พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กรกฎาคม 2568 ฝ่ายค้านประเดิมกระทู้ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน “บิ๊กเล็ก” เผยสถานการณ์ไทย-กัมพูชา มีสัญญาณบวก ผู้นำระดับสูงของกัมพูชายอมพูดคุยเจรจา GBC พร้อมแจงมาตรการกดดัน 2 จาก 4 ขั้นตอน หลัง “ฮุน เซน” โพสต์โซเชียล ยอมรับลำบากใจจัดการสถานการณ์ เหตุสังคมมีความเห็น 2 ฝ่าย

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัด นอร์มะทาประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานในที่ประชุม ในระเบียบวาระ กระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมี พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงแทน

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตไทยกัมพูชาที่เกิดขึ้นตอนนี้ สิ่งที่ประชาชนต้องการคือรัฐบาลที่เข้มแข็งไม่อ่อนแอขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการบริหารสถานการณ์อย่างมีวุฒิภาวะรอบคอบได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านให้ความเกรงอกเกรงใจรัฐบาลไทย ซึ่งการที่รัฐบาลจะดำเนิน มาตรการต่างๆอย่างเข้มแข็งและเหมาะสม ก็มีหลายมาตรการที่สามารถทำได้เช่นมาตรการทางการทหาร มาตรการทางเศรษฐกิจ หรือมาตรการที่พุ่งเป้าไปยังผู้มีอิทธิพลของผู้นำกัมพูชา สถานการณ์คลิปหลุดล้วนเกิดขึ้นจากการบริหารที่ผิดพลาดที่ผู้นำประเทศใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างครอบครัวจนนำมาสู่วิกฤตครั้งนี้ที่คลี่คลายได้อย่างยากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรี เคยมีการสื่อสารต่อสื่อมวลชนว่ามาตรการทางเศรษฐกิจที่ในบางกรณีหรือหลายกรณีนั้นส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างต้องใช้ไปเพื่อสร้างแรงกดดัน เพื่อป้องกันผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของกำลังทหารและการใช้กับอาวุธที่ใช้ปฏิบัติการในระยะไกลของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งมาตรการอื่นๆสามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นมาตรการทางเศรษฐกิจ หากสถานการณ์ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2568 เป็นต้นมามีรายงานข่าวที่สอดคล้องกันทั้ง 2 ประเทศ ว่ากัมพูชาได้ปรับกำลังถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาทแล้วแต่เราก็ทราบดีว่าในขณะนี้เรื่องของการควบคุมด่านชายแดนที่รัฐมนตรีใช้คำว่าเปิดด่านแบบจำกัดเวลาเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ ที่ด้านหนึ่งเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพแตกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนภายในวงกว้างเช่นเดียวกัน

คำถามแรกที่อยากจะถาม รัฐบาลต้องแสดงความเข้มแข็ง พวกเราไม่ได้เห็นต่างในเรื่องการใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ แต่ใช้อย่างไรให้เหมาะสมและแสดงออกว่ารัฐบาล ยังรอบคอบมีวุฒิภาวะไม่ดำเนินมาตรการที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างเกินความจำเป็น ดังนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตามหน้าข่าวอาจไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจึงอยาก ทราบข้อเท็จจริงจากรัฐมนตรีในวันนี้ แล้วอยากจะสอบถามว่าณ ตอนนี้สถานการณ์ระหว่างไทย -กัมพูชาตามแนวชายแดนยังมีความตึงเครียดมีความกดดันทางด้านการทหารที่กัมพูชาดำเนินการอยู่ใช่หรือไม่ หากมี มีอย่างไร

ด้าน พล.อ.ณัฐพล ขอชี้แจงภาพรวมว่าวันที่ 8 มิถุนายน กัมพูชาได้มีการเคลื่อนย้ายกำลังกลับจากจุดที่เผชิญหน้ากันอยู่หลายครั้งที่เราพยายามจะเจรจากับฝ่ายกัมพูชา เพราะมีกำลังเข้ามาเผชิญหน้าอยู่ระยะใกล้ ถ้ามีการเริ่มใช้อาวุธจะมีความตึงเครียดเหตุการณ์อาจจะบานปลายได้ แม้กำลังที่ เผชิญหน้าจะถอนกลับไปแล้วแต่กำลังส่วนที่เหลือที่มีจำนวนมากมีทั้งอาวุธหนักทั้งรถถังและปืนใหญ่ยังเป็นกำลังและรอบ 2 ที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ยังมีความเสี่ยงที่วันใดวันหนึ่งเกิดความไม่เข้าใจกันแล้วอาจทำให้สถานการณ์บานปลายถึงขั้นใช้อาวุธหนัก

ตนเองมีประสบการณ์ตอนเขาพระวิหารในครั้งนั้นอาวุธที่ทั้งสองฝ่ายมีนั้นยังไม่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้ ถ้างั้นรัฐบาลมีความห่วงใยความปลอดภัยของประชาชน จึงมีแนวทางในการดำเนินการคลี่คลายความตึงเครียดในบริเวณชายแดน โดยศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์ชายแดนไทย -กัมพูชา (ศบ.ทก.) ที่ทำงานภายใต้สภาความมั่นคงแห่งชาติเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ได้กำหนดแนวทางการทำงานได้ไว้อย่างชัดเจน บนพื้นฐานสันติวิธี และการยึดถือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นรัฐของทั้งสองฝ่าย มุ่งเน้นเจรจาแบบทวิภาคีกับกัมพูชาเพื่อคลี่คลายอย่างสันติ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย ด้านการใช้อาวุธและบานปลายในแง่ของความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ ศบ.ทก. และรัฐบาลหนักใจ เพราะว่าสังคมมี2 กระแส คือ ประชาชนตามจังหวัดแนวชายแดนเรียกร้องรัฐบาลยุติสถานการณ์โดยเร็ว เพราะประชาชนเดือดร้อน ทั้งในแง่ความปลอดภัยและเศรษฐกิจ แต่ประชาชนพี่น้องส่วนกลางที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลอ่อนข้อ อยากให้ใช้มาตรการที่เข้มแข็ง ดังนั้นการตัดสินใจแต่ละเรื่องจะต้องรอบคอบและใช้น้ำหนักให้ดี

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่ารัฐบาลตระหนักถึงความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน อาจมีการชี้นำจากฝ่ายการเมืองหรือผู้นำบางคน แต่สิ่งที่ไทยต้องรักษาให้มั่นคือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชน2 ประเทศ ซึ่งทุกคนตระหนักดีว่าความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเกิดมาจากส่วนบุคคลดังนั้นไม่ควรนำความตึงเครียดขยายไปสู่ประชาชนทั่วไป

“ประชาชนไม่ควรมาเป็นเหยื่อการเมืองระดับรัฐ ขอเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องดำเนินการทุกอย่างอย่างรอบคอบเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อประชาชน2 ฝ่าย” พล.อ.ณัฐพลกล่าว

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่าเราจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมที่เข้มงวดบริเวณชายแดนเนื่องจากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ทางกัมพูชามีการสั่งกำลังเคลื่อนย้ายเข้ามาพื้นที่ชายแดน และไทยจำเป็นต้องเสริมกำลังในระดับที่เหมาะสมเพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคง ซึ่งทุกการเคลื่อนไหวของไทยอยู่ในกรอบสันติวิธีและหลีกเลี่ยงการประทะโดยเด็ดขาดหากกัมพูชาไม่รุกล้ำ อธิปไตยด้วยการติดอาวุธ

ส่วนการควบคุมชายแดนรัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมว่าด้วยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC รวมถึงประเทศพันธมิตรในการปราบปรามกระบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะสแกรมเมอร์ มีข้อมูลว่าแฝงตัวอยู่บริเวณแล้วชายแดนไทย-กัมพูชาจำนวนมาก จึงต้องตรวจสอบควบคุมการเข้าออกในบริเวณชายแดนอย่างเข้มข้น

ยืนยันทุกมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการ ศบ.ทก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งหวังให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณแนวชายแดนกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด ทางด้าน “ความมั่นคง-เศรษฐกิจสังคม-จิตวิทยา” และยึดหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด

พล.อ.ณัฐพล ยังชี้แจงเรื่องอำนาจของกองทัพ ว่าเป็นเรื่องที่ลำบากใจ เนื่องจากส่วนตัวนั้นเป็นรัฐบาลฝ่ายการเมืองแต่ยังมียศทำให้ถูกมองว่าเป็นทหาร ซึ่งก่อนที่ถูกมอบหมายให้รับหน้าที่ในตำแหน่งนี้ ผู้ใหญ่มองว่าเป็นทหารแล้วมาเป็นรัฐบาลมีข้อดีที่ว่าเวลาอยู่ในรัฐบาลก็เป็นการเมือง แต่กลับกองทัพก็เป็นทหาร แต่ผลที่ที่ผ่านมายังไม่ได้เป็นไปตามที่คิด

“ปรากฏว่าเวลาที่ผมกลับไปอยู่กองทัพทุกคนก็มองว่าผมเป็นรัฐบาล เวลาผมอยู่ในรัฐบาล เค้าก็มองว่าผมเป็นกองทัพ เพราะฉะนั้นขอกราบเรียนท่านประธานว่าปัจจุบันผมทำงาน เวลาผมเป็นรัฐบาลผมก็ทำงานเป็นรัฐบาล ว่าที่ผ่านมาดำเนินการโดยรัฐบาลโดยตนเองเป็นผอ.ศบ.ทก.” พล.อ.ณัฐพลกล่าว

พล.อ.ณัฐพล กล่าวถึงข้อห่วงใยว่ากองทัพมีอำนาจ นั้น ว่ารัฐบาลกำหนดนโยบายให้ทุกส่วนราชการปฏิบัติและใช้อำนาจ สมช. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี อำนวยการเพื่อให้ทุกหน่วยงานดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายเดียวกัน และกองทัพเป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่ปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาล สถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนเป็นภาวะฉุกเฉินเชิงความมั่นคง ซึ่งฝ่ายกัมพูชามีระบบสั่งการแบบรวมศูนย์ ผู้นำสามารถสั่งการแนวหน้าตามแนวชายแดนได้ทันที ขณะที่ไทยหากยังใช้สายบังคับบัญชา ตั้งแต่รัฐบาล สมช. และกองทัพ จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ จึงขอความเห็นใจในการบริหารสถานการณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องในการใช้กำลังทหาร ซึ่งการใช้อำนาจกองทัพเป็นมาตรการเฉพาะหน้าภายใต้กำกับ ศบ.ทก. มีการประชุมทุกขั้นตอนไม่ได้ปล่อยให้กองทัพมีอิสระ

ทั้งนี้ รัฐบาลมองเรื่องปัญหาความมั่นคงที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ เศรษฐกิจ ที่ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มมีสัญญาณบวกว่า ผู้นำระดับสูงของกัมพูชาเริ่มมีการพูดคุย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยยอมคุย แต่2-3 วันนี้ เริ่มมีการพูดคุยเรื่องบทบาททวิภาคี GBC แต่สถานการณ์ในโซเชียลระหว่างสองประเทศยังทำให้เกิดเงื่อนไขการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ

พร้อมกันนี้ยังชี้แจงว่ากลไกทวิภาคียังมี JBC ที่เป็นการเจรจาระหว่างแม่ทัพของไทยและกัมพูชา และ GBC ที่มีการเจรจาระหว่างรัฐกับรัฐ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ที่ครอบคลุมตลอดแนวชายแดนไทยกัมพูชา ส่วน RBC เป็นกลไกระหว่างกองทัพภาค หรือผู้บัญชาการภาคของฝั่งกัมพูชา-ไทย เช่น การเจรจาในกองทัพภาคที่1 หรือกองทัพภาคที่ 2

นายณัฐพงษ์ ถามครั้งที่2 ว่า วัตถุประสงค์และข้อเท็จจริงขณะนี้ที่รัฐบาลยังคงมาตรการควบคุมด่านมีไว้เพื่ออะไร เพราะเห็นว่าหากใช้อย่างไม่เหมาะสมจะกลายเป็นความตึงเครียดที่ทำให้การบริหารสถานการณ์เดินไปด้วยความยากลำบาก และความคืบหน้าการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงดำเนินคดีสังหารฝ่ายค้านกัมพูชาในไทย และทราบมาว่ากองทัพมีการประสานไปยัง คณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐประจำประเทศไทยหรือ จัสแมกซ์ไทย เพื่อขอกำลังบำรุงเครื่องกระสุนเพื่อรองรับต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น แต่ทราบว่าเรื่องนี้ถูกคว่ำลงเนื่องจากฝ่ายการเมืองปัดตกคำขอ จึงขอฟังเหตุผลเรื่องนี้เพราะเกรงใจต่อประเทศมหาอำนาจอื่น

พลเอกณัฐพล ยอมรับในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทำงานกับฝ่ายค้านและเห็นว่าฝ่ายค้านมองผลประโยชน์ของประชาชน เช่นข้อแนะนำของ สส.รังสิมันต์ โรม พร้อมชี้แจงว่าจากจากความกดดันในช่วงแรกที่อังเคิลโพสต์ มาตลอดทำให้รู้สึกว่าเราอาจใช้ความกดดันที่ตึงเครียด โดยไทยมีมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนจนถึงปัจจุบัน คือ มาตรการควบคุมจุดผ่านแดน 4 ขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ขั้นที่2 คือ 1.จำกัดการผ่านแดน 2.การจำกัดวันและเวลาในการเข้าออกจุดผ่านแดน 3. ปิดจุดผ่านแดนบางจุด 4. ปิดจุดผ่านแดนตลอดแนวชายแดน ซึ่งไม่ได้กดดันอะไรมาก อย่างจุดผ่านแดนช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ ฝั่งไทยเปิด แต่ฝั่งกัมพูชาปิด ยืนยันเป็นเรื่องจริงไม่ใช่ภาพจัดฉาก หรือด่านคลองลึก จังหวัดสระแก้ว หรือจุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลมจังหวัดจันทบุรี

“ขอทุกคนเปิดเข้าใจว่าไทยเปิดจุดผ่านแดนเพียงแต่ใช้มาตรการจำกัดสองขั้นตอนเท่านั้น เลยมีความรู้สึกว่ากดดันมาก เป็นความรู้สึกที่ทางฝ่ายผู้นำกัมพูชาโพสต์มา ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะฉะนั้นสถานการณ์ความตึงเครียดอะไรต่างๆ การโพสต์ต่างๆเข้าใจว่าท่านผู้นำกัมพูชาอยู่ที่พนมเปญ คงได้รับการบอกเล่าอาจจะคลาดเคลื่อน แต่ข้อเท็จจริงไปตามที่กราบเรียน” พล.อ.ณัฐพลกล่าว

พร้อมชี้แจงความมุ่งหมายในการกดดัน คือไม่ได้กดดันด้านเศรษฐกิจแต่กดดันด้านกระบวนการอาชญากรรมชายแดนเป็นไปตามความร่วมมือกับ UNODC ในการปราบสแกรมเมอร์ ซึ่งตั้งแต่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาพบว่าสถิติลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ประชาชนตามแนวชายแดนจะได้รับความเดือดร้อน และในฐานะเป็นรัฐบาลและรู้สึกเจ็บปวด ที่เหตุใดต้องดึงประชาชนมาเกี่ยว จึงขอให้เข้าใจว่าการบริหารสถานการณ์เป็นไปด้วยความยากมากเพราะสังคมมี 2 ฝ่าย แต่ฟังข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นข้อมูลที่สะเทือนใจเมื่อเด็กนักเรียนนั่งเรียนต้องระวังฟังเสียงไซเรนว่าจะดังขึ้นเมื่อไหร่ นี่คือสิ่งที่ ศบ.ทก. จะระมัดระวังไม่ทำให้เหตุการณ์บานปลาย เพราะมีความเสียหายเกิดทั้งต่อกองทัพและประชาชน และยืนยันว่ารัฐบาลเร่งรัดและพยายามทำให้การโน้มน้าวเชิญชวนกัมพูชามาเข้าสู่บรรยากาศการเจรจาแบบทวิภาคี ส่วนการคลี่คลายคดีลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ส่วนเรื่องการประสานจัสแม็กซ์นั้น เป็นประเด็นละเอียดอ่อน ตนเป็นเลขาธิการ สมช. มาก่อน ความมั่นคงยึดถือนโยบายสมดุลย์เป็นหลัก ในการสร้างสมดุลย์ระหว่างประเทศมหาอำนาจทุกประเทศ ระมัดระวังไม่ให้ไทยไปผูกพันธ์กับประเทศใดประเทศนึง ไม่ได้เป็นการยั่วยุหรือแสดงกำลัง เป็นเพียงความร่วมมือทางการทหาร

“การที่ทางกองทัพพูดคุยกับจัสแมกซ์ ทำไมฝ่ายการเมืองถึงยับยั้ง เพราะฝ่ายการเมืองมองในเรื่องนโยบายระหว่างประเทศ การรักษาสมดุลย์ ขอบคุณที่ถามเรื่องนี้มันเป็นประเด็นสำคัญที่ย้ำว่ากองทัพไม่สามารถดำเนินการได้ตามลำพัง กองทัพต้องทำตามนโยบายรัฐบาล เพราะหากดึงอีกประเทศเข้ามาอาจทำให้เกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้ ซึ่งเป็นแนวทางตามด้านความมั่นคง“ พล.อ.ณัฐพลกล่าว

พร้อมย้ำว่า หากยิ่งชี้แจง ก็ยิ่งเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกองทัพและฝ่ายความมั่นคงจะต้องใช้ฝีมือมากขึ้น การไม่ขอชี้แจง ก็จะทำให้ประชาชนไม่เกิดความเข้าใจ หรือฝ่ายนิติบัญญัติไม่เข้าใจ ดังนั้นวันนี้พยามชี้แจงให้ได้มากที่สุด

ส่วนที่วิจารณ์ว่ารัฐบาลเสียรู้จากกรณีคลิปเสียง พล.อ.ณัฐพล ชี้แจงว่า ขณะนี้มีกระบวนการให้ใช้การเจรจาผ่านการประชุมคณะกรรมการเรื่องเขตแดน GBC หากทำสำเร็จ จะหารือใน 2 เรื่องคือ การเคลื่อนย้ายกำลังกลับที่ตั้งปกติ เลี่ยงความเสี่ยงเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และยกเลิกมาตรการควบคุมตามแนวชายแดน ซึ่งมีรายละเอียดที่ไม่ลงตัวเพราะต่างฝ่ายยังระแวงจากโซเชียล

“การตอบโต้ผ่านโซเชียลกับอังเคิล นั้นไม่ได้ทำแบบทางการ และหากตอบโต้กันไปมาจะทำให้เป็นปัญหาได้ เมื่ออังเคิลบอกว่าไทยผิดฝ่ายเดียว กัมพูชาไม่ผิด จึงใช้การตอบโต้แบบชี้แจงข้อเท็จจริง นำภาพให้ดู ไม่ใช่โต้กันไปกันมา ซึ่งไม่สามารถยุติการตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ รัฐบาลโดย ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ ศบ.ทก กำลังดำเนินการ ขณะที่มาตรการทางการทูตรัฐบาลได้ทำผ่านกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงการทูตทางทหาร เรื่องนโยบายสมดุล” พล.อ.ณัฐพล ชี้แจง

Advertisement