วันที่ 24 เมษายน 2024

ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2

People Unity News : 25 กรกฎาคม 2566 ครม. พร้อมผลักดันแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชนสากล

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี รับทราบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ แผนปฏิบัติการฉบับนี้ จัดทำขึ้นตามแนวทางตามคู่มือว่าด้วยแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ การคุ้มครอง การเคารพ และการเยียวยา รวมทั้งเป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะสำคัญที่ประเทศไทยรับมาปฏิบัติตามกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน

สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) ประกอบด้วย 4 แผน ได้แก่ แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน แผนปฏิบัติการด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม//แผนปฏิบัติการด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และแผนปฏิบัติการด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ กลไกการกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฉบับนี้ จะดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน //กระทรวงยุติธรรม จะเป็นผู้รวบรวมและจัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 2 ระยะ คือ ระยะครึ่งรอบ (ระหว่าง พ.ศ.2566 – 2568) และระยะเต็มรอบ (ระหว่าง พ.ศ.2566 -2570) เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและเผยแพร่ต่อไป

Advertisement

ยื่นศาล รธน.ชะลอโหวตนายกฯ 27 ก.ค.นี้

People Unity News : 24 กรกฎาคม 2566 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน- ที่ประชุมด่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติให้ส่งศาล รธน. ออกคำสั่งชะลอการโหวตนายกฯ 27 ก.ค.นี้ หลังเกิดปมใช้ข้อบังคับ 41 ห้ามเสนอชื่อซ้ำในการลงมติเลือกนายกฯ เตรียมส่งคำร้อง 1-2 วันนี้

พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิกรัฐสภาและประชาชน จำนวน 17 คำร้องเรียน โดยผู้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 25610 มาตรา 213 จากกรณีที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็น “ญัตติ” ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ซึ่งกำหนดว่า “ญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน” เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

“ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน โดยพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนว่าเข้าองค์ประกอบ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ ในการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 หรือไม่ โดยเห็นว่า รัฐสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย รัฐสภาจึงถือเป็นหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ หากการกระทำของรัฐสภาละเมิดสิทธิเสรีภาพ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลรัฐธรรมนูญ และการกระทำของ “รัฐสภา” ในการลงมติวินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็น “ญัตติ” ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้น เป็นการนำข้อบังคับการประชุมไปทำให้กระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้กำหนดเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะแล้ว มาตรา 159 ประกอบ มาตรา 272 การกระทำของรัฐสภาดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำของรัฐสภาที่ลงมติวินิจฉัยดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนโดยตรง” เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว

พ.ต.ท.กีรป กล่าวว่า ผู้ร้องเรียนเป็นสมาชิกรัฐสภาและประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ตามหมวด 3 ว่า สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หากการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้ และมีผลเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน นอกจากนี้ ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำของรัฐสภาดังกล่าวยังคงมีอยู่และมิได้รับการวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติ ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนและประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ภายใต้การใช้อำนาจของรัฐโดยรัฐสภา ผู้ร้องเรียนรวมถึงประชาชนทั่วไปจึงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คำร้องเรียนส่วนหนึ่งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อวินิจฉัย ซึ่งเป็นคำขอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย

“ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง และเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัย ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2560 ประกอบ มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 โดยจะส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน1-2 วันนี้ เพื่อให้ทันศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 27 ก.ค.นี้” เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว

Advertisement

“บิ๊กตู่” ขอให้บ้านเมืองสงบ เศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว

People Unity News : 24 กรกฎาคม 2566 ทำเนียบรัฐบาล-นายกฯ เข้าทำเนียบฯ ตามปกติ ฝากรองโฆษกรัฐบาลมาบอกสื่อ ปล่อยให้เขาตั้งรัฐบาลกันไป ขอทำหน้าที่ดูแลบ้านเมือง ขอให้อย่ากันอย่างสงบ เศรษฐกิจกำลังฟื้น นักท่องเที่ยวกำลังมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เข้าปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่ทำเนียบรัฐบาล โดยวันนี้พล.อ.ประยุทธ์สวมชุดสูทปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้สวมชุดข้าราชการการเมืองสีกากี 2 สัปดาห์แล้วหลังประกาศวางมือทางการเมือง ซึ่งโดยปกติจะสวมทุกวันจันทร์

ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกับฝากบอกสื่อมวลชนด้วยว่า “ปล่อยให้เขาตั้งรัฐบาลกันไป เราก็ดูแลบ้านเมือง ทำหน้าที่ของเราไป แต่อยากให้อยู่ในความสงบ เพราะทุกอย่างกำลังจะดี เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว นักท่องเที่ยวกำลังมา”

Advertisement

 

“สว.สมชาย” แนะเลื่อนโหวตนายกฯ 27 ก.ค. ถ้ายังไม่พร้อม

People Unity News : 23 กรกฎาคม 2566 “สว.สมชาย” เสนอเลื่อนเลือกนายกฯ 27 ก.ค. หากยังไม่พร้อม ขอเจ้าบ่าว “เพื่อไทย” บอกเลิกเจ้าสาว “ก้าวไกล” อย่าโยน สว. เป็นแพะบอกเลิกแทน ระบุแบบนี้ไม่เป็นสุภาพบุรุษ ปัดเพื่อไทยประสานคุยกับวิปวุฒิสภา วันพรุ่งนี้

นายสมชาย แสวงการ สว. ในฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา ปฏิเสธได้รับการประสานเพื่อพูดคุยจากพรรคเพื่อไทย ในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ค.) และเห็นว่าไม่จำเป็นที่พรรคเพื่อไทยจะต้องติดต่อมาเพื่อพูดคุยกับ สว. เพราะหากเปรียบเป็นงานแต่งงาน สว. เป็นเพียงแขกรับเชิญ ดังนั้น ขอให้เจ้าบ่าว พรรคเพื่อไทย ไปตกลงให้ได้ว่าจะแต่งงานกับใคร แต่ หากดูจากการเชิญพรรคการเมืองไปพูดคุย พบว่าเสียงน่าจะเกิน 400 เสียงแล้ว ไม่น่าจะต้องอาศัยเสียงของ สว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ส่วนหลายพรรคการเมืองที่มาพูดคุยตั้งเงื่อนไขว่าต้องไม่มีพรรคก้าวไกล จึงต้องพึ่งเสียง สว.นั้น นายสมชาย เสนอว่า หากยังไม่พร้อม ก็สามารถขอเลื่อนการประชุม จากวันที่ 27 ก.ค. ออกไปก่อนก็ได้ โดยช่วงต้นเดือน ส.ค. น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะหากไม่พร้อมเสนอเข้ามา งานแต่งงานก็ต้องล่มอีก อย่ามาใช้ สว. เพราะที่ผ่านมา สว. ก็เหนื่อยที่เป็นเหยื่อ ที่ให้ไปโหวตคว่ำแทน อีกทั้ง สว. กลายเป็นแพะ ถือว่าไม่เป็นสุภาพบุรุษ คุณจะไม่แต่งกับเจ้าสาวชื่อก้าวไกลนั้นแล้ว เจ้าบ่าวเพื่อไทยก็บอกไป แต่กลับมาให้ สว. บอกเลิกแทน บอกว่าไม่เหมาะสม ถ้าไม่พร้อมอย่าแต่ง ไปตกลงกันให้เรียบร้อย จะได้ม้วนเดียวจบ เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การซื้อของตามห้างสรรพสินค้า

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับการประสานจากพรรคเพื่อไทยที่จะเข้าพูดคุย วันพรุ่งนี้ (24 ก.ค.) นอกเหนือจากทราบผ่านสื่อที่ขอความร่วมมือจาก สว. มา แต่ส่วนตัวขอย้ำจุดยืนเดิมว่า จะไม่สนับสนุนพรรคที่มีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 ดังนั้น ถ้าพรรคเพื่อไทยกล้าสลัดทิ้งพรรคก้าวไกล ก็ยินดีที่จะโหวตสนับสนุน

Advertisement

“พิธา” ย้ำสู้ไม่ถอย ยังมีสิทธิเป็นรัฐมนตรี

People Unity News : 23 กรกฎาคม 2566 ระยอง – “พิธา” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปยังตลาดดิโอโซน จ.ระยอง วานนี้ (22 ก.ค.) ระบุพรรคก้าวไกลขอสู้ไม่ถอย ไม่ได้เป็นนายกฯ ยังมีสิทธิเป็นรัฐมนตรีได้

เมื่อวานนี้ (22 ก.ค.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปยังบริเวณตลาดดิโอโซน จังหวัดระยอง เพื่อร่วมงานสุราก้าวหน้า เฟสติวัล นายพิธา ได้ใช้เวลาปราศรัยทั้งเรื่องสุราก้าวหน้าและประเด็นการเมืองนานประมาณครึ่งชั่วโมง โดยพูดถึงประเด็นเรื่องการเมืองว่า พรรคก้าวไกลจะขอสู้ไม่ถอย ถึงแม้จะส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นอกจากนี้ยังบอกว่าไม่ได้เป็นนายกฯ ยังมีสิทธิเป็นรัฐมนตรีได้ ขณะเดียวกันยังมีบางช่วงบางตอนที่นายพิธา กล่าวว่าเมื่อมาเมืองระยอง ต้องหวนคิดถึงบทกลอนของกวีเอกสุนทรภู่ ที่แต่งไว้เพื่อสอนคนถึงจิตใจของคน ที่ว่า “อย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน” เพราะบทกลอนนี้น่าจะใช้ได้ในสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ได้เป็นอย่างดีเพื่อเป็นคติไว้สอนใจ

นายพิธา ยังปราศรัยกรณีหุ้นไอทีวีด้วย โดยถามผู้คนที่มาต้อนรับว่าเคยเห็นพิธา ออกข่าวช่องไอทีวีหรือไม่และเคยเปิดทีวีดูข่าวช่องไอทีวีหรือไม่ ขณะที่เรื่องสุราก้าวหน้า ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะผลักดัน เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชน หากเป็นรัฐบาลและในวันนี้ นายพิธา จะเดินทางไปยังจังหวัดจันทบุรี เพื่อขอบคุณชาวจันทบุรี

Advertisement

ภาคประชาชนยื่นร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง

People Unity News : 21 กรกฎาคม 2566 “ปดิพัทธ์”  รับร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จากภาคประชาชน หวัง ใช้ประโยชน์สูงสุดทางการแพทย์ สร้างฐานรายได้ ให้เกษตรกรอยู่ดี กินดี สังคมสงบสุข สร้างมูลค่า ทางเศรษฐกิจระดับชาติให้สูงขึ้น

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับยื่นร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง แห่งชาติ พ.ศ. จากนายวิเชียร ศรีสุด นายกสมาคมสร้างสรรค์เกษตรกรไทย ในฐานะประธานร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชงแห่งชาติ  พ.ศ.  และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน  60 คน ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบด้วย 13 หมวด 99 มาตรา มีหลักการว่า ด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 บัญญัติให้กัญชา กัญชง  ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป แต่ยังขาดพระราชบัญญัติว่าด้วยกัญชา กัญชงเพื่อควบคุม จัดระบบระเบียบการปลูก การนําไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ   ทั้งเป็นการบัญญัติกฎหมายเพื่อควบคุมป้องกันการใช้กัญชา กัญชง และสารสกัดไปใช้ในทางที่ผิด    จึงมีการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น   โดยมีมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ให้นำกัญชา กัญชง และสารสกัดไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ทางด้านการแพทย์ การพาณิชย์ อุตสาหกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเภสัชกรรม สัตวแพทย์ การเลี้ยงสัตว์ แพทย์พื้นบ้าน การท่องเที่ยว สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ  และการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรม แปรรูปผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ บูรณาการร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้งส่งเสริมสนับสนุน ควบคุม การนำเข้า ส่งออก สกัด จำหน่าย แปรรูป และมีมาตรการทางกฎหมาย ควบคุมการนำกัญชา กัญชง และสารสกัดไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ทั้งควบคุม ดูแลคุ้มครองสถานที่ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย ต่อบุคคลอื่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว หน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน สร้างองค์ความรู้ ฝึกอบรม เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต ในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สร้างเศรษฐกิจการเกษตรในวงกว้าง สร้างความสมดุล ทางระบบนิเวศน์ มีความยั่งยืนแบบครบวงจร สร้างฐานรายได้ ให้เกษตรกรอยู่ดี กินดี สังคมสงบสุข ทั้งเป็นการสร้างมูลค่า ทางเศรษฐกิจระดับชาติให้สูงขึ้น ด้านรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง   กล่าวภายหลังการรับยื่นหนังสือว่า ประธานรัฐสภามอบหมายให้ตนเป็นผู้รับร่าง  พ.ร.บ. ดังกล่าว เมื่อรับเรื่องดังกล่าวแล้ว จะทำตามขั้นตอนของทางราชการ และจะรีบนำเรียนประธานรัฐสภาต่อไป รวมทั้ง จะเป็นผู้แทนนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆ  สำหรับการเข้าชื่อเสนอกฏหมายของภาคประชาชนนั้น ต่อไปสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดให้ยื่นออนไลน์เพื่อความสะดวกของประชาชน

Advertisement

นายกฯ สั่งเข้มงวดคลังแสง ย้ำโทษ จนท.ดูแลทางวินัย-อาญา

People Unity News : 21 กรกฎาคม 2566 “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งเข้มงวดคลังแสง ไม่ให้เล็ดลอด-สูญหาย ย้ำโทษเจ้าหน้าที่ดูแลทางวินัยและอาญา

พันเอก จิตนาถ ปุณโณทก รองโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ เข้มงวดกวดขันการรักษาความปลอดภัยคลังอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่อยู่ในคลังต่างๆ ของหน่วย โดยเน้นย้ำและกําชับให้ผู้บังคับหน่วย รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หมั่นตรวจสอบคลังที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นประจํา เพื่อป้องกันมิให้มีการลักลอบนําอาวุธ ยุทโธปกรณ์ ตลอดจนเครื่องกระสุน และวัตถุระเบิดของหน่วย ออกไปแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบ หรือนําออกไปใช้งาน โดยไม่ได้รับอนุญาต หากมีข้อบกพร่องหรือมีการสูญหาย เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบต้องถูกลงโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา

ทั้งนี้ การกำชับดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้เกิดเหตุกระสุนในคลังอาวุธ นาวิกโยธิน สัตหีบ สูญหาย นับแสนนัด

Advertisement

ศาล รธน. มีมติรับคำร้อง “พิธา” ถือหุ้นสื่อ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

People Unity News : 19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติคำร้องของ กกต. กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นสื่อ พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสี่ประกอบวรรคหนึ่งและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๗ (๕) จึงสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๔

สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (๗ ต่อ ๒) เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๖ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

Advertisement

8 พรรคมีมติส่ง “พิธา” โหวตนายกฯรอบ 2 เจ้าตัวลั่นคะแนนไม่ถึง 344 ถึงยอมถอยให้ “เพื่อไทย”

People Unity News : 17 กรกฎาคม 2566 ที่อาคารไทยซัมมิท ทาวเวอร์ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล นัดหารือกันภายใน โดยไม่ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือทิศทางในการลงมติเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ โดยมีการนัดหมายแกนนำทั้ง 8 พรรค มาพบกันในเวลา 17.00 น. ทำให้ผู้สื่อข่าวทุกแขนงมาดักรอทำข่าว เกาะติดทั้งที่ลานจอดรถและบริเวณด้านหน้าทางเข้าอาคาร จึงพบว่ามีแกนนำ 8 พรรค ทยอยเดินทางมา ทั้งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรคเพื่อไทย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการ​พรรค​ก้าวไกล​ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล​ นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.พรรคเป็นธรรม นายสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทยรวมพลัง ทำให้สื่อมวลชนแน่ใจว่ามีการประชุมเกิดขึ้นที่นี่

จนกระทั่งเวลา 18.30 น. แกนนำของทั้ง 8 พรรค ได้ลงมาร่วมแถลงข่าว นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการ​พรรค​ก้าวไกล​ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย นายทวี สอดส่อง ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ นายสุพันธ์ มงคลสุธี ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้า​พรรคเสรีรวมไทย​ ลงมาแถลงข่าวอย่างพร้อมเพรียง​

นายพิธา กล่าวถึงผลการหารือว่า ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยังคงเสนอชื่อของตนเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่กังวลเรื่องข้อกฎหมายที่เกรงว่าจะเป็นการเสนอญัตติซ้ำ แต่หากมีการตีความกฎหมายที่ต่างกัน เสนอชื่อนายพิธาไม่ได้ ก็ต้องมีการหารือกัน ส่วนตัวเชื่อว่าญัตติคือญัตติ การเสนอชื่อนายกฯ เป็นคนละเรื่องกัน โดยพรุ่งนี้จะมีการประชุมวิปสองฝ่าย รอฟังเหตุและผลของวิป รวมถึงฝ่ายตรงข้ามก่อน

เมื่อถามว่าจะตั้งหลักอย่างไรหากเสียงไม่พอในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ นายพิธา กล่าวว่า จะได้เป็นไปตามที่แถลงผ่านวิดีโอ โดยในสมรภูมิแรกหากคะแนนไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ หรือเพิ่มร้อยละ 10 คือ 344 เสียง ก็พร้อมถอย ถอยให้กับประเทศชาติและพรรคการเมืองอันดับ 2 ที่อยู่ใน MOU เดิม ส่วนจะเพิ่มเท่าไร ขอให้รอดู ยังทำงานและยังสู้อยู่

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการแก้ไขมาตรา 272 ที่ยื่นเข้าไปแล้วและต้องบรรจุภายใน 15 วัน ขอย้ำว่าเป็นการดำเนินการของพรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียว ไม่ได้ผูกมัดกับพรรคอื่น

นายพิธา ยังย้ำว่า ความสัมพันธ์ของ 8 พรรคร่วมยังเป็นไปได้ด้วยดี ยืนยันจะตั้งรัฐบาลของประชาชนให้ได้ใน 8 พรรค จึงมีมติออกมาในวันนี้ ส่วนการพูดคุยกับพรรคชาติไทยพัฒนา ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นมติของ 8 พรรค รวมถึงยังไม่ได้มีการเตรียมชื่อสำรองเอาไว้ ยังเป็นชื่อตนเพียงคนเดียวอยู่

ขณะที่การหารือกับ ส.ว. นายพิธา กล่าวว่า หลังจากวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการพูดคุยกับ ส.ว.อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกล แต่เป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล หวังจะได้เสียงเพิ่มจากคนที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนั้น พร้อมยอมรับว่ามีการต่อสายหาแกนนำพรรครัฐบาลเดิม เป็นเพียงการหารือถึงสถานการณ์การเมือง ไม่ได้เชิญเข้าร่วม

ส่วนที่มีกระแสงูเห่าที่จะไปเพิ่มคะแนนให้กับพรรคเสียงข้างน้อย นายพิธา กล่าวว่า เท่าที่ติดตามแต่ละพรรคบอกแล้วว่าจะไม่มีการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และในส่วนของพรรคก้าวไกลก็ติดตามตลอด จึงเชื่อว่าไม่มี ส.ส.คนใดไปเพิ่มเสียงให้ และที่ผ่านมาคนเป็นงูเห่าก็ได้รับบทเรียนแล้ว และพรรคเพื่อไทยยืนยันเช่นกัน

เมื่อถามว่าหากถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ในวันที่ 19 กรกฎาคม​นี้ นายพิธา กล่าวว่า แม้จะถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ความเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของตนไม่ได้หายไป จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล

เมื่อถามว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นส่วนที่ ส.ว. และพรรคการเมืองไม่โหวตให้ นายพิธา กล่าวว่า เรื่อง 112 เป็นเพียงข้ออ้างที่อยู่ข้างหน้า แต่ข้างหลังมีอีกหลายเรื่อง ซึ่งเป็นไปตามที่สื่อได้มีการวิเคราะห์กัน ที่อาจจะไปกระทบต่อผลประโยชน์ รวมถึงเรื่องที่พรรคจะไปปฏิรูปงบ กอ.รมน. จึงเชื่อว่าหากเรื่อง 112 หายไปจะมีเรื่องอื่นเข้ามาเป็นข้ออ้างอีก ขณะเดียวกันตนต้องรักษาคำพูด หาเสียงพูดไว้อย่างไรเราก็ต้องทำตามนั้น ไม่ใช่ว่าทำเพื่อต้องการเข้าสู่อำนาจในทุกวิถีทาง

นายพิธา ให้สัมภาษณ์หลังการแถลงมีกระแสโซเชียลมีเดียเปรียบสามีเพื่อไทยและเจ้าสาวก้าวไกล ถามว่ารักกันดีไหม นายพิธา บอกว่ารักกันดี ส่วนประเด็นที่มีการโยงเรื่องมือเปรียบเปรยกันว่าความรักครั้งนี้ เหมือนจะต้องเจอเมียน้อย หรือ “อีหนู ล” นายพิธาบอกว่า พรรคเราไม่มีพูดเรื่องเพศ หรือเปรียบแบบนี้อยู่แล้ว

ส่วนที่ ส.ว.เสรี บอกว่าหากพรรคก้าวไกลยังอยู่ใน 8 พรรคร่วมรัฐบาล ส.ว. จะไม่โหวตให้ นายพิธา บอกว่า เป็นเรื่องของคุณเสรี แต่คณะทำงาน 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีวิธีดำเนินการพูดคุยอยู่แล้ว และขอบคุณ 13 สมาชิกวุฒิสภาที่โหวตให้ ได้แสดงเจตนารมณ์อยู่ข้างพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง รวมไปถึงมั่นใจว่าวันที่ 19 กรกฎาคมนี้จะได้รับคะแนนเสียงมากขึ้น ตนมองว่าเป็นช่วงเวลาประจวบเหมาะทุกอย่าง 4 ประตู ในการถาโถมเข้ามาพอดิบพอดีกับการโหวตนายกรัฐมนตรี

Advertisement

รัฐบาลยกระดับจริยธรรมภาครัฐ

People Unity News : 15 กรกฎาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผยรัฐบาลยกระดับจริยธรรมภาครัฐ หนุนเกณฑ์กำหนดแนวทางและมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมยกระดับจริยธรรมภาครัฐ โดยที่ผ่านมาได้ผลักดันกฎหมายสำคัญให้มีผลบังคับใช้คือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้องค์กรกลางบริหารงานบุคลากรรัฐและองค์กรที่มีหน้าที่ ต้องดำเนินการออกประมวลจริยธรรม วางแนวปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่อย่างเป็นรูปธรรม

โดยองค์กรกลางบริหารงานบุคคลที่ได้ดำเนินการออกประมวลจริยธรรมไปแล้ว ได้แก่ คณะรัฐมนตรี(ครม.) จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการการเมือง, สภากลาโหมจัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนกลาโหม, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน(กพม.) จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงานขององค์การมหาชน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เพื่อให้เป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรมฯ เป็นไปอย่างครบถ้วน ล่าสุดคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ได้อนุมัติแนวทางการจัดทำและการกำหนดมาตรการที่ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งมีพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมและข้อกำหนดจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ ก.ม.จ. ได้เวียนหนังสือแจ้งให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลภาครัฐดำเนินการกำหนดมาตรการตามแนวทางที่ ก.ม.จ.กำหนดแล้ว พร้อมกับได้แจ้งการดำเนินการให้ ครม. ทราบเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา

แนวทางฯ ที่ ก.ม.จ. กำหนดนั้น ได้ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่ ต้องกำหนดกระบวนการพิจารณาและดำเนินการเรื่องร้องเรียนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม หรือหากเดิมได้กำหนดกระบวนการพิจารณาอยู่แล้วก็ให้ปรับให้ให้สอดคล้องกับแนวทางล่าสุดของ ก.ม.จ.

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับกระบวนพิจารณาเรื่องร้องเรียนนั้นจะต้องประกอบด้วยการดำเนินการอย่างน้อย ดังนี้

1) พิจารณาเรื่องร้องเรียนซึ่งประกอบด้วยข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเบื้องต้นที่เพียงพอ กำหนดการให้ความคุ้มครองบุคคลที่ให้ข้อมูลไว้เป็นพยาน

2) มีผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ

3) กำหนดระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน

ส่วนขั้นตอนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน มีดังนี้

1) ให้ส่วนงาน คณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายพิจารณาเรื่องร้องเรียนและรายงานต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับเรื่อง หากเป็นกรณีหัวหน้าหน่วยงานรัฐถูกกล่าวหาให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปจากหัวหน้าหน่วยงาน

2)ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป พิจารณาข้อเท็จจริงสั่งการเพื่อดำเนินการ (รวมทั้งสั่งลงโทษหากมีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน และแจ้งให้ผู้ร้องทราบโดยเร็ว

3) ดำเนินการบันทึกพฤติกรรมการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นลายลักษณ์อักษรตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้น

4) หน่วยงานรัฐรายงานการดำเนินการต่อองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม

5) องค์กรกลางบริงานงานบุคคลและองค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรม รายงานต่อ ก.ม.จ.

6) ให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยรายงานการดำเนินงานต่อสาธารณะด้วย

Advertisement

Verified by ExactMetrics