วันที่ 20 เมษายน 2024

“สมาคมธนาคารไทย” หนุน “กทม.” ขับเคลื่อนสู่เมืองเศรษฐกิจสีเขียว สร้างการเติบโตยั่งยืน

People Unity News : 18 กรกฎาคม 65 สมาคมธนาคารไทย พร้อมขับเคลื่อน “กรุงเทพมหานคร” สู่เมืองเศรษฐกิจสีเขียว ชูนโยบายสนับสนุน BCG สินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำโครงสร้างพื้นฐานด้าน “ดิจิทัล” ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับการให้บริการของ กทม. เสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมฯ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ว่า การประชุมในวันนี้ มีหลายประเด็นที่เน้นแนวทางความร่วมมือในหลายด้าน ซึ่งสมาคมธนาคารไทย เป็นหน่วยงานที่ 3 ที่ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร หลังจากเข้าพบสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดเป็น 3 เสาหลักเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในอนาคตจะรีบผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมฯ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนหารือความคิดเห็นและความร่วมมือร่วมกันทุกเดือนระหว่าง กทม.กับภาคธุรกิจ อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งวันนี้ทางสมาคมธนาคารไทยได้รับทราบเป้าประสงค์ แนวคิดของ กทม.แล้ว และอยากร่วมผลักดันกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองหลักของการสร้างงาน สามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก สร้างความสุขให้คนไทยและเป็นเมืองหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยการตั้งคณะกรรมการฯ คาดว่าจะสำเร็จภายใน 1 เดือน เนื่องจากการพัฒนาเมืองต้องมีความร่วมมือกันเพราะเมืองคือแหล่งงาน แหล่งอาชีพ เมืองจะอยู่ได้ต้องมีการสร้างงานสร้างเศรษฐกิจที่มีคุณภาพขึ้น

โดย กทม.จะอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจเอกชน ด้วยการลดขั้นตอนต่างๆ ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยทำควบคู่กับเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีนำมาปรับปรุงคุณภาพชีวิต โดยในปัจจุบันธนาคารก้าวหน้ามากในเรื่องของ Application การให้บริการ เทคโนโลยีการพิสูจน์ตัวตน ซึ่ง กทม.อาจจะนำบางส่วนมาใช้งานกับ Application ของ กทม.ด้วย เช่น การให้ความรู้กับประชาชนในชุมชนเรื่องการใช้ Application รวมถึงการให้ข้อมูลให้ชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย โดยจัดทำฐานข้อมูลและ Open Data

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม. ดูแลชุมชนกว่า 2,000 ชุมชน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลมหาศาล คนจำนวนมากในชุมชนต้องการแหล่งเงินทุน แหล่งเงินกู้ หากสามารถทำการเชื่อมฐานข้อมูลให้รู้หลักแหล่งที่อยู่อาศัยและตัวตนของผู้กู้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Application ต่างๆ เพื่อทำให้ธนาคารเข้าถึงลูกค้า และลูกค้าก็เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น ก็จะแก้ปัญหาในปัจจุบันที่ประชาชนต้องไปกู้หนี้นอกระบบได้ เนื่องจาก กทม.มีข้อมูลชุมชนมากมายหากพัฒนาเป็นฐานข้อมูล และธนาคารสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ก็จะทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น เพราะหัวใจของการพัฒนาคุณภาพชีวิต คือการเข้าถึงแหล่งเงิน หากประชาชนประกอบธุรกิจได้ดีขึ้น ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะแหล่งเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ เบื้องต้นอาจจะเริ่มพัฒนาจาก 1 ชุมชน หรือ 1 อาชีพก่อน เช่น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเนื่องจากมีหลักแหล่งตัวตนชัดเจนเพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบแหล่งเงินทุนได้ หากประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นต้นแบบที่จะขยายความสำเร็จนี้ต่อไป

“ปัจจุบันหลายชุมชน ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แนวคิดที่จะตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน ซึ่งอาจเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อจะแนะนำเทคโนโลยีต่างๆนี้ให้คนในชุมชน รวมถึงรวบรวมฐานข้อมูลของชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งเราเริ่มอบรมอาสาสมัครเทคโนโลยีไปบางส่วนบ้างแล้วก็คือคนกวาดถนนของ กทม.ที่สามารถใช้เทคโนโลยี Traffy Fondue ได้ ประมาณ 10,000 คน เนื่องจากอาศัยอยู่ในทุกเขตและทุกชุมชน ซึ่งอนาคตอาจจะเป็นผู้แนะนำเทคโนโลยีทางธนาคารเพื่อให้คนในชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกทม.ได้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลในรูปธรรมได้ ภายใน 6 เดือน” นายชัชชาติกล่าว

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ และธนาคารสมาชิกพร้อมสนับสนุนการพัฒนากรุงเทพมหานคร ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของ กทม. สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของสมาคมฯที่มุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน และเสริมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับสังคมและประเทศ

ทั้งนี้ สมาคมฯ จะร่วมผลักดันภาคธุรกิจปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และ BCG Economy หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเดินหน้าให้ความรู้ทางการเงินและดิจิทัล สร้างกลไกในการเพิ่มวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเพื่อการเกษียณอายุ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงบริการการเงินขั้นพื้นฐานของภาคธนาคาร

นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาช่วยในการพัฒนา กทม. และผลักดันให้เกิด Digital Transformation โดยส่งเสริมการนำระบบ Digital มาใช้ในกระบวนการทำงาน ทั้งการชำระเงิน การเก็บค่าธรรมเนียม การชำระค่าปรับ การออกใบเสร็จแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยสนับสนุนให้นำระบบ Digital Payment มาใช้ทุกเขตและทุกหน่วยงานของกทม. และสนับสนุนให้นำระบบ Digital Supply Chain Finance Platform มาใช้การจัดซื้อจัดจ้างของกทม.และบริษัทในเครือข่ายของ กทม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และยังช่วยให้ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการจัดซื้อจัดจ้างของกทม.สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น อีกทั้ง พร้อมร่วมมือพัฒนาทรัพยากรบุคคลในรูปแบบ Knowledge Sharing หรือ Capacity Building เพื่อให้เกิดการประสานประโยชน์ (Synergy) ร่วมกัน

สมาคมฯ ยังสนับสนุนการพัฒนา กทม. เป็นเมืองนำร่องในการเชื่อมโยงระบบชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาค เมื่อเดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามแผนงาน Regional Championing ของสมาคมฯในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนและประชาชน สามารถทำกิจกรรมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ

“สมาคมธนาคารไทย พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนา กทม.ให้แข็งแกร่งในทุกด้าน เป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นศูนย์กลางในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน” นายผยง กล่าว

Advertisement

ครบ 1 เดือนมาตรการเยียวยา 5,000 บาท มีผู้ผ่านเกณฑ์แล้ว 10.6 ล้านราย โอนเงินแล้ว 7.5 ล้านราย

People Unity News : ความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท หลังดำเนินการมาแล้วครบ 1 เดือน มีจำนวนการลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 28.8 ล้านรายการ (ปิดรับลงทะเบียนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563) ในจำนวนนี้เมื่อหักการลงทะเบียนซ้ำหลายครั้งออกแล้ว คงเหลือผู้ลงทะเบียน 24 ล้านราย

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท หลังดำเนินการมาแล้วครบ 1 เดือน มีจำนวนการลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 28.8 ล้านรายการ (ปิดรับลงทะเบียนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563) ในจำนวนนี้เมื่อหักการลงทะเบียนซ้ำหลายครั้งออกแล้ว คงเหลือผู้ลงทะเบียน 24 ล้านราย โดยพบว่าเป็นผู้ไม่ผ่านการยืนยันตัวตนจากฐานข้อมูลของกรมการปกครอง 1.7 ล้านราย คงเหลือผู้ลงทะเบียนที่เข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรองตามหลักเกณฑ์จำนวน 22.3 ล้านราย

กระทรวงการคลังได้ใช้ฐานข้อมูลและระบบการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนแล้วพบว่ามีผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติจะได้รับสิทธิ เนื่องจากมีสิทธิหรือเข้าข่ายจะได้รับสิทธิเยียวยาจากรัฐบาลผ่านทางกลไกอื่นอยู่แล้ว แบ่งเป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตรกรตามฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 4.2 ล้านราย เป็นข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ หรือผู้รับเบี้ยหวัดและผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิชดเชยรายได้ในระบบประกันสังคม 1.1 ล้านราย และมีผู้ขอยกเลิกการลงทะเบียน 9.5 แสนราย

ดังนั้น จึงมีผู้ที่เข้าข่ายสามารถได้รับสิทธิการชดเชยรายได้ตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 16 ล้านราย ซึ่งเป็นผู้ผ่านเกณฑ์แล้วจำนวน 10.6 ล้านราย และกระทรวงการคลังได้โอนเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับสิทธิส่วนใหญ่จำนวน 7.5 ล้านรายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนถึงวันที่ 29 เมษายน 2563 ในวันที่ 30 เมษายน 2563 จะมีการโอนเงินเยียวยาผู้ได้รับสิทธิอีก 4.8 แสนราย ส่วนที่เหลืออีก 2.6 ล้านราย จะเร่งโอนให้ภายในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2563 กลุ่มนี้จะได้รับเงินเยียวยาของรอบเดือนเมษายนด้วยรวมเป็น 2 เดือน โดยขอให้ตรวจสอบสถานะล่าสุดได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2563 เวลา 6.00 น. เป็นต้นไป หากได้รับสิทธิจะพบข้อความว่า “ท่านได้รับสิทธิมาตรการเยียวยา 5,000 บาท กระทรวงการคลังจะดำเนินการโอนเงินให้ท่านโดยเร็วที่สุด”

สำหรับกลุ่มที่ขอข้อมูลการประกอบอาชีพเพิ่มเติมยังคงเหลือผู้ที่ไม่มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก 1 ล้านราย โปรดมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการรับสิทธิจากมาตรการเยียวยาอย่างรวดเร็ว และสำหรับผู้ที่ขอทบทวนสิทธิจำนวน 3.5 ล้านราย ทีมผู้พิทักษ์สิทธิอยู่ระหว่างการลงพื้นที่เพื่อยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งดำเนินการให้ทราบผลโดยเร็วต่อไป

โฆษณา

Fitch ปรับอันดับความน่าเชื่อถือต่อไทยดียิ่งขึ้น ผลจากได้รัฐบาลพลเรือนและบาทสุดแกร่ง

People Unity : Fitch ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาว จากระดับ “มีเสถียรภาพ (Stable outlook)” เป็น “เชิงบวก (Positive outlook)”

19 กรกฎาคม 2562 : กระทรวงการคลังรายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings (Fitch) ว่า ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2562 Fitch ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวจากระดับ “มีเสถียรภาพ (Stable outlook)” เป็น “เชิงบวก (Positive outlook)” และคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวที่ระดับ BBB+ ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะสั้นที่ระดับ F1 และเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ A-

(1) ประเทศไทยได้รับการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือ เป็นผลมาจากปัจจัยหลักกล่าวคือ Fitch มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นว่าความเสี่ยงทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยสะท้อนจากความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศ (External Finance) และภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ประเทศไม่อ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงิน ในขณะที่ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญได้รับการแก้ไขภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงมีอยู่โดยขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลผสม

(2) ความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศของไทยเป็นจุดแข็งหลักต่อความน่าเชื่อถือของประเทศสะท้อนได้จากการที่สกุลเงินบาทไทยแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าร้อยละ 4.5 เนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนและการลงทุนในตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเดือนมิถุนายน 2562

(3) Fitch คาดการณ์ว่าภาคการเงินต่างประเทศของไทยจะยังคงเข้มแข็ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (กลุ่ม BBB) ที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2562 และร้อยละ 4.9 ในปี 2563 ซึ่งได้แรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการเกินดุลการค้า แม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงก็ตาม อย่างไรก็ดี Fitch คาดการณ์ว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประกอบกับเงินทุนที่ไหลเข้ามานั้นส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 205,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 เป็นประมาณ 216,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 นอกจากนี้ สัดส่วนการเป็นเจ้าหนี้สุทธิกับต่างประเทศต่อ GDP ที่ร้อยละ 43 ในปี 2562 สูงกว่าค่ากลางสัดส่วนการเป็นลูกหนี้สุทธิต่อ GDP ของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (กลุ่ม BBB) ที่ร้อยละ 7 ตามประมาณการของ Fitch รวมถึงสูงกว่าค่ากลางสัดส่วนการเป็นเจ้าหนี้สุทธิของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A ที่ร้อยละ 9.7

(4) รัฐบาลบริหารทางการคลังได้อย่างเข้มแข็งภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 Fitch คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 ในปีงบประมาณ 2561 เป็นร้อยละ 40.7 ในปีงบประมาณ 2566 เนื่องจากรัฐบาลเร่งการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

(5) การขาดดุลงบประมาณของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกันแล้วถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดย Fitch คาดการณ์ว่าการขาดดุลภาครัฐบาล (General government deficit) ตามมาตรฐาน Government Finance Statistics (GFS) จากที่เกินดุลที่ร้อยละ 0.1 ของ GDP ในปลายปีงบประมาณ 2561 เป็นขาดดุลที่ร้อยละ 0.2 ของ GDP ในปี 2562 ในขณะที่การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะล่าช้าไป 3 เดือน อย่างไรก็ตาม Fitch คาดการณ์ว่า การขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP เนื่องจากรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการเพื่อผู้มีรายได้น้อยและโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นช่วยคลี่คลายความไม่แน่นอนทางการเมืองและมีส่วนช่วยสนับสนุนความต่อเนื่องของนโยบายที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน Fitch คาดการณ์ว่าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะปานกลาง

(6) อย่างไรก็ดี Fitch จะติดตามสถานการณ์สำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย ได้แก่ ระดับหนี้ครัวเรือนของไทย การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย และการพัฒนาทุนมนุษย์

เศรษฐกิจ : Fitch ปรับอันดับความน่าเชื่อถือต่อไทยดียิ่งขึ้น ผลจากได้รัฐบาลพลเรือนและบาทสุดแกร่ง

People Unity : post 19 กรกฎาคม 2562 เวลา 23.11 น.

ครม.เศรษฐกิจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน เงินครองชีพ-เงินเที่ยว-สินเชื่อเกษตรกร

People Unity : นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน ดูแลภัยแล้ง ดูแลผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ช่วยเหลือค่าครองชีพ เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 20 ส.ค.นี้

วันนี้ (16 ส.ค.2562) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 1/2562 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน

ภายหลังการประชุม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ ด้านการดูแลภัยแล้ง การดูแลผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการช่วยเหลือค่าครองชีพ  ซึ่งมีทั้งงบประมาณปี 62 และวงเงินสินเชื่อสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เพื่อให้มีผลทันทีในเดือนสิงหาคม 2562

สำหรับมาตรการที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือค่าครองชีพ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งทุกคนที่ถือบัตรฯจำนวน 14.5 ล้านคน จะได้รับการเติมเงินพิเศษเพิ่มคนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ระหว่างสิงหาคม – กันยายนนี้ รวม 1,000 บาท ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเดือนละ 500 บาทเป็นเวลา 2 เดือนเช่นเดียวกัน กลุ่มสุดท้าย คือเงินเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ที่ถือบัตรฯ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ได้เดือนละ 300 บาท เป็นเวลา 2 เดือน

ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ประชุมเห็นชอบให้แจกเงินให้กับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดนอกเขตภูมิลำเนาจำนวน 1,000 บาท โดยมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นจำนวน 10 ล้านคน โดยต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ผ่านแอพพลิเคชันที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้น และยังให้ผู้ที่ได้สิทธิ์สามารถนำค่าใช้จ่ายจริงจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอคืนเงินได้อีก 15% ของค่าใช้จ่ายที่ไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะมีความชัดเจนหลังจากเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว และยังมีการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน และอินเดีย แต่ต้องหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไปว่าจะยกเว้นให้นานเท่าไร

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นเวลา 1 ปี และให้สินเชื่อฉุกเฉินจาก ธ.ก.ส. คนละไม่เกิน 50,000 บาท ปีแรกฟรีดอกเบี้ย รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูความเสียหายจากผลกระทบภัยแล้งรายละไม่เกิน 5 แสนบาท วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ของ ธ.ก.ส. และช่วยเหลือต้นทุนการผลิตกับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 3 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สำหรับผู้ที่ซื้อเครื่องจักรสามารถนำเงินค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กและกลาง ทั้งการช่วยเหลือผ่านกองทุนของรัฐบาล จากธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ช่วยค้ำประกัน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน วงเงินรวม 52,000 ล้านบาท สุดท้ายคือการช่วยพักชำระหนี้เงินต้นให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแจงว่ามาตรการต่างๆเหล่านี้ ได้มีการหารือกับสำนักงบประมาณมาโดยตลอด และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังเป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังสามารถเดินหน้าเติบโต และบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ร้อยละ 3 ทั้งปี

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ที่ประชุมตั้งเป้าหมายว่าจะดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% ในปีนี้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ระหว่าง 2.7 – 3.2% และมีค่ากลาง 3% โดยรายละเอียดทั้งหมดจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ ขณะที่ ครม. เศรษฐกิจครั้งต่อไปจะหารือในเรื่องของมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และมาตรการส่งเสริมการส่งออกโดยกระทรวงพาณิชย์ในปลายเดือนสิงหาคมนี้

เศรษฐกิจ : ครม.เศรษฐกิจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน เงินครองชีพ-เงินเที่ยว-สินเชื่อเกษตรกร

People Unity : post 16 สิงหาคม 2562 เวลา 19.30 น.

พาณิชย์คาดภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยครึ่งหลังปี 61 ขยายตัวต่อเนื่อง

People unity news online : 4 กรกฎาคม 2561 ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ว่า มีแนวโน้มที่ดี โดยมีสัญญานของเศรษฐกิจจากเครื่องชี้วัดต่างๆในช่วงครึ่งปีแรกที่สอดคล้องกัน ทั้งด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพของราคา

ในด้านอุปทาน มีสัญญานที่ดีจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีการปรับตัวดีขึ้นของราคาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยเฉลี่ยขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน แม้ว่าสินค้าเกษตรบางชนิดจะยังมีราคาลดลงก็ตาม ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ก็มีสัญญาณที่ดีจากกำลังการผลิต (Cap U) ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในขณะที่อัตราการว่างจ้างงานก็ยังอยู่ในระดับต่ำที่มีเสถียรภาพ

นอกจากนั้น ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีคาดว่าจะมีแรงกดดันต่อต้นทุนและราคาสินค้าลดลง ทั้งจากมาตรการดูแลของภาครัฐ และแนวโน้มราคาพลังงานโลก ที่แม้จะยังมีโอกาสผันผวน แต่คาดว่าน่าเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบัน (60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)

ในด้านอุปสงค์ มีสัญญาณการปรับตัวที่ดีในเกือบทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐและการค้าระหว่างประเทศ โดยการบริโภค มีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การบริโภคภาคเอกชน (ทั้งจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการบริโภคใน GDP) สอดคล้องกับปริมาณเงินในระบบ (ทั้ง M1 และ M2) ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและเพิ่มขึ้นในลักษณะที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ นอกจากนั้น ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากรายได้เกษตรกรเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (มาจากราคาและปริมาณสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น) เช่นเดียวกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 7 เดือน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผ่านเครื่อง EDC) จะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนในกลุ่มนี้ได้อีกประมาณ 7% ในขณะที่การลงทุนขยายตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ยังขยายตัวได้ดีจากการดำเนินนโยบายแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะเห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 0.2% ใน Q4/60 เป็น 1.9% ในไตรมาสล่าสุด (Q1/61) ในขณะที่การส่งออกก็ยังขยายตัวในระดับสูงถึง 11.6% (รวม 5 เดือน) สอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันของไทยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าทั้งปีน่าจะมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวเกินเป้าหมายร้อยละ 8 โดยมีสินค้าสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อน อาทิ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ขยายตัวได้ดี รวมทั้งสินค้าเกษตรสำคัญก็มีแนวโน้มปรับตัวที่ดีตามลำดับ ทั้งจากความต้องการและราคาที่ยังขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายของแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับลด TIP Report ลงมาเป็น Tier 2 ในขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวและเอื้อต่อการผลิตและสนับสนุนการบริโภคในประเทศ โดย 5 เดือนขยายตัว 16.6% โดยรวมแล้วการค้าระหว่างประเทศยังเกินดุลในระดับที่ดี

Price Stability พบว่าเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับแบบค่อยเป็นค่อยไป (ล่าสุด มิ.ย. 1.38%, 6M 0.97%) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี (สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดต่างๆด้านอุปสงค์) ในขณะที่ต้นทุนสินค้าและบริการยังอยู่ในระดับปกติซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆแล้วเงินเฟ้อของไทยถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมามีลักษณะที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (ทั้งไทยและโลก) และอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน แม้ที่ผ่านมายังแข็งค่าโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับปีก่อน ( 6 เดือนแข็งค่าร้อยละ 8.6) แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีก็น่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ (32-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ)

เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีจะยังคงมี Momentum ต่อเนื่อง ทั้งในด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพราคา ซึ่งจะส่งผ่านให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังขยายตัวต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้ตามการคาดการณ์

People unity news online : post 4 กรกฎาคม 2561 เวลา 12.40 น.

“มนัญญา”ตรวจด่านเชียงแสน พบสารเคมีผักผลไม้ 14 ชนิด

People Unity News : “มนัญญา”ตรวจด่านเชียงแสน พบสารเคมีผักผลไม้ 14 ชนิด กรมวิชาการเกษตรจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์ให้มีศักยภาพ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจด่านตรวจพืชของเชียงแสน กรมวิชาการเกษตร ที่ท่าเรือห้าเชียงและท่าเรือเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยไม่แจ้งหน่วยงานในพื้นที่ล่วงหน้าและเข้าสังเกตการณ์ห้องปฏิบัติการตรวจหาสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ที่นำเข้าจากจีนและและเมียนมา พบกลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชคือ ออการ์โนฟอสเฟตหรือคลอร์ไพรีฟอส ออการ์โนคลอรีน และไพรีทรอยด์

สำหรับด่านตรวจพืชแห่งนี้สุ่มตัวอย่าง 1,500 ตัวอย่างต่อปี เพื่อตรวจสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรนำเข้า โดยกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง เมื่อด่านตรวจพืชพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน แต่ไม่มีอำนาจกักกัน ต้องแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีอำนาจกักสินค้านำเข้าเพื่อการบริโภค ซึ่งจะหารือกับนายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อร่วมมือกันตรวจอย่างเข้มงวดและกักกันไม่ให้สินค้าที่มีสารตกค้างเกินกว่าที่กำหนดนำเข้าได้

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์ขึ้นด่านเชียงของให้มีศักยภาพตรวจหาสารเคมีได้ 100 กว่าชนิด ส่วน อย. จะกักกันผักผลไม้ที่มีค่าเกินมาตรฐานเพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่เกษตรกรไทย จากการที่ผักผลไม้ต่างประเทศเข้ามาตีตลาดปีละหลายแสนตัน จากด่านเชียงของ ผักผลไม้เหล่านี้จะส่งไปยังตลาดไท แล้วกระจายไปยังตลาดทั่วประเทศ

สำหรับสถิติการสุ่มตรวจสินค้าจากจีนและเมียนมา 1,500 ตัวอย่างในปีนี้ พบผักผลไม้ 14 ชนิดมีสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐาน ได้แก่ ไดโครโตฟอส เมทามิโดฟอส และเมวินฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อยู่ในกลุ่มออการ์โนฟอสเฟต ตรวจพบในพริก พริกหยวก และส้มจากเมียนมา นอกจากนี้ยังพบในคื่นช่าย ซาลารี กะหล่ำปลีม่วง พริกบล็อคเคอรี่ แรดิชที่นำเข้าจากจีน สำหรับสินค้าเกษตรที่พบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างมากที่สุดคือ ส้ม ซึ่งตรวจพบทุกตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

“วีรศักดิ์”ปลุกร้านเสริมสวยรายย่อยคึกคักปลายปี

People Unity News : “วีรศักดิ์”ปลุกร้านเสริมสวยรายย่อยคึกคักปลายปี เปิดตัวโครงการเพิ่มศักยภาพการบริหารธุรกิจเสริมสวยอย่างมืออาชีพ หวังเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจร้าน เสริมสวยรายย่อย สามารถยืนหยัดในธุรกิจบริการไทยได้อย่างเข้มแข็ง

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2562 กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสมาคมวิชาชีพช่างผมไทย เปิดอบรมธุรกิจและบุคคลในวิชาชีพเสริมความงาม ดึงกูรูช่างผมชื่อดังของเมืองไทยร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการสร้างธุรกิจให้เป็นมืออาชีพ พร้อมการันตีเรียนจบกลับไปพัฒนาธุรกิจบิวตี้ในชุมชน ให้แข่งขันกันเติบโตได้แน่ คาดกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นธุรกิจบริการเสริมสวยให้กลับมาคึกคักสร้างเม็ดเงินสะพัดได้ในช่วงปลายปี

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรพิเศษ “การบริหารธุรกิจเสริมสวยอย่างมืออาชีพ” ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่ากิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายการเร่งรัดพัฒนาธุรกิจบริการไทยให้เข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยในวันนี้ได้จัดการอบรมร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสมาคมวิชาชีพช่างผมไทย สำหรับหลักสูตรนี้ได้แบ่งการอบรมเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 เป็นเจ้าของธุรกิจเสริมสวยมาที่เปิดกิจการแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือต้องการขยายสาขา อบรมระหว่างวันที่ 13, 20-21 พฤศจิกายน 2562 และรุ่นที่ 2 สำหรับช่างและนักศึกษาที่กำลังศึกษาหลักสูตรช่างทำผม แต่งหน้า ทำเล็บ และเสริมความงาม อบรมระหว่างวันที่ 13, 27-28 พฤศจิกายน 2562

รมช.พณ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมในวันนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม การบริหารธุรกิจร้านเสริมสวย และช่างทำผมมืออาชีพชื่อดังของเมืองไทย อาทิ ดร.สมศักดิ์ ชลาชล นายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย, คุณไกรวิทย์ พุ่มสุโข ผู้บริหาร Sukho Salon, คุณสมเพชร ศรีชัยโย ผู้อำนวยการสถาบัน Anthony Hair, คุณวรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาเรื่องเสริมสวยมืออาชีพ บทเรียนสำหรับประกอบการยุคใหม่, เทรนด์ผมสมัยใหม่ มืออาชีพต้องตามทัน, และเทคนิคการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จเคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับช่างเสริมสวยมืออาชีพ อีกทั้ง กระทรวงฯยังได้ขอความร่วมมือจากผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับธุรกิจทำผมชั้นนำเพื่อมาจำหน่ายในราคาพิเศษ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านวัตถุดิบหลักที่ใช้ให้บริการและสร้างรายได้เสริมแก่ธุรกิจที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

“มากไปกว่านั้น ธุรกิจที่ผ่านการอบรมจะสามารถนำความรู้กลับไปปิดจุดอ่อน (Pain Point) ร้านเสริมสวยของตนเอง ด้วยการใช้เทคนิคด้านการตลาดมาช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน การเลือกทำเลทอง ในการลงทุน การครองใจลูกค้าให้กลับมาใช้บริการซ้ำและการซื้อใจพนักงานให้เต็มใจในงานบริการ การปักหมุดร้านให้เป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ การบริหารเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปรับภาพลักษณ์ร้านเสริมสวยให้น่ามอง”

“ร้านเสริมสวยเป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีเสน่ห์ในการเข้าถึงคนในชุมชนได้ทุกเพศทุกวัย หากพิจารณาให้ดีจะถือว่าเป็นธุรกิจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น แม้ธุรกิจนี้จะมีจำนวนมากเพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน งบลงทุนไม่มากส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง แต่ถ้าสามารถพัฒนาตนเองเข้าสู่มาตรฐานวิชาชีพได้ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถแยกความแตกต่างระหว่างร้านเสริมสวยทั่วไปกับร้านที่มีความเป็นมืออาชีพได้ ซึ่งแน่นอนลูกค้าจะต้องเลือกเข้าร้านที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า อีกทั้งถ้าธุรกิจสามารถรวมกลุ่มกันภายใต้วิชาชีพเดียวกันได้ ก็จะเพิ่มความสามารถในการพัฒนาวิชาชีพและเพิ่มอำนาจการต่อรองทางธุรกิจได้ ช่วยประหยัดต้นทุนในการบริหารธุรกิจได้อีกทาง” รมช.พณ. กล่าวในท้ายที่สุด

จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2559 พบว่า มีธุรกิจเสริมสวยที่จัดตั้งในอยู่ในประเทศไทย จำนวน 121,296 ราย และมีมูลค่าทางการตลาดรวมกันทั้งประเทศกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ข้อมูลจากของกรมการจัดหางาน ยังพบว่า อัตราการเติบโตของธุรกิจเสริมสวยในประเทศไทยระหว่างปี 2558-2562 อยู่ที่ร้อยละ 3.4

“พิพัฒน์” บรรเจิดไอเดียเตรียมแผน travel bubble เสนอ ศบค. 17 มิ.ย.นี้ฟื้นท่องเที่ยวไทย

People Unity News : 4 กระทรวง เตรียมแผน travel bubble เสนอ ศบค. 17 มิ.ย. “พิพัฒน์” มั่นใจไทยมีศักยภาพท่องเที่ยว-สาธารณสุข

14 มิ.ย. 2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา มั่นใจในศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ของไทย จึงได้ผลักดัน travel bubble หรือ การจับคู่ประเทศ เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีเท่าๆกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีด้านการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ทั่วโลกกำลังหันมาสนใจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายๆประเทศเริ่มดีขึ้น โดยล่าสุดที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นของการหารือระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาข้อสรุปในแนวทางการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการเจรจากับประเทศกลุ่มเป้าหมาย ข้อปฏิบัติต่างๆ รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาด ก่อนเสนอ ศบค. พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย.นี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า อย่างที่ทราบว่าเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงหวังให้ travel bubble เป็นจุดเริ่มต้นในการรองรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทย โดยไทยมีจุดแข็งในการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ระยะแรกจะเปิดรับกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มที่ต้องการเข้ามารักษาพยาบาลในไทย คาดว่าจะชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณวันละ 1,000 คน ซึ่งเมื่อดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง แล้วพบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ก็จะพิจารณาให้นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆเข้ามาตามลำดับ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแนวทาง travel bubble จะไม่มีการกักตัว 14 วัน แต่มีมาตรการอื่นรองรับ เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย โดยเริ่มจากการเลือกประเทศกลุ่มเป้าหมายที่มีความปลอดภัย สามารถควบคุมโรคได้ดี ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทางและตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางถึงไทย อาจกำหนดพื้นที่ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปได้ มีการติดตามตัวผ่านแอพพลิเคชันตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย ฯลฯ ที่สำคัญชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทยนั้น ล้วนมาจากประเทศที่มีความสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ดีเท่าๆกัน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง แม้เจอสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็สามารถรับมือได้เป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าด้วยศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและความสามารถด้านสาธารณสุขของไทย จะกระตุ้นให้ชาวต่างชาติมองเป็นจุดแข็งของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น และการท่องเที่ยวจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกเริ่มดีขึ้น

Advertising

“อุตตม”ร่ายมนต์! ความเชื่อมั่นต้องเกิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

People Unity News : “อุตตม”ร่ายมนต์! ความเชื่อมั่นต้องเกิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังร่วมงานฉลองครบรอบ 20 ปี การดำเนินกิจการในประเทศไทยของธนาคารยูโอบี

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความว่า ความเชื่อมั่นต้องเกิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วันก่อน ผมได้ไปร่วมงานฉลองครบรอบ 20 ปี การดำเนินกิจการในประเทศไทย ของธนาคารยูโอบี ซึ่งธนาคารแห่งนี้มีรากฐานจากประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นธนาคารต่างประเทศ ที่ยืนหยัดเติบโตอยู่คู่กับระบบเศรษฐกิจไทยมายาวนานพอสมควร

ผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารธนาคารยูโอบี โดยได้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย แม้เรากำลังเผชิญกับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส

นอกจากนี้ การรวมตัวกันของชาติอาเซียน ก็ยังทำให้ภูมิภาคนี้มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2573 อาเซียนจะมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก

ทั้งนี้ขอเรียนว่า วันนี้ประเทศไทยมุ่งมั่นในความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอาเซียนในทุกๆด้าน ทั้งระดับนโยบาย ระดับนักลงทุน หรือกลุ่มธุรกิจต่างๆ ขณะเดียวกันเราก็เร่งสร้างความแข็งแกร่งในประเทศตัวเอง ซึ่งวันนี้ผมมั่นใจว่าเราจะผ่านพ้นสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไปได้

หากพูดถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ผมเพิ่งได้รับรายงาน ว่า ณ เดือน ต.ค. 62 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 241,822 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,946 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีก่อน 45,431 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.1

ขณะที่ฐานะการคลัง ตามระบบกระแสเงินสดเดือน ต.ค. 62 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 นั้น หน่วยงานด้านจัดหารายได้ มีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 255,924 ล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 368,209 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนต.ค.62 มีจำนวนทั้งสิ้น 385,292 ล้านบาท

ด้วยสถานะเงินคงคลังในขณะนี้ ผนวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงท้ายของปี ทำให้ผมมั่นใจว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้อย่างแน่นอนและความเชื่อมั่น คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่วางไว้

“มนัญญา”ลุยเอง! ตามติดโรคไหม้คอรวงข้าวระบาดสุรินทร์

People Unity : “มนัญญา” ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ พร้อมเตรียมมาตรการช่วยเหลือ และลงพื้นที่ให้กำลังใจเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

วันที่ 28 ต.ค.2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ณ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ว่า จากการรายงานสถานการณ์การระบาดศัตรูข้าวของกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา พบการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวใน 7 จังหวัด ได้แก่ ลําพูน แพร่ จันทบุรี มุกดาหาร มหาสารคาม สุรินทร์ และสงขลา รวม 7,442 ไร่ และพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลใน 6 จังหวัด ได้แก่ ลําปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร อ่างทอง และสุพรรณบุรี รวม 18,141 ไร่ นอกจากนี้ กรมการข้าวยังได้รับรายงานการระบาดของโรคไหม้ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จํานวน 77,777 ไร่ และการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดลําปางด้วยเช่นกัน กระทรวงเกษตรแชะสหกรณ์ โดยกรมการข้าวจึงมีการแจ้งเตือนภัยการระบาดของศัตรูข้าวทั้ง 2 ชนิด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก

สำหรับในปีการผลิต 2562/63 จังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ปลูกข้าว 3.025 ล้านไร่ รายงานพบการระบาดโรคไหม้คอรวงข้าวครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ซึ่งในช่วงเวลาเพียง 10 วัน (ช่วงวันที่ 18 – 28 ตุลาคม 2562) มีการระบาดอย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 17 อำเภอ 140 ตำบล 1,331 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัย 49,204 ราย รวมพื้นที่การระบาดทั้งสิ้น 283,454.75 ไร่ มีสาเหตุสำคัญเกิดจาก 1. เกษตรกรมีการใช้เมล็ดพันธุ์ในการหว่านข้าวในอัตราที่สูงเกินไป (30 – 50 กิโลกรัม/ไร่) 2. ข้าวหอมมะลิ (พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15) เป็นพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวงข้าว 3. มีการใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่สูง โดยเฉพาะปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง ส่งผลให้พืชอ่อนแอต่อการเกิดโรค และ 4. สภาพอากาศเหมาะสมต่อการเกิดโรคไหม้ข้าว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์และสำนักงานเกษตรอำเภอได้เฝ้าระวัง แบ่งเป็น ก่อนเกิดการระบาด โดยมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนเป็นศูนย์เฝ้าระวังการระบาดศัตรูพืชในพื้นที่และรายงานข้อมูลให้หน่วยงานราชการ พร้อมประชาสัมพันธ์เตือนการระบาด และระหว่างเกิดการระบาด ได้สร้างการรับรู้การจัดการโรคไหม้คอรวงข้าวให้กับเกษตรกร 17 อำเภอ 26,124 ราย ลงพื้นที่สำรวจแปลง สนับสนุนเชื้อราไตรโครเดอร์มาเบื้องต้น เพื่อควบคุมโรค 10,341 กิโลกรัม สามารถฉีดพ่นได้ 31,023 ไร่ ทั้งนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (โรคไหม้คอรวงข้าว) เพื่อเตรียมการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ พ.ศ. 2562 ต่อไป

Verified by ExactMetrics