People unity news online : 4 กรกฎาคม 2561 ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ว่า มีแนวโน้มที่ดี โดยมีสัญญานของเศรษฐกิจจากเครื่องชี้วัดต่างๆในช่วงครึ่งปีแรกที่สอดคล้องกัน ทั้งด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพของราคา

ในด้านอุปทาน มีสัญญานที่ดีจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีการปรับตัวดีขึ้นของราคาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยเฉลี่ยขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน แม้ว่าสินค้าเกษตรบางชนิดจะยังมีราคาลดลงก็ตาม ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ก็มีสัญญาณที่ดีจากกำลังการผลิต (Cap U) ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี สอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในขณะที่อัตราการว่างจ้างงานก็ยังอยู่ในระดับต่ำที่มีเสถียรภาพ

นอกจากนั้น ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีคาดว่าจะมีแรงกดดันต่อต้นทุนและราคาสินค้าลดลง ทั้งจากมาตรการดูแลของภาครัฐ และแนวโน้มราคาพลังงานโลก ที่แม้จะยังมีโอกาสผันผวน แต่คาดว่าน่าเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบัน (60-70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)

ในด้านอุปสงค์ มีสัญญาณการปรับตัวที่ดีในเกือบทุกด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐและการค้าระหว่างประเทศ โดยการบริโภค มีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การบริโภคภาคเอกชน (ทั้งจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการบริโภคใน GDP) สอดคล้องกับปริมาณเงินในระบบ (ทั้ง M1 และ M2) ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและเพิ่มขึ้นในลักษณะที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ นอกจากนั้น ยังมีสัญญาณเชิงบวกจากรายได้เกษตรกรเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (มาจากราคาและปริมาณสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น) เช่นเดียวกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 7 เดือน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผ่านเครื่อง EDC) จะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนในกลุ่มนี้ได้อีกประมาณ 7% ในขณะที่การลงทุนขยายตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ยังขยายตัวได้ดีจากการดำเนินนโยบายแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะเห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 0.2% ใน Q4/60 เป็น 1.9% ในไตรมาสล่าสุด (Q1/61) ในขณะที่การส่งออกก็ยังขยายตัวในระดับสูงถึง 11.6% (รวม 5 เดือน) สอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันของไทยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าทั้งปีน่าจะมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวเกินเป้าหมายร้อยละ 8 โดยมีสินค้าสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อน อาทิ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ขยายตัวได้ดี รวมทั้งสินค้าเกษตรสำคัญก็มีแนวโน้มปรับตัวที่ดีตามลำดับ ทั้งจากความต้องการและราคาที่ยังขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายของแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับลด TIP Report ลงมาเป็น Tier 2 ในขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวและเอื้อต่อการผลิตและสนับสนุนการบริโภคในประเทศ โดย 5 เดือนขยายตัว 16.6% โดยรวมแล้วการค้าระหว่างประเทศยังเกินดุลในระดับที่ดี

Price Stability พบว่าเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับแบบค่อยเป็นค่อยไป (ล่าสุด มิ.ย. 1.38%, 6M 0.97%) โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี (สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดต่างๆด้านอุปสงค์) ในขณะที่ต้นทุนสินค้าและบริการยังอยู่ในระดับปกติซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆแล้วเงินเฟ้อของไทยถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมามีลักษณะที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (ทั้งไทยและโลก) และอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน แม้ที่ผ่านมายังแข็งค่าโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับปีก่อน ( 6 เดือนแข็งค่าร้อยละ 8.6) แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีก็น่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ (32-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ)

เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีจะยังคงมี Momentum ต่อเนื่อง ทั้งในด้านอุปทาน อุปสงค์ และเสถียรภาพราคา ซึ่งจะส่งผ่านให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังขยายตัวต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้ตามการคาดการณ์

People unity news online : post 4 กรกฎาคม 2561 เวลา 12.40 น.