วันที่ 20 เมษายน 2024

ผบ.กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก เยือนไทยกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร

People Unity News : ผบ.กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก เข้าเยี่ยมคำนับ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำสร้างสรรค์ ไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพกัน

11 ต.ค. 64 พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 11.00 น.  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้การต้อนรับการเยี่ยมคำนับของ  พล.ร.อ.John C. Aquilino (จอห์น ซี อากีลีโน) ผบ.กกล.สหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก และคณะ  ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกองทัพไทย เพื่อแนะนำตัวและกระชับความสัมพันธ์

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับ พล.ร.อ.จอห์น ที่ได้รับตำแหน่ง ผบ.กกล.สหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก และขอขอบคุณสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนวัคซีน 2.5 ล้านโดส พร้อมตู้เก็บวัคซีน 200 ตู้ให้ไทย ต่อจากนั้น ทั้งสองฝ่าย ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในประเด็นต่างๆร่วมกัน ทั้งด้านความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโควิด 19 ความสัมพันธ์ทางทหาร การฝึกร่วมผสม Cobra Gold 2021 ความร่วมมือด้านการฝึกศึกษา ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมทั้งความร่วมมือในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทะเลภายใต้กรอบความร่วมมือ กห.อาเซียน กับประเทศคู่เจรจา

และในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ของพันธมิตรที่เก่าแก่และแน่นแฟ้นระหว่างกัน ในการสนับสนุนและดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพ เสรีภาพและความมั่นคงของภูมิภาคร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจและการเคารพซึ่งกันและกัน

Advertising

“สุริยะ” เผยสู้คดีคิงส์เกต เน้นเจรจา มั่นใจไร้ปัญหา

People Unity News : 22 กันยายน 2565 “สุริยะ”​ ยัน ครม.ไม่มีเคาะงบเพิ่มสู้คดีคิงส์เกต เป็นเพียงการขยายกรอบเวลา​ ยอมรับหารือแนวทาง​” วิษณุ” เน้นการเจรจา เตรียมบินออสเตรเลีย​วันพรุ่งนี้ มั่นใจไร้ปัญหา​

นายสุริยะ​ จึงรุ่งเรืองกิจ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเพื่อต่อสู้คดีกับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ในคดีเหมืองทองอัครา โดยชี้แจงว่า​ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่มีการอนุมัติ​งบ​เพิ่มเติม​ ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน​ เป็นเพียงงบประมาณเดิมที่มีการขยายกรอบระยะเวลาการสู้คดี​ เนื่องจากการเจรจายังไม่สิ้นสุด​ จึงขอชี้แจ้งว่า​ ไม่ได้มีการเพิ่มงบในการสู้คดีแต่อย่างใด

ส่วนแนวทางในการสู้คดีนั้น​ นายสุริยะ​ กล่าวว่า ยังคงเหมือนเดิม โดยขณะนี้ยังมั่นใจว่า การเจรจากับบริษัทคิงส์เกตจะเป็นไปด้วยดี และเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหา พร้อมยอมรับว่า ได้มีการปรึกษากับนายวิษณุ​ เครืองาม​ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย​ โดยได้ให้แนวทางที่เน้นไปที่การเจรจา และในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) ตนจะเดินทางไปที่ประเทศออสเตรเลีย​ เพื่อเจรจาเพิ่มเติม กับผู้บริหารของบริษัทคิงส์เกต​ พร้อมย้ำว่าทิศทางการเจรจาคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นไปด้วยดี

Advertisement

จีนส่งผู้นำทางทหารมากระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารกับไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 เวลา 15.30 น. พลเอก ฝาง เฟิงฮุย ประธานกรมเสนาธิการร่วม คณะกรรมาธิการทหารกลาง สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญของการหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบกับประธานกรมเสนาธิการร่วมฯ ในโอกาสเยือนไทยในฐานะแขกของกองทัพไทย เชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศจะมีช่องทางในการเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือทางทหารระหว่างกัน ทั้งในระดับสูงและกองทัพอย่างดีในอนาคตต่อไป

ประธานกรมเสนาธิการร่วมฯ แสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้เข้าพบ และแสดงความชื่นชมการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีที่ทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในทุกด้าน พร้อมกล่าวว่าประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง และ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง ได้ฝากความระลึกถึงมายังนายกรัฐมนตรีด้วย

ทั้งสองฝ่ายยืนยันความสัมพันธ์ใกล้ชิดในทุกมิติมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศจะครบรอบ 42 ปีในปีนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าปัจจุบันไทยและจีนกำลังเดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจในทิศทางเดียวกันที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน

ในด้านความสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหารนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าจีนและไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและพิเศษ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอทั้งในระดับสูง ระดับผู้นำและระดับกองทัพ ความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยและจีนมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความร่วมมือทางการทหารจะพัฒนาต่อไปทุกมิติ ได้แก่ ด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนข่าวกรอง การฝึก การต่อต้านการก่อการร้ายและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

People unity news online : post 31 พฤษภาคม 2560 เวลา 23.23 น.

ประยุทธ์ จะร่วมประชุม ASEM ครั้งที่ 13 พร้อมเสนอวิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนความร่วมมือพหุภาคี

People Unity News : ประยุทธ์ เตรียมร่วมการประชุม ASEM ครั้งที่ 13 พร้อมเสนอวิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนความร่วมมือพหุภาคี รับมือกับวิกฤตต่างๆของโลก 25 – 26 พ.ย.นี้

ระหว่างวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย – ยุโรป ครั้งที่ 13 (Asia-Europe Meeting : ASEM 13) ภายใต้หัวข้อหลัก “Strengthening Multilateralism for Shared Growth” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ทำเนียบรัฐบาล

การประชุมครั้งนี้ นอกจากนายกฯจะเข้าร่วมในนามผู้นำประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการเข้าร่วมในนามผู้ประสานงานกลุ่มอาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2565 และประเด็นที่นายกฯจะนำสนอต่อที่ประชุม เช่น

1.การถอดบทเรียนจากประสบการณ์ ประมวลเป็นข้อแนะนำที่เป็นรูปธรรม

2.ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างเอเชียกับยุโรป

3.ความสำคัญของการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Next Normal

4.ความสำคัญของกรอบความร่วมมือพหุภาคีในการรับมือกับวิกฤตต่างๆของโลก

รวมทั้ง จะร่วมยืนยันสนับสนุนความร่วมมือระดับพหุภาคีนิยม ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้ประเทศทั้งเล็กและใหญ่ มีส่วนร่วมในการรับมือกับความท้าทายของโลก

Advertising

“บิ๊กตู่” กล่าวต่อที่ประชุม UN มุ่งการพัฒนายั่งยืนผ่านระบบสาธารณสุข โมเดลเศรษฐกิจ BCG และ Digital

People Unity News : ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงผ่านกิจกรรม SDG Moment มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านระบบสาธารณสุข โมเดลเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาด้าน Digital ในการประชุม UNGA สมัยที่ 76

20 กันยายน 2564 เวลา 21.41 น. (ซึ่งตรงกับเวลา 10.41 น. ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงในกิจกรรม “Sustainable Development Goals (SDG Moment)” ครั้งที่ 2 ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 76 (76th Session of the United Nations General Assembly: UNGA76) ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่มีส่วนร่วมในกิจกรรม SDG Moment รัฐบาลไทยร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อดำเนินนโยบายและใช้งบประมาณให้ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศและนำไปสู่การบรรลุ SDGs ตลอดจนได้นำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจ (VNR: Voluntary National Review) ต่อสหประชาชาติ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีระบุถึงหมุดหมายที่สำคัญ 3 ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ดังนี้

1.ส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนทุกช่วงอายุ โควิด-19 ได้ตอกย้ำความสำคัญของการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณสำหรับการประกันสุขภาพ ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุขอย่างพอเพียง เร่งด่วน  เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองในยามวิกฤตได้

2.สร้าง “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” ผ่านการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานทดแทน และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตขนาดใหญ่ของโลก ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตรถไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ไทยทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030

3.ขจัดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาด้าน digital literacy เพื่อปลดล็อคศักยภาพให้แก่ประชาชนในประเทศ ใช้ประโยชน์จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP ที่เกิดจาก Big Data เพื่อตอบโจทย์ความท้าทาย รวมถึงปัญหาความยากจนอื่นๆต่อไป

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

อนึ่ง กิจกรรม SDG Moment จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2563 ในรูปแบบการอภิปรายทั่วไปตามข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่ต้องการย้ำความสำคัญและสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ภายในปี ค.ศ.2030 เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีไทยเป็นโอกาสประชาสัมพันธ์แผนการขับเคลื่อน SDGs ของไทย โดยเฉพาะการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นมาตรการฟื้นฟูจากโควิด – 19 ที่สร้างสมดุล

Advertising

ส.ส.สหรัฐฯ เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี

People unity news online : เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 เวลา 19.00 น. นายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นำ นาย William L. Johnson สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครีพับลิกัน รัฐโอไฮโอ เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนไทยระหว่างวันที่ 12 – 13 พฤษภาคม 2560 เพื่อรับทราบถึงนโยบายการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐอเมริกา ที่ยึดมั่นความเป็นพันธมิตรมายาวนาน 184 ปี  และจากการสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ ก็เป็นไปอย่างมิตรไมตรี โดยได้มีการหารือถึงความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐ ฯในมิติต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีโอกาสพบปะกับภาคเอกชนจากสภาธุรกิจธุรกิจไทย-สหรัฐ ฯ รวมทั้งผู้แทนจากภาครัฐสภา หน่วยงานภาครัฐต่างๆ อาทิ  ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก  สะท้อนให้เห็นว่า มิตรภาพและความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯจะยืนยาวและยั่นยืน  สำหรับการพัฒนาการเมืองไทยนั้นขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลยึดมั่นเดินตาม Roadmap เพื่อมุ่งสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบและยั่งยืน

สำหรับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกานั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่า  ไทยให้ความสำคัญกับการดูแลนักธุรกิจสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอยู่จำนวนมากในประเทศไทยมาโดยตลอด ความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมธุรกิจไทย-สหรัฐอเมริกาเป็นไปด้วยดี ปัจจุบันมีบริษัทไทยหลายบริษัทเข้าไปลงทุนอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้สร้างงานและรายได้ให้ชาวอเมริกันจำนวนมาก อาทิ บริษัท ปตท.ของไทยมีแผนเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่รัฐโอไฮโอ โดยอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสการลงทุนสร้างศูนย์อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (petrochemical complex) ขนาดใหญ่ด้วยเงินลงทุนกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา จึงหวังว่า นาย Johnson ในนามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะช่วยดูแลคนไทยและบริษัทไทยที่เข้าไปในลงทุนในพื้นที่ดูแลเป็นอย่างดี เนื่องจากการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายรวมถึงชุมชนอเมริกันในพื้นที่ด้วย

ด้าน นาย Johnson สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครีพับลิกัน รัฐโอไฮโอ ได้กล่าวแสดงความประทับใจในการเดินทางมาเยือนไทยเป็นครั้งแรก และมั่นใจว่าประชาชนสหรัฐอเมริกันและพลเมืองโอไฮโอต่างชื่นชมความสัมพันธ์ 184 ปีระหว่างไทยและสหรัฐ ฯ ทั้งนี้ สหรัฐฯพร้อมที่จะให้การดูแลนักลงทุนไทยในสหรัฐ ฯ รวมทั้งการลงทุนของไทยในรัฐโอไฮโอเช่นเดียวกัน เพราะเชื่อว่า ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทยจะส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความมั่นคงในภูมิภาคด้วย

People unity news online : post 14 พฤษภาคม 2560 เวลา 22.23 น.

นายกรัฐมนตรี หารือเอกอัครราชทูตศรีลังกาฯ เพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน

People Unity News : นายกรัฐมนตรี หารือเอกอัครราชทูตศรีลังกาฯ เพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน

6 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับนางโกโลนเน อัปปุหามิลาเค จมินทะ อิโนกา โกโลนเน (H.E. Mrs. Colonne Appuhamillage Chaminda Inoka Colonne) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาประจำประเทศไทย เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไทยและศรีลังกา มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจต่อกัน ขอให้ทั้งสองประเทศเร่งการเจรจาการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) ไทย – ศรีลังกา เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในอนาคต

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงความยินดีต่อศรีลังกาในการดำรงตำแหน่งประธานกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ซึ่งไทยพร้อมจะเข้าร่วมการประชุมฯ ที่ศรีลังกาจะเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้ โดยไทยจะรับตำแหน่งประธาน BIMSTEC ต่อจากศรีลังกา หวังว่าศรีลังกาจะสนับสนุนไทยในการเป็นประธาน BIMSTEC โดยเฉพาะด้านความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างท่าเรือ

ด้านเอกอัครราชทูตศรีลังกาฯ กล่าวว่า ยินดีที่จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการเสริมสร้างการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะด้านการเกษตรและประมง

Advertising

ครม.ไฟเขียว เสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง – ภูเขียว – น้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน

People Unity News : ครม. ไฟเขียว เสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน

3 เมษายน 2565 ที่ประชุม ครม. เมื่อ 29 มี.ค. 65 เห็นชอบการเสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะจัดส่งเอกสารให้ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพตามขั้นตอน ก่อนนำเข้าที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรับรองการขึ้นทะเบียนต่อไป

จุดเด่นของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย คือ เป็นภูเขาหินทรายยอดตัดหนึ่งเดียวในอาเซียน เป็นแหล่งพืชพันธุ์หายาก สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง มีประเพณีท้องถิ่น คือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตา สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ มีความหลากหลายทางธรณีวิทยาและถ้ำ เป็นแหล่งพืชพันธุ์หายาก สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง และมีประเพณีท้องถิ่น เช่น ประเพณีการแขวนทุง (แขวนธง) ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น

ขณะนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียนทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติตะรุเตา, กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และอ่าวพังงา, กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน – อุทยานแห่งชาติกุยบุรี – เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี), อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติเขาสก

Advertisement

รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : ไทยและรัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรองรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมบทบาทของเอกอัครราชทูตฯตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ ซึ่งได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับรัสเซียเป็นอย่างดี มีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าไทยจะได้มีโอกาสต้อนรับผู้แทนระดับสูงของรัสเซียในปีนี้

เอกอัครราชทูตฯชื่นชมรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาล รับผิดชอบต่อนโยบายของไทยในหลายด้าน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัสเซียในฐานะที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และมีทรัพยากรด้านพลังงาน เชื่อว่ายังมีช่องทางที่เป็นโอกาสอีกหลากหลายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยพร้อมส่งเสริมกลไกที่ให้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังว่าจะร่วมมือผลักดันให้การค้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป ฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าพร้อมผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย โดยฝ่ายไทยขอบคุณที่รัสเซียนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม และขอบคุณที่รัสเซียดูแลนักลงทุนไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และสนับสนุนความร่วมมือผ่านอุตสาหกรรม S-Curves ในสาขาต่างๆที่รัสเซียเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ยินดีจัดการหารือระหว่างรัสเซียและฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางลดข้อจำกัด เพื่อเพิ่มการลงทุนระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ฝ่ายรัสเซียได้ชื่นชมไทยด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยมีชาวรัสเซียที่เดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก จึงขอให้ไทยพิจารณาสนับสนุนการเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเป็นส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และขอให้ไทยพิจารณาความร่วมมือระหว่างระดับจังหวัดของไทยกับภูมิภาคของรัสเซียเป็นอีกช่องทางความร่วมมือด้วย

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : post 21 สิงหาคม 2562 เวลา 11.30 น.

ไทย-จีนเสริมสร้างสัมพันธ์ครั้งประวัติศาสตร์ในโอกาสประธานาธิบดีจีนเยือนไทยในรอบ 11 ปี

People Unity News : 19 พฤศจิกายน 2565 ทำเนียบรัฐบาล นายกฯ ต้อนรับประธานาธิบดีจีนเยือนไทยในรอบ 11 ปี กระชับความร่วมมือรอบด้าน เพื่อประชาชนทั้งสองประเทศ ประธานาธิบดีจีนชื่นชมไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค พร้อมร่วมมือเพื่อส่งเสริมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเยือนไทย ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ผู้นำทั้งสองได้ร่วมกันหารือถึงการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือ โดยฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีหลายคนเข้าร่วม อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายกรัฐมนตรี รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับประธานาธิบดีจีนเยือนไทยครั้งนี้ นับเป็นการเยือนไทยในรอบ 11 ปี และเป็นการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้การเยือนครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อกำหนดทิศทางความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านที่ครบรอบ 10 ปีในปีนี้ และมุ่งไปสู่การฉลองครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568

ประธานาธิบดีจีน กล่าวว่า มิตรภาพจีน-ไทยสืบทอดกันมาหลายพันปี ประชาชนมีความสัมพันธ์เหมือนพี่น้องกัน จีนพร้อมร่วมมือกันสรรค์สร้างความเจริญรุ่งเรืองและอนาคตร่วมกัน เปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือ เพื่อผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีจีนแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีและประเทศไทยที่ได้จัดการประชุมเอเปคด้วยความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความสร้างสรรค์ สามัคคี และปรองดอง พร้อมพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีเสนอให้เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และหารือยุทธศาสตร์ในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ และกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคง โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การหลอกลวงทางโทรศัพท์ ซึ่งจีนยินดีร่วมมือกับไทย เพื่อผลประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ รวมถึงต่อภูมิภาคโดยรวม ซึ่งประธานาธิบดีจีนยินดีร่วมมือเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งทั้งสองประเทศควรปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) เพื่อผลักดันและบูรณาการความร่วมมือในหลายหลายมิติให้ได้ผลเป็นรูปธรรม

ไทยและจีนเห็นพ้องการเพิ่มพูนมูลค่า และอำนวยความสะดวกทางการค้าด้านต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีจีน ยังขอให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางราง รวมถึงการดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน ให้เป็นไปตามที่กำหนด

ประธานาธิบดีจีน เห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรต่อยอดความร่วมมือแบบดั้งเดิมทั้งเรื่องการลงทุน การค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจดิจิทัล รถยนต์พลังงานทดแทน พร้อมชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มองว่า ควรจะเร่งความร่วมมือสามฝ่ายไทย-จีน-ลาว ในเรื่องการเชื่อมโยงระบบรถไฟ โดยไทยและจีนควรส่งเสริมการเชื่อมโยงตั้งแต่ EEC ของไทยไปยังรถไฟจีน-ลาว ต่อไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน และเชื่อมไปยังเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกและทางน้ำสายใหม่ของจีน สำหรับในขั้นต่อไปจีนหวังว่า จะมีการเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และระบบศุลกากรเพื่อขยายการขนส่งสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย เช่น ทุเรียนและมังคุด

ประธานาธิบดีจีน ยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องการลดความยากจนและการพัฒนาชนบทให้ไทย โดยรัฐบาลจีนมีหน้าที่สำคัญในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีนให้เจริญรุ่งเรืองอย่างรอบด้านโดยมีอัตลักษณ์ของจีน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย

นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณจีนที่อนุญาตให้นักศึกษาไทยทยอยกลับไปศึกษาต่อในจีนได้ รวมทั้งพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง ซึ่งประธานาธิบดีจีน กล่าวว่า จีน จีนส่งเสริมให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายเดินทางไปมาหาสู่กันได้ หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

หลังจากการหารือเต็มคณะ ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศเอกสารความร่วมมือและความตกลงที่มีการลงนามในช่วงการเยือน จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่

(1) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่4 (พ.ศ. 2565-2569)

(2) แผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วย การร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

(3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

(4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และ

(5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านการลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

จากนั้น ประธานาธิบดีจีนได้ลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึก ณ บริเวณโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีจีน และภริยา ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

Advertisement

Verified by ExactMetrics