วันที่ 14 กันยายน 2024

นายกฯ มอบรางวัล “ค่าของแผ่นดิน” แนะทำดี ไม่ทำให้ขัดแย้ง

People Unity News : 7 กรกฎาคม 2566 นายกฯ มอบรางวัลประกาศเกียรติคุณเป็น “ค่าของแผ่นดิน” ประจำปี 2565 ระบุให้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ทำความดีให้คนอื่น และไม่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณเป็น “ค่าของแผ่นดิน” ประจำปี 2565 ว่า วันนี้เป็นการมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณของผู้ทำความดี ในโครงการที่เรียกว่า ค่าแห่งแผ่นดิน โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาชน ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจ

“อย่างที่บอกว่า แผ่นดินผืนนี้เป็นของคนไทยทุกคน ถึงเวลาเราต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ก็คือทำให้คนบนแผ่นดินนั้น มีความเจริญเติบโต มีความพอเพียง มีอาชีพ มีรายได้ที่เหมาะสม ซึ่งได้ทำหลายโครงการด้วยกัน และโครงการนี้เป็นโครงการที่ไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรต่างๆ เป็นการช่วยกันทำ ตามหลักการที่ตนเคยบอกอยู่เสมอ คือ เราต้องมีการเผื่อแผ่และแบ่งปัน ในเรื่องของการทำความดีให้คนอื่น นั่นคือสิ่งที่สำคัญ ที่จะตอบกลับมาเป็นกุศลให้ตัวเองและครอบครัวมีความสุข ความเจริญ ไม่ไปอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้ง และไม่ไปทำให้ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะพูดจะทำอะไรก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะทำ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

“ปณิธาน” ชี้ “ประชามติแยกดินแดน” เป็นบทเรียนสำคัญของภาครัฐ

People Unity News : 13 มิถุนายน 2566 “ปณิธาน” ระบุ กรณีขบวนการ นศ.แห่งชาติทำประชามติแยกดินแดน เป็นบทเรียนสำคัญของทุกหน่วยงานรัฐ ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ หาต้นเหตุของแนวคิด ชี้การแสดงออกขัดหลักจริยธรรมงานวิจัยทางวิชาการ ทำให้ถูกตีความผิด กม. กระทบความมั่นคง

นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีขบวนการนักศึกษาแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ จัดกิจกรรมเสวนาและจัดทำกระดาษให้ลงประชามติ แยกตัวเป็นเอกราช ว่า ประเด็นทางกฎหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดกฏหมายหรือไม่ ทั้งในระดับพื้นที่ กอ.รมน. ภาค4 ส่วนหน้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งต้องดูเรื่องการขัดกับกฎหมาย โดยเฉพาะขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึงต้องดูว่ามีประเด็นทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่

“เท่าที่ทราบเบื้องต้นมีกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงคงต้องตรวจสอบว่ามีความยึดโยงกับการกระทำผิดกฏหมายหรือไม่ และเรื่องนี้ต้องดูเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการปกป้องเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และเรื่องทางวิชาการที่ต้องแยกแยะให้ดี หากเป็นการทำแบบจำลองงานวิจัยที่ผ่านมาก็เคยทำมาหลายครั้ง ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือยึดโยงทางการเมืองในที่สาธารณะ ในรูปแบบของการแสดงพลัง การแสดงจุดยืนทางการเมือง” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวว่า ถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของเอกราชอธิปไตย แต่เป็นเรื่องของการกำหนดวิถี การกำหนดใจตนเอง การกำหนดลักษณะพหุวัฒนธรรม ซึ่งหลายประเทศก็มี ทั้งสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ที่ให้คนท้องถิ่นกำหนดวิถีของตนเอง โดยไม่ขัดกับหลักกฏหมายของประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็มีแนวนโยบาย มีข้อเสนอและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปแล้ว ให้ใช้นโยบายพหุวัฒนธรรมเพื่อท้องถิ่นกำหนดวิถีของตนเองได้ โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดวิถีทางการเมือง การปกครอง ทางวัฒนธรรมทางศาสนา ดังนั้น ต้องพิจารณาว่ากลุ่มของขบวนการนักศึกษามีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร  ถ้าดูเพียงคำแถลงการณ์ที่ออกมาอย่างเดียว อาจทำให้หลายคนวิตกกังวล จึงต้องไปดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

“ในภาพรวมการประกาศเอกราช การพยายามลงประชามติเพื่อแยกตนเองออกไปตั้งเป็นรัฐใหม่ การใช้ศัพท์เหล่านี้ขัดกับหลักกฏหมายชัดเจนอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง สุดท้ายคงต้องหาทางพูดคุยกันว่าแนวทางที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร การให้เสรีภาพส่วนหนึ่ง การปฏิบัติตามกฏหมายเป็นอีกส่วนหนึ่ง และต้องดูเรื่องความปะทุความแตกแยกเพิ่มขึ้น เพราะมีหลายกลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ อาจต้องควบคุมตรงนั้น ไม่ให้บานปลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย การเมือง เรื่องท้องถิ่น เหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวว่า กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญมากสำหรับทุกฝ่ายหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานทางปกครอง ฝ่ายมหาวิทยาลัย อาจารย์ และนักศึกษาต้องทำงานร่วมกันมากกว่านี้ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งมีข้อสังเกตมานานเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวลักษณะนี้ ที่อาจทำให้สถานการณ์ผกผัน ตึงเครียดทั้งที่ไม่ควรจะเป็น เรามีนโยบายเรื่องพหุสังคมที่ดีอยู่แล้ว มีท้องถิ่นที่สนับสนุนที่ดีอยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำว่าหากทำในเชิงวิชาการถือว่าไม่ผิดใช่หรือไม่ เพียงแต่เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนอาจเกิดข้อถูกเถียงในสังคมเป็นวงกว้าง นายปณิธาน  กล่าวว่า ในเชิงวิชาการเมื่อสำรวจความคิดเห็น จะปกป้องคนที่ให้สัมภาษณ์ โดยไม่เปิดเผยเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของบุคคล ซึ่งเป็นข้อบังคับในการทำวิจัย ทางวิชาการอย่างเข้มงวด เพราะบางเรื่องหากเปิดออกไปสู่สาธารณะ อาจถูกตีความว่าผิดกฎหมาย กระทบกับความมั่นคง งานวิชาการจะไม่ทำลักษณะนี้ เพราะจะปกป้องคนที่มาแถลงการณ์ จะไม่ประกาศแบบนั้น

“งานวิชาการยังมีข้อบังคับอีกมาก ไม่ใช่จะบอกว่าเป็นงานวิชาการแล้วจะทำได้ อันนั้นเป็นความคลาดเคลื่อน  ไม่ใช่ว่ามหาวิทยาลัยจัด  มีอาจารย์นั่งอยู่หนึ่งคน เชิญฝ่ายการเมือง และปล่อยให้ประกาศอะไรที่หมิ่นเหม่ทางวิชาการ เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะมีข้อกำหนดเรื่องจริยธรรมของการทำงานวิชาการ ที่ทุกคนต้องเซ็นรับทราบไว้ก่อน ก่อนจะถามประเด็นละเอียดอ่อนแบบนี้ และที่ผ่านมาทำไปแล้วหลายโครงการ ซึ่งไม่เคยมีปัญหา เพราะอยู่ในกรอบข้อบังคับเชิงจริยธรรมที่ต้องปกป้องอัตลักษณ์บุคคล” นายปณิธาน กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า รัฐควรเร่งกระบวนการสร้างความเข้าใจหรือไม่ นายปณิธาน กล่าวว่า หน่วยงานในภาครัฐต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับ อาจารย์ คณะ และมหาวิทยาลัยที่จัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ต้องพูดคุยถึงกรอบการจัดงาน หากระมัดระวังและทำตามกรอบคงไม่เลยเถิดไปถึงการลงประชามติ และนำออกสู่สังคมออนไลน์ งานวิชาการมีความละเอียดอ่อน จะไม่ถ่ายทอดหรือใช้สื่อแบบนี้ ซึ่งต้องไปดูกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยและใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนแนวโน้มของกลุ่มเยาวชนหรือบุคคลในพื้นที่จะเป็นอย่างไร นายปณิธาน กล่าวว่า ตนกำลังทำงานวิจัยที่สำรวจความคิดเห็นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และคนในพื้นที่ต่อความรุนแรงแบบสุดโต่ง ซึ่งได้รับความสนับสนุนงบประมาณจากสำนักการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งความรุนแรงแบบสุดโต่งมีหลายรูปแบบในเชิงวัฒนธรรม เชิงครอบครัว เชิงการเมืองและเชิงศาสนา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับบุคคลจำนวนมาก

“การแบ่งแยกดินแดนเป็นความสุดโต่งด้านหนึ่ง ผมกำลังลงลึกกับงานวิจัยเรื่องนี้มากขึ้น โดยประเมินการพูดคุย การกำหนดใจตัวเอง ซึ่งเป็นความคิดที่พูดกันมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ จึงทำให้หลายคนเริ่มสงสัยว่าแนวความคิดแบบนี้พัฒนาอย่างไร เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร เพราะโดยทั่วไปในต่างประเทศมีสองแบบ คือต้องการแยกประเทศตั้งเป็นรัฐเอกราช จับอาวุธต่อสู้บางพื้นที่ หรือเป็นเรื่องของชนเผ่าที่อยากกำหนดวิถีของตนเอง ไม่เกี่ยวกับการแยกรัฐ แยกประเทศ เพราะผิดกฏหมายของประเทศนั้น ของเราก็มีข้อสงสัยว่าการเคลื่อนไหวเป็นแบบไหน ความคิดต้นตอเหล่านี้มาจากไหน คงต้องไปถามบุคคลที่สอนและทำเวิร์คช็อปว่าคิดเห็นอย่างไร” นายปณิธาน กล่าว

Advertisement

เผยเกณฑ์ทหารปีนี้ยอดสมัครใจกว่า 3.5 หมื่นคน

People Unity News : 24 เมษายน 2566 รองโฆษก ทบ.เผยเกณฑ์ทหารปีนี้ ยอดสมัครกว่า 3 หมื่นคน สูงกว่าทุกปี ผบ.ทบ.กำชับหน่วยเตรียมพร้อมรับน้องเล็กของกองทัพ พร้อมมีมาตรการป้องกันโควิด-ฮีทสโตรก

พล.ต.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ในการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) เพื่อติดตามการปฏิบัติงานประจำสัปดาห์ ของกองทัพบก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจเลือกทหารกองประจำการ ซึ่งดำเนินการได้อย่างเรียบร้อยตามนโยบายของกองทัพที่ปรับและพัฒนาระบบการตรวจเลือก อาทิ การจัดคณะกรรมการตรวจเลือกประจำพื้นที่ ผลสำเร็จของการมีผู้สมัครเป็นทหารมากกว่าทุกปี เป็นจำนวนถึง 35,617 คน โดยในส่วนของกองทัพบกมีผู้สมัครสูงเกือบ 40% ซึ่งกองทัพบกจะนำข้อมูลผลการตรวจเลือก ข้อจำกัดในการตรวจเลือกปีนี้ไปพัฒนาต่อไป สำหรับการฝึกทหารใหม่ผลัด 1 / 66 จะรายงานตัววันที่ 15 พฤษภาคม นี้

“ผู้บัญชาการทหารบกกำชับให้ทุกหน่วยฝึกเตรียมความพร้อมในการดูแลทหารใหม่ตามแนวทางที่กองทัพบกได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะในปีนี้ต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์ที่เป็นความท้าทาย ได้แก่ การกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการเจ็บป่วยจากความร้อน (Heat Stroke) จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปีนี้ โดยผู้ฝึกและผู้บังคับหน่วยต้องศึกษาข้อมูล เตรียมการป้องกันผลกระทบหรืออันตรายในการฝึกทหารจะถึงนี้ทุกมาตรการ และปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์” รองโฆษกกองทัพบก กล่าว

พล.ต.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนในช่วงนี้ ผู้บัญชาการทหารบกกำชับหน่วยทหารให้มีมาตรการดูแลป้องกันความเจ็บป่วยจากอากาศร้อนและการเกิดอัคคีภัย โดยเฉพาะการดูแลระบบไฟฟ้า คลังยุทโธปกรณ์ พื้นที่ที่อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อเพลิง การปฏิบัติงานของกำลังพลที่ต้องสอดคล้องกับสภาพอากาศ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย

Advertisement

นายกฯ ส่งความรัก ความระลึกถึง ความปรารถนาดียังพี่น้องชาวไทยมุสลิม

People Unity News : 20 เมษายน 2566 นายกฯ กล่าวในวันอีฎิ้ลฟิตริ ฮ.ศ.1444 ส่งความรัก ความระลึกถึง ความปรารถนาดียังพี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกคน ชื่นชมจิตใจอันบริสุทธิ์ที่บริบูรณ์ไปด้วยศรัทธา ในการทำคุณงามความดีถวายแด่เอกองค์พระผู้อภิบาล

วันที่ 20 เมษายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวคำปราศรัยผ่านบันทึกวีดิทัศน์เนื่องในโอกาสวันอีฎิ้ลฟิตริ ฮิจเราะห์ศักราช 1444 ส่งความรัก ความระลึกถึง และความปรารถนาดีมายังพี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกคนทั้งที่พำนักอยู่ในประเทศและต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันอีฎิ้ลฟิตรินี้นับวาระแห่งการเฉลิมฉลองวันสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ถือเป็นการข้ามผ่านการทดสอบศรัทธาตามหลักศาสนกิจโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมถึงจิตใจอันบริสุทธิ์ ที่บริบูรณ์ไปด้วยศรัทธาในการทำคุณงามความดีถวายแด่เอกองค์พระผู้อภิบาล ด้วยความมุ่งมั่น เสียสละ และอดทนของพี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกคน อีกทั้งยังแสดงถึงความสัมพันธ์ และความเอื้ออาทรต่อกันในหมู่ครอบครัว มิตรสหาย อันเป็นวิถีปฏิบัติที่งดงามและเปี่ยมไปด้วยความรักอย่างแท้จริง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอสันติสุขจงประสบแด่ทุกคน และขอพรอันประเสริฐจากเอกองค์พระผู้อภิบาล ได้โปรดประทานความเมตตา ความสุขสวัสดี พร้อมทั้งกำลังกาย กำลังใจ และจิตวิญญาณที่เข้มแข็งในการปฏิบัติตนเป็นสัตบุรุษที่เพียบพร้อมด้วยศรัทธาและคุณงามความดี เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง สังคม และประเทศชาติบ้านเมืองสืบต่อไป

Advertisement

นายกฯ ฝากบทพระราชนิพนธ์ “ไร้รักไร้ผล” ให้สื่อคิด

People Unity News : 5 เมษายน 2566 นายกฯ กวักมือเรียกสื่อ ยกบทพระราชนิพนธ์ ร.6 “ไร้รักไร้ผล” ฝากให้ช่วยคิด อย่าให้เกิดวิกฤติทำชาติเสียหาย ปัดตอบ ส่งสัญญาณ หลังเลือกตั้งวุ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กวักมือเรียกผู้สื่อข่าว เพื่อให้มาสัมภาษณ์ว่า วันนี้ (5 เม.ย.) เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม ครบ 136 ปี ซึ่งอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาอย่างยาวนาน ด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงก่อตั้งมา เราในฐานะเป็นลูกเป็นหลาน ก็ต้องช่วยกันรักษาธำรงไว้ ความเข้มแข็งเกียรติยศเกียรติศักดิ์ของกองทัพเหล่าทัพ และของกระทรวงกลาโหม ต้องรักบ้านรักเมืองให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นบ่อเกิดของความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เคยพูดแล้วว่า หากบ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย มีปัญหามาก ๆ จะทำให้โอกาสหลาย ๆ อย่างหายไปทันที ในมุมมองของต่างประเทศ

“บทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 “ไร้รักไร้ผล” จำได้ไหม จำไม่ได้กันหมดแล้ว ให้ลองไปเปิดฟังดูก็แล้วกัน “อันชาติใดไร้รักสมัครสมาน จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล หากชาติย่อยยับและอับจน ประชาชนจะสุขอยู่ได้อย่างไร” ไปคิดดู ฝากทุกคนด้วย ฝากประชาชนทุกคนช่วยกันคิดด้วยก็แล้วกัน ทำให้บ้านเมืองเราสงบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น เพื่อเราจะก้าวเข้าสู่เวทีโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรีและสง่างาม” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้มุมมองต่าง ๆ ของหลายประเทศ ขอให้ติดตามพัฒนาการด้านความมั่นคงของทุกประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน หากบ้านเมืองเราสงบเรียบร้อย เราก็จะสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ทุกมิติ ทั้งความมั่นคง สิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ ช่วยกันก็แล้วกัน ขอให้ช่วยกันนำพาบ้านเมืองไปสู่ความปลอดภัยสันติสุข อย่าให้เกิดวิกฤตการณ์อะไรต่าง ๆ ที่ทำให้ประเทศชาติเสียหายก็แล้วกัน ในช่วงนี้และช่วงต่อ ๆ ไป

เมื่อถามย้ำว่า มองว่าจะมีสัญญาณถึงความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ไปคิดเอาเอง

ส่วนสัญญาณความวุ่นวายเกิดมาจากพรรคขั้วตรงข้ามรัฐบาลใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไม่เกี่ยว ๆ หลาย ๆ อย่างรู้อยู่แล้ว ถามแบบไม่รู้เรื่องได้อย่างไร บ้านเมืองมันจะสงบได้ด้วยอะไรล่ะ

เมื่อย้ำว่า บางเรื่องพูดไม่ได้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุเพียงสั้น ๆ ว่า ไปคิดเอาเอง

Advertisement

เดือนรอมฎอน 2566 นายกฯ อวยพรพี่น้องชาวมุสลิมปฏิบัติศาสนกิจบรรลุผลสำเร็จ

People Unity News : 23 มีนาคม 2566 เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 22 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวผ่านบันทึกวีดิทัศน์ เนื่องในโอกาสต้อนรับเดือนรอมฎอน ประจำปี พ.ศ. 2566 (ฮ.ศ. 1444) ออกอากาศทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย มีข้อความถึงพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่รัก ว่า

ในโอกาสต้อนรับเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1444 อันเป็นเดือนศักดิ์สิทธิ์และเป็นห้วงเวลาสำคัญทางศาสนาอิสลาม ขอส่งความรัก ความระลึกถึง และความปรารถนาดี มายังพี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศและพี่น้องชาวมุสลิมทั่วโลก และขอแสดงความยินดีต่อพี่น้องชาวมุสลิมทุกท่านที่จะได้ร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจอันประเสริฐยิ่งอย่างสมบูรณ์ตามหลักศาสนาอีกครั้ง ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง เพื่อชำระขัดเกลาร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ ยึดมั่นในการทำคุณงามความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน และยังเป็นห้วงเวลาที่จะได้น้อมจิตรำลึกถึงพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานอันศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นการส่งกำลังศรัทธาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า นำมาซึ่งความรักและประโยชน์สุขต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ

พร้อมระบุในช่วงท้ายว่า “ในโอกาสอันเป็นสิริมงคลนี้ ขออวยพรให้พี่น้องทุกท่านได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ตั้งมั่นไว้ทุกประการ และขออานุภาพแห่งองค์อัลลอฮ์ที่พี่น้องมุสลิมทุกท่านเคารพนับถือ ได้โปรดประทานความเมตตา ความสุขสวัสดีปลอดภัย และความเจริญ มีกำลังกาย กำลังใจ รวมทั้งจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง ดำรงตนเป็นคนดีของสังคมและมีความอารีต่อสาธารณะ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสรรค์สร้างให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าและมั่นคงสืบไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำนักจุฬาราชมนตรี ออกประกาศ เรื่อง กำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1444 ระบุว่า ตามที่ได้ประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1444 ในวันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้านั้น ปรากฏว่า มีผู้เห็นดวงจันทร์ จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1444 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566

 Advertisement

เตรียมเสนอกฎหมายนิรโทษกรรรมทุกสี

People Unity News : 9 พฤศจิกายน 2565 “หมอระวี” เตรียมเสนอกฎหมายนิรโทษกรรรมทุกสี  ยกเว้นโทษใน 3 คดี  “ทุจริต-คดีอาญารุนแรง-ม.112” เตรียมประสาน “นายกฯ – พรรคร่วมรัฐบาล” ผลักดันเข้าสู่สภาฯ

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่   กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาได้ไปหารือกับหลายฝ่าย เพื่อหาทางสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ยุติความแตกแยกทางความคิดในบ้านเมืองช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา พร้อมยกร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้วชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน  มีวัตถุประสงค์ให้คนในชาติกลับสู่ความสงบสุขสามัคคีกัน โดยสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565  ครอบคลุมตั้งแต่การใช้วาจา การโฆษณาต่อต้านรัฐบาล  การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการชุมนุม  การประท้วงที่กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นที่เป็นเหตุสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง จะไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาและแพ่ง ให้พ้นจากการกระทำผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

นพ.ระวี กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ จะไม่ครอบคลุมถึงความผิด 3 กรณี  ได้แก่ 1.การทุจริตคอร์รัปชัน 2.ความผิดทางอาญาที่รุนแรง  เช่น การยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือบุคคลอื่น 3.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 112   ไม่อยู่ในข่ายได้รับนิรโทษกรรม  หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้   ถ้าคดีใดยังไม่ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ระหว่างสอบสวน ถือว่าให้ระงับการสอบสวน หรือยุติการส่งฟ้องต่อศาล   หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้ถอนฟ้อง  หรือถ้าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล  ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี  และกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดไปแล้ว ให้ถือว่า บุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด หากใครอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุด และได้รับการปล่อยตัว

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ เพิ่งยกร่างเสร็จเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน  2565 ขณะนี้จะนำไปประสาน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบผลักดันเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จะพยายามผลักดันเข้าสู่สภาฯให้เร็วที่สุด ให้พิจารณาเสร็จทันก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯนี้  โดยใช้เวลาพิจารณาในชั้น กมธ.ไม่นาน แค่ 2-3 สัปดาห์ก็ส่งให้สภาลงมติวาระ 2-3  ได้ เพราะจะมีเนื้อหาแค่ 7 มาตราเท่านั้น มั่นใจจะได้รับความเห็นชอบจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพราะตอนยกร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ไปหารือกับแกนนำทุกกลุ่ม ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง  กปปส. แม้จะไม่ได้เห็นชอบด้วยทุกคน แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นชอบด้วย” นพ.ระวี  กล่าว

Advertisement

ครม.เห็นชอบกรอบแนวทางสร้างสังคมสงบสุขเคารพความต่าง

People Unity News : 27 กันยายน 2565 ครม.เห็นชอบ แนวทางเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคม เพื่อสร้างสังคมที่สงบสุข ประชาชนอยู่ร่วมกันโดยเคารพความแตกต่างหลากหลายและสิทธิพื้นฐานของมนุษย์

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคม ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในการสร้างสังคมที่สงบสุข ประชาชนอยู่ร่วมกันโดยเคารพความแตกต่างหลากหลาย และสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ยึดถือหลักความอดทนอดกลั้น ยึดมั่น ในแนวทางสายกลาง และปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์และจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยและมีความมั่นคง ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลกของสหประชาชาติ แผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและรับมือกับอุบัติการณ์ของการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงแห่งภูมิภาคอาเซียน และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติปี 2562 – 2565 ของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติปี 2561 – 2580 ในประเด็นด้านเสริมสร้างความมั่นคง

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า แนวทางเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคมมีแนวทางการดำเนินการที่บูรณาการครบทุกมิติ ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก คือ

1.การป้องกัน (Prevention) มุ่งเฝ้าระวังความขัดแย้งและการกลั่นแกล้งกันทางออนไลน์ สร้างภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์และการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ส่งเสริมการใช้สื่ออย่างเหมาะสมและรู้เท่าทัน  เช่น มีระบบป้องกันการรังแกกันในโรงเรียน Application Buddy ให้เด็กสามารถเรียนรู้เรื่องอารมณ์ตนเอง การจัดการอารมณ์ตนเอง การจัดการสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งรังแกกัน

2.การยับยั้ง (Deterring/Restraint) มุ่งลดปัจจัยและขจัดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การมีแนวคิดที่นิยมความรุนแรง  ส่งเสริมการใช้การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ และ

3.การฟื้นฟูเยียวยา (Rehabilitation) ที่จะเป็นกระบวนการนำผู้ที่มีแนวคิดที่นิยมความรุนแรงหรือสุดโต่งกลับสู่ทางสายกลางและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข โดยสร้างมาตรฐานในการดูแลกลุ่มเสี่ยง “กลไกการขับเคลื่อนจะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในสังคม เป้าหมายเพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ดังนั้นจึงมีคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติที่จะขับเคลื่อนระดับนโยบาย หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจรับผิดชอบในระดับปฏิบัติ สำหรับการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินการนั้น ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกันดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นการสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งเพื่อให้ประเทศชาติมีความมั่นคงต่อไป

Advertisement

กองทัพบกระดมสมองนักวิชาการ “การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรง”

People Unity News : 21 มิ.ย. 65 ผบ.ทบ.ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นการบรรยายวิชาการหัวข้อ “การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรง” ผบ.ทบ. แนะใช้การพูดคุย ลดความขัดแย้ง อยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธีในสังคมที่แตกต่าง

กองทัพบกจัดบรรยายวิชาการ ในหัวข้อ “การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยสันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรง” สะท้อนมุมมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการ โดยมีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสันติวิธีมาเป็นวิทยากรบรรยาย ได้แก่ นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า นางผกาวดี สุพรรณจินตวนา ประธานศูนย์การศึกษาสิทธิมนุษยชนความขัดแย้งและสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ พล.ต.ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาและวิทยาการด้านความมั่นคง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยมี พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพ ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยบรรยายครั้งนี้ ได้ผ่านระบบ Zoom Meeting ไปยังหน่วยทหารทั่วประเทศ

การจัดบรรยายวิชาการครั้งนี้เป็นหนึ่งในนโยบายของกองทัพบก สืบเนื่องมาจากในปัจจุบันหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาค ส่งผลต่อความมั่นคงของประชาคมโลกและประเทศไทย ปัจจัยหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งหรือการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน กองทัพบกจึงมีนโยบายให้ความรู้และแสวงหาข้อมูล เพื่อนำไปเป็นข้อพิจารณาและเป็นแนวทางปฏิบัติงาน รวมถึงเตรียมการด้านความมั่นคงเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลต่อสังคมไทยในอนาคต โดยวิทยากรได้นำเสนอแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธี อาทิ การสร้างสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หลักการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยสันติวิธี การเลือกใช้เครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง แม้มีความแตกต่างในด้านวัฒนธรรม พื้นฐานทางสังคม แนวคิด ความเชื่อ ก็สามารถมุ่งสู่สันติภาพได้โดยไม่มีความรุนแรง เป็นต้น

ผู้บัญชาการทหารบกร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยระบุว่า การอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธีบนความคิดเห็นที่แตกต่าง ใช้การพูดคุยในระดับที่เหมาะสมจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคม กองทัพบกตั้งใจอยากให้สังคมไม่มีความขัดแย้ง จึงเปิดรับฟังข้อมูลและแสวงหาวิธีการที่จะทำให้สังคมมีความสงบสุข และพร้อมที่จะเชิญนักวิชาการผู้มีประสบการณ์มาเติมข้อมูลความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

รัฐบาล-กทม.พร้อมทำงานร่วมกันเพื่อ ปชช.

People Unity News : 17 มิถุนายน 2565 นายกฯ จับมือ “ชัชชาติ” ถ่ายรูปหลังแถลง ศบค. ย้ำพร้อมทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่เพื่อประชาชน ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วยกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่ออนุมัติการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในส่วนของผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงแล้ว และเป็นโอกาสอันดีที่ได้พบปะกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยา ซึ่งได้พูดคุยและยืนยันจะทำงานร่วมกันทุกเรื่อง ได้รู้จักกันดีทุกคนอยู่แล้ว ยืนยันไม่มีปัญหาในการทำงาน และช่วยกันทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วประเทศ วันนี้เชิญนายกเมืองพัทยามาเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว ส่วนผู้ว่าฯ กทม.ต้องเข้าร่วมการประชุมตามวาระปกติอยู่แล้ว ทุกฝ่ายเข้าใจกันดี ไม่มีปัญหา เพราะวันนี้ประเทศต้องเดินหน้าไปด้วยกัน

นายชัชชาติ กล่าวว่า พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ ต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว มติ ศบค.ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สะท้อนว่าสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง และพร้อมร่วมทำงานกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า จากการประชุมได้รับทราบถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด ซึ่งในส่วนของเมืองพัทยา ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะนำเสนอผ่าน ศบค.ต่อไป

จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้เชิญนายชัชชาติและนายปรเมศวร์กลับขึ้นไปบนตึกไทยคู่ฟ้า และนำเดินชมภายในตึกภักดีบดินทร์และบริเวณโดยรอบ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยว พร้อมชักชวนทุกคนร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน สนิทกัน พี่น้องกันทั้งนั้น จำได้ว่าเจอกันมานานแล้ว พร้อมชมนายชัชชาติว่า พอมาเจออีกทีแต่งเครื่องแบบดูหล่อ จากนั้นได้ถ่ายรูปร่วมกันบริเวณด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยนายกรัฐมนตรีจับมือนายชัชชาติและนายปรเมศวร์ระหว่างถ่ายรูปด้วย

Advertisement

Verified by ExactMetrics