วันที่ 20 เมษายน 2024

รัฐบาลระบุหน่วยงานรัฐเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎรได้เฉพาะที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

People unity news online : โฆษกรัฐบาลชี้แจงเพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ระบุหน่วยงานของรัฐสามารถเชื่อมโยงและนำข้อมูลตาม ร่าง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. …. ไปใช้ได้ต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานเท่านั้น

17 ตุลาคม 2560 เวลา 15.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงเรื่องที่ ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนโดยเฉพาะในลักษณะที่ระบุว่าหน่วยงานต่างๆของรัฐสามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทยได้และรัฐสามารถที่จะรู้เรื่องเกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งหมดว่า การที่แต่ละกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานของรัฐ จะสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลเหล่านั้นไปได้ ต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานเท่านั้น จึงขอแจ้งเกี่ยวกับการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

People unity news online : post 17 ตุลาคม 2560 เวลา 23.10 น.

ก.ศึกษาฯเตรียมมอบของขวัญปีใหม่ “Hi-Speed Internet” เร็วแรงส่งตรงถึงโรงเรียนทั่วไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้พบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนและสถานศึกษาสังกัด ศธ. ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายสำคัญที่จะเริ่มต้นปรับปรุงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ สามารถใช้ Hi-speed Internet ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยบริหารจัดการเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการใช้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งจากภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART, TELECOM, AIS, 3BB) พร้อมจะยกเลิก MOENet ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service provider) แต่เป็นผู้ซื้อสัญญาณจากเอกชนส่งไปยังสถานศึกษาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้โรงเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น แถมยังใช้งานได้ไม่คุ้มค่าและไม่เต็มศักยภาพด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยครั้งนี้ จึงต้องการมาพบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากผู้บริหารและครูในพื้นที่เอง มาดูให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของโรงเรียนและสถานศึกษา หลังจากที่ไปดูโรงเรียนบ้านประชาสุขสันต์เป็นจุดแรก และถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างขนาดเล็กที่ดี ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนให้ความสำคัญและมีข้อมูลในการบริหารงาน รู้สภาพปัญหาอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนอย่างแท้จริง พร้อมหาแนวทางแก้ไข และเลือกสิ่งที่ดีทีสุดต่อการเรียนการสอนของโรงเรียน

ดังนั้น ตั้งแต่ปีใหม่ปี 2561 เป็นต้นไป จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของโครงการ “Hi speed Inernet” ด้วยการบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศอย่างถูกต้องก่อน คือการให้ผู้อำนวยการโรงเรียน/สถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้รู้ข้อมูลในพื้นที่มากที่สุด มีอำนาจตัดสินใจเลือกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดต่อนักเรียนและโรงเรียน และช่วยให้สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเติมเต็มความรู้แก่บุคลากรเกี่ยวกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ดีขึ้น, การจัดหาอุปกรณ์รับและกระจายสัญญาณ เช่น Router Access point เพื่อแปลงสัญญาณให้มีความแรงและเร็วมากขึ้น ตลอดจนหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างทันท่วงที โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้กำกับช่วยเหลือ พร้อมกำหนดให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหนึ่งของการทำงาน ที่จะต้องรู้ข้อมูลด้านอินเทอร์เน็ตในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ของตนเอง, โรงเรียนใช้บริการอะไรอยู่บ้าง, โรงเรียนสามารถใช้ของผู้ให้บริการรายใดได้บ้าง เป็นต้น

ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ จะเร่งวางรากฐานก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะเสนอโครงการขยายรากฐานเครือข่าย UNINet  ไปยังโรงเรียนอีก 20,000 แห่ง งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท  เพิ่มเติมจากที่ UNINet  ได้วางรากฐานไปยังโรงเรียน สพฐ. กว่า 10,000 แห่ง และในสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้ง 426 แห่งแล้ว เพื่อให้เป็น High way internet ที่มีความเร็วและแรงเพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็กไทยทุกคน ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อดีทันสมัย องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ช่วยลดช่องว่างและสร้างโอกาสในชีวิต ให้ไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง สำหรับประชาชน ศธ.มีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ UNINet เพื่อร่วมใช้หนังสือและสื่อ e-Book ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น Smart farmer, การค้าขายออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งจะได้มีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

และขอยืนยันว่า การยกเลิก MOENet  ไม่เพียงจะช่วยประหยัดงบประมาณถึงกว่า 1,000 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ ศธ. บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เกิดคุณค่าสูงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งการประหยัดงบประมาณไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เมื่อเทียบกับโอกาสที่เด็กไทยทุกคนจะได้รับ ที่คาดว่าจะมีค่ามากกว่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานของโรงเรียนและสถานศึกษาตลอดจนหน่วยงานในสังกัด ศธ.ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ทั้ง 452 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียน สพฐ. 328 แห่ง สถานศึกษา สอศ. 16 แห่ง และหน่วยงาน สถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ของสำนักงาน กศน. 108 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่ใช้บริการจากอินเทอร์เน็ตจากทั้งของภาครัฐ (UNINET, MOENET) ดาวเทียม ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เช่น TOT Triple CAT 3BB เป็นต้น โดยปัญหา/อุปสรรคส่วนใหญ่เกิดจากความเร็วของอินเทอร์เน็ต ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้บริการจากผู้ให้บริการหลายราย, บุคลากรขาดความรู้ความชำนาญในการบริหารงานเครือข่าย และขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกเช่าสัญญาณจากผู้ให้บริการ (ISP) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุดในพื้นที่ให้บริการ, ขาดช่องทางการสื่อสารกับผู้รับผิดชอบในการดูและรักษาระบบ, เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้งาน เป็นต้น

People unity news online : post 25 ธันวาคม 2560 เวลา 14.10 น.

รมต.คมนาคมเผยรัฐบาลกำลังเชื่อมโยงระบบคมนาคมบก-ราง-น้ำ-อากาศทั่วประเทศ

People unity news online : รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยในงาน Meet the Press เตรียมเชื่อมระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบทางบก ราง น้ำ และอากาศ ไปสู่ระบบคมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อความสุขของคนไทย

8 มีนาคม 2561 เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงข่าวในงาน Meet the Press หัวข้อ “ทุกเรื่องที่อยากรู้เกี่ยวกับระบบราง” เพื่อเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศไปสู่ One Transport for All คมนาคมรวมเป็นหนึ่งเพื่อความสุขของคนไทยทุกคน

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงภาพรวมเกี่ยวกับความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามนโยบายรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นที่ฐานเป็นระยะเวลามานาน ทำให้เกิดปัญหาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการเดินทางที่ไม่สะดวก และมีปัญหาการจราจรติดขัดในเมืองหลวงและเมืองหลักในภูมิภาคต่างๆของประเทศ จึงทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ โดยหากเทียบการลงทุนโลจิสติกส์ในอาเซียนประเทศไทยจะอยู่ในอันดับที่ 3 ทุกเรื่อง รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงให้เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การประหยัดพลังงาน และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น โดยมีการเชื่อมต่อการขนส่งคมนาคมทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ อย่างเป็นระบบ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่จะเร่งขับเคลื่อนพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครให้ครบทั้งระบบว่า รัฐบาลได้มีการเตรียมการในเรื่องนี้มาโดยตลอดเริ่มตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือ สายสีม่วง สีม่วงใต้ สายสีส้มตะวันออก สายสีแดงเข้ม สายสีแดงอ่อน ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และคาดว่ารัฐบาลจะสามารถอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯได้ครบภายในปี 2561 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถประหยัดพลังงาน ประชาชนเดินทางได้สะดวก และมีเวลาให้กับครอบครัวได้มากขึ้น อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น

สำหรับการขับเคลื่อนระบบรางจะมีการเชื่อมกรุงเทพฯกับจังหวัดต่างๆ โดยจะเร่งดำเนินการขับเคลื่อนรถไฟทางคู่ เนื่องจากปัจจุบันมีเพียง 9% เท่านั้น จากระยะทางรถไฟทั้งหมด 4,000 กิโลเมตร โดยระยะที่1 จะเร่งดำเนินการให้รถไฟทางคู่จาก 9% เพิ่มขึ้นมาที่ 33%  ระยะที่ 2 รถไฟทางคู่เชื่อมเมืองต่างๆจำนวน 9 โครงการ ซึ่งจะมีการนำเสนอในปี 2561 และหากปีนี้มีการอนุมัติเพิ่มเติมก็จะทำให้รถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 67% ของระยะทางรถไฟทั้งหมด 4,000 กิโลเมตร และที่เหลือจะดำเนินการในระยะที่ 3 อยู่ในระหว่างการวางแผนดำเนินการ โดยได้มีการกำหนดรถไฟทางคู่ในเส้นทางหลักทั้งเส้นทางที่จะไปทางเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามแผนที่กำหนดไว้ นอกจากนี้จะมีการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่สายเด่นชัย-เชียงราย และเส้นทางบ้านไผ่ – นครพนม อีกทั้งยังมีการพิจาณาศึกษาที่จะดำเนินการเชื่อมต่อเส้นทางบ้านไผ่-นครสวรรค์ หรือพิษณุโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเลือกเส้นทางที่เหมาะสม และจากเส้นทางนครสวรรค์หรือพิษณุโลกจะเชื่อมต่อไปยังจังหวัดตากและแม่สอด ทำให้มีทั้งเส้นทางรถไฟและถนนเชื่อมระหว่างตะวันตกกับภาคตะวันออกตามกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับอาเซียน

ขณะเดียวกันจะมีการดำเนินการพัฒนารถไฟความเร็วสูงระยะทางทั้งหมด 2,506 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกและอำนวยความสะดวกในการเดินทางที่รวดเร็วขึ้นสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเส้นทางที่ 1 คือ เส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย จากหนองคายเชื่อมไปประเทศลาวและต่อไปยังคุนหมิงประเทศจีน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เพื่อเชื่อมโยงระบบรถไฟระหว่างประเทศ และเส้นทางที่ 2 คือ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 672 กิโลเมตร เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ ทั้งจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย เป็นต้น

ส่วนการดำเนินการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) โดยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชม. สนามบินอู่ตะเภาสามารถเชื่อกรุงเทพฯได้ใน 45 นาที (เทียบกับ 2-3 ชั่วโมงโดยรถยนต์) ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถนำโครงการดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม 2561 จากนั้นคณะกรรมการ TOR จะออก TOR ประมาณเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2561 และประมาณเดือนมิถุนายน- เดือนกรกฎาคม 2561 จะสามารถประกวดราคาได้

รวมทั้งได้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนต่างๆที่มีอยู่เดิมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถมีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ และถนนที่มีการก่อสร้างเพิ่มใหม่ในเส้นทางยุทธศาสตร์และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียน และกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ

อีกทั้งจะมีการเชื่อมถนนสู่ประตูเศรษฐกิจ เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยผลักดันทางหลวงเศรษฐกิจระหว่างเมือง 3 สายทาง ได้แก่ สายบางประอิน-นครราชสีมา สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งจะสามารถเพิ่มความสะดวกของการเดินทางไปสู่เมืองท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกและพื้นที่ EEC

สำหรับการแก้ไขปัญหาสนามบินแออัดนั้น จะมีการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค ได้แก่ การก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ (ท่าอากาศยานเบตง) การพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับผู้โดยสาร 3 แห่ง (โครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก การพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ การพัฒนาท่าอากาศยานสกลนคร) การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) และเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศ รองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน/ปี รวมทั้งมีโครงการพัฒนาท่าอากาศสุวรรณภูมิระยะที่ 2 (ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ลานจอดอากาศยานประชินอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ทิศใต้) แผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 2 เชน เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารอาคาร 2 รวมทั้ง เตรียมการปรับปรุงสนามบินในภูมิภาค 28 แห่ง เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการสัญจรทางน้ำ จะดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบับ (เปิดบริการในปี 2561) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพคือ ต้องมีการเชื่อมต่อทั้งระบบอย่างครบวงจรทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ โดยทุกสถานีของรถไฟ ท่าเรือ และสนามบินจะต้องมีรถขนส่งสาธารณะรองรับสำหรับบริการผู้โดยสาร ประชาชน และนักท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมต่อไปยังจุดต่างๆ เช่น ในเมือง ท่าเรือ หรือแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

People unity news online : post 10 มีนาคม 2561 เวลา 12.40 น.

“บวรศักดิ์” แถลงความคืบหน้าปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ให้เร่งจัดตั้ง 1 นักกฎหมาย 1 ตำบล

People unity news online : เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ศ.ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย แถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ ในหัวข้อ “กฎหมายยุคใหม่ เท่าเทียมและเป็นธรรม” มีสาระสำคัญ ดังนี้

การกำหนดกรอบการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายพิจารณาจากเรื่องที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้มีการกำหนดกลไกที่สำคัญไว้หลายประการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายโดยเฉพาะหลักการตามมาตรา 77 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 โดยจะมีปรับเปลี่ยนกฎหมายที่มีความล้าหลัง เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ดี และสอดคล้องกับสภาพความต้องการที่แท้จริงของสังคมปัจจุบัน

อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบทั้งในขั้นตอนของการจัดทำร่างกฎหมายและการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย และสร้างการรับรู้และเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย เพื่อสื่อถึงความต้องการของสังคมและเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจถึงสาระของกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับประเด็นการปฏิรูปและผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายนั้นมุ่งเน้นการสร้างเพื่อให้เกิดการพัฒนาตามหลักการ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาสู่ THAILAND 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยกำหนดประเด็นปฏิรูปด้านกฎหมายเพื่อรองรับตามหลัก “ทวิยุทธศาสตร์” ทั้งในเรื่องของการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายกล่าวย้ำว่า เป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 10 ประการ ดังต่อไปนี้ 1. มีกลไกให้การออกกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็นรวมทั้งมีกลไกในการทบทวนกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2. ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน 3. มีกลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม 4. มีกลไกให้มีการตรากฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 5. พัฒนากระบวนการจัดทำและตรวจพิจาณาร่างกฎหมายให้ รวดเร็ว รอบคอบ และสอดคล้องกับเงื่อนเวลาในการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 6. มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญ และจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน 7. มีกลไกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายโดยสะดวกและเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย 8. ปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ดี 9. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้โดยสะดวก และ 10 มีกลไกส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย โดยได้กำหนดให้เร่งดำเนินการตั้งยุติธรรมชุมชนในระดับท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจะมี 1 นักกฎหมาย ต่อ 1 ตำบล ช่วยให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ต้องการคำปรึกษาด้านกฎหมายให้เข้าใจได้โดยง่าย เนื่องจากปัจจุบันอาจจะมีสภาทนายความฯ สำนักอัยการสูงสุด และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งอาจจะมีการช่วยเหลืออยู่แล้วแต่อาจจะเข้าไปไม่ทั่วถึงยังประชาชนทุกตำบล โดยจะมีการจัดอบรมให้แก่ยุติธรรมชุมชนในเรื่องของกฎหมายใหม่ๆ 1 ตำบล 1 นักกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

People unity news online : post 3 เมษายน 2561 เวลา 07.30 น.

“ประยุทธ์” ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับ “ล้มแล้วลุกไว”

People Unity News : คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับสมบูรณ์ ภายใต้แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” ใน 3 มิติการพัฒนา ให้ประเทศมีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน

วันนี้ (9 พ.ย.63) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 ร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยผลการประชุม ดังนี้

คณะกรรมการฯ รับทราบ (1) การเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยเห็นชอบให้แต่งตั้ง ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และอดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อรับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน (2) ความก้าวหน้าการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศผ่านระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานดำเนินการรายงานผลการดำเนินการโครงการ/การดำเนินงาน และนำเข้าแผนระดับที่ 3 เข้าในระบบ eMENSCR ตามที่ระเบียบว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2562 กำหนด เพื่อเป็นช่องทางให้ภาคประชาชนและภาคีการพัฒนามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป (3) การจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม โดยใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) เป็นข้อมูลหลักในการดำเนินการ เนื่องจาก ระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายแรกของประเทศที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาได้ทั้งในครัวเรือนและบุคคล โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการเชิงพื้นที่ ครอบคลุมทุกกลุ่มเปราะบาง ทั้งเกษตรกร ผู้เคยต้องรับโทษ ผู้มีหนี้สิน ผู้ที่ทำงานอยู่นอกภูมิลำเนา ทั้งนี้ ให้นำกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทและขีดความสามารถของประเทศไทย เพื่อความคุ้มค่าของการใช้เงินงบประมาณของประเทศต่อไปและ (4) หลักสูตรยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีการขยายผลการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Massive Open Online Course: MOOCs) วิชายุทธศาสตร์ชาติสำหรับกลุ่มเป้าหมายนิสิต นักเรียน นักศึกษา นอกจากนี้ ต้องเร่งสร้างการตระหนักรู้ให้กับข้าราชการทุกระดับต่อไป เพื่อให้การแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติสามารถเป็นไปได้อย่างบูรณาการต่อไป

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญ จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

1) (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) คณะกรรมการฯ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน ได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สังคม พลังงาน การป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ การศึกษา วัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) รวม 62 กิจกรรม และมีกฎหมายที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุงแก้ไข จำนวน 45 ฉบับ โดยได้สั่งการเพิ่มเติมให้สรุปผลความสำเร็จของแผนฯในช่วงที่แผนมา เพื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าและประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานระยะต่อไปหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปฯเดิม คู่ขนานไปกับกิจกรรม Big Rock และสื่อสารสร้างความเข้าใจกิจกรรม Big Rock เพื่อถ่ายทอดสู่หน่วยปฏิบัติ โดยให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการที่ระบุระยะเวลาและวิธีการดำเนินการที่ชัดเจน รวมทั้งให้มีการกำหนดกรอบงบประมาณเป็นการเฉพาะ เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายตามผลอันพึงประสงค์ที่กำหนด

2) ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2565 (ฉบับสมบูรณ์) คณะกรรมการฯเห็นชอบร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ซึ่งมีแนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” หรือ Resilience โดยกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้ “คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการวางรากฐาน เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่” มี 3 มิติการพัฒนา ได้แก่ (1) การพร้อมรับ (Cope) (2) การปรับตัว (Adapt) (3) การเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน (Transform) เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศมีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนภายใต้หลัก 3 ขั้นการพัฒนา ได้แก่ Survival (การอยู่รอด) Sufficiency (พอเพียง) และ Sustainability (ยั่งยืน) ประเด็นการพัฒนาประกอบด้วย 4 ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) ลดความเสี่ยงในการพึ่งพาต่างประเทศ (2) การยกระดับขีดความสามารถของประเทศ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) ส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่มีโอกาสและศักยภาพภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงและบริบทโลกใหม่ (3) การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) เพื่อการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานและโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต และ (4) การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศ ทั้งนี้ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับสมบูรณ์) เป็นแผนระดับที่ 2 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดยเป็นฉบับเพิ่มเติมจากแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็น ดังนั้น เพื่อให้การแปลงร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับสมบูรณ์) ไปสู่การปฏิบัติ สามารถดำเนินการได้บูรณาการและสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คณะกรรมการฯจึงได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2465 เพิ่มเติมจากโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 รวมทั้งให้สำนักงบประมาณใช้เป็นกรอบจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 ร่วมกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็นในปัจจุบัน

3) แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน … เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการฯเห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน … ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นการแปลงยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯเห็นชอบให้ สศช. เสนอ (1) (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) (2) ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 (ฉบับสมบูรณ์) และ (3) แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน … เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

Advertising

รมช.ศึกษาฯเดินหน้าจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ควบรวมกระทรวงวิทย์ฯ

People unity news online : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา : โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต” ครั้งที่ 2

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเรื่อง “การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา : โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และทิศทางอุดมศึกษาไทยในอนาคต” ครั้งที่ 2 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยมี นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน

นพ.อุดม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจ ชี้แจง และระดมความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาให้กับข้าราชการและบุคลากรของ สกอ. ซึ่งจะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาและกระทรวงการอุดมศึกษาในอนาคตอันใกล้

โดยเน้นย้ำให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่ของการอุดมศึกษาทั้งประเทศ และทิศทางการอุดมศึกษาโลก อาทิ การอุดมศึกษาของสิงคโปร์ ที่ปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น พร้อมทั้งพัฒนาคนทั้งประเทศให้มีความทันสมัย ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการเรียนไปพร้อมๆกับการทำงาน ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายรูปแบบและหลายอาชีพ รวมทั้งรองรับอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่ในวันข้างหน้า

สำหรับแนวทางการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษานั้น ได้ออกแบบให้เป็นกระทรวงที่มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผลิตกำลังคน 4.0 ที่มีคุณภาพสูง และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีนวัตกรรม โดยมีภารกิจสนับสนุนส่งเสริมงานของสถาบันอุดมศึกษา ไม่เน้นการควบคุม แต่จะช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา สถาบันอุดมศึกษาจึงมีอิสระในการบริหารจัดการเช่นเดิม อีกทั้งส่งเสริมงานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เน้นการสร้างสินค้าเชิงพาณิชย์ ที่จะช่วยพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมๆกับการประสานการจัดสรรงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษาในสังกัด ที่จัดหลักสูตรตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคน และการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยมุ่งหวังให้กระทรวงการอุดมศึกษาเป็นกระทรวงที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ และเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นๆ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ให้สามารถทำงานร่วมกันได้

ส่วนการรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ในกระทรวงอุดมศึกษานั้น เกิดจากแนวคิดการบริหารจัดการงานวิจัยให้ตอบโจทย์ประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณา

แม้ที่ผ่านมาการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาไม่ได้นำเรื่องการวิจัยหรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารวมเข้าด้วยกัน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องเร่งดำเนินการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาให้แล้วเสร็จ แต่หากมองถึงสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่า หากสามารถบูรณาการร่วมกันได้จริงๆ ก็จะทำให้เกิดพลังขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม ควรผลักดันให้กระทรวงการอุดมศึกษาเกิดขึ้นก่อน เพราะได้ร่างกฎหมายต่างๆไว้เรียบร้อยแล้ว และเชื่อมั่นว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา” จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญของประเทศด้วย

นโยบายการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา

“เป็นกระทรวงที่มีขนาดเล็ก

แต่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

ผลิตกำลังคน 4.0 ที่มีคุณภาพสูง

และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีนวัตกรรม ย้ำให้ทุกคนมองเห็นภาพใหญ่ของการอุดมศึกษาทั้งประเทศ และทิศทางการอุดมศึกษาโลก ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย

พัฒนาคนให้ทันสมัย ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลง

เน้นการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน

ปรับเปลี่ยนการทำงานได้หลายรูปแบบ

และหลากหลายอาชีพที่จะเกิดขึ้นใหม่”

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร

รมช.ศึกษาธิการ

People unity news online : post 21 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.40 น.

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. PPP ฉบับใหม่ กำหนดให้มีมาตรการ PPP Promotion แก่ภาคเอกชน

People unity news online : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ) และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยมุ่งเน้นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน และมีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมของเอกชนโดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการร่วมลงทุน รวมทั้งมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่กระชับ ชัดเจน เปิดเผย และตรวจสอบได้ และสามารถสร้างแรงจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้นี้

1.“Facilitation” การส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยทำให้ขั้นตอนง่าย กำหนดให้มีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน (PPP Promotion) และให้คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาแก้ไขปัญหา อุปสรรค หรือความล่าช้าเกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นจากกฎหมายหรือระเบียบ ยกระดับกองทุน PPP ให้สามารถสนับสนุนโครงการ PPP ได้มากขึ้น

2.“Alignment” ทำให้โครงการร่วมลงทุนสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการของประเทศ และเป็นไปตามหลัก PPP สากล ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure Plan) ที่ชัดเจน มุ่งเน้นการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ กำหนดเป้าประสงค์ของการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Partnership) ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน

3.“Streamline” มีขั้นตอนกระชับ ชัดเจน รวมถึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนให้กระชับ มีการนำเอาหลักการของมาตรการ PPP Fast Track มาบัญญัติไว้ในขั้นตอนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน คณะกรรมการ PPP สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาเร่งรัดการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนได้

4.“Transparency” มีการเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน กำหนดหลักเกณฑ์ และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในทุกขั้นตอน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดเผยสรุปข้อมูลโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชน และหน่วยงานตรวจสอบให้ทราบ

นายเอกนิติ กล่าวสรุปว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีผลใช้บังคับ จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของภาครัฐให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทั่วถึง โดยการใช้ความรู้ ความสามารถ และนวัตกรรมของเอกชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง สะดวกสบาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

People unity news online : post 7 เมษายน 2561 เวลา 14.00 น.

นายกฯระบุการปฏิรูปต้องอาศัยเวลา โดยดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน

People unity news online : นายกรัฐมนตรียืนยันแผนงานปฏิรูปประเทศจะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่แก้ปัญหาได้ มุ่งมั่นทำให้ประเทศเดินหน้า ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติ เน้นย้ำการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยระยะเวลา

เมื่อวานนี้ (15 พฤษภาคม 2561) เวลา 12.50 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ประธานปฏิรูปกฎหมายระบุว่าการปฏิรูปจะสำเร็จยากเพราะให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติแต่ไม่มีแผนงานว่า อยากให้ทุกคนทบทวนในส่วนของข้าราชการควรมีบทบาทอย่างไรในฐานะผู้ปฏิบัติ เพราะข้าราชการเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ ต้องพิจารณาการปฏิรูปในภาพรวมที่มีรายละเอียดอยู่ในแผนปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นระดับนโยบาย ส่วนในระดับปฏิบัติเป็นเรื่องของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน และประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันปฏิรูปประเทศ โดยรัฐบาลได้พยายามดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ มีผลงานปรากฎในหลายๆด้าน ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ช่วยกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาการอำนวยความสะดวก ปัญหาการลงทุน หรือด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ  เป็นต้น ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็นำนโยบายต่างๆเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีข้าราชการเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การเดินทาง การขนส่ง และอื่นๆ เช่น การแก้ไขปัญหาประปาหมู่บ้าน ได้ดำเนินการแล้วกว่า 7,000 หมู่บ้าน และจะดำเนินการให้เรียบร้อยทั่วประเทศในเร็วๆนี้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปในด้านต่างๆนั้น ได้ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้ปัญหาต่างๆนำมาซึ่งความวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม ต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้โดยอาศัยระยะเวลาและสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนโดยสื่อมวลชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ยืนยันว่าคณะทำงานของรัฐบาลทุกคณะนำนโยบายลงสู่การขับเคลื่อนเพื่อการปฏิบัติในทิศทางที่สามารถแก้ปัญหาได้ และลดผลกระทบที่จะเกิดจากความขัดแย้ง

People unity news online : post 16 พฤษภาคม 2561 เวลา 11.10 น.

“ประยุทธ์” เปิดหลักสูตร วปอ.รุ่น 63 แนะนักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างองค์ความรู้ใหม่

People Unity News : นายกฯ เปิดหลักสูตร วปอ. รุ่น 63 แนะนักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างองค์ความรู้ใหม่ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วันนี้ (5 พ.ย.2563)  นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 63  พร้อมบรรยายเรื่อง “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่งคงแห่งชาติ” ให้ผู้เข้ารับการศึกษา ประกอบด้วยข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ ภาคเอกชน นักธุรกิจและบุคคลทั่วไป จำนวน 285 คน ณ หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

โดยนายกรัฐมนตรีแนะนำให้นักศึกษานำความรู้ ความสามารถและประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน พร้อมย้ำให้ทุกคนตระหนักและทบทวนทำความเข้าใจบริบทโลกในปัจจุบันให้ลึกซึ้ง ทั้งความเจริญทางเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ การเคลื่อนย้ายคนและทุนอย่างเสรี ข่าวสารและเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน การแข่งขันทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งศูนย์รวมอำนาจทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ส่งผลให้มีการแย่งชิงทรัพยากรและแรงงานที่อาจเป็นชนวนความขัดแย้งได้ รวมไปถึงภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศที่ผันผวนทำให้เกิดภัยพิบัติที่มีความรุนแรงมาก และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม การละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับ Digital Disruption ก่อให้เกิด Fake news การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต และโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่ระบาดในมนุษย์ได้แก่ covid-19 เป็นต้น เป็นความท้าทายที่อาจก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่คือ “ความมั่นคงแบบองค์รวม” ซึ่งมีความซับซ้อนเชื่อมโยงมิติความมั่นคงกับเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมจนเป็นเนื้อเดียวกัน จึงขอให้นักศึกษา ใช้เวทีนี้ช่วยกันคิดหาแนวทางป้องกันและแก้ไข เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศด้วยแผนการปฏิบัติที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง  รวมทั้งขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประยุกต์ ในการทำงานและการดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละบุคคล

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงหลักคิดในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยประเทศไทยจะยังคงยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพันธกรณีและกติกาของสังคมโลก สร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการบูรณาการพลังทางสังคมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการเมือง ภาควิชาการสื่อสารมวลชนภายใต้แนวทาง ” รวมไทยสร้างชาติ”

Advertising

ครม.มอบ “อนุชา” โชว์ผลงานการปฏิรูปประเทศต่อสมาชิกวุฒิสภา ชูผลงานเด่น 12 ด้าน

People Unity News : ​รมต.อนุชา นำทีมรายงานผลปฏิรูปประเทศ ต่อ สว. ชูผลงานเด่นรัฐบาล 12 ด้าน เตรียมเดินหน้า 62 กิจกรรม Big Rock เพื่อการปฏิรูปอย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2564) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็นผู้ชี้แจงรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ราย 3 เดือน (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563)  ซึ่งเป็นการสรุปผลการดำเนินงานตามเรื่องและประเด็นของการปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้าน  มีการกำหนดเรื่องและประเด็นการปฏิรูป จำนวนทั้งสิ้น 173 เรื่อง โดยมีการจัดระดับความสำเร็จเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย 1) ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนฯ จำนวน 17 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 10  2) ดำเนินการสำเร็จมากกว่าร้อยละ 75 ของแผนฯ จำนวน 70 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 40 3) ดำเนินการได้ร้อยละ 50-75 ของแผนฯ จำนวน 62 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 36 4) ดำเนินการได้น้อยกว่าร้อยละ 50 ของแผนฯ  จำนวน 24 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14

สำหรับตัวอย่างความคืบหน้าของประเด็นปฏิรูปประเทศที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ประกอบด้วย

1.ด้านการเมือง เช่น การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ

2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การบริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน จากระบบ Biz Portal

3.ด้านกฎหมาย เช่น มีกลไกให้การออกกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี รวมทั้งมีกลไกการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้แล้ว

4.ด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

5.ด้านเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร บริหารจัดการผลิตภัณฑ์เกษตรตามแผนที่ (Zoning by Agri-Map)

6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การบบริหารจัดการขยะในทะเลและชายฝั่ง โดยนโยบายประชารัฐขจัดขยะทะเล

7.ด้านสาธารณสุข เช่น ระบบสุขภาพปฐมภูมิ (คลินิกหมอครอบครัว)

8.ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม

9.ด้านสังคม เช่น การปฏิรูปการออม สวัสดิการ และการลงทุนเพื่อสังคม

10.ด้านพลังงาน เช่น การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในกลุ่มอุตสาหกรรม

11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น จัดทำและบูรณาการโครงข่ายฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของทุกหน่วยงานผ่านระบบสารสนเทศ

12.ด้านการศึกษา เช่น การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานะกฎหมายภายใต้แผนฯ ทั้ง 12 แผน จำนวน 216 ฉบับ มีกฎหมายที่แล้วเสร็จ จำนวน 50 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 23 ของกฎหมายที่เสนอทั้งหมด ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไปของห้วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 มุ่งเน้นให้ความสำคัญที่กิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) จำนวน 62 กิจกรรม ซึ่งเป็นไปตามการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 โดยกำหนดให้มีจำนวน 13 ด้าน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

Advertising

Verified by ExactMetrics