พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 มิถุนายน 2568 โฆษก กต. ย้ำไทยมุ่งมั่นใช้กลไกทวิภาคีแก้ปัญหาความขัดแย้ง วางแนวทาง 3 เรื่องหลักเจรจา JBC ยึดประโยชน์ของประเทศและคนไทยเป็นที่ตั้ง

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงประจำสัปดาห์ ว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2568 ฝ่ายไทยได้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission: JBC) (ฝ่ายไทย) ครั้งที่ 2 (สืบต่อจากการประชุมฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2568) เพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมการประชุม JBC ซึ่งรัฐมนตรีฯ ได้แถลงข่าวในเรื่องนี้แล้ว

ก่อนจะมีการประชุมฯ รัฐมนตรีฯ ได้มอบนโยบายในการเจรจา โดยย้ำแนวทาง 3 เรื่องที่จะเป็นหลักการสำหรับทีมงานของฝ่ายไทย ดังนี้

1.การลดความตึงเครียดและทำให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

2.การทำให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเรื่องของเส้นเขตแดน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

3.การยืนหยัดที่จะปกป้องอธิปไตยของไทย โดยไม่ยอมให้ไทยเสียดินแดนโดยเด็ดขาด

ขอย้ำว่า ฝ่ายไทยมุ่งมั่นที่จะใช้กลไกทวิภาคีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งซึ่งเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมที่สุด และเป็นที่ยอมรับตามธรรมเนียมปฏิบัติสากลที่เมื่อสองประเทศมีความเห็นไม่ตรงกัน นานาประเทศก็จะสนับสนุนให้ใช้กลไกทวิภาคี และความตกลงที่ทั้งสองประเทศมีอยู่แล้วในการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นวิธีหาทางออกระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

โดยกลไกทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

1.คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC)

2.คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) และ

3.คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC)

ซึ่งไทยจะใช้ทั้ง 3 กลไกนี้ ควบคู่กันไปในการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา

นอกจากนี้ ไทยและกัมพูชายังมีความตกลงระหว่างกันคือ บันทึกความเข้าใจ หรือ Memorandum of Understanding (MoU) ปี 2543 ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกซึ่งเป็นสนธิสัญญา ซึ่งหมายความว่า สองฝ่ายได้เจรจาตกลงกันแล้ว จึงมีผลบังคับทางกฎหมายกับทั้งสองฝ่ายที่ต้องปฏิบัติตาม

กลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) เป็นกลไกที่เป็นผลลัพธ์สำคัญของ MOU 2543 ที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกัน และจะมีการประชุม JBC ในวันที่ 14 มิถุนายน 2568 โดยกลไกดังกล่าว คือ กลไกทวิภาคีหลักในการเจรจาประเด็นทางเทคนิคและข้อกฎหมายด้านเขตแดนกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อให้เกิดการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างกัน จึงถือได้ว่าเป็นเวทีหารือเรื่องเขตแดนไทยกับกัมพูชาโดยเฉพาะ

ดังนั้น JBC จึงมีองค์ประกอบคณะที่ประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและความเชี่ยวชาญทางเทคนิคด้านเขตแดน และมีการประชุมมาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง ครั้งล่าสุด จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2555 และจะมีการประชุมครั้งต่อไปในอีก 2 วันข้างหน้านี้ ที่กรุงพนมเปญ ซึ่งปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ 25 ปีของ MOU

หนึ่งในข้อกำหนดสำคัญของ MOU 2543 คือ การอำนวยความสะดวกให้การสำรวจตลอดแนวเขตแดนทางบกร่วมกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล และให้ทั้งสองฝ่ายงดเว้นการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน โดยขณะนี้ การดำเนินการของ JBC ภายใต้ MOU ดังกล่าว ยังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ทราบ ซ่อมแซม และจัดทำหลักเขตแดน 73 หลัก และยังมีภารกิจอีกมากรออยู่ข้างหน้า

คณะกรรมาธิการฯ ฝ่ายไทยได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถอย่างมาก โดยมีนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เป็นประธาน ซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศด้านเขตแดน ขณะที่กรรมธิการทรงคุณวุฒิคนอื่น มีทั้งมาจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กองทัพไทย และหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเข้าร่วมการประชุม JBC ในครั้งนี้ด้วย ในส่วนของกัมพูชา มีประธานคณะกรรมาธิการฯ คือ นายฬำ เจีย (Lam Chea) รัฐมนตรีรับผิดชอบกิจการชายแดน หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการกิจการชายแดนแห่งกัมพูชา

สำหรับความตั้งใจของฝ่ายกัมพูชาที่จะใช้กลไกของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(International Court of Justice: ICJ) ประเทศไทยประกาศไม่ยอมรับเขตอำนาจของ ICJ มาตั้งแต่ปี 2503 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั่วโลกมีอีก 118 ประเทศ รวมประเทศไทยอีก 1 ประเทศ เป็น 119 ประเทศ (จากประเทศสมาชิก UN ทั้งหมด 193 ประเทศ) ที่ไม่ยอมรับเขตอำนาจของ ICJ นั่นคือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศสมาชิก UN ที่ไม่ยอมรับเขตอำนาจของ ICJ จึงขอย้ำว่า ไทยจะยึดมั่นแก้ไขปัญหาผ่านกลไกทวิภาคี ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ตกลงกันตั้งแต่แรกกับกัมพูชา

คณะผู้แทนไทยที่จะเดินทางไปประชุมกับฝ่ายกัมพูชาครั้งนี้ หรือไม่ว่าจะครั้งไหนหรือกลไกทวิภาคีใด ผู้แทนไทยพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ด้วยความรู้ความสามารถที่มีอยู่

กระทรวงการต่างประเทศยืนยันในหลักการการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ และยึดผลประโยชน์ของประเทศและคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยจะรายงานความคืบหน้าและผลการประชุม JBC ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อเป็นโอกาสไขข้อสงสัยเกี่ยวกับกระแสข่าวต่าง ๆ ที่เผยแพร่อย่างกว้างขวางในโซเซียลมีเดียในขณะนี้ เพื่อให้ช่วยกันเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

Advertisement