People unity news online : เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย แถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ ในหัวข้อ “กฎหมายยุคใหม่ เท่าเทียมและเป็นธรรม” มีสาระสำคัญ ดังนี้
การกำหนดกรอบการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายพิจารณาจากเรื่องที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้มีการกำหนดกลไกที่สำคัญไว้หลายประการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายโดยเฉพาะหลักการตามมาตรา 77 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 โดยจะมีปรับเปลี่ยนกฎหมายที่มีความล้าหลัง เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ดี และสอดคล้องกับสภาพความต้องการที่แท้จริงของสังคมปัจจุบัน
อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบทั้งในขั้นตอนของการจัดทำร่างกฎหมายและการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย และสร้างการรับรู้และเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย เพื่อสื่อถึงความต้องการของสังคมและเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจถึงสาระของกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับประเด็นการปฏิรูปและผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายนั้นมุ่งเน้นการสร้างเพื่อให้เกิดการพัฒนาตามหลักการ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาสู่ THAILAND 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยกำหนดประเด็นปฏิรูปด้านกฎหมายเพื่อรองรับตามหลัก “ทวิยุทธศาสตร์” ทั้งในเรื่องของการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายกล่าวย้ำว่า เป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 10 ประการ ดังต่อไปนี้ 1. มีกลไกให้การออกกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็นรวมทั้งมีกลไกในการทบทวนกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2. ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน 3. มีกลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม 4. มีกลไกให้มีการตรากฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 5. พัฒนากระบวนการจัดทำและตรวจพิจาณาร่างกฎหมายให้ รวดเร็ว รอบคอบ และสอดคล้องกับเงื่อนเวลาในการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 6. มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญ และจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน 7. มีกลไกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายโดยสะดวกและเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย 8. ปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ดี 9. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้โดยสะดวก และ 10 มีกลไกส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย โดยได้กำหนดให้เร่งดำเนินการตั้งยุติธรรมชุมชนในระดับท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจะมี 1 นักกฎหมาย ต่อ 1 ตำบล ช่วยให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ต้องการคำปรึกษาด้านกฎหมายให้เข้าใจได้โดยง่าย เนื่องจากปัจจุบันอาจจะมีสภาทนายความฯ สำนักอัยการสูงสุด และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งอาจจะมีการช่วยเหลืออยู่แล้วแต่อาจจะเข้าไปไม่ทั่วถึงยังประชาชนทุกตำบล โดยจะมีการจัดอบรมให้แก่ยุติธรรมชุมชนในเรื่องของกฎหมายใหม่ๆ 1 ตำบล 1 นักกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
People unity news online : post 3 เมษายน 2561 เวลา 07.30 น.