วันที่ 19 เมษายน 2024

13 มี.ค. “บิ๊กตู่” เปิดงาน “One Transportation for all” ที่ขอนแก่น-โคราช เร่งรถไฟทางคู่อีสาน

People unity : รัฐบาลเดินหน้าโครงข่ายคมนาคมรถไฟทางคู่ โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดงาน “One Transportation for all : ระบบคมนาคมหนึ่งเดียว เพื่อประชาชนทุกคน” ณ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเป็นประธานเปิดงาน “One Transportation for all : ระบบคมนาคมหนึ่งเดียว เพื่อประชาชนทุกคน” โดยกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาเครือข่ายคมนาคมและศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทางรางและถนน ณ จังหวัดนครราชสีมา และทดลองการเดินรถในโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายรถไฟทางคู่ เส้นทางสายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ณ จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย โดยในวันพุธที่ 13  มีนาคม 2562  นายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติภารกิจสำคัญ ณ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา  ดังนี้

ช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการใช้งานอาคารสถานีรถไฟขอนแก่น และตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่และทดลองเดินรถในโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายรถไฟทางคู่ เส้นทางสายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น  ช่วงบ่าย เป็นประธานเปิดงาน “One Transportation for all : ระบบคมนาคมหนึ่งเดียว เพื่อประชาชนทุกคน” ของกระทรวงคมนาคม และตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา จุดเชื่อมต่อการคมนาคมรถไฟทางคู่

ทั้งนี้ การตรวจราชการส่วนภูมิภาคเป็นหนึ่งในภารกิจที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายรัฐบาลด้วยตนเอง อีกทั้งยังทำให้เข้าใจลักษณะพื้นที่ สภาพปัญหา ความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อเป้าหมายการพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนพัฒนาจังหวัด ทำให้จัดสรรงบประมาณได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยสร้างการรับรู้ของประชาชนต่อนโยบายของรัฐบาล และเป็นขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

เศรษฐกิจ : 13 มี.ค. “บิ๊กตู่” เปิดงาน “One Transportation for all” ที่ขอนแก่น-โคราช เร่งรถไฟทางคู่อีสาน

People unity : post 11 มีนาคม 2562 เวลา 10.20 น.

“บิ๊กตู่” สั่งเร่งเครื่องโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมชายแดนใต้ แนะปลูกปาล์มให้สอดรับตลาด

People unity news online : เมื่อวานนี้ (4 เมษายน 2561) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมพญาตานี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาคเอกชน ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนเข้าร่วมประชุม

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ชายแดน โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพต้องพัฒนาเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความปรองดองและความสงบในพื้นที่ต่อไป สำหรับการเสนอและดำเนินการเสนอขอโครงการต่างๆนั้น เพื่อให้เกิดผลโดยเร็วและสามารถดำเนินการได้ ให้เสนอแยกเป็นตอนๆ เป็นช่วงๆ แทนการเสนอในภาพใหญ่ และต้องรายงานการใช้งบประมาณอย่างละเอียด โปร่งใส สุจริต โดยให้คำนึงถึงความต้องการของประชาชนและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอโครงการสำคัญ ดังนี้

1.ความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยนายกรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการขยายกำลังการผลิตปาล์มน้ำมัน และขอให้คำนึงถึงปริมาณการปลูกปาล์มให้สอดคล้องกับความต้องการ และให้เตรียมมาตรการรองรับราคาปาล์มด้วย ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว ให้กำหนดพื้นที่ปลูกมะพร้าวพร้อมจัดสรรพื้นที่สาธารณะให้ปลูกมะพร้าวโดยให้บริหารจัดการร่วมกัน  พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการต้นแบบ รวมทั้งให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่วิจัยพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการผลิต

2.การบริหารจัดการด้านพลังงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดภาคใต้ และการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยชุมชน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าของพื้นที่และสามารถพึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ชายแดนเป็นแหล่งที่มีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจำนวนมาก

3.ผลการดำเนินงานด้านคมนาคม (ท่าเทียบเรือปัตตานี/ท่าอากาศยานเบตง) นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความเจริญให้กับพื้นที่

4.การดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว (การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน/แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่) นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ขยายผลการท่องเที่ยวโดยชุมชน เนื่องจากจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ด้านรายได้โดยตรง รวมทั้งควรสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยง เชื่อมต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวควบคู่กับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่แบบแพ็คเกจ สร้างสตอรี่เรื่องราวต่างๆให้น่าสนใจ ทำอย่างไรให้คนเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยให้จัดทำแผน กำหนดกิจกรรมการท่องเที่ยว และกำหนดกลุ่มเป้าหมายอย่างเชื่อมโยงขยายไปสู่การท่องเที่ยวในกลุ่มพื้นที่ต่อไป

และ 5.ผลการดำเนินงานยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้พัฒนาปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และเป็นแรงงานที่มีศักยภาพสามารถสร้างโอกาสในการทำงานต่อไป พร้อมส่งเสริมให้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตร 2 ภาษา รวมทั้งส่งเสริมให้มีโรงเรียนประจำในพื้นที่และทำให้ได้โดยเร็ว

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำให้ส่วนราชการต่างๆ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ หากมีปัญหาอุปสรรคให้รีบแก้ไข และพยายามหาแนวทางใหม่ๆที่สร้างสรรค์เพื่อให้การพัฒนาชายแดนใต้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

People unity news online : post 5 เมษายน 2561 เวลา 10.00 น.

ก.พลังงานแจงน้ำมันดิบพบในประเทศกลั่นในประเทศแค่ 13% ชี้ราคาหน้าโรงกลั่นต่างกันจากค่าขนส่ง

People unity news online : กระทรวงพลังงานระบุไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศร้อยละ 87 ขณะที่ราคาหน้าโรงกลั่นแตกต่างกันจากค่าขนส่ง

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ชี้แจงข้อสงสัยกรณีน้ำมันที่ค้นพบและนำมากลั่นในประเทศไทย อ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นที่ประเทศสิงคโปร์ ว่า ในปี 2560 น้ำมันดิบที่ค้นพบในประเทศแล้วส่งเข้าโรงกลั่นในประเทศมีเพียงร้อยละ 13 ของน้ำมันดิบที่ส่งเข้าโรงกลั่นในประเทศทั้งหมด (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2561) อีกร้อยละ 87 ต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเข้ามากลั่น โดยที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะใช้หลักการอ้างอิงกับราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย คือ ตลาดสิงคโปร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการซื้อขาย (ส่งออก/นำเข้า) ของภูมิภาคเอเชียและเป็นตลาดการค้าเสรี

ส่วนราคาหน้าโรงกลั่นในแต่ละประเทศนั้น ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน เนื่องจากน้ำมันสำเร็จรูปที่มีคุณภาพเดียวกัน ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละประเทศแตกต่างกันมาจากค่าขนส่ง หากส่วนต่างของน้ำมันสำเร็จรูปในสองพื้นที่แตกต่างกันเกินกว่าค่าขนส่ง ก็จะเกิดการขนส่งข้ามพื้นที่เพื่อรับส่วนต่างกำไรที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างราคาเท่ากับค่าขนส่งอยู่เสมอ

ทั้งนี้ อาจมีข้อยกเว้นอยู่บ้างในกรณีในตลาดที่ไม่เกิดการแข่งขันโดยสมบูรณ์ หรือนโยบายเฉพาะของประเทศนั้นๆ เช่น การสร้างกำแพงภาษี หรือการควบคุมการนำเข้า-ส่งออก เป็นต้น

People unity news online : post 1 มิถุนายน 2561 เวลา 10.20 น.

พาณิชย์คาดภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยครึ่งหลังปี 61 ขยายตัวต่อเนื่อง

People unity news online : 4 กรกฎาคม 2561 ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ว่า มีแนวโน้มที่ดี โดยมีสัญญานของเศรษฐกิจจากเครื่องชี้วัดต่างๆในช่วงครึ่งปีแรกที่สอดคล้องกัน ทั้งด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพของราคา

ในด้านอุปทาน มีสัญญานที่ดีจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีการปรับตัวดีขึ้นของราคาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยเฉลี่ยขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน แม้ว่าสินค้าเกษตรบางชนิดจะยังมีราคาลดลงก็ตาม ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ก็มีสัญญาณที่ดีจากกำลังการผลิต (Cap U) ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในขณะที่อัตราการว่างจ้างงานก็ยังอยู่ในระดับต่ำที่มีเสถียรภาพ

นอกจากนั้น ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีคาดว่าจะมีแรงกดดันต่อต้นทุนและราคาสินค้าลดลง ทั้งจากมาตรการดูแลของภาครัฐ และแนวโน้มราคาพลังงานโลก ที่แม้จะยังมีโอกาสผันผวน แต่คาดว่าน่าเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบัน (60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)

ในด้านอุปสงค์ มีสัญญาณการปรับตัวที่ดีในเกือบทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐและการค้าระหว่างประเทศ โดยการบริโภค มีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การบริโภคภาคเอกชน (ทั้งจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการบริโภคใน GDP) สอดคล้องกับปริมาณเงินในระบบ (ทั้ง M1 และ M2) ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและเพิ่มขึ้นในลักษณะที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ นอกจากนั้น ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากรายได้เกษตรกรเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (มาจากราคาและปริมาณสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น) เช่นเดียวกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 7 เดือน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผ่านเครื่อง EDC) จะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนในกลุ่มนี้ได้อีกประมาณ 7% ในขณะที่การลงทุนขยายตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ยังขยายตัวได้ดีจากการดำเนินนโยบายแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะเห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 0.2% ใน Q4/60 เป็น 1.9% ในไตรมาสล่าสุด (Q1/61) ในขณะที่การส่งออกก็ยังขยายตัวในระดับสูงถึง 11.6% (รวม 5 เดือน) สอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันของไทยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าทั้งปีน่าจะมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวเกินเป้าหมายร้อยละ 8 โดยมีสินค้าสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อน อาทิ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ขยายตัวได้ดี รวมทั้งสินค้าเกษตรสำคัญก็มีแนวโน้มปรับตัวที่ดีตามลำดับ ทั้งจากความต้องการและราคาที่ยังขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายของแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับลด TIP Report ลงมาเป็น Tier 2 ในขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวและเอื้อต่อการผลิตและสนับสนุนการบริโภคในประเทศ โดย 5 เดือนขยายตัว 16.6% โดยรวมแล้วการค้าระหว่างประเทศยังเกินดุลในระดับที่ดี

Price Stability พบว่าเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับแบบค่อยเป็นค่อยไป (ล่าสุด มิ.ย. 1.38%, 6M 0.97%) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี (สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดต่างๆด้านอุปสงค์) ในขณะที่ต้นทุนสินค้าและบริการยังอยู่ในระดับปกติซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆแล้วเงินเฟ้อของไทยถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมามีลักษณะที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (ทั้งไทยและโลก) และอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน แม้ที่ผ่านมายังแข็งค่าโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับปีก่อน ( 6 เดือนแข็งค่าร้อยละ 8.6) แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีก็น่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ (32-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ)

เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีจะยังคงมี Momentum ต่อเนื่อง ทั้งในด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพราคา ซึ่งจะส่งผ่านให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังขยายตัวต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้ตามการคาดการณ์

People unity news online : post 4 กรกฎาคม 2561 เวลา 12.40 น.

นายกฯขอให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ

People unity : นายกรัฐมนตรี ขอให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ทำมาตรฐาน GAP ปรับตัวเรียนรู้การค้าขายด้วยระบบออนไลน์ เพิ่มยอดขายสินค้า

วันนี้ (9 มกราคม 2662) เวลา 15.50 น. นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ฯ โดยใส่ชุดเสื้อม่อฮ่อม ขึ้นรถไถนา (รถอีแต๊ก) เพื่อไปเกี่ยวข้าวร่วมกับเกษตรกรเขตหนองจอกและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การต้อนรับ และกล่าวเพิ่มเติมว่า มีความยินดีที่ได้มาตรวจพื้นที่กรุงเทพฯด้านตะวันออก และได้มาพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนในเขตหนอกจอก ซึ่งถือเป็นเขตที่มีพื้นที่มากที่สุดของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นท้องทุ่งนาเกษตรกรรม ซึ่งพี่น้องประชาชนยังคงรักษาวิถีชีวิตเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี เป็นเอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างจากเขตอื่นๆในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การทำนามีความสำคัญต่อชุมชนในเขตหนองจอก รวมทั้งกรุงเทพฯ เป็นฐานการผลิตและเศรษฐกิจหลัก ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญแก่พื้นที่เกษตรกรรมและอนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรมเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำทางธรรมชาติ คูคลอง หนาแน่น เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำเกษตรกรรม ตลอดจนเป็นช่องระบายน้ำในช่วงฤดูฝนและเป็นพื้นที่รับน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ประชาชนต้องเรียนรู้ระบบการค้า ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ทำมาตรฐาน GAP จะทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น แต่ต้องหาวิธีลดต้นทุนด้วย และต้องปรับตัวเรียนรู้การค้าขายด้วยระบบออนไลน์ จากนั้นได้เกี่ยวข้าวในที่นาของนางยวงเว้ บ้านแพ้ว ซึ่งเป็นเจ้าของแปลงนาเนื้อที่ 15 ไร่ พันธุ์ข้าว กข 51 โดยได้ปลูกเมื่อ 15 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำแขวง ประกอบด้วย แขวงคู้ฝั่งเหนือ แขวงกระทุ่มราย แขวงโคกแฝด แขวงหนองจอก แขวงโคกแฝด แขวงคลองสิบสอง และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มอาชีพตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน สำหรับการตั้งราคาข้าว การประกันราคารัฐบาลกำหนดจากค่าเฉลี่ยซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ต่อจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมกระบวนการสีข้าวของโรงสีชุมชน การบรรจุใส่ถุง เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มว่า เราจะต้องร่วมมือพัฒนาให้เขตพื้นที่ เป็นเขตเกษตรกรรมที่มีการผสมผสานระหว่างการทำเกษตรกรรม โดยใช้วิถีชีวิต และภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยกับการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิต รวมทั้งเพิ่มมูลค่าและปริมาณของผลผลิตทางการเกษตร โดยการพัฒนามุ่งเน้นในด้านกสิกรรม เสริมด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสาน

เศรษฐกิจ : นายกฯขอให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ

People unity : post post 9 มกราคม 2562 เวลา 22.40 น.

“ชาติชาย” เผย ธ.ออมสินจะก้าวสู่ “The Best & Biggest Local Bank in Thailand” ในปี 61 นี้

People unity news online : ธนาคารออมสิน เผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 13,479 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1 เท่าตัว เพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยและสินเชื่อใหม่เกือบ 150,000 ล้านบาท เป้าหมายปี 2561 มุ่งสู่ “The Best & Biggest Local Bank in Thailand” เป็นธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อสังคม – ธนาคารเพื่อรายย่อย – ธนาคารผู้นำด้านดิจิทัล – ธนาคารเพื่อผู้สูงวัย – ธนาคารเพื่อคนรุ่นใหม่ และ SMEs Start Up

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลการดำเนินงานธนาคารออมสิน ช่วง 3 เดือนแรก ของปี 2561 (1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2561) ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 13,479 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,178 ล้านบาท ที่สำคัญมาจากกำไรจากการขายหุ้นสามัญและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดย 3 เดือนแรกมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ถึง 149,303 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อคงเหลือ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ 2,059,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45,058 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24 จากสิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 2,014,123 ล้านบาท ทั้งนี้ เกิดจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ โดยมาตรการของรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยให้สินเชื่อขยายตัวได้ เป็นการให้สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประเภท ได้แก่ สินเชื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อธุรกิจ SMEs สินเชื่อธนาคารประชาชน และสินเชื่อธุรกิจห้องแถว เป็นต้น

ด้านเงินฝาก ไตรมาส 1 อยู่ที่ 2,172,538 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2560 ที่ธนาคารมียอดเงินฝากสูงเป็นอันดับ 1 ในระบบสถาบันการเงิน จากเงินฝากครบกำหนด แต่ธนาคารมีแผนระดมเงินฝากทั้งเงินฝากสลากออมสินและเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ๆที่ตอบสนองความต้องการของผู้ออมเงินออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 2,620,862 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2560 จำนวน 42,966 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.61 ซึ่งเป็นไปตามกรอบทิศทางธนาคาร

ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ และเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ มีการแก้ไขตามลำดับความสำคัญ การเจรจาไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ โดยธนาคารได้ทยอยเปิดศูนย์ย่อยควบคุมและบริหารหนี้ทั่วประเทศจำนวน 80 ศูนย์ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 45,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.19 ของสินเชื่อรวม ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์

“ความร่วมมือร่วมใจกันของผู้บริหารและพนักงาน ส่งผลให้ธนาคารมีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและพันธมิตร รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งการันตีจากการยกย่องและได้รับมอบรางวัลต่างๆมากมาย อาทิ รางวัลสำหรับสถาบัน Best Retail Bank of the Year 2017, รางวัลธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย, รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2560 รวมถึงรางวัลล่าสุดที่เพิ่งได้รับ คือ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ Thailand Quality Class จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ  ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในประเทศที่ได้รับรางวัลนี้ นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กร ที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

นายชาติชาย กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 นี้ ได้มุ่งเป้าหมายสู่การเป็น The Best & Biggest Local Bank in Thailand “ธนาคารที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด” โดยมุ่งเน้นลูกค้าใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้าฐานราก/นโยบายรัฐ มุ่งเน้น กลุ่มผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้มีหนี้นอกระบบ และกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก หรือ พ่อค้า-แม่ค้า 2.กลุ่มลูกค้าบุคคล มุ่งเน้น กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง กลุ่มผู้สูงวัย และ 3.กลุ่มลูกค้า SMEs มุ่งเน้น กลุ่ม SMEs Start Up

สำหรับกลุ่มฐานรากและนโยบายรัฐนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารได้เข้าไปสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มประชาชนฐานรากอื่นๆ โดยธนาคารจะยกระดับให้ประชาชนก้าวพ้นจากความยากจนด้วยกลไก 3 สร้าง ได้แก่ 1.สร้างรายได้/อาชีพ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน โดยการจัดทำหลักสูตรอบรมพัฒนาอาชีพร่วมกับ 17 มหาวิทยาลัย, โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 84 ชุมชน, พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์  2.สร้างตลาด ด้วยการจัดตลาดนัดประชารัฐวายุภักษ์, ตลาดประชารัฐสีชมพู, ร้านค้าประชารัฐ, Thailand Street Food, e-Market Place ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ 3.สร้างประวัติทางการเงิน ด้วยการส่งเสริมการรับชำระเงินผ่าน QR Payment (MyMo Pay และ GSB Pay) โดยได้ดำเนินการติดตั้งคิวอาร์โค้ดไปแล้วกว่า 26,000 ร้านค้า พร้อมกันนี้มีการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน เช่น สินเชื่อ Street Food สินเชื่อผู้รับสิทธิ์สวัสดิการรัฐ สินเชื่อ Home Stay สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ ตลอดจนการให้ออมก่อนกู้

ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ธนาคารออมสินได้ปลูกฝังการออมตั้งแต่เยาว์วัย ธนาคารได้ยกระดับธนาคารโรงเรียน สู่ Virtual School Bank ซึ่งจะจูงใจให้นักเรียน กลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้รับความรู้ความเข้าใจและออกแบบการออมด้วยตัวเองได้ในโลกเสมือนจริง ที่สำคัญถือเป็นครั้งแรกที่จะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในยุค Digital Banking 4.0 ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.gsbschoolbank.com ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าไปเรียนรู้กันมากขึ้น และยังมีโครงการต่างๆอีกมากมายครอบคลุมทุกมิติของการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยสู่ความเป็นเลิศทัดเทียมสากล ทั้งด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านวิชาการ ตลอดจนส่งเสริมความมีคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงโครงการ GSB Generation ที่เน้นกิจกรรมตอบโจทย์ Life Style คนรุ่นใหม่

ขณะที่ กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง ธนาคารจะนำเสนอและส่งมอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ล้ำสมัย ด้วยบริการ Digi-Thai Life Solution ผ่านบริการ Mobile Banking ในชื่อ MyMo ของธนาคารออมสิน บริการธุรกรรมออนไลน์ฟรีค่าธรรมเนียม, MyMo My Life ครบทุกความต้องการในแอพเดียว ทั้งด้านเงินฝาก สินเชื่อ ลงทุน และประกันชีวิต, Market Place ธุรกิจใหม่บนมือถือรองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่, QR Payment รับ-จ่ายแบบไร้เงินสด ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในอนาคต

นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยนั้น ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ประกาศความพร้อมในการดูแลผู้สูงวัย รองรับการก้าวเข้าสู่ Aging Society ของประเทศ ด้วยการเปิดตัวธนาคารผู้สูงวัย เมื่อต้นปี 2560 เพื่อให้บริการทางการเงินที่เหมาะกับผู้สูงวัย ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อ Reverse Mortgage ที่ธนาคารเปิดให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันด้านรายได้อย่างมั่นคง ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง พร้อมกับการสร้างรายได้/อาชีพ ส่งเสริมการออม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

ส่วน กลุ่ม SMEs Start Up จะมุ่งเน้นพัฒนา SMEs ให้มีนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ตั้งแต่หากลุ่มเป้าหมาย จัดโปรแกรมอบรมและพัฒนา ไปจนถึงการให้สินเชื่อและการร่วมลงทุน สำหรับในกลุ่ม SMEs นั้น ธนาคารได้ขยายศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs ทั่วประเทศเพิ่มเติมจาก 18 ศูนย์ ในปี 2560 เป็น 37 ศูนย์ ในเดือนมีนาคม 2561 และจะครบตามเป้าหมาย 82 ศูนย์ ในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการอนุมัติสินเชื่อและดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึง

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ธนาคารพาณิชย์มีทิศทางการปิดสาขามากขึ้นเพื่อลดต้นทุนนั้น ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสาขา 1,059 แห่ง จะไม่มีการปิดสาขา แต่จะปรับรูปแบบสาขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดต้นทุนของสาขา ได้แก่ ปรับบทบาทพนักงานบริการให้เป็นพนักงานขายมากขึ้น, เพิ่มเครื่องให้บริการอัตโนมัติ (Self Service Zone), เพิ่มพื้นที่การขายภายในสาขาทั้งการขายโดยการปรับบทบาทของพนักงานและการร่วมกับพันธมิตร, เปิดสาขาที่เป็น Flagship และสาขา Digital เต็มรูปแบบ รวมถึงบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้เสมือนหนึ่งการให้บริการของสาขา

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว ธนาคารได้มีการปรับเปลี่ยนภายในองค์กร (Internal Change) โดยเพิ่มหน่วยงานใหม่เพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ล้ำสมัย รองรับการเป็น Digital Banking และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการจับมือคู่ค้าพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจ อาทิ กลุ่มฟินเทค กลุ่มอีคอมเมิร์ซ เป็นต้นรวมถึงการพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆจากการร่วมลงทุน (Venture Capital) กับ Start Up ที่มีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Management), ธุรกิจติดตามและประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะ (Monitoring & Analytics), ธุรกิจบริหารจัดการโปรแกรมสะสมแต้ม (Loyalty Program Card), หนังสือ/นิตยสารออนไลน์ (Online Book and Magazine), การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เป็นต้น

“การมุ่งไปสู่ The Best & Biggest Local Bank in Thailand นั้น ธนาคารมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และช่องทางการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุม มุ่งมั่นให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนได้เข้าถึงทุกๆพื้นที่ พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรที่สอดรับกับ Life Style ของลูกค้าในยุคดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Digi-Thai Life Solution” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด

People unity news online : post 7 พฤษภาคม 2561 เวลา 22.10 น.

รัฐบาลแจงให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมส่งผลดีในอนาคต

People unity news online : รัฐบาลแจงเหตุผลกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม ย้ำเป็นเพียงมาตรการป้องกันปัญหาด้านราคาในอนาคต ชี้ปัจจุบันการซื้อขายยางยังปกติ วอนทุกฝ่ายเข้าใจให้ถูกต้อง

วันนี้ (17 มกราคม 2561) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายดังกล่าว ว่า โดยปกติแล้วหากสินค้าใดเป็นสินค้าควบคุม จะทำให้กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหรือติดตามดูข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับสินค้านั้นได้ เช่น ตรวจสอบราคาทุน ราคาซื้อ ราคาขาย ฯลฯ พร้อมทั้งกำหนดให้มีมาตรการที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ หรือบรรดาเกษตรกรทั้งหลาย

ดังนั้น การกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลเตรียมการไว้สำหรับแก้ไขปัญหาราคายางพาราในอนาคต หากเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นกับผู้ผลิต เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้บริโภค หรือผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายยางพาราเท่านั้น

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยอยากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมทั้งย้ำว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้ยางพาราในส่วนราชการต่างๆมากขึ้น และสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ได้แปรรูปยางพาราไปใช้ในกิจการอื่นๆ รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการไว้ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาในวันข้างหน้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทุกฝ่าย

“ปัจจุบันการซื้อขายยางพารายังคงเป็นไปตามปกติ โดยกระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ยังไม่มีการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับยางพาราแต่อย่างใด นอกจากนี้ คณะกรรมการกลางฯมีหน้าที่ต้องพิจารณาทบทวนรายการสินค้าควบคุมทุกๆ 1 ปี เพื่อดูว่าสินค้าแต่ละรายการยังสมควรเป็นสินค้าควบคุมอีกต่อไปหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จำเป็น ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาถอดสินค้านั้นออกจากรายการสินค้าควบคุมได้”

People unity news online : post 17 มกราคม 2561 เวลา 09.30 น.

4 ค่ายรถยนต์ยักษ์ยื้อตอบรับนโยบาย 4 ข้อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล

People unity : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประชุมร่วม 4 ค่ายรถยนต์ เพื่อเปิดรับฟังข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหามาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าระยะแรก หวังยกระดับให้ไทยเป็นฐานที่มั่นการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

15 มีนาคม 2562 : นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากช่องโหว่ของมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ผลิตรถยนต์ HEV/PHEV โดยไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Vehicles) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศ ดังนั้น สศอ. จึงได้นำเสนอมาตรการในการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ “Core Technology” ของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต รวมทั้งต้องการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ในราคาประหยัด และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือเรียกว่า “อีโค่อีวี (ECO EV)”

นายณัฐพล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มาตรการ ECO EV มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ (1) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถปรับพลิกโฉมฐานการผลิตรถยนต์ ECO Car ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งหลักของประเทศไทย ซึ่งถูกกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการภาษีสรรพสามิตของการส่งเสริม EV ระยะแรก และ (2) เพื่อปิดจุดอ่อนของมาตรการส่งเสริม EV ในรอบแรก ซึ่งจากโครงการที่บริษัทเสนอขอรับการสนับสนุนทั้งหมด สศอ. พบว่า มีปัญหาใน 3 ประเด็นหลักคือ ร้อยละ 79.8 ของรถยนต์ทุกคันเป็นการลงทุนผลิต HEV ที่ไม่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ จึงไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาให้ไปสู่ BEV ในอนาคตได้ และกว่าร้อยละ 91.8 ของรถยนต์ที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุน ไม่มีการลงทุนใน Core Technology ของ EV ในประเทศไทยเลย โดยเป็นการประกอบขั้นปลายสุด คือ ประกอบตัวถังและทดสอบแบตเตอรรี่  นอกจากนี้ รถยนต์ทุกคันที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุน มีราคาสูงกว่าที่ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้ คือ ราว 1-6 ล้านบาท ซึ่งย่อมจะทำให้จะไม่แพร่หลายหรือมีขนาดการผลิตที่เพียงพอสำหรับการลงทุนผลิต Core Technology ของ EV ในประเทศไทย ประกอบกับ นายกรัฐมันตรีได้มีข้อสั่งการให้มีการเร่งรัดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย เพื่อเป็นอีกทางเลือกของประชาชนในกานช่วยกันลดฝุ่น pm 2.5 จากการใช้รถยนต์ดีเซล และเบนซิน

นายณัฐพล เปิดเผยอีกว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ. ได้ทำงานร่วมกับ BOI และกระทรวงการคลัง และได้มีการปรับปรุงและสรุปข้อเสนอของมาตรการการ ECO EV จนล่าสุดสามารถตอบวัตถุประสงค์ต่างๆได้ครบทุกข้อ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะได้สรุปและประกาศมาตรการนี้ ได้รับทราบจากกระทรวงการคลังว่า ได้รับหนังสือร่วมลงนามจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่เสนอขอรับการส่งเสริม HEV 3 ราย คือ Toyota Honda และ Nissan และบริษัทผู้จัดจำหน่ายรถปิกอัพ 1 ราย คือ ตรีเพรชอิซูซุ ได้มีข้อท้วงติง และต้องการให้ภาครัฐดำเนินมาตรการในทิศทางอื่น และในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ. จึงได้หารือกับผู้ผลิต HEV ทุกรายอีก ทั้งการหารือแบบรายบริษัท และกลุ่ม 3+1 รายนี้ ซึ่งทั้ง 3 รายรับที่จะเสนอแนวทางในการปรับโครงการการลงทุนของแต่ละบริษัท เพื่อให้ไม่เป็นเพียงโครงการประกอบ HEV ขั้นสุดท้ายดังที่เสนอมาในปัจจุบัน แต่จะเพิ่มให้มีการลงทุนเพื่อพยายามตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อข้างต้น คือ (1) ราคาที่คนไทยต้องเข้าถึง EV ได้ (2) มีกระบวนการผลิตของชิ้นส่วน EV core technology (3) มีการก้าวไปสู่รถยนต์ที่สามารถชาร์ทไฟฟ้าได้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาโครงข่ายการพัฒนาไฟฟ้า และ (4) มีเส้นทางการพัฒนาฐานการผลิต ECO Car ไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต ที่มีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า

นายณัฐพล เปิดเผยถึงผลการประชุมเปิดรับฟังข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหามาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าระยะแรกในวันนี้ว่า “หลังจากที่ทั้ง 3 บริษัทได้ทราบโจทย์และขอกลับไปหาแนวทางประมาณ 1 เดือน ซึ่งในวันนี้บริษัทได้มารายงานผล ซึ่งสรุปได้ว่า บริษัทไม่มีข้อเสนอที่จะตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อ ในการแก้ปัญหามาตรการ EV ระยะแรกได้ โดยเห็นว่า ในช่วง 6 ปีนี้ ภาครัฐยังไม่ควรมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ควรรอให้มาตรการภาษีสรรพสามิตจบลงในปี 2568 ก่อน จึงควรหามาตรการแก้ไขต่อไป โดยหลังจากนี้ สศอ. จะสรุปสถานการณ์ล่าสุดเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ industry 4.0 เพื่อทราบสถานะและพิจารณาตัดสินใจต่อไปว่าประเทศไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะเดินออกจากข้อติดขัดของการพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้านี้ร่วมกันหรือไม่อย่างไร”

เศรษฐกิจ : 4 ค่ายรถยนต์ยักษ์ยื้อตอบรับนโยบาย 4 ข้อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล

People unity : post 17 มีนาคม 2562 เวลา 20.40 น.

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะชี้แจงการกู้เงินจากจีนทำรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย

People unity news online : สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะชี้แจง ข้อวิจารณ์การเปิดรับการลงทุนและการกู้เงินจากจีน

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์การเปิดรับการลงทุนและการกู้เงินจากจีน ตามที่ เดอะสเตรตไทม์ส สื่อของประเทศสิงคโปร์ รายงานอ้างอิงบทบรรณาธิการของเดอะเนชั่น ซึ่งกล่าวถึงกรณีรัฐบาลเปิดรับการลงทุนและการกู้ยืมเงินจากจีน ภายใต้การผลักดันของรัฐบาลจีนในโครงการเส้นทางสายไหม หรือ Belt and Road โดยมีประเด็นกังวลว่าประเทศไทยจะซ้ำรอยกับประเทศอื่นๆ ที่เคยรับความช่วยเหลือและพึ่งพาจีน ในการกู้ยืมเงินจากจีนกลายเป็นภาระหนี้สินจำนวนมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของจีนนั้นสูงกว่าการกู้ยืมจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศนั้น มีข้อเท็จจริงดังนี้

การดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือเรียกได้ว่า เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government to Government : G to G) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟและการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยรัฐบาลจีนจะสนับสนุนด้านการศึกษาโครงการ  การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นผู้รับจ้างในการก่อสร้าง ส่วนรัฐบาลไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งโครงการ และใช้แหล่งที่มาของเงินลงทุนโครงการจากงบประมาณและเงินกู้ภายในประเทศเป็นหลัก การกู้เงินจากรัฐบาลจีนจึงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของแหล่งเงินเท่านั้น

ในส่วนของการกู้เงินจากรัฐบาลจีน ปัจจุบันยังไม่มีการตกลงและผูกพันสัญญาใดๆ และยังคงอยู่ระหว่างการเจรจาร่างสัญญาเงินกู้และเงื่อนไขเงินกู้ของรัฐบาลจีน ซึ่งในการเจรจาได้มีการระบุไว้ชัดเจนในกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีการบันทึกผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนว่า รัฐบาลไทยจะกู้เงินจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน หากมีเงื่อนไขเงินกู้ที่ดีกว่าหรือมีต้นทุนที่ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งเงินกู้อื่น ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณาเงื่อนไขเงินกู้เปรียบเทียบกับต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลที่กู้จากแหล่งเงินในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงแหล่งเงินกู้ทางการอื่นๆด้วย

People unity news online : post 15 พฤศจิกายน 2561 เวลา 11.40 น.

นายกฯแนะภาคการเกษตรปรับตัวรับมือปัญหาราคาผลผลิตไม่แน่นอน

People unity news online : นายกรัฐมนตรีแนะภาคการเกษตรปรับตัวรับมือปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำอย่างยั่งยืน วอนทุกฝ่ายร่วมมือ

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ว่า ในช่วงนี้มีราคาดี เพราะต่างประเทศประสบภัยธรรมชาติ จึงมีความต้องการสินค้าข้าวสูง แต่หากในปีต่อไป เราปลูกข้าวมากขึ้นจนเกินความต้องการของตลาด ก็จะทำให้ราคาตกต่ำลงอีกเป็นวัฏจักร

นายกฯเน้นย้ำว่า ปัญหาหลักของภาคการเกษตร คือต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรมีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ ทำให้ต้องขายที่ดินให้นายทุน และเช่าที่เพื่อทำกิน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน รัฐบาลจึงอยากให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า จุดอ่อนของการทำการเกษตรแบบอิสระ คือ การแบกรับภาระต้นทุนที่สูง และเมื่อต่างคนต่างทำ จึงขายไม่ได้ เพราะตลาดไม่ต้องการ แต่หากมีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับตลาดก็จะทำให้ขายได้ จึงต้องมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มปริมาณและคุณภาพ สร้างอำนาจต่อรองให้แก่ตนเอง รวมทั้งทำไร่นาสวนผสม ลดปริมาณพืชที่ปลูกอยู่เพียงชนิดเดียวไปปลูกพืชอื่นทดแทน และเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้เสริม

“ผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่น เช่น มันสําปะหลัง อ้อย ยางพารา สับปะรด ฯลฯ ทุกอย่างใช้หลักการเดียวกัน หากประสบปัญหาราคาตกต่ำ และรัฐบาลต้องรับซื้อในราคาสูง เมื่อขายไม่ได้ก็ยิ่งขาดทุน และกระทบต่องบประมาณของประเทศ ดังนั้น ทุกคนจะต้องช่วยกันเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน“ นายกรัฐมนตรีกล่าว

People unity news online : post 14 สิงหาคม 2561 เวลา 10.50 น.

Verified by ExactMetrics