พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 มิถุนายน 2568 ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่… พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ .. พ.ศ. ….(การกำหนดตำแหน่งเจ้าพนักงานคดีประจำศาลยุติธรรม)

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มี “เจ้าพนักงานคดี”เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินและการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดตามที่ศาลมอบหมายและเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .… รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว รวมทั้งรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ

นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดตามที่ศาลมอบหมายแต่จะต้องมิใช่เป็นการก้าวล่วงไปวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดที่ศาลจะต้องดำเนินการเองเป็นการเฉพาะ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีประเภทอื่นที่มีกฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะด้วย โดยกำหนดให้อำนาจหน้าที่และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดี คุณสมบัติ การแต่งตั้ง การเลื่อนระดับการบังคับบัญชาการรักษาจริยธรรม ตลอดจนการบริหารงานบุคคลของเจ้าพนักงานคดี เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา รวมถึงให้เจ้าพนักงานคดีได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด ทั้งนี้ การกำหนดให้มีตำแหน่งเจ้าพนักงานคดีไว้ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าวจะมีผลเป็นการรับรองตำแหน่งเจ้าพนักงานคดีไว้ครอบคลุมในทุกประเภทคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา คดียาเสพติด คดีค้ามนุษย์ คดีแพ่งทั่วไป หรือคดีอื่น ๆ ในศาลยุติธรรม

ส่วนร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ .) พ.ศ. …. เป็นร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วเช่นเดียวกัน มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรม) เพื่อกำหนดให้เจ้าพนักงานคดีดังกล่าวเป็นข้าราชการศาลยุติธรรม รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมให้เจ้าพนักงานคดีที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น ปฏิบัติงานมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี ได้รับโอกาสในการมีสิทธิเป็นผู้สมัครทดสอบความรู้เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ (สนามเล็ก) ต่อไป เพื่อสนับสนุนสายงานเจ้าพนักงานคดีให้เป็นบุคลากรสายวิชาชีพเฉพาะด้าน ทั้งนี้ การกำหนดให้มีเจ้าพนักงานคดีจะเป็นการช่วยลดภาระงานในส่วนที่ผู้พิพากษาไม่จำต้องกระทำเองซึ่งจะทำให้ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีได้อย่างเต็มที่ เพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณา พิพากษาคดีของศาลยุติธรรมส่งผลให้คดีเสร็จสิ้นไปได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและหลักประกันให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมว่าการพิจารณา พิพากษาคดีนั้นจะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เที่ยงธรรม และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว

นายคารม กล่าวต่อว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว และได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….จำนวน 3 ฉบับ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานศาลปกครอง พิจารณาแล้วเห็นชอบหรือไม่ขัดข้องในหลักการของร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ รวม 2 ฉบับ โดยมีความเห็นหรือข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ เช่น

1)ประเด็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลสำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่า การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลของเจ้าพนักงานคดี ควรให้คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมเป็นผู้กำหนด

2)ประเด็นอัตรากำลังของตำแหน่งเจ้าพนักงานคดี สำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่า ควรจัดทำกรอบอัตรากำลังของตำแหน่งเจ้าพนักงานคดีเท่าที่จำเป็นและควรเกลี่ยอัตรากำลังเจ้าพนักงานคดีที่ปฏิบัติงานในศาลยุติธรรมแทนการเพิ่มอัตรากำลังเป็นลำดับแรกเพื่อมิให้เป็นภาระงบประมาณในระยะยาว

3)ประเด็นคุณสมบัติของผู้สมัครทดสอบความรู้เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ สำนักงาน ก.พ. เห็นว่า ควรกำหนดระดับของข้าราชการและระยะเวลาปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าพนักงานคดีหรือข้าราชการศาลยุติธรรมที่ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายในตำแหน่งอื่นเพิ่มเติม เช่น ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ

4)ประเด็นอื่นๆ กระทรวงยุติธรรมเห็นว่า เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว ควรมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

Advertisement