วันที่ 19 เมษายน 2024

รัฐบาลผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรระยะยาว

People Unity News : 25 กันยายน 2565 รัฐบาลผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบาย ให้ความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกร โดยเน้นการทำงานที่ให้ยึด 5 ประเด็นยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ในการแก้ไขจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งให้เอื้อต่อการพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” โดยมีแนวทางไปสู่เป้าหมาย คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

และเดินหน้าให้ความสำคัญกับนโยบาย 15 เรื่อง เช่น เน้นหลักตลาดนำการผลิต การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร รวมทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางเป้าหมายในการทำงานรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง ซึ่งรวมถึงการพัฒนากำลังคนในภาคการเกษตร พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย Young Smart Farmer เพิ่มบทบาทของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือน และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของชุมชน รวมทั้งการพัฒนาอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานที่สำคัญในพื้นที่

“รัฐบาลดำเนินงานด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ วางนโยบายแบบพุ่งเป้ามองไปข้างหน้า ตามความเหมาะสมจากการประเมินจากสถานการณ์โลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมให้การช่วยเหลือเกษตรกรไทย เน้นการทำงานแบบสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกส่วน” นายอนุชากล่าว

Advertisement

“อุตตม”ร่วมถก ธ.ก.ส.เร่งเสริมมาตรการช่วยเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย

People Unity : รมว.คลัง ร่วมประชุมคณะกรรมการธ.ก.ส. เร่งเสริมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยปี2562 ทั้งขยายเวลาชำระหนี้ 2 ปี และลดดอกเบี้ยเงินกู้อีกร้อยละ 3 ติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ภาคชนบท ทั้งการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว การดำเนินโครงการประกันรายได้ปาล์ม ข้าว ที่จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้วกว่า 34,600 ล้านบาท พร้อมเตรียมโอนประกันรายได้ยาง งวดแรก 1 พฤศจิกายนนี้

วันที่ 28 ต.ค.2562 ที่ ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เป็นประธานในการประชุม ติดตามการดำเนินงานของธนาคารในการช่วยเหลือเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้สรุปมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะสั้นที่ดำเนินการไปแล้ว (ข้อมูล ณ 24 ตุลาคม 2562) ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 24,810 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน ดำเนินการโอนเงินแล้ว จำนวน 3.99 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 23,929 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 วงเงิน 13,000 ล้านบาทเป้าหมายเกษตรกร 263,107 ครัวเรือน ดำเนินการโอนเงิน รอบที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไปแล้ว 254,667 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,351 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 รอบที่ 1 วงเงิน 20,940 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านราย มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินในรอบที่ 1 ทั้งสิ้น 349,300 ครัวเรือน โดย ธ.ก.ส. โอนเงินเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ไปแล้วกว่า 9,411 ล้านบาท รวมเงินที่โอนไปแล้วทั้ง 3 โครงการ จำนวน 34,691 ล้านบาท

สำหรับการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้ นายอุตตม ได้พิจาณาเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ระยะที่ 1 เพื่อเป็นการให้ช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยาง วงเงิน 24,278 ล้านบาท โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ปริมาณผลผลิตยาง (ยางแห้ง) 240 กิโลกรัม/ปี หรือ 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน กำหนดราคาประกันยางแผ่นดินคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50 %) 23 บาท/กิโลกรัม ซึ่งแบ่งสัดส่วนการจ่ายเงินให้กับเจ้าของสวนยาง 60% และ คนกรีดยาง 40% โดยคาดว่าจะสามารถโอนเงินในงวดแรกให้เกษตรกรได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

นายอภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ยังเตรียมพิจารณาให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2562 จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 กันยายน 2562- 31 สิงหาคม 2564 และขยายเวลาชำระดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 – 31 สิงหาคม 2563 และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า โดยคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MRR-3 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.875 ต่อปี) วงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทแรก เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 – 31 สิงหาคม 2563 และมอบหมายให้ ธ.ก.ส. เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเพื่อดูแลเกษตรกรตามมาตรการต่าง ๆ ที่จะทยอยออกมา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตโดยเฉพาะพืชหลักชนิดต่าง ๆ ให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมจัดโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา ซึ่งมีชุมชนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเข้าร่วม ตามนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีพิธีมอบสินเชื่อให้ลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ การจัดตลาดชุมชนทางน้ำ และการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน ณ เทศบาลตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ก.คลังเผยยอดใช้จ่ายการบริโภค 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อ มีผู้ใช้สิทธิ 40.72 ล้านราย วงเงิน 53,889.99 ลบ.

People Unity News : ก.คลังเผยยอดใช้จ่ายการบริโภคผ่าน 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อ มีผู้ใช้สิทธิรวม 40.72 ล้านราย ยอดใช้จ่ายรวม 53,889.99 ล้านบาท

4 มี.ค. 2565 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศปี 2565 ซึ่งประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 4 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 2 และโครงการคนละครึ่งระยะที่ 4 พบว่า จากข้อมูลสะสม ณ วันที่ 3 มีนาคม 2565 ณ เวลา 23.00 น. มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 40.72 ล้านราย และมียอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด 53,889.99 ล้านบาท โดยสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้

  1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 13.28 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 4,116.12 ล้านบาท
  2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 1.21 ล้านราย มียอดการใช้จ่ายรวม 352.97 ล้านบาท
  3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 (ประชาชนกลุ่มเดิมฯ) จำนวน 25.46 ล้านราย ซึ่งมียอดใช้จ่าย 48,384.0 ล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 (ประชาชนกลุ่มใหม่ฯ) จำนวน 7.7 แสนราย ซึ่งมียอดใช้จ่าย 1,036.9 ล้านบาท รวมมีผู้ใช้สิทธิทั้งหมดจำนวน 26.23 ล้านราย และยอดการใช้จ่ายรวม49,420.9 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 25,104.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 24,316.2 ล้านบาท และมียอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทตามร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 20,417.0 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 8,553.9 ล้านบาท ร้านOTOP 2,213.6 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 17,279.6 ล้านบาท ร้านบริการ 867.7 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 89.1 ล้านบาท โดยมีประชาชนที่ได้รับสิทธิทั้งหมด 26.38 ล้านราย ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มเดิมฯ ที่กดยืนยันสิทธิและมีการใช้สิทธิโครงการฯ ระยะที่ 4 แล้ว จำนวน 25.46 ล้านราย จากจำนวนผู้ใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จำนวน 26.35 ล้านราย สำหรับผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 4 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วจำนวน 1.35 ล้านราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่  2.58 หมื่นราย

สำหรับข้อมูลการใช้จ่ายสะสมผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีการใช้จ่ายสะสม 1,424.7 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 737.3 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย  687.4 ล้านบาท และในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ที่ขายอาหารและเครื่องดื่มผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มมีจำนวน 9.23 หมื่นราย

ทั้ง 3 โครงการดังกล่าวข้างต้น ประชาชนสามารถใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการร้านค้ารายใหม่ยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ผ่าน www.คนละครึ่http://xn--72c.com/ หรือติดต่อเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยในพื้นที่หรือสาขาธนาคารกรุงไทยฯ ได้อย่างต่อเนื่องจนกว่ากระทรวงการคลังจะประกาศปิดรับสมัคร

Advertising

การเคหะแห่งชาติเปิดบ้านให้ กอช.เข้าไปส่งเสริมการออมแก่ชาวชุมชน

People unity news online : กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ จัดโครงการประชาสัมพันธ์กองทุนการออมแห่งชาติในชุมชนการเคหะแห่งชาติ นำร่อง 4 พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย ชุมชนบ้านเอื้ออาทรบึงกุ่ม ชุมชนบ้านเอื้ออาทรสายไหม ชุมชนบ้านเอื้ออาทรพหลโยธิน 44 และชุมชนบ้านเอื้ออาทรเมืองใหม่บางพลี เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและสิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิก กอช. แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการวางแผนการเงิน และผลักดันให้เกิดพฤติกรรมการออมเพื่อสร้างหลักประกันพื้นฐานในการดำรงชีวิตยามชราภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยได้เปิดตัวโครงการที่ชุมชนบ้านเอื้ออาทรบึงกุ่มและชุมชนบ้านเอื้ออาทรสายไหมเป็นแห่งแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา

นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. กล่าวว่า การจัดโครงการประชาสัมพันธ์กองทุนการออมแห่งชาติในชุมชนการเคหะฯ เป็นการปูพรมลงพื้นที่เพื่อให้เกิดการสื่อสารแก่คนในชุมชนแบบเข้าถึง โดยอาศัยกลไกความร่วมมือระหว่างประชาชน ชุมชน และภาครัฐผ่านการขยายเครือข่ายความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างการรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของ กอช. รวมถึงสิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิก กอช. แก่ประชาชนในชุมชนการเคหะแห่งชาติ โดย กอช. จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของข้อมูลข่าวสารในการเผยแพร่และชี้แจงแก่ประชาชน ผ่านช่องทางการสื่อสารภายในชุมชน อาทิ กิจกรรมพิเศษ เสียงตามสาย ไลน์กลุ่ม เฟซบุ๊ค เป็นต้น นอกจากนี้ กอช. ยังมุ่งหวังในการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนในชุมชนการเคหะแห่งชาติตระหนักถึงความจำเป็นของการวางแผนทางการเงินรวมถึงมีการเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ผู้มีรายได้น้อย ผู้มีรายได้ปานกลางและผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่เข้มแข็งและยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของการเคหะแห่งชาติ

“กอช.ยังคงเร่งผลักดันระบบการออมเพื่อการชราภาพให้สะดวกในการเข้าถึงและครอบคลุมในทุกพื้นที่ยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคี เพื่อสร้างเครือข่ายการออมที่จะมาช่วยกันสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนต่อไป สำหรับโครงการประชาสัมพันธ์กองทุนการออมแห่งชาติในชุมชนการเคหะฯ นับเป็นโครงการที่มีกระแสตอบรับที่ดี ซึ่งในอนาคตอาจมีการขยายผลไปยังพื้นที่ชุมชนอื่นๆต่อไป” นายสมพรกล่าว

People unity news online : post 20 มิถุนายน 2560 เวลา 20.16 น.

“จุรินทร์”เร่งช่วยประกันรายได้มันสำปะหลังรุดจ่ายเงินส่วนต่าง 1 ธ.ค.2562

People Unity : ได้เวลาเกษตรกรมันสำปะหลังเฮ! “จุรินทร์” เร่งช่วยประกันรายได้ รุดจ่ายเงินส่วนต่าง 1 ธันวาคม 2562

วันที่ 27 ต.ค.2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำประชุม 3 ฝ่ายเคาะประกันรายได้มันสำปะหลัง เดินหน้าช่วยเกษตรกรทั้งมาตรการหลักและเสริม โดยตั้งแต่เวลา 14.30-16.00 การประชุมหารือแนวทางการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลัง ปี 2562/63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน ณ ห้องประชุมเวสสุวรรณ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติพัชรกิติยาภา สํานักงานเทศบาลนครอุดรธานี อําเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ภายหลังการประชุมนายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ได้ร่วมกันกำหนดรายละเอียดของนโยบายประกันรายได้เกษตรกรมันสำปะหลัง มีมติให้ความเห็นชอบร่วมกันสำหรับการนับหนึ่งนโยบายประกันรายได้ดังนี้

ประการที่หนึ่ง จะมีการประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท ที่เชื้อแป้งที่ 15% ประการที่สอง ประกันรายได้ครัวละไม่เกิน 100 ตัน ประการที่สาม ก็คือจะใช้เกณฑ์ราคาอ้างอิงเรื่องไปเป็นตัวกำหนดรายได้ที่ปรับเรื่องกำหนดตัวเลขส่วนต่างโดยจะใช้ราคาตลาดของราคาหัวมันสดที่ลานมันแป้งเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วันเป็นตัวเลขราคาอ้างอิง

ประการที่สี่ เกษตรกรทุกรายสามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยไปขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขึ้นทะเบียนตามความเป็นจริงต้องแจ้งชัดเจนว่าปลูกมันกี่ไร่ จะเก็บเกี่ยวช่วงไหนอย่างไรตามความเป็นจริง ประการที่ห้า กำหนดจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยจ่ายหกงวดในฤดูกาลผลิตปีนี้ ทุกเดือนจนหมดจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน และประการสุดท้าย วงเงินที่ใช้ร่วมกันประมาณ 9,400 ล้านบาท

“ตั้งใจจะเอาเรื่องมาหารือวันที่ 11 พย.ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ตอนที่คณะรัฐมนตรีไปประชุมสัญจรที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก็จะสามารถจ่ายเงินส่วนต่างแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ” นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนั้นนายจุรินทร์ กล่าวว่า ยังมีมาตรการเสริมสำคัญอีกหลายประเด็นก็คือส่งเสริมให้มีการใช้มันสำปะหลังในประเทศมากขึ้นทั้งทำพลาสติกชีวภาพ ซึ่งประเทศของเราจะเดินไปในแนวทางนี้มากขึ้นเพื่อรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมรวมทั้งนำไปใช้ทำพลังงานในรูปแบบต่างๆ เช่น เอทานอล เป็นต้น จะมีการเร่งรัดส่งผลิตภัณฑ์เอกชนเพื่อเร่งรัดส่งเสริมการส่งออกมันสำปะหลังของไทยไปในตลาดต่างประเทศ เช่น ที่ตนได้นำคณะเอกชนไปขายมันสำปะหลังที่จีน เมื่อไม่นานมานี้แล้วประสบความสำเร็จพอสมควรเพราะปีที่แล้วจีนนำเข้ามันจากประเทศไทย 3,000,000 ตัน แต่ที่ไปสามารถขายได้ 2,600,000 ตัน มูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท

นอกจากตลาดจีนแล้วไปตลาดอินเดียเนื่องจากอินเดียเริ่มที่จะไม่ใช้พลาสติกจริง เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยต่อไปนี้จะต้องใช้วัตถุดิบทางชีวภาพโดยเฉพาะมันสำปะหลังมาทำถุงพลาสติก และทำหีบห่อ โดยอินเดียมีประชากร 1,300 ล้านคน โดยต้องใช้สิ่งเหล่านี้ทดแทนพลาสติกมหาศาลถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทยแล้วจะไปบุกตลาดตุรกีและนิวซีแลนด์ เนื่องจากสองประเทศนี้มีความต้องการใช้อาหารสัตว์จำนวนมากแต่ยังไม่รู้ที่ใช้มันสำปะหลังไปทำเป็นอาหารสัตว์ โดยจะเชิญผู้ผลิตอาหารสัตว์ของตุรกีและนิวซีแลนด์มาดูงานการทำด้วยมันสำปะหลังของไทย รวมทั้งตลาดเกาหลีและตลาดอื่นๆเป็นต้น

และจะเร่งรัดเรื่องการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้มันสำปะหลังราคาตกโดยไม่จำเป็น ต้องมีมาตรการภายในดำเนินการต่อไปให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม กับรอติดตามภาวะมันสำปะหลังในประเทศที่จะออกมาตรการเสริม เช่น ชะลอการขุด หรือชดเชยการขุด มาตรการอื่นๆที่จะช่วยส่งเสริมการผลิตต่อไปเป็นต้น ต่อมาคือสถานการณ์มันสำปะหลังทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศจำเป็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จึงเป็นที่มาถึงได้ทำตามความเห็นของภาคเอกชนที่จะจัดตั้งวอร์รูมมันสำปะหลังเพื่อติดตามอย่างใกล้ชิดและเสนอทางออกเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรมันสำปะหลังไทยต่อไปด้วย

วันนี้ตนได้มอบให้กรมการค้าภายใน เป็นเจ้าภาพเชิญภาคเอกชน เกษตรกร กระทรวงเกษตร ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมกันหามาตรการในการหาเครื่องมือเพื่อทำให้การขายหัวมันสดของเกษตรกรและการรับซื้อหัวมันสดของภาคเอกชนมีการกำหนดราคาที่เป็นธรรมของทั้งสองฝ่ายโดยลดการใช้ดุลยพินิจเพื่อกำหนดราคาตามความประสงค์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้น้อยที่สุดโดยให้กรมการค้าภายในไปหารือร่วมกันและสรุปมาว่าจะมีกลไกอะไรที่ทำให้เป็นธรรม

สุดท้ายคือเรื่องโรคใบด่างในมันสำปะหลังซึ่งทุกฝ่ายกังวลจะมีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตมันสำปะหลัง โดย ครม.มีมติอนุมัติเงิน 248 ล้านบาทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งรัดทำเรื่องการกำจัดโรคใบด่าง วันนี้ได้ไปเร่งรัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและให้มารายงานให้คณะกรรมการทราบในวันที่ 11 พฤศจิกายน เช่นเดียวกัน เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอสำหรับการใช้ในปีนี้และปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคณะของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในวันนี้ ร่วมกับ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับคณะจากกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนเกษตรกร และภาคเอกชน

ออมสินเปิดให้ผู้ใช้ MyMo รายใหม่ยื่นกู้สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ได้ 6 มิ.ย.นี้

People Unity News : ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเผยยอดผู้กู้สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ช่วยรายย่อย อนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 430,000 ราย เตรียมขยายให้ผู้ใช้ MyMo รายใหม่ยื่นกู้ได้ 6 มิ.ย.นี้

2 มิ.ย.64 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อตามมาตรการ “สินเชื่อสู้ภัย COVID-19” วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ที่ผ่านมามีประชาชนให้ความสนใจยื่นกู้เป็นจำนวนมาก โดยธนาคารฯ ได้อนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้าแล้วเป็นจำนวนกว่า 430,000 ราย ทั้งนี้ ร้อยละ 95 ของจำนวนที่อนุมัติดังกล่าว เป็นการอนุมัติโดยเกณฑ์ผ่อนปรน ซึ่งไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ในกรณีปกติ จึงต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนธนาคารในการจัดทำมาตรการครั้งนี้

สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ กล่าวคือไม่ผ่านเกณฑ์ผ่อนปรนนั้น สาเหตุหลักเกิดจากผลการประเมินความเสี่ยงโดยหน่วยงานภายนอก ได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ทั้งนี้ หากลูกค้ายังมีความจำเป็นที่ต้องการสินเชื่อ อาจเลือกใช้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่ปัจจุบันธนาคารออมสิน ร่วมกับบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ เหลือเพียง 0.49% ต่อเดือนตลอดอายุสัญญา ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าโครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ไม่มากนัก ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอสินเชื่อนี้ได้ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ธนาคารออมสิน 550 สาขา

อนึ่ง ธนาคารฯ ได้ปรับหลักเกณฑ์ของมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 โดยให้ผู้ที่เปิดใช้ MyMo ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2564 สามารถกดลงทะเบียนยื่นขอกู้ได้ ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป (ปรับจากเดิมที่กำหนดไว้เป็นก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2564) เพื่อขยายขอบเขตความช่วยเหลือครอบคลุมประชาชนที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อนี้ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ขอกู้จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือ มีสัญชาติไทย อายุ 20 ปี – 70 ปี และไม่เป็นเกษตรกร หรือข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ โดยธนาคารฯเปิดให้ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ได้ทางแอป MyMo จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าจะครบจำนวนวงเงินโครงการ

Advertising

รัฐบาลชวนสายเที่ยว-บริษัททัวร์ ร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทย เผยเหลือสิทธิ์กว่า 168,000 สิทธิ์

People Unity News : รัฐบาลเชิญชวนสายเที่ยว-บริษัททัวร์ ร่วมโครงการทัวร์เที่ยวไทย เผยเหลือสิทธิ์กว่า 168,000 สิทธิ์ นายกรัฐมนตรีกำชับปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคเข้มงวด

11 ก.พ. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาโครงการทัวร์เที่ยวไทยจากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.พ. 2565 ไปสิ้นสุด พ.ค. 2565 ขณะนี้ระบบได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนซื้อรายการนำเที่ยว บริษัทนำเที่ยวรายเดิมเริ่มส่งรายการนำเที่ยว และบริษัทนำเที่ยวรายใหม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้แล้ว จึงขอเชิญชวนทั้งประชาชนที่สนใจ และผู้ประกอบการนำเที่ยวเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถดำเนินการขอรับสิทธิตามโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์ โดยสามารถตรวจสอบแพ็คเกจท่องเที่ยวของบริษัทนำเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.ทัวร์เที่ยวไทย.ไทย ซึ่งมีการจัดแบ่งกลุ่มให้เลือก 3 กลุ่ม  ประกอบด้วยกลุ่ม silver เป็นแพ็คเกจทัวร์ราคาถูก กลุ่ม Gold แพ็คเกจทัวร์ราคาปานกลาง และกลุ่ม Platinum แพ็คเกจทัวร์ราคาสูง

ขณะที่ผู้ประกอบการนำเที่ยวรายเดิมสามารถยื่นรายการนำเที่ยวส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและศึกษารายละเอียดขั้นตอนและหลักเกณฑ์ตามโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.ทัวร์เที่ยวไทย.ไทย  ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 9 ก.พ. 2565 เหลือสิทธิตามโครงการกว่า 168,000 สิทธิ จากที่รัฐบาลให้สิทธิ 2 แสนสิทธิ

สำหรับสิทธิตามโครงการนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนส่วนลดค่าแพ็คเกจท่องเที่ยวในประเทศให้ประชาชนผู้ร่วมโครงการ 40% แต่ไม่เกิน 5,000 บาท/สิทธิ โดยให้ 1 สิทธิต่อคน  รวมทั้งหมด 2 แสนสิทธิ  โดยผู้จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุ 18 ปีขึ้นไป และจะไม่สามารถใช้แพ็คเกจท่องเที่ยวของโครงการทัวร์เที่ยวไทยในช่วงเวลาเดียวกับการเข้าพักโรงแรม/ที่พักของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ได้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  ได้กำชับว่าเนื่องจากขณะยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงขอให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้มงวดในเรื่องของการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวภายใต้โครงการฯ และกำกับให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวดูแลนักท่องเที่ยวตามมาตรการป้องกันโรคโดยเคร่งครัด

Advertising

รัฐบาลชวนผู้ประกอบการเข้าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม รับสิทธิประโยชน์ภาษี-จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 

People Unity News : รัฐบาลชวนผู้ประกอบการเข้าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม รับสิทธิประโยชน์ภาษีและจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผู้สนับสนุนได้ลดหย่อนภาษีด้วย

8 พ.ย.64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงการขับเคลื่อนการประกอบกิจการเพื่อสังคม เพื่อส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจ และภาคประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ซึ่งในช่วงเวลาสองปีของการเริ่มใช้กฎหมายฉบับนี้ คณะกรรมการฯได้ผลักดันให้มีการออกสิทธิประโยชน์หลายอย่าง เพื่อเป็นแต้มต่อให้วิสาหกิจเพื่อสังคมได้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และนำผลกำไรคืนสู่สังคมต่อไป ขณะนี้มีจำนวนวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise:SE )  ที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) จำนวน 162 กิจการ

การดำเนินงานที่ผ่านมาหลายหน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการในการสนับสนุนการดำเนินงานของวิสาหกิจเพื่อสังคม อาทิ กรมสรรพาการมีประกาศให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการจดทะเบียนกับ สวส. กล่าวคือ 1) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่นิติบุคคลที่จดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมประเภทที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไร 2) ผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถหักลดหย่อนเงินลงทุนในหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมและได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ 3) ผู้บริจาคให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศให้กิจการ SE ที่ผ่านการจดทะเบียนรับรอง สามารถระดมทุนเสนอขายหุ้นต่อประชาชนได้ โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตจาก ก.ล.ต.ตามปกติ เป็นต้น และล่าสุดที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ คือ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างผลิตผลชิ้นงาน หรือบริการที่ผลิตหรือจัดทำขึ้นจะวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ ทำให้วิสาหกิจฯมีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากขึ้น

นอกจากสิทธิประโยชน์ที่ได้กล่าวมาแล้ว คณะกรรมการฯยังผลักดันให้มีการเสริมแกร่งแก่วิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น การสร้างเครือข่ายกับ 18 หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อเป็นพี่เลี้ยงด้านการตลาด การลงทุน การระดมทุน การส่งเสริมศักยภาพกลุ่มกิจการเพื่อสังคมสำหรับคนพิการ และที่สำคัญ กระทรวงพาณิชย์ได้ริเริ่มการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Online Business Matching) นำกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม 13 ราย พบผู้ซื้อและผู้นำเข้าจากต่างประเทศ กว่า 34 รายจาก 13 ประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม เยอรมัน สเปน ซาอุดิอาระเบียและประเทศกลุ่มยุโรป นำไปสู่มูลค่าการค้าประมาณ 15 ล้านบาท  โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่เจรจาทางธุรกิจเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องสำอางค์ สินค้าเพื่อสุขภาพและในระยะต่อไปก็จะดำเนินการให้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการส่งออกร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ รวมถึงจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับปีหน้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เล็งเห็นโอกาสที่จะเพื่มจำนวนผู้จดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสนใจ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งก็มีศักยภาพที่จะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนหลายอย่าง มีโอกาสต่อยอดธุรกิจให้มีรากฐานที่แข็งแรง มั่นคง และยั่งยืนตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคมหรือสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศให้ยั่งยืนต่อไป ผู้สนใจ สามารถติดต่อ สวส. ได้ที่ https://www.osep.or.th/ โทร 02 246 2344

Advertising

เร่งติดตั้งเครื่องรูดบัตร 5,700 ร้านค้า-รถเมล์ 800 คัน รองรับการใช้บัตรสวัสดิการคนจน

People unity news online : รัฐบาลเดินหน้าติดเครื่องรูดบัตรกว่า 5 พันร้านค้า รถโดยสารอีก 800 คัน รองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมเตรียมประเมินผลทุกเดือน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย

24 กันยายน 2560 – พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  รัฐบาลเตรียมความพร้อมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ เพื่อรองรับการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ต.ค.60 นี้ โดยได้เร่งติดตั้งเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีดีซี ในร้านธงฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว 3,000 แห่งทั่วประเทศ และมีเป้าหมายจะติดตั้งให้ได้ถึง 5,700 ร้านค้าภายในต้นเดือน ต.ค.60

“ส่วนในพื้นที่ที่ร้านธงฟ้าไม่สามารถติดตั้งเครื่องรูดบัตรได้ทัน กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมจัดรถโมบายเคลื่อนที่ประมาณ 200 คัน ที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตรแล้ว ออกไปจำหน่ายสินค้าธงฟ้าประชารัฐให้แก่ประชาชน ซึ่งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่นๆที่เข้าร่วมโครงการ โดยขณะนี้กรมบัญชีกลางกำลังรวบรวมข้อมูลร้านค้าและสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ และจะส่งไปยังสาขาต่างๆของ ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ รถโดยสารของ ขสมก. ก็ได้ติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) แล้วเช่นกัน โดยติดตั้งในรถโดยสารธรรมดา จำนวน 200 คัน และจะทยอยติดตั้งให้ครบ 800 คัน ให้ครอบคลุมพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ซึ่งรถที่ร่วมโครงการจะติดสติ๊กเกอร์สีเขียวระบุข้อความว่า “รถคันนี้ใช้ระบบเก็บเงินอัตโนมัติ” ซึ่งผู้ถือบัตรเพียงนำบัตรแตะที่เครื่องอ่านบัตร ระบบจะหักค่าใช้จ่ายทันที

ทั้งนี้ ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนไว้ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.3 ล้านคน จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในวันที่ 17 ต.ค.60 เนื่องจากภาครัฐมีความจำเป็นต้องบรรจุข้อมูลลงในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่สอดคล้องกับมาตรฐานกลางระบบตั๋วร่วม (แมงมุม) ของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ซึ่งจะเชื่อมโยงการเดินทางด้วยรถโดยสาร ขสมก. และรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน จึงทำให้ต้องเพิ่มขั้นตอนการผลิตและควบคุมคุณภาพ ก่อนนำไปทดสอบกับเครื่องอ่านบัตร (E-Ticket) ต่อไป

“รัฐจะชดเชยสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย อันเนื่องมาจากขั้นตอนการผลิตที่ใช้เวลานานขึ้น โดยกรมบัญชีกลางจะยกยอดวงเงินสวัสดิการที่คงเหลือจากการใช้จ่ายในเดือน ต.ค.60 ให้ไปใช้ต่อได้ในเดือน พ.ย.60 ส่วนเดือนอื่นจะไม่มีการทบยอดคงเหลือแต่อย่างใด”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระเตรียมรองรับการใช้งานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เกิดความรัดกุม และในระยะแรกควรศึกษาและประเมินผลการทำงานและข้อบกพร่องทุกเดือน เพื่อให้สามารถปรับปรุงแก้ไขให้สำเร็จอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งย้ำว่าการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น เป็นเพียงการช่วยแบ่งเบาภาระในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวรัฐบาลก็มีหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมตามนโยบายของรัฐบาล

People unity news online : post 25 กันยายน 2560 เวลา 09.30 น.

กรมชลประทานจ้างแรงงาน 75,000 คนปี 65 สร้างรายได้ทดแทนให้แก่เกษตรกรและประชาชน

People Unity News : กรมชลประทานเดินหน้าจ้างแรงงานปี 65 หวังสร้างรายได้ทดแทนให้แก่เกษตรกรและประชาชน สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน 1460

28 พ.ย.64 กรมชลประทานเปิดรับสมัครแรงงานทั่วประเทศ ตามโครงการจ้างแรงงานชลประทาน ปี 65 ในตำแหน่งงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำ แก้มลิง โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ ฯลฯ เพื่อให้เกษตรกร มีรายได้ทดแทนจากการว่างเว้นการทำการเกษตร โดยได้รับค่าจ้างประมาณเดือนละ 7,800 บาท ระยะเวลาการจ้างงาน 1 – 10 เดือน

ขณะนี้ ทั่วประเทศมีผู้สนใจเข้าร่วมจ้างแรงงานแล้ว 2,155 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.87 ของแผน ยังสามารถจ้างแรงงานได้อีกประมาณ 72,845 คน ให้ครบตามเป้าที่กำหนดไว้ 75,000 คน

สำหรับคุณสมบัติของผู้ร่วมโครงการที่จะได้รับการจ้างแรงงาน มีดังนี้

✅ เกษตรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่

✅ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่

✅ ประชาชน และผู้ใช้แรงงานทั่วไป

✅ หากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่เป้าหมายมีไม่เพียงพอ จะพิจารณาจ้างแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ

เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมชลประทาน โทร.1460

Advertising

Verified by ExactMetrics