วันที่ 28 มีนาคม 2024

“ประวิตร” ควง “อดุลย์” ส่งมอบบ้านให้ประชาชนโครงการ “ปทุมธานีโมเดล”

People unity news online : พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พร้อมด้วย รมว.พม. ลงพื้นที่ชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคี ส่งมอบบ้านให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ “ปทุมธานีโมเดล” จำนวน 98 ครัวเรือน เพื่อแก้ปัญหาชุมชนบุกรุกคลองและป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

วันนี้ (28 กันยายน 2560) เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) และคณะผู้บริหารกระทรวง พม. ลงพื้นที่ชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคี ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อทำพิธีส่งมอบบ้านให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ “ปทุมธานีโมเดล” จำนวน 98 ครัวเรือน เพื่อแก้ปัญหาชุมชนบุกรุกคลองและป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยมี นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายสมชาติ ภาระสุวรรณ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ โดยมีผู้ร่วมงานประมาณ 300 คน ณ ชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคี ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาประชาชนปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำน้ำสาธารณะในจังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะที่บริเวณคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีชาวบ้านปลูกบ้านเรือนรุกล้ำลำคลองและกีดขวางทางเดินน้ำมานานหลายสิบปี เป็นจำนวน 16 ชุมชน รวม 1,084 ครัวเรือน ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากพื้นที่ริมคลอง โดยการจัดหาที่ดินและสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ชุมชนแก้วนิมิต (ชื่อเดิม) หรือชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคี เป็นชุมชนแรกที่ชาวชุมชนได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ ด้วยการออมเงินร่วมกันเป็นรายเดือน เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 5 ไร่ โดยชาวชุมชนได้ร่วมกับสถาปนิกชุมชน ร่วมกันออกแบบบ้าน และบริหารโครงการเอง จนขณะนี้ การก่อสร้างบ้านใหม่จำนวน 98 หลังคาเรือน เสร็จสมบูรณ์ ทำให้ชาวชุมชนมีบ้านใหม่ที่มั่นคง สวยงาม และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งที่ดินใหม่แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากที่เดิมเพียง 5 กิโลเมตร นอกจากนี้ กระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้การสนับสนุนชาวชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในระยะยาวต่อไป

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดย พอช. ได้ดำเนินการสนับสนุนให้ชาวชุมชนรวมกลุ่มกัน เพื่อบริหารจัดการซื้อที่ดินและที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่ง พอช. ได้สนับสนุนงบประมาณการสร้างบ้านใหม่ แบ่งออกเป็น 1) งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค 5 ล้านบาท 2) งบอุดหนุนที่อยู่อาศัย 2.5 ล้านบาท 3) งบบริหารจัดการ 125,000 บาท และ 4) สินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัยรวม 32.4 ล้านบาทเศษ กำหนดระยะผ่อนชำระคืน 15 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี เมื่อผ่อนส่งหมด จะเป็นกรรมสิทธิ์ให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยต่อไป สำหรับแบบบ้าน มีทั้งสิ้น 3 แบบ คือ 1) บ้านแฝดสองชั้น ขนาด 56 ตารางเมตร 2) บ้านแฝดสองชั้น ขนาด 63 ตารางเมตร และ 3) บ้านแฝดสองชั้น ขนาด 77 ตารางเมตร โดยมีราคาก่อสร้างพร้อมที่ดิน ต่อหลังประมาณ 272,000 – 295,000 บาท กำหนดระยะเวลาผ่อนส่ง 15 ปี ด้วนอัตราผ่อนส่งเดือนละ 2,500-3,000 บาท

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า หลังจากที่ชาวชุมชนเข้าอยู่อาศัยในชุมชนใหม่แล้ว ทางจังหวัดปทุมธานี จะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรื้อถอนบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอยู่ริมคลอง เพื่อไม่ให้กีดขวางทางระบายน้ำ รวมทั้งขุดลอกคลอง พร้อมกำจัดขยะและผักตบชวา เพื่อให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก เป็นการป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมา จังหวัดปทุมธานี ได้จัดทำโครงการ “บ้านประชารัฐร่วมใจ เดินหน้าคืนคลองน้ำใสให้แผ่นดิน” โดยได้รื้อบ้านออกจากริมคลองหนึ่งไปแล้วกว่า 100 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 13 ชุมชน รวม 922 ครัวเรือน ส่วนที่เหลือจะทยอยดำเนินการต่อไป สำหรับประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนบุกรุกพื้นที่ริมคลองและยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ทางจังหวัดจะชี้แจงและเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคงและถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการสร้างบ้านใหม่ที่ชุมชนบ้านประชารัฐไทยมุสลิมสามัคคีแล้ว กระทรวง พม. โดย พอช. ยังไห้การสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่บนที่ดินราชพัสดุเนื้อที่ 30 ไร่ บริเวณคลองเชียงรากใหญ่ (ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต) ซึ่งเดิมที่ดินแปลงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินราชพัสดุ (กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดูแล) เพื่อใช้สร้างที่อยู่อาศัยรองรับชาวบ้านที่ต้องรื้อย้ายออกจากพื้นที่ริมคลองหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างก่อสร้างเฟสแรก 1 อาคาร จำนวน 23 ครัวเรือน ในรูปแบบเป็นอาคารสูง 3 ชั้น รวมทั้งหมด 12 อาคาร สามารถรองรับชาวบ้านได้รวม 463 ครัวเรือน

People unity news online : post 28 กันยายน 2560 เวลา 20.30 น.

2 กระทรวงจับมือสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยผ่านทางแอพ “คนไทยมีบ้าน : Home for All”

People unity news online : 16 พฤษภาคม 2560 กระทรวงการคลัง โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยผ่านแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน : Home for All” รวมทั้งเว็บไซต์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้แล้วตั้งแต่วันนี้ (16 พฤษภาคม 2560) เป็นต้นไป หวังนำผลสำรวจไปจัดทำฐานข้อมูลในการวางแผนพัฒนาปริมาณที่อยู่อาศัยใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน พร้อมเตรียมแคมเปญสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยพิเศษมอบให้ผู้ที่ร่วมตอบแบบสำรวจ

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งในการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชนให้มีที่อยู่อาศัย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเพื่อเป็นการนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยของประเทศ จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาวโดยบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานกับภาคีทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 : Smart Housing” ซึ่งการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงการคลัง โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยการเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดทำ “โครงการแอพพลิเคชั่นคนไทยมีบ้าน : Home for All” เพื่อสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน : Home for All” ที่ App Store (ระบบปฏิบัติการ iOS) และ Play Store (ระบบปฏิบัติการ Android) เพื่อกรอกแบบสำรวจผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ท หรือกรอกแบบสำรวจผ่านระบบอินเตอร์เน็ทบนคอมพิวเตอร์ได้ที่เว็บไซต์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ www.ghbank.co.th และเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ www.reic.or.th ขณะเดียวกัน การเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งมีพันธกิจเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือและส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัย จะนำผลสำรวจที่ได้ไปจัดทำเป็นฐานข้อมูลในการศึกษาวิเคราะห์ วางแผนในการพัฒนาปริมาณที่อยู่อาศัยใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในแต่ละกลุ่ม มีความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ช่วยให้คนไทยได้มีบ้านอย่างทั่วถึงต่อไป

ด้าน นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานดำเนินการสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างเป็นรูปธรรมจากประชาชนทั่วประเทศผ่านแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน : Home for All” ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่น และความพยายามของรัฐบาลในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนทุกกลุ่มในสังคมอย่างเท่าเทียม โดย ธอส.เป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นรวมทั้งดำเนินการด้านเทคนิคเพื่อให้สามารถใช้แอพพลิเคชั่นสำรวจและจัดเก็บข้อมูล จากนั้นศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์จะสรุปภาพรวมรายงานต่อกระทรวงการคลัง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นรายสัปดาห์ และรายเดือน พร้อมนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับข้อมูลด้านอุปทานที่มีอยู่ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำผลเข้าเสนอต่อคณะกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และนำไปจัดทำเป็นข้อเสนอในการจัดหาอุปทานที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามแนวทางประชารัฐได้อย่างสมบูรณ์อีกทางหนึ่งด้วย

ขณะที่ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า เมื่อประชาชนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน : Home for All” แล้วจะสามารถเข้าไปตอบแบบสำรวจผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ทได้ทันที ซึ่งผู้ที่ตอบแบบสำรวจจะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล อายุ อาชีพ รายได้ต่อเดือน วงเงินสินเชื่อที่ต้องการ ความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อ วัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ ช่วงเวลา(ปี)ที่ต้องการมีบ้าน รวมถึงทำเลที่อยู่อาศัยที่ต้องการ และเมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนจะได้รับรหัส หรือ QR Code สำหรับนำมาติดต่อกับธนาคารเพื่อขอรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสม สิทธิพิเศษเพื่อการมีบ้านในอนาคต หรือคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ธอส. ยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการวางแผนทางการเงินและพัฒนานวัตกรรมด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดและกรอกแบบสำรวจในแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน : Home for All” รวมถึงที่เว็บไซต์  www.ghbank.co.th และ www.reic.or.th ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ (16 พฤษภาคม 2560) เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

People unity news online : post 16 พฤษภาคม 2560 เวลา 21.23 น.

อันตราย! สธ.เตือนคนไทยเผชิญภาวะ “กินเค็ม-เสี่ยงโรค” แนะ 8 วิธีลดเกลือในอาหาร

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2561 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่ให้ความเค็มหรือเกลือโซเดียมมีอยู่ในเกลือหรือน้ำปลาเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องปรุงรส เช่น ซีอิ๊ว ซอส ผงปรุงรส ผงชูรส รวมไปถึงอาหารกึ่งสำเร็จรูปต่างๆ เช่น บะหมี่-โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ขนมกรุบกรอบ ล้วนมีสารให้ความเค็ม (เกลือโซเดียม) เป็นส่วนประกอบ ล่าสุดพบคนไทยบริโภคเกลือโซเดียมเฉลี่ย 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวันหรือกว่า 2 ช้อนชา เกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกคือ 2,000 มิลลิกรัมหรือ 1 ช้อนชาต่อวัน โดยการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคไตเรื้อรัง  โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโรคดังกล่าวป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดหวาน มัน เค็ม

ในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้นำร่อง  “ชุมชนลดเค็ม ลดโรคต้นแบบ”  ใน 3 ตำบล  ได้แก่  ตำบลกุมภวาปี  อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เพื่อลดปริมาณเกลือในอาหารลงร้อยละ 20 ลดระดับความดันโลหิตตัวบนลง 10 และตัวล่าง 5 มิลลิเมตรปรอท โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคเกลือ สร้างค่านิยมกินจืดยืดชีวิต มีการใช้เครื่องวัดความเค็ม หรือ Salt meter เพื่อแสดงให้เห็นปริมาณเกลือในอาหาร และมีการปรับสูตรลดความเค็มของอาหาร พร้อมขยายผลทั่วประเทศต่อไป พร้อมแนะนำ 8 วิธีในการลดปริมาณเกลือที่บริโภค ได้แก่ 1.ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง 2.ลดการเติมเครื่องปรุงรส ไม่ควรมีขวดน้ำปลา ซีอิ้ว ซอส เกลือ บนโต๊ะอาหาร 3.ลดการกินอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน  ผัก–ผลไม้ดอง ปลาเค็ม ไข่เค็ม เต้าหู้ยี้ 4.ลดการกินอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และไม่ใส่เครื่องปรุงหมดซอง 5.ลดความถี่และปริมาณน้ำจิ้มของการกินอาหารที่มีน้ำจิ้ม 6.หลีกเลี่ยงอาหารจานด่วน 7.ลดการกินขนมกรุบกรอบ และ 8.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากระบุโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

People unity news online : post 2 เมษายน 2561 เวลา 08.20 น.

รัฐบาลยืนยันไม่ยกเลิกโครงการอาหารกลางวัน ร.ร.ประถม และจะปรับปรุงให้ดีขึ้น

People Unity : รัฐบาลยืนยันไม่มีคำสั่งยกเลิกโครงการอาหารกลางวัน ร.ร.ประถม สั่งทุกหน่วยเร่งชี้แจงประชาชน

12 มิถุนายน 2562 – พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข่าวรัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ มีผลนับตั้งแต่ 30 มิ.ย. เป็นต้นไป ว่า รัฐบาลขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่าทุกอย่างยังคงดำเนินการตามปกติ เพราะเป็นโครงการที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องมี ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยตั้งใจจะปรับปรุงโครงการอาหารกลางวันและโครงการนมโรงเรียนให้ดีขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการเด็กให้เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง

“นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อไม่ให้หลงเชื่อข่าวโคมลอย พร้อมทั้งได้รับรายงานจากกระทรวงศึกษาธิการด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทั่วประเทศส่งเสริมและสร้างเครือข่าย เพื่อสนับสนุนอาหารเช้าให้กับนักเรียนที่ขาดแคลน หรือนักเรียนที่ไม่ได้กินอาหารเช้ามา เพื่อให้ทุกคนเรียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย”

สังคม : รัฐบาลยืนยันไม่ยกเลิกโครงการอาหารกลางวัน ร.ร.ประถม และจะปรับปรุงให้ดีขึ้น

People Unity : post 13 มิถุนายน 2562 เวลา 09.50 น.

เผยรายละเอียดมติ ครม. โครงการบ้านฅนไทย เพื่อผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

People unity news online : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการบ้านฅนไทย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองบนที่ดินราชพัสดุ

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2561 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งที่ประชุม ครม. ได้มีการพิจารณา “โครงการบ้านฅนไทย” โดยมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

  1. กรอบการดำเนินโครงการบ้านฅนไทย
  2. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน แยกบัญชีโครงการบ้านฅนไทย เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) โดยไม่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาลและขอนำผลกระทบรายได้และค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการบ้านฅนไทยมาปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ และขอไม่นับรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) ที่เกิดจากการดำเนินโครงการฯ เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน (กรณี % NPLs ที่เกิดขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ย NPLs  ของธนาคารในภาพรวม) และขอนำผลกระทบต่อรายได้และค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการบวกกลับกำไรสุทธิเพื่อการคำนวณโบนัสพนักงาน (การคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายของธนาคาร คือ ต้นทุนเงินฝากบวก 0.25% (เงินนำส่งกองทุนฯ) บวกต้นทุนดำเนินงาน)

สาระสำคัญของเรื่อง

โครงการบ้านประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุระยะที่ 2 (บ้านฅนไทย)

กระทรวงการคลังได้สำรวจที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศเพื่อนำมารองรับการดำเนินโครงการ “บ้านฅนไทย” โดยในเบื้องต้น กระทรวงการคลังได้คัดเลือกที่ดินราชพัสดุที่มีความเหมาะสม และไม่เป็นที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน จำนวน 8 แปลง ครอบคลุม 4 ภาค เพื่อนำมาดำเนินโครงการฯ  โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองบนที่ดินราชพัสดุ

ประเภทที่อยู่อาศัย : กระทรวงการคลังได้กำหนดรูปแบบการก่อสร้างโครงการบ้านฅนไทยเป็นประเภทที่อยู่อาศัย 3 รูปแบบ ประกอบด้วย (1) บ้านแฝด พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร (2) บ้านแถว พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร  และ (3) อาคารชุดพักอาศัย พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตร ในระดับราคา 350,000 – 700,000 บาทต่อหน่วย

กลุ่มเป้าหมาย : 1) ประชาชนที่อยู่ในทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐกับกระทรวงการคลัง 2) ประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคนต่อเดือน 3) ประชาชนทั่วไป (ธนาคารไม่ต้องสนับสนุนดอกเบี้ย) โดยพิจารณากลุ่มเป้าหมายลำดับที่ 1 ก่อน เมื่อ Supply เหลือจึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ 2 และ 3 ตามลำดับต่อไป

คุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ : ผู้มีสัญชาติไทย

มาตรการสินเชื่อ : กรอบวงเงินโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท

(1) สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย  (Pre Finance) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ร้อยละ 3 ต่อไป หลังจากนั้น MLR – ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 5 ปี  เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการและหรือบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด  ที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ

(2) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1 ถึงปีที่ 4      ร้อยละ 2.75 ต่อปี หลังจากนั้น กรณีรายย่อย MRR – ร้อยละ 0.75 ต่อปี หรือกรณีสวัสดิการหักเงินเดือน MRR – ร้อยละ1.00 ต่อปี ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี และผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio : DSR) หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (Debt to Income Ratio : DTI) ตามที่ธนาคารกำหนด โดยมีวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุในระดับราคา 350,000-700,000 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้  ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสินพิจารณาขยายวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม

รูปแบบ : โครงการการผ่อนชำระสู่การเช่าระยะยาว (Rent to Lease) กรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเป็นของผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัย และผู้ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) พื้นที่โครงการ ที่ราชพัสดุครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ

2) ราคาที่อยู่อาศัยในระดับราคา 350,000 – 700,000 บาท ต่อหน่วย

3) บ้านแฝด/บ้านแถว/อาคารชุดพักอาศัยมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตารางเมตรต่อหน่วย

4) กำหนดให้มีการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางไม่เกินร้อยละ 30 ของพื้นที่โครงการฯ เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น  และ/หรือเป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ

5) การคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการจะพิจารณาผู้ที่เสนอเงื่อนไขที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการมากที่สุด

ทั้งนี้  การดำเนินโครงการในแต่ละพื้นที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมพัฒนาโครงการฯ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และจัดทำแผนบริหารโครงการฯตลอดอายุโครงการ  ส่วนกระทรวงการคลังจะพิจารณาผ่อนปรนอัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขต่างๆในการดำเนินโครงการ “บ้านฅนไทย” โดยพิจารณาความเป็นไปได้ภายใต้หลักกฎหมายและระเบียบกระทรวงการคลังที่กำหนด

People unity news online : post 5 มกราคม 2561 เวลา 10.40 น.

 

“บิ๊กอู๋” เอาจริง! จับแน่ ต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย จำคุก 5 ปีปรับสูงสุด 1 แสนบาท

People unity news online : รมว.แรงงาน สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบกิจการกลุ่มเสี่ยงที่จะมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวฝ่าฝืนกฎหมาย แรงงานต่างด้าวที่ทำอาชีพสงวนสำหรับคนไทยและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 – 100,000 บาท และส่งกลับ

วันนี้ (19 มกราคม 2561) นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (ศปก.รง.) ว่า จากกรณีที่ปัจจุบันสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม อินเดีย จีน และลาว ซึ่งจะเข้ามาประกอบอาชีพในลักษณะเป็นเจ้าของร้านขายอาหาร เจ้าของร้านในตลาดสด เจ้าของร้านในตลาดนัด โดยการจ้างคนไทยให้ทำสัญญาการเช่าหรือการจ้างเป็นนายจ้างและแรงงานต่างด้าว จะดำเนินกิจการเองทั้งหมด ตั้งแต่ซื้อและจำหน่าย โดยเริ่มจากการเป็นลูกจ้างเมื่อมีทุนจะดำเนินการเซ้งร้าน เซ้งแผงขายของ แต่ยังคงถือใบอนุญาตทำงานโดยมีคนไทยสมยอม รับเป็นนายจ้างให้ และพบว่าแรงงานต่างด้าวสัญชาติจีนและเวียดนามส่วนใหญ่ลักลอบทำงานในร้านอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยว การเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ และการให้บริการบีบนวดตามห้องน้ำ แรงงานต่างด้าวสัญชาติอินเดียส่วนใหญ่ลักลอบทำงานประเภทเร่ขายของทั่วไป ขายผลไม้ ขายถั่ว ขายโรตี ซึ่งการลักลอบทำงานดังกล่าวเป็นงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 นั้น

ในเรื่องนี้ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ กรมการจัดหางาน ร่วมบูรณาการกับกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบนายจ้างสถานประกอบการและแรงงานต่างด้าว โดยลงพื้นที่ตรวจสอบในกิจการที่มีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่มาทำอาชีพสงวนสำหรับคนไทยและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 8 มีอัตราโทษตาม ม.101 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 – 100,000 บาท แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และได้ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย จำนวน 1,609 คน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 738 คน และภูมิภาค 871 คน โดยดำเนินคดีกับแรงงานสัญชาติเมียนมามากที่สุด จำนวน 600 คน รองลงมาคือ สัญชาติกัมพูชา 430 คน สัญชาติอื่นๆอีก 344 คน และสัญชาติลาว 235 คน  ส่วนใหญ่กระทำความผิดจากการประกอบอาชีพค้าขาย หาบเร่ แผงลอย ทั้งนี้ งานที่ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา สามารถทำงานได้ 2 ประเภท คือ งานกรรมกร และงานบ้าน ส่วนงานขายของหน้าร้านหรือการเป็นเจ้าของกิจการยังคงเป็นอาชีพที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ ตามที่กำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามแรงงานต่างด้าวทำ บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ.2522 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง การกำหนดอาชีพห้ามสำหรับคนต่างด้าว และยังไม่ได้ข้อสรุปว่า งานขายของหน้าร้านจะเป็นงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้หรือไม่

หากพบแรงงานต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของแรงงานต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1506 กด 2 หรือร้องเรียนได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หมายเลขโทรศัพท์ 0 2354 1386 หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ 10 พื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือหากพบคนไทยที่เป็นนอมินีให้แรงงานต่างด้าวเปิดกิจการที่เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลข 1570 Call Center กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

People unity news online : post 19 มกราคม 2561 เวลา 21.00 น.

ข่าวดี ..เปิดแล้วศูนย์ Job Ready Center 11 แห่งทั่วประเทศ ช่วยผู้จบ ป.ตรีมีงานทำครบวงจร

People unity news online : รองนายกรัฐมนตรีเปิดศูนย์ ที่นี่มีงานทำ Job Ready Center  ช่วยเหลือผู้จบปริญญาตรีให้มีงานทำ บริการให้คำปรึกษา พัฒนาทักษะฝีมือ แนะแนวอาชีพ จับคู่ตำแหน่งงาน เริ่มเปิดดำเนินการ 11 แห่ง พร้อมกันทั่วประเทศ ตามแนวทาง “ประชารัฐ ร่วมใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ที่นี่มีงานทำ (Job Ready Center) ณ อาคารศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยกระทรวงแรงงาน  โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้กล่าวรายงาน โดย พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ด้วยการยกระดับและปฏิรูประบบราชการ ให้เป็นที่พึ่งของประชาชน กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้จัดตั้งศูนย์ที่นี่มีงานทำ (Job Ready Center) ขึ้น ภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ ร่วมใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ” โดยมีกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ยังไม่มีงานทำ เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในเบื้องต้น เพื่อส่งเสริมให้มีงานทำ มีรายได้ ตรงกับความต้องการและความสามารถของตนเอง สอดคล้องกับภารกิจหลักของกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเน้นให้คนไทยมีงานทำอย่างมีศักดิ์ศรี ด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงตำแหน่งงานว่าง โอกาสในการพัฒนาทักษะอย่างเท่าเทียม ได้รับการคุ้มครอง และมีหลักประกันเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งทรัพยากรบุคคลเหล่านี้ คือรากฐานสำคัญในการนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

พล.ต.อ. อดุลย์ กล่าวต่อว่า ศูนย์ที่นี่มีงานทำ จะให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ (19 ก.ค.61) เป็นต้นไป โดยศูนย์ดังกล่าว มีภารกิจหลัก 4 ประการ ประกอบด้วย 1. การแนะแนวงานที่เหมาะสมกับความสามารถ และความสนใจของผู้เข้ารับบริการ โดยจัดให้มีการทดสอบความพร้อม และความถนัดทางอาชีพเบื้องต้น 2. การจับคู่งาน (Matching) ระหว่างผู้ที่กำลังหางานกับนายจ้าง สถานประกอบการ โดยใช้ฐานข้อมูลของ ก.แรงงานและหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งงานในประเทศ ต่างประเทศ ผ่าน Job fair, Mobile App, Line Jobs, Job Box เป็นต้น รวมทั้งการรับงานไปทำที่บ้าน 3. การพัฒนาทักษะ ในกรณีที่ต้องการยกระดับความสามารถของตนเอง (Up skill/Re-skill) โดยได้จัดให้มีการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ทั้งในระยะสั้น 18 – 60 ชั่วโมง และระยะยาว 60 วันขึ้นไป และ 4. การให้การคุ้มครองการจ้างงาน สภาพการทำงาน สวัสดิการที่ลูกจ้างพึงได้รับ และการนำเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับชีวิต ซึ่งการดำเนินงานของศูนย์ที่นี่มีงานทำ ได้แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก คือระยะนำร่องมีการดำเนินการทั้งสิ้น จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพมหานคร และในระยะต่อไป จะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ภายในงานเปิดศูนย์ ได้มีกิจกรรม “นัดพบแรงงาน (JOBS FAIR)” เพื่อให้บริการจับคู่งาน (Matching) ระหว่างผู้ที่กำลังหางานกับนายจ้าง สถานประกอบการ โดยมีบริษัทชั้นนำกว่า 30 บริษัท มารับสมัครงานและสัมภาษณ์งาน อาทิ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.ซีพี ออลล์, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น, บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล็อปเม้นต์, บจก.โตโยต้าบัสส์, บจก.อยุธยาแคปปิตอล เซอร์วิสเซส และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยมีตำแหน่งงานว่างพร้อมบรรจุกว่า 3,000 อัตรา นอกจากนี้ ยังได้จัดบริการให้คำแนะนำ/แนะแนวอาชีพ/ทดสอบความพร้อมทางอาชีพ/ให้คำปรึกษาด้านอาชีพ/การรับงานไปทำที่บ้าน/หลักสูตรฝึกอบรม/สิทธิประโยชน์ประกันสังคม และให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน ฯลฯ

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ศูนย์ที่นี่มีงานทำ จะเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทางประชารัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา เพื่อผนึกกำลังประสานข้อมูล และบูรณาการการทำงานให้คนไทยมีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะเป็นการพัฒนากำลังคนให้พร้อมที่จะการนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามนโยบายของรัฐบาล”

ในท้ายนี้ พล.อ.ประวิตร ได้เชิญชวนผู้ที่จบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี ที่กำลังหางานทำ มาใช้บริการศูนย์ที่นี่มีงานทำ ทั้ง 11 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งมีบริการที่ครบวงจร พร้อมเน้นย้ำ รัฐบาลได้วางแนวทางการสร้างคน ให้มีคุณภาพ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศูนย์ที่นี่มีงานทำของกระทรวงแรงงาน จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว อันนำไปสู่การยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

People unity news online : post 20 กรกฎาคม 2561 เวลา 11.10 น.

สธ.เชิญชวนประชาชน บริจาคโลหิตสร้างกุศล ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์

People Unity : กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนประชาชนสร้างกุศล ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ด้วยการบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน เพิ่มปริมาณโลหิตสำรองคงคลังพร้อมดูแลใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยเลือด 1 ถุงช่วยได้ 3 ชีวิต

วันที่ 26 ตุลาคม 2562 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย รณรงค์ขอประชาชนบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง เพื่อให้มีปริมาณโลหิตสำรองคงคลังอย่างน้อย 3,000 ยูนิต/วัน เพียงพอนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินและวิกฤต หรือสถานการณ์ต่างๆ อาทิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เทศกาลต่างๆ ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ปีใหม่ สงกรานต์ ซึ่งจะมีความต้องการใช้โลหิตเพิ่มมากขึ้น โดยการบริจาคโลหิต 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 20 กว่านาที ได้เลือด 1 ถุง ประมาณ 350-450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค สามารถนำไปช่วยผู้ป่วยที่ต้องการเลือดได้ถึง 3 ชีวิต

นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า ผู้ที่สามารถบริจาคโลหิตได้จะต้องมีอายุระหว่าง 17 ถึง 70 ปีบริบูรณ์ (ผู้ที่มีอายุ 17 ปีต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง) น้ำหนักตัว 45 กิโลกรัมขึ้นไป และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอก่อนวันบริจาคโลหิต และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตราย เพราะเป็นการสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ โดยในร่างกายจะมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ แต่ใช้เพียง 15-16 แก้ว เมื่อบริจาคโลหิตออกไปไขกระดูกจะสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทนให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม แต่หากไม่บริจาคเมื่อเม็ดโลหิตอายุประมาณ 3 เดือนก็จะหมดอายุและสลายตัว ขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ อุจจาระ

นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าวต่อไปว่า ข้อมูลของสภากาชาดไทยพบว่า ปริมาณสำรองเลือดในคลังของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเนื่องจากมีผู้บริจาคลดลง จากปกติต้องได้รับโลหิตบริจาคตามเป้าหมายคือ 2,000 – 2,500 ยูนิตต่อวัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1,500 – 1,700 ยูนิตต่อวัน จึงเกิดการขาดแคลนสะสม จนทำให้ปริมาณโลหิตคงคลังลดน้อยลงจนถึงขณะนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมสร้างกุศลได้ทุกวัน หรือใช้โอกาสวันเกิด วันครบรอบโอกาสสำคัญ ร่วมบริจาคโลหิตได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ และหน่วยเคลื่อนที่รับบริจาคโลหิตทุกแห่ง ส่วนภูมิภาคบริจาคได้ที่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติในแต่ละจังหวัด

รมว.ศึกษาสั่งทุกโรงเรียนใช้เกณฑ์เดียวกันรับนักเรียนชั้นอนุบาล 1 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 นี้

People unity : นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้นโยบายใหม่การรับนักเรียนชั้นอนุบาล 1 (3 ขวบ) ปีการศึกษา 2562

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาเอกชน โดยมี นายอํานาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา, ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตลอดจนศึกษาธิการจังหวัด ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด และผู้บริหารโรงเรียนเอกชน เข้าร่วมกว่า 250 คน เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการแก้ปัญหาการรับนักเรียนชั้นอนุบาล 1 (อายุ 3 ขวบ) ปีการศึกษา 2562 ที่แต่ละหน่วยงานยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีประเด็นเปิดรับนักเรียนซ้ำซ้อนกัน ทั้งการรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ภาพรวมของเด็กอนุบาลในช่วงวัย 3 ขวบทั่วประเทศ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ 3 ใน 4 เรียนกับ อปท. ที่เหลือเรียนในโรงเรียนเอกชน ส่วนที่เข้าเรียนในโรงเรียน สพฐ. มีจำนวนน้อยมาก จึงได้มอบให้ สพฐ. ปรับเปลี่ยนการรับนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 ใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้น (Set Zero) โดยมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำรายงานการประชุมคณะกรรมการรับนักเรียนใหม่ทุกครั้ง โดยในการประชุมจะต้องมีคณะกรรมการผู้แทนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ปกครอง พร้อมกับจัดเตรียมข้อมูลจำนวนเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน เพื่อรายงานต่อ สพฐ. และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ สพฐ. แก้ไขการเรียกช่วงชั้นระดับอนุบาลใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน โดยปรับเกณฑ์การรับนักเรียนอนุบาลจากเดิมที่รับนักเรียนอนุบาล 1 (อายุ 4 ขวบ) ให้เปลี่ยนเป็น อนุบาล 2 (อายุ 4 ขวบ) เพื่อให้สอดคล้องกับโรงเรียนเอกชน และ อปท. และเน้นตัวเด็กเป็นหลัก

สังคม : รมว.ศึกษาสั่งทุกโรงเรียนใช้เกณฑ์เดียวกันรับนักเรียนชั้นอนุบาล 1 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 นี้

People unity : post 4 มีนาคม 2562 เวลา 18.40 น.

ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่จัดงานวันเด็กปี 2562 “คิดส์ดี คิดส์คุณภาพ : Quality Kids”

People unity : ธนาคารออมสินจัดกิจกรรม “วันเด็กแห่งชาติ” ประจำปี 2562 ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ภายใต้แนวคิด “คิดส์ดี คิดส์คุณภาพ : Quality Kids” กิจกรรมมากมาย ลงทะเบียนล่วงหน้าลุ้นรับของที่ระลึกชิ้นพิเศษ ร่วมกิจกรรมลุ้นรับทุนการศึกษา เล่นสนุกเพลิดเพลิน กระทบไหล่ดารา-ซุปเปอร์ฮีโร่-นักกีฬาทีมชาติ พร้อมเปิดทุกสาขาทั่วประเทศให้เด็กฝากเงินเป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่ 8.30 – 12.00 น. เพียงฝากเงินหรือเปิดบัญชีด้วยตัวเอง ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป รับของที่ระลึกฟรี! “กระปุกออมสินตู้ ATM”

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในวันเด็กแห่งชาติของทุกปี หน่วยงานต่างๆ ได้จัดกิจกรรมให้เด็กไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมทั้งเพื่อสันทนาการ สนุกสนาน และท้าทายความคิด ซึ่งธนาคารออมสิน เป็นหนึ่งในหน่วยงานของภาครัฐได้จัดงานวันเด็กแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้จัดให้สอดคล้องกับคำขวัญวันเด็กที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ไว้ว่า “เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ” โดยธนาคารออมสินจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “คิดส์ดี คิดส์คุณภาพ : Quality Kids” ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ ตั้งแต่เวลา 8.00-12.00 น.

โดยการจัดงานภายใต้แนวคิด “คิดส์ดี คิดส์คุณภาพ : Quality Kids” เป็นแนวคิดเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีคุณค่า โดยสอดแทรกสาระสำคัญด้วยแนวคิด 3 ออม คือ ออมเศรษฐกิจ ออมสังคม และออมสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆของธนาคาร พร้อมสร้างเสริมประสบการณ์ใหม่ๆในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยได้จัดพื้นที่ภายในสำนักงานใหญ่แบ่งกิจกรรมเป็นโซนต่างๆ รวมทั้งสิ้น 6 โซน โดยกิจกรรมในแต่ละโซนยังคงเน้นส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเด็กที่จะเข้าร่วมงานที่ทำบัตรประชาชนแล้วให้นำบัตรประชาชนมาลงทะเบียนเพื่อรับ QR Code ยืนยันตัวตน และรับพาสปอร์ตสำหรับนำไปเพื่อร่วมเล่นเกมร่วมกิจกรรมในฐานต่างๆ โดยจะมีบันทึกรายละเอียดสำคัญของเด็ก ข้อมูลการเข้าร่วมเกมหรือกิจกรรม ข้อมูลสะสมคะแนน

ธนาคารฯได้จัดลงทะเบียนล่วงหน้าสำหรับเด็กที่จะเข้าร่วมงานด้วยที่ http://gsbkids.com/ ตั้งแต่เที่ยงวันของวันที่ 8 มกราคม 2562 ถึงเที่ยงวันของวันที่ 11 มกราคม 2562 ได้รับสิทธิ์ลุ้นรับของที่ระลึกจากการจับรายชื่อผู้โชคดี

“ภายในงานนี้เด็กๆจะได้พบกับศิลปินนักร้องจากค่ายโมโนมิวสิค ศิลปินตลกจากรายการก่อนบ่ายคลายเครียด พิธีกรและโค้ชจากรายการเกรียนอัจฉริยะ รวมถึงรุ่นพี่คนเก่ง นักกีฬาทีมชาติ และไฮไลท์โชว์โดรนจากน้องมิลค์ แชมป์บินโดรนระดับโลก รวมถึงร่วมชมร่วมเชียร์การแข่งขัน E-Sport, ROV พบเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ ศิลปินตลกเดอะคอมเมอเดี้ยน จ๊ะทิงจา และพี่ออมจังพี่ตังค์ตรึม สติ๊กเกอร์ไลน์ของธนาคารออมสินขวัญใจน้องๆ ผ่านกิจกรรมที่เน้นความสุข สนุกสนาน ควบคู่ไปกับสาระที่ อาทิ กิจกรรมที่ถอดรูปแบบจริงจากโครงการของธนาคารออมสินที่มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมจริงในทุกๆ ด้าน ทั้ง ด้านดนตรี กีฬา และวิชาการ ได้แก่ ธนาคารโรงเรียน Virtual School Bank เพลินพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ Digital Branch Studio โดยเล่นครบทุกฐานกิจกรรม ได้สิทธิ์ลุ้นรับทุนการศึกษา 5,000 บาท อีกด้วย” นายชาติชาย กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่สำคัญ ด้วยการเปิดรับฝากเงินเป็นกรณีพิเศษ เพื่อปลูกฝังนิสัยการออมตั้งแต่วัยเยาว์ พร้อมทั้งแจกของที่ระลึกให้แก่เด็กที่ฝากเงินหรือเปิดบัญชีด้วยตัวเองตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ได้รับของที่ระลึก “กระปุกออมสินตู้ ATM” 1 ชิ้น ต่อ 1 ราย (ของมีจำนวนจำกัด) ในเวลา 8.30-12.00 น. เท่านั้น ณ สาขาทุกแห่งทั่วประเทศ รวมถึงสาขาอุ่นไอรักฯ ซึ่งเปิดภายในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาวฯ บริเวณสนามเสือป่า

สังคม : ธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่จัดงานวันเด็กปี 2562 “คิดส์ดี คิดส์คุณภาพ : Quality Kids”

People unity : post post 9 มกราคม 2562 เวลา 23.10 น.

Verified by ExactMetrics