เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2561 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่ให้ความเค็มหรือเกลือโซเดียมมีอยู่ในเกลือหรือน้ำปลาเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องปรุงรส เช่น ซีอิ๊ว ซอส ผงปรุงรส ผงชูรส รวมไปถึงอาหารกึ่งสำเร็จรูปต่างๆ เช่น บะหมี่-โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ขนมกรุบกรอบ ล้วนมีสารให้ความเค็ม (เกลือโซเดียม) เป็นส่วนประกอบ ล่าสุดพบคนไทยบริโภคเกลือโซเดียมเฉลี่ย 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวันหรือกว่า 2 ช้อนชา เกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกคือ 2,000 มิลลิกรัมหรือ 1 ช้อนชาต่อวัน โดยการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคไตเรื้อรัง  โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโรคดังกล่าวป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดหวาน มัน เค็ม

ในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้นำร่อง  “ชุมชนลดเค็ม ลดโรคต้นแบบ”  ใน 3 ตำบล  ได้แก่  ตำบลกุมภวาปี  อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เพื่อลดปริมาณเกลือในอาหารลงร้อยละ 20 ลดระดับความดันโลหิตตัวบนลง 10 และตัวล่าง 5 มิลลิเมตรปรอท โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคเกลือ สร้างค่านิยมกินจืดยืดชีวิต มีการใช้เครื่องวัดความเค็ม หรือ Salt meter เพื่อแสดงให้เห็นปริมาณเกลือในอาหาร และมีการปรับสูตรลดความเค็มของอาหาร พร้อมขยายผลทั่วประเทศต่อไป พร้อมแนะนำ 8 วิธีในการลดปริมาณเกลือที่บริโภค ได้แก่ 1.ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง 2.ลดการเติมเครื่องปรุงรส ไม่ควรมีขวดน้ำปลา ซีอิ้ว ซอส เกลือ บนโต๊ะอาหาร 3.ลดการกินอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน  ผัก–ผลไม้ดอง ปลาเค็ม ไข่เค็ม เต้าหู้ยี้ 4.ลดการกินอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และไม่ใส่เครื่องปรุงหมดซอง 5.ลดความถี่และปริมาณน้ำจิ้มของการกินอาหารที่มีน้ำจิ้ม 6.หลีกเลี่ยงอาหารจานด่วน 7.ลดการกินขนมกรุบกรอบ และ 8.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากระบุโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

People unity news online : post 2 เมษายน 2561 เวลา 08.20 น.