักษณะเป็นขนุนผลใหญ่ เปลือกบาง ซังน้อย ยวงใหญ่ เนื้อหนา แห้ง และกรอบ เนื้อมีสีเหลืองทอง สีเหลืองเข้ม สีเหลืองอมส้ม ไปจนถึงสีแดงอมส้ม รสชาติหวานกำลังดี มีกลิ่นหอมไม่แรงเกินไป เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งปลูกและผลิตในพื้นที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยมีหลายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองประเสริฐ พันธุ์มาเลย์ พันธุ์เพชรราชา พันธุ์แดงสุริยา และพันธุ์ทองส้ม โดยสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนกว่า 850 ล้านบาทต่อปี และสามารถส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น จีนและเวียดนาม มูลค่าประมาณ 106 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย รวมแล้ว 185 สินค้า ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจฐานราก และยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไม่ให้ถูกกดราคาสินค้าเกษตร โดยกรมฯ ตั้งเป้าสร้างมูลค่าการตลาดสินค้า GI ไทย สร้างเงินไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาทอีกด้วย

Advertisement

“สุพัฒนพงษ์” โต้ “ธีระชัย” แจงโครงการไฟฟ้าโซลาร์

People Unity News : 6 พฤษภาคม 2566 “สุพัฒนพงษ์” โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงละเอียดยิบโครงการไฟฟ้าโซลาร์ หวั่นประชาชนเข้าใจผิด หลัง “ธีระชัย” แสดงความเห็นทำให้เกิดความสับสน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์เฟซบุ๊กตอบส่วนตัว “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ตอบโต้นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ข้อความว่า คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้แสดงความเห็นใน facebook ส่วนตัวเรื่องไฟฟ้าโซลาร์ จึงเห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอไม่ครบถ้วน และไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด จึงขอชี้แจงดังนี้

การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์

การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์ เป็นการทยอยรับซื้อในระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2573 เป็นพลังงานสะอาด ราคาถูก ไม่มีค่าพร้อมจ่าย โดยมีราคารับซื้อเพียง 2.0724-3.1014 บาท/หน่วยเท่านั้น ช่วยทำให้ค่าไฟของประเทศถูกลง เพราะไม่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีความผันผวนด้านราคาสูงที่เป็นสาเหตุให้ค่าไฟแพงในตอนนี้

พลังงานหมุนเวียนที่รับซื้อ 8,900 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตพึ่งได้เพียง 3,700 เมกะวัตต์ เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังหมุนเวียนไม่สามารถผลิตได้ 24 ชั่วโมง เหมือนโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ เช่น ไฟฟ้าจากโซลาฟาร์ม กลางคืนผลิตไม่ได้ หรือไฟฟ้าพลังลม ถ้าลมไม่พัดก็ผลิตไม่ได้

ในช่วงปี 2567-2573 จะมีโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่ที่มีค่าพร้อมจ่ายหมดอายุ ถูกปลดออกจากระบบคิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 9,800 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 8,900 เมกะวัตต์ ที่มีกำลังการผลิตพึ่งได้ 3,700 เมกะวัตต์ เป็นการทดแทนโรงไฟฟ้าฟอสซิลที่จะถูกถอดออกจากระบบ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังเป็นความจำเป็นของประเทศที่จะต้องเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อดึงดูดการลงทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ความเข้าใจผิดในเรื่องการซื้อไฟจาก Solar Rooftop และ Solar Farm รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองมานานแล้ว โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้กลับคืนเข้าระบบในราคา 2.2 บาทต่อหน่วย ซึ่งสูงกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Farm เอกชนรอบล่าสุดที่กำหนดไว้ที่ 2.1679 บาทต่อหน่วย

ปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อของ Solar Rooftop กับ Solar Farm เป็นคนละส่วนกัน ไม่ทับซ้อน ไม่แข่งขันกัน แต่ทั้ง 2 ส่วนช่วยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหมือนกัน

Net Metering อย่าผลักต้นทุนไฟ Rooftop ไปให้ผู้ใช้ไฟ 22 ล้านครัวเรือน การรับซื้อไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย หรือ Net Metering เป็นเรื่องใหม่ จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่สามารถทำได้ทันทีทั่วประเทศ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดทั้งในเชิงความเป็นธรรมของผู้ใช้ไฟฟ้า กฎหมายและเทคนิค ดังนี้

1.การรับซื้อไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย อัตราค่าไฟฟ้าที่ครัวเรือนขายออกมา (ราคาขายส่ง) จะต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าจัดหาให้ครัวเรือนเสมอ (ราคาขายปลีก) ต้นทุนส่วนเพิ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Net Metering จะถูกกระจายลงค่าไฟในที่สุด ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามากจะได้เปรียบครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อยเกิดความไม่เป็นธรรม

2.การผลิตไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบจะส่งผลกระทบให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุล เนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจาก Solar มีความผันผวน หากมีการติดตั้ง Solar Rooftop ปริมาณมากกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าจะเป็นผลให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบเสียหาย ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ป้องกันใหม่ และเพิ่มขีดจำกัดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในหม้อแปลงจำหน่ายลูกเดียวกัน เพื่อรองรับไฟฟ้าที่จะไหลย้อนเข้าสู่ระบบปริมาณมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบจะถูกส่งผ่านไปยังค่าไฟ ทำให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้น

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในข้อ 1 และข้อ 2 ประชาชนทุกคนจะต้องรับภาระ ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดตั้ง Solar Rooftop หรือไม่ก็ตาม ทำให้ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 500 หน่วยต่อเดือน กว่า 22 ล้านครัวเรือน ( 90% ของผู้ใช้ไฟ) ต้องมารับภาระแทนผู้มีรายได้สูง 2 ล้านครัวเรือน (10%) ที่ใช้ไฟฟ้าเยอะและสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ได้

3.การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จะเกิดภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นทั้งฝั่งการซื้อและฝั่งการขาย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับวิธีการคำนวณภาษีจากผลต่างของแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น

4.ผู้ผลิตไฟจาก Solar Rooftop จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็น Digital Meter ให้สามารถตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าที่ไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้าได้ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้า และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประชาชนในภาพรวม

Advertisement

Verified by ExactMetrics