วันที่ 23 เมษายน 2024

พาณิชย์เตรียมนำรูปแบบ “เถาเป่าวิลเลจโมเดล” มาใช้ในไทยเพื่อลดจำนวนคนจน

People unity news online : พาณิชย์เตรียมจัดทีมศึกษารูปแบบ “เถาเป่าวิลเลจโมเดล” ก่อนนำปรับใช้กับไทย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2561 ตนจะนำคณะภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางไปหารือกับผู้บริหารของอาลีบาบาที่ดูแลโครงการ “เถาเป่าวิลเลจ” ซึ่งเป็นโครงการที่อาลีบาบาช่วยเหลือให้คนยากคนจนที่อยู่ในชนบทให้สามารถขายสินค้าได้ และสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนจีนได้สำเร็จ

“เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนในจีน ธนาคารโลกยังยอมรับว่าการใช้ระบบดิจิทัล การค้าขายออนไลน์ ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้จริง โดยลดจำนวนผู้ยากจนจากที่มีอยู่ 30% ของประชากร ลดลงเหลือแค่ 8% ในปัจจุบัน ผมจึงได้หารือกับแจ็คหม่าว่าสนใจโมเดลนี้ และอยากได้รายละเอียดการทำโครงการมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในไทย โดยผมบอกกับแจ็คหม่าว่าเรื่องคนจน ผมไม่ยอม ซึ่งเท่าที่พูดคุยกันเคมีผมกับแจ็คหม่าถือว่าตรงกันในเรื่องนี้ และเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุน โดยได้มอบหมายให้ผู้ที่ดูแลโครงการไปพูดคุยในรายละเอียดต่อ ผมจึงต้องเดินทางไป” นายสนธิรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากไปหารือรายละเอียดการขับเคลื่อนโครงการเถาเป่าวิลเลจแล้ว จะนำรายละเอียดต่างๆ มาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาความยากจนในไทย โดยจะมีความชัดเจนว่าจะเริ่มที่จังหวัดไหน สินค้าอะไร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นแกนในการขับเคลื่อนหลัก เพราะที่ผ่านมา มีหลายๆหน่วยงานทำ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะผลักดันให้สำเร็จให้ได้

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้หารือกับผู้บริหารเหอหม่า ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของอาลีบาบาที่จำหน่ายสินค้าสด เช่น ผัก ผลไม้ อาหารทะเล ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าเพื่อรับประทานที่ร้าน หรือซื้อแล้วให้จัดส่งไปที่บ้านก็ได้ โดยจุดเด่นของเหอหม่า คือ ขายสินค้าสด ที่มีต้นทุนถูกกว่าราคาจำหน่ายในท้องตลาด โดยกระทรวงฯจะร่วมมือในการจัดส่งสินค้าสดให้กับเหอหม่า เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคชาวจีน

“ตอนนี้กำลังคุยกันในรายละเอียดว่าเหอหม่าต้องการสินค้าอะไร ปริมาณเท่าไร คุณภาพ มาตรฐานแบบไหน ราคาเป็นยังไง ซึ่งหากได้ข้อสรุป จะสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารสดของไทยไปจีนได้อีกมาก”

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับอาลีบาบาในการเพิ่มจำนวนสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายใน Tmall ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายสินค้าข้าว ทุเรียน และลำไยไปแล้ว โดยขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกสินค้าเข้าไปจำหน่ายเพิ่มขึ้น

People unity news online : post 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา 23.30 น.

กบข.จับมือแบงก์กรุงไทย เปิดให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่สมาชิก กบข. ดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบ

People unity : กบข. ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เปิดให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารกรุงไทยเพื่อสมาชิก กบข. เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิก กบข. อัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบ

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข. ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เปิดให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารกรุงไทยเพื่อสมาชิก กบข. เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิก กบข. ที่ต้องการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ปรับปรุง ต่อเติม หรือไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัยเดิมจากสถาบันการเงินอื่น

จุดเด่นของสินเชื่อดังกล่าว คือ ให้อัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบคือ 0% ในปีแรก อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่  2.88% ต่อปี ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 100% ของราคาประเมิน หรือ ราคาซื้อขายจริง ผู้ขอกู้ต้องเป็นสมาชิก กบข. และเป็นลูกค้าสินเชื่อรายใหม่ของธนาคารกรุงไทยเท่านั้น

นายวิทัยกล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากสมาชิก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบ ช่วยให้สมาชิกสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสิทธิพิเศษนี้มอบให้สำหรับสมาชิก กบข. เท่านั้น ผู้ที่สนใจควรรีบสมัครใช้สิทธิเพราะโครงการจะหมดเขตวันที่ 30 เมษายนนี้แล้ว

สมาชิก กบข. สามารถสมัครใช้สิทธิได้ที่ My GPF Application กดเมนูสิทธิพิเศษ แล้วเลือกแบนเนอร์สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสมาชิก กบข. เมื่อกดใช้สิทธิจะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับภายใน 1 – 2 วันทำการ หรือ สมัครใช้บริการได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ โทรสอบถามข้อมูลได้ที่ Call Center ธนาคารกรุงไทย 0-2111-1111 หรือศึกษาข้อมูลโครงการเพื่อเตรียมเอกสารประกอบการสมัครได้ที่เว็บ กบข. เมนูสวัสดิการลดรายจ่าย เลือกหัวข้อ สินเชื่อกรุงไทยเพื่อสมาชิก กบข.

เศรษฐกิจ : กบข.จับมือแบงก์กรุงไทย เปิดให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่สมาชิก กบข. ดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบ

People unity : post 27 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 14.30 น.

“ประยุทธ์” ระบุการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ต้องทันเวลาที่กำหนด

People unity news online : นายกรัฐมนตรีระบุการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ต้องทันเวลาที่กำหนด เป็นไปตามกฎหมาย โปร่งใส ตรวจสอบได้

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 เวลา 14.40 น. ณ บริเวณห้องโถงชั้น 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงความคืบหน้าการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 จะสามารถเปิดใช้ได้ทันตามกำหนดหรือไม่ว่า ความคืบหน้าขณะนี้เป็นการทำงานของกระทรวงคมนาคม และการท่าอากาศยาน โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เน้นความโปร่งใส ถูกต้อง และเป็นธรรม ให้มีการตรวจสอบ เร่งรัด รายงานผล เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพราะจะเสียเวลามากไม่ได้ ทุกอย่างมีกติกาหมด ถ้าพิสูจน์ได้ว่าไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็มีวิธีการอยู่แล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องไปสั่งทุกเรื่องว่าใช่หรือไม่ใช่  ได้หรือไม่ได้ เพราะไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรีทั้งหมด

People unity news online : post 26 ตุลาคม 2561 เวลา 08.10 น.

 

“ประยุทธ์” บอกรัฐบาลให้ความสำคัญเศรษฐกิจระดับล่าง ขอทุกคนปรับตัวสู่การค้าออนไลน์

People Unity : นายกรัฐมนตรียืนยัน ให้ความสำคัญเศรษฐกิจระดับล่าง ขอทุกคนปรับตัวสู่การค้าออนไลน์ ทันต่อความเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เวลา 14.10 น. ณ บริเวณห้องโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจระดับล่างมาเสมอ ไม่ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะสูงหรือต่ำ นั่นคือภาคใหญ่ของประเทศ แต่ประเทศเรามีคนรายได้น้อยจำนวนมาก เห็นได้จากยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีจำนวนมาก และอาจจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังแก้ปัญหาระดับล่างไม่ได้มากนัก ซึ่งรัฐบาลพยายามหาช่องทาง โอกาส และการใช้ออนไลน์เข้ามาช่วยเสริมในระบบการค้าขาย หากทุกคนไม่ปรับแก้ ไม่พัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและยุคสมัย มันก็จะถอยหลังไปเรื่อยๆ เพราะขณะนี้สถิติการค้าขายออนไลน์สูงขึ้นถึง 128 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมแค่ 70 เปอร์เซ็นต์

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลให้แนวทางสนับสนุนเรื่องรถไฟฟ้า ให้เป็นไปทีละขั้นตอน ทยอยดำเนินการ มีมาตรการส่งเสริม ซึ่งเรายังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แบบเดิมในภูมิภาคอยู่ วันหน้าก็ต้องเปลี่ยนแปลงทีละขั้น ขณะเดียวกันตนอยากให้มีรถไฟฟ้าสามล้อ ต้องดูว่าจะสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนได้อย่างไร ทั้งรถเก่าและรถใหม่ ที่ผ่านมามีปัญหาวิ่งบนถนนไม่ได้ ขอทะเบียนไม่ได้ ซึ่งได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปหารือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงานแล้ว ส่วนปัญหาเรื่องสถานีสำหรับชาร์ตไฟฟ้าทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะสามารถชาร์ตไฟฟ้าที่บ้านได้ น่าจะเพียงพอในการวิ่งในเมือง ซึ่งตนได้สั่งการเรื่องดังกล่าวไปแล้ว อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วย

เศรษฐกิจ : “ประยุทธ์” บอกรัฐบาลให้ความสำคัญเศรษฐกิจระดับล่าง ขอทุกคนปรับตัวสู่การค้าออนไลน์

People Unity : post 30 พฤษภาคม 2562 เวลา 11.00 น.

“บิ๊กตู่” ยินดีอียูปลดใบเหลืองประมงไอยูยูไทย ชี้ประมงไทยจะดีขึ้น

People unity : พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศปลดใบเหลืองการทำประมงไอยูยู หรือการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ของไทย ซึ่งถือเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้ นับว่าเป็นข่าวดีอย่างมาก

“ขอบคุณอียูที่เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยู นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยได้ใบเหลืองเมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่สำคัญต้องยกความดีให้ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ทั้งชาวประมง ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันเสียสละ อดทน และทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและปฏิบัติตามหลักสากล”

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ผู้ประกอบการประมงและชาวประมงพื้นบ้านคงเห็นถึงประโยชน์ที่ทุกคนได้ลงแรงกันมา และนับจากนี้สถานการณ์ประมงของไทยจะดีขึ้น ค้าขายได้มากขึ้น เพราะนานาประเทศมีความเชื่อมั่น ส่วนรัฐบาลยืนยันว่าจะยกระดับมาตรฐานการประมงไทยทุกด้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมงไอยูยู หรือไอยูยูฟรี อย่างสมบูรณ์ต่อไป

เศรษฐกิจ : “บิ๊กตู่” ยินดีอียูปลดใบเหลืองประมงไอยูยูไทย ชี้ประมงไทยจะดีขึ้น

People unity : post post 9 มกราคม 2562 เวลา 10.00 น.

ก.คลังรายงานเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีทุกภาค เหนือ อีสาน ใต้ ออก ตก กทม. ปริมณฑล

People unity news online : เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

29 ตุลาคม 2561 นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพร้อมด้วย นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และ นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน ปี 2561 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว  สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชัยนาท ลพบุรี และอ่างทอง เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 5.6 เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 28.8 และ 3.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 15.5 และ 3.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ 8,976 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 75.2 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 96.5 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.6 และ 11.3 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.8 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 และ 4.2 ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัด ระยอง และสระแก้วเป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 11.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อยู่ที่ 8,244 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 64.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดระยอง และปราจีนบุรี สำหรับด้านอุปทาน การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนกันยายน ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 109.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะการ และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 และ 8.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดตาก นครสวรรค์ และเชียงใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.7 และ 7.8 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 27.8 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดตาก และเชียงใหม่ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.6 และ 8.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวเร่งร้อยละ 28.3 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี  และกาญจนบุรี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 21.3 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัว สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 679 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 78.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรี เป็นต้น  สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี ในขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หดตัว อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.8 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 818 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและตรัง เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 6.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 6.2 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดขอนแก่น สกลนคร และสุรินทร์  ตามลำดับ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ -0.03 และ -6.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ยังคงขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 และ 9.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนกันยายน 2561 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ  1.0 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.2 และ 9.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนหดตัวลง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -4.9 และ -2.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าทั่วไปยังคงขยายตัว สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดนครปฐม กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ  ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

People unity news online : post 30 ตุลาคม 2561 เวลา 08.40 น.

รัฐบาลปลื้มราคาสินค้าเกษตรหลักปรับตัวสูงขึ้น

People unity news online : รัฐบาลยินดีราคาสินค้าเกษตรหลักปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกำชับช่วยเหลือผลผลิตที่ยังมีปัญหา ยืนยันดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2561 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ราคาสินค้าเกษตรหลักหลายชนิดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังซื้อมากขึ้น โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 18,700 บาท เพิ่มจากเดิมตันละ 12,000 – 14,000 บาท เป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 10 ปี ส่วนข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยตันละ 8,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ

นอกจากนี้ มันสำปะหลังราคา กก.ละ 3.20 บาท สูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกัน ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา กก.ละ 9.5 – 9.7 บาท ราคาหน้าโรงงานสูงกว่า กก.ละ 10 บาท และราคาปาล์มดิบขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 4.20 บาทแล้วฃ

“สาเหตุที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการระบายข้าวที่ตกค้างนานปีจนหมดสต๊อก และยังชนะการประมูลขายข้าวให้กับต่างประเทศ รวมถึงการวางแผนคาดการณ์แนวโน้มตลาด เพิ่มช่องทางการตลาด และส่งออกไปตลาดใหม่ๆ จึงช่วยให้สินค้ามีราคาดีขึ้น”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า รัฐบาลยังได้ผลักดันโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐช่วยร้านโชห่วยที่มีปัญหาให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ และยังใช้เป็นกลไกช่วยลดค่าครองชีพให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน เพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าทั้งในชุมชนและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ เช่น ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย แม่บ้านมืออาชีพ เป็นต้น

สำหรับการส่งออกสินค้าก็มีข่าวดีด้วยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าถึง 81,780 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี และรัฐบาลมั่นใจว่าจะผลักดันให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ร้อยละ 8 ภายในปีนี้

“นายกฯ ได้กำชับไว้ว่า ขอให้หน่วยราชการและภาคเอกชนช่วยกันส่งเสริมสินค้าเกษตรที่ยังมีราคาตกต่ำ เช่น สับปะรด ให้มีราคาสูงขึ้น เหมือนกับผลไม้ประเภทอื่น โดยอาจรณรงค์ให้เกษตรกรมีตลาดขายตรงสู่ผู้บริโภค หรือใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมทั้งขอให้เกษตรกรปลูกพืชโดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดและช่วงเวลาที่จะขายด้วย เพื่อไม่ให้สินค้าล้นหรือขาดตลาดทำให้ราคาสินค้าได้รับผลกระทบไปด้วย”

People unity news online : post 25 มิถุนายน 2561 เวลา 08.20 น.

ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงร่วมลงทุนใน EEC

People unity : ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงร่วมลงทุนในโครงการ EEC

เมื่อวานนี้ (28 ก.พ.2562) เวลา 11.30 น. นางแคร์รี หล่ำ (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงเดินทางมาเยือนไทยเพื่อร่วมพิธีเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (Hong Kong Economic and Trade Office: HKETO) ประจำประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการย้ำความเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีได้เชิญบริษัทฮ่องกงมาร่วมลงทุนในโครงการ EEC ซึ่งสามารถเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ (Greater Bay Area – GBA) ได้แก่ กวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า รวมถึงอนุภูมิภาค ACMECS ด้วย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่าไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ยินดีผลักดันความร่วมมือระหว่างอาเซียนและฮ่องกงในมิติต่างๆ

ด้านดิจิทัล ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความก้าวหน้าของโครงการเคเบิลใต้น้ำของไทยสู่ฮ่องกง เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาค (ASEAN Digital Hub) รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)

ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงพร้อมเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงมาลงทุนในไทยมากขึ้น และกล่าวว่า ฮ่องกงถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยมีมูลค่าเป็นอันดับ 3 จึงพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีการเงินให้แก่ไทยซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานทางการเงินและการธนาคารของไทยและภูมิภาค สำหรับด้านการศึกษา ฮ่องกงยินดีส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาให้แก่ไทยโดยเฉพาะวิทยาการในสาขาที่ฮ่องกงมีความก้าวหน้า โดยปัจจุบันมีโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านวิชาการระหว่างกัน และมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนในระดับปริญญาตรีด้วย

อนึ่ง ก่อนหน้าจะเข้าพบนายกรัฐมนตรี นางแคร์รี หล่ำ (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้เข้าพบและหารือกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาแล้ว

เศรษฐกิจ : ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงร่วมลงทุนใน EEC

People unity : post 1 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 น.

สรรพากร-ธนาคารระบุการส่งข้อมูลดอกเบี้ยต่อสรรพากรเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของบัญชีเงินฝาก

People Unity : ตามที่กรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์และผลตอบแทนเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ กรมสรรพากรได้หารือร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 เพื่อกำหนดแนวทางการส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้แก่กรมสรรพากร โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินมากที่สุด

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ชี้แจงการดำเนินการว่า “ที่ประชุมเห็นพ้องกันในการแก้ไขประกาศข้างต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วประเทศให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี โดยธนาคารจะนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยแก่กรมสรรพากร แต่หากผู้ฝากเงินไม่ประสงค์จะได้รับยกเว้นภาษีต้องแจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยไม่ให้นำส่งข้อมูล ซึ่งธนาคารจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ในอัตราร้อยละ 15 ทั้งนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว”

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “การกำหนดให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยทุกบัญชีต่อกรมสรรพากร จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าบัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว และไม่ต้องการให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งความประสงค์ที่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยที่ลูกค้ามีบัญชีให้ครบทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยการแจ้งครั้งเดียวจะมีผลตลอดไป จนกว่าลูกค้าจะมาแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ทั้งนี้ ลูกค้าที่มาแจ้งภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จะมีผลตั้งแต่รอบภาษีดอกเบี้ยจ่ายครึ่งปีแรกในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร.1161 หรือที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ

เศรษฐกิจ : สรรพากร-ธนาคารระบุการส่งข้อมูลดอกเบี้ยต่อสรรพากร เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของบัญชีเงินฝาก

People Unity : post 6 พฤษภาคม 2562 เวลา 15.50 น.

มท.1 ย้ำมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ

People Unity : มท.1 ย้ำชัดมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้ ปชช.

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2562 เวลา 13.00 น. ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อาคารอิมแพ็คฟอรัม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายและบรรยายพิเศษ เรื่อง “กระทรวงมหาดไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังกว่า 1,000 คน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นกลไกของรัฐบาล เนื่องจากมีโครงสร้างในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ท้องถิ่น ท้องที่ และส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อำเภอ ดังนั้น ทุกกระทรวงที่จะดำเนินนโยบายในระดับพื้นที่จะต้องผ่านโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งสิ้น ดังนั้น บทบาทของพัฒนากรจังหวัด อำเภอ จะต้องพัฒนาชุมชนในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ฯลฯ จึงถือว่านักพัฒนากรคือมือไม้ของรัฐบาลในส่วนภูมิภาค

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งในด้านเศรษฐกิจฐานรากนั้นได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และหลักประชารัฐคือ การมีส่วนร่วมของรัฐ เอกชน และประชาชน เป็นรากฐานในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ดังนั้น นโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกรมการพัฒนาชุมชน ต้องทำทั้งในส่วนของอำนาจหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชน และช่วยสนับสนุนงานของรัฐบาลและกระทรวงอื่นๆที่ลงไปในพื้นที่ด้วย เช่น การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ OTOP และช่องทางจำหน่าย การขับเคลื่อนหมู่บ้านชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว การพัฒนาตลาดประชารัฐให้เป็นตลาดที่สะอาดและปลอดภัย ผ่านการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โครงการตลาดประชารัฐ และการขับเคลื่อนภาคประชารัฐ (SE) หรือนโยบายของรัฐบาล เช่น การให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การจัดการกองทุนต่างๆในพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และยั่งยืน การป้องกันและแก้ไขยาเสพติด เป็นต้น

ท้ายสุด พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เน้นย้ำว่า ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงมหาดไทย คือ ต้องสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กระจายรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก  ตรงตามความต้องการของประชาชนและสภาพปัญหาของพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข

เศรษฐกิจ : มท.1 ย้ำมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ

People Unity : post 18 สิงหาคม 2562 เวลา 13.30 น.

Verified by ExactMetrics