วันที่ 13 กันยายน 2024

ปลดประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ

People Unity News : 4 ตุลาคม 2566 วอชิงตัน – นายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจากพรรครีพับลิกันถูกสภาลงมติปลดออกจากตำแหน่งแล้ว นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ

การลงมติปลดนายแมคคาร์ธีมีขึ้นหลังจากที่นายแมทธิว เกตซ์ ส.ส.รีพับลิกันจากรัฐฟลอริดา ยื่นญัตติต่อสภาโดยให้เหตุผลว่า นายแมคคาร์ธีสูญเสียการสนับสนุนจากพรรคให้ทำหน้าที่แล้ว โดยในการลงมติครั้งนี้มีเสียงสนับสนุนให้ปลดนายแมคคาร์ธี 216 ต่อ 210 เสียง เป็นเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เดโมแครต 208 เสียงและ ส.ส.รีพับลิกัน 8 เสียง

สาเหตุของความขัดแย้งภายในพรรครีพับลิกันมาจากความไม่พอใจนายแมคคาร์ธีซึ่งยอมอ่อนข้อให้พรรคเดโมแครตโดยเฉพาะการผ่านกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สหรัฐรอดจากการปิดหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลกลางหรือกัฟเวิร์นเมนต์ ชัตดาวน์ (government shutdown) ไปอย่างฉิวเฉียด

Advertisement

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เดินทางด้วยรถไฟ ถึงรัสเซียแล้ว

People Unity News : 12 กันยายน 2566 มอสโก – สำนักข่าวเรีย โนวอสติ ของทางการรัสเซียรายงานวันนี้ว่า รถไฟขบวนที่นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเดินทางไปด้วยนั้น เข้าประเทศรัสเซียแล้ว

เรีย โนวอสติ รายงานว่า รถไฟเดินทางข้ามชายแดนจากเกาหลีเหนือไปยังแคว้นพริมอร์สกี้ของรัสเซียแล้ว โดยภาพถ่ายแสดงให้เห็นขบวนรถไฟสีเขียวเข้มถูกลากไปตามรางโดยหัวรถจักรของการรถไฟรัสเซีย เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาเชื่อว่า ขบวนรถไฟของนายคิม จะเข้าประเทศรัสเซียในวันนี้

สื่อของทางการรัสเซียรายงานว่า นายคิม จะพบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียในสัปดาห์นี้ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า รัสเซียน่าจะขอจัดซื้อกระสุนปืนใหญ่และขีปนาวุธต่อต้านรถถังจากเกาหลีเหนือ ซึ่งต้องการเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านดาวเทียมและเรือด้ำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นการตอบแทน ขณะนี้นายปูตินอยู่ที่เมืองวลาดิวอสต็อก เพื่อข้าร่วมการประชุมประจำปีด้านเศรษฐกิจ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่า ผู้นำรัสเซียและเกาหลีเหนือจะหารือกันในประเด็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนที่ไม่ควรเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือประกาศอย่างเปิดเผย และจะไม่สนต่อคำเตือนใด ๆ ของสหรัฐ หลังจากที่สหรัฐกล่าวว่า เกาหลีเหนือจะต้องชดใช้หากจัดหาอาวุธให้กับรัสเซียเพื่อใช้ในการรบกับยูเครน

Advertisement

รัสเซียอ้างประสบความสำเร็จในการประชุมสุดยอดจี 20

People Unity News : 11 กันยายน 2566 นิวเดลี – นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียอ้างชัยชนะทางการทูตด้วยการประกาศว่า ประสบความสำเร็จในการประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20 (G20) ที่กรุงนิวเดลีของอินเดีย

นายลาฟรอฟกล่าวหลังจากการประชุมสุดยอดเป็นเวลา 2 วันปิดฉากลงว่า รัสเซียสามารถขัดขวางโลกตะวันตกที่พยายามทำให้วาระการประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องยูเครน แต่เนื้อหาปฏิญญาการประชุมไม่ได้พูดถึงรัสเซียเลย ประธานจี 20 คืออินเดียสามารถรวบรวมเสียงของจี 20 จากซีกโลกใต้ได้อย่างแท้จริง บ่งบอกว่าพันธมิตรของรัสเซียอย่างบราซิล แอฟริกาใต้ อินเดียและจีนได้แสดงบทบาทในการประชุมนี้

ผู้นำจี 20 แสดงความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากเรื่องรัสเซียทำสงครามในยูเครน และกล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากสงคราม แต่ไม่ได้ประณามรัสเซียในปฏิญญาที่ตกลงเนื้อหากันในวันที่ 9 กันยายน ขณะที่กระทรวงต่างประเทศยูเครนประณามปฏิญญานี้ว่า ไม่มีสิ่งใดน่าภาคภูมิใจ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวเผยว่า สหรัฐพอใจกับผลการประชุม

จี 20 ประกอบด้วย 7 ชาติในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือจี 7 (G7) (อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่นและสหรัฐ) และประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้และทูร์เคียหรือตุรกี โดยในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ไม่มีประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียและประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเข้าร่วม

Advertisement

“ปูติน” ให้แวกเนอร์สาบานสวามิภักดิ์

People Unity News : 27 สิงหาคม 2566 รัสเซีย – “ปูติน” ออกกฎหมายกำหนดให้นักรบรับจ้างกลุ่มแวกเนอร์ และนักรบอาสากลุ่มอื่นๆ ลงชื่อในเอกสารสาบานตนจะภักดีต่อรัสเซีย

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ออกกฎหมายกำหนดให้นักรบรับจ้างกลุ่มแวกเนอร์และนักรบอาสากลุ่มอื่นๆ ต้องลงชื่อในเอกสารประกาศสาบานตนว่าจะภักดีต่อรัสเซีย และจะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และผู้นำระดับสูง กฎหมายดังกล่าวมีออกมาไม่กี่วันหลังเกิดเหตุเครื่องบินเล็กตกนอกกรุงมอสโกซึ่งมีชื่อของนายเยฟกินี พริโกซิน หัวหน้ากลุ่มแวกเนอร์ อยู่ในกลุ่มผู้อยู่บนเครื่อง 10 คน ซึ่งเสียชีวิตทั้งหมด แม้ทางการรัสเซียยังไม่ยืนยันการเสียชีวิตของพริโกซินเป็นทางการ แต่รัสเซียปฏิเสธแล้วว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังและไม่ได้สั่งลอบสังหารนายพริโกซินตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต

Advertisement

ปูตินส่งเรือติดขีปนาวุธความเร็ว ‘ไฮเปอร์โซนิก’ มุ่งหน้ามหาสมุทรแอตแลนติก

People Unity News : 5 มกราคม 2566 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียส่งเรือลาดตระเวณ ติดขีปนาวุธนำวิถีความเร็ว ‘ไฮเปอร์โซนิก’ รุ่นใหม่มุ่งหน้าไปยังมหาสมุทรแอตเเลนติก ในวันพุธซึ่งเป็นสัญญาณไปยังโลกตะวันตกว่า รัสเซียจะไม่ผ่อนท่าทีในสงครามยูเครน ตามรายงานของรอยเตอร์

ขณะนี้ รัสเซีย จีน และสหรัฐฯ กำลังเเข่งขันกันพัฒนาอาวุธความเร็ว ‘ไฮเปอร์โซนิก’ ซึ่งเร็วกว่าการเดินทางของเสียงอย่างน้อย 5 เท่า เพื่อความได้เปรียบทางทหาร

รอยเตอร์รายงานว่า ปูตินระบุถึงศักยภาพของอาวุธดังกล่าว ที่ติดไปกับเรือฟริเกตของรัสเซียชื่อ ‘Admiral of the Fleet of the Soviet Union Gorshkov’ ระหว่างการประชุมผ่านระบบวิดีโอกับรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เซอร์เก ชอยกู และอิกอร์ โครคห์มอล ผู้บัญชาการเรือลำดังกล่าว

โดยอาวุธ ‘ไฮเปอร์โซนิก’ นี้มีชื่อว่า ‘เซอร์คอน’ (Zircon) ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของโครงการอาวุธความเร็วสูงของรัสเซีย

ผู้นำรัสเซียกล่าวด้วยว่า “ผมมั่นใจว่า อาวุธที่มีอานุภาพขนาดนี้จะสามารถปกป้องรัสเซียอย่างหวังผลได้ หากมีภัยคุกคามภายนอกเกิดขึ้น”

ปูตินระบุอีกว่า อาวุธดังกล่าวยังไม่มีประเทศใดสามารถเทียบชั้นกับรัสเซียได้

ทั้งนี้ ในยูเครนรัสเซียใช้ขีปนาวุธความเร็ว ‘ไฮเปอร์โซนิก’ อีกชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่าคินซอล (Kinzhal)

รัฐมนตรีชอยกู กล่าวว่า เรือฟริเกต Gorshkov จะเดินทางไปยังมหาสมุทรแอตเเลนติกและมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีภารกิจหลักคือต้านภัยคุกคามต่อรัสเซีย และรักษา “สันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคร่วมกับมิตรประเทศ”

ชอยกูกล่าวว่า ขีปนาวุธ ‘เซอร์คอน’ มีความเร็วสูงถึง 9 เท่าของเสียง และยิงได้ไกลว่า 1,000 กิโลเมตร

รายงานของหน่วยงานวิจัยของรัฐสภาสหรัฐฯ U.S. Congressional Research Service ระบุว่า ขีปนาวุธ ‘ไฮเปอร์โซนิก’ ของรัสเซียกับจีนถูกออกเเบบมาเพื่อใช้กับหัวรบนิวเคลียร์

เนื่องจากมีความเร็วและศักยภาพในการหลบหลีกสูง จึงเป็นการยากที่จะยิงสกัดจรวด ‘ไฮเปอร์โซนิก’

ประเทศอื่น ๆ ที่กำลังพัฒนาอาวุธชนิดเดียวกันนี้ ได้เเก่ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ และญี่ปุ่นตามข้อมูลของหน่วยงานวิจัยดังกล่าว

Advertisement

กษัตริย์มาเลเซียแต่งตั้ง “อันวาร์ อิบราฮิม” เป็นนายกฯ คนใหม่

People Unity News : 24 พฤศจิกายน 2565 กัวลาลัมเปอร์ สมเด็จพระราชาธิบดีอัล-สุลต่าน อับดุลลาห์ แห่งมาเลเซีย ทรงแต่งตั้ง นายอันวาร์ อิบราฮิม หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านมาเลเซีย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซียในวันนี้ โดยนายอันวาร์เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำมาเลเซียในเวลา 17.00 น. วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น

สำนักพระราชวังมาเลเซียระบุในแถลงการณ์วันนี้ว่า กษัตริย์มาเลเซียทรงแต่งตั้งนายอันวาร์ อิบราฮิม ประธานกลุ่มปากาตัน ฮาราปัน ที่เป็นฝ่ายค้านและประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซีย หลังจากที่พระองค์ได้ทรงหารือร่วมกับเจ้าผู้ครองรัฐในมาเลเซียทั้งหมด 9 รัฐ โดยนายอันวาร์เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำมาเลเซียในเวลา 17.00 น. วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเวลา 16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะทำให้นายอันวาร์ วัย 75 ปี ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกหลังลงเล่นการเมืองมายาวนานถึง 30 ปี และเผชิญกับจุดพลิกผันในเส้นทางการเมืองนับตั้งแต่ที่เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีไปจนถึงตกเป็นนักโทษจากความผิดจากพฤติกรรมร่วมเพศทางทวารหนักและกลายเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านมาเป็นเวลานาน และถือเป็นการสิ้นสุดสถานการณ์ที่ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงที่ชัดเจน หรือที่เรียกกันว่า สภาแขวน นับตั้งแต่เสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันเสาร์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายอันวาร์เคยถูกขัดขวางไม่ให้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียหลายครั้งหลายครา แม้ว่าเขาอยู่ในจุดรุ่งโรจน์บนเส้นทางการเมืองในตอนนั้น เช่น เมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 และเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในปี 2561 อย่างไรก็ดี นายอันวาร์เคยถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาเกือบ 10 ปีในความผิดจากพฤติกรรมร่วมเพศทางทวารหนักและทุจริตทางการเมือง ซึ่งเขาอ้างว่าถูกใส่ร้ายโดยมีแรงจูงใจเพื่อมุ่งเป้าทำลายอาชีพนักการเมือง

Advertisement

สีจิ้นผิงเตรียมเข้าร่วมประชุม G20 ในอินโดฯ และ APEC ในไทย

People Unity News : 12 พฤศจิกายน 2565 เมื่อวันศุกร์ (11 พ.ย.) ฮว่าชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงข่าวว่า สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะเดินทางเยือนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 14-17 พ.ย. ตามคำเชิญของโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

ต่อจากนั้นประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะเดินทางเยือนกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) และเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 17-19 พ.ย. ตามคำเชิญของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย

อนึ่ง ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะเข้าร่วมการหารือระดับทวิภาคีกับเหล่าผู้นำประเทศต่างๆ ได้แก่ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มากี ซาล ประธานาธิบดีเซเนกัล และอัลแบร์โต เฟอร์นันเดซ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ระหว่างการเดินทางข้างต้นด้วย

Advertisement

จีนตอบโต้ ‘นาซา’ กล่าวหาโครงการอวกาศจีนเป็นโครงการ “ทางทหาร”

People Unity News : เมื่อไม่นานนี้ จ้าวลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่าจีนคัดค้านคำกล่าวอันไร้ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่องค์การนาซา (NASA) เกี่ยวกับโครงการอวกาศของจีน หลังจากมีรายงานว่า บิล เนลสัน ผู้อำนวยการองค์การฯ อ้างว่าโครงการอวกาศของจีนนั้นเป็นโครงการอวกาศ “ทางทหาร”

จ้าวระบุว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่องค์การฯ เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงและใส่ร้ายจีน โดยเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯบางส่วนกล่าวร้ายป้ายสีการดำเนินงานด้านอวกาศอันเป็นปกติและสมเหตุสมผลของประเทศอื่นๆอย่างต่อเนื่อง และจีนคัดค้านคำพูดที่ไม่มีความรับผิดชอบดังกล่าวอย่างเด็ดขาด

จ้าวระบุว่าเนลสัน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานการบินและอวกาศของสหรัฐฯ ควรตระหนักถึงประวัติศาสตร์อันดำมืดของโครงการอวกาศสหรัฐฯ บทบาทเชิงลบของสหรัฐฯในการสร้างขยะอวกาศ ปลุกปั่นการแข่งขันสะสมอาวุธในอวกาศ และบ่อนทำลายเสถียรภาพเชิงยุทธศาสตร์ระดับโลก รวมถึงก่อให้เกิดภัยคุกคามขนาดใหญ่ต่อการใช้ทรัพยากรในอวกาศอย่างสันติ

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯนิยามว่าอวกาศนั้นเป็นอาณาเขตการต่อสู้อย่างเปิดเผย เร่งรัดการจัดตั้งกองกำลังอวกาศ พัฒนาและปรับใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ในอวกาศอย่างอุกอาจ และต่อต้านการเจรจาเอกสารทางกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอวกาศมาเนิ่นนาน ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารในอวกาศกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง

จ้าวระบุว่าสหรัฐฯได้สร้างอุปสรรคขัดขวางความร่วมมือด้านอวกาศ คว่ำบาตรหน่วยงานอวกาศของประเทศอื่นๆโดยพลการ และออกกฎหมายจำกัดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านอวกาศกับจีน สวนทางกับจีนที่สนับสนุนการใช้ทรัพยากรในอวกาศอย่างสันติ ต่อต้านการแข่งขันสะสมอาวุธในอวกาศ และกระตุ้นการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันในอวกาศ

นอกจากนั้นจ้าวย้ำว่าการสำรวจอวกาศของจีนมุ่งตอบสนองความต้องการอันชอบด้วยกฎหมายด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความมั่นคงของประเทศ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของจีนนั้นประสบความสำเร็จด้วยตนเอง ซึ่งสิทธิและความสำเร็จของอุตสาหกรรมนี้มิควรถูกเคลือบแคลงสงสัยหรือถูกใส่ร้ายได้

“เรากระตุ้นเตือนเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แบกรับความรับผิดชอบของการเป็นประเทศขนาดใหญ่อย่างจริงจัง ทบทวนและแก้ไขคำพูด รวมถึงการกระทำเชิงลบในอวกาศของฝ่ายสหรัฐฯ และมีส่วนสนับสนุนการปกป้องสันติภาพและความมั่นคงในอวกาศที่ยั่งยืน” จ้าวกล่าว

Advertisement

“ปูติน” เตือนจะโจมตีเป้าหมายใหม่ ถ้าตะวันตกให้จรวดพิสัยไกลแก่ยูเครน

ไฮไลท์การเมือง : 6 มิถุนายน 2565 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย เตือนว่า รัสเซียจะโจมตีเป้าหมายใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยโจมตีมาก่อน หากชาติตะวันตกจัดส่งขีปนาวุธพิสัยไกลขึ้นให้แก่ยูเครน

สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียรายงานว่า ประธานาธิบดีปูตินให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์รอสสิยา-1 ของทางการที่ออกอากาศเมื่อวันเสาร์ว่า หากชาติตะวันตกเริ่มจัดส่งขีปนาวุธพิสัยไกลขึ้นให้แก่ยูเครน รัสเซียจะโจมตีเป้าหมายใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยโจมตีมาก่อน แต่ไม่ได้ระบุเป้าหมายดังกล่าวอย่างชัดเจน และว่าการที่สหรัฐและบางประเทศจะจัดส่งเครื่องยิงจรวดล้ำสมัยให้แก่ยูเครนจะไม่ทำให้การสู้รบในสมรภูมิเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นฐาน เพราะเป็นเพียงการชดเชยเครื่องยิงที่ยูเครนสูญเสียไป และยืดเวลาการสู้รบออกไปเท่านั้น

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐประกาศเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า สหรัฐจะจัดส่งเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องอัตตาจรที่มีความแม่นยำสูงให้แก่ยูเครน ตามที่ยูเครนรับปากว่าจะไม่นำไปใช้โจมตีเป้าหมายในดินแดนรัสเซีย ก่อนหน้านี้ยูเครนแจ้งว่า ต้องการเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องอัตตาจรอย่างเอ็ม 270 (M270) และเอ็ม 142 (M142) สำหรับโจมตีกำลังพลและคลังแสงที่อยู่ท้ายขบวนกองกำลังรัสเซีย

Advertisement

โพลชี้ อเมริกันชนหนุน ‘คว่ำบาตรรัสเซีย’ น้อยลง หลังกระทบเศรษฐกิจ

People Unity News : 1 มิถุนายน 2565 ผลสำรวจจากสำนักข่าวเอพี-ศูนย์วิจัยกิจการสาธารณะนอร์ก เมื่อไม่นานนี้ เปิดเผยว่าชาวอเมริกันที่สนับสนุนการลงโทษรัสเซีย กรณีความขัดแย้งกับยูเครน มีจำนวนน้อยลง หากการลงโทษดังกล่าวกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้ความสำคัญต่อการคว่ำบาตร โดยปัจจุบันผู้ใหญ่สหรัฐฯ ร้อยละ 45 กล่าวว่าความสำคัญอันดับแรกของประเทศควรเป็นการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ขณะร้อยละ 51 ระบุว่าการคว่ำบาตรควรจำกัดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ เทียบกับเมื่อเดือนมีนาคม ซึ่งผู้เข้าร่วมสำรวจร้อยละ 55 กล่าวว่าการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดควรเป็นความสำคัญอันดับแรกของประเทศ

รายงานระบุว่าความคิดเห็นที่เปลี่ยนแปลงไปสะท้อนว่าราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังกระทบต่อหลายครัวเรือนในสหรัฐฯ หลังการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ได้สร้างความตึงเครียดด้านการเงินแก่ประชาชนหลายล้านคน

Advertisement

 

Verified by ExactMetrics